Squid Game vs 13 เกมสยอง กับความเหมือนที่แตกต่าง สู่ Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่คล้ายกัน และมีพล็อตที่ดูคล้ายคลึงกันมาก ๆ สำหรับซีรีส์ชื่อดังที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้อย่าง Squid Game กับภาพยนต์ระดับตำนานเรื่องนึงของไทยที่ไปคว้ารางวัลมามากมายอย่าง 13 เกมสยอง ที่นำแสดงโดยกฤษฎา สุโกศล แคลปป์ และกำกับโดยคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เราได้เห็น message หลักที่ทั้งสองเรื่องต้องการสื่อ ไม่ว่าจะเป็น เกม เงินรางวัล ผู้เข้าร่วมเกมที่เป็นคนที่ต้องการเงินอย่างสิ้นหวัง แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะมีความแตกต่างกันมาก แต่ผมมองว่ามันเป็นพล็อตที่คล้ายกันอย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งหลังจากดู ซีรีส์ Squid Game จบ ผมเลยต้องกลับไปหาดู 13 เกมสยองอีกครั้ง ที่เป็นภาพยนต์ที่ได้รับรางวัลมากมาย ในปี 2006 และเป็นอีกหนึ่งภาพยนต์ไทยที่ผมชอบลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว

ด้วยความเหมือนที่แตกต่าง ต้องบอกว่า รายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงคุณภาพด้านโปรดักชั่น ที่เกาหลีสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่แปลกใจว่าทำไมมันถึงได้ฮิต จนขนาดที่ว่าไปแย่งทราฟฟิกจากบริการอื่น ๆ ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศเกาหลีใต้เลยทีเดียว

แถมตอนนี้มันกำลังกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ที่เรียกได้ว่าติดเทรนด์ซีรีส์ยอดฮิตในเกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ กลายเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนึงของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลังจากก่อนหน้านี้ที่ภาพยนต์อย่าง Parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2020 มาแล้ว

ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)
ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)

Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าก่อนหน้าที่วงการภาพยนต์ หรือ ซีรีส์จะโด่งดัง เกาหลีก็ได้ส่งวัฒนธรรม K-pop ที่ปรกติจะบุกไปทั่วเอเชีย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เพียง เอเชีย อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมนี้ มันได้บุกไปถึง อเมริกา และ ยุโรป ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง ๆ สำหรับการดังขึ้นมาเปรี้ยงปร้างอย่างรวดเร็วของวงการบันเทิงเกาหลี ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มูลค่ามหาศาลครอบคลุมไปทั่วโลก

แรกเริ่มเดิมทีนั้น วัฒนธรรมทางด้านเพลงของเกาหลี ก็ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลยังควบคุมระบบการออกอากาศแทบจะทั้งหมดของทุกสื่อในประเทศ

มันไม่มีทีท่า ว่าเกาหลีจะพัฒนาวัฒนธรรมด้านบันเทิงหรือ K-Pop มาได้ไกลถึงเพียงนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่การปรากฏตัวของ Seo Taiji &Boys ทางทีวี ในฤดูใบไม้ผลิปี 1992

มันได้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ มันคือสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง กับกรอบความคิดเดิม ของวัฒนธรรมดนตรีของเกาหลี และที่สำคัญมันยังเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหมดของเกาหลีขึ้นมาใหม่ด้วย

รัฐบาลเกาหลีได้เริ่มมองเห็นว่า วัฒนธรรม อาจเป็นสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ลำดับถัดไปของประเทศได้ มีการปรับแก้ไขกฏหมายเพื่อสนับสนุนผลงานด้านดนตรีและศิลปะ โดยจะเป็นการสละเงินงบประมาณ อย่างน้อย 1% ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนี้

รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)
รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)

และตอนนี้พลังของ Soft Power ของเกาหลีใต้นั้น มันกำลังแพร่กระจายไปยังคอนเท้นต์อื่น ๆ ทั้งภาพยนต์ หรือ ซีรีส์ เรียกได้ว่าครอบคลุมวงการบันเทิงแทบจะทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ Netflix ได้กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาได้เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการจ้างงานจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้

ความบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของเกาหลีควบคู่ไปกับเทคโนโลยี จำนวนคนงานในบริการสร้างสรรค์และศิลปะเพิ่มขึ้น 27% ระหว่างปี 2009 ถึง 2019

ขณะที่ในภาคการผลิต ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนดั้งเดิมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติของเกาหลี ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้ว Netflix กล่าวว่าได้ช่วยสร้างงานเต็มเวลา 16,000 ตำแหน่งในเกาหลีตั้งแต่ปี 2016

อุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์ของเกาหลีมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่มหึมา แต่ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งออกคอนเทนต์มีมูลค่ารวม 10.8 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือราว 1 ใน 10 ของธุรกิจชิป ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาหลี แต่มีรายได้มากกว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอาง

มูลค่าการส่งออกความบันเทิงของเกาหลี ซึ่งรวมถึงสิ่งพิมพ์ เกม เพลง ภาพยนตร์ และรายการทีวี เพิ่มขึ้น 6.3% ในปีที่แล้ว แม้ในขณะที่การจัดส่งสินค้าโดยรวมลดลง 5.4% เนื่องจากการระบาดใหญ่

แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับกระแสเกาหลีที่เรียกว่า เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และอาหาร ก็เพิ่มขึ้น 5.5% ในปีที่แล้ว ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศแห่งเกาหลี 

บทสรุป

ส่วนตัวผมก็มองว่าพลัง Soft Power ของประเทศไทยเราเอง ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก ผมเคยดูในช่อง youtube ที่นำเสนอดาราของประเทศเรา เมื่อไปออกงานต่าง ๆ ในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะในอาเซียน ก็พบว่า กระแสดความนิยมของดาราไทย หรือ คอนเทนต์จากไทย ก็แรงไม่แพ้กัน

หรือแม้กระทั่งในประเทศจีนเอง ก็มีความสนใจในคอนเทนต์จากประเทศไทยอยู่มาก แม้จะไม่เท่าเกาหลีใต้ก็ตามที แต่ก็เป็นโอกาสใหญ่มาก ๆ ของประเทศเราเหมือนกัน หากมีการผลักดันให้เกิดขึ้นแบบบูรณาการเหมือนที่เกาหลีใต้ทำสำเร็จ

หากภาครัฐมีความจริงจัง และสนับสนุนอย่างเป็นระบบเหมือนที่เกาหลีใต้ทำ และเจียดเม็ดเงินมาสนับสนุน ตามสัดส่วน GDP ที่เหมาะสม ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักเหมือนในทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อเจอโรคระบาด ก็ได้เกิดเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนตัวผมเองก็มองว่าประเทศเราก็มีดีพอ ไม่แพ้ชาติใดนะครับ สำหรับเรื่องพลังของ Soft Power และยังมีโอกาสและตลาดใหญ่ ๆ อีกมากสำหรับคอนเทนต์จากประเทศไทยที่จะเติบโตได้ แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ อย่าลืมมาแสดงความคิดเห็นกันนะครับผม

References : https://www.bloombergquint.com/pursuits/k-pop-to-squid-game-lift-korean-soft-power-and-the-economy

Series Review : The Chestnut Man ซีรีส์เดนมาร์กจิตวิทยาเขย่าขวัญผ่านตุ๊กตาเกาลัด

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์คุณภาพจากประเทศเดนมาร์กที่น่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ The Chestnut Man ที่เป็นซีรีส์ สไตล์กลิ่นอายของ Nordic Noir ที่มีการดัดแปลงจากนวนิยาย  Søren Sveistrup ซึ่งต้องบอกว่าเป็นนวนิยายชื่อดังที่มีการแปลเป็น 28 ภาษา และมีการตีพิมพ์กว่า 50 ประเทศ

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบ ซีรีส์ทางฝั่งยุโรปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ไม่ผิดหวังเลย ที่มาในแพลตฟอร์ม Netflix

ด้วยบรรยากาศที่ถ่ายทำในฤดูใบไม้ร่วงของเดนมาร์ก และ การปรับแต่งโทนสีของเรื่องให้ดูน่าพิศวง มันทำให้เข้ากับบรรยากาศของธีมซีรีส์ ที่เน้นไปทางด้านจิตวิทยาเขย่าขวัญ สั่นประสาท ผ่านพล็อตฆาตรกรต่อเนื่อง ด้วยเนื้อเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ

เนื่องเรื่องที่ว่าด้วย Naia Thulin ที่เป็นตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีฆาตรกรรม ที่ชีวิตสับสนและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ร่วมมือกับ Mark Hess ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์คนใหม่ซึ่งได้รับมอบหมายใหม่จาก Interpol อย่างไม่เต็มใจ

และเพื่อสอบสวนการฆาตกรรมของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ถูกพบในสนามเด็กเล่นด้วยมือที่หายไปและหุ่นตุ๊กตาเกาลัดปริศนา ที่สร้างขึ้นจากเม็ดเกาลัดและไม้ขีดไฟหรือกิ่งไม้เพื่อให้มีลักษณะคล้ายกับคน

และมันมีหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าคดีดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับคดีหนึ่งเมื่อปีก่อนเมื่อลูกสาวของรัฐมนตรีกระทรวงสังคมของเดนมาร์ก Rosa Hartung ที่ถูกลักพาตัวไปและมีการสรุปคดีว่าถูกสังหารแต่ยังไม่ค้นพบศพ 

เรียกได้ว่า เป็นพล็อตที่มีความลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ทำให้เราลุ้นไปตลอดทุกตอนเลยทีเดียว ที่ซีรีส์ ค่อย ๆ เฉลยปมต่าง ๆ ออกมา แม้จะมีเพียงแค่ 6 ตอนแต่เรียกได้ว่าลุ้นไปจนจบในทุก ๆ ตอนเลยก็ว่าได้

ตัวละครแต่ละตัวก็เรียกได้ว่ามีรายละเอียดพอสมควร ซีรีส์ได้เล่นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เรื่องการเมือง หรือ บาดแผลภายในใจของตัวละครเอกอย่าง Mark Hess ที่ทำให้เราได้รู้ว่า ทำไมเขาจึงต้องการที่แก้ไขปริศนาคดีดังกล่าวนี้ให้สำเร็จ

ก็ต้องบอกว่า ตัวละครหลักทุกตัว มีสิ่งนึงที่เหมือนกันก็คือ “ทุกคนมีความลับ” นั่นทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีเสน่ห์ มาก ๆ ในการติดตามเรื่องราว ที่ผสานระหว่างเรื่องราวในอดีตของตัวละครหลักทั้งหมด

การเฉลยของเรื่องก็เซอร์ไพรส์ พอสมควร ผมคิดว่าหลาย ๆ คนคงเดาไม่ออกอย่างแน่นอนว่า ฆาตรกรตัวจริงในเรื่องนี้คือใคร

ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ ที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งนะครับ สำหรับ The Chestnut Man ที่จะได้สัมผัสกลิ่นอายใหม่ ๆ ของซีรีส์สไตล์ Nordic Noir ผ่านบรรยากาศของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งให้บรรยากาศที่แปลกใหม่ หากใครเบื่อซีรีส์ทางฝั่ง Hollywood แบบเดิม ผมก็แนะนำว่าเรื่องนี้ ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งครับผม

Series Review : The Twelve (Netflix) 12 คณะลูกขุนที่นำชีวิตของพวกเขาไปสู่คดีฆาตกรรมที่น่าตื่นเต้น

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่เป็นผลงานจากยุโรป ที่มีความน่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ The Twelve (Netflix) ที่เล่าเรื่องราวของคณะลูกขุน 12 คน ที่ต้องมาตัดสินชะตากรรมให้กับผู้หญิงคนหนึ่งในคดีฆาตรกรรมเพื่อนและลูกสาวของเธอ

เรื่องนี้ต้องบอกว่ามีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจที่แทบจะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นสารคดีซะมากกว่าที่จะทำเรื่องราวเหล่านี้ ที่ถ่ายทอดการพิจารณาคดี ผสานไปกับการเล่าเรื่องราวของเหล่าคณะลูกขุนที่กำลังประสบกับปัญหาชีวิตอยู่ ณ ขณะนั้น

เรื่องราวที่ว่าด้วยหญิงที่มีชื่อว่า Frie Palmers เธอถูกพิจารณาคดีในคดีฆาตกรรมสองครั้ง ห่างกันสิบแปดปี โดยคดีแรกคือคดีฆาตกรรมเพื่อนสนิทของเธอ  Brechtje Vindevogel เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2000

เหตุการณ์ที่สองคือการเสียชีวิตของ Roos ลูกสาววัย 2 ขวบของเธอในปี 2016 ซึ่งคดีดังกล่าวได้สร้างกระแสให้กับสื่อในเบลเยียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง Flemish แห่ง Ghent ที่ซึ่งมีการพิจารณาคดีเกิดขึ้น

The Twelve  (ชื่อเดิม:  De Twaalf ) ได้เล่าเรื่องการพิจารณาคดีทางอาญาในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราจะได้เห็นชีวิตภายในและภายนอกของสมาชิกในคณะลูกขุนในขณะที่การพิจารณาคดีกำลังดำเนินไป

ซึ่งเป็นการถ่ายทอดให้เห็นว่าพวกเขานำอคติและประสบการณ์ชีวิตใดบ้างมาที่โต๊ะประชุมของเหล่าคณะลูกขุนเพื่อนทำการตัดสินคดี และเมื่อฟังหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และตัดสินว่าเธอมีความผิดหรือไม่

ต้องบอกว่าการเล่าเรื่องชีวิตของคณะลูกขุนก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่อาจส่งผลต่อมุมมองของพวกเขาต่อคดีนี้

แม้ว่าพวกเขาจะสาบานตนเองก่อนมาเป็นคณะลูกขุนว่าจะไม่มีอคติก็ตาม ความลำเอียงมีอยู่ในมุมมองของทุกคนในชีวิต ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามเป็นกลางแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในโลกของเรา

ซึ่งเรื่องราวจะโฟกัสไปยังคณะลูกขุนบางคน เช่น Delphine และสามีที่คอยควบคุมเธอ รวมถึง Holly Ceusters ซึ่งกำลังหนีจากฝันร้ายจากคดีฆาตรกรรมครอบครัวของเธอ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวแวดล้อมอื่น ๆ เช่น Marc Vindevogel  ที่รับบทพ่อของ Brechtje ที่สงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ Frie ในการฆาตกรรมลูกสาวของเขา

โดยซีรีส์ชุดนี้จะมีทั้งหมด 10 ตอน ซึ่ง แต่ละตอนจะเป็นการตั้งชื่อตามตัวละครที่มีบทบาทหลักในตอนนั้น ๆ แต่ก็ไม่ได้ใช่ตอนที่เล่าเรื่องราวของตัวละครนั้นทั้งหมดแต่อย่างใด เนื้อหาหลักของทุกตอน ก็จะเป็นการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่จะคอยคลี่ปมทุกอย่างออกมาทีละนิด

เรื่องนี้มีหลายแง่มุมที่ถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจเลยทีเดียว ทั้งการเหยียดผิว การปกครองแย่งชิงอำนาจ (ในการเป็นผู้นำคณะลูกขุน) การทำงานของสื่อ ปัญหาครอบครัว ทั้งปัญหาพ่อลูก ปัญหารักสามเศร้า เรียกได้ว่า มีรายละเอียดทุกอย่างครบ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไป มันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อเหล่าคณะลูกขุนเหล่านี้ ที่ต้องมาตัดสินชะตาชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ทั้งที่ชีวิตของตัวเองก็ยังวุ่นวายอยู่นั่นเอง

แต่น่าสนใจว่าหลังจากที่ผมได้ดูซีรีส์ชุดนี้จบ ทำให้ผมได้ย้อนไปคิดถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งได้รีวิวไปนั่นก็คือ Noise: A Flaw in Human Judgment (เสียงรบกวนสู่ข้อบกพร่องในการตัดสินใจของมนุษย์)

มันชัดเจนมาก ๆ เมื่อได้มาดูซีรีส์ชุดนี้ มันเป็นเรื่องของ Noise หรือเสียงรบกวนที่มากระทบเรา ในการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างที่สำคัญ (ในซีรีส์คือ การตัดสินให้ผู้หญิงคนนึงต้องจำคุกไปตลอดทั้งชีวิต)

ซึ่ง ก็น่าสนใจนะครับว่าในระยะยาว Daniel Kahneman (ผู้เขียนหนังสือ) มองเห็นโลกที่เราอาจ “ไม่ต้องการคน” เพื่อตัดสินใจในหลาย ๆ อย่างอีกต่อไป เมื่อสามารถจัดโครงสร้างปัญหาและรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นได้

เหล่าคณะลูกขุนที่เป็นมนุษย์ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะหุ่นยนต์มันไม่มีอารมณ์ หรือผลกระทบอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง พวกมันพิจารณาจากหลักฐาน ข้อมูลที่ปรากฏ เพียงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความแม่นยำกว่าการตัดสินใจของมนุษย์จากซีรีส์เรื่องนี้อย่างแน่นอนนั่นเองครับผม

Series Review : The Defeated (Netflix) เยอรมันหลังสงคราม กับบ้านเมืองที่ไร้ขื่อแป

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์จาก Netflix ที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจเลยทีเดียวนะครับสำหรับ The Defeated ที่เป็นการเล่าเรื่องราวของประเทศเยอรมันหลังการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ที่ต้องมาสร้างประเทศกันใหม่ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าเป็นช่วงที่ประเทศพวกเขายังไร้ขื่อแป ระบบยุติธรรมที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่จากศูนย์กันเลยทีเดียว

โดยพล็อตเรื่องได้ดำเนินขึ้นหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเมืองเบอร์ลินได้ถูกแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน โดย อเมริกา โซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส

เรื่อราวที่ว่าด้วยนายตำรวจที่มีชื่อว่า แม็ก แมคคลิริน ที่มาจากบรู๊คลิน นิวยอร์ก เขาได้ถูกส่งมาประจำการในพื้นที่ของอเมริกาในใจกลางกรุงเบอร์ลิน ที่ถูกแบ่งส่วนจากประเทศต่าง ๆ ที่ชนะสงคราม

เป้าหมายคือมาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสถานีตำรวจของกรุงเบอร์ลิน ให้เทียบเท่าในนิวยอร์ก เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศในตอนนั้นต้องบอกแทบจะแหลกสลาย บ้านเมืองเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่เป็นผลจากสงคราม

รวมถึงสาวอย่างเอลลี่ ที่ต้องมาทำงานร่วมกับ แม็ก ในการสืบสวนคดีที่เลวร้าย ที่จะพยายามควานหัวตัว เองเกิล มาร์เคิล (ตัวร้ายของเรื่อง) ที่เป็นนายแพทย์ที่ช่วยเหลือผู้หญิงในเบอร์ลินจากการถูกข่มขืน แต่ก็ต้องแลกกับการใช้งานสาว ๆ เหล่านี้เพื่อหาผลประโยชน์บางอย่างให้กับเขา

ลองจินตนาการว่า ประเทศที่แพ้สงครามใหม่ ๆ มันเต็มไปด้วยความยากลำบากขนาดไหน มีเรื่องวุ่นวายมากมายที่เกิดขึ้นในเมือง การฆ่าฟัน การข่มขืน ได้กลายเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นไปแล้วภายในเมืองแห่งนี้

ต้องบอกว่า ซีรีส์ ก็ได้ถ่ายทอดมุมมองที่น่าสนใจหลายมุม ทั้งเรื่องของความขัดแย้งระหว่างนาซี กับ ชาวยิว การล้างแค้น ความรัก การทุจริตคอรัปชั่น ที่กำลังเกิดขึ้น บนคราบน้ำตาของประชาชนชาวเยอรมัน ที่กำลังร่วมแรงร่วมใจกันสร้างชาติใหม่ขึ้นมา

แม้เนื้อเรื่องจะไม่มีอะไรมากนัก เป็นซีรีส์สืบสวนสอบสวน ผ่านบรรยากาศของเบอร์ลินยุคหลังสงครามโลกเพียงเท่านั้น เนื้อหาหลัก ก็เป็นเรื่องราวการตามหาพี่ชายที่สูญหายไปของพระเอกอย่าง แม็ก

แต่จากเส้นเรื่องหลักในการตามหาพี่ชายของเขานี่แหละ ที่จะไปขุดลึกถึง เรื่องราวอื่น ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ซึ่งเต็มไปด้วยความโหดร้าย รุนแรง และหดหู่มาก ๆ สำหรับซีรีส์ชุดนี้

แต่ต้องบอกว่า เรื่องนี้ได้จับมุมมองใหม่ที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งมีหนังหรือซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เรื่องนี้ จะเป็นแง่มุมใหม่ ๆ ที่คุณจะไม่ได้พบเจอในหนังหรือ ซีรีส์ชุดไหนมาก่อนอย่างแน่นอน

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์โดยเฉพาะส่วนของสงครามโลกครั้งที่สองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงถือว่าประทับใจกับการเล่าเรื่องของซีรีส์ชุดนี้เอามาก ๆ แต่ข้อเสียคือการดำเนินเรื่องที่ดูจะช้าไปหน่อย แม้ตอนจบจะเป็นอะไรที่เดาได้ไม่ยาก แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้ายของสงครามได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียวครับผม

American Vandal กับสุดยอด Reality ซีรีส์สืบสวนอาชญากรรมตามล่าคนวาดจู๋

เป็นอีกหนึ่งซีรีส์กึ่งสารคดี ที่ผมไม่คิดว่า มันจะสนุกขนาดนี้ สำหรับ American Valdal ที่เป็นซีรีส์ แบบ Reality ถ่ายทำจริงจากเหตุการณ์จริง ที่สืบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน High School ของอเมริกา

Season 1 : ตามล่าคนวาดจู๋

สำหรับซีรีส์ ชุดนี้ได้แบ่งเป็นสอง Season โดยเรื่องย่อของ Season แรกคือ ณ โรงเรียนมัธยมปลาย Hanover, บนรถของคณะครูอาจารย์รวมทั้งสิ้น 27 คัน พบรอยสเปรย์สีแดงฉีดจนถ้วนทั่ว ฉีดเป็นรูปไอ้จู๋ ไอ้จู๋อันใหญ่ ไอ้จู๋เต็มกระโปรงหน้า ไอ้จู๋เต็มกระบะหลัง ทุกคัน มีไอ้จู๋คันละหนึ่งอันไม่มีว่างเว้น

ใครเป็นตัวการก่อกวนในครั้งนี้ ดูเหมือนพวกอาจารย์จะมีคนร้ายในใจอยู่แล้ว นักเรียนหัวโจกชื่อ ดีแลน แม็กซ์เวลล์ เป็นคนที่ชอบเล่นตลกบ้าๆ บอๆ ในห้องเรียน จนบางครั้งทำให้อาจารย์สอนต่อไม่ได้ และเขาก็ยังเป็น ‘นักวาดไอ้จู๋’ ตัวยง และทำให้เขาถูกหมายหัวจากเหล่าคณาจาร์ในคดีสุดสะเทือนขวัญครั้งนี้

ซึ่งซีรีส์ จะนำพาตัวเรา ไปสำรวจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะเป็นการเล่าผ่านมุมมองของ ปีเตอร์และแซม คู่หูผู้ที่เดิมทีก็เป็นทีมงานชมรมนักข่าวประจำโรงเรียนอยู่แล้ว ที่จับมือกันช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราว และสืบค้นหาต้นตอที่แท้จริงว่า ถ้าดีแลนไม่ได้ทำ แล้วใครทำ? เหตุจูงใจคืออะไร? ทำไมต้องโยนให้ดีแลน?  เป็นต้น

มันเป็นเรื่องจริง ที่เหมือนพล็อตถูกแต่งมา อย่างกับนวนิยายสืบสวนสอบสวน ที่น่าสนใจเพราะมันคือเรื่องจริง ทำให้เราต่างคาดเดาไปว่าใครคือผู้กระทำผิดตัวจริงกันแน่ มีการเล่าสลับไปมา ระหว่างบทสัมภาษณ์กับ การสืบสวนสอบสวนของคู่หู ปีเตอร์และแซม

Season 2 : ตามล่า The Turd Buglar จอมโจรระเบิดขี้

หลังจากที่ตัวภาพยนตร์สารคดี American Vandal ถูกปล่อยออกไปสู่สายตาสาธารณะ ก็ทำให้เกิดเป็นกระแสและถูกพูดถึงมากมาย ปีเตอร์และแซมก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นผ่านการสัมภาษณ์ในรายการต่าง ๆ จนวันหนึ่งก็มีอีเมล์จากเด็กนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนเอกชนชื่อดังอย่าง เซนต์เบอร์นาดีน เข้ามาถึงพวกเขา

โดยมีใจความว่าโรงเรียนของเธอเกิดเหตุการณ์ที่ว่านักเรียนขี้แตกกันทั้งโรงเรียนพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้เกิดเพราะความบังเอิญแน่นอนเพราะหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็มีบุคคลปริศนาที่อ้างตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้โดยใช้นามแฝงว่า ‘The Turd Burglar’ ใน Instagram

ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ตามสืบหาต้นตอของเหตุการณ์ทั้งหมดและไปจบตรงที่โรงเรียนได้ไล่เด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ถูกเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ แต่ทั้งความจริง หลักฐานและแรงจูงใจไม่ได้ถูกบอกให้กระจ่าง ปีเตอร์และแซมจึงได้เริ่มถ่ายสารคดีหนังออนไลน์อีกครั้งเพื่อตามหาความจริงและเปิดโปงตัวตนของ The Turd Burglar

ส่วนตัวต้องบอกว่าผมชอบ Season สองมากกว่า เพราะเหมือนว่า ปีเตอร์และแซม มีประสบการณ์มากขึ้นในการทำสารคดีชุดนี้ ที่ Season สองดูจะมีการเล่าเรื่องที่ซีเรียสมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นของ Season 2 คือ ตัวละครหลักอย่าง เควิน แมคเคลน ที่เป็นเด็กนักเรียนที่ชอบทำตัวประหลาด ๆ ในโรงเรียน รวมถึง เดอร์มาคัส ทิลแมน นักกีฬาบาสเก็ตบอลดาวรุ่ง ที่ เรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่ conflict กันอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ต้องบอกว่ามันส์มาก ๆ เราลุ้นอยู่ตลอดเวลา ในการตามล่าหาจอมโจร The Turd Burglar ตัวจริง ว่าเป็นใครกันแน่ มีพลิกหักมุมอยู่แทบจะตลอดเวลา อย่างกับถูกเขียนขึ้นผ่านบทละคร

บทสรุป

ต้องบอกว่าซีรีส์ชุดนี้มันได้สะท้อนให้เราเห็นถึงสังคม High School ของอเมริกาในยุคปัจจุบันได้อย่างดีมาก ๆ การเติบโตของเครือข่าย social media ทำให้เป็นยุคของ Camera Anywhere รวมถึงการ Bully กัน ที่เรียกได้ว่ากลายเป็นเรื่องปรกติไปเสียแล้ว

มันสะท้อนให้เห็นถึงการอยากสร้างตัวตนขึ้นมา ให้ทุกคนรู้จัก ซึ่งกลายเป็นเรื่องปรกติในยุคนี้ไปเสียแล้ว ทั้งที่เรื่องราวในโลก Social กับ ชีวิตจริง ๆ อาจจะแตกต่างกันแบบสิ้นเชิงเลยก็ได้

American Vandal จึงเป็นซีรีส์ที่สะท้อนสังคมไฮสคูลที่สมจริงมากกว่าซีรีส์อื่นในแนวเดียวกันอีกหลายเรื่องที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด และเป็นซีรีส์สืบสวนสอบสวนแบบ Reailty ที่คุณจะไม่มีทางเดาตอนจบของเรื่องราวทั้งหมดได้ และที่สำคัญไม่ควรพลาดรับชมเป็นอย่างยิ่งครับผม