Zynga ผู้สร้าง Farmville กับเส้นทางที่เจิดจรัสสู่ดาวอับแสงแห่งวงการสตาร์ทอัพ

สำหรับผู้ที่เล่น facebook ตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มโด่งดังนั้นคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักกับ zynga บริษัทที่ทำเกมบน facebook ชื่อดังอย่าง farmville ซึ่งถือว่าเป็นเกมบน social network ที่ดังเอามาก ๆ ในยุคนั้นที่คนติดกันงอมแงมซึ่งเราจะเห็น notification ที่เกี่ยวเกมนี้เด้งมาตลอด

เพียงไม่กี่ปีสถานการณ์นั้นก็กลับพลิกผันไปอย่างสิ้นเชิง บริษัทที่ถูกตีมูลค่ากว่าหลายพันล้านเหรียญอย่าง zynga กลายเป็นแทบจะไม่มีผู้เล่น มันเกิดขึ้นได้อย่างไรเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่ว่ากันว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงและดับแสงลงไปภายในเวลาไม่กี่ปี

Mark Pincus เป็นผู้ก่อตั้งและผู้สร้างบริษัท zynga ให้เป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองของบริษัทเทคโนโลยี โดยในช่วงก่อนหน้านั้น Pincus เรียนจบ MBA จาก harvard business school ซึ่งถือเป็นโรงเรียนธุรกิจชื่อดังระดับโลกที่บ่มเพราะนักธุรกิจและผู้บริหารบริษัทชื่อดังมากมายทั่วโลก

Mark Pincus ผู้ก่อตั้ง Zynga (CR: The Mecury News)
Mark Pincus ผู้ก่อตั้ง Zynga (CR: The Mecury News)

Pincus นั้นจะแตกต่างจาก founder รุ่นใหม่ ๆ พอสมควรเนื่องจากมาดังตอนที่ถือว่าค่อนข้างอายุมากพอสมควร คือผ่านโลกของการทำงานมาระดับสิบปีแล้วถึงจะออกมาทำธุรกิจด้าน computer

โดยเริ่มแรกนั้นเขาได้สร้างเว็บ Freeloader  ซึ่งในยุคนั้นก็ถือว่าเป็น web service ที่ดังมาก ๆ เว็บหนึ่งก่อนที่จะขายออกไปทำเงินได้มากกว่า 30 ล้านเหรียญซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น

แทนที่จะเกษียณตัวเองอย่างสุขสบาย mark pincus ก็ได้ทำการสร้างบริการออนไลน์ใหม่คือ support .com ไว้สำหรับช่วยเหลือด้าน computer สำหรับบุคคลทั่วไปแบบออนไลน์ก่อนที่ social network จะเริ่มเกิดมาในยุคของ friendster หรือ myspace ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ facebook ก็กำลังตั้งไข่พอดี

Pincus นั้นได้สร้าง social network ขึ้นมาตัวหนึ่งชื่อ tribe แต่ไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่เลยทำการขายให้กับบริษัทด้านเน็ตเวิร์กชื่อดังอย่าง cisco

จนเมื่อ facebook ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มมีกระแสที่ร้อนแรง เนื่องจากมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ facebook ในช่วงนั้น ตัว pincus เองนั้นก็ชอบเล่นเกมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงได้เริ่มคิดหาไอเดียในการสร้างเกมบนแพลตฟอร์ม facebook ขึ้นมา

โดยเกมแรกที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม facebook  คือ เกมเล่นไพ่ texas poker ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกมแรก ๆ บน facebook และเนื่องจากมีการสร้างฐานอยู่บนแพลตฟอร์มของ facebook ทำให้มีส่วนประกอบที่สำคัญในเรื่องของ social ทำให้คนสามารถ communicate ในเกมผ่าน facebook กันได้ง่ายขึ้น

Texus Poker เกมส์แรก ๆ บน facebook
Texas Poker เกมส์แรก ๆ บน facebook (CR:Mashable)

ในช่วงแรก ๆ นั้นเกมบน facebook ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฉุดกระแส facebook ให้ยิ่งดังขึ้นไปอีก เนื่องจากการที่จะมาเล่นเกมกับเพื่อนได้ในยุคนั้น ก็ต้องเป็นสมาชิกของ facebook ก่อน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนเสริมกันระหว่าง zynga กับ facebook ที่ทำให้เติบโตไปด้วยกันทั้งคู่

zynga มาโด่งดังที่สุดตอนที่ปล่อยเกมอย่าง farmville ออกมา ทำให้มีผู้เล่นหลักหลายสิบล้านคน และเริ่มเกิด business model ใหม่ในยุคนั้นคือมีการขาย item ภายในเกม โดยก่อนหน้านี้ใช้รูปแบบการขายโฆษณาเพียงเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการเกมในขณะนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเกมส่วนใหญ่นั้นจะแจก free แต่จะไปเน้น in-app purchase แทนซึ่งทำรายได้มากกว่าโมเดลการขายเกมแบบเดิม ๆ เป็นอย่างมาก

เกมส์อย่าง farmville โด่งดังมากในยุคแรก ๆ ของ facebook
เกมอย่าง farmville โด่งดังมากในยุคแรก ๆ ของ facebook (CR:Facebook)

ช่วงที่รุ่งเรื่องก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากเกมของ zynga เป็นเกมที่สามารถทำเลียนแบบได้ง่ายมาก เพราะเป็นเกมที่ไม่มีความซับซ้อนใด ๆ รวมถึงส่วนใหญ่ก็เป็นรูปแบบการพัฒนามาจากเกมในอดีตที่มีอยู่แล้วแทบจะทั้งสิ้น แค่นำมาเปลี่ยนในส่วนของ user interface

ทำให้ zynga เจอคู่แข่งมากมายในขณะนั้นและมีการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ของเกมทำให้สถานการณ์ของ zynga ตกอยู่ในที่นั่งลำบากและสุดท้ายก็ทำให้มูลค่ากิจการของ zynga ตกลงอย่างฮวบฮาบ

เรื่องนี้เป็น case study ที่น่าสนใจสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่โตอย่างรวดเร็ว จนลืมพื้นฐานสำคัญของตัวแพลตฟอร์มซึ่ง zynga นั้นมีการผูกอยู่กับแพลตฟอร์มของ facebook เป็นหลัก ทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำมาก ๆ ซึ่ง facebook จะบีบเมื่อไหร่ก็ได้คล้าย ๆ กับสิ่งที่ Apple ทำกับ App Store ของพวกเขาในทุกวันนี้

แต่มันก็มีเคสที่น่าสนใจที่บริษัทอย่าง LINE Corporation ของญี่ปุ่นนั้นโมเดลธุรกิจแทบจะเหมือนกับ zynga ในอดีต แต่เนื่องจาก LINE นั้นมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองทำให้สามารถต่อยอดและทำรายได้จากส่วนต่าง ๆ ได้มาก ๆ เช่น เกม , sticker , โฆษณา  ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการไม่พึ่งพาคนอื่นมาตั้งแต่แรกของ LINE

Line นั้นสร้าง Platform เกมส์ของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร
Line นั้นสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร (CR:Line)

ทำให้บริษัทขยายการเติบโตได้เรื่อย ๆ บนพื้นฐานของแพลตฟอร์มตัวเอง ต่างจาก zynga ที่ไม่ได้มีแพลตฟอร์มของตัวเองตั้งแต่แรก แต่เพิ่งมาคิดทำตอนหลังซึ่งมันก็สายไปเสียแล้วสำหรับบริษัทหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วงต้นของยุค social network อย่าง zynga

References :
https://successstory.com/people/mark-jonathan-pincus
https://www.wsj.com/articles/SB10001424052970204409004577158744071030040
https://en.wikipedia.org/wiki/Zynga
https://en.wikipedia.org/wiki/Mark_Pincus

1 พันล้านกับพนักงาน 13 คน สู่ดีลการซื้อกิจการที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Mark Zuckerberg

ในขณะที่ Facebok เตรียมพร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะหรือการทำ IPO ในปี 2012 ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์บริษัททางด้านอินเทอร์เน็ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

Mark Zuckerberg ก็ต้องเริ่มมองความเป็นจริงในเรื่องระยะยาวของธุรกิจของเขา มันคงเป็นโปรเจกต์แบบหอหักนักศึกษาเหมือนเดิมแล้วพุ่งแรงขึ้นมาแบบปากต่อปากไม่ได้อีกต่อไป

ในตอนนั้นผู้ใช้งานเริ่มเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์พกพาอย่างรวดเร็ว Facebook แม้จะมีแอปอยู่แล้ว แต่ก็ต่างจาก Google และ Apple ตรงที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์

นั่นหมายความว่าถ้า Facebook เดินกลยุทธ์ที่ผิดพลาด สุดท้าย Zuckerberg จะสร้างบริษัทของเขาให้อยู่ในวงล้อมของบริษัทอื่นที่เขาเองไม่ได้เป็นเจ้าของในท้ายที่สุด

ดูเหมือนว่าจะมีเพียงสองวิธีในการชนะธุรกิจในเกมระยะยาว หนึ่งคือ วิศวกรของ Facebook ต้องทำให้ Facebook มีประโยชน์จนสามารถที่จะทำให้ผู้คนใช้เวลาบนโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และอีกวิธีก็คือ เขาต้องฆ่าแอปที่คิดจะมาเป็นคู่แข่งของเขาให้ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทอื่น ๆ จะไม่มารุกล้ำอาณาเขตของ Facebook

และในช่วงเวลาเดียวกันของ 2012 ต้องบอกว่า Instagram กลายเป็นหนึ่งดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก ผู้ใช้งานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ แบบที่ไม่เคยมีแพลตฟอร์มใดสามารถทำได้มาก่อน

Instagram ที่กลายเป็นแอปดาวรุ่งพุ่งแรงในตอนนั้น (CR:TechCrunch)
Instagram ที่กลายเป็นแอปดาวรุ่งพุ่งแรงในตอนนั้น (CR:TechCrunch)

Instagram ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ตุลาคม 2010 และมันได้กลายเป็นไวรัลทันที เพราะได้ Jack Dorsey จาก Twitter ที่ซี้กับ Systrom ช่วยโปรโมตผ่านแพล็ตฟอร์ม Twitter

โดยภายในวันแรกมีผู้คนมากกว่า 25,000 คนเข้าใช้งาน Instagram หลังการเปิดตัว ภายในสัปดาห์แรกผู้ใช้งานก็ทะลุ 100,000 เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดในปี 2010 ผู้ใช้งานทะลุ 1 ล้านคน และ อีกหกสัปดาห์หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 2 ล้านคน

เรียกได้ว่า มันเป็นจังหวะเวลาที่สมบูรณ์แบบที่สุดในช่วงการแจ้งเกิดของ Instagram เพราะตอนนั้นเครือข่ายมือถือก็มีความพร้อมในเรื่องของเร็วในการอัพโหลดภาพ รวมถึง smartphone เองก็เริ่มมีกล้องหน้า ซึ่งเป็น key สำคัญมาก ๆ ในการแจ้งเกิดของ Instagram ได้ถูกช่วงเวลาพอดิบพอดี

ตัว Zuckerberg ได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการระดมทุนรอบล่าสุดมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ของ Instagram และเขาก็เริ่มที่จะตระหนักว่าคู่แข่งที่สดใหม่ วัยรุ่นชอบใจอย่าง Instagram อาจกลายเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องทำคือ “ซื้อ”

Zuckerberg คิดว่าเขารู้วิธีที่จะพูดคุยกับ Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram เพราะตัวเขาเองก็เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อนในการถูกล่อซื้อจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอดีต

กลุ่มผู้นำบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต้องการความอิสระ และรักษารูปแบบของบริษัทของพวกเขาไว้ และแน่นอนว่าหากได้เครือข่ายของ Facebook ที่เป็นมืออาชีพเต็มตัวแล้ว จะช่วยให้ Instagram เติบโตได้

และในที่สุดก็มีการเจรจาอย่างจริงจังกันที่บ้านหลังใหม่ของ Zuckerberg ในย่าน Crescent Park ในแถบพาโล อัลโต และ Systrom เริ่มต้นด้วยการเรียกตัวเลขที่ 2 พันล้านดอลลาร์

Zuckerberg มองว่ามันเป็นราคาที่สูงเกินไป และเริ่มที่จะประชุมกับเหล่าฝ่ายผู้บริหารคนสำคัญ ๆ ของ Facebook เช่น Sheryl Sandberg และ David Ebersman ที่ดำรงตำแหน่ง CFO ของ Facebook ในตอนนั้น

ผู้บริหารต่างถกเถียงกันว่าดีลนี้ควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ ส่วนตัว Zuckerberg เองนั้นค่อนข้างเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง

มีการถกเถียงกันว่า Instagram ไม่ใช่แค่แอปสำหรับให้ผู้คนโพสต์รูปอาหารแต่มันน่าจะเป็นธุรกิจที่เป็นไปได้ ระบบ hashtag สำหรับจัดระเบียบโพสต์ตามหัวข้อก็คล้าย ๆ กับ Twitter แต่เป็นภาพแทน ดังนั้นผู้คนจึงสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเพียงแค่คลิกที่ hashtag ที่สนใจ

แม้แอปจะมีผู้ใช้งานเพียงแค่ 25 ล้านคน เมื่อเทียบกับหลายร้อยล้านคนของ Facebook ในขณะนั้น แต่ธุรกิจต่าง ๆ ก็ใช้ Instagram เพื่อโพสต์รูปถ่ายผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ติดตามก็โต้ตอบและแสดงความเห็นกันจริง ๆ

Instagram แม้ยังไม่ได้ทำเงิน แต่รูปแบบของฟีดก็คล้าย ๆ กับ Facebook ที่สามารถเลื่อนดูโพสต์ต่าง ๆ ได้ไม่รู้จบ สุดท้ายก็สามารถที่จะพัฒนาความสามารถในการโฆษณาแบบเดียวกันได้ในที่สุด และใช้โครงสร้างพื้นฐานของ Facebook เพื่อให้เติบโตได้เร็วขึ้น อย่างที่ Youtube ทำที่ Google

Zuckerberg ต้องการปิดดีลนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ต้องบอกว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นหมากรุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของซิลิกอน วัลเลย์ โดยมักจะคิดไปไกลหลายก้าว

หาก Facebook ใช้เวลาเจรจานานเกินไป Systrom ก็จะเริ่มโทรหาเพื่อนและที่ปรึกษาของเขา ซึ่ง Systrom สนิทกับ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเขาทำข้อตกลงได้เร็วเท่าไหร่ Systrom ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะโทรหาใครสักคนที่จะให้คำแนะนำที่จะไม่เป็นประโยชน์กับ Facebook

Systrom ที่สนิทกับ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (CR:Expansion)
Systrom ที่สนิทกับ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (CR:Expansion)

ฝั่ง Facebook เองก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องของดีลการเข้าซื้อว่าจะใช้เงินสดหรือหุ้น ซึ่งการใช้เงินสดคงเป็นเรื่องยากในสถานการณ์ ณ ตอนนั้น

Zuckerberg พยายามโน้มน้าว Systrom ด้วยมูลค่าหุ้น ซึ่งเขามองว่าราคามันจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และต้องการให้ราคาที่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของมูลค่า Facebook

Facebook มีมูลค่าการประเมินในตอนนั้นราว ๆ หนึ่งแสนล้านเหรียญเพราะฉะนั้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของดีลนี้คือ หนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่า Facebook กำลังอยู่ในช่วงการเติบโต ที่ Systrom ต้องการสองพันล้านดอลลาร์นั้น สุดท้ายอาจจะได้มูลค่าที่สูงกว่านั้นในอนาคต

ฝั่ง Systrom เองก็ต้องคิดหนัก Steve Anderson ที่เป็นนักลงทุนและบอร์ดบริหารของ Instagram พยายามคัดค้านการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ของ Facebook

Anderson คิดว่า Facebook ประเมินราคาต่อหุ้นต่ำเกินไป มันเหมือนเป็นเกมที่ Facebook ต้องการฆ่า Instagram ออกไปจากการแข่งขันกับ Facebook ซึ่งสิ่งนี้มันอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์

แต่ Systrom ก็ให้เหตุผลไว้สี่ประการ อันดับแรก มูลค่าของ Facebook มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นมูลค่าการซื้อกิจการจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ประการที่สอง มันเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่ต้องไปแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ซึ่งหาก Facebook คิดจะคัดลอกฟีเจอร์แล้วสร้างแอปของพวกเขาเองขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ Instagram เติบโตได้ยากขึ้น

ประการที่สาม Instagram จะได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของ Facebook ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการทุกอย่างที่ Instagram ต้องเรียนรู้ในอนาคต ส่วนประการสุดท้ายคือ ตัวเขาและ Mike Krieger ผู้ร่วมก่อตั้ง จะยังมีความอิสระในการบริหารงาน Instagram

ย้อนกลับไปที่พาโล อัลโต เงื่อนไขต่าง ๆ ค่อนข้างลงตัวหมดแล้ว Zuckerberg ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เล็ก ๆ เพื่อฉายซีรีส์ดังอย่าง “Game of Thrones” ในคืนนั้น Systrom ไม่ได้อยู่ดูด้วย เขาเซ็นสัญญาเสร็จสิ้นในช่วงเย็นวันนั้นในห้องนั่งเล่นของ Zuckerberg

ต้องบอกว่าโครงสร้างการเข้าซื้อกิจการของ Instagram ถือเป็นมิติใหม่ในวงการ ซึ่งเป็นบริษัทที่ซื้อมาแต่ไม่ได้นำมาถูกรวมเข้าด้วยกัน และได้กลายเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการ M&A ของแวดวงเทคโนโลยีในภายหลัง

ซึ่งในอีกไม่กี่ปีถัดมา Twitter ได้เข้าซื้อ Vine และ Periscope โดยแยกแอปให้เป็นอิสระและโยนให้ผู้ก่อตั้งเป็นผู้รับผิดชอบโดยไม่ก้าวก่าย หรือ Google ที่ซื้อ Nest โดยแยกให้บริหารแบบอิสระ และเกิดเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ Amazon ซื้อ Whole Foods

และสุดท้ายดีลข้อตกลงของ Instagram จะทำให้ Zuckerberg และ Facebook มีความได้เปรียบในสงครามการแข่งขันไปอีกนานแสนนานก่อนจะมาเจอคู่แข่งที่โหดหินอย่าง TikTok ในภายหลัง

ผู้บริหาร Facebook คนหนึ่งถึงกับพูดถึงดีลนี้ในภายหลังว่า “ลองนึกภาพถึงการที่ Microsoft เข้าซื้อ Apple ในขณะที่ Apple ยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ อยู่ นั่นคงจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ Microsoft แต่นั่นคือสิ่งที่ Facebook ได้รับจาก Instagram”

Systrom และพนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ของเขา (CR:The New York Times)
Systrom และพนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ของเขา (CR:The New York Times)

หลังจากดีลเสร็จสิ้นมีการเล่นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

“พนักงาน 13 คนของบริการแชร์รูปภาพ Instagram กำลังเฉลิมฉลองในวันนี้ หลังจากรู้ตัวว่าพวกเขาจะกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านกัน” Daily Mail เขียน

“ตอนนี้ Instagram มีมูลค่า 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อพนักงานหนึ่งคน” The Atlantic รายงาน

Business Insider ได้เผยแพร่รายชื่อพนักงานทั้งหมดที่พวกเขาสามารถหาได้ พร้อมด้วยรูปถ่ายและข้อมูลที่ทำการคัดลอกมาจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับโรงเรียนที่พวกเขาเคยเรียนงานที่พวกเขาเคยทำ ทีมงานของ Instagram ได้รับโทรศัพท์และแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลามบน Facebook จากเพื่อนและครอบครัว พวกเขาได้รับการแสดงความยินดีที่ประสบความสำเร็จในชีวิต”

ภายใต้การนำของ Systrom ในฐานะซีอีโอหลังจากการเข้าซื้อกิจการ Instagram กลายเป็นแอปที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้งาน 800 ล้านคนต่อเดือน ณ เดือนกันยายนปี 2017 และเขาได้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Instagram เมื่อวันที่ 24 กันยายน ปี 2018

Facebook ที่ซื้อ Instagram ในราคาหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในปี 2012 ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลในขณะนั้นสำหรับบริษัทที่มีพนักงานเพียง 13 คน ปัจจุบัน Instagram มีผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งพันล้านคนและสร้างรายได้มากกว่าสองหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับ Meta Platforms

และสุดท้าย Systrom ก็ได้ถูกรวมอยู่ในรายชื่อผู้ประกอบการอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาในปี 2016

References :
หนังสือ No Filter : The Inside Story of Instagram โดย Sarah Frier
https://en.wikipedia.org/wiki/Kevin_Systrom
https://www.forbes.com/sites/katevinton/2016/08/01/instagram-ceo-kevin-systrom-joins-billionaire-ranks-as-facebook-stock-soars/
https://www.cnet.com/tech/services-and-software/facebooks-sliding-stock-takes-instagram-below-1b-price-tag/

23andMe จากสตาร์ทอัพสุดร้อนแรงมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ดิ่งลงเหวจนเหลือเกือบ 0

ย้อนกลับไปเมื่อห้าปีที่แล้ว ต้องบอกว่า 23andMe ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพร้อนแรงที่สุดในโลก ผู้คนนับล้านถุยน้ำลายใส่หลอดทดลองเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของเขา

คนดังต่างๆ เข้ามาร่วมชื่นชมกับผลงาน 23andMe แม้กระทั่ง Oprah Winfrey ก็ได้แนะนำอุปกรณ์ของบริษัทแห่งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอชื่นชอบ

23andMe ทำ IPO ขายหุ้นสู่สาธาณะในปี 2021 และมูลค่าบริษัทของพวกเขาก็พุ่งทะยานสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ และในเวลาเพียงไม่นาน Forbes ได้ถึงกับเชิดชูให้ Anne Wojcicki ผู้บริหารระดับสูงของ 23andMe ให้เป็น “newest self-mand billionaire”

แต่ตัดภาพมา ณ ปัจจุบัน เงินหลายพันล้านดอลลาร์ได้มลายหายสาปสูญไป การประเมินมูลค่าของ 23andMe ตกลงมาจากจุดสูงสุดถึง 98% และ Nasdaq ขู่ว่าจะเพิกถอนหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ออกจากตลาด

Wojcicki ต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานไปกว่า 25% ผ่านการเลิกจ้างสามรอบและขายบริษัทในเครือออกไป ต้องบอกว่าบริษัทของเธอแทบจะไม่เคยทำกำไรได้เลย และกำลังเผาเงินอย่างบ้าคลั่งจนจะหมดลมหายใจภายในปี 2025

ต้องบอกว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจการตรวจ DNA ของ 23andMe คือความท้าทายสองประการ นั่นก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ทำการทดสอบเพียงแค่ครั้งเดียว และมีลูกค้าเพียงไม่กี่รายที่ทดสอบไปแล้วได้รับผลตรวจสุขภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้จริง

เดิมพันอันสูงสุดของ Wojcicki คือการพัฒนายาโดยใช้คลังตัวอย่าง DNA มากกว่า 10 ล้านตัวอย่างที่ 23andMe เก็บไว้ แต่การจะนำยาใหม่ออกสู่ตลาดได้จริงนั้นต้องใช้เงินทุนในการวิจัยมหาศาลและใช้เวลาอีกนานหลายปี

จุดเริ่มต้นจากความรัก

Wojcicki ลูกสาวของอดีตประธานภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเรียกได้ว่าเติบโตมาท่ามกลางกลิ่นอายของซิลิกอนวัลเลย์

เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยล โดยเธอได้มองเห็นความล้มเหลวของบริษัทในด้านการดูแลสุขภาพ และเธอก็มองว่าเหล่านักลงทุนหน้าเลือดมักจะบีบเงินจากนวัตกรรมซะเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้เธอตัดสินใจว่าเธอต้องการช่วยผู้บริโภคในการควบคุมและดูแลสุขภาพของตนได้มากขึ้น

และตัวละครคนสำคัญที่สุดที่ทำให้ 23andMe ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้สำเร็จนั่นก็คือ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ได้ออกเดทกับ Wojcicki

ในปี 1998 Brin และ Larry Page เช่าโรงรถของ Susan Wojcicki ซึ่งเป็นพี่สาวของ Anne Wojcicki เพื่อเป็นสำนักงานแห่งแรกของ Google ก่อนที่ในภายหลัง Susan จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในธุรกิจโฆษณาของ Google และ Youtube

แนวคิดสำหรับธุรกิจตรวจ DNA ที่เน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรงมาจาก Linda Avey ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง 23andMe

Avey เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ และ Sergey Brin แสดงความสนใจในงานของ Avey ดังนั้นในปี 2005 Wojcicki ที่เป็นแฟนสาวของ Brin ก็ได้เข้ามาร่วมประชุมเกี่ยวกับแนวคิดธุรกิจใหม่นี้ ซึ่งหลังจากฟังแนวคิดว่ามันน่าสนใจ เธอก็ต้องการที่จะลุยด้วยทันที

ก็เป็น Brin นี่เองที่เป็นคนให้เงินทุนก้อนแรกแก่บริษัท รวมถึงการช่วยเหลือในการว่าจ้างพนักงานในช่วงแรก ๆ และไม่ใช่เพียงแค่ใช้เงินส่วนตัวเท่านั้น เพราะเขาได้นำ Google เข้ามาร่วมลงทุน โดยประกาศเข้าลงทุนเพียงแค่สองสัปดาห์หลังจากที่ Brin และ Wojcicki แต่งงานกันในปี 2007

Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ให้ทุนก้อนแรกกับบริษัท (CR:Phys.org)
Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ให้ทุนก้อนแรกกับบริษัท (CR:Phys.org)

เรียกได้ว่า Wojcicki ชีวิตเปลี่ยนไปในข้ามคืน เธอเคยเป็นอดีตนักวิเคราะห์ทางการเงินที่แทบไม่มีคนรู้จักที่กลายมาเป็นดาราดังในซิลิกอน วัลเลย์ เธอช่วยสร้างแบรนด์ของ 23andMe โดยจัด “spit parties” โดยแขกจะมอบตัวอย่าง DNA มีการรวบรวมน้ำลายของคนดังที่ World Economic Forum ในเมืองดาวอสในปี 2008 และอีกครั้งที่ New York Fashion Week ในปีเดียวกันนั้น

แม้มันจะเป็นที่จับตามองของสื่อ เพราะเธอเล่นใหญ่มาก แต่ก็แทบไม่ได้ช่วยเหลือธุรกิจของเธอมากนัก เพราะชุดทดสอบ DNA ของ 23andMe มีราคาสูงถึง 399 ดอลลาร์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นราคาที่แพงเกินกว่าจะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคได้

ภายในสำนักงานของ 23andMe นั้นก็ต้องการสร้างวัฒนธรรมเลียนแบบซิลิกอน วัลเลย์ ถึงขั้นที่ว่า Avey เองถึงกับกล่าวว่า Wojcicki ชอบทำตัวให้โดดเด่นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับ Brin ได้ ซึ่ง Wojcicki เคยกล่าวไว้ขนาดที่ว่า 23andMe จะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่กว่า Google

สู่ความเจิดจรัส

ในปี 2012 การระดมทุนรอบใหม่จากมหาเศรษฐีชาวอิสราเอลที่เกิดในรัสเซียอย่าง Yuri Milner ซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อนบ้านของ Wojcicki และ Brin ใน ลอส อัลโตส ฮิลล์ ซึ่งเงินทุนที่ได้ทำให้ 23andMe สามารถลดราคาชุดทดสอบ DNA ให้เหลือราคาเพียงแค่ 99 ดอลลาร์ได้สำเร็จ

สำหรับแคมเปญโฆษณาระดับประเทศครั้งแรกของบริษัทในไม่กี่เดือนถัดมานั้นได้รับความสนใจจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ซึ่งได้สั่งระงับการขายชุดทดสอบ DNA ของ 23andMe โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงที่อุปกรณ์เหล่านี้จะรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ

นั่นเองที่ Wojcicki ต้องใช้เวลาถึงสองปีและเงินอีกหลายล้านดอลลาร์เพื่อให้อุปกรณ์ของเธอผ่านการ approve จาก FDA สหรัฐฯ

มันเป็นช่วเวลาเดียวกันกับที่มรสุมชีวิตกำลังถาโถมเข้าสู่ตัวเธอเองเช่นเดียวกัน เพราะเธอเพิ่งแยกทางกับ Brin ซึ่งไปแอบกิ๊กกับพนักงานรุ่นน้องที่ Google

แต่เธอก็ผ่านมันมาได้ สุดท้ายชุดตรวจ DNA ของ 23andMe ก็ได้ผ่านการทดสอบจาก FDA และเมื่ออุปกรณ์ปล่อยออกไปให้เหล่าผู้บริโภคได้ใช้งานกันจริง ๆ มันก็กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วทั้งโลกอินเทอร์เน็ต

เพราะเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้คนที่ค้นพบพ่อแม่หรือพี่น้องที่ไม่คาดคิด มันได้กลายเป็นเรื่องดราม่าเป็นอย่างมาก การเดินทางของ 23andMe ต้องใช้เวลา 9 ปีกว่าจะมีลูกค้าหนึ่งล้านคน และสามปีถัดมาเพิ่มมาเป็นแปดล้านคน

รอบ ๆ สำนักงานใหญ่ของ 23andMe เต็มไปด้วยเหล่าเซเลป ดาราชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Bono และ the edge แห่ง U2 , นางแบบชื่อดังอย่าง Karlie Kloss และคนดัง ๆ คนอื่น ๆ ต่างก็ให้ความสนใจกับ 23andMe โดย Wojcicki ได้ไปงานเดินพรมแดง Met Gala กับแฟนหนุ่มคนใหม่ของเธออย่าง Alex Rodriguez นักเบสบอลชื่อดัง

ในปี 2019 Wojcicki ย้าย 23andMe ไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในซิลิกอน วัลเลย์ ซึ่งมีพื้นที่มากพอในการขยายพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และทำสิ่งที่ไม่น้อยหน้าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่โดยเฉพาะ Google เลย ไม่ว่าจะเป็น คลาสเรียนโยคะ ห้องออกกำลังกาย โรงอาหารสุดหรู ด้วยเชฟระดับมิชลินสตาร์

ในปี 2021 บริษัทได้ทำ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ซึ่งในยุคนั้นรูปแบบของ SPAC กำลังได้รับความนิยม บริษัทหลายร้อยแห่งกล้าที่จะขายหุ้นที่มีราคาสูงให้กับเหล่านักลงทุน

23andMe ที่ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ในปี 2021 (CR:CNBC)
23andMe ที่ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ในปี 2021 (CR:CNBC)

Wojcicki ได้รับเงิน 33 ล้านดอลลาร์ในปีนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นหุ้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับซีอีโอบริษัทมหาชนขนาดใหญ่รายอื่น ๆ โดยหุ้นของ Wojcicki นั้นก็คล้าย ๆ กับผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังส่วนใหญ่ที่มีสิทธิพิเศษในการลงคะแนนเสียง ทำให้เธอสามารถควบคุมบริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จ

จากดาวรุ่งสู่ดาวร่วง

ด้วยตัวอย่างฐานข้อมูล DNA จำนวนมากที่เก็บไว้ 23andMe จึงได้เร่งการพัฒนายา โดยมีการดีลกับยักษ์ใหญ่ด้านวงการเภสัชกรรมอย่าง GSK (GlaxoSmithKline)

แต่ก็ต้องบอกว่า 23andMe เหมือนหว่านแห ตรวจสอบการรักษาโรคหลายสิบโรคจากผล DNA เหล่านั้น แน่นอนว่ามุมหนึ่งผลตอบแทนอาจะได้สูง แต่การพัฒนายาตัวใดตัวหนึ่งนั้นต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ และใช้เวลาเป็นสิบปีถึงจะผ่านการทดสอบทางคลินิก

แม้จะมียาบางตัวเริ่มมีการทดลองในมนุษย์จริงแล้ว โดยภายในปี 2022 มีผู้ป่วยทดลองกว่า 150 คนในซานฟรานซิสโก โดย Wojcicki คิดว่าจะสามารถระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุนความพยายามในการพัฒนายาของเธอได้

แต่ก็อย่างที่ทราบกันยุคเงินทุนราคาถูกที่ให้เหล่าสตาร์ทอัพมาเผาผลาญมันจบสิ้นลงไปแล้ว จากปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องสงคราม ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ที่สำคัญหุ้นของบริษัทยาก็ไม่เป็นที่โปรดปรานสำหรับเหล่านักลงทุนเช่นกัน เมื่อไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มได้ Wojcicki จึงได้ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานไปกว่าครึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว

และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของ 23andMe เชื่อว่าข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองนั้นอยู่ภายใต้กฎหมาย Hipaa ซึ่งเป็นกฎหมายความเป็นส่วนด้านสุขภาพของชาวอเมริกัน

แน่นอนว่าลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกยินดีที่ข้อมูล DNA ของตนเองจะถูกนำมาใช้เพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง แต่ก็มีอีกหลายคนที่รู้สึกว่าถูกหลอก เพราะพวกเขาจ่ายเงินให้ 23andMe ราว ๆ 299 ดอลลาร์สำหรับชุดทดสอบ DNA แต่ 23andMe ใช้ข้อมูลสุขภาพฟรีของพวกเขาในการหารายได้เข้าบริษัท

และในปีที่แล้วมีโปรไฟล์ลูกค้าเกือบ 7 ล้านรายถูกแฮ็กไปจากระบบ โดยแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ รวมถึงรายงานของผู้ให้บริการ ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลมากถึง 5.5 ล้านคน ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันอย่างหนัก

Wojcicki ต้องแก้เกมโดยการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ โดยพยายามเปลี่ยนไปใช้รูปแบบของการสมัครรับข้อมูลหรือ Subscription เลียนแบบเหล่าบริษัทสื่อชื่อดัง โดยเธอได้เปิดตัว 23andMe+ โดยนำเสนอรายงานสุขภาพส่วนบุคคล คำแนะนำด้านไลฟ์สไตล์ ในราคาเริ่มต้น 299 ดอลลาร์ พร้อมค่าต่ออายุรายปี 69 ดอลลาร์

แต่เมื่อบริษัทได้เปิดเผยจำนวนสมาชิกเมื่อปีที่แล้ว มีสมาชิกเพียง 640,000 รายที่ยอมเสียเงินสมัคร ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่คาดการณ์ไว้ในขณะนั้น

แนวคิดเบื้องหลังระบบ Subscription ของ 23andMe+ ก็คือ มันอาจจะมีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงล็อคอยู่ใน DNA ของลูกค้าซึ่งควรรู้ไว้จะดีกว่า แต่มันเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ๆ ที่ลูกค้าเหล่านี้จะมีรหัสทางพันธุกรรมที่เสียงต่อโรคเช่น มะเร็งเต้านม

23andMe+ ที่เป็นบริการแบบ Subscription (CR:Amazon)
23andMe+ ที่เป็นบริการแบบ Subscription (CR:Amazon)

แน่นอนว่าชุดทดสอบของ 23andMe นั้นเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ และได้รับการ approve จาก FDA ซึ่งอาจนำไปสู่การติดตามผลของแพทย์ที่สามารถช่วยชีวิตได้แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงเช่นมะเร็ง

แต่ก็ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีโรคเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ 23andMe+ ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าแต่อย่างใด

Bruno Bowden นักลงทุนด้านเทคโนโลยีในซิลิกอน วัลเลย์ ที่เคยออกมาอวย 23andMe ไว้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ถึงกับผิดหวัง และมองว่ารูปแบบโมเดลธุรกิจแบบนี้มันไม่น่าจะมีประโยชน์มากนัก

ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา 23andMe ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สมัครสมาชิกที่ advance ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งจะรวมถึงการทดสอบทางพันธุกรรมระดับคลินิกที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เช่นเดียวกับการตรวจเลือดและนัดหมายกับแพทย์ของ 23andMe โดยมีค่าใช้จ่าย 1,188 ดอลลาร์ต่อปี

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ถูกเรียกว่า TotalHealth มันเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ของ Wojcicki ที่จะให้บริการการรักษาพยาบาลโดยใช้พื้นฐานทางพันธุกรรม และ 23andMe ได้จ่ายเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท Lemonaid Health บริษัทด้านการดูแลสุขภาพทางไกล

แต่ Lemonaid นั้นไม่ได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และคนรู้จักน้อย ส่วนใหญ่จะให้คำปรึกษาและจ่ายยาทางไกล ด้วยอาการพวกหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ ผมร่วงเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ผลก็คือมีตัวเลขผู้ใช้บริการของ 23andMe น้อยมาก ๆ ที่มาปรึกษาแพทย์ของ Lemonaid จริง ๆ

Roelof Botha คณะกรรมการของ 23andMe และ หุ้นส่วนของ Sequoia Capital ได้ถึงกับออกมากล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่ยุคของเงินทุนราคาถูกอีกต่อไป และ 23andMe ต้องโฟกัสโปรเจกต์ที่จะทำเงินจริง ๆ ไม่ใช่หว่านแหไปทั่วแบบนี้

Sequoia ซึ่งลงทุน 145 ล้านดอลลาร์ใน 23andMe ยังคงถือหุ้นทั้งหมดอยู่ในตอนนี้ แต่ในวันนี้มูลค่าที่พวกเขาลงทุนลดเหลือเพียงแค่ 18 ล้านดอลลาร์เพียงเท่านั้น แถมบริษัทอาจจะถูกเพิกถอนออกจากตลาด Nasdaq ในไม่ช้าหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินที่กำลังวิกฤติอยู่ในขณะนี้ได้

References :
https://www.wsj.com/health/healthcare/23andme-anne-wojcicki-healthcare-stock-913468f4
https://en.wikipedia.org/wiki/23andMe
https://www.wired.com/story/23andme-genomic-testing-financial-results-earnings-anne-wojcicki/
https://www.theguardian.com/technology/2024/feb/17/23andme-dna-data-security-finance

The future of Start-ups กับแนวคิดที่ควรจะเริ่มคิดทำกำไรแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เน้นแต่การผลาญเงินเพื่อเติบโต

ส่วนตัวผมได้เห็นบทความจากสื่อใหญ่หลาย ๆ แห่ง ที่พูดทำนองเดียวกันในเรื่องนี้ ที่ต้องเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการ Startup ทั่วโลก

เราได้เห็นโมเดล Startup ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นการผลาญเงินลงทุนของเหล่า VC และเร่งการเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่มันก็ได้ผล แต่ช่วงหลัง ๆ เริ่มเห็นถึงทางตัน เพราะ model ธุรกิจที่ copy กันไปกันมา

มันยากที่จะหาบริษัทที่จะสามารถเติบโตแบบ 100x , 1000x เหมือนในอดีตเช่น facebook , google หรือ amazon ได้ในยุคปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีทุกอย่างมันเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

ยุคของการระดมทุนแบบง่าย ๆ ใช้สไลด์ไม่กี่แผ่น แล้วคุยโม้โอ้อวดแผนการธุรกิจที่เพ้อฝัน กำลังจะหมดลง บริษัทเทคโนโลยีที่จะมีอนาคตต้องสร้างขึ้นบนรากฐานที่ยั่งยืนเพียงเท่านั้น

ถึงแม้จะมีการระดมทุนครั้งใหญ่สำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่กำลัง hot ในปีที่ผ่านมา โดยยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ได้ลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในบริษัท OpenAI

ซึ่งหากไม่มีการลงทุนของ Microsoft กับ OpenAI ไตรมาสแรกของปี 2023 จะเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุดสำหรับการลงทุนของบริษัทร่วมทุนในรอบกว่าห้าปี

ในช่วงห้าปีจนถึงสิ้นปี 2021 ปริมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณสี่เท่าเนื่องจากกองทุนใช้เงินทุนมากขึ้นในนามของนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับกองทุนป้องกันความเสี่ยงอย่าง Tiger Global

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งที่เคยเป็นที่รักของนักลงทุนในซิลิคอนแวลลีย์ก็ถูกทำลายลง 

แนวโน้มดังกล่าวทำให้ VC บางรายต้องลดมูลค่าของบริษัทที่ถืออยู่ในกองทุนของตน Tiger Global ลดมูลค่าของพอร์ตการลงทุนของพวกเขาไปถึงหนึ่งในสาม เหลือประมาณ 23 พันล้านดอลลาร์จากมูลค่าก่อนหน้านี้ ซึ่งในพอร์ตโฟลิโอของพวกเขานั้นมีทั้ง Stripe และ ByteDance เจ้าของแพลตฟอร์มวีดีโอสั้นชื่อดังอย่าง TikTok

สิ่งนี้ทำให้สตาร์ทอัพจำนวนมากต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการระดมทุนด้วยมูลค่าที่ต่ำกว่า การยอมรับภาระหนี้ หรือลดค่าใช้จ่ายภายในบริษัท และพยายามเอาตัวรอดจนกว่าสภาพแวดล้อมของการระดมทุนจะดีขึ้น

สอดรับกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจเริ่มแย่ลง เหล่าบริษัท startup ที่ไม่ทำกำไรเน้นที่การเติบโตเพียงอย่างเดียว กำลังถูกหมางเมินมากยิ่งขึ้น บริษัทใหม่หลายพันแห่งที่มีความต้องการเงินทุนอย่างเร่งด่วนกำลังถูกบีบให้เผชิญกับสถานะล้มละลาย

เคสใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับ Klarna บริษัทที่ทำธุรกิจซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่ง copy model กันทั่วทั้งโลกใครก็ทำได้ มูลค่าลดลงจาก 46 พันล้านดอลลาร์ เหลือน้อยกว่า 7 พันล้านดอลลาร์

โมเดล Buy Now Pay Later แบบ Klarna ไม่ได้มีนวัตกรรม ทำให้ถูก copy ง่าย ๆ จากทั่วโลก (CR:PYMNTS)
โมเดล Buy Now Pay Later แบบ Klarna ไม่ได้มีนวัตกรรม ทำให้ถูก copy ง่าย ๆ จากทั่วโลก (CR:PYMNTS)

โดยปรกติแล้ว เราเห็น pattern เดิม ๆ ของเหล่าบริษัทร่วมทุนหรือ VC ต่าง ๆ ที่จะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของรายได้เป็นหลัก ซึ่งบริษัทใด scale ได้รวดเร็วและยึดครองตลาดได้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวได้

แต่สถานการณ์การแข่งขันเรียกได้ว่าเปลี่ยนไป นวัตกรรมที่แทบไม่มีอะไรใหม่ สามารถ copy กันได้ง่าย ๆ แค่มีทุน ไล่ตั้งแต่ ธุรกิจการชำระเงิน การจัดส่งอาหาร บริการเรียกรถ ทำให้การเน้นที่การ scale บริษัทอย่างรวดเร็วเพียงอย่างเดียวมันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว

บริษัทร่วมทุนขนาดใหญ่ตัวอย่างเช่น Vision Fund ของ Softbank นั้นขาดทุนอย่างมหาศาล หลังจากลงทุนไปในหลายๆ บริษัทที่ดูไม่มีอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเทเงินให้กับ WeWork ที่เหมือนถูกหลอกโดยลมปากของผู้ก่อตั้งอย่าง Adam Neumann ส่วนสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ที่ Softbank เข้าไปลงทุน เช่น Katerra , OneWeb และ Zume Pizza ได้ยื่นฟ้องล้มละลายหรือปิดกิจการ

Vision Fund ของ Softbank ที่ขาดทุนอย่างมหาศาล (CR:DealStreetAsia)
Vision Fund ของ Softbank ที่ขาดทุนอย่างมหาศาล (CR:DealStreetAsia)

เหล่านักลงทุนเริ่มไม่ชอบความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แม้แต่กลุ่มทุนที่เคยอัดเม็ดเงินก้อนใหญ่ให้กับวงการก็ตามที ตอนนี้พวกเขาต้องการให้บริษัทพิสูจน์ว่ามีเส้นทางสู่การทำกำไรที่ชัดเจน ไม่ใช่ผลาญเงินเล่นไปวัน ๆ

ตัวอย่างผู้นำด้านเทคโนโลยียุคบุกเบิกรายใหญ่อย่าง Apple และ Microsoft พวกเขาได้พิสูจน์ความสำเร็จด้วยการจัดลำดับความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่แก้ปัญหาได้ชัดเจน ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว

เพราะฉะนั้น ทั้งโมเดลการสร้างรายได้ และที่มาของกลุ่มลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ของเหล่าบริษัท startup ในยุคถัดไป ธุรกิจต้องเดินหน้าสู่การสร้างกำไรที่แท้จริง ไม่ใช่เพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าผู้ก่อตั้งที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองผ่านมูลค่ากิจการที่เว่อร์เกินจริงนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/6b5a67f2-6028-40e1-a81b-e0e0be60facd
https://www.edexlive.com/opinion/2021/jan/02/the-future-of-start-ups-imagining-the-next-decade-for-the-entrepreneurial-sector-16983.html
https://www.ft.com/content/778e65e1-6ec5-4fd7-98d5-9d701eb29567
https://www.influencive.com/6-tips-for-improving-your-startup-pitch/

Compaq Computer ผู้ปฏิวัติวงการ PC ตัวจริงที่ถูกลืม

ถ้ากล่าวถึงแบรนด์อย่าง Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามีแบรนด์ นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Compaq เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

ต้องบอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลยทีเดียวสำหรับการเริ่มธุรกิจ ซึ่ง Rod Canion นั้นถนัดทางด้านบริหารธุรกิจ Murto ถนัดทางด้านการตลาด ส่วน Harris นั้น จะถนัดทางด้าน Engineer แต่ต้องบอกว่า การที่ทั้งสามออกจากบริษัทยักษ์ และมั่นคงอย่าง Texus Intrument แล้วมาเริ่มธุรกิจนั้น มีแต่คนหาว่าพวกเขาบ้าแม้กระทั่งครอบครัวของพวกเขาเองก็ตาม

เริ่มต้นจากงานอดิเรก และความคิดบ้า ๆ

มันเป็นการเริ่มต้นจากงานอดิเรกพร้อมกับความคิดบ้า ๆ ของทั้งสามคน ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าทั้งสามไม่ได้มีเงินมากมายรวมถึงไม่ได้มีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายอย่าง Startup ในปัจจุบัน ทั้งสามต้องจำนองบ้าน รวมถึงขายรถเพื่อมาเป็นทุนในการเริ่มต้นเปิดบริษัท

ในยุคนั้นต้องบอกว่า IBM นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่มาก ๆ ของวงการธุรกิจของอเมริกาควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จในโลกเทคโนโลยี ทำทุกอย่างตั้งแต่ computer mainframe สำหรับองค์กร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การที่จะมาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM นั้นถือว่าไม่ใ่ช่เรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดีเหล่า 3 ผู้ก่อตั้งแห่ง Compaq นั้นได้เห็นช่องว่างทางการตลาดบางอย่าง ที่ IBM ยังครอบครองแบบไม่เบ็ดเสร็จนั่นก็คือตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้ หรือ ตลาด notebook ในปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น ต้องบอกว่าแม้จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถพกพาได้ แต่ขนาดเครื่องก็มีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีรูปร่างไม่สวยรวมถึงไม่ได้มีแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งานแบบไม่ต้องเสียบปลั๊กเหมือนในยุคปัจจุบัน

การเริ่มหาทุนในการตั้งบริษัทนั้น ในขณะที่ทั้งสามมีแต่ไอเดียและร่างแบบคร่าว ๆ ของคอมพิวเตอร์แบบพกพา ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหาทุนเริ่มต้นในสมัยนั้น

ทาง Rod Canion จึงได้เขียนแผนธุรกิจคร่าว ๆ ขึ้นมา และได้มีโอกาสไปพบกับ Ben Rosen โดยเริ่มลงทุนให้ 750,000 เหรียญเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น Silicon Valley ยังคงเป็นเพียงแค่ทุ่งและ สวนผลไม้

ทั้งสามคนก็ได้เริ่มว่าจ้างทีมงานจากเงินลงทุนเริ่มต้น และเริ่มทำการผลิตตัว Compaq Portable ตัวแรกออกมา โดยใช้วิธีการ Reverse Engineer หรือ วิศวกรรมย้อนกลับจาก IBM PC  เนื่องจาก IBM ขณะนั้นประสบความสำเร็จ และขายได้ติดตลาดไปแล้ว ต้องทำทุกอย่างให้สามารถ Run Software ของ IBM ได้ทั้งหมด ก็จะเข้าถึงตลาดขนาดมหาศาลที่ IBM ได้เริ่มเปิดตลาดไว้แล้ว

การเริ่มต้นคือต้องทำการลอก Code ของ IBM ที่เป็นตัว Chip หลักที่ใช้ Control PC เพราะส่วนประกอบอื่น ๆ ของ PC นั้นสามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป สิ่งที่เป็นจุดต่างคือ Chip ที่มีรหัสพิเศษของ IBM เท่านั้น เครื่องก็จะสามารถทำงานกับ Software และ Hardware ต่าง ๆ ของ IBM ได้

ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC
ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC

ในทีุ่สดพวกเขาก็ทำสำเร็จ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง Compaq Portable PC ออกมาได้ และสามารถใช้งานได้กับ Software ของ IBM ได้ทุกอย่าง โดยมีขนาดเบากว่าและราคาที่ถูกกว่า บริษัทได้เชิญสื่อมามากมายในวันเปิดตัวปี 1982 ใน นิวยอร์ก

จากการเปิดตัวทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียงผู้คนเริ่มชอบในผลิตภัณฑ์ของ Compaq ซึ่งต้องบอกว่าพวกเขาได้สร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกมาได้อย่างดีมาก พนักงานที่ขายผลิตภัณฑ์ของ IBM อยู่แล้วก็ไม่ยากเลยที่จะขายผลิตภัณฑ์ของ Compaq เพราะมันสามารถทำงานได้เหมือนกัน ต้องบอกว่าสินค้าขายดีมากและผลิตแทบจะไม่ทันกันเลยทีเดียวในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย

แค่ปีแรกเพียงปีเดียว Compaq สามารถขาย Portable PC ของตัวเองไปได้ถึง 53,000 เครื่อง สื่อถึงกับยกให้บริษัท Compaq นั้นเป็นบริษัทที่เติบโตได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

สู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM

หลังจากนั้น IBM ก็ได้ออก Portable PC เพื่อมาตอบโต้กลับในปี 1984  โดยออกมาเพื่อจะฆ่า Compaq โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่พวกเขาพลาดไปและมั่นใจเกินไปนั่นคือ Portable PC ของ IBM นั้นไม่สามารถรัน Software บางส่วนของ IBM PC เดิมได้

และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรม PC เลยก็ว่าได้  Compaq แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะ Portable PC นั้นสามารถ run ทุกอย่างของ IBM PC ได้ ทำให้ยอดขายยิ่งกระฉูดขึ้นไปอีก มีการขยายโรงงานการผลิต รวมถึงรับพนักงานมากจนถึงกว่า 1000 คนภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับ Silicon Valley

ถ้าถามว่าวัฒนธรรมการแจกอาหารฟรี รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานได้อย่างเต็มที่ของบริษัท Startup ในปัจจุบันนั้นใครเป็นคนริเริ่ม ก็ต้องบอกว่า Compaq นี่แหละเป็นผู้ที่สร้างวัฒนธรรมนี้ให้กับ Silicon Valley

เพราะ Compaq เป็นบริษัทแรกที่มีการแจกอาหารและเครื่องดื่ม ให้พนักงานได้รับประทานกันแบบฟรี ๆ ในยุคนั้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แปลกใหม่พอสมควร ทำให้คนสนใจที่จะมาทำงานกับ Compaq มากยิ่งขึ้น และสามารถ Focus กับงานที่ทำได้อย่างเต็มที่

แล้วบริษัทอย่าง Apple หายไปไหนในช่วงนั้น

ช่วงปีต้น ๆ ของ Compaq นั้น Apple ก็ได้ออกวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ขนาดตลาดของ Apple เมื่อเทียบกับขนาดตลาดของ PC ที่ IBM เป็นคนเปิดตลาดมีความแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าเทียบตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งหมดนั้น Apple สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพียงแค่ 4-5% เท่านั้น


และการที่ Apple เป็บระบบปิดไม่สามารถเชื่อมต่อกับใครได้ software ก็รันของตัวเอง ก็ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดได้น้อยมาก ๆ แม้จะวางจำหน่ายแมคอินทอชพร้อมระบบ Inteface ใหม่ พร้อม mouse ที่เป็นการปฏิวัติวงการในขณะนั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว Apple เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ไปเลยเมื่อเทียบกับตลาด PC ที่ IBM ครองตลาดอยู่ในตอนนั้น ซึ่ง Compaq มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ IBM ซึ่งใหญ่มาก ๆ ทำให้ Compaq แทบจะเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทของประเทศอเมริกา

การเติบโตแบบก้าวกระโดด

ด้วยความผิดพลาดของ IBM รวมถึง Apple ก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้กับแมคอินทอชรวมถึงลิซ่า ทำให้ Steve Jobs ก็ต้องถูกบีบให้ออกจาก apple ไปในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้น ก็ไม่มีใครจะมาขัดขวางการเติบโตของ compaq ได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของเทคโนโลยีรวมถึงการตลาด ที่เริ่มนำเอาผู้มีเชื่อเสียงมาช่วยในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำให้ยอดขายของ Compaq เติบโตขึ้นเกินกว่าปีละ 100% ตลอดในช่วงแรกเริ่มและพุ่งไปถึงกว่า 500 ล้านเหรียญในปี 1985

จุดเปลี่ยนที่สำคัญกับการเข้ามาของ Intel Chipset 386

IBM นั้นมักจะได้สิทธิ์ Exclusive กับ Chip ของบริษัทชื่อดังอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ IBM ถูกปฏิเสธโดย Intel ซึ่ง Chipset 386 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของ Chip ที่ทำให้การทำงานของ PC ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

เมื่อ Intel ไม่ได้ Exclusive ตัว Chip 386 กับ IBM แล้ว  Compaq ก็เร่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ Chipset 386 เพื่อออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด

ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ
ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ

ไม่เพียงแค่ Chipset Intel 386 เท่านั้น เมื่อ Compaq ออกผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ก็ได้มีการร่วมมือกับ Microsoft ของ Bill Gate ที่ยอมให้ระบบปฏิบัติการของ Windows สามารถรันได้บน Compaq ได้แบบที่ว่าไม่ต้องไปทำการ Copy Chip Code ใด ๆ จาก IBM อีกต่อไป  เป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างสิ้นเชิงและปลดแอกจาก IBM ในที่สุด

ความสุดยอดของ Chipset 386 ทำให้ Compaq เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเริ่มฉีกหนี IBM ออกไป และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก IBM ไปได้อย่างมาก

แม้ตลาดองค์กร IBM จะเป็นเจ้าตลาดอยู่ก็ตามแต่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นต้องบอกว่า Compaq ได้ทำยอดขายแซง IBM ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Compaq ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็เข้าสู่ทำเนียบ Fortune 500 ได้สำเร็จ

สามผู้ก่อตั้งต่างร่ำรวยจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่พนักงานกลุ่มแรก ๆ ที่ได้หุ้น ก็ทยอยกลายเป็นเศรษฐีกันไปด้วย ต้องบอกว่า Compaq เป็นบริษัทที่ใช้เวลาสร้างกิจการได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา และสามารถทำยอดขายแตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เร็วที่สุดอีกด้วย

ความผิดพลาดซ้ำสองของ IBM

การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ IBM ถือเป็นครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับบริษัทที่เพิงเกิดใหม่เพียงไม่กี่ปีอย่าง Compaq

IBM ต้องเริ่มใช้การฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรของ Compaq โดยใช้การ Reverse Engineer ที่ Compaq ทำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงเหมือนกันที่ Compaq จะถูกฟ้องร้องจนอาจต้องถูกปิดบริษัทไปเลย แต่สุดท้าย Rod Canion ก็ใช้วิธีการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายจนตกลงกันได้ที่ประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ

IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM
IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM

ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของ IBM คือการต้องการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ Compaq สามารถลอกเลียนแบบได้ โดยออกระบบปฏิบัติการใหม่คือ PS/2 ที่ยากที่คู่แข่งจะเลียนแบบ ซึ่งต้องบอกว่า IBM ต้องการฆ่าทุกคนในธุรกิจนี้เลยก็ว่าได้

แต่หารู้ไม่การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ที่ไม่สามารถเข้ากับผลิตภัณฑ์ตัวเดิมของ IBM ได้เลยนั้นถือเป็นการฆ่าตัวตายของ IBM เอง เพราะองค์กรใหญ่หลาย ๆ องค์กรในสหรัฐได้สั่งซื้อเครื่อง computer ของ IBM ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนต้องมีการเปลี่ยนแบบยกองค์กรและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทำให้องค์กรหลาย ๆ องค์กรไม่ต้องการซื้อ PS/2 ของ IBM เพราะต้องมาเริ่มเรียนรู้กันใหม่หมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาลมาก ๆ

เหมือนยื่นดาบให้ศัตรูมาฆ่าตัวเองเลยก็ว่าได้สำหรับ IBM ชัดเจนว่าต่อจากนี้ ตลาด PC นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว IBM ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตลาดอีกต่อไป มีการรวมตัวของผู้ผลิต PC ขนาดใหญ่จำนวน 9 ราย รวมถึงมีการเจรจากับ Bill Gate จาก Microsoft และพัฒนามาตรฐานของพวกเค้าเองในชื่อ EISA (Extended Industry Standard Architecture) โดยที่ไม่เกี่ยวข้องใด  ๆ กับ IBM อีกต่อไปเป็นการถีบ IBM ออกจากตลาด PC แบบถาวรเลยก็ว่าได้

เมื่อ Compaq เข้าสู่ยุคตกต่ำ

แม้การรวมตัวจะเป็นผลดีและทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นและที่สำคัญสามารถกำจัด IBM ออกจากตลาดได้สำเร็จ แต่ขนาดองค์กรของ Compaq ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มยากที่จะบริหารให้ได้เหมือนตอนเริ่มต้นกิจการ

Compaq เริ่มมีการขยายตลาดไปยังยุโรป ทำให้ได้เจอกับ Eckhard Pfeiffer ที่ถนัดในเรื่องการผลิตในปริมาณมาก ๆ แต่ตัว Rod Canion เองนั้นอยากให้ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพเหมือนเดิมต่อไป รวมถึงผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างโตชิบ้าก็สามารถผลิตในราคาที่ถูกกว่าซึ่งเป็นการเข้ามากำจัดจุดเด่นของ Compaq ในยุคแรก ๆ ไปเลยก็ว่าได้

ปัญหาต่าง ๆ เริ่มรุมเร้าตัว Rod Canion เองและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เริ่มมีการตีตลาดจากแบรนด์นอก รวมถึงดาวรุ่งที่พุ่งแรงขึ้นมาอย่าง Dell ที่สามารถผลิตสินค้าในราคาถูกกว่า Compaq

ทำให้ยอดขายของ Compaq เริ่มตก บริษัทเริ่มปลดพนักงานออกไป Rod Canion เริ่มถูกกดดันจากกรรมการบริษัทคล้าย ๆ กรณีของ Steve Jobs ที่ถูกกดดันให้ออกจาก Apple

Rod Canion เริ่มทนกระแสกดดันไม่ไหวจนต้องยอมถอนตัวออกไป เป็นการสิ้นสุด Compaq ของยุคผู้ก่อตั้งทั้งสามและให้ Eckhard Pfeiffer เข้ามาเป็น CEO แทน

ซึ่งสุดท้ายก็มีการควบรวมกิจการกับ HP เพื่อกลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2002 เป็นการสิ้นสุดแบรนด์ Compaq ไปในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.wikipedia.org
https://history-computer.com/the-real-reason-compaq-failed-spectacularly/
https://www.pcmag.com/news/the-golden-age-of-compaq-computers
https://www.wnyc.org/story/unlikely-pioneers-who-founded-compaq-and-transformed-tech/