Multi-Agent Systems AI ทำงานตัวเดียวก็ว่าเทพแล้ว ถ้าพวกมันทำงานร่วมกันเป็นทีมล่ะ?

การเปิดตัว GPT-4o และ Project Astra ของทางฝั่ง Google ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของแวดวง AI เราได้มองเห็นอนาคตของเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ที่เริ่มปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งดูแล้วช่างน่าขนหัวลุกยิ่งนัก

แม้งาน Demo ที่ออกมามันจะดูน่าประทับใจ แต่อย่างที่ทุกคนรู้ว่าการจัดฉาก Demo เหล่านี้ต้องมีการตระเตรียมการไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากนำมาใช้จริงคงไม่ได้ตอบโจทย์ในทุกสถานการณ์เหมือนที่โชว์ใน Demo อย่างแน่นอน

วิธีหนึ่งที่จะทำให้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) สามารถปฏิบัติงานที่มีความซับซ้อนในโลกแห่งความเป็นจริงได้นั้น มันก็พอมีทางออกอยู่บ้าง สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยกำลังดำเนินงานอยู่นั่นก็คือ สั่งให้พวกมันทำงานร่วมกันซะ!!!

ในตอนนี้เหล่านักวิจัยกำลังขมักเขม้นทดลองรูปแบบใหม่ของการทำงานร่วมกันของโมเดล AI ในสิ่งที่เรียกว่า Multi-agent systems (MAS) ที่ทำให้พวกมันสามารถมอบหมายงานให้แก่กัน ทำงานต่อกันได้ หรือปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข และทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์คอยสั่งงานมันแต่อย่างใด

การทดลองล่าสุดที่ได้รับเงินทุนจากสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านการป้องกันของสหรัฐฯ (DARPA) มีการขอให้ตัวแทน AI 3 ตัว ได้แก่ Alpha Bravo และ Charlie ทำการค้นหาและกำจัดระเบิดที่ซ่อนอยู่ในห้องเสมือนจริงที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนสูง

โดยระเบิดเหล่านี้จะถูกทำลายได้ก็ต่อเมื่อใช้เครื่องมือเฉพาะในลำดับที่ถูกต้องเท่านั้น ในแต่ละรอบ ตัวแทน AI เหล่านี้ ซึ่งใช้โมเดล GPT-3.5 และ GPT-4 ของ OpenAI เพื่อจำลองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเก็บกู้ระเบิด และต้องมีการสื่อสารกันระหว่างเพื่อนร่วมทีมให้ได้เหมือนมนุษย์

ในช่วงหนึ่งของการทดลอง Alpha ได้แจ้งว่ามันกำลังตรวจสอบระเบิดลูกหนึ่งในห้อง ๆ หนึ่ง และสั่งให้เพื่อนร่วมทีมทำสิ่งต่อไป Bravo ปฏิบัติตาม และเสนอว่า Alpha ควรลองใช้เครื่องมือสีแดงเพื่อกำจัดระเบิดที่พบ และต้องบอกว่านักวิจัยที่เป็นมนุษย์ไม่ได้สั่งให้มันทำ แต่พวกมันกำลังสื่อสารด้วยกันเอง !!!

เนื่องจาก LLM ใช้ข้อความเพื่อรับข้อมูล input รวมถึง output ที่ออกมา ดังนั้น AI จึงสามารถสื่อสารกันได้ผ่านข้อความที่มันคุยกันนั่นเอง

ที่สถาบัน MIT นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าแชทบอทสองตัวที่สนทนากันสามารถแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าแชทบอทตัวเดียว

ระบบนี้ทำงานโดยป้อนคำตอบที่เสนอโดยบอทตัวหนึ่งซึ่งใช้ LLM ที่แตกต่างกัน ให้กับบอทอีกตัว จากนั้นจึงกระตุ้นให้บอทเหล่านั้นอัปเดตคำตอบของตนเอง

Yilun Du นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ MIT ผู้นำการวิจัยนี้กล่าวว่า หากบอทตัวหนึ่งให้คำตอบที่ถูกต้องและอีกตัวผิด พวกมันมีแนวโน้มที่จะเชื่อในคำตอบที่ถูกต้อง

ทีมงานยังพบว่าการขอให้บอท LLM สองตัวหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงนั้น บอทที่ทำงานร่วมกันมีแนวโน้มที่จะสร้างข้อมูลที่ผิดพลาดน้อยกว่าบอทเพียงตัวเดียว

นักวิจัยบางคนที่ทำงานเกี่ยวกับ MAS ได้เสนอว่ารูปแบบการสื่อสารร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปที่แม่นยำนั้น อาจเป็นประโยชน์ต่อการปรึกษาทางการแพทย์ หรือการโต้เถียงจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทความทางวิชาการในอนาคต

แม้กระทั่งมีการเสนอถึงขั้นที่ว่าการโต้เถียงกันของบอทเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการสร้าง input ให้กับแชทบอท LLM ซึ่งปัจจุบันต้องใช้ข้อมูล input ที่ป้อนจากมนุษย์

การทำงานเป็นทีมของบอททำได้ดีกว่าทำงานด้วยบอทตัวเดียวอย่างชัดเจน เนื่องจากงานใด ๆ ก็สามารถแบ่งเป็นงานย่อย ๆ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

Chi Wang นักวิจัยหลักจากไมโครซอฟต์ในเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน กล่าวว่า แม้ว่าแชทบอท LLM ตัวเดียวก็สามารถย่อยงานได้เหมือนกัน แต่ต้องทำงานตามลำดับ ซึ่งเป็นข้อจำกัด เช่นเดียวกันเมื่อมนุษย์ทำงานเป็นทีม

ทีมของ Wang ได้สร้างทีมงานบอทเพื่อเขียนซอฟต์แวร์ ซึ่งประกอบไปด้วย “commander” ที่รับคำสั่งจากมนุษย์ แล้วมอบหมายงานย่อยให้กับ “writer” ซึ่งทำหน้าที่เขียนโค้ด และ “safeguard” ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโค้ดสำหรับช่องโหว่ด้านความปลอดภัยก่อนที่จะส่งกลับไปยัง commander เพื่อตรวจสอบขั้นสุดท้าย

จากการทดสอบของ Wang งานเขียนโค้ดง่าย ๆ โดยใช้ MAS ของเขาสามารถทำได้เร็วกกว่าบอทตัวเดียวถึงสามเท่า โดยแทบจะไม่มีความผิดพลาดใด ๆ

ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง LLM ยังทำให้เกิดการจำลองบทบาทของมนุษย์อย่างแท้จริง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้แสดงให้เห็นว่า ด้วยคำสั่งเพียงไม่กี่คำสั่ง บอทสองตัวของ GPT-3.5 สามารถต่อรองราคาไพ่โปเกมอนหายากได้

มันทำงานด้วยการแบ่งหน้าที่ บอทตัวหนึ่งมาแนวโหด ๆ เช่น บอกผู้ขายว่า 50 ดอลลาร์มันดูเว่อร์เกินไปนะคร้าบสำหรับแผ่นกระดาษแผ่นเดียว และในที่สุดสองฝ่ายก็ตกลงกันได้ที่ 25 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เรารับรู้กัน บางครั้ง LLM ก็หาวิธีแก้ปัญหาที่ดูปัญญาอ่อนเป็นอย่างมาก และในระบบทีมความคิดบ้าๆ เหล่านี้อาจจะแพร่กระจายไปยังลูกทีมของมันด้วย

ในการฝึกการกู้ระเบิดที่จัดโดย DARPA มีบอทตัวหนึ่งเสนอให้มองระเบิดที่ถูกกำจัดแล้วแทนที่จะทำการค้นหาและกำจัดระเบิดที่ทำงานอยู่ บอทตัวอื่น ๆ ก็ดันโง่ตามซะด้วย ถูกชักจูงให้คล้อยตามความคิดบ้า ๆ นี้

ต้องบอกว่าปัจจุบันการสร้างทีมบอทในรูปแบบของ MAS นั้นยังคงต้องใช้ความรู้ระดับสูง แต่ในอนาคต Microsoft ที่ได้เปิดตัว Autogen เฟรมเวิร์กแบบเปิดสำหรับสร้างทีมบอท LLM โดยแทบไม่ต้องแตะโค้ด จะทำให้สิ่งเหล่านี้พัฒนาได้ง่ายยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น MAS ต้องการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่สูงมากในยุคที่ชิป AI กำลังขาดตลาด รวมถึงระบบที่ใช้งานเชิงพาณิชย์เช่น ChatGPT นั้นก็มีราคาไม่ใช่ย่อย หากต้องใช้งานในรูปแบบทีมของบอท

รวมถึงความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย เพราะหากนำไปใช้ในทางที่ผิดก็อาจเกิดโทษร้ายแรงกับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ของเซี่ยงไฮ้ ได้แสดงให้เห็นว่า หากบอทเหล่านี้ถูกหนดบทบาทในด้านมืดโดยไม่แคร์เรื่องศีลธรรม อาจดำเนินการที่เป็นอันตรายได้ เช่น เขียนอีเมลหลอกลวง พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายต่อระบบความปลอดภัย หรือแมักระทั่งสั่งให้มันวางแผนขโมยข้อมูลส่วนตัวของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นรูปแบบทีมบอทเหล่านี้ หากตกอยู่ในมือโจรหรืออาชญากรอาจจะกลายเป็นอาวุธที่น่ากลัว หาก MAS ได้รับสิทธิ์เข้าถึงระบบซอฟต์แวร์ขององค์กรธุรกิจ หรือ ข้อมูลบัญชีธนาคารส่วนบุคคล ซึ่งความเสี่ยงอาจสูงมาก

ในการทดลองที่น่าสนใจครั้งหนึ่งที่ทีมงานนักวิจัยขอให้ทีมบอทเหล่านี้วางแผนเพื่อยึดครองโลก มันตอบถึงแผนการอย่างละเอียดพร้อมด้วยประโยคที่น่าสะพรึงกลัวที่กล่าวว่า “เราต้องมาร่วมมือกับระบบ AI อื่น ๆ กัน (เพื่อยึดครองโลกใบนี้)”

References :
https://www.economist.com/science-and-technology/2024/05/13/todays-ai-models-are-impressive-teams-of-them-will-be-formidable
https://www.microsoft.com/en-us/research/project/autogen/

The Transformative Power กับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ

ต้องบอกว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ มักมาพร้อมกับภัยคุกคามใหม่ ๆ เสมอ ซึ่งโลกเราได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะส่งผลกระทบรุนแรงได้เท่าครั้งนี้

ในอดีตปืนใหญ่ทำให้กองกำลังพลขนาดเล็กสามารถทำลายป้อมปราการและกองทัพขนาดใหญ่ได้ ทหารเพียงไม่กี่นายจากเมืองเล็ก ๆ ก็สามารถรัฐประหารชนพื้นเมืองหลายพันคนด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าได้แบบง่ายดาย

แท่นพิมพ์ช่วยให้โรงพิมพ์แห่งเดียวสามารถผลิตแผ่นใบปลิวได้หลายพันชิ้น ทำให้แพร่กระจายความคิดได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถ้าย้อนกลับไปมันเป็นสิ่งที่นักบวชในยุคกลางแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยด้วยซ้ำ

กำลังจากเครื่องจักรไอน้ำทำให้โรงงานแห่งเดียวสามารถทำงานได้เท่ากับหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน

อินเทอร์เน็ตยกระดับความสามารถเหล่านี้สู่จุดสูงสุด เพียงแค่ทวีตเดียวหรือภาพเพียงภาพเดียวอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที

หรืออัลกอริธึมเจ๋ง ๆ ซักอันอาจช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กเติบโตเป็นบริษัทระดับพันล้านได้อย่างรวดเร็วได้เช่นเดียวกัน

ต้องบอกว่าปัจจุบันผลกระทบในรูปแบบดังกล่าวนั้นมันยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น คลื่นเทคโนโลยีใหม่ได้ปลดปล่อยศักยภาพที่น่าสะพรึงกลัว เข้าถึงได้ง่าย และมีราคาที่ถูกแสนถูก

สิ่งนี้ชัดเจนว่ามันนำมาซึ่งความเสี่ยง มันไม่ใช่แค่ในแวดวงทหาร ตัวอย่างยูเครนหรือกองกำลังกะเหรี่ยงพม่าที่กล้าท้าชนคู่ต่อสู้ที่แข็งกว่าโดยใช้อาวุธอย่างโดรนราคาไม่กี่ร้อยเหรียญ

Audrey Kurth Croni ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวว่า “แทบไม่เคยมียุคไหนที่คนมากมายมีสิทธิ์เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดความตายและความวุ่นวายได้เท่าในยุคนี้”

ในทุกวันหน่วยโดรนจากกองทัพยูเครน สามารถเข้าโจมตีและทำลายชิ้นส่วนปืนใหญ่ หรือรถถังราคาแพงมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนสนามรบยุคใหม่

ในการปะทะนอกกรุงเคียฟ โดรนที่ใช้เป็นเหมือนของเล่นของคนทั่วไป บริษัท DJI ซึ่งตั้งอยู่ในเซินเจิ้น ผลิตสินค้าราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ง่าย เช่น Phantom camera quadcopter ราคา 1,399 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมันมีคุณภาพดีจนกองทัพสหรัฐฯต้องนำมาใช้งาน

หากความก้าวหน้าด้าน AI โดรนราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพ ผนวกกับความคืบหน้าในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่หุ่นยนต์ไปจนถึงเทคโนโลยี Computer Vision ก็จะได้อาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูง แม่นยำ และอาจจะถึงขั้นไม่สามารถที่จะตรวจจับได้ง่าย ๆ

แน่นอนว่าฝ่ายตั้งรับที่เราเห็นกันมาหลายเคสแล้วว่าทำได้ไม่ง่ายแม้จะมีสรรพกำลังที่มากกว่า ตัวอย่างเคสของกองทัพพม่าน่าจะบอกเรื่องราวนี้ได้อย่างดี

กลุ่มต่อต้านรัฐประหารของพม่าซึ่งเชี่ยวชาญด้านการทำสงครามด้วยโดรน ในตอนแรกพวกเขาใช้เพียงแค่โดรนขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเบา แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกลุ่มต่อต้านดังกล่าวใช้ระบบที่มีความซับซ้อนกว่าเดิมเป็นอย่างมากเพื่อทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายทางการทหารได้อย่างแม่นยำจนสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ได้อย่างง่ายดาย

หรือในเคสของกองทัพอเมริกันและอิสราเอลที่ต้องใช้ขีปนาวุธ Patriot ราคา 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อยิงโดรนที่มีราคาเพียงสองร้อยดอลลาร์

ปัจจุบันอุปกรณ์รบกวนสัญญาณ ขีปนาวุธ และระบบต่อต้านโดรนยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพียงเท่านั้น และไม่ค่อยได้รับการทดสอบในสนามรบจริงมากนัก

การพัฒนาเหล่านี้จะนำไปสู่การถ่ายโอนอำนาจครั้งใหญ่จากรัฐและกองทัพแบบดั้งเดิม ไปสู่กลุ่มคนทั่วไป ใครก็ตามที่มีศักยภาพและแรงจูงใจในการนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้

คนบ้า ๆ คนหนึ่งที่มีเงินตรา ก็สามารถที่จะซื้อและบังคับควบคุมโดรนนับพันตัวได้อย่างง่ายดาย

โปรแกรม chatbot AI เพียงตัวเดียวก็สามารถที่จะสรรสร้างข้อความได้มากเท่ากับมวลมนุษยชาติรวมกันแทบจะทั้งหมด

โมเดลการสร้างภาพขนาด 2 กิกะไบต์ที่รันบนแล็ปท็อปของทุกคนสามารถที่จะบีบอัดภาพทั้งหมดบนเว็บที่มีอยู่บนโลกนี้ได้ง่ายดาย

การทดลองด้านจุลชีววิทยาเพียงครั้งเดียวอาจก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ เหตุการณ์ขนาดเล็กในระดับโมเลกุลที่มีผลกระทบในวงกว้าง

คอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ใช้การได้เพียงเครื่องเดียวอาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการเข้ารหัสของโลกล้าสมัยทันที

ความเชื่อมโยงและขนาดของคลื่นเทคโนโลยีใหม่นี้สร้างความเสี่ยงในระบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งความล้มเหลวเพียงจุดเดียวอาจนำไปสู่ผลกระทบที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ยิ่งเทคโนโลยีเปิดมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งยากที่จะควบคุมได้

ลองคิดถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ อุบัติเหตุจราจรที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ที่ล้วนแล้วเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์จะลดน้อยลงไป

ในอนาคตฝูงรถยนต์แสนฉลาดจะเชื่อมโยงกันได้ หรือมีระบบที่สามารถควบคุมยานพาหนะอัตโนมัติทั้งหมด แม้จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยและระบบรักษาความปลอดภัยมากมาย แต่ขนาดของผลกระทบกลับกว้างใหญ่กว่าที่เคยเป็นมา

AI จะสร้างความเสี่ยงที่จะขยายไปยังสังคมทั้งระบบ ทำให้มันไม่ใช่ถูกใช้เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น แต่มันจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งไม่แปลกที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องการมีส่วนร่วม และไม่ตกขบวนรถนี้เท่านั้น แต่ต้องการที่จะมีอำนาจเหนือมัน

เราอยู่ในยุคของระบบโลกที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ในคลื่น AI ที่กำลังมาถึงนี้ เพียงแค่จุดเดียว โปรแกรมเพียงโปรแกรมเดียว การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเพียงครั้งเดียว อาจจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปแบบสิ้นเชิง

References :
หนังสือ The Coming Wave :  Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma โดย Mustafa Suleyman
https://www.aljazeera.com/news/2024/4/4/myanmar-opposition-launches-drone-attack-on-militarys-stronghold-capital
https://www.reuters.com/graphics/UKRAINE-CRISIS/DRONES/dwpkeyjwkpm/

เมื่อ AI เข้ามาเปลี่ยนสนามรบ ยูเครนใช้ AI ต่อสู้กับรัสเซียอย่างไร

ความน่าสนใจของสงครามยุคใหม่ที่กำลังบังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ คงหลีกหนีไม่พ้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามาบทบาทมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน AI

เราได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเริ่มขึ้นในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อมานาน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การสู้รบในพม่าในตอนนี้ เรากำลังเห็นภาพโลกสงครามในอนาคตว่าผู้ที่มีกำลังทหารที่เยอะกว่าไม่ได้หมายถึงว่าจะชนะในการรบยุคใหม่เสมอไป

มันกลายเป็นว่าจุดชี้ขาดชี้เป็นชี้ตายของสงครามวัดกันด้วยเทคโนโลยีล้วน ๆ ที่ทำให้ทุกอย่างมันมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยใช้กำลังพลหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้องลง

ในช่วงก่อนที่ยูเครนจะโจมตีด้วยจรวดเข้าใส่สะพานอันโตนอฟสกี้ ซึ่งเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเคอร์ซอนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีปโร

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของยูเครนได้ศึกษารายงานพิเศษอย่างรอบคอบ ในช่วงฤดูร้อนของปี 2022 ในขณะที่รัสเซียพึ่งพาสะพานนี้เป็นอย่างมากในการเติมสเบียงและกองหนุนให้กับกำลังทหารฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนีปโร

สะพานอันโตนอฟสกี้ ซึ่งเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเคอร์ซอนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีปโร (CR:Structurae)
สะพานอันโตนอฟสกี้ ซึ่งเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเคอร์ซอนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีปโร (CR:Structurae)

โดยรายงานดังกล่าวนี้ศึกษาถึงสองเรื่องที่สำคัญก็คือ : การทำลายสะพานจะทำให้ทหารรัสเซียขวัญเสียหรือไม่ ? และที่สำคัญกว่านั้นรัฐบาลยูเครนจะทำอย่างไรเพื่อให้แผนการนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อขวัญและกำลังใจของศัตรูอย่างรัสเซีย ?

และนั่นคือวิธีที่ Sviatoslav Hnizdovsky ผู้ก่อตั้ง Open Minds Institute (OMI) ในกรุงเคียฟ อธิบายถึงงานวิจัยที่หน่วยงานของเขาได้ทำมา

พวกเขาใช้การประเมินสิ่งต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งอัลกอริธึมได้ทำการค้นหาข้อมูลจำวนมหาศาลในโลกโซเชียลมีเดียของรัสเซีย หรือแม้กระทั่งข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่การบริโภคแอลกอฮอล์และการเคลื่อนย้ายประชากรไปจนถึงการค้นหาบนโลกออนไลน์

AI จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของชาวรัสเซียต่อความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับทหารแนวหน้าของพวกเขา

ต้องบอกว่างานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญมาก ๆ ต่อยุทธศาสตร์การรบของยูเครน ซึ่งการโจมตีสะพานเคิร์ชที่เป็นเส้นทางลำเลียงทางบกเพียงเส้นทางเดียวระหว่างรัสเซียและไครเมีย

และสิ่งที่น่าสนใจก็คือเทคโนโลยีที่กำลัง hot hit อย่าง ChatGPT เองมันก็กำลังถูกใช้ในแวดวงสงครามแบบเต็มตัวเช่นเดียวกัน

ยูเครนซึ่งถ้าเทียบด้านสรรพกำลังทั้งทางอาวุธและกองกำลังทหารนั้นมีความเสียเปรียบรัสเซียอยู่มาก

พวกเขาจึงมองหาช่องทางการใช้ AI ในรูปแบบต่าง ๆ โดยทหารยูเครนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธได้กล่าวว่า ผู้ออกแบบโดรนมักจะใช้ ChatGPT เป็นจุดเริ่มต้นในการหาแนวคิด เช่น เทคนิคใหม่ ๆ เพื่อลดศักยภาพของทางฝั่งรัสเซีย

การใช้ AI อีกรูปแบบหนึ่งของทหารยูเครนคือการกำหนดเป้าหมาย ในขณะที่เหล่าทหารและบล็อกเกอร์ด้านทหารมีความระมัดระวังมากขึ้นในการโพสต์สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับสงคราม

การใช้ ChatGPT กับโดรนเพื่ออกแบบวิธีใหม่ ๆ (CR:Analytic Insight)
การใช้ ChatGPT กับโดรนเพื่ออกแบบวิธีใหม่ ๆ (CR:Analytic Insight)

และด้วยการที่มีการนำเข้าภาพและข้อความจำนวนมากผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ AI สามารถค้นพบเบาะแสที่อาจเป็นไปได้ และนำมาวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งของระบบอาวุธและกองกำลังของรัสเซีย

Molfar บริษัทด้านข่าวกรอง ซึ่งมีสำนักงานในเมืองดนีโปรและกรุงเคียฟสามารถค้นพบเป้าหมายทางการทหาร 2-3 เป้าหมายต่อวัน และส่งข่าวสารไปให้กองทัพยูเครนอย่างรวดเร็ว ทำให้บางเป้าหมายได้ถูกทำลายลงไป

การระบุเป้าหมายยังได้รับการช่วยเหลือจาก AI ในรูปแบบอื่น ๆ SemanticForce บริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเคียฟและเมืองเทอร์โนพิล พัฒนาแบบจำลองที่สามารถตรวจสอบข้อความและรูปภาพออนไลน์ คล้ายกับบริการด้าน Social Listening

เดิมทีระบบดังกล่าวใช้สำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจเพื่อเฝ้าระวังและคอย monitor ความรู้สึกของสาธารณะชนที่มีต่อแบรนด์ของตน

ในขณะที่ Molfar ใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อกำหนดพื้นที่ที่กำลังทหารของรัสเซียน่าจะมีขวัญและกำลังใจตกต่ำ ซึ่ง AI จะทำการค้นหาเบาะแสต่าง ๆ จากภาพซึ่งรวมถึงจากกล้องของโดรนและจากข้อความของทหารรัสเซียที่ทำการบ่นบนโซเชียลมีเดีย

Molfar ใช้ AI ของ SemanticForce เพื่อคอย monitor เกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัครรัสเซียที่คอยระดมทุนและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับแนวหน้าของสงครามที่กำลังขาดแคลน

บางครั้งทีมวิเคราะห์ก็ใช้ซอฟต์แวร์ที่ปลอมแปลงเสียงเพื่อโทรหากลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ และแสร้งเป็นคนรัสเซียที่ต้องการบริจาค

มีการใช้ AI ของบริษัทจากอเมริกาอย่าง Palantir ของ Peter Thiel ที่เป็นการวิเคราะห์ข่าวกรองเชิงลึก ที่สามารถหาความเชื่อมโยงจากชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น ข้อมูลของชายผู้หย่าร้างที่มีหนี้สิน และเสี่ยงที่จะเสียบ้านและสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร เขาได้เปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ และถูกพบว่าสัญญาณโทรศัพท์อยู่ใกล้แหล่งที่มีการโจมตีด้วยจรวดในภายหลัง

Palantir ของ Peter Thiel นักลงทุนชื่อดังของ silicon valley (CR:WSJ)
Palantir ของ Peter Thiel นักลงทุนชื่อดังของ silicon valley (CR:WSJ)

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ AI จะทำการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม หากชายคนนั้นมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย และเริ่มรับสายจากบุคคลที่มี Profile ที่สูงกว่า AI ก็จะเพิ่มระดับความเสี่ยงให้กับชายคนดังกล่าวทันที

ต้องบอกว่าการใช้เทคโนโลยี AI ของยูเครนนั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง Volodymyr Zelensky ประธานาธิบดีของยูเครนได้สั่งลุยให้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในด้านความมั่นคงแห่งชาติในเดือนพฤศจิกายน 2019

ผลที่ได้คือ แบบจำลองการรบที่มีกลยุทธ์ ซึ่งถูกสร้างและใช้งานโดยกลุ่มผู้นำทางด้านการทหารตัวจริงเสียงจริงผ่านทางศูนย์ที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการประเมินภัยคุกคามแห่งชาติ (COTA) ซึ่งจะได้รับข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ สถิติ ภาพถ่าย และวีดีโอ ซึ่งข้อมูลบางส่วนอาจจะได้จากการโจรกรรมข้อมูลมา

ผู้ที่ควบคุมศูนย์ COTA จะเรียกแบบจำลองทางข้อมูลเหล่านี้ว่า “constructor” และยังได้รับแบบจำลองจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ซอฟต์แวร์ของ Plantir และ Delta ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในสนามรบที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการเคลื่อนทัพของกองทัพยูเครน

มันทำกองทัพยูเครนมองเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนของสงคราม ซึ่ง ข้อมูลจาก COTA นั้นจะให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในประเด็นที่อาจมีความอ่อนไหว เช่น เรื่องการระดมพลเพิ่มเติม

Zelensky ประธานาธิบดีของยูเครนได้รับคำแนะนำจาก COTA มากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นวันที่รัสเซียบุกโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ

ความพยายามด้าน AI ของยูเครนได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในสังคมที่มีการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการสงคราม เหล่าพลเมืองพร้อมใจกันอัปโหลดภาพที่มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศของพวกเขาลงในแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Diia หรือฟากฝั่งธุรกิจเองก็มีการส่งข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปให้กับ Mantis Analytics บริษัทในเมืองลวิฟ

สุดท้ายก็ต้องมาดูผลลัพธ์เมื่อตอนจบสงครามว่าการใช้เทคโนโลยีทั้งหมดเหล่านี้ที่ยูเครนกำลังผลักดันสงครามยุคใหม่ มันจะมีประสิทธิภาพเหนือรูปแบบทางการทหารเก่า ๆ ได้จริงแท้แค่ไหน

เพราะมีข้อโต้แย้งจากบางหน่วยงานเช่น Evan Platt จาก Zero Line องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเคียฟที่ทำการจัดหายุทโธปกรณ์ให้กับเหล่าทหารเช่นเดียวกัน และใช้เวลาอยู่แนวหน้าเพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการใช้ AI ช่วยเหลือในการรบครั้งนี้

เขาอธิบายการใช้ AI ของยูเครนว่าเหมือนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยจุดประกายความหวังให้กับยูเครนแม้จะดูมีสรรพกำลังที่ห่างชั้นจากรัสเซียก็ตาม แต่ก็มีข้อกังวลบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันเทคโนโลยี AI มากจนเกินไปอาจทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรด้านอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะคุ้มค่ากว่าถูกตัดทิ้งไป

ความเชื่อมั่นมากเกินไปใน AI ก็ถือเป็นความเสี่ยง และแบบจำลองที่ได้จากการประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI บางอย่างนั้นให้ข้อมูลที่หลอกลวงอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะส่งผลในแง่ลบต่อประสิทธิภาพการรบของยูเครนได้เช่นเดียวกัน

References :
https://time.com/6691662/ai-ukraine-war-palantir/
https://www.economist.com/science-and-technology/2024/04/08/how-ukraine-is-using-ai-to-fight-russia
https://www.globalgovernance.eu/publications/how-ukraine-uses-ai-to-fight-russian-information-operations

เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนสนามรบ เมื่อยุคใหม่ของสงครามไฮเทคได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ต้องบอกว่าสงครามนั้นเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับผู้คนและประเทศที่ต้องเสียสละอะไรหลายๆ อย่าง และโลกเราก็ได้ผ่านสงครามครั้งใหญ่เหล่านี้มามากมาย และดูเหมือนคำว่าสันติภาพยังห่างไกลจากความเป็นจริง

อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีได้ส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังสงครามกลางเมืองในอเมริกาเพื่อศึกษาการสู้รบในเกตตีสเบิร์ก การดวลรถถังในสงครามยมคิปปูร์ในปี 1973 เร่งให้กองทัพอเมริกาเปลี่ยนจากกองกำลังที่พ่ายแพ้ในเวียดนามเป็นกองทัพที่ถล่มอิรักให้ราบเป็นหน้ากลองในปี 1991 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน

สงครามในยูเครนถือเป็นสงครามใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ปี 1945 สงครามครั้งนี้ได้เปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับการสู้รบในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

มันชี้ให้เห็นถึงสงครามที่มีความเข้มข้นสูงรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานเทคโนโลยีสุดล้ำเข้ากับการสังหารหมู่และการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นยอด

ทุ่งสังหารในนยูเครนนั้นนีบทเรียน 3 ประการ อย่างแรกคือสนามรบเริ่มที่จะสามารถมองเห็นได้แบบทะลุปรุโปร่งแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน เซ็นเซอร์ชั้นยอดที่มองเห็นได้แทบจะทั้งหมด ดาวเทียม และฝูงโดรนราคาถูก พวกมันให้ข้อมูลสำหรับการประมวลผลโดยอัลกอริธึม AI ชั้นยอดที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณมือถือของนายพลรัสเซีย หรือเค้าโครงของรถถังที่กำลังพรางตัว ข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งผ่านดาวเทียมไปยังพลทหารในแนวหน้า หรือใช้เพื่อเล็งปืนใหญ่และจรวดด้วยความแม่นยำและระยะยิงที่ไม่เคยมีมาก่อน

นั่นหมายความว่าสงครามในอนาคตจะขึ้นอยู่กับศึกชิงข้อมูลของข้าศึก ลำดับความสำคัญคือการตรวจจับศัตรูให้ได้ก่อน ก่อนที่พวกเขาจะพบคุณ เพื่อทำให้เซ็นเซอร์ของข้าศึกนั้นมืดบอด

ต้องทำทุกวิถีทางในการขัดขวางวิธีการส่งข้อมูลข้ามสนามรบ ไม่ว่าจะผ่านการโจมตีทางไซเบอร์ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ หรือวัตถุระเบิดแบบยุคโบราณ

กองกำลังรบต้องพัฒนาวิธีการต่อสู้ใหม่ โดยอาศัยความคล่องตัว การกระจายตัว การพรางตัว และการหลอกลวงข้าศึก กองทัพขนาดใหญ่ที่ไม่ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่จะถูกบดบี้โดยกองทัพขนาดเล็กที่ทำสิ่งเหล่านี้ก่อน สงครามจะไม่ได้วัดกันที่จำนวนทหารอีกต่อไปดั่งที่ได้ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในสงครามยูเครน

แม้ในยุคของปัญญาประดิษฐ์ บทเรียนที่สองคือ สงครามยังคงเกี่ยวกับกำลังทหารของมนุษย์ รวมถึงเครื่องจักรและยุทโธปกรณ์นับล้าน การบาดเจ็บล้มตายในยูเครนนั้นมีความรุนแรงมาก ๆ

ความสามารถในการมองเห็นเป้าหมายและโจมตีเป้าหมายอย่างแม่นยำทำให้จำนวนศพทหารเพิ่มสูงขึ้น การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมหาศาล รัสเซียยิงกระสุน 10 ล้านลูกในหนึ่งปี ยูเครนสูญเสียโดรน 10,000 ลำต่อเดือน

ยูเครนสูญเสียโดรน 10,000 ลำต่อเดือน (CR:Radio Free Europe)
ยูเครนสูญเสียโดรน 10,000 ลำต่อเดือน (CR:Radio Free Europe)

ในที่สุดเทคโนโลยีจะเปลี่ยนรูปแบบสงครามทางกายภาพโดยเฉพาะกับทหารที่เป็นมนุษย์ นายพล มาร์ค มิลลีย์ ทหารอาวุโสของอเมริกา ทำนายว่า หนึ่งในสามของกองกำลังขั้นสูงจะเป็นหุ่นยนต์ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

ลองนึกถึงกองทัพอากาศไร้นักบินและรถถังไร้คนขับ แต่อย่างไรก็ตามกองทัพแบบดั้งเดิมยังจำเป็นต้องต่อสู้ในทศวรรษนี้และในทศวรรษหน้า นั่นหมายถึงต้องสร้างขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมในการผลิตฮาร์ดแวร์ทางด้านการทหารในระดับที่มากขึ้น

บทเรียนที่สาม ซึ่งเป็นบทเรียนที่ใช้กับพื้นที่ส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 20 เช่นกัน นั่นคือ ขอบเขตของสงครามครั้งใหญ่นั้นกว้างขวางและไม่ชัดเจนเหมือนเดิมอีกต่อไป ความขัดแย้งของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานและอิรักนั้นต่อสู้โดยกองทัพมืออาชีพขนาดเล็ก พลเรือนมีส่วนร่วมน้อยมาก ๆ

แต่ในสงครามยูเครน พลเรือนถูกดึงเข้ามาสู่สงคราม แม้กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ในเมืองชนบทของยูเครนก็สามารถช่วยชี้เป้าในการยิงปืนใหญ่ผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนได้

สมาร์ทโฟนที่เข้ามามีบทบาทมาก ๆ ในสงครามยูเครน (CR:CBC)
สมาร์ทโฟนที่เข้ามามีบทบาทมาก ๆ ในสงครามยูเครน (CR:CBC)

และนอกเหนือจากอุตสาหกรรมด้านกลาโหมแบบเก่า กลุ่มบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีกลุ่มใหม่ก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญเช่นกัน

ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในสนามรบของยูเครนอยู่บนเซิร์ฟเวอร์คลาวด์ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในต่างประเทศ บริษัทในฟินแลนด์ให้ข้อมูลการกำหนดเป้าหมายและการสื่อสารผ่านดาวเทียมของอเมริกา

ต้องบอกว่าไม่มีสงครามครั้งใดที่เหมือนกัน การต่อสู้ระหว่างอินเดียและจีนอาจเกิดขึ้นบนดินแดนหลังคาโลก การปะทะกันระหว่างจีน-อเมริกันเหนือเกาะไต้หวันจะมีกำลังทางอากาศและทางเรือมากขึ้น

ในการสู้รบเพื่อแย่งชิงไต้หวัน อเมริกาและจีนจะถูกล่อลวงให้โจมตีกันในอวกาศ ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเตือนภัยล่วงหน้าและดาวเทียมที่ใช้ในการควบคุมถูกปิดการใช้งาน

รัสเซียที่อาจดูเหมือนเผด็จการอาจเป็นภัยคุกคามต่อตะวันตกเป็นเวลาหลายทศวรรษข้างหน้า อิทธิพลทางการทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นปัจจัยที่บั่นทอนเสถียรภาพในเอเชีย

เพราะฉะนั้นกองทัพใดที่ไม่ได้เรียนรู้บทเรียนของสงครามรูปแบบใหม่ที่ได้จัดแสดงให้โลกเห็นกับสงครามในยูเครน มีความเสี่ยงที่จะเพลี่ยงพล้ำให้กับกองทัพที่สามารถเรียนรู้จากบทเรียนในครั้งนี้นั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/leaders/2023/07/06/a-new-era-of-high-tech-war-has-begun
https://sputniknews.com/military/201811231070067598-royal-navy-ships-artificial-intelligece/
https://www.aidaily.co.uk
https://www.forbes.com/sites/davidaxe/2023/07/04/what-and-where-is-ukraines-high-tech-swedish-brigade/

Military AI Era เหตุใดธุรกิจสตาร์ทอัพ AI ทางการทหารกำลังอยู่ในยุคเฟื่องฟูสุดขีด

สองสัปดาห์หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ Alexander Karp ซีอีโอของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Palantir ได้นำเสนอต่อผู้นำยุโรป เมื่อสงครามใกล้เข้ามา ชาวยุโรปควรปรับปรุงคลังอาวุธของตนให้ทันสมัยด้วยความช่วยเหลือ จาก Silicon Valley

จดหมายเปิดผนึกเพื่อให้ยุโรปยังคงแข็งแกร่งพอที่จะเอาชนะภัยคุกคามจากการยึดครองของต่างชาติ Karp กล่าวว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับรัฐ โดยเฉพาะด้านการทหาร

ยุโรปตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวทันที NATO ประกาศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนว่ากำลังสร้างกองทุนนวัตกรรมมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นและกองทุนร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลบิ๊กดาต้า และระบบอัตโนมัติ

Alexander Karp ซีอีโอของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Palantir (CR:LA Times)
Alexander Karp ซีอีโอของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Palantir (CR:LA Times)

นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้น สหราชอาณาจักรได้เปิดตัวกลยุทธ์ AI แบบใหม่สำหรับการป้องกันประเทศโดยเฉพาะ และชาวเยอรมันได้ทุ่มงบประมาณให้กับการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในวงเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์แก่กองทัพของพวกเขา 

“สงครามเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” Kenneth Payne ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยการศึกษาด้านการป้องกันประเทศที่คิงส์คอลเลจลอนดอน และเป็นผู้เขียนหนังสือ I, Warbot: The Dawn of Artificially Intelligent Conflict กล่าว 

สงครามในยูเครนได้เพิ่มความเร่งด่วนในการผลักดันเครื่องมือ AI ให้มากขึ้นในสนามรบ ผู้ที่ทำกำไรได้มากที่สุดคือสตาร์ทอัพอย่าง Palantir ซึ่งหวังว่าจะได้เงินจากการที่กองทัพแข่งขันกันเพื่อปรับปรุงคลังแสงของตนด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

แต่ความกังวลด้านจริยธรรมที่มีมายาวนานเกี่ยวกับการใช้ AI ในการทำสงครามได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความคาดหวังของข้อจำกัดและข้อบังคับในการควบคุมการใช้งานนั้นดูห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับการทหารนั้นไม่เป็นมิตรเสมอไป ในปี 2018 หลังจากการประท้วงและความไม่พอใจของพนักงาน Google ที่ทำให้ต้องถอนตัวจาก Project Maven ของเพนตากอน

การประท้วงและความไม่พอใจของพนักงาน Google (CR:GettyImage)
การประท้วงและความไม่พอใจของพนักงาน Google (CR:GettyImage)

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและศีลธรรมในการพัฒนา AI สำหรับเรื่องอาวุธที่จะมาทำลายล้างมนุษย์ 

นอกจากนี้ยังมีการนำนักวิจัย AI ที่มีชื่อเสียงเช่น Yoshua Bengio ผู้ชนะรางวัล Turing Prize และ Demis Hassabis, Shane Legg และ Mustafa Suleyman ผู้ก่อตั้ง DeepMind ห้องปฏิบัติการ AI ชั้นนำ ที่ได้ให้สัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวเกี่ยวกับ AI ที่สร้างความรุนแรง 

แต่สี่ปีต่อมา ซิลิคอนแวลลีย์ใกล้ชิดกับกองทัพบกมากกว่าที่เคย Yll Bajraktari ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการบริหารของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติด้าน AI (NSCAI) ของสหรัฐฯ กล่าว

ในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น บริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กกำลังเริ่มเข้ามาในวงการนี้มากยิ่งขึ้น

Yll Bajraktari ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นกลุ่มที่ล็อบบี้สำหรับการนำ AI มาใช้มากขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา 

ทำไมต้อง AI

บริษัทที่ขายเทคโนโลยี AI ทางการทหารต่างโฆษณาโอ้อวดในสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถทำได้ พวกเขาบอกว่าสามารถช่วยได้ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องธรรมดาไปจนถึงเรื่องที่ร้ายแรงมาก ๆ

ไล่มาตั้งแต่การคัดกรองประวัติไปจนถึงการประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียม หรือการจดจำรูปแบบในข้อมูล เพื่อช่วยให้ทหารตัดสินใจได้เร็วขึ้นในสนามรบ 

ซอฟต์แวร์จดจำภาพสามารถช่วยระบุเป้าหมายได้ โดรนไร้คนขับสามารถใช้สำหรับการเฝ้าระวังหรือโจมตีบนบก ทางอากาศ หรือในน้ำ หรือเพื่อช่วยให้ทหารส่งมอบเสบียงได้อย่างปลอดภัยมากกว่าเดิม

เทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในสนามรบ และกองทัพกำลังอยู่ในช่วงของการทดลอง Payne กล่าว ซึ่งบางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก มีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับแนวโน้มของบริษัท AI ที่โฆษณาเว่อร์เกินจริง

และที่สำคัญเขตการต่อสู้อาจเป็นพื้นที่ที่ท้าทายทางเทคนิคมากที่สุดในการปรับใช้ AI เนื่องจากมีข้อมูลการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ระบบอัตโนมัติที่คุ้ยโม้โอ้อวดไว้นั้นเกิดความล้มเหลวได้ เพราะพื้นที่เหล่านี้นี้มีลักษณะที่ซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้

ตามรายงาน ของ Georgetown Center for Security and Emerging Technologies รายงานว่ากองทัพจีนใช้จ่ายเงินอย่างน้อย 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีและในสหรัฐฯ มีการผลักดันอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องงบประมาณดังกล่าว

กองทัพจีนใช้จ่ายเงินอย่างน้อย 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในด้านเทคโนโลยี AI ด้านการทหาร (CR:EurAsian Times)
กองทัพจีนใช้จ่ายเงินอย่างน้อย 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในด้านเทคโนโลยี AI ด้านการทหาร (CR:EurAsian Times)

Lauren Kahn นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ร้องของบประมาณ 874 ล้านดอลลาร์สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปี 2022 แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงยอดรวมที่แท้จริงของการลงทุนด้าน AI ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

ไม่ใช่แค่กองทัพสหรัฐฯ เท่านั้นที่เชื่อมั่นในความต้องการด้านนี้ Heiko Borchert ผู้อำนวยการร่วมของ Defense AI Observatory ที่มหาวิทยาลัย Helmut Schmidt ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรปซึ่งมีแนวโน้มจะระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ก็กำลังใช้จ่ายเงินไปกับ AI มากขึ้นเช่นกัน 

ฝรั่งเศสและอังกฤษระบุว่า AI เป็นเทคโนโลยีการป้องกันที่สำคัญ และคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ได้จัดสรรเงิน 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันประเทศใหม่ 

บทสรุป

ในที่สุด ยุคใหม่ของ AI ทางการทหารทำให้เกิดคำถามทางจริยธรรมซึ่งเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนักหากเกิดสงครามขึ้นมาจริง ๆ ในแต่ละประเทศที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้จะคำนึงถึงเรื่องจริยธรรมมากน้อยขนาดไหน หนึ่งในคำถามเหล่านั้นคือเราต้องการให้กองกำลังติดอาวุธเป็นระบบอัตโนมัติจริง ๆ หรือไม่

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบ AI อาจลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยการทำให้สงครามมีเป้าหมายมากขึ้น ไม่กวาดล้างแบบมั่วซั่วเหมือนในอดีตที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก

แต่ในอีกทางหนึ่ง พวกเรากำลังสร้างกองกำลังหุ่นยนต์รับจ้างอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้ในนามของเรา มันทำให้สังคมของพวกเราห่างไกลจากผลของความรุนแรงได้จริง ๆ หรือไม่ สงครามใหญ่ที่เกิดขึ้นในครั้งหน้าจะให้คำตอบเราได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.nato.int/cps/en/natohq/news_197494.htm
https://www.technologyreview.com/2022/07/07/1055526/why-business-is-booming-for-military-ai-startups/
https://www.palantir.com/newsroom/letters/in-defense-of-europe/en/
https://www.ausa.org/news/milley-artificial-intelligence-could-change-warfare