PayPal Wars ตอนที่ 11 : Sell Out

JULY–OCTOBER 2002

ข่าวลือต่าง ๆ ได้หลุดออกไปอย่างรวดเร็วในเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ebay และ PayPal มันเป็นการเจรจาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ ระหว่างบริษัททั้งสองที่ไม่คิดจะสู้กันอีกต่อไป การควบรวมกิจการนั้นดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่าย

‘ebay ทุ่มซื้อ PayPal มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญ’ กลายเป็นข่าวใหญ่ของสื่อในช่วงเวลานั้น โดยเนื้อหานั้นกล่าวถึงการที่ ebay จะเปิดบริการ Billpoint ลง และให้ PayPal กลายเป็นบริการหลักของ ebay แทน

และเป็น Thiel ที่แอบไปเจรจา จน Deal นี้สำเร็จเสียที เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน เป็นการแข่งขันในเกมธุรกิจที่เรียกได้ว่าสนุกที่สุดครั้งในประวัติศาสตร์ของบริษัทในอเมริกา แต่ถึงบัดนี้ ทั้งสองก็ได้จูบปากกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Thiel ได้ทำการนัดพนักงานเข้ามาเพื่อชี้แจ้งเรื่องดังกล่าว โดยกล่าวในรายละเอียดที่เกิดขึ้น ที่ได้สรุปข้อตกลงขายบริษัท PayPal ให้กับ ebay โดยจะเป็นการแลกเปลี่ยนหุ้นทั้งหมด ในสัดส่วน 0.39 หุ้นของ ebay สำหรับ PayPal ในทุก ๆ หุ้น

ซึ่งแน่นอนว่า อาจจะต้องใช้เวลาหกเดือน กว่าที่รายละเอียดของ Deal ทั้งหมดจะเสร็จสิ้น และในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ทั้งสองบริษัทจะแยกทำงานกัน โดยหลังจากทำการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ PayPal จะยังคงเป็นหน่วยงานอิสระ ภายใน ebay และทีมผู้บริหารปัจจุบันก็จะยังคงอยู่ทำงานต่อไป

เหล่าพนักงาน PayPal ฉลองชัย ที่สงครามสิ้นสุด เสียที
เหล่าพนักงาน PayPal ฉลองชัย ที่สงครามสิ้นสุด เสียที

และคำพูดสุดท้าย ที่ทำให้เหล่าพนักงานต่างส่งเสียงปรบมือกันเกรียวกราว ก็คือ “เมื่อการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ Billpoint จะถูกปิดตัวลง และ PayPal จะถูกรวมเข้ากับเว๊บไซต์ ebay” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการยุติสงครามที่มีความยืดเยื้อมาอย่างยาวนานนั่นเอง

และสิ่งสำคัญในการควบรวมครั้งนี้ก็คือ Thiel ต้องการประกาศให้เหล่าพนักงานของเขาได้รับรู้ว่า PayPal จะกลายเป็นสกุลเงินสำหรับอินเทอร์เน็ต ตามความฝันที่เค้าได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มสร้าง PayPal ใหม่ ๆ และด้วยจำนวนผู้ใช้งานในระบบ ebay ในขณะนั้นกว่า 46 ล้านคน มันกลายเป็นพื้นที่ ที่เหลือเฟือสำหรับการเติบโตในอนาคตของ PayPal

และที่สำคัญการต่อสู้ในครั้งนี้ของ PayPal มันยังได้แสดงให้เห็นอีกอย่างนึงว่า PayPal บริษัท startup เล็ก ๆ ที่แจ้งเกิดได้เพียงไม่เกิน 3 ปีนั้น แต่พวกเขาสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง ebay และกลายเป็นผู้ชนะตัวจริงในศึกปฏิวัติวงการชำระเงินออนไลน์ของโลกในครั้งนี้นั่นเองครับ

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ PayPal Wars จาก Blog Series ชุดนี้

ก็ต้องบอกว่าการเกิดขึ้นของ PayPal นั้นเป็นอีกหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด ของวงการเทคโนโลยีโดยเฉพาะเหล่า Startup ใน อเมริกาเลยก็ว่าได้ เพราะผลผลิตจากกลุ่ม PayPal ที่ถูกกล่าวขานกันว่า PayPal Mafia นั้นได้กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่คอยขับเคลื่อน Silicon Valley ในยุคต่อมาอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน

บริการอย่าง Facebook ก็ได้รับเงินทุนตั้งต้นครั้งแรกจาก Peter Thiel ที่เป็นอดีต CEO ผู้พา PayPal เอาชนะ Billpoint ของ ebay ได้สำเร็จนั่นเอง และหลาย ๆ คนของเหล่าพนักงานหัวกะทิของ PayPal ก็ได้กลายมาเป็นนักลงทุนทางด้านเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการสร้างบริการใหม่ ๆ ขึ้นมาเอง ตัวอย่างเช่น Linkedin ของ Reid Hoffman หรือ Youtube , Yelp หรือ นวัตกรรมสุดล้ำต่าง ๆ ที่ Elon Musk กำลังสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

มันได้ส่งผลทำให้เกิด Startup ในยุคหลัง ๆ ของ Silicon Valley หลาย ๆ บริการที่กลายมาเป็นบริการโด่งดังในปัจจุบัน ซึ่งก็ล้วนแต่ผ่านมือพวกเขาเหล่านี้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งมาแล้วแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Uber , Instragram , Youtube , Kiva.org , AirBnb หรืออีกหลายธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

บริษัทชื่อดังมากมายที่ล้วนเป็นผลผลิตมาจากเหล่าพนักงาน PayPal
บริษัทชื่อดังมากมายที่ล้วนเป็นผลผลิตมาจากเหล่าพนักงาน PayPal

ต้องบอกว่า จากเนื้อเรื่องใน Blog Series ชุดนี้ มันคือการหล่อหลอมให้เหล่าพนักงานของ PayPal ยุคบุกเบิกนั้น ได้กลายมาเป็นนักลงทุนทางเทคโนโลยีที่มีวิสัยทัศน์อย่างที่เราเห็น มันเกิดจากการสู้ของพวกเขาแทบจะทั้งสิ้น พวกเขาได้เจอประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายในการนำพา บริษัทเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่ อย่าง PayPal ให้ต่อกรกับ ebay ที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีในขณะนั้นได้ถือว่าเป็น case study ที่น่าสนใจครั้งนึงในการต่อสู้ทางธุรกิจของประเทศอเมริกา

จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ได้ให้แนวคิดอย่างนึงก็คือ ด้วยทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำกัด และด้อยกว่าคู่แข่งอย่าง ebay แบบเห็นได้ชัด แต่พวกเขากลุ่มนี้ เหล่าพนักงานหัวกะทิของ PayPal ได้รีดศักยภาพของตัวเองให้ออกมาได้มากที่สุด สร้างไอเดียที่สร้างสรรค์ คิดค้นกลยุทธ์ใหม่ ๆ พวกเขาต้องคอยคิดอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญมันต้องทำงานแข่งกับเวลาที่เงินทุนของพวกเขากำลังร่อยหรอลงเรื่อย ๆ เพื่อที่จะให้สามารถต่อสู้กับ ebay ได้ แม้จะเป็นรองแค่ไหน พวกเขาก็ไม่เคยยอมแพ้ ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็สามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้สำเร็จ และได้กลายเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ในวงการชำระเงินออนไลน์ อย่างที่เราได้เห็นใน Blog Series ชุดนี้นั่นเองครับ

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The New Recruit *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

PayPal Wars ตอนที่ 10 : To The Brink

FEBRUARY—JUNE 2002

สืบเนื่องจากคามเจ็บช้ำที่ถูก PayPal ปฏิเสธการเข้าซื้อไปแบบไร้เยื่อไย ทาง Meg Whitman CEO ของ ebay ก็ได้จ่ายเงิน 43.5 ล้านเหรียญ เพื่อเข้าซื้อหุ้น 35% จาก Wells Fargo ใน Billpoint ทันที เรียกได้ว่าเป็นการพลิกเกมอย่างรวดเร็วของฝั่ง ebay เพื่อมาทุ่มกับ Billpoint แบบสุดตัว หรืออีกนัยหนึ่งนั่นคือการบีบ PayPal ให้ยอมขายกลาย ๆ นั่นเอง

แน่นอนว่ามันเป็นการส่งสัญญาณไปยัง PayPal อย่างชัดเจน ว่าตอนนี้ ebay เป็นเจ้าของ Billpoint อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว และยังสามารถกำหนดกลยุทธ์หลักของบริษัทได้แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องปรึกษากับ Wells Fargo เหมือนในอดีตอีกต่อไปนั่นเอง

และประเด็นข้อถกเถียงเรื่องสำคัญ ในเรื่องการกำหนดว่าบริการอย่าง PayPal หรือ Billpoint นั้นเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือไม่ ก็ยังไม่มีการตัดสินให้เด็ดขาด รัฐหลุยเซียน่าตีความบริการดังกล่าวเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงรัฐใหญ่ ๆ ที่จะลงนามในข้อเรียกร้องแบบเดียวกัน ที่ PayPal ต้องมีการกำกับดูแล ซึ่งจะส่งให้ให้บริการอย่าง PayPal ต้องเสียค่าปรับจำนวนมหาศาล

Wells Fargo ถอนตัวจาก Billpoint
Wells Fargo ถอนตัวจาก Billpoint

แต่การกระทำของ รัฐหลุยเซียน่า ครั้งนี้นั้น ชี้ให้เห็นว่าข้อกังวลดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความหวาดระแวง ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยในรัฐ หลุยเซียน่าหลายพันคนที่กำลังพึ่งพาบริการ PayPal เพื่อซื้อและขายสินค้าออนไลน์อยู่ และพวกเขาต้องการหยุด PayPal จากการทำธุรกิจโดยที่ไม่ได้อ้างว่าปกป้องประชาชนของพวกเขาจากสิ่งใด

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของอีกหลาย ๆ รัฐ ก็กำลังจ้องมองไปที่ Billpoint เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐ โอเรกอน แคลิฟอร์เนีย และ อิลลินอยส์ ซึ่งมองว่า Billpoint ก็จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตเช่นเดียวกัน

มีการถกเถียงในวงกว้าง American Bankers Association (ABA) ได้กล่าวว่าบริการอย่าง PayPal หรือ Billpoint นั้น ควรจัดอยู่ในประเภทธนาคารพาณิชย์ ลูกค้าควรที่จะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขามาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์เก่า และเริ่มเห็นภัยคุมคามจากบริการเหล่านี้ นั่นเอง

แต่สุดท้ายความเห็นจาก Federal Insurance Insurance Commission (FDIC) กลับยอมรับว่า บริการอย่าง PayPal นั้นไม่ได้มีส่วนร่วมในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ภายใต้กฏหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งพวกเขาสรุปว่า PayPal นั้นไม่รับเงินฝาก แต่ส่งผ่านเฉพาะเงินทุนไปยังธนาคารหรือผู้ใช้อื่น ๆ เพียงเท่านั้น จะไม่มีผลผูกพันกับการตัดสินใจของหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐนั่นเอง ซึ่ง FDIC มองว่าเป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์สำหรับแต่ละรัฐ

ซึ่งหลังจากยึด Billpoint มาได้แบบเต็ม 100% ebay ก็รุกหนักทันที Billpoint ได้เปิดตัวนโยบายการคุ้มครองผู้ขายเลียนแบบ PayPal ซึ่งทำให้ข้อได้เปรียบที่สำคัญอย่างนึงของ PayPal ไร้ผลทันที

ebay ยังคงกดดัน PayPal อย่างต่อเนื่องโดยการใส่ปุ่มชำระเงินใน email รุ่นใหม่ที่เร็วกว่าเมื่อการประมูลสิ้นสุด ซึ่งเมื่อก่อนนั้น email การแจ้งเตือนของ PayPal มักจะมาถึงก่อนเสมอ ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ของ Billpoint นั้น เป็นการเร่งกระบวนการการชำระเงิน และรับปุ่มชำระเงินของ Billpoint ให้เร็วขึ้น และรวดเร็วกว่าที่ PayPal ทำได้

ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นอย่างชัดเจนของ ebay นั้นเป็นผลมาจากการที่ไม่ต้องรอการตัดสินใจของ Wells Fargo ที่เป็นบริษัทแนวอนุรักษ์นิยมอีกต่อไป ทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในเรื่องบริการต่างๆ รวมถึงกลยุทธ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันนั้น ทั้ง Thiel และ Roelof Botha รวมถึงทีมผู้บริหารของ PayPal ก็เริ่มเบื่อหน่ายกับปริมาณการประมูลของ PayPal ที่เริ่มชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท PayPal เริ่มที่จะไม่เติบโต แถมยังลดลงอีกด้วย

แน่นอนว่าส่วนนึงมาจากท่าทีที่แข็งกร้าวของ ebay หลังจากควบรวมกับ Billpoint ทำให้ลูกค้าเริ่มทยอยเปลี่ยนมาใช้บริการของ Billpoint มากขึ้น รวมถึง ebay เองก็ต้องเจอกับภาวะตกต่ำของยอดประมูลตามฤดูกาล ซึ่งทั้งหมดได้ส่งผลให้ตัวเลขของ PayPal นั้นแย่ลงเป็นครั้งแรกในตลาดประมูล และมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของ PayPal ตกลง

เรียกได้ว่าสถานการณ์ของ PayPal นั้นอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอีกครั้ง Thiel เริ่มตระหนักว่าสถานการณ์การแข่งขันที่ไม่แน่นอนของบริษัท รวมถึงไปถึงเรื่องทางกฏหมายที่ยังไม่เคลียร์อย่างชัดเจนว่าจะกำหนดบริการของพวกเขาให้ใครกำกับดูแล รวมถึงราคาหุ้นที่ตกลงต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ PayPal อย่างชัดเจน

สถานการณ์ของ PayPal เริ่มเสี่ยง มูลค่าหุ้นก็ตกลงต่อเนื่อง
สถานการณ์ของ PayPal เริ่มเสี่ยง มูลค่าหุ้นก็ตกลงต่อเนื่อง

แม้ทีมงานของ PayPal จะแข็งแกร่งเพียงใด พวกเขาก็สู้กับ ebay มาได้ในทุก ๆ กลยุทธ์ ทีงานของพวกเขาพร้อมเสมอที่จะรบกับ ebay แต่ดูเหมือนว่าการสร้างกลยุทธ์เพื่อโจมตี ebay กลับในช่วงนี้ที่ปัญหาหลาย ๆ อย่างมันยังดูไม่เคลียร์นั้น ดูจะเป็นการไม่คุ้มกับแรงกายแรงใจที่ต้องทุ่มเทไปเสียแล้ว

การเจรจาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับบริษัททั้งสอง แนวคิดเรื่องการควบรวมกิจการนั้นกลับมาในหัวของ Thiel และทีมผู้บริหารอีกครั้ง ดูเหมือนว่าหากยังสู้รบกันต่อไป ก็ไม่มีฝ่ายไหนชนะได้เด็ดขาดเสียที มันอาจจะถึงเวลาแล้วจริง ๆ ที่ PayPal ที่เป็นบริการที่ผู้ใช้ใน ebay นั้นหลงรักที่สุด ควรจะอยู่ในอ้อมกอดของ ebay จริง ๆ จัง ๆ เสียที การควบรวมกิจการคงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวจริง ๆ

และที่สำคัญการเปลี่ยน PayPal ให้เป็นระบบชำระเงินหลักของ ebay แบบเป็นทางการนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่สำคัญในเรื่องทางกฏหมาย เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจที่สถานการณ์ในขณะนั้น มีความท้าทายทางกฏหมายและกฏระเบียบกำลังคุกคามบริษัท ซึ่งอำนาจของ ebay ที่มีเครื่องมือในการสร้างการล๊อบบี้อาจจะช่วย PayPal จัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ในตอนหน้าจะเป็นบทสรุปสุดท้ายของการต่อสู้ระหว่างบริษัททั้งสอง ซึ่งดูเหมือนสงครามครั้งนี้ใกล้จะถึงวันสิ้นสุดเสียที แล้วสงครามครั้งนี้จะจบลงตรงไหน และใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด และให้แง่คิดอะไรในการทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจเล็ก ๆ ที่พร้อมจะล้มยักษ์ เหมือนที่ PayPal ทำ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Sell Out (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The New Recruit *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
Fanpage :facebook.com/tharadhol.blog
Blockdit :blockdit.com/tharadhol.blog
Twitter :twitter.com/tharadhol
Instragram :instragram.com/tharadhol

PayPal Wars ตอนที่ 7 : The Monopolist Strikes

OCTOBER 2000—FEBRUARY 2001

การกลับมากุมบังเหียนบริษัทอีกครั้งของ Peter Thiel เขาได้วางยุทธศาสตร์หลักให้ PayPal เป็นโมเดลธุรกิจหลักของบริษัท Thiel มอบหมายให้ Sacks เข้ามาดูแลรีบปรับธุรกิจโดยด่วน ลดการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นกับช่องโหว่ของระบบ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ลดภาระค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิตออกไปให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

รวมถึงส่วนของ X.com ที่มีบริการอย่าง X-Finance ซึ่งเป็นบริการที่คิดจะเลียนแบบธนาคารพานิชย์แบบดั้งเดิม Thiel ต้องการตัดบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเขาออกไป การที่ X-Finance นั้นเปรียบเสมือนธนาคารที่ปล่อยบัตรเดบิต และวงเงินเบิกเกินบัญชีได้ ถึง 500 เหรียญ โดยแทบจะไม่ต้องตรวจสอบเครดิต มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

และที่สำคัญ การออกจากบริการที่เปรียบเสมือนธนาคารออนไลน์นั้น หมายความว่าสถานะของพวกเขา ที่ต้องถูกกำกับดูแลก็ต้องถูกตีความใหม่ ซึ่ง Thiel ได้สั่งให้ทีมงานด้านกฏหมายคอยประสานกับหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อค้นหาว่าบริการของ PayPal ควรจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด

Thiel ได้แต่งตั้ง Roelof Botha นักคณิตศาสตร์ประกันภัยอายุ 47 ปี ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CFO ซึ่ง Roelof นั้นมองว่าโปรแกรมการคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายที่ใจกว้างมาก ๆ ของบริษัทนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียและเรื่องการฉ้อโกง

Roelof สรุปว่านโยบายการคุ้มครองผู้ขายนั้น สามารถที่จะคงอยู่ได้ แต่ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่เข้มงวดเพื่อให้มีคุณสมบัติที่เพียงพอในการคุ้มครองดังกล่าว

Roelof Botha นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมารับตำแหน่ง CFO
Roelof Botha นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมารับตำแหน่ง CFO

Max Levchin ที่เป็นส่วนสำคัญในการดึง Thiel กลับมานั้น เป็นผู้นำในการพัฒนระบบต่อต้านการทุจริต เพื่อติดตามกิจกรรมในบัญชีที่น่าสงสัย ส่วน Sacks นั้นพยายามลดค่าใช้จ่ายในการประมวลผลด้วยบัตรเครดิต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้ชำระเงินผ่าน ACH

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การลดบทบาทของ X.com ลง มีการเปลี่ยนภาพในโลโก้การประมูลของบริษัทจาก X.com กลับสู่ PayPal ซึ่งแน่นอนว่า เหล่าผู้ใช้งานนั้นสนับสนุนเต็มที่ในเรื่องดังกล่าว เพราะเบื่อกับคำถามจากผู้ซื้อเกี่ยวกับความหมายของ X.com นั่นเอง

เรื่องที่ยากที่สุดก็คงเป็นเรื่องการผลักดันให้ผู้ใช้งานเชิงธุรกิจนั้นอัพเกรดบัญชีมาใช้เป็นแบบธุรกิจเพื่อเสียค่าธรรมเนียม ซึ่ง แน่นอนว่า ต้องมีผู้ใช้งานออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมาก ส่วนนึงก็เข้าใจว่า PayPal ไม่ใช่องค์กร การกุศล พวกเขาต้องหารายได้ ไม่งั้นก็ไม่มีบริการดี ๆ แบบนี้ออกมาให้ผู้ใช้

ทีมงาน PayPal จึงต้องใช้ไม้แข็ง โดยดูจากพฤติกรรมการใช้งานว่า ใช้งานเพื่อธุรกิจหรือไม่ ซึ่งคนเหล่านี้มีรายได้ ที่พอจะจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ PayPal อยู่แล้ว ซึ่งหลังจากมีการบังคับใช้นโยบายใหม่ในเดือนตุลาคม ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน 95% ของบัญชีส่วนบุคคลที่ใช้งานแบบธุรกิจ ก็ได้ทำการอัพเกรดไปเป็นบัญชีธุรกิจในที่สุด

และเมื่อฝั่ง ebay และ billpoint เห็น PayPal พยายามที่ผลักดับลูกค้าให้ใช้บัญชีที่เสียค่าธรรมเนียม จึงใช้ประโยชน์จากจุดนี้ตีโต้กลับ PayPal ทันที โดยร่วมมือกับ Visa เหมือนเคย

โดย ebay ประกาศในเดือนตุลาคมช่วงเดียวกันว่าจะยกเว้นค่าธรรมเนียมของ Billpoint ทั้งหมดสำหรับการชำระเงินด้วย Visa และมันเป็นช่วงเทศกาลช็อปปิ้งของคนอเมริกา ซึ่งทำให้ Billpoint จะสามารถทำรายได้ได้ถูกกว่า PayPal ตลอดช่วงเทศกาลวันหยุด

แม้ Thiel จะรู้ว่ามันเสี่ยง แต่พวกเขาก็ต้องตัดใจทำ เพราะมันดีต่อธุรกิจในระยะยาว และที่สำคัญพวกเขามั่นใจกับแบรนด์ PayPal ที่เหล่าผู้ใช้งานใน ebay นั้นหลงรักและใช้มันเป็นอันดับหนึ่งใน แพลตฟอร์ม

และผลลัพธ์ก็ออกมาน่าสนใจหลังผ่านเทศกาลวันหยุดดังกล่าว PayPal ก็ยังเป็นผู้นำในการชำระเงินมากกว่า Billpoint แม้ตัวเลขการเติบโตของ Billpoint จะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าแต่ PayPal ก็ไม่ได้เติบโตลดลงแต่อย่างใด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังเชื่อมันในแบรนด์ของ PayPal นั่นเอง

หลังจากนั้นไม่นาน ebay ก็ได้แก้เกมต่อ โดยการเปิดตัวการทำธุรกรรมแบบใหม่ ในราคาคงที่ ภายใต้ชื่อ “Buy It Now” หรือ BIN ebay เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ขายในการตั้งราคาที่พวกเขายินดีที่จะข้ามขั้นตอนการประมูลออกไป และขายสินค้าให้ผู้ซื้อได้แบบทันที

แม้ตัว Buy It Now นั้นจะไม่ได้คุกคาม PayPal โดยตรง แต่หารู้ไม่ว่า ebay นั้นใช้ช่องทางนี้กับผู้ซื้อให้ชำระเงินผ่าน Billpoint ได้เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่พวกเขาอนุญาตให้ชำระเงินสำหรับสินค้าของผู้ขายที่จะเข้าร่วมในโปรแกรม Buy It Now

PayPal นั้นเดิมเข้าไปแทรกตัวอยู่ในวิธีการชำระเงินในกระบวนการประมูลสินค้าได้ แต่ใน Buy It Now นั้น กระบวนการจะจบลงทันที ไม่ต้องมีการรอให้ผู้ซื้อมาเลือกวิธีการชำระเงินแต่อย่างใด เพราะ ปุ่มการดำเนินการที่ ebay ฝังไว้ใหม่นี้ จะพาไปยังหน้าชำระเงินของ Billpoint แบบทันที

ซึ่งแน่นอนว่า มันคือวิธีที่แยบยลมาก ๆ ของ ebay เพราะหากไม่สามารถที่จะขับไล่ PayPal ออกจาก ebay ได้ พวกเขาจึงเปลี่ยนวิธีการต่อสู้เป็น เปลี่ยน Billpoint ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ebay แทนนั่นเอง

Buy It Now ที่ตั้งใจมากำจัด PayPal
Buy It Now ที่ตั้งใจมากำจัด PayPal

แต่แม้ความพยายามของ ebay ที่จะขับไล่ PayPal ออกไปให้ได้นั้น ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใกล้ความเป็นจริงแต่อย่างใด PayPal มีผู้ใช้งานพุ่งสูงขึ้นถึง 5 ล้านรายเป็นบริษัทแรก ในไตรมาสที่ 4 ของปี ปริมาณการชำระเงินของ PayPal สูงขึ้นถึง 29% สร้างรายได้กว่า 7.4 ล้านเหรียญ

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนจากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการฉ้อโกงภายในแพลตฟอร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรจากธุรกรรมการชำระเงินของ ebay เพิ่มขึ้นจาก -3.28% ในไตรมาสสาม เป็น -0.92% ในไตรมาสสี่ แสดงให้เห็นทิศทางของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

และตลาดการประมูลนั้น ebay ไม่ได้ครอบครองตลาดนี้ทั้งหมดแต่อย่างใดเพราะยังมีสองผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Yahoo และ Amazon ที่ให้บริการประมูลบนเว๊บไซต์ของพวกเขาด้วย

โดย Yahoo คือผู้ท้าทายตัวจริงของ ebay เพราะมีจำนวนรายการประมูลสูงถึง 2.4 ล้านรายการ ซึ่งต่ำกว่า ebay ที่มีจำนวนรายการประมูล 3.7 ล้านรายการ และแน่นอนนั่นทำให้ส่งผลดีต่อ PayPal อย่างชัดเจนเพราะพวกเขาสามารถใช้งานได้ในทั้งสองแพลตฟอร์มนั่นเอง

Yahoo นั้นวางแผนมาเพื่อเป็นคู่แข่งของ ebay ตั้งแต่ต้น พวกเขาแทบจะไม่คิดค่าธรรมเนียมสำรหับการนำรายการขึ้นสู่เว๊บไซต์ รวมถึงสร้างระบบให้รองรับการนำเข้าข้อมูล Profile ต่าง ๆ จาก ebay สำหรับผู้ขายที่ต้องการย้ายมาอยู่ที่ Yahoo เพราะจะทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือขึ้นนั่นเอง

แต่ Yahoo ก็ใช้กลยุทธ์นีได้เพียงไม่นาน เนื่องจากรายรับที่ลดลงต่อเนื่องของ Yahoo หลังจากเกิดวิกฤติฟองสบู่ดอทคอม ราคาหุ้นของ Yahoo ลดลงจาก 200 เหรียญ มาแตะที่ 30 เหรียญในระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือนเท่านั้น Yahoo จึงต้องเริ่มประกาศยุติการประมูลฟรี และยอดผู้ใช้งานของพวกเขาก็ร่วงลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือหลักหมื่นรายการในระยะเวลาเพียงไม่นาน เนื่องจากผู้ขายส่วนใหญ่ กลับไปยัง ebay แทบจะทั้งสิ้น

ฟากฝั่ง PayPal ก็ได้ออกแคมเปญ PayPal Preferred ซึ่งเป็นไดเรกทอรี่ ที่ให้ผู้ขายมาเข้าร่วม เพื่อแสดงรายชื่อร้านค้าออนไลน์ของพวกเขา ในเว๊บไซต์อื่น ๆ ที่ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงได้ และเป็นการสนับสนุนเหล่าผู้ใช้งานให้ไปทำธุรกรรมนอก ebay นั่นเอง

เรียกได้ว่า เป็นศึกที่ กินกันไม่ลงเลยทีเดียวสำหรับ PayPal และ ebay ที่ต่างฝ่าย ต่างชิงไหวชิงพริบ เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นการผลัดกันรุก ผลัดกันรับ หาช่องทางที่จะโจมตีเข้าหากันโดยตลอด ต้องบอกว่าเป็นศึกทางธุรกิจที่ต่อสู้ได้เข้มข้นที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ธุรกิจอเมริกา เพราะรางวัลสำหรับผู้ชนะ คือ ผู้ปฏิวัติวงการชำระเงินออนไลน์โลกตัวจริงนั่นเอง จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับศึกครั้งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : High Stakes

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The New Recruit *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

PayPal Wars ตอนที่ 5 : The Producers

JUNE—JULY 2000

Elon Musk เริ่มงานแรกของเขาทันที หลังจากเข้ามาดูแลทั้งสองบริษัทในฐานะ CEO แบบเต็มตัว สิ่งที่เขาโฟกัสเป็นอันดับแรกคือ ทีมที่ดูแลด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่ง Musk นั้นได้ให้ David Sacks เข้ามาดูแลในส่วนนี้

ในการประชุมร่วมครั้งแรกในฐานะ CEO ของ Musk เขาได้วางกลยุทธ์ในการจัดตั้งทีมที่ดูแลด้านผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาใหม่ และทำการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้มากที่สุด ซึ่ง Musk นั้นมองว่า สองสามเดือนที่ผ่านมา ทุกคนต่างพูดคุยเกี่ยวการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ แต่ไม่มีอะไรที่ทำจริง ๆ ขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ

David Sacks ต้องการสร้างพลังใหม่ให้เกิดขึ้นกับทีมที่ดูแลด้านผลิตภัณฑ์นี้ ความวุ่นวานหลังจากการควบรวมกิจการ ทำให้การทำงานของสองบริษัทกลายเป็นอัมพาต การกำหนดเป้าหมายร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และผู้บริหารพร้อมที่จะสนับสนุนทุกอย่างแบบเต็มที่

ในส่วนของการหารายได้นั้น Musk และ Sacks มุ่งเน้นไปที่การลดอัตราการเผาเงิน ซึ่งตอนนั้นติดลบสูงถึงไตรมาสละ 10 ล้านเหรียญ โดยการหาวิธีสร้างรายได้จากการทำธุรกรรมของ PayPal เปลี่ยนโมเดลจากเดิมที่ Harris วางให้บริการทั้งสองนั้นมุ่งเน้นที่การเติบโต และทำกำไรให้น้อยที่สุด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งสำคัญของ Musk

วิธีการแรกคือการลดอัตราการชำระด้วยบัตรเครดิตของลูกค้าลง เพราะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมให้กับสมาคมบัตรเครดิตจำนวนมหาศาล โดยการโน้นน้าวใจให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เลือกที่จะฝากเงินในบัญชีของตนเองแทน ซึ่งจะลดค่าธรรมเนียมที่ X.com ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 2% ให้กับ Visa หรือ MasterCard ทุกครั้งที่มีการใช้งานบน PayPal

สำหรับแหล่งทดแทนแหล่งแรก ก็คือ การหักบัญชีแบบอัตโนมัติ (ACH) ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่อรายการเพียงไม่กี่เซ็นต์ แต่ปัญหาคือ ACH อาจจะใช้เวลาหลายวันกว่าจะเคลียร์เงินได้และเสี่ยงจะถูกตีกลับ

แต่แนวคิดของ Musk คือการขยายเครดิตใหักับลูกค้าที่เลือกใช้งาน ACH แทนการชำระผ่านบัตรเครดิต ซึ่ง X.com จะรับความเสี่ยงไว้เองหากผู้ใช้มีเงินไม่เพียงพอในบัญชีธนาคารของพวกเขา แต่แลกกับความรวดเร็วที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง และสั่งให้ทีมผลิตภัณฑ์ลุยทันที

และอีกปัญหาหนึ่งหลังจากการควบรวมก็คือ ควรจะใช้ Brand ไหนเป็นหลักกันแน่ระหว่าง X.com หรือ PayPal ซึ่งแน่นอนว่า Musk ที่สร้าง X.com มากับมือย่อมอยากให้ X.com นั้นเป็นแบรนด์หลักของผลิตภัณฑ์ หลังจากการควบรวม

แต่ดูเหมือนสถานการณ์ในขณะนั้น ความคุ้นเคยของผู้บริโภคนั้นมีต่อแบรนด์ PayPal มากกว่าอย่าเห็นได้ชัด สิ้นเดือนมิถุนายน มีบัญชี PayPal ในระบบถึง 2.1 ล้านบัญชี และที่สำคัญที่สุด PayPal ได้กลายเป็นคำสามัญในการประมูลใน ebay เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ Musk พยายามที่จะเปลี่ยน logo ใหม่ของ PayPal โดยเปลี่ยนจาก “PayPal ของ X.com” ไปเป็น X คำเดียวเท่านั้น แต่ดูเหมือนเหล่าพนักงานทีมผลิตภัณฑ์จะพยายามคัดค้านการกระทำของ Musk เพราะตอนนี้ PayPal มันได้กลายเป็นแบรนด์ติดตลาดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การจะเปลี่ยนกลับมาเป็น X จะมีแต่สูญเสียต่อบริษัทในระยะยาว

Elon Musk ดูเหมือนจะปลื้ม X.com มากกว่า
Elon Musk ดูเหมือนจะปลื้ม X.com มากกว่า

ฟากฝั่ง ebay นั้นก็พยายามเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง Meg Whitman ประกาศเข้าซื้อกิจการ Half.com เว๊บไซต์ที่อนุญาติให้ผู้ขายรายบุคคลนั้นสามารถที่จะแสดงรายการสินค้าที่ผลิตจำนวนมากเช่น หนังสือ วีซีดี หรือ วีดีโอ ในราคาคงที่ได้อย่างง่ายดายซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากใน ebay

และ ที่ half.com นั้นก็ไม่อนุญาติให้ PayPal เข้ามาสร้างบริการชำระเงินในบริการของพวกเขา เพราะ ebay ควบคุมแพลตฟอร์มทั้งหมด half.com รับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตโดยตรงจากผู้ซื้อและแจ้งผู้ขายให้จัดส่งสินค้า ซึ่งผู้ขายจะได้รับเช็คจาก half.com แทน ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ PayPal เข้ามาเจาะตลาดในส่วนนี้ได้อีก

ส่วน billpoint นั้นดูเหมือนจะไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ใน ebay เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่เลือกใช้งาน PayPal มากกว่าอย่างชัดเจน ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ billpoint เปิดตัวนั้น มีส่วนแบ่งในการชำระเงินเพียงแค่ 8-9% เท่านั้น ในขณะที่ PayPal กำลังยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดต่อเนื่องและพุ่งขึ้นไปสูงถึง 40% แล้วในขณะนั้น

ebay ซื้อ half.com มาเสริมทัพ
ebay ซื้อ half.com มาเสริมทัพ

ทีมผลิตภัณฑ์ ของ X.com ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่คือ “X.com Verified” เป็นรูปแบบพิเศษสำหรับผู้ขาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ลูกค้าเริ่มใช้ PayPal เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการส่งชำระเงิน PayPal เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการทางธุรกิจของผู้ขาย มันทำให้ความสัมพันธ์มีความแนบแน่นขึ้นระหว่าง PayPal และผู้ใช้งานทุก ๆ ส่วน เพราะพวกเขาไว้ใจที่จะใช้ PayPal มากขึ้นนั่นเอง

ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ทีมผลิตภัณฑ์ได้ปลดปล่อยฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในเรื่องค่าธรรมเนียมและการทำธุรกิจให้มีประสบการณ์ที่ดีขึ้นต่อลูกค้า รวมถึงลดต้นทุนของค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินลงไปได้เป็นจำนวนมหาศาล

ความคิดเห็นของลูกค้าก็ส่งมาในทางบวกมากยิ่งขึ้น หลังจากปัญหาต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย มันได้ทำให้ X.com และ PayPal นั้นกลายเป็นผู้นำที่ชัดเจนมายิ่งขึ้นในบริการชำระเงินออนไลน์ และที่สำคัญมันส่งผลต่อขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นของพนักงานมากยิ่งขึ้น

นั่นแสดงให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลง CEO จาก Bill Harris มาเป็น Elon Musk นั้นทำให้สถานการณ์ของบริษัทดีขึ้นอย่างชัดเจนภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ดูเหมือนตอนนี้จะไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้ง Musk และทีมงานของพวกเขาที่จะพาบริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในบริการทางการเงินของอเมริกาอีกต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับเหล่ายอดอัจฉริยะที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกทางการเงินกลุ่มนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

-> อ่านตอนที่ 6 : Revolution – PayPal 2.0

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : The New Recruit *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

PayPal Wars ตอนที่ 4 : Growing Pains

APRIL—MAY 2000

หลังผ่านวิกฤติฟองสบู่ดอทคอมแตกมาได้แบบเฉียดฉิว ทีมงาน Confinity และ X.com ก็ต้องเจอข่าวร้ายอีกครั้งเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการบัตรเครดิตโลกอย่าง Visa ได้ตกลงกับ ebay ที่จะทำตลาดบริการ billpoint อย่างเป็นทางการ

เรียกได้ว่า มันเป็นศึกที่สาหัสมาก ๆ สำหรับทีมงาน X.com เพราะ Visa นั้นเป็นตัวจริงในวงการด้านการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต สิ่งที่ Visa ต้องการนั่นก็คือการบุกเข้ามายัง ebay เพื่อทำการโปรโมตตัว Visa เองในชุมชนของ ebay ผ่านทางบริการของ ebay อย่าง billpoint

และสิ่งสำคัญที่สุดของการร่วมมือกันในครั้งนี้ของ Visa และ Billpoint ของ ebay ก็คือ ทาง Visa ได้ตัดสินใจยกเว้นค่าธรรมเนียมผู้ขายทั้งหมด เพื่อรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต Visa จึงถึงเดือนพฤษภาคมปี 2000 ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดค่าธรรมเนียมให้กับ Billpoint เป็นจำนวนเงินมหาศาล สำหรับผู้ขายที่ใช้บัญชีของ Billpoint นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่าการร่วมมือกันของ ebay และ Visa นั้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ X.com ที่บริการอยู่ใน ebay ซึ่ง การลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกค้าใน ebay หันมาเลือกใช้วิธีการชำระเงินผ่าน billpoint เป็นอันดับแรก ซึ่งในแต่ละวันทำให้ลูกค้าใช้บริการของ billpoint เพิ่มขึ้นจาก 1% กลายเป็นสูงถึง 10% ของรายการประมูลทั้งสิ้น 4 ล้านรายการในแต่ละวันของ ebay ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก สำหรับทีมงาน X.com และ Confinity

Visa มาร่วมมือกับ ebay เพื่อผลักดัน billpoint
Visa มาร่วมมือกับ ebay เพื่อผลักดัน billpoint

ปัญหาเรื่องปัจจัยภายนอกนั้นไม่ใช่ปัญหาเดียวของทีมงาน X.com และ Confinity เพราะ พวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาภายใน site ของตัวเอง ที่กำลังก่อตัวขึ้น ตามจำนวนผู้ใช้งานที่เริ่มสูงขึ้น

มี email ส่งมาสอบถามเรื่องบริการ รวมถึงการแจ้งปัญหาการใช้บริการ นับพัน email ต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นข้อผิดพลาดของผู้ใช้ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบบัตรเครดิต หรือ บัญชีธนาคาร กลายเป็นเรื่องใหญ่มากในการที่จะตอบสนองกับคำร้องเรียนเหล่านี้ให้เท่าทันเวลา เพราะทีมงานด้านการบริการลูกค้าที่ยังมีอยู่จำกัด

และมันเป็นเรื่องของเงินซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นไม่เต็มใจที่จะรอนานนัก หากเกิดปัญหากับเงินของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำธุรกรรม การถอนเงินต่าง ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ สร้างความหัวเสียให้กับเหล่าลูกค้าที่ใช้บริการของ X.com , PayPal ได้

และที่สำคัญ คลื่นยักษ์ของจำนวนผู้ใช้รายใหม่ที่เกิดขึ้น ได้เข้าสู่ขีดจำกัดของความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชั่นที่ทีมงานของ Confinity พึ่งพาอยู่นั้น มันพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถที่จะปรับให้รองรับได้อีกต่อไป

ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้นั้น มันทำให้พวกเขาต้องการกำลังพลเพิ่มเติม โดยเฉพาะงานด้านบริการลูกค้า ก่อนที่ ลูกค้าจะเริ่มย้ายไปใช้บริการของคู่แข่ง แต่ด้วยอัตราการว่างงานในซิลิกอนวัลเลย์ ที่ตอนนั้นอยู่ใกล้เคียง 1%

ในต้นปี 2000 แรงงานท้องถิ่นในแถบซิลิกอน วัลเลย์ ขาดแคลนเป็นอย่างมาก และที่สำคัญยังมีค่าแรงที่สูงมากด้วย ทางเลือกในการ outsource งานเหล่านี้นั้น จะได้งานที่ไร้คุณภาพกลับมาแทน ซึ่ง Elon Musk นั้นรับไม่ได้ จึงได้มอบหมายให้ Julie Anderson หนึ่งในพนักงานคนแรกของเขาที่ X.com หาทุกวิธีเพื่อเพิ่มขนาดแผนกบริการลูกค้าให้เร็วที่สุด เพราะตอนนั้นเป็นเรื่องที่ซีเรียสที่สุด

และการที่ทั้ง X.com และ Confinity ได้รวมตัวกันได้ไม่ถึง 6 สัปดาห์ ความแตกต่างทางด้านแนวคิดของวิศวกรของทั้งสองทีม เป็นเรื่องที่ยากต่อการแก้ไข ทีมวิศวกรของ Confinity ส่วนใหญ่รู้จักแต่ UNIX ในขณะที่ทีมวิศวกรของ X.com นั้นถนัดใช้แต่ Windows Server รวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก ๆ

การรวมกันระหว่างเว๊บไซต์ X.com และ PayPal.com ยังไม่มีวี่แววว่าจะทำได้สำเร็จ มันเป็นการรวมบริษัทแบบหลวม ๆ กันเสียมากกว่า มันต้องใช้เวลาอีกนานกว่าทั้งสองบริษัทจะผสานการทำงานกันได้อย่างลงตัวฺ

Bill Harris ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะได้ฐานข้อมูลของทั้งสองบริษัทมารวมกันนั้น ก็ผิดหวัง เพราะมันยังไม่สามารทำได้ ทั้ง PayPal และ X.com นั้นทำงานต่อเนื่องในฐานะบริการที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่เหมือนบริษัทเดียวกันเลยด้วยซ้ำ

แต่ในบรรดาเรื่องแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังมีเรื่องดี ๆ กับพวกเขาบ้าง เมื่อ PayPal และ X.com ก็เติบโตใน ebay อย่างต่อเนื่อง ภายในเดือนพฤษภาคม PayPal สามารถครองส่วนแบ่งตลาดการชำระเงินใน ebay ได้สูงขึ้นถึง 35% ท่ามกลางปัญหามากมายที่เกิดขึ้น

มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ Billpoint ไม่สามารถที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ ebay คิด ผู้ขายส่วนใหญ่ใน ebay ยังเลือกที่จะสนับสนุน PayPal อยู่ แม้จะมีข้อเสนอฟรีค่าธรรมเนียมของ Visa ให้กับ Billpiont ก็ตามที

ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการที่เข้าสู่ ebay ก่อนใครของ PayPal ทำให้เหล่าลูกค้าติดการใช้บริการของ PayPal ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อพวกเขาใช้จนติดแล้วนั้น มันก็ยากที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการอื่น เพราะ PayPal ก็ทำบริการออกมาได้ใช้งานง่ายมาก ๆ พวกเขาจึงเลือกใช้มันต่อไปในอนาคต ไม่หันไปหาคู่แข่งอย่าง Billpoint

และเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ Peter Thiel ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานด้านการเงินหลังจากควบรวม ได้ส่ง email แจ้งให้กับพนักงานทราบว่าเขาได้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานบริหารของ X.com (บริษัทที่ควบรวม)

ในระหว่างที่ PayPal กำลังเติบโตได้สวยงามนั้น ก็เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่าง Bill Harris กับ Peter Thiel อย่างรุนแรง ในเรื่องแนวความคิดในการนำพาบริษัทก้าวต่อไปในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้สุดท้าย Thiel ต้องเป็นฝ่ายถอยออกไป

ปัญหารุมเร้า ทำให้  Bill Harris กับ Thiel ถึงจุดแตกหัก
ปัญหารุมเร้า ทำให้ Bill Harris กับ Thiel ถึงจุดแตกหัก

ฟากฝั่ง Elon Musk นั้น ก็เริ่มได้ฟังเสียงบ่นจากเหล่าทีมบริหารที่เริ่มไม่พอใจกับผลงานของ Bill Harris เช่นเดียวกัน บริษัทกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง การควบรวมที่ไม่เป็นไปตามแผน

ปัญหาการบริการลูกค้าที่กำลังนำพาทั้ง PayPal และ X.com เข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยง และ เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ Musk รู้จาก Thiel ว่า Harris นั้นได้นำเงินทุนของบริษัท ไปบริจาคให้พรรคการเมืองที่เขาสนับสนุนถึง 25,000 เหรียญ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ Musk ต้องตัดสินใจขั้นเด็ดขาด เพราะเขาเป็นผู้ที่ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัทหลังจากการควบรวมกิจการ

Musk จึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการฉุกเฉิน เพื่อทำการขับไล่ชายที่เขาจ้างมาช่วยดูแลในฐานะ CEO เมื่อหกเดือนก่อน และสุดท้าย Bill Harris ก็ต้องเป็นฝ่ายที่ต้องจากลาไปอีกหนึ่งคน และมันถึงเวลาที่ Musk ต้องเข้ามาควบคุมการปฏิบัติงานทั้งหมดแทน โดยเข้ามารับตำแหน่ง CEO เพื่อนำพาบริษัทให้ก้าวต่อไปให้ได้นั่นเอง จะเกิดอะไรขึ้นกับทีมงาน Confinity และ X.com ภายใต้การดูแลของ Musk อย่างเต็มตัว โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

—> อ่านตอนที่ 5 : The Producers

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : The New Recruit *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***