ประวัติ Jeff Bezos แห่ง Amazon ตอนที่ 7 : Dotcom Bubble

อินเตอร์เน็ต มันเป็นเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจริง ๆ ในปี 2000 มันเริ่มจากวิกฤติ Y2K ซึ่งคนทั่วโลกต่างกังวลกันขณะนั้น มีการกลัวว่าระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะล่มสลาย ผู้คนคิดแม้กระทั่งมันจะส่งผลให้เครื่องบินที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์นั้นร่วงลงมาจากท้องฟ้าเลยด้วยซ้ำ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกต่าง Panic กับปรากฏการณ์ Y2K

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ร่วงลงมาอย่างชัดเจนคือ ยอดขายของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวมถึงสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งมันเริ่มมีทิศทางดิ่งลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2000 ทันที และร่วงลงอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่เดือนหลังจากเข้ายุค 2000 ยอดขายอันย่ำแย่ก็เริ่มปรากฏออกมาในรายงานผลประกอบการของบริษัททางด้านเทคโนโลยี จากนั้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ร่วงตามไปทันที ฟองสบู่ดอทคอม ก็แตกดังโพละ และมันส่งผลกระทบต่อ amazon.com ทันที

แน่นอนว่าการล้มครืนลงครั้งนี้มันส่งผลชัดเจนต่อราคาหุ้นของ amazon ทันที แม้มันจะไม่ได้ทำให้รายได้ของ amazon ลดลงมากนัก เพราะส่วนใหญ่รายได้ของ amazon มาจากสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะตอนนั้น amazon ได้ขยายหมวดหมู่สินค้าไปครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น CD เพลง แฟนชั่น เครืองมือช่าง ฯลฯ ซึ่งดูแล้วมันไม่น่าจะส่งผลเสียต่อ amazon มากเท่ากับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ 

แต่ปัญหาของ amazon มันไม่ใช่เรื่องของรายได้ ในเดือนธันวาคม ปี 1999 นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าตัวเลขขาดทุนของ amazon จะอยู่ที่ 350 ล้านเหรียญ แต่ตัวเลขจริงกลับสูงถึง 720 ล้านเหรียญและปัญหาก็เริ่มเลวร้ายขึ้นไปอีกในปี 2000 amazon ได้เผยตัวเลขขาดทุนซึ่งสูงถึง 1,400 ล้านเหรียญ

เกิดฟองสบู่ดอทคอม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดิ่งลงเหว
เกิดฟองสบู่ดอทคอม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดิ่งลงเหว

แม้กลยุทธ์การเติบโตอย่างรวดเร็วของเจฟฟ์ เบซอส นั้นมันช่วยให้บริษัทอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครสามารถไล่ทันได้ แต่บริษัทมันก็เริ่มเติบโตเร็วเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้อยู่ การบริหารงานเริ่มไร้ประสิทธิภาพ ด้วยความที่จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการสินค้าคงคลังก็ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้สินค้าในคลังเริ่มล้นทะลัก ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่มหาศาลต่อ amazon

และมันก็เริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ดีชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กับ amazon ในเดือนมกราคมปี 2000 amazon ได้มีการ lay-off พนักงานกว่า 150 คน เจฟฟ์ ได้เริ่มว่าจ้างผู้บริหารชุดใหม่ที่รู้วิธีบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

แต่ดูเหมือนสถานการณ์มันยังไม่ดีขึ้น เหมือน ๆ กับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในขณะนั้นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ราคาหุ้นของ amazon นับจากช่วงกลางเดือนธันวาคมปี 1999 ถึงสิ้นปี 2000 หุ้นของ amazon สูญเสียมูลค่าไป 90% จนเหลือราคาแค่ 15 เหรียญต่อหุ้นเพียงเท่านั้น

amazon เป็นบริษัทที่ผลาญเงินมากที่สุดในโลกออนไลน์ ตลอด 5 ปีนับแต่ก่อตั้งในปี 1995 เจฟฟ์ เบซอส กู้ยืมเงินไปกว่า 2,000 ล้านเหรียญ และสูญเสียเงินตรงนี้ไปกับการลงทุนในด้านต่าง ๆ ถึงกว่า 1,740 ล้านเหรียญ โดยที่บริษัทแทบจะไม่สามารถทำกำไรได้เลย สถานะของ เจฟฟ์ เบซอส ในสายตาสื่อ รวมถึงนักวิเคราะห์ เปลี่ยนจาก ดาวรุ่งกลายเป็นดาวร่วงทันที เขาจึงต้องตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์การขับเคลื่อนบริษัทจาก เติบโตให้เร็วที่สุด เปลี่ยนเป็นมาเริ่มหาวิธีทำกำไรจาก amazon เสียที

amazon เริ่ม lay-off พนักงานเพื่อลดต้นทุน
amazon เริ่ม lay-off พนักงานเพื่อลดต้นทุน

เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงการบริหารงานทันที ทำสิ่งที่ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนต้องการอย่าง การลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานและลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เขาเริ่มบริหาร amazon ให้เหมือนกับธุรกิจค้าปลีกมากกว่าบริษัทดอทคอม 

เจฟฟ์ เริ่มพุ่งเป้าไปที่ผลประกอบการเป็นหลัก ไม่ผลาญเงินแบบไม่จำเป็นเหมือนก่อน เขาสั่งปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทันที กำจัดการลงทุนแย่ ๆ ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เริ่มจัดการกับงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น ปรับทัศนคติของเหล่าผู้บริหาร amazon เสียใหม่ ผู้บริหารแต่ละรายต้องยื่นของงบประมาณพร้อมกับเป้าหมายในการสร้างรายได้ และเวลาที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมาย

แต่ไม่ใช่การตัดจะตัดทุกสิ่ง แต่เป็นการทำงานที่โฟกัสมากขึ้นไม่ซื้อกิจการบ้าคลั่งเหมือนเก่า เขาขยายกิจการของ amazon ไปยังสินค้าชนิดใหม่ ๆ ที่น่าจะสร้างกำไรได้ ในปี 2000 ได้เริ่มรุกเข้าสู่ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในสวน ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม รวมถึงสินค้าเครื่องครัว นอกจากนี้ยังลงทุนกับ เว๊บไซต์ living.com  , audible.com และบริษัทขายรถยนต์ออลไน์อย่าง greenlight.com มันแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของ เจฟฟ์ เบซอส ที่ไม่ได้ลดลงไปเลย

และในที่สุด ในเดือนตุลาคมปี 2000 สถานการณ์ของ amazon ก็เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เริ่มมีตัวเลขต่าง ๆ ดีขึ้น ตัวเลขการขาดทุนจากการดำเนินงานเหลือ 11% ของรายได้ ลดลงครึ่งหนึ่งจากปีก่อนหน้า ขณะที่อัตรกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 26% เทียบกับ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมันทำให้มูลค่าหุ้นของ amazon ดีตตัวกลับมาประมาณ 30% ทันที

แต่ปัญหาของ amazon ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น บริษัทยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับตลาดที่ปั่นป่วนตลอดปี 2001 ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วงลงอีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2001 เจฟฟ์ เบซอส ตัดสินใจปลดพนักงานอีก 1,300 คน หรือ เป็นจำนวนกว่า 15% ของพนักงานทั้งหมดที่เขามี และทำการปิดศูนย์บริการลูกค้าในเมืองซีแอตเทิลและคลังสินค้าในรัฐจอร์เจียด้วย

และในระหว่างนี้ เจฟฟ์ ก็เริ่มหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับบริษัท นั่นคือการสร้างและบริหารเว๊บไซต์ให้บริษัทอื่นอย่างเช่น Toy R US , Target หรือ Circuit City หรือแม้แต่อดีตคู่แข่งร้านค้าปลีกหนังสืออย่าง Borders

หาช่องทางทำเงินใหม่เช่นรับบริหารเว๊บไซต์ให้เครือของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Toy R US
หาช่องทางทำเงินใหม่เช่นรับบริหารเว๊บไซต์ให้เครือของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Toy R US

เจฟฟ์ ยังใช้นโยบายรัดเข็มขัดอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2001 โดยสามารถที่จะลดต้นทุนการดำเนินงานลงมาได้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้สามารถที่จะลดราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ เพลง และภาพยนต์ ลงไปได้อีก โดยหวังว่าจะทำให้รายได้ของ amazon มากขึ้น เมื่อลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น

และแล้วในที่สุด ความพยายามของ เจฟฟ์ ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นผล ในเดือนมกราคม ปี 2002 เขาทำให้บริษัทมีผลกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายได้ครั้งแรกเป็นประวัติศาสตร์ของบริษัท ในที่สุด amazon ก็สามารถทำกำไรได้เหมือนธุรกิจปรกติเสียที แม้มันจะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนักเพียงแค่ 5 ล้านเหรียญ แต่มันคือจุดพลิกผันที่สำคัญที่ช่วยให้ amazon กลายเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้ในอนาคต ไม่ใช่บริษัทจอมผลาญเงินเหมือนก่อนหน้านี้ และเมื่อเจฟฟ์ บริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มันก็ยิ่งตอกย้ำให้ภาพของ amazon กลายเป็นศูนย์รวมสินค้าออนไลน์ที่ทุกคนนึกถึงได้

จะเห็นได้ว่า สุดท้ายแล้วนั้น เจฟฟ์ เบซอส ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเขาสามารถที่จะบริหารธุรกิจให้ทำกำไรได้ ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการที่เจฟฟ์ ได้นำพา amazon พ้นวิกฤติครั้งสำคัญอย่าง ฟองสบู่ดอทคอมได้สำเร็จ ไม่ล้มหายตายจากเหมือนธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ  ทีไม่รอดพ้นเงื้อมมือของฟองสบู่ดอทคอม ถึงตอนนี้ amazon ก็พร้อมที่จะเติบโตไปอีกขั้นแล้ว และที่สำคัญสินค้าใหม่ที่สำคัญที่สุดของเจฟฟ์ เบซอส ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น มันคือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อ amazon โดยเฉพาะ ชื่อของมันคือ kindle แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ เจฟฟ์ และ amazon ต่อไป โปรดติดตามได้ในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : Kindle

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : My name is Jeff Bezos *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jeff Bezos แห่ง Amazon ตอนที่ 6 : Let’s Expand

ในปี 1998 เจฟฟ์ ได้จัดกลุ่มพนักงานอัจฉริยะที่เป็นบัณฑิตจากคณะธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สร้างหน่วยงานพิเศษขึ้นในบริษัทในชื่อ หน่วยสว็อต (SWAT Team) เพื่อทำการวิจัยประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนสินค้ามาก ๆ หรือมีจำนวน SKU สูง ๆ (SKU=จำนวนสินค้าที่เก็บคงคลังได้) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีขายตามร้านค้าทั่วไป ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ส่งทางไปรษณีย์ได้ง่าย

มันเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของเจฟฟ์ในการนำเสนอตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่าบนระบบเว๊บไซต์ออนไลน์ เมื่อเทียบกับตัวเลือกที่มีในร้านค้าปลีกแบบทั่วไป ตอนนี้เจฟฟ์ นั้นตั้งเป้าที่จะเพิ่มหมวดหมู่สินค้าใหม่ ๆ อย่างเร่งด่วน แม้ตอนนี้ ชื่อ แบรนด์ของ amazon ในสายตาลูกค้าเป็นเพียงแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว เขาต้องการเป็นมากกว่านั้น

เขาอยากให้ชื่อแบรนด์ amazon เป็นมากกว่าหนังสือ เปรียบเทียบกับตราเวอร์จินของริชาร์ด แบรนสัน ที่รวมทุกสิ่งตั้งแต่ดนตรี สายการบิน ไปจนถึงสุรา เจฟฟ์ต้องการให้ amazon ทำผลตอบแทนในระดับที่เขาสามารถนำไปลงทุนด้านเทคโนโลยี และก้าวหน้ากว่าคู่แข่งได้

amazon เริ่มขยายหมวดหมู่สินค้า ใน ปี 1999
amazon เริ่มขยายหมวดหมู่สินค้า ใน ปี 1999

ซึ่งกลุ่ม SWAT ที่เต็มไปด้วยอัจฉริยะเหล่านี้ ได้รวมทีมกันไปค้นคว้าเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องดนตรี โฮมวีดีโอ ซอฟต์แวร์ และยังรวมถึงสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย และเริ่มทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นจากลูกค้า ทั้งทาง online และ offline 

ซึ่งจากการทำวิจัย และ นำผลสำรวจ มาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วนำ เจฟฟ์ และเหล่าผู้บริหารของ amazon ซึ่งเหล่าผู้บริหารตัดสินใจเลือก ดนตรี เป็นเป้าหมายแรกในการเพิ่มหมวดหมู่สินค้า และดีวีดีเป็นหมวดที่สองที่จะเพิ่มในเว็บไซต์ amazon.com

ซึ่งในการเพิ่มหมวดหมู่สินค้าใหม่ ๆ นั้น มันนำมาซึ่งรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่มันไม่ได้เป็นปัญหาของเจฟฟ์ และ amazon เนื่องจากสามารถออกหุ้นกู้และระดมทุนผ่านตลาดหุ้นได้เพราะตอนนี้ amazon ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ช่วงเวลาที่เฟื่องฟูของ amazon ตั้งแต่ปี 1998 – 2000 นั้น amazon สามารถระดมทุนได้สูงถึง 2.2 พันล้านเหรียญจากการเสนอขายหุ้นกู้ 3 รอบ ซึ่งนำเงินจำนวนมากมายมหาศาลไปซื้อกิจการอื่น ๆ ทั้ง เว๊บฐานข้อมูลภาพยนต์ IMDB.com ซื้อเว๊บร้านขายหนังสือของอังกฤษชื่อ BookPages ซื้อเว๊บร้านขายหนังสือของเยอรมันชื่อ TeleBuch ซื้อตลาดสินค้าออลไลน์ Exchange.com แม้กระทั่งเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง PlanetALL นั้น amazon ก็จัดการซื้อมาทั้งหมด รวมถึงนำเงินไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัยถึง 5 แห่งในสหรัฐอเมริกา

ซื้อเว๊บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนต์ เพื่อปูทางสู่ธุรกิจ DVD ภาพยนต์
ซื้อเว๊บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนต์ IMDB.com เพื่อปูทางสู่ธุรกิจ DVD ภาพยนต์

amazon ขยายหมวดหมู่สินค้ามาที่สินค้าทางด้านดนตรีซึ่งสินค้านั้นก็คือ CD เพลงนั่นเอง เจฟฟ์นัั้นเชื่อว่าเขาต้องทำสิ่งที่เคยทำกับตลาดหนังสือ คือ พุ่งเป้าไปที่ลูกค้าและให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เขาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทั้งหมดที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเพื่อขายหนังสือจนไม่มีใครตามเขาทัน และมันเห็นผลชัดเจนทันทีกับสินค้าหมวดที่สองที่เขาขยายไปอย่าง CD เพลง

ภายใน 4 เดือน amazon ขาย CD เพลงได้กว่า 14 ล้านเหรียญ แซงหน้าเจ้าตลาดหน้าเดิมอย่าง CDNow.com ที่เป็นผู้ในในตลาดขาย CD เพลงทาง internet ได้สำเร็จ ซึ่งผลจากการ IMDB.com นั้นก็ได้ปูทางไปสู่การขาย DVD ภาพยนต์เป็นลำดับถัดไป ตามแผนการที่เขาและทีมงาน SWAT ศึกษาค้นคว้ามาอย่างดี

ซึ่งการเข้าซื้อ IMDB ทำให้ใช้มันเป็นช่องทางในการโฆษณา amazon เริ่มกิจการขาย DVD ไปเพียง 45 วันก็ได้กลายเป็นผู้ค้าปลีกภาพยนต์รายใหญ่ที่สุดบน internet

เจฟฟ์ เริ่มขยายกิจการออกไปนอกสหรัฐอเมริกา โดยพุ่งเป้าไปที่อังกฤษและเยอรมนี เป็นอันดับแรก เพราะตอนนั้น inernet เริ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว สำนักพิมพ์ใหญ่อย่างเบอร์เทลส์มานน์ เอจี ของเยอรมัน ก็คิดว่าตัวเองน่าจะจับมือเป็นหุ้นส่วนกับ amazon

แต่เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ เบอร์เทลส์มานน์ จึงหันไปจับมือกับ barnesandnoble.com ที่เป็นคู่แข่งของ amazon.com แทน แต่ดูเหมือนมันเป็นการตัดสินใจผิดพลาด เพราะ หลังจากนั้นยอดขายของ barnesandnoble.com ต่ำกว่า amazon.com ถึง 3 เท่า การไล่กวน amazon นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก การเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรกรวมถึงการสร้างบริการที่ดีสุดให้กับลูกค้าของ amazon เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่เป็นการยากสำหรับคู่แข่งที่จะมาแข่งในตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับ amazon.com

barnesandnoble.com ไม่สามารถสู้กับ amazon.com ที่ออกตัวก่อนและครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบเบ็ดเสร็จ
barnesandnoble.com ไม่สามารถสู้กับ amazon.com ที่ออกตัวก่อนและครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบเบ็ดเสร็จ

หลังจากชัยชนะอันเด็ดขาด เจฟฟ์ เบซอส ก็ขยายกิจการอย่างบ้าคลั่ง เข้าซื้อและลงทุนในธุรกิจใหม่แทบจะทุกเดือน ซื้อเว๊บ Drugstore.com ร้านขายยาออนไลน์  เว๊บไซต์ค้าปลีกชื่อดังอย่าง Accept.com ซื้อบริษัท อเล็กซา อินเตอร์เน็ต ลงทุนกับ HomeGrocer.com จากนั้นก็เริ่มเบนเข็มทำธุรกิจขายตรงสินค้าอิเล็กทรอนิค ของเล่น และเกม ทั้งยังซื้อหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาอย่าง Gear.com จากนั้นก็ลุยต่อกับสินค้าจำพวกอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ซอฟต์แวร์ วีดีโอเกม เครื่องประดับ และเครื่องหนัง และได้ประกาศเปิดตัวเว๊บซีชอปส์ ซึ่งสุดท้ายได้แปลงร่างกลายมาเป็น amazon marketplace เพื่อให้บริษัทและบุคคลทั่วไปสามารถขายสินค้าผ่าน amazon ได้

สร้าง zshops ก่อนแปลงร่างเป็น amazon marketplace แหล่งสร้างรายได้อีกทาง
สร้าง zshops ก่อนแปลงร่างเป็น amazon marketplace แหล่งสร้างรายได้อีกทาง

จากนั้นราคาหุ้นของ amazon ก็ยังคงทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดปี 1999 แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าแวดวง internet เป็นฟองสบู่ที่ต้องแตกเข้าสักวัน ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ซึ่งหากฟองสบู่แตกจริง ๆ  เหล่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็ฟันธงว่าสถานการณ์ของ amazon ต้องย่ำแย่อย่างแน่นอน

สถานการณ์ในตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็คือ เจฟฟ์ เบซอส ได้พลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกไปตลอดกาล ในปี 1999 เว๊บไซต์ amazon มีสินค้าให้เลือกซื้อกว่า 18 ล้านชิ้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่เพียงหนังสืออีกต่อไปแล้ว สินค้าแทบจะทุก ๆ หมวดกำลังทยอยขึ้นออนไลน์ให้เหล่านักช็อปได้ซื้อกันในเว๊บไซต์ amazon 

และมันทำให้ เจฟฟ์ เบซอส ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี ของนิตยสารไทม์ ในปี 1999 ตอนนี้เขาได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดของอุตสาหกรรมที่เขาเป็นคนสร้างขึ้นมา และดูเหมือนว่าตอนนี้จะไม่มีใครสามารถทาบรัศมีได้เลย แต่หารู้ไม่ว่าในเวลานั้นยอดเขาที่เจฟฟ์ เบซอส ยืนอยู่นั้น กำลังจะล้มพังครืนลงมาเต็มทีแล้ว มันมีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นภารกิจที่เขายังทำไม่เสร็จ นั่นคือพา amazon เข้าสู่การเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้จริง ๆ เสียที แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ amazon เจฟฟ์ จะสามารถพา amazon ทำกำไรได้จริง ๆ เหมือนธุรกิจอื่นได้เมื่อไหร่? โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Dotcom Bubble

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : My name is Jeff Bezos *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

 

ประวัติ Jeff Bezos แห่ง Amazon ตอนที่ 5 : Growth Fund

ต้องบอกว่าการเติบโตของ amazon.com เป็นไปอย่างน่าสนใจมากกับเว๊บไซต์เกิดใหม่ ที่ขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด พร้อมกับการเติบโตของผู้ใช้ internet  แต่ปัญหาที่สำคัญของ amazon คือ เงินทุน ที่ไม่เพียงพอรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดดังกล่าวได้

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เจฟฟ์ ใช้เงินทุนส่วนตัวรวมถึงเงินจากครอบครัว เพื่อใช้ในการบริหารธุรกิจ amazon ในช่วงแรก แต่มันก็หมดไปอย่างรวดเร็ว การเติบโตมาพร้อมกับ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากทั้งทางด้านการ operation รวมถึงการจ้างพนักงานที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

และเจฟฟ์ ก็ต้องโทรไปหามหามิตรเก่าอย่าง นิก แฮนนาเออร์ ซึ่งเป็นหนึ่งที่ได้ชักชวนเจฟฟ์มาตั้งธุรกิจที่ซีแอตเทิล แฮนนาเออร์นั้นได้ทำการรวบรวมทุนจากเหล่าบรรดาเศรษฐีในเมืองซีแอตเทิลให้มาร่วมลงทุนใน amazon โดยระดมทุนได้ประมาณ 981,000 เหรียญ 

amazon เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ต้องการทุนเพิ่ม เพราะรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นไม่ทัน
amazon เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ต้องการทุนเพิ่ม เพราะรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นไม่ทัน

ตอนนี้ชื่อของ amazon เริ่มดังกระฉ่อนไปไกลถึงซิลิกอน วัลเลย์แล้ว และ นักลงทุนที่เก่งที่สุดใน ซิลิกอน วัลเลย์ ในขณะนั้นก็คือ จอห์น ดูเออร์ แห่ง KPCB ที่เริ่มหันเหความสนใจที่จะมาลงทุนใน amazon รวมถึง บริษัทด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง เจเนอรัล แอตแลนติก ก็สนใจใน amazon เช่นกัน

เริ่มมีการประเมินมูลค่าใน amazon จากบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่เหล่านี้ KPCB นั้นประเมิน มูลค่า amazon ไว้ที่ 60 ล้านเหรียญ ส่วน เจเนอรัล แอตแลนติก ได้ประเมินไว้ประมาณ 50 ล้านเหรียญ แม้เจฟฟ์ จะพยายามต่อรองจนในที่สุด ได้มูลค่าสูงถึง 60-70 ล้านเหรียญ

มันเริ่มมีการแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่งในการเข้าร่วมลงทุนใน amazon เจฟฟ์ถือได้ว่าเป็นต่อเล็กน้อย เมื่อ amazon กำลังเนื้อหอม รวมถึงการเจริญเติบโตของ amazon ก็สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

มันเป็นนิสัยสำคัญอย่างนึงในการประเมินเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจสำหรับเจฟฟ์ ในทุก ๆ ครั้ง เขาได้วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนในการเลือกบริษัทที่จะมาลงทุนด้วย แม้เจเนอรัล แอตแลนติกจะให้เงินที่สูงกว่า แต่จากการวิเคราหะ์ผลดีผลเสียทุกอย่างแล้ว  เจฟฟ์ รู้สึกว่าชื่อเสียงของ จอห์น ดูเออร์ แห่ง KPCB นั้นดูจะคุ้มค่ากว่า โดย KPCB เสนอเงิน 8 ล้านเหรียญแลกกับหุ้นราว ๆ 13% ของ amazon จึงตัดสินใจร่วมทุนกับ KPCB ในที่สุด

ตัดสินใจร่วมกับ KPCB ของ จอห์น ดูเออร์ เพราะเชื่อมั่นใจศักยภาพ
ตัดสินใจร่วมกับ KPCB ของ จอห์น ดูเออร์ เพราะเชื่อมั่นใจศักยภาพ

แต่หลังจากได้เงินทุนนั้น เขาปรับกลยุทธ์ ของ amazon แทนที่จะเริ่มหากำไรจากบริษัท แต่เขาจะทำการทุ่มเงินในการเพิ่มกำลังคน เทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึง ทางด้านการตลาดแทน เขามองว่าใครก็ตามที่สามารถยึดส่วนแบ่งการตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จเป็นรายแรกนั้น จะอยู่ในจุดที่ได้เปรียบที่สุด และยากที่จะโค่นลงได้ ถึงตอนนี้ภารกิจหลักของเจฟฟ์ คือ เติบโตให้เร็วที่สุดเพียงเท่านั้น

และการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบฉุดไม่อยู่ของ amazon ทำให้ เพียงแค่ 1 ปีหลังจากนั้นในเดือน พฤษภาคมปี 1997 เขาก็ได้นำหุ้น amazon ออกขายสู่สาธารณะด้วยราคา 18 เหรียญต่อหุ้น ก่อนจะระดมทุนเพิ่มได้อีก 54 ล้านเหรียญ ทำให้มูลค่าของ amazon นั้นพุ่งขึ้นไปถึง 429 ล้านเหรียญ ภายในเวลาปีเดียวเพียงเท่านั้น 

ออก IPO ขายหุ้นให้กับสาธารณชนภายในปีเดียว
ออก IPO ขายหุ้นให้กับสาธารณชนภายในปีเดียว

และหนึ่งปีหลังจากการขายหุ้นต่อสาธารณชน หุ้นของ amazon ขึ้นไปแตะหลัก 105 เหรียญ ทำให้มูลค่าของ amazon ขึ้นไปสูงถึง 5,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถึงตอนนี้กลายเป็นว่า มูลค่าของ amazon นั้นได้สูงกว่า มูลค่าจากการประเมินของ บาร์นส์แอนด์โนเบิลและบอร์เดอร์ เครือข่ายร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของอเมริกา รวมกันเสียอีก

แม้สถานะทางการเงิน amazon จะขาดทุนอยู่กว่า 30 ล้านเหรียญนับตั้งแต่วันที่เปิดขายหุ้น  แต่ตอนนี้ amazon ได้นำเงินจากการระดมทุน ไปพัฒนาเว๊บไซต์ รวมถึง จ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามาร่วม มันจึงทำให้ amazon กลายเป็นเว๊บไซต์เชิงพาณิชย์ระดับโลกไปแล้ว

แบรนด์ของ amazon นั้นแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากเปิดตัวมาก่อนใครเพื่อน ผู้คนต่างจดจำ แบรนด์ของ amazon ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีปริมาณหนังสือในคลังสินค้าน้อย แต่ สถิตินั้นบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของการบริหารของเจฟฟ์ โดยสามารถทำยอดขายได้ถึง 300,000 เหรียญต่อพนักงาน amazon 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับร้านหนังสือแบบเก่า โดยสูงถึงกว่า 3 เท่า และมันยิ่งทำให้เป็นที่ดึงดูดใจเหล่านักลงทุนเพิ่มมากขึ้น และคอยผลักดันให้ราคาหุ้นของ amazon ถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อย  ๆ

ประสิทธิภาพของพนักงาน amazon สามารถทำรายได้สูงกว่าพนักงานร้านหนังสือถึง 3 เท่า โดยเฉลี่ย
ประสิทธิภาพของพนักงาน amazon สามารถทำรายได้สูงกว่าพนักงานร้านหนังสือถึง 3 เท่า โดยเฉลี่ย

เรียกได้ว่า amazon เป็นเว๊บไซต์แรกที่ทำการปฏิวัติรูปแบบการค้าปลีก ผู้คนหลงรักเว๊บไซต์แห่งนี้ ความใส่ใจในรายละเอียดของเจฟฟ์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า  มันทำให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าเป็นอย่างมาก เมื่อหนังสือทุกเรื่องอยู่ใกล้เพียงแค่ปลายนิ้ว แถมบทวิจารณ์ที่เขียนโดยผู้อ่านยังดึงลูกค้าเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเว๊บไซต์ได้ดีอีกด้วย

และแนวทางสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยไม่มุ่งหวังกำไรมันกลายเป็นแนวทางที่บริษัท internet หรือ บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ แทบทุกแห่งตามไปใช้กันหมด มันเป็นหัวใจหลักของตลาดดอทคอมในยุคปลายปี 1990 เลยทีเดียว amazon จึงกลายเป็นบริษัท internet แห่งแรกที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมให้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

–> อ่านตอนที่ 6 : Let’s Expand

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : My name is Jeff Bezos *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jeff Bezos แห่ง Amazon ตอนที่ 4 : The Innovator

หลังจากพยายามพัฒนาและปรับปรุงเว๊บไซต์ amazon ในช่วงทดลองมาหลายเดือน สุดท้าย amazon.com เวอร์ชั่นแรกที่สมบูรณ์ที่สุดก็ได้เริ่มออนไลน์ ในวันที่ 16 กรกฏาคม 1995 ถือเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ของ amazon.com ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างสมบูรณ์

มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ เพราะขณะนั้น internet เริ่มแพร่กระจายไปสู่คนหมู่มากในอเมริกาแล้ว และทีสำคัญ มันเป็นการออกตัวก่อนคู่แข่ง ที่ตอนนั้นหลาย ๆ บริษัทเริ่มตื่นตัวกับ internet แล้ว และกำลังสร้างบริการคล้าย ๆ กันอยู่

amazon.com เป็นเว๊บไซต์ค้าปลีกแรกๆ  ที่ดูจะมีความสมบูรณ์ที่สุด การปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด รวมถึง การ design ที่ดูสะอาดตา และมีความเรียบง่าย ทำให้สามารถเป็นที่ต้องตาของเหล่าหนอนหนังสือตัวยงได้อย่างรวดเร็ว

ต้องเรียกได้ว่าเรียบง่าย ใช้งานง่าย โหลดเร็ว ทำให้ลูกค้าติดใจอย่างรวดเร็ว
amazon.com ยุคแรก ต้องเรียกได้ว่าเรียบง่าย ใช้งานง่าย โหลดเร็ว ทำให้ลูกค้าติดใจอย่างรวดเร็ว

หลังจากเปิดตัว คำสั่งซื้อเริ่มหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้แคปแฟน และ เดวิส โปรแกรมเมอร์หลัก ต้องสร้างระบบ เพื่อแจ้งเตือน เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา โดยให้มีเสียงกระดิ่งเตือนเมื่อมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา แต่มันก็ใช้งานได้ไม่นาน เพราะคำสั่งซื้อมันเข้ามาอย่างรวดเร็วและเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ  จนเสียงกระดิ่งไปรรบกวนการทำงานทุกคนในทีม

ในช่วงแรกของการเปิดตัวเว๊บไซต์ต้องบอกว่า เจฟฟ์ นั้นจัดโปรโมชั่นหนักมากหวังดึงลูกค้ามาใช้อย่างเต็มที่ โดยลดราคาของหนังสือ จนแทบจะไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ หนังสือชื่อดังถูกนำมาลดราคาบ้างครั้งสูงถึง 40% เรียกได้ว่าในช่วงแรกนั้นยิ่งขายได้มากก็ยิ่งติดลบมาก

และปัจจัยอย่างนึงที่ทำให้ amazon.com นั้นดังอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจาก เจอร์รี่ หยาง CEO ของ YAHOO ในขณะนั้น ได้เห็นเว๊บไซต์ amazon ในไม่กี่วันแรก หลังจากที่เว๊บออนไลน์

ตอนนั้นหน้าหลักของ YAHOO มี Section ที่เรียกว่า What’s Cool Page ซึ่งเป็นส่วนแนะนำเว๊บไซต์ใหม่ ๆ ที่เจ๋ง ๆ และน่าสนใจสำหรับชาว internet ซึ่งต้องบอกว่าในยุคนั้น YAHOO ถึอเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการผู้คนมักมาที่ YAHOO ก่อนเป็นดับแรกเพื่อหาเว๊บไซต์ที่น่าสนใจที่ทาง YAHOO ได้ทำเป็นระบบไดเร็คทอรี่ไว้

ได้แรงโปรโมตจาก YAHOO ทำให้เว๊บ amazon ดังอย่างรวดเร็ว
ได้แรงโปรโมตจาก YAHOO ทำให้เว๊บ amazon ดังอย่างรวดเร็ว

และการขึ้นไปอยู่ในส่วนของ What’s Cool Page ของ YAHOO นั้นทำให้ amazon โด่งดังภายในพริบตาเดียวเลยก็ว่าได้ เพียงสัปดาห์แรกหลังจากถูกแนะนำใน YAHOO มีคำสั่งซื้อมูลค่ารวมกว่า 12,000 เหรียญ  หลังหลังจากนั้นอีกสัปดาห์ถัดไปก็พุ่งขึ้นไปถึง 15,000 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนคำสั่งซื้อที่น่าเซอไพรซ์มากสำหรับเว๊บไซต์เปิดใหม่อย่าง amazon.com

ตอนที่เว๊บไซต์ amazon ออนไลน์อย่างเป็นทางการนั้น ทีมงานโปรแกรมเมอร์ รวมถึง เจฟฟ์ ก็ทำการตรวจสอบในระดับหนึ่งแล้วว่า สามารถทำงานได้  แต่ พอใช้งานจริง ๆ ก็พบเจอกับหลากหลายปัญหามากเพราะจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เจฟฟ์ และทีมจึงทยอยปรับแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ และเจฟฟ์นั้นต้องการให้ amazon.com ยึดหัวหาดในตลาดหนังสือออนไลน์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ปัญหาอีกประการก็คือ ตอนนั้น เจฟฟ์ นั้นไม่ได้นึกถึงทีมงานที่จะต้องมานั่งแพ็คสินค้า หรือ จัดการด้านคลังสินค้าเลยด้วยซ้ำ แรกเริ่มเขาจึงต้องใช้ทีมงานเท่าที่มีอยู่มาช่วยกันแพ็คหนังสือลงกล่องเพื่อจัดส่งให้ลูกค้า ซึ่งต้องใช้เวลาในช่วงกลางคืนหลังจากแต่ละคนเคลียร์งานของตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้บางคืนต้องทำงานกันจนถึงเกือบเช้าเพื่อจัดการคำสั่งซื้อที่เข้ามาทั้งหมด

มันเป็นการเริ่มต้นอย่างทุลักทุเลเลยก็ว่าได้ เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วของ amazon ทำให้ตอนนั้น เจฟฟ์ก็ยังไม่ได้วางแผนว่ามันจะเติบโตได้เร็วถึงเพียงนี้  พนักงานช่วงยุคแรกเริ่มนั้นทำงานกันหลายตำแหน่งมาก ๆ บางคนเป็นทั้งโปรแกรมเมอร์ และต้องมาตอบคำถามลูกค้าในหน้าเว๊บ หรือ พนักงานบัญชีที่ต้องมานั่งช่วยแพ็คสินค้า รวมถึงจ่าหน้าสินค้า แม้กระทั่งเรื่องการ print เอกสารต่าง ๆ  พนักงานยังต้องไป print ที่ร้านข้างนอก การประชุมก็อาศัยร้านกาแฟ ที่อยู่ใกล้ ๆ ออฟฟิส เป็นที่ประชุมงาน

ถึงแม้บริษัทจะไม่มีงบโฆษณาใด  ๆเลยด้วยซ้ำในช่วงเริ่มก็ตั้ง แต่ amazon.com มันกลายเป็นกระแสบอกปากต่อปาก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ มีแต่ผู้คนกล่าวถึง เว๊บไซต์หน้าใหม่ไฟแรงอย่าง amazon.com และด้วยการที่มันขึ้นด้วยตัว A ทำให้เวลามีการเรียงลำดับเว๊บไซต์ มันก็ทำให้ amazon ขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ เสมอ

ซึ่งร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อย่างบาร์นแอนด์โนเบิล นั้นก็เริ่มเห็นกระแสของ amazon ที่เริ่มเป็นที่น่าสนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จึงได้ทำการริเริ่มสร้างเว๊บไซต์มาแข่ง แต่ เจฟฟ์ และทีมงาน amazon เตรียมการเรื่องนี้ไว้อย่างดีแล้ว 

ทีมงานเร่งปรับตัวเว๊บไซต์ เพิ่ม features ต่าง ๆ มากมาย ที่ไม่เคยมีเว๊บไซต์ไหนทำมาก่อน ตัวอย่างเช่นการ review หรือแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ นั้น amazon ก็เป็นเจ้าแรก ๆ ที่ได้คิดฟังก์ชั่นนี้ขึ้นมา และสร้างเป็นเครือข่ายสังคมขนาดย่อมของคนรักหนังสือขึ้นมา ต้องบอกว่า amazon ตอนนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเว๊บไซต์ขายหนังสือเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นเครือข่ายสังคมรุ่นแรก ๆ สำหรับแฟนหนังสืออีกด้วย

ระบบ review หรือ rating amazon เป็นคนริเริ่มขึ้นมาก่อนที่จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ระบบ review หรือ rating amazon เป็นคนริเริ่มขึ้นมาก่อนที่จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย

เจฟฟ์ นั้นมีไอเดียใหม่ ๆ เสมอสำหรับเว๊บไซต์ amazon.com ของเขา ในเดือน กรกฏาคม ปี 1996 มีหญิงคนหนึ่งชอบเขียนแนะนำหนังสือลงเว๊บไซต์ของตนเอง และทำลิงก์มายังเว๊บไซต์ของ amazon เพื่อให้สะดวกกับคนที่สนใจจะซื้อหนังสือ

เจฟฟ์เห็นไอเดียว่า การมีทราฟฟิกจากภายนอก ลิงก์มายัง amazon นั้นจะช่วยสนับสนุนการขายได้อย่าดี เขาจึงตั้งโปรแกรมที่เรียกว่า โครงการพันธมิตรการขาย (Associates Program) ขึ้นมา โดยบุคคุลภายนอกที่สร้างลิงก์มายังเว็บไซต์ amazon จะได้รับค่านายหน้าจากการขายหากมีคนคลิกผ่านเว๊บไซต์ของตัวเองมาสั่งซื้อหนังสือในเว๊บไซต์ amazon.com

เจฟฟ์ได้คิดค้น amazon Associates Program ขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการค้าออนไลน์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีเว๊บไซต์
เจฟฟ์ได้คิดค้น amazon Associates Program ขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการค้าออนไลน์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีเว๊บไซต์

และมันยังทำให้ เครือข่ายของ amazon กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และถือว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สรรค์สร้างโดย เจฟฟ์ เบซอส เลยก็ว่าได้ ซึ่งบางครั้งนวัตกรรมเล็ก ๆ อย่างเครือข่าย Associates Program ที่คิดโดยเจฟฟ์ นั้นมันก็สร้าง Impact ครั้งยิ่งใหญ่ให้กับ amazon  มันเป็นความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างเจฟฟ์ กับผู้บริหารหัวโบราณที่ไม่เข้าใจและลังเลที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกออนไลน์

การอ่านเกมขาดของเจฟฟ์ เบซอส ในเรื่องนี้นั้นมันช่วยให้เขาเดินหน้าไปในธุรกิจดอทคอมได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และตอนนี้ amazon.com กำลังเดินในเส้นทางนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาคือ การที่ยิ่งขายได้มากในช่วงแรก ๆ นั้น มันจะยิ่งใช้ทุนมากมายมหาศาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และตอนนี้เงินทุนของเจฟฟ์ นั้นก็เริ่มร่อยหรอแล้วหลังจากการเติบโตอย่างไม่คาดคิดของ amazon.com แล้วเขาจะทำอย่างไรต่อ ปัญหาเรื่องเงินทุนเป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ ของเจฟฟ์ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Growth Fund

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : My name is Jeff Bezos *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

 

 

ประวัติ Jeff Bezos แห่ง Amazon ตอนที่ 3 : Customer Centric

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ในบทก่อนหน้า เจฟฟ์ นั้นถือเป็นโปรแกรมเมอร์ มือฉมังคนหนึ่งที่หาตัวจับยากเลยในวอลล์สตรีท เพราะฉะนั้นเรื่องทางด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเขียนโปรแกรม หรือ การดูแลเรื่อง infrastructure ของ amazon นั้น เจฟฟ์สามารถจัดการมันได้อย่างดีเยี่ยม

เขาเลือกของที่มีคุณภาพสูง อย่าง เซฟเวอร์ของบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็ม หรือ ฐานข้อมูลของออราเคิล ซึ่ง สำหรับธุรกิจเริ่มต้นใหม่นั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอตัว ซึ่งเจฟฟ์ มองว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากต้องการให้ เว็บไซต์ amazon นั้น สามารถรันได้อย่างมืออาชีพ และไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนให้ยุ่งยากหากบริษัทของเขาเติบโตขึ้นในภายหลัง ซึ่งเขามั่นใจว่า amazon จะต้องเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน

ใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อรองรับการทำงานที่่สามารถขยายสเกลได้
ใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อรองรับการทำงานที่่สามารถขยายสเกลได้

แม้ทีมงานของเขาอย่าง แคปแฟน และ เดวิส นั้นจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการทำเว๊บไซต์ โดยเฉพาะเว๊บไซต์ค้าปลีกอย่างร้านหนังสือ ออนไลน์ ทั้งสองต้องมาพัฒนาซอฟท์แวร์ส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากเจฟฟ์นั้นต้องการให้บริษัทใช้รูปแบบใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน หลาย ๆ เทคนิคที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทีมงานของเขาต่างคิดค้นขึ้นมาเอง มีการนำ open source มาดันแปลงบ้าง แต่เพื่อให้เข้ากับความต้องการของเจฟฟ์ ที่อยากให้เว๊บไซต์ของเขาต่างจากที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น

เมื่อบริษัทได้เริ่มเปิดกิจการอย่างจริงจังในปี 1995 นั้น ฐานข้อมูลก็เต็มไปด้วยหนังสือกว่า 1 ล้านเล่ม มีหนังสือที่เป็น Best Seller  กว่า 1,000 เล่ม เจฟฟ์ จึงได้กล้าประกาศว่า amazon เป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แต่ความเป็นจริงนั้น ในคลังสินค้าของเขาไม่ได้มีหนังสือเป็นล้านเล่มอย่างที่เขาได้โพทนาวไว้ มันเป็นเพียงฐานข้อมูลในระบบดาต้าเบสเท่านั้น เจฟฟ์ นั้นตั้งใจว่าจะสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์หรือผู้จัดจำหน่ายหลังจากลูกค้าสั่งซื้อหนังสือจากเขาแล้วเท่านั้น

แต่เพราะฐานข้อมูลเหล่านี้ ที่จัดข้อมูลอย่างเป็นระบบแบบที่เจฟฟ์ ได้ดีไซน์ไว้ มันทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการค้นหาหนังสือได้อย่างรวดเร็ว และจัดการกับคำสั่งซื้อของลูกค้าได้รวดเร็วกว่าพนักงานในร้านหนังสือจริง ๆ 

ต้องบอกว่ามันเป็นโมเดลธุรกิจง่าย ๆ ที่มีต้นทุนต่ำอย่างยิ่งในการเริ่มต้นกิจการของเจฟฟ์ เพราะไม่ต้องสต็อคหนังสือเป็นจำนวนมาก แค่สร้างระบบติดตามขึ้นมา ซึ่งทำงานโดย ถ้า amazon มีหนังสือเล่มที่ลูกค้าสั่งอยู่ในคลัง หนังสือเล่มนั้นก็จะอยู่ในสถานะพร้อมส่งในหนึ่งวัน หากผู้จัดจำหน่ายมีหนังสืออยู่ในคลัง amazon ก็จะรับรองว่าจะจัดส่งให้ได้ภายใน 2-3 วัน แต่หากต้องมีการสั่งจากสำนักพิมพ์ก็จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และมักจะประเมินเวลาจัดส่งเผื่อไว้ก่อน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจเวลาที่ได้รับสินค้าเร็วกว่าที่คาดไว้

เจฟฟ์นั้น ทำการ stock หนังสือไว้ในคลังสินค้าให้น้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนในช่วงแรก
เจฟฟ์นั้น ทำการ stock หนังสือไว้ในคลังสินค้าให้น้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนในช่วงแรก

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและการเรียกเก็บเงิน ซึ่งตอนนั้น internet เพิ่งเริ่มใช้มาไม่นาน ทุกอย่างบน internet ยังเป็นเรื่องใหม่ ไม้เว้นแม้แต่การชำระเงิน ตอนนั้นเจฟฟ์คิดคอนเซ็ปง่าย ๆ ให้ลูกค้าสั่งผ่าน email แล้วส่งรายละเอียดการชำระเงินหรือเลขบัตรเครดิตมาทาง email ดูจะปลอดภัยกว่า

แต่ตอนเปิดกิจการจริง ๆ internet นั้นเริ่มแพร่หลายมากจน email นั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว การสั่งซื้อส่วนใหญ่จะสั่งจากหน้าเว๊บไซต์โดยตรง การจ่ายเงินจะมีทั้งโทรศัพท์มาแจ้งเลขที่บัตรเครดิต , จ่ายด้วยเช็ค และที่น่าแปลกใจคือมีส่วนนึงที่ทำธุรกรรมผ่านทางเว๊บไซต์

ตอนนั้นเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางเว๊บไซต์นั้นยังไม่มีมาตรฐานออกมาชัดเจนมากนัก ตอนนั้น https ก็ยังไม่เกิด เจฟฟ์จึงสร้างระบบที่เรียกว่า “CC Motel” โดยหมายเลขบัตรเครดิตจะถูกป้อนเข้าไปในระบบ แต่แฮกเกอร์จะไม่สามารถดึงข้อมูลออกไปได้ จะไม่มีการเชื่อมต่อ internet สำหรับเครื่องที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม หมายเลขบัตรเหล่านี้จะถูก save ลงในดิสก์ แล้วค่อยย้ายไปในคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการทำธุรกรรมแทน

amazon นั้นต้องกำจัดความกลัวของลูกค้าเกี่ยวกับการให้ขัอมูลบัตรเครดิต ลูกค้าเพียงแค่ระบุหมายเลขบัตรเครดิตแค่ 4 ตัวสุดท้ายก่อน จากนั้นค่อยโทรมาแจ้งเลขที่เหลือทั้งหมดทางโทรศัพท์เมื่อพร้อมที่จะจ่ายเงินเท่านั้น

ความปลอดภัยในการจ่ายเงินเป็นสิ่งที่ เจฟฟ์ และ amazon แคร์มาก ๆ
ความปลอดภัยในการจ่ายเงินเป็นสิ่งที่ เจฟฟ์ และ amazon แคร์มาก ๆ

ลูกค้าจะได้รับการยืนยันในทุกขั้นตอนว่าสามารถย้อนกลับไปแก้ไขทุกอย่างได้จนกว่าจะพร้อมส่งคำสั่งซื้อจริง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของเจฟฟ์ในการสร้างเว๊บไซต์ที่ดีที่สุดขึ้นมา ซึ่งเจฟฟ์มองว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพราะเจฟฟ์ตระหนักว่ามันคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จได้

Featues เด็ดอีกอย่างของ amazon คือ การทำให้การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ และนักเขียนในฐานข้อมูลเป็นเรื่องง่ายที่สุด เดวิสและแคปแฟน ลงมือสร้างลิงก์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดของผู้แต่งแต่ละคนเข้าด้วยกัน ลูกค้าจึงสามารถค้นหาหัวข้อ หรือ ชื่อหนังสือ รวมถึงนักเขียนที่สนใจ ซึ่งหากพวกเขาเจอหนังสือที่ชอบก็สามารถคลิกที่ชื่อนักเขียนเพื่อดูหนังสือทุกเล่มของนักเขียนคนนั้นได้ทันที

ซึ่งคงไม่กล่าวเกินเลยได้ว่า การเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดของผู้แต่งแต่ละคนเข้าด้วยกันคือกุญแจสู่ความสำเร็จในยุคแรก ๆ ของ amazon เลยก็ว่าได้ มันเป็นเว็บไซต์ที่ลูกค้าสามารถท่องไปในโลกที่เต็มไปด้วยหนังสือได้ มันทำให้เป็นที่ถูกใจสำหรับพวกนักอ่านตัวยงได้อย่างมาก

เว๊บ amazon ช่วงแรกเน้นตัวอักษร เพราะตอนนั้น internet ยังสปีดต่ำมาก แต่เน้นเรื่องโครงสร้างข้อมูลที่เข้าใจนักอ่านตัวยง
เว๊บ amazon ช่วงแรกเน้นตัวอักษร เพราะตอนนั้น internet ยังสปีดต่ำมาก แต่เน้นเรื่องโครงสร้างข้อมูลที่เข้าใจนักอ่านตัวยง

ต้องบอกว่า amazon ในยุคแรก ๆ นั้นเป็นส่วนผสมของการลองผิดลองถูก เพราะตอนนั้น internet ยังใหม่มาก ๆ มันต้องใช้สัญชาตญาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ เจฟฟ์ และทีมงานยึดถือเป็นหลักในการสร้าง amazon ก็คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าอันดับแรก ไม่ใช่หากทางทำเงินจากลูกค้าให้มากที่สุด พวกเขาโฟกัสที่ลูกค้า สิ่งไหนที่ลูกค้า ชอบ หรือไม่ชอบ ซึ่งเป็นแนวทางหลักของ amazon ในยุคตั้งต้น และมันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจใหม่ที่เจฟฟ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้มันกลายเป็นเว๊บไซต์ขายหนังสืออันดับหนึ่งของโลกให้ได้ 

จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญอย่างแรกที่ เจฟฟ์ เบซอส นั้นยึดเป็นอย่างยิ่งคือความต้องการของลูกค้า เจฟฟ์ แคร์ความรู้สึกของลูกค้าเป็นอย่างมาก พยายามปรับปรุงทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้ารักเว๊บไซต์ของเขา เขาแทบจะไม่ได้มองถึงการหาเงินด้วยซ้ำในช่วงแรกของการสร้าง amazon มันเป็นเรื่องของการเติมเต็มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเพียงเท่านั้น แล้วการเดินทางก้าวต่อไปของ amazon จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Innovator

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : My name is Jeff Bezos *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ