Smartphone War ตอนที่ 14 : The Patent Fight

เกือบจะในทันทีที่ iPhone ได้ออกวางจำหน่ายในปี 2007 ทาง Nokia ก็ไม่รอช้าได้เริ่มฟ้องศาลในคดีละเมิดสิทธิบัตรหลายคดี โดยกล่าวหา Apple ว่าได้ทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของ Nokia ในเรื่องที่เกี่ยวกับจอสัมผัส และส่วนประกอบอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ iPhone

เนื่องด้วยเรื่องของสิทธิบัตร เดิมทีนั้น ตั้งมาเพื่อเป็นการป้องกันบริษัทต่าง ๆ ไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบหรือละเมิดการใช้งานสิ่งที่พวกเขาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แต่ในเรื่องเทคโนโลยีนั้น มันเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมายสำหรับการสร้างสิ่ง ๆ หนึ่งที่เป็นนวัตกรรมออกมา

ซึ่งตัวอย่างในธุรกิจมือถือนั้น มันมีส่วนประกอบต่าง ๆ มากมายที่จะมารวมกันให้กลายเป็นมือถือ 1 เครื่อง ทำให้ ไม่ว่าจะเป็น วิธีในการประหยัดแบตเตอรี่ การเชื่อมต่อสื่อสารให้ดีขึ้น เสารับสัญญาณต่าง ๆ หรือแม้กระทั่ง User Interface ที่ใช้งาน ก็สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้ มันเป็นขอบเขตที่กว้างขวางอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตร

ยิ่งเรื่องของ Software นั้นมันยิ่งเป็นเรื่องยากมาก ๆ สิทธิบัตรนั้นมักจะอยู่ที่กระกวนการสร้างสิ่ง ๆ หนึ่งขึ้นมา ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดสิ่ง ๆ นั้น และแน่นอนว่าการสร้าง Software นั้นมันมีวิธีต่าง ๆ มากมายที่จะให้ผลลัพธ์เดียวกันได้

ซึ่งสิทธิบัตรของ Nokia ส่วนใหญ่นั้นจะเกี่ยวข้องกับ Hardware และ Process ต่าง ๆ ทาง Apple ก็พยายามต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้าง iPhone มาเลยด้วยซ้ำ และมันไม่ได้สร้างความแตกต่างให้ iPhone ขึ้นมายืนบนตลาดมือถือได้

แต่เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย สุดท้าย Apple ก็ยอมจ่ายให้กับ Nokia โดยมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทั้งแบบเงินก้อน และ ลิขสิทธิ์แบบต่อเนื่อง แต่ตัวเลขไม่มีการเปิดเผยออกมา

และเหตุนี้เอง Apple จึงต้องใช้เรื่องสิทธิบัตรมาปกป้องตัวเองบ้าง โดยหลังจากเริ่มเห็น Android เริ่มเลียนแบบหลาย ๆ อย่างของ Apple ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น Features Pinch-to-Zoom ซึ่งเป็นสิ่งที่ Apple คิดค้นมาเป็นเจ้าแรก ซึ่ง จ๊อบส์นั้นโมโหเป็นอย่างมากในเรื่องดังกล่าว

จ๊อบส์โมโหกับการที่ Android พยายามเลียนแบบ iPhone เป็นอย่างมาก
จ๊อบส์โมโหกับการที่ Android พยายามเลียนแบบ iPhone เป็นอย่างมาก

Apple เริ่มทำสงครามกับ Android ในเดือนมีนาคม 2010 เมื่อมีการฟ้องร้อง บริษัท HTC Corp ของไต้หวันที่มีการละเมิดสิทธิบัตร มากกว่า 20 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับส่วนติดต่อผู้ใช้และระบบปฏิบัติการ นอกเหนือจากคดีความของรัฐบาลกลางแล้ว Apple ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอีกครั้งโดยเป้าหมายคือระบบปฏิบัติการ Android ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ สมาร์ทโฟนของ HTC

คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศออกคำสั่งเมื่อปลายปี 2011 เพื่อให้อเมริกาหยุดการนำเข้า smartphone ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในรุ่น HTC – One X และ LTE 4G EVO โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน การจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งสองรุ่นไปยังสหรัฐอเมริกาถูกเลื่อนออกไป Apple ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมอย่างน้อยสองเรื่องกับคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการฉุกเฉินกับอุปกรณ์ HTC มากกว่า 25 รายการ

ส่วนฝั่งของ Microsoft ก็จดสิทธิบัตร Software ทุกอย่างที่ทำได้ และยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายที่ Microsoft ได้ไป take over มา และหลังจาก Windows Phone ดูท่าว่าสถานการณ์จะไม่ดีนัก และ Android กำลังตีปีกขยายตลาดอย่างรวดเร็ว

 Microsoft จึงตัดสินใจเริ่มฟ้องร้องโดยอ้างว่าโทรศัพท์มือถือ Android ได้มีการละเมิดสิทธิบัตรของ Microsoft ในหลาย ๆ ส่วน

พอดึงเดือนตุลาคมปี 2011 Microsoft ได้ลงนามกับเหล่าผู้ผลิต Android หลายสิบราย เพื่อให้จ่ายค่าอนุญาตสิทธิการใช้งาน ซึ่ง มีรายงานข่าวว่า HTC ต้องจ่ายสูงถึง 5 ดอลลาร์ให้กับ Microsoft ต่อการขายมือถือ Android ในแต่ละเครื่อง รวมถึง Samsung ด้วย

ซึ่งมันได้เหมือนกลายเป็น Business Model ใหม่ของ Microsoft ในตลาดมือถือได้เลยด้วยซ้ำ เพราะราคาค่าลิขสิทธิ์การใช้งาน Windows Phone ที่เดิม Microsoft หวังเป็นเรือธงนั้น ก็แทบจะไม่ต่างจากค่าอนุญาติสิทธิการใช้งานสิทธิบัตรต่าง ๆ ของ Microsoft เลยด้วยซ้ำ

ยิ่ง Android จากบริษัทเหล่านี้ขายได้มากขึ้นเท่าไหร่ Microsoft ก็ยิ่งรวยขึ้น และแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ เหมือนกับใน Windows Phone ที่มีการลงทุนไปมหาศาลแต่แทบจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย

Google ได้เรียกการฟ้องร้องของ Microsoft ในตลาด smartphone ว่าเป็นความล้มเหลวของ Microsoft ที่ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาสู้ได้ จึงใช้มาตรการทางกฏหมายเข้ามาช่วยเอากำไรจากการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด smartphone จากผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ แต่ Microsoft ก็ไม่เคยแคร์ในเรื่องดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันที่ Windows Phone แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้วแต่รายได้จากธุรกิจมือถือของ Microsoft ยังมีมากมายอยู่

Google ที่ดูเป็นรองจึงต้องหาวิธีบางอย่างมาสู้ จึงได้ไปเจรจากับ Motorola เพื่อคุยกันเรื่องความเป็นไปได้ในการซื้อบริษัทเพื่อนำสิทธิบัตรจำนวนมากที่ครอบคลุมฟังก์ชันสำคัญ ๆ ของ โทรศัพท์มือถือ ที่ Motorola ถืออยู่ 

หลังจากการเจรจากันอยู่นาน สุดท้าย Google ประกาศซื้อกิจการ Motorola Mobility ซึ่งรวมมูลค่าสูงถึง 1.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 3.75 แสนล้านบาท) ซึ่งนับว่าเป็นการซื้อกิจการที่ทาง Google ทุ่มเงินมากที่สุดในประวิติศาสตร์ของ Google เลยทีเดียว แต่มันเป็นทางเลือกไม่มากนักของ Google เพื่อที่จะปกป้อง Android

Google ทุ่มเต็มที่ในการซื้อ Motorola เพื่อปกป้อง Android
Google ทุ่มเต็มที่ในการซื้อ Motorola เพื่อปกป้อง Android

Google ไม่ได้ต้องการธุรกิจ Hardware ของ Motorola เลยด้วยซ้ำ ต้องการเพียงแค่สิทธิบัตรเท่านั้น แต่ก็ต้องทำเพื่อช่วยเหล่าผู้ผลิตมือถือที่ใช้ Android ไม่ว่าจะเป็น Samsung HTC เพื่อสู้กับการไล่ล่าทางกฏหมายจากทั้ง Apple และ Microsoft นั่นเอง

ซึ่งในเวลาเดียวกันนี่เอง ที่ Microsoft เริ่มเห็นว่า Android นั้นได้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ดีกว่า Windows Phone ไปเสียแล้ว แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องผลิต Hardware อยู่เฉย ๆ เพียงรอการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Android ก็ทำให้ Microsoft ได้เงินกว่าหลายพันล้านเหรียญจากค่าสิทธิบัตรต่าง ๆ เหล่านี้ และนั่นแทบจะไม่มีรายจ่าย มันมีแต่รายรับ และเป็นกำไรเน้น ๆ ให้กับ Microsoft และสุดท้าย อาจเรียกได้ว่า การเก็บค่าสิทธิบัตรเหล่านี้มันได้กลายเป็น Passive Income ดี ๆ นี่เองสำหรับธุรกิจมือถือกับ Microsoft 

–> อ่านตอนที่ 15 : The Winner Is (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Movie Review : Midsommar เทศกาลสยอง

ในฐานะแฟนพันธุ์แท้หนังสยองขวัญ เขย่าประสาท รวมถึงหนังผี ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบหนังสไตล์นี้มาก ๆ ต้องบอกว่า เรื่องล่าสุดอย่าง Midsommar นั้น ก็ไม่พลาดที่จะตีตั๋วเข้าโรงเพื่อชม หลังจากกระแสในโลกออนไลน์ ที่ออกมาค่อนข้างดี

แต่เรื่องผมก็ไม่ได้อ่านข้อมูลอะไรมาก่อนเหมือนกัน เพียงแค่รู้ว่าเป็นกระแสอยู่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ซึ่งผมค่อนข้างชอบดูหนังไปลุ้นเอาดาบหน้า มันจะให้ความรู้สึกที่ สดใหม่ แบบจริง ๆ นั่นเอง

เรื่องนี้สิ่งที่ทำให้ผมสนใจอย่างแรกก็คงเป็นผู้กำกับอย่าง Ari Aster ที่ผมเคยดูงานของเขามาก่อนในเรื่อง Hereditary ที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ ในปีที่แล้ว เรียกได้ว่าไม่ผิดหวังเลยสำหรับผลงานเก่าของเขาอย่าง Hereditary 

Ari Aster ที่เคยฝากผลงานสุดสยองกับ Hereditary
Ari Aster ที่เคยฝากผลงานสุดสยองกับ Hereditary

“Midsommar ว่าด้วยเรื่องราวของ ดานีและคริสเตียน คู่รักหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ความสัมพันธ์ใกล้แตกสลาย แต่หลังจากโศกนาฏกรรมของครอบครัวดานี ทำให้ดานี่ที่โศกเศร้าเข้าร่วมกับคริสเตียนและเพื่อน ๆ ของเขาในการเดินทางไปงานเทศกาลกลางฤดูร้อน (Mid Summer นั่นเอง) ณ หมู่บ้านอันห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศสวีเดน 

สิ่งที่เริ่มต้นในวันหยุดฤดูร้อนที่ไร้กังวลในดินแดนที่มีแสงแดดส่องตลอดแทบจะทั้งวันในประเทศสวีเดน ได้กลายเป็นเรื่องน่ากลัวเมื่อชาวบ้านเชิญแขกให้มามีส่วนร่วมในงานเฉลิมฉลองที่เบื้องหลังคือความน่าสะพรึงกลัวถึงขีดสุด”

มันเป็นผลงานการสร้างที่ดิบ เถื่อน และตรึงคนดู ให้อยู่กับทุก ๆ scene ในหนังได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ต้องบอกว่า แม้เรื่องราวจะไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมายในการดำเนินเรื่อง แต่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตรึงคนดูได้ตลอดทั้งเรื่อง

คือเรื่องราวๆ มันจะเดินเรียบ ๆ แบบสะกดใจคนดู แต่พอมาถึงจุด Climax ของเรื่องก็เรียกว่ากระชากใจอารมณ์ คนดู ได้อย่างน่าสนใจมากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เรียกได้ว่าถ้าจิตใจไม่แข็งพอ อาจจะหลอนจิตประสาทตามหนังเรื่องนี้ไปได้เลยทีเดียว

มันเป็นภาพฉากที่ดูสวยงามของหมู่บ้านห่างไกลในสวีเดน แต่เห็นแล้วมันหลอนอย่างบอกไม่ถูก มันเป็นพิธีกรรมนอกรีตที่ มาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ ของผู้กำกับ Ari Aster

ฉากหลังที่สวยงาม แต่เบื้องหลังสุดสยอง
ฉากหลังที่สวยงาม แต่เบื้องหลังสุดสยอง

มันเป็นหนังที่น่ากลัว น่าสยดสยอง แบบที่คุณไม่เคยได้พบเจอมาก่อนอย่างแน่นอน ซึ่งตอนแรกที่ไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ ผมก็นึกว่าเป็นหนังสยองขวัญเหมือนเรื่อง ๆ อื่น ๆ ที่ผ่านมา ไล่ฆ่า ไล่ฟัน กัน อะไรทำนองนี้ แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่เลย

มันเป็นหนังที่ตรึงคนดูไว้ เหมือนสะกดจิตเราไว้ แล้วคอยหวาดระแวงกับเรื่องราวต่าง ๆ ของหนัง แม้จะมีมุกตลกสอดแทรกอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่เราจะตรึงอยู่ในภวังค์ ตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนถึงท้ายเรื่องเลย และจนถึงบทสรุปที่ต้องเรียกได้ว่า อึ้งกันไปตาม ๆ กัน

ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ให้แง่มุมหนึ่ง ในเรื่องของวัฒนธรรม ที่เราไม่คุ้นชิน ซึ่งอาจจะหลงเหลือบ้างในพื้นที่ห่างไกลในปัจจุบัน แต่ถ้าเรามองไปยังยุคก่อนที่มนุษย์เราจะเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ และมนุษย์มีองค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ มากมายเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งแต่ก่อนมันอาจจะมีประเพณี คล้าย ๆ แบบนี้อยู่ทั่วทุกหนแห่งทั่วโลกก็เป็นได้

ซึ่งแน่นอนว่า หากคุณอยากดูหนังแปลก แหวกแนว และชอบหนังสยองขวัญแนวนี้ อยู่แล้ว ก็ไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง เพราะคุณจะได้รับประสบการณ์ใหม่ในการรับชมอย่างแน่นอน หนังเรื่องนี้จะให้ประสบการณ์สุดพิเศษที่คุณไม่มีวันลืมได้อย่างแน่นอนครับ

Smartphone War ตอนที่ 13 : Trojan Horse

สถานการณ์ของ Nokia ที่เริ่มระส่ำระส่ายหลังจากการเกิดขึ้นของ iPhone และ เหล่าบรรดาโทรศัพท์มือถือ Android ที่หลาย ๆ ค่ายยักษ์ใหญ่ ต่างหันมาผลิต ทำให้งาน Stephen Elop หนักหนาสาหัสเป็นอย่างมาก ในการที่จะกู้ Nokia ให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

Elop ได้เดินหน้าปรับองค์กรของ Nokia ครั้งใหญ่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา, ยกเลิกการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ไปจนถึงขายอาคารบริษัทแม่ในฟินแลนด์ ซึ่งเขานั้นยังเป็นซีอีโอคนแรกของโนเกียที่ไม่ใช่ชาวฟินแลนด์

โดย Elop ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของทีมผู้บริหาร โครงสร้างการปฏิบัติการและแนวทางการทำงาน โดยสร้างทีมบริหารชุดใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น และมีความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของตลาดมือถือในขณะนั้น เพื่อเร่งกระบวนการตัดสินใจและปรับปรุงเวลาในการออกผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม โดยเน้นที่ผลลัพธ์ ความรวดเร็ว และความรับผิดชอบ

โดยในขณะนั้น Elop มีทางเลือกไม่มากนัก ในการที่จะพา Nokia ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และต้องหาระบบปฏิบัติการใหม่ ซึ่ง ทางเลือกในตอนนั้นคงเหลือเพียงแค่ 2 choice คือ Windows Phone ของ Microsoft และ Android ของ Goolge

เพราะแผนสำรองเดิมนั้นที่วางอนาคตไว้กับ Meego ที่ Nokia ได้พัฒนาร่วมกับ Intel ดูท่าทางแล้วจะไม่ได้ผล เพราะ Meego ยังไม่พร้อมที่จะสู้ศึกใหญ่ขนาดนี้ หลังจาก Elop วิเคราะห์ โดยถี่ถ้วนแล้ว Meego ยังไม่สามารถเป็น ฐานกลยุทธ์ของ smartphone ในอนาคตของ Nokia ได้

Elop จึงได้โทรหา บอลเมอร์ ซึ่งเป็นนายเก่าทันที เพื่อสำรวจทางเลือกในการใช้ Windows Phone และขณะเดียวกันนั้นก็ได้ติดต่อกับ Eric Schmidt  CEO ของ Google ด้วยอีกทางหนึ่่ง

แม้สถานการณ์ในขณะนั้น Nokia จะยังคงเป็นผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ แต่กราฟมันเริ่มดิ่งลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในตลาด smartphone ที่ Symbian โดยแย่งชิงตลาดจากทั้ง Android และ iOS ของ Apple อย่างหนัก

ทางบอลเมอร์ ก็รู้ว่า Elop นั้นคุยกับ Google ด้วย จึงได้เริ่มทำการไล่บี้ Android ด้วยกลยุทธ์เก่าอย่างการฟ้องเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของ Microsoft ซึ่งเป็นการขู่เหล่าผู้ผลิตมือถือไปในตัวด้วย ไม่ให้หนีไปอยู่กับ Android ทั้งหมด

และ Microsoft นั้นยังพร้อมเป็นพี่ใหญ่ Backup ให้กับผู้ผลิตมือถือทุกคน สำหรับผู้ที่ใช้งาน Windows Phone ถ้ามีการฟ้องร้องอะไรก็ตามเกี่ยวกับสิทธิ์การใช้งาน Windows Phone ทาง Microsoft จะขึ้นศาลแทนให้เอง แต่ Google ไม่พร้อมจะทำอย่างงั้นกับ Android

และท่าทีของ Elop เริ่มที่จะหันคล้อยตาม บอลเมอร์ทันที โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า Windows Phone จะเป็นแพลตฟอร์มที่สาม ในตลาดโทรศัพท์มือถือ ไล่จะไล่บี้ iOS ของ Apple และ Android ของ Google ได้ในไม่ช้า

Nokia เดิมพันครั้งสำคัญกับ Windows Phone
Nokia เดิมพันครั้งสำคัญกับ Windows Phone

ซึ่งสุดท้าย Elop ก็ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมวงกับ Microsoft ในการผลักดัน Windows Phone และรอให้ Windows Phone นั้นสมบูรณ์พร้อมซึ่งคาดว่าน่าจะภายในปี 2012

โดยทั้ง 2 บริษัทจะใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone เป็นแพลทฟอร์มหลักของ smartphone ของ Nokia โดย Nokia จะอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งฮาร์ดแวร์ การเลือกสรรซอฟต์แวร์ ภาษาที่รองรับและขีดความสามารถในการผลิตและการเข้าถึงตลาด นอกจากนี้จะร่วมกันให้บริการเพื่อขับเคลื่อนสินค้าใหม่ ๆ เช่น Nokia Maps ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของบริการเด่นของ Microsoft อย่าง Bing และ AdCenter แอพพลิเคชั่นและคอนเทนท์ของ Nokia จะรวมเข้ากับ Microsoft Marketplace ด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า Symbian นั้นถูกลอยแพจาก Elop เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยอดขายเริ่มตกลงอย่างชัดเจน เหล่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือนั้นรู้ตัวแล้วว่า Symbian ไม่สามารถที่จะมาทาบรัศมีของ Android หรือ iOS ของ Apple ได้เลย

Nokia ประกาศลอยแพ Symbian ในที่สุด
Nokia ประกาศลอยแพ Symbian ในที่สุด

มันแทบจะเหมือนแผนที่ถูกวางไว้ในการส่ง Elop มากุมบังเหียน Nokia ของ Microsoft เพราะ เพียงแค่ปีเดียวนั้น ยอดขายโทรศัพท์ของ Nokia ลดลงถึง 20% ทำให้บริษัท Nokia เริ่มขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี  และแน่นอนว่าตอนนี้ชะตากรรมของ Nokia ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเองเสียแล้ว แต่มันขึ้นอยู่กับ Windows Phone ของ Microsoft นั่นเอง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อในศึก Smartphone War สุดมันส์ครั้งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 14 : The Patent Fight

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***