Theranos 2.0? AI + เลือดหยดเดียว = ปฏิวัติการแพทย์ หรือการต้มตุ๋นครั้งใหม่

ถ้าผมพูดชื่อ Elizabeth Holmes ขึ้นมา หลายคนคงร้อง “ยี้” และนึกถึงเรื่องราวสุดฉาวโฉ่ของ Theranos สตาร์ตอัปที่เคยถูกยกยอปอปั้นว่าจะเป็นอนาคตของการตรวจเลือด แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องต้มตุ๋นระดับประวัติศาสตร์ ที่หลอกเงินนักลงทุนไปเกือบพันล้านดอลลาร์

เรื่องราวของเธอดูเหมือนจะจบไปแล้วในคุก แต่ถ้าผมจะบอกว่า…เรื่องราวกำลังจะมีภาคต่อ และครั้งนี้มันอาจจะไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป คุณจะเชื่อไหม?

วันนี้อยากจะมาชวนคุยเรื่องจักรวาลของ Elizabeth Holmes กันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เรื่องราวมันลึกลับซับซ้อนกว่าเดิมมาก เพราะในขณะที่ตัวเธอยังคงชดใช้กรรมอยู่ในเรือนจำ คู่ชีวิตของเธออย่าง Billy Evans กำลังปลุกปั้นบริษัทใหม่ที่ทำเรื่องเดียวกันเป๊ะๆ

เรื่องนี้มันเริ่มมีกลิ่นแปลกๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา Holmes ได้ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกจากหลังกรงเหล็กกับนิตยสาร People เธอบอกว่า “ไม่มีวันไหนเลยที่เธอหยุดทำงานวิจัยและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์” และยังคงยึดมั่นกับความฝันที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลสุขภาพในราคาที่จับต้องได้

ฟังดูคุ้นๆ ใช่ไหมครับ? มันแทบจะเหมือนเทปม้วนเก่าที่ถูกเอามาเล่นซ้ำ

ในขณะที่ Holmes กำลังต่อสู้กับชะตากรรมในคุกที่ Texas คู่ชีวิตของเธอ Billy Evans กำลังวิ่งระดมทุนหลายล้านดอลลาร์ให้กับสตาร์ตอัป AI น้องใหม่ที่ชื่อว่า Haemanthus ซึ่งแปลเป็นภาษากรีกได้ว่า “ดอกไม้สีเลือด”

หลายคนอาจจะคิดว่า “เอาอีกแล้วเหรอ?” วงการจะโดนต้มตุ๋นซ้ำสองอีกหรือเปล่า?

ใจเย็นๆ ครับ เพราะครั้งนี้มันอาจจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ครั้งนี้…เทคโนโลยีที่เคยเป็นแค่เรื่องมโนของ Holmes มันอาจจะใช้งานได้จริงแล้ว

เทคโนโลยีที่ Holmes เคยโกหกคนทั้งโลกเอาไว้ในอดีต ตอนนี้มันกลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยพลังของ AI ที่สุดล้ำ และศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า Raman spectroscopy

คำถามที่ตามมาคือ ใครจะกล้าให้โอกาสหรือเชื่อใจครอบครัวนี้อีกครั้ง? และที่สำคัญกว่านั้น ถ้าเทคโนโลยีครั้งนี้มันเป็น “ของแท้” และใช้งานได้จริง มันจะเปลี่ยนโลกไปได้ขนาดไหน?

วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่หลายคนเรียกว่า Theranos 2.0 ทำไมมันถึงยังมีคนกล้าอัดฉีดเงินให้ และที่สำคัญที่สุด ทำไมเทคโนโลยีที่เคยเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันของ Holmes ถึงกลับกลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ในปี 2025

ปัจจุบัน Elizabeth Holmes ในวัย 41 ปี กำลังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ Federal Prison Camp Bryan ที่รัฐ Texas เธอถูกตัดสินจำคุก 11 ปี 3 เดือน แต่ด้วยความประพฤติดี เธออาจจะได้ออกมาสู่โลกภายนอกเร็วกว่ากำหนด โดยมีวันปล่อยตัวที่คาดการณ์ไว้คือเดือนสิงหาคม 2032

ชีวิตในคุกของเธอเริ่มต้นตอนตี 5 ทุกวัน ออกกำลังกาย 40 นาที ก่อนจะไปทำงานเป็น reentry clerk ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 31 เซ็นต์ หน้าที่ของเธอคือช่วยเหลือนักโทษหญิงคนอื่นที่กำลังจะพ้นโทษ ให้เตรียมตัวกลับสู่สังคม ทั้งการเขียนเรซูเม่ และการยื่นขอสวัสดิการต่างๆ

นอกจากนี้ เธอยังทำงานเป็นผู้ช่วยด้านกฎหมายและสอนภาษาฝรั่งเศสด้วย เรียกได้ว่าใช้ทุกนาทีอย่างคุ้มค่า แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ชีวิตส่วนตัวของเธอ เธอยังได้พบกับลูกๆ ทั้งสองคน William วัย 3 ขวบ และ Invicta วัย 2 ขวบ สัปดาห์ละสองครั้ง พร้อมกับ Billy Evans คู่ชีวิตของเธอ

แต่สิ่งที่เธอตอกย้ำในการให้สัมภาษณ์ และเป็นเหมือนเชื้อไฟที่จุดเรื่องราวทั้งหมดขึ้นมาใหม่ คือคำพูดที่ว่า “ไม่มีวันไหนที่เธอหยุดทำงานวิจัยและประดิษฐ์” เธอยังคงหมกมุ่นกับการเขียนสิทธิบัตรใหม่ๆ จากหลังกรงเหล็ก ราวกับว่ากำแพงคุกไม่สามารถหยุดความทะเยอทะยานของเธอได้

และในขณะเดียวกัน โลกภายนอกก็ไม่ได้หยุดนิ่ง Billy Evans คู่ชีวิตของเธอ ซึ่งเป็นทายาทของเครือโรงแรมใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย วัย 33 ปี ไม่ได้นั่งรอเฉยๆ เขากำลังเดินหน้ากับบริษัท Haemanthus สตาร์ตอัป AI ที่ต้องการรังสรรค์เครื่องตรวจโรคจากของเหลวในร่างกาย

จากเอกสารที่ The New York Times ได้มาตรวจสอบ อุปกรณ์ของ Haemanthus จะใช้เลเซอร์สแกนของเหลวในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำลาย หรือปัสสาวะ และทำการวิเคราะห์ในระดับโมเลกุลภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยใช้โมเดล AI ตรวจหาโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่นๆ

ฟังดูแล้วก็คือคอนเซ็ปต์เดียวกับ Theranos ไม่ผิดเพี้ยนเลยใช่ไหมครับ? แต่ความฉลาดของ Evans อยู่ตรงนี้ เขาไม่ได้กระโจนเข้าสู่ตลาดมนุษย์ที่กฎระเบียบสุดโหด

กลยุทธ์ของ Haemanthus คือการเริ่มต้นจากตลาดสัตว์เลี้ยงก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่มนุษย์ในภายหลัง นี่คือแผนที่เข้าท่ามาก เพราะธุรกิจตรวจมะเร็งสำหรับสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นตลาดมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่กฎระเบียบไม่เข้มงวดเท่าของมนุษย์ เป็นการเดินเกมที่ชาญฉลาดเพื่อพิสูจน์เทคโนโลยีและสร้างความเชื่อมั่น

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานราว 10 คน และระดมทุนไปได้แล้วมากกว่า 18 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเพื่อนและครอบครัวของ Evans เอง

แน่นอนว่าเมื่อข่าวนี้ดังกระฉ่อนออกไป ปฏิกิริยาในวงการก็มีทั้งความตกใจ โกรธแค้น และความกังขา บริษัทลงทุนของ Michael Dell ปฏิเสธข้อเสนอทันที นักลงทุนยุคแรกๆ ของ Facebook และผู้จัดการกองทุน VC หลายคนก็บอกว่าจะขอผ่าน “ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่เคยผ่าน Theranos มาแล้ว”

แต่ถึงอย่างนั้น Evans ก็ยังสามารถระดมทุนมาได้หลายล้านดอลลาร์จากเครือข่ายส่วนตัวของเขาเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของคอนเนคชันและอาจจะเป็นเพราะ “กลิ่นเงิน” ที่หอมหวนจากเทคโนโลยีนี้

ความแสบของเรื่องนี้คือ Haemanthus ถึงกับออกแถลงการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า “ใช่ CEO ของเรา Billy Evans เป็นคู่ชีวิตของ Elizabeth Holmes ความสงสัยเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เราจึงต้องสร้างมาตรฐานที่โปร่งใสและสูงกว่าใคร นี่ไม่ใช่ Theranos 2.0”

ทีนี้มาถึงหัวใจของเรื่องที่ทำให้ทุกอย่างน่าติดตาม…เทคโนโลยีเบื้องหลังที่อาจจะเปลี่ยนเกมได้จริงๆ

เทคโนโลยีที่ Haemanthus กำลังพัฒนาอยู่มีชื่อว่า Raman spectroscopy ซึ่งถูกนำมาผสมผสานกับพลังของ AI

เอาแบบเข้าใจง่ายๆ Raman spectroscopy ไม่ใช่ของใหม่ มันเป็นเทคนิคที่นักเคมีใช้กันมาเกือบศตวรรษแล้ว หลักการของมันคือการยิงแสงเลเซอร์ไปที่โมเลกุล และจากการสั่นสะเทือนของโมเลกุลนั้น เราจะสามารถระบุได้ว่ามันคือโมเลกุลอะไร

สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นของ “โครตเจ๋ง” ในยุคนี้ คือการนำข้อมูลการสั่นสะเทือนที่ซับซ้อนมหาศาลนั้น มาให้ AI ที่มีความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ช่วยวิเคราะห์และแยกแยะรูปแบบที่สายตามนุษย์มองไม่เห็น

งานวิจัยล่าสุดจากทั่วโลกเริ่มแสดงให้เห็นถึงความเทพของเทคนิคนี้ นักวิทยาศาสตร์จาก Beihang University และ Capital Medical University ในปักกิ่ง ได้ใช้ Raman spectroscopy คู่กับ AI เพื่อปรับปรุงกระบวนการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าทึ่งมาก

หรือการศึกษาในวารสาร Scientific Reports ที่แสดงให้เห็นว่าเทคนิคนี้สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ด้วยความแม่นยำสูงถึง 94.6% และความจำเพาะ (Specificity) 100% ซึ่งหมายความว่าถ้าผลออกมาว่าไม่เป็น ก็คือไม่เป็นจริงๆ ไม่มีการตรวจมั่วซั่ว

ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาจากจีนอีกชิ้นให้ผลลัพธ์ที่โหดกว่าเดิม ด้วยความแม่นยำ 99.7% ในการตรวจหาเซลล์มะเร็งผิวหนัง และ 97.9% สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย ตัวเลขระดับนี้มันน่าตกใจมาก ๆ

ความเจ๋งของ Raman spectroscopy คือมันสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในระยะเริ่มต้นของการเกิดโรคได้ แม้กระทั่งก่อนที่เซลล์จะเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์เสียอีก

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของ Haemanthus ไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป มันมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้และผลการวิจัยที่หนักแน่นมารองรับ

สิ่งที่ทำให้เรื่องราวครั้งนี้แตกต่างจากมหากาพย์ Theranos ที่เละไม่เป็นท่าในอดีต มีอยู่หลายประการด้วยกัน

ประการแรก และสำคัญที่สุด เทคโนโลยี Raman spectroscopy เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและมีอยู่จริง ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ถูกเสกขึ้นมาจากจินตนาการเหมือนที่ Holmes เคยอ้างในอดีต

ประการที่สอง พลังของ AI ในปี 2025 นั้นก้าวหน้าไปไกลกว่ายุคของ Theranos อย่างเทียบไม่ติด มันสามารถประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนและค้นหารูปแบบที่ลึกซึ้งได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้การวิเคราะห์ผลจากสเปกตรัมมีความแม่นยำสูง

และประการที่สาม พวกเขาเริ่มต้นจากตลาดสัตว์เลี้ยงก่อน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดมากในการลดความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและสร้างความน่าเชื่อถือก่อนที่จะขยับไปสู่ตลาดมนุษย์ที่ใหญ่กว่าและโหดหินกว่ามากโข

แต่มันก็ยังมีอุปสรรคมากมายที่สองสามีภรรยาต้องเจอ

Tyler Shultz อดีตพนักงาน Theranos ผู้กล้าออกมาแฉความจริง ได้เขียนบทความเตือนว่า “ดูเหมือนว่าเธอกำลังจะลองอีกครั้ง” เป็นการส่งสัญญาณว่าอย่าเพิ่งไว้วางใจอะไรง่ายๆ

การเดินทางจากวิทยาศาสตร์ที่ใช้การได้ในห้องแล็บ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์นั้น มันคือการเข็นครกขึ้นภูเขา และเป็นจุดที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพส่วนใหญ่ต้องจบเห่หรือล้มเหลวไม่เป็นท่า

นอกจากนี้ ตัวของ Holmes เองยังถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) สั่งห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัทมหาชนเป็นเวลา 10 ปี แต่กฎนี้ไม่ได้ห้ามเธอจากการช่วยบริหารบริษัทเอกชนอยู่ลับหลัง

การแข่งขันในตลาดนี้ก็กำลังดุเดือด บริษัทอื่นๆ อย่าง Sight Diagnostics จากอิสราเอลก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน และนักวิจัยจาก University of Colorado Boulder ก็เพิ่งประกาศผลการวิจัยใหม่ๆ ออกมา เรียกได้ว่าทุกคนต่างก็ต้องการที่จะเป็นผู้ชนะในสมรภูมินี้

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวของ Haemanthus ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามที่ยากจะตอบ

ถ้าครั้งนี้เทคโนโลยีมันใช้งานได้จริง เราจะแยกแยะนวัตกรรมของแท้ ออกจากการต้มตุ๋นที่อาจจะซ่อนอยู่ได้อย่างไร?

การที่ชื่อของ Elizabeth Holmes ยังคงวนเวียนอยู่ ถึงแม้จะเป็นทางอ้อม มันเป็นรอยร้าวที่ทำให้เราควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหรือไม่?

และคำถามที่สำคัญที่สุด หากเทคโนโลยีนี้ประสบความสำเร็จจริงๆ มันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของการวินิจฉัยโรคในอนาคตอย่างไร?

ตัวของ Holmes เองยังคงยืนยันว่าเธอ “ยังคงมุ่งมั่นกับความฝันในการทำให้โซลูชันการดูแลสุขภาพที่ราคาไม่แพงพร้อมใช้งานสำหรับทุกคน” และเมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวในปี 2032 เธอก็วางแผนที่จะกลับเข้าสู่วงการไบโอเทคอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย

เรื่องราวของ Haemanthus สอนให้เรารู้ว่า ในโลกของนวัตกรรมที่ทุกอย่างพุ่งทะยานไปข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่าง “อัจฉริยะ” กับ “นักต้มตุ๋น” บางครั้งมันก็บางเฉียบจนน่าใจหาย

ความแตกต่างในครั้งนี้คือ…วิทยาศาสตร์อาจจะเดินทางมาไกลพอที่จะรองรับความฝันที่เคยดูบ้าคลั่งของ Holmes ได้แล้ว

แต่คำถามสุดท้ายที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ…แล้วเราจะเชื่อใจมันได้หรือไม่?

สำหรับตอนนี้ เราคงทำได้แค่จับตาดูว่า Haemanthus จะพิสูจน์ตัวเองได้อย่างไร และมีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ขีดชะตาว่านี่คือการกลับมาของฝันร้ายที่ชื่อ Theranos 2.0 หรือจะเป็นรุ่งอรุณแห่งนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ไปตลอดกาล

References: [npr.org, statnews, techcrunch, people, fortune]

AI ฝ่าด่านลับชีวโมเลกุล! เมื่อสองเทคโนโลยีผสานเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมายาวนานของมนุษยชาติ

เรื่องราวสุดเจ๋งตอนหนึ่งจากหนังสือ The Coming Wave: Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma ของ Mustafa Suleyman ที่พูดถึงการมาบรรจบกันระหว่างโลก AI กับเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งรังสรรค์ความก้าวหน้าที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โปรตีนคือองค์ประกอบหลักของชีวิต พวกมันสร้างกล้ามเนื้อ เลือด ฮอร์โมน และแม้แต่เส้นผมของเรา คิดดูว่าประมาณ 75% ของน้ำหนักร่างกายมนุษย์นั้นเป็นโปรตีน มันอยู่ในทุกอณูของชีวิตและทำหน้าที่สำคัญมากมาย

มนุษย์มีความต้องการที่จะเข้าใจโปรตีนมานานแล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือ การรู้แค่ลำดับ DNA เพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะเข้าใจว่าโปรตีนทำงานยังไง เราต้องเข้าใจวิธีการม้วนพับของมัน ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิกที่นักวิทยาศาสตร์พยายามแก้มาหลายทศวรรษ

แต่เดิมเราใช้วิธีคำนวณแบบหาทุกความเป็นไปได้ (brute-force) ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าอายุของเอกภพเสียอีกกว่าจะได้คำตอบ การค้นหาวิธีการม้วนพับโปรตีนจึงเป็นความท้าทายระดับโหด นักวิทยาศาสตร์พยายามหาวิธีที่ดีกว่าเดิมมานานหลายสิบปี

ปี 1993 พวกเขาจัดการแข่งขันชื่อ Critical Assessment for Structure Prediction (CASP) ปีละสองครั้ง เพื่อดูว่าใครสามารถแก้ปัญหาการม้วนพับของโปรตีนได้ดีที่สุด CASP กลายเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกวิทยาศาสตร์

เหตุการณ์พลิกผันเกิดขึ้นที่การแข่งขัน CASP13 ปี 2018 จัดที่รีสอร์ตในแคนคูน ประเทศเม็กซิโก มีทีมม้ามืดเข้าร่วมแข่งขันโดยไม่มีประสบการณ์ในวงการนี้เลย กลับสามารถเอาชนะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจาก 98 ทีมทั่วโลกไปได้อย่างสบายๆ

ทีมม้ามืดนั้นคือ DeepMind ที่นำเสนอโปรเจกต์ลับชื่อ AlphaFold ซึ่งเริ่มต้นจากการแฮ็กกาธอนภายในบริษัทเพียงหนึ่งสัปดาห์เมื่อปี 2016 ผลงานของพวกเขาทำให้นักวิจัยทั่วโลกอ้าปากค้าง มันเป็นการผสานความเทพของ AI กับชีววิทยาได้อย่างลงตัว

ทีมอันดับสองในการแข่งขันทำนายโครงสร้างโปรตีนได้เพียง 3 โครงสร้างจาก 43 เป้าหมายที่ยากที่สุด แต่ AlphaFold ทำได้ถึง 25 โครงสร้าง และที่เทพสุด ๆ คือทำเสร็จในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ฉีกคู่แข่งแบบเละเทะ

ในห้องเต็มไปด้วยอัจฉริยะด้านชีววิทยาจากทั่วโลก ผลงานของ AlphaFold ทำให้ทุกคนตะลึงและเห็นศักยภาพที่แท้จริงของ AI Mohammed AlQuraishi นักวิจัยชื่อดังถึงกับอุทานออกมาว่า “มันเกิดอะไรขึ้น!!!”

ทีมงาน DeepMind ใช้เทคนิค Neural Network เพื่อทำนายการพับตัวของโปรตีนตาม DNA ของมัน โดยฝึกฝนกับชุดโปรตีนที่รู้จัก และแทบไม่ใช้วิธีการดั้งเดิมที่นักวิจัยรุ่นก่อนทำกันมา

พวกเขาไม่ได้อาศัยความเชี่ยวชาญทางเภสัชกรรม หรือเทคนิคเก่าๆ เช่น กล้องจุลทรรศน์ไครโออิเล็กตรอน หรืออัลกอริธึมแบบดั้งเดิม แต่พวกเขาใช้ความชำนาญด้าน Machine Learning ที่เป็นหัวใจของ AI มาผสานกับชีววิทยาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สองปีต่อมา วารสาร Scientific American พาดหัวข่าวใหญ่ว่า “ในที่สุดปัญหาใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในชีววิทยาก็ได้รับการแก้ไขแล้ว” จักรวาลโปรตีนที่เคยซ่อนเร้นถูกเปิดเผยด้วยความเร็วที่น่าตกใจ AlphaFold ทำให้เทคโนโลยีโบราณก่อนหน้านี้ถูกทำลายทิ้งจนแทบไร้ค่า

กว่าครึ่งศตวรรษที่การม้วนพับโปรตีนเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ และทันใดนั้น มันก็ถูกพิชิตโดย AlphaFold ความก้าวหน้านี้พุ่งทะยานเกินกว่าที่ใครจะคาดถึง

ปี 2022 AlphaFold2 เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานได้ มันเป็นเครื่องมือ Machine Learning ที่โครตเทพที่สุดในโลกซึ่งถูกใช้ทั้งในการวิจัยชีววิทยาขั้นพื้นฐานและประยุกต์ ภายในสิบแปดเดือนหลังเปิดตัว นักวิจัยกว่าหนึ่งล้านคนที่เคยงมเข็มในมหาสมุทรโปรตีนสามารถเข้าถึงเครื่องมือนี้ได้

เครื่องมือดังกล่าวสามารถตอบคำถามตั้งแต่การดื้อยาปฏิชีวนะไปจนถึงการรักษาโรคที่หายาก หรือแม้กระทั่งคำถามเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต มันเปิดประตูสู่มุมมองใหม่ ๆ ของชีววิทยาที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อน

ก่อนหน้านี้ การทดลองยุคก่อนหน้าสามารถส่งโครงสร้างโปรตีนได้แค่ประมาณ 190,000 ชนิดไปยังฐานข้อมูลของสถาบันชีวสารสนเทศยุโรป ซึ่งเป็นเพียง 0.1% ของโปรตีนที่มีอยู่ทั้งหมด แต่ DeepMind สามารถอัปโหลดโครงสร้างโปรตีนประมาณ 200 ล้านโครงสร้างในครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมโปรตีนที่รู้จักเกือบทั้งหมด

ขณะที่นักวิจัยอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนเพื่อตรวจสอบรูปร่างและหน้าที่ของโปรตีน แต่ AlphaFold ทำได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที นี่คือความเจ๋งที่แท้จริงของการรวมพลังระหว่างเทคโนโลยีทั้งสอง

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการบรรจบกันระหว่าง AI และเทคโนโลยีชีวภาพ การปฏิวัติทางชีววิทยากำลังพัฒนาควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของ AI ราวกับมีเวทมนตร์ เราจะได้เห็นการแก้ปัญหาอีกมากมายที่เคยถือว่าเป็นไปไม่ได้

โดยเฉพาะการรักษาโรคที่ยากต่อการเยียวยา เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ หรืออีกหลากหลายโรคที่คร่าชีวิตคนที่เรารัก AI จะช่วยขีดชะตาชีวิตของมนุษยชาติขึ้นมาใหม่ และมีความเป็นไปได้สูงว่าโรคเหล่านี้จะจบลงในรุ่นของเรา

AlphaFold เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการถอดรหัสธรรมชาติด้วยปัญญาประดิษฐ์ แสดงให้เห็นว่าเมื่อนำเทคโนโลยีที่แตกต่างกันมาผสานกัน จะเกิดพลังที่ยิ่งใหญ่เกินคาด เป็นการพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์แบบสิ้นเชิง

ความสำเร็จของ AlphaFold ไม่ใช่แค่ชัยชนะของทีม DeepMind แต่เป็นชัยชนะของมนุษยชาติทั้งมวล เพราะความรู้เกี่ยวกับโปรตีนจะนำไปสู่การพัฒนายา วัคซีน และการรักษาโรคแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อเทคโนโลยี AI มาบรรจบกับชีววิทยา ฟ้าลิขิตให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด ปัญหาที่เคยใช้เวลาแก้เป็นศตวรรษอาจถูกแก้ได้ภายในไม่กี่วัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะจินตนาการได้

ด้วยพลังของ AlphaFold และเทคโนโลยี AI อื่นๆ ที่กำลังถูกพัฒนา โลกของการวิจัยทางชีววิทยาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การก่อกำเนิดของความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และความเป็นไปได้จะไร้ขอบเขต

เราอยู่ในยุคทองของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ที่ AI และเทคโนโลยีชีวภาพร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ซับซ้อนที่สุดของมนุษยชาติ นี่คือจุดพีคของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ที่จะเปลี่ยนโลกของเราไปตลอดกาล

จากเศรษฐี PayPal สู่หนูทดลองมนุษย์ Project Blueprint ปฏิบัติการพิชิตความตายของ Bryan Johnson

นี่คือเรื่องของผู้ชายที่มีความฝันที่จะเอาชนะความตาย Bryan Johnson ผู้ก่อตั้ง Braintree และ Kernel ที่ลุกขึ้นมาท้าทายชะตาชีวิตของมนุษย์ เขาทุ่มเงินทุนมหาศาลเพื่อรังสรรค์โครงการที่ชื่อว่า Project Blueprint

มันเจ๋งแค่ไหนที่มีคนกล้าลงทุนปีละเกือบ 2 ล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหนีไม่พ้น? และนี่คือเรื่องราวของมหาเศรษฐีที่ไม่ยอมแก่!

คุณเคยจินตนาการไหมว่าจะเป็นยังไงถ้าอายุขัยของคุณยืนยาวเกินกว่า 100 ปี? Johnson ไม่ได้แค่คิด แต่เขาลงมือทำจริงๆ

Johnson เติบโตมาในครอบครัวมอรมอนที่มีแนวทางเคร่งครัด ชีวิตของเขาถูกกำหนดโดย Church of Jesus Christ of Latter-day Saints ตั้งแต่เล็กจนโต

การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เข้มงวดปลูกฝังวินัยเหล็กในตัวเขา บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลที่เขาสามารถทำตามตารางประจำวันสุดโหดเหี้ยมได้โดยไม่บ่น

แต่ภายในใจของเด็กหนุ่มคนนี้มีคำถามมากมายที่รุมเร้า เขาเริ่มตะหงิดใจกับหลักความเชื่อที่ถูกยัดเยียดมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ต้องเก็บง้ำความสงสัยไว้กับตัว

จุดพีคของชีวิต Johnson เริ่มต้นเมื่อเขามองเห็นรูปแบบธุรกิจของ PayPal และอยากสร้างบางอย่างที่เจ๋งไม่แพ้กัน ประสบการณ์ในการขายได้เปิดทางให้เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจที่คนอื่นมองข้าม

เขาเลยก่อตั้ง Braintree ขึ้นมาแบบไม่มีทุนสนับสนุนจากภายนอก และเป็นเรื่องที่โครตเทพมาก ๆ ที่บริษัทนี้พุ่งทะยานติดอันดับธุรกิจเติบโตเร็วที่สุดในอเมริกาถึงสองครั้ง!

Braintree เป็นเริ่มเป็นที่จับตามองเมื่อเข้าซื้อกิจการ Venmo ในปีที่ห้าของการดำเนินงาน แล้วก็ถูก PayPal ซึ่งตอนนั้นเป็นของ eBay ซื้อไปในปี 2013

เงินจากการขายกิจการทำให้ Johnson มีเงินทุนมากโขเพื่อไล่ตามความฝันที่ใหญ่กว่าเดิม และเงินจำนวนนี้นี่เองที่ทำให้เขามีอิสระที่จะตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่เคยเชื่อ

การเดินทางรอบโลกเปิดตาเขาให้เห็นว่า สิ่งที่เขาถูกสอนมาอาจไม่ใช่ความจริงแท้ การต่อสู้ภายในจิตใจนำไปสู่การละทิ้งศาสนามอรมอน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่เขาจะเริ่มต้น Project Blueprint โครงการที่จะกลายเป็นจุดหมายใหม่ของชีวิต

Project Blueprint ไม่ใช่แค่โครงการทดลองทั่วไป มันคือความพยายามระดับสูงสุดที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของมนุษย์เกี่ยวกับความแก่และความตาย

Johnson มองร่างกายเหมือนเครื่องจักรที่ซับซ้อน ถ้าเข้าใจกลไกให้ลึกซึ้ง ก็สามารถซ่อมแซมและยืดอายุการใช้งานได้ไม่ต่างกัน

กิจวัตรประจำวันของเขาถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน เขาเข้านอนเวลา 20:30 น. และตื่นเวลา 4:30 น. ทุกวันโดยไม่มีข้อยกเว้น

แค่นี้ยังไม่พอ ตื่นมาปุ๊บเขาเปิดไฟพิเศษในห้องน้ำที่จำลองแสงธรรมชาติ กินยาสามเม็ด วัดอุณหภูมิร่างกาย แล้วทำการบำบัด HRV กระตุ้นประสาท

ที่เจ๋งสุดๆ คือวิธีตัดสินใจของเขา แทนที่จะฟังสมองอย่างเดียว เขาบอกว่าเขาฟัง “เสียง” จากทุกอวัยวะในร่างกาย

Johnson อ้างว่าวัด “ความเร็วในการแก่” ของตัวเองได้ ในสารคดี Netflix เรื่อง “Don’t Die: The Man Who Wants to Live Forever” เขาเผยว่ามีค่า 0.69

แปลง่ายๆ คือ ทุก 12 เดือนตามปฏิทิน ร่างกายเขาแก่ขึ้นแค่ 8 เดือนเท่านั้น! และล่าสุดลดลงเหลือ 0.64 ในเดือนพฤศจิกายน 2024

การวัดนี้ใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเป็นร้อยตัว รวมถึงความยาวของเทโลเมียร์ (ส่วนปลายของโครโมโซมที่สั้นลงเมื่อเซลล์แบ่งตัว) และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม

วิธีการของ Johnson สร้างเสียงฮือฮากระฉ่อนในวงการวิทยาศาสตร์ บางคนยกย่องเขาเป็นผู้บุกเบิก ขณะที่คนอื่นส่ายหัวกับความมั่วซั่วของเขา

หนึ่งในการทดลองสุดพิลึกคือการใช้ยา rapamycin ซึ่งปกติใช้กดภูมิคุ้มกันในการปลูกถ่ายอวัยวะ

Dr. Andrew Steele นักวิทยาศาสตร์ และนักเขียนชื่อดัง อธิบายว่า ยานี้ช่วยยืดอายุหนูทดลองได้ถึง 14% ในตัวผู้และ 9% ในตัวเมีย แต่ผลในมนุษย์ยังไม่ชัดเจนและอาจเสี่ยงอันตราย

แต่ที่สร้างความฉาวโฉ่สุดๆ คือการแลกเปลี่ยนพลาสมากับ Talmage ลูกชายของเขา! ไอเดียนี้มาจากการทดลองถ่ายเลือดจากหนูอายุน้อยไปยังหนูแก่

ไม่หยุดแค่นั้น Johnson ยังรวมพ่อของเขาเข้ามาในการทดลองด้วย โดยให้พลาสมาของตัวเองกับพ่อ ทำเอาวงการแพทย์ต้องตกตะลึง

หลายคนอาจคิดว่า Johnson เป็นอัจฉริยะ แต่วงการแพทย์กลับมองต่าง Dr. Vadim Gladyshev และ Dr. Andrew Steele วิจารณ์แบบจัดหนัก

พวกเขาบอกว่าการทดลองหลายอย่างพร้อมกันทำให้ไม่รู้ว่าอะไรได้ผลจริง Steele เล่าว่า Johnson บล็อกเขาบน Twitter หลังแนะนำให้สนับสนุนการทดลองที่เป็นระบบบ้าง บางทีมหาเศรษฐีอาจรับคำวิจารณ์ไม่ค่อยเก่ง

Gladyshev ถึงกับพูดแสบๆ ว่าความพยายามของ Johnson “แทบไม่มีส่วนช่วยให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า”

หนึ่งในการทดลองสุดล้ำของ Johnson เกี่ยวข้องกับ Minicircle บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Próspera บนเกาะ Roatán ประเทศฮอนดูรัส

การเลือกทำในเขตพิเศษแสดงให้เห็นว่า การทดลองแบบนี้ในประเทศพัฒนาแล้วอาจล้ำเส้นกฎหมายได้ง่ายๆ

บริษัทนี้อ้างว่าเทคโนโลยีของพวกเขาไม่ได้รวมเข้ากับ DNA และมีสวิตช์หยุดการทำงานได้ ฟังดูเหมือนเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เพราะสามารถทางถอยกลับได้หากมันไม่ work

ความขัดแย้งของ Johnson ไม่ได้มีแค่ในวงการวิทยาศาสตร์ ชีวิตรักของเขาก็มีเรื่องให้ซุบซิบไม่แพ้กัน

เขาถูกกล่าวหาว่าทิ้งคู่หมั้น Taryn Southern หลังจากที่เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านม เรื่องนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาดูแย่ลงไปไม่น้อย

ทั้งคู่เริ่มต้นความสัมพันธ์ในปี 2016 ด้วยความฝันที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน แต่ตามคดีความในเดือนตุลาคม 2021 กลับลงเอยแบบแตกหัก

Southern อ้างว่า Johnson ควบคุมให้เธออุทิศตนให้กับเป้าหมายของเขา และเมื่อเธอต้องการความช่วยเหลือที่สุด เขากลับแทงข้างหลังเธอ

เรื่องราวของ Bryan Johnson แสดงให้เห็นถึงความสุดโต่งของความพยายามเอาชนะธรรมชาติ จากเด็กในครอบครัวมอรมอนสู่นักทดลองผู้ท้าทายความแก่ชรา

แม้จะถูกวิจารณ์ แต่ความมุ่งมั่นของเขาก็จุดประกายการถกเถียงเรื่องขอบเขตการแทรกแซงกระบวนการธรรมชาติ

ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เรื่องราวของเขาตั้งคำถามลึกซึ้งเกี่ยวกับความหมายของชีวิตและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

บางทีคำถามสำคัญอาจไม่ใช่ว่าเราจะมีชีวิตยืนยาวได้แค่ไหน แต่เป็นว่าเราจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็น 80 ปี หรือ 180 ปีก็ตาม

Testosterone กับพฤติกรรมเด็ก : เคล็ดลับเข้าใจธรรมชาติลูกชาย จากมุมมองวิทยาศาสตร์

ต้องบอกว่าร่างกายมนุษย์เรามีสารเคมีตัวหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด สารนี้แทรกซึมเข้าสู่เซลล์เกือบทุกเซลล์ในร่างกาย รวมถึงเซลล์ประสาท และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการมีชีวิตรอด การเติบโต และการทำงานของเซลล์เหล่านั้น

ผลกระทบของมันไม่เพียงแต่ส่งผลต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลลึกซึ้งและยาวนานต่อสมองและพฤติกรรมด้วย สารเคมีที่ว่านี้คือ Testosterone หรือฮอร์โมนเพศชาย แม้ทั้งชายและหญิงจะมีฮอร์โมนนี้ แต่ในเพศชายมีมากกว่าถึง 15-20 เท่า

เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจอีกครั้งจากเวที Ted Talks โดย Carole K. Hooven นักชีววิทยา ที่ได้มาเล่าถึงผลกระทบของฮอร์โมน Testosterone ต่อร่างกายและสมองของมนุษย์เรา

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาด้าน Behavioral Endocrinology ได้เผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนและพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Testosterone ที่สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศได้อย่างน่าทึ่ง อย่างไรก็ตาม ศาสตร์แขนงนี้กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางวัฒนธรรมยุคใหม่

ในปัจจุบัน แม้แต่การพูดถึงสิ่งที่นักชีววิทยาส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นความจริงที่ชัดเจน เช่น การมีสองเพศในการสืบพันธุ์ ก็อาจนำไปสู่การโต้แย้งได้ เนื่องจากความอ่อนไหวของประเด็นนี้ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อาจรู้สึกเจ็บปวดจากการใช้ภาษาเกี่ยวกับชีววิทยาของเพศ

อย่างไรก็ตามการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องเพศกลับได้รับความสนใจอย่างมากจากนักศึกษา เพราะช่วยให้พวกเขาเข้าใจร่างกายและความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น รวมถึงเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง

ประสบการณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจของ Carole เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน เมื่อเธอได้มีส่วนในการสร้างอวัยวะเล็กๆ สองอันที่ผลิต Testosterone ในมดลูก ซึ่งเชื่อมต่อกับทารกที่กำลังเติบโต ปัจจุบันทารกคนนั้นได้เติบโตเป็นเด็กชายที่มีพฤติกรรมการเล่นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเล่นปล้ำสู้กับเพื่อน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงทั่วโลก

การศึกษาพบว่า Testosterone มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ช่วงแรกของการพัฒนาในครรภ์ โดยทำหน้าที่กำหนดลักษณะทางเพศชาย เตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตอสุจิในอนาคต และที่สำคัญคือการทำงานในสมองเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมต่างๆ เช่น การเล่นต่อสู้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศผู้

ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของ Testosterone ของ Carole มีความลึกซึ้งขึ้นหลังจากการศึกษาชิมแปนซีป่าในยูกันดาตะวันตกเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี การสังเกตพฤติกรรมประจำวันของพวกมัน ทั้งการกิน เล่น นอน ต่อสู้ และสืบพันธุ์ แสดงให้เห็นรูปแบบพฤติกรรมที่มนุษย์และชิมแปนซีมีร่วมกันอย่างน่าทึ่ง

ที่น่าสนใจคือ ลูกชิมแปนซีตัวผู้มีพฤติกรรมการเล่นต่อสู้มากกว่าตัวเมีย ความเชื่อมโยงนี้น่าทึ่งเพราะแม้เราไม่ได้มีวัฒนธรรมร่วมกับชิมแปนซี แต่เรามียีนและฮอร์โมนเกือบทั้งหมดร่วมกัน รวมถึงระดับ Testosterone ที่สูงกว่าในเพศผู้

นอกจากนี้ ยังพบว่าชิมแปนซีตัวผู้ทุ่มเทเวลาและพลังงานในการแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำทางสังคมมากกว่าตัวเมีย พฤติกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้และการข่มขู่ รวมถึงสัญชาตญาณในการเลือกเวลาที่เหมาะสมในการท้าทายหรือถอยหนีจากการปะทะ

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจว่าจะนำไปสู่โอกาสในการสืบพันธุ์ที่มากขึ้น แต่ตัวผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้มักประสบความสำเร็จในการส่งต่อยีนไปสู่รุ่นต่อไปมากกว่า และลูกชายของพวกมันก็จะสืบทอดแนวโน้มพฤติกรรมเหล่านี้ต่อไป ในมุมมองของวิวัฒนาการการมีชีวิตรอดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ส่งต่อยีนจึงเป็นทางตันทางวิวัฒนาการ

สัตว์วัยเยาว์อย่างชิมแปนซีต้องเรียนรู้ทั้งทักษะการอยู่รอดและทักษะการสืบพันธุ์ผ่านการเล่น เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของมนุษย์ และมรดกทางวิวัฒนาการนี้ยังคงปรากฏให้เห็นในพฤติกรรมของเด็กๆ ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเด็กชายทุกคนต้องชอบเล่นปล้ำกับเพื่อน บางคนอาจชอบเล่นสร้างบ้านหรืออาจจะชอบแต่งตัวมากกว่า และพวกเขาควรได้รับอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ชื่นชอบ ธรรมชาติไม่ได้กำหนดกฎตายตัวว่าแต่ละเพศควรเล่นอย่างไร

Carole เล่าประสบการณ์วัยเด็กของตนเองที่เคยเล่นปล้ำกับพี่ชายทั้งสามคนและเล่น Little League baseball แต่เมื่อเล่นกับ Annie ที่เป็นเพื่อนสนิทผู้หญิง กิจกรรมจะแตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเล่นเป็นครูสอนตุ๊กตาสัตว์ และที่แปลกไปกว่านั้นคือการเล่นสมมติเป็นพนักงานออฟฟิศ พัฒนาระบบจัดเก็บเอกสาร และใช้เวลามากมายในการกรอกแบบฟอร์มจากจดหมายขยะที่หยิบมาจากตู้จดหมายในละแวกบ้าน

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า รายละเอียดของการเล่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเสมอ แต่การเล่นโดยทั่วไปมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับทั้งสองเพศ เช่น การแก้ไขความขัดแย้ง และการค้นพบขีดความสามารถของตนเอง

ความแตกต่างในรูปแบบการเล่น โดยเฉพาะการที่เด็กหญิงมักชอบเล่นแบบดูแลเอาใจใส่กันมากกว่า ในขณะที่เด็กชายชอบเล่นต่อสู้มากกว่า อาจเป็นผลมาจากวิวัฒนาการที่หล่อหลอมทักษะจำเพาะที่แต่ละเพศจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อการสืบพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า Testosterone มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพฤติกรรมเหล่านี้

หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดมาจากการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยพบว่าในสัตว์เพศเมีย เช่น หนูและลิง การเพิ่ม Testosterone ในช่วงพัฒนาการแรกเริ่มส่งผลให้การเล่นแบบรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันการยับยั้ง Testosterone ในสัตว์เพศผู้ในช่วงเวลาเดียวกันทำให้พฤติกรรมการเล่นแบบรุนแรงลดลงอย่างชัดเจน

ในมนุษย์ เนื่องจากไม่สามารถทดลองปรับเปลี่ยนระดับฮอร์โมนในทารกที่อยู่ในครรภ์ได้ จึงต้องอาศัยหลักฐานทางอ้อม การศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นของเด็กผู้หญิงที่ได้รับ Testosterone ในระดับสูงผิดปกติระหว่างอยู่ในครรภ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กผู้หญิงเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะชอบการเล่นแบบรุนแรงมากขึ้น

แม้ว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีน ฮอร์โมน และวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อความแตกต่างทางเพศในพฤติกรรม แต่หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างของระดับ Testosterone และแรงกดดันทางวิวัฒนาการเป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายว่าทำไมเด็กชายจึงมีแนวโน้มที่จะชอบการเล่นปล้ำกับเพื่อนมากกว่าเด็กหญิง

การทดลองในหนูทดลองแสดงให้เห็นว่า การห้ามไม่ให้หนูตัวผู้เล่นแบบรุนแรงตามธรรมชาติ กลับนำไปสู่การพัฒนาเป็นหนูตัวผู้โตเต็มวัยที่ไม่สามารถจัดการกับแรงกระตุ้นที่ก้าวร้าวของตัวเองได้ พวกมันกลับมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ไม่สามารถร่วมมือกับตัวอื่น ตอบสนองต่อสัญญาณทางสังคมได้ไม่เหมาะสม และมีปัญหาในการหาคู่

แม้ว่ามนุษย์จะแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ แต่สิ่งที่เราพิเศษกว่าคือความสามารถในการคิดไตร่ตรอง พูดคุย และร่วมกันตัดสินใจว่าจะควบคุมแรงกระตุ้นที่อาจเป็นอันตรายได้อย่างไร

วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความแตกต่างเหล่านี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความแตกต่างของระดับความรุนแรงระหว่างผู้ชายในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เกิดจากความแตกต่างทางชีววิทยา แต่เป็นผลมาจากปัจจัยทางวัฒนธรรม กฎหมาย ระบบสาธารณสุข และความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การละทิ้งหรือบิดเบือนความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเพศออกจากการสนทนาในสังคม อาจทำให้เราสูญเสียโอกาสในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น วิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการเล่นแบบเพศชายไม่ใช่จุดเริ่มต้นของ “ความรุนแรงของเพศชาย” แต่เป็นพฤติกรรมที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการที่เราไม่ควรยับยั้ง

การมี Testosterone ในระดับที่เหมาะสมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมให้เด็กชายเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าในช่วงวัยรุ่น Testosterone จะพุ่งสูงถึงจุดสูงสุด แต่หากได้รับการดูแลและเข้าใจอย่างเหมาะสม เด็กชายก็สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้

ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เล่นและมีปฏิสัมพันธ์ในโลกจริงมากกว่าโลกเสมือน โดยเฉพาะการเล่นกลางแจ้งที่ช่วยพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์เรื่องเพศจะช่วยให้เราสามารถสนับสนุนพัฒนาการของเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

References :
How Testosterone and Culture Shape Behavior | Carole K. Hooven | TED
https://youtu.be/HYnZy2Cx7UM?si=vuaqF3dRPUBpbSIB

เลิกภูมิใจกับการนอนน้อย! เมื่อการนอนหลับคือยาอายุวัฒนะที่ดีที่สุดในโลกที่ธรรมชาติให้มาฟรีๆ

ในยุคที่มนุษย์ต้องแข่งขันกับเวลา การนอนหลับมักถูกมองข้ามและถูกลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ หลายคนอาจคิดว่าการนอนน้อยเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด

เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจจากเวที Ted Talks ในหัวข้อ Sleep Is Your Superpower โดย Matt Walker นักวิทยาศาสตร์ด้านการนอนหลับ ที่มาเปิดเผยเรื่องราวว่าการนอนหลับคือระบบช่วยให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวได้

Walker ได้ขึ้นเวทีเพื่อแบ่งปันข้อดีที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีการนอนหลับที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสมองและร่างกายของเรา รวมถึงผลกระทบของการนอนหลับต่อการเรียนรู้ ความจำ ระบบภูมิคุ้มกัน และแม้แต่รหัสพันธุกรรมของเรา รวมถึงเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ในการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ผลกระทบของการนอนน้อยต่อร่างกาย

ระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมน

งานวิจัยพบว่าผู้ชายที่นอนเพียง 5 ชั่วโมงต่อคืนมีขนาดอัณฑะเล็กกว่าคนที่นอน 7 ชั่วโมงขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ชายที่นอนเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำจะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเทียบเท่ากับคนที่แก่กว่าตัวเอง 10 ปี นั่นหมายความว่าการอดนอนทำให้ร่างกายแก่เร็วขึ้นถึง 10 ปีในแง่ของการทำงานของระบบฮอร์โมน และยังพบความบกพร่องในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงในลักษณะเดียวกัน

สมองและความจำ

การนอนหลับมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และความจำ การศึกษาพบว่าสมองต้องการการนอนหลับทั้งก่อนและหลังการเรียนรู้:

  • ก่อนการเรียนรู้: การนอนหลับช่วยเตรียมสมองให้พร้อมรับข้อมูลใหม่ เปรียบเสมือนฟองน้ำแห้งที่พร้อมซึมซับความรู้
  • หลังการเรียนรู้: การนอนหลับที่ดีทำให้สมองสามารถบันทึกความทรงจำใหม่ให้คงอยู่ได้ยาวนานขึ้น

การทดลองเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้นอนเต็มที่ 8 ชั่วโมงกับกลุ่มที่อดนอนทั้งคืน พบว่ากลุ่มที่อดนอนมีความสามารถในการสร้างความทรงจำใหม่ลดลงถึง 40% ซึ่งในบริบทของการศึกษาอาจเทียบได้กับความแตกต่างระหว่างการสอบได้คะแนนดีเยี่ยมกับการสอบตก

ระบบภูมิคุ้มกัน

Natural Killer Cells ทำหน้าที่เสมือนหน่วยรักษาความปลอดภัยของระบบภูมิคุ้มกัน คอยกำจัดเซลล์ที่เป็นอันตรายรวมถึงเซลล์มะเร็ง การทดลองพบว่าแม้แต่การนอนเพียง 4 ชั่วโมงในคืนเดียว สามารถลดประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เหล่านี้ลงถึง 70% ซึ่งเป็นการบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันที่น่าตกใจ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับจัดให้การทำงานกะกลางคืนเป็นสารก่อมะเร็งที่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากการรบกวนจังหวะการนอน-ตื่นส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และพบความเชื่อมโยงกับมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม

ผลกระทบต่อรหัสพันธุกรรม

การศึกษาในผู้ใหญ่สุขภาพดีที่ถูกจำกัดการนอนให้เหลือ 6 ชั่วโมงต่อคืนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจ:

  1. มียีน 711 ตัวที่ทำงานผิดปกติ
  2. ครึ่งหนึ่งของยีนที่ได้รับผลกระทบมีการทำงานลดลง โดยเฉพาะยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
  3. อีกครึ่งหนึ่งมีการทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยีนที่เกี่ยวข้องกับ:
  • การส่งเสริมการเกิดเนื้องอก
  • การอักเสบเรื้อรัง
  • ความเครียดและโรคหัวใจและหลอดเลือด

คำแนะนำสำหรับการนอนที่ดี

เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการนอน ควรปฏิบัติดังนี้:

1.รักษาความสม่ำเสมอ

  • เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน แม้ในวันหยุด
  • ความสม่ำเสมอจะช่วยปรับปรุงทั้งปริมาณและคุณภาพการนอน

2. ควบคุมอุณหภูมิห้องนอน

  • รักษาอุณหภูมิห้องที่ประมาณ 17-25 องศาเซลเซียส
  • ร่างกายต้องลดอุณหภูมิแกนกลางลง 2-3 องศาเซลเซียสเพื่อเริ่มและรักษาการนอนหลับ

3. หลีกเลี่ยงปัจจัยรบกวน

  • งดแอลกอฮอล์และคาเฟอีนก่อนนอน
  • หากมีปัญหานอนไม่หลับตอนกลางคืน ให้หลีกเลี่ยงการงีบหลับกลางวัน

4. เมื่อนอนไม่หลับ

  • หากนอนไม่หลับนานเกิน 20 นาที ให้ลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมเบาๆ ในห้องอื่น
  • กลับมาที่เตียงเมื่อรู้สึกง่วงเท่านั้น
  • วิธีนี้จะช่วยให้สมองเชื่อมโยงเตียงกับการนอนหลับ ไม่ใช่กับความกังวลจากการนอนไม่หลับ

บทสรุป

การนอนหลับไม่ใช่ทางเลือกในการใช้ชีวิต แต่เป็นความจำเป็นทางชีวภาพที่ไม่สามารถต่อรองได้ เป็นระบบสนับสนุนชีวิตที่ธรรมชาติมอบให้ การละเลยความสำคัญของการนอนหลับส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ

ในปัจจุบัน การอดนอนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การนอนหลับไม่เพียงพอเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 45% ทั่วโลก

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเรียกร้องสิทธิในการนอนหลับเต็มคืนของเรากลับคืนมา โดยไม่ต้องไปรู้สึกผิดหรือกลัวคนอื่นจะมองว่าเราเป็นคนขี้เกียจ เพราะการนอนหลับที่เพียงพอคือยาอายุวัฒนะที่ทรงพลังที่สุดที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์นั่นเองครับผม

References :
Sleep Is Your Superpower | Matt Walker | TED
https://youtu.be/5MuIMqhT8DM?si=4s-VISWdwAF6lKLh