Compaq Computer ผู้ปฏิวัติวงการ PC ตัวจริงที่ถูกลืม

ถ้ากล่าวถึงแบรนด์อย่าง Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามีแบรนด์ นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Compaq เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

ต้องบอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลยทีเดียวสำหรับการเริ่มธุรกิจ ซึ่ง Rod Canion นั้นถนัดทางด้านบริหารธุรกิจ Murto ถนัดทางด้านการตลาด ส่วน Harris นั้น จะถนัดทางด้าน Engineer แต่ต้องบอกว่า การที่ทั้งสามออกจากบริษัทยักษ์ และมั่นคงอย่าง Texus Intrument แล้วมาเริ่มธุรกิจนั้น มีแต่คนหาว่าพวกเขาบ้าแม้กระทั่งครอบครัวของพวกเขาเองก็ตาม

เริ่มต้นจากงานอดิเรก และความคิดบ้า ๆ

มันเป็นการเริ่มต้นจากงานอดิเรกพร้อมกับความคิดบ้า ๆ ของทั้งสามคน ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าทั้งสามไม่ได้มีเงินมากมายรวมถึงไม่ได้มีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายอย่าง Startup ในปัจจุบัน ทั้งสามต้องจำนองบ้าน รวมถึงขายรถเพื่อมาเป็นทุนในการเริ่มต้นเปิดบริษัท

ในยุคนั้นต้องบอกว่า IBM นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่มาก ๆ ของวงการธุรกิจของอเมริกาควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จในโลกเทคโนโลยี ทำทุกอย่างตั้งแต่ computer mainframe สำหรับองค์กร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การที่จะมาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM นั้นถือว่าไม่ใ่ช่เรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดีเหล่า 3 ผู้ก่อตั้งแห่ง Compaq นั้นได้เห็นช่องว่างทางการตลาดบางอย่าง ที่ IBM ยังครอบครองแบบไม่เบ็ดเสร็จนั่นก็คือตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้ หรือ ตลาด notebook ในปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น ต้องบอกว่าแม้จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถพกพาได้ แต่ขนาดเครื่องก็มีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีรูปร่างไม่สวยรวมถึงไม่ได้มีแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งานแบบไม่ต้องเสียบปลั๊กเหมือนในยุคปัจจุบัน

การเริ่มหาทุนในการตั้งบริษัทนั้น ในขณะที่ทั้งสามมีแต่ไอเดียและร่างแบบคร่าว ๆ ของคอมพิวเตอร์แบบพกพา ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหาทุนเริ่มต้นในสมัยนั้น

ทาง Rod Canion จึงได้เขียนแผนธุรกิจคร่าว ๆ ขึ้นมา และได้มีโอกาสไปพบกับ Ben Rosen โดยเริ่มลงทุนให้ 750,000 เหรียญเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น Silicon Valley ยังคงเป็นเพียงแค่ทุ่งและ สวนผลไม้

ทั้งสามคนก็ได้เริ่มว่าจ้างทีมงานจากเงินลงทุนเริ่มต้น และเริ่มทำการผลิตตัว Compaq Portable ตัวแรกออกมา โดยใช้วิธีการ Reverse Engineer หรือ วิศวกรรมย้อนกลับจาก IBM PC  เนื่องจาก IBM ขณะนั้นประสบความสำเร็จ และขายได้ติดตลาดไปแล้ว ต้องทำทุกอย่างให้สามารถ Run Software ของ IBM ได้ทั้งหมด ก็จะเข้าถึงตลาดขนาดมหาศาลที่ IBM ได้เริ่มเปิดตลาดไว้แล้ว

การเริ่มต้นคือต้องทำการลอก Code ของ IBM ที่เป็นตัว Chip หลักที่ใช้ Control PC เพราะส่วนประกอบอื่น ๆ ของ PC นั้นสามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป สิ่งที่เป็นจุดต่างคือ Chip ที่มีรหัสพิเศษของ IBM เท่านั้น เครื่องก็จะสามารถทำงานกับ Software และ Hardware ต่าง ๆ ของ IBM ได้

ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC
ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC

ในทีุ่สดพวกเขาก็ทำสำเร็จ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง Compaq Portable PC ออกมาได้ และสามารถใช้งานได้กับ Software ของ IBM ได้ทุกอย่าง โดยมีขนาดเบากว่าและราคาที่ถูกกว่า บริษัทได้เชิญสื่อมามากมายในวันเปิดตัวปี 1982 ใน นิวยอร์ก

จากการเปิดตัวทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียงผู้คนเริ่มชอบในผลิตภัณฑ์ของ Compaq ซึ่งต้องบอกว่าพวกเขาได้สร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกมาได้อย่างดีมาก พนักงานที่ขายผลิตภัณฑ์ของ IBM อยู่แล้วก็ไม่ยากเลยที่จะขายผลิตภัณฑ์ของ Compaq เพราะมันสามารถทำงานได้เหมือนกัน ต้องบอกว่าสินค้าขายดีมากและผลิตแทบจะไม่ทันกันเลยทีเดียวในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย

แค่ปีแรกเพียงปีเดียว Compaq สามารถขาย Portable PC ของตัวเองไปได้ถึง 53,000 เครื่อง สื่อถึงกับยกให้บริษัท Compaq นั้นเป็นบริษัทที่เติบโตได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

สู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM

หลังจากนั้น IBM ก็ได้ออก Portable PC เพื่อมาตอบโต้กลับในปี 1984  โดยออกมาเพื่อจะฆ่า Compaq โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่พวกเขาพลาดไปและมั่นใจเกินไปนั่นคือ Portable PC ของ IBM นั้นไม่สามารถรัน Software บางส่วนของ IBM PC เดิมได้

และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรม PC เลยก็ว่าได้  Compaq แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะ Portable PC นั้นสามารถ run ทุกอย่างของ IBM PC ได้ ทำให้ยอดขายยิ่งกระฉูดขึ้นไปอีก มีการขยายโรงงานการผลิต รวมถึงรับพนักงานมากจนถึงกว่า 1000 คนภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับ Silicon Valley

ถ้าถามว่าวัฒนธรรมการแจกอาหารฟรี รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานได้อย่างเต็มที่ของบริษัท Startup ในปัจจุบันนั้นใครเป็นคนริเริ่ม ก็ต้องบอกว่า Compaq นี่แหละเป็นผู้ที่สร้างวัฒนธรรมนี้ให้กับ Silicon Valley

เพราะ Compaq เป็นบริษัทแรกที่มีการแจกอาหารและเครื่องดื่ม ให้พนักงานได้รับประทานกันแบบฟรี ๆ ในยุคนั้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แปลกใหม่พอสมควร ทำให้คนสนใจที่จะมาทำงานกับ Compaq มากยิ่งขึ้น และสามารถ Focus กับงานที่ทำได้อย่างเต็มที่

แล้วบริษัทอย่าง Apple หายไปไหนในช่วงนั้น

ช่วงปีต้น ๆ ของ Compaq นั้น Apple ก็ได้ออกวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ขนาดตลาดของ Apple เมื่อเทียบกับขนาดตลาดของ PC ที่ IBM เป็นคนเปิดตลาดมีความแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าเทียบตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งหมดนั้น Apple สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพียงแค่ 4-5% เท่านั้น


และการที่ Apple เป็บระบบปิดไม่สามารถเชื่อมต่อกับใครได้ software ก็รันของตัวเอง ก็ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดได้น้อยมาก ๆ แม้จะวางจำหน่ายแมคอินทอชพร้อมระบบ Inteface ใหม่ พร้อม mouse ที่เป็นการปฏิวัติวงการในขณะนั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว Apple เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ไปเลยเมื่อเทียบกับตลาด PC ที่ IBM ครองตลาดอยู่ในตอนนั้น ซึ่ง Compaq มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ IBM ซึ่งใหญ่มาก ๆ ทำให้ Compaq แทบจะเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทของประเทศอเมริกา

การเติบโตแบบก้าวกระโดด

ด้วยความผิดพลาดของ IBM รวมถึง Apple ก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้กับแมคอินทอชรวมถึงลิซ่า ทำให้ Steve Jobs ก็ต้องถูกบีบให้ออกจาก apple ไปในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้น ก็ไม่มีใครจะมาขัดขวางการเติบโตของ compaq ได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของเทคโนโลยีรวมถึงการตลาด ที่เริ่มนำเอาผู้มีเชื่อเสียงมาช่วยในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำให้ยอดขายของ Compaq เติบโตขึ้นเกินกว่าปีละ 100% ตลอดในช่วงแรกเริ่มและพุ่งไปถึงกว่า 500 ล้านเหรียญในปี 1985

จุดเปลี่ยนที่สำคัญกับการเข้ามาของ Intel Chipset 386

IBM นั้นมักจะได้สิทธิ์ Exclusive กับ Chip ของบริษัทชื่อดังอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ IBM ถูกปฏิเสธโดย Intel ซึ่ง Chipset 386 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของ Chip ที่ทำให้การทำงานของ PC ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

เมื่อ Intel ไม่ได้ Exclusive ตัว Chip 386 กับ IBM แล้ว  Compaq ก็เร่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ Chipset 386 เพื่อออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด

ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ
ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ

ไม่เพียงแค่ Chipset Intel 386 เท่านั้น เมื่อ Compaq ออกผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ก็ได้มีการร่วมมือกับ Microsoft ของ Bill Gate ที่ยอมให้ระบบปฏิบัติการของ Windows สามารถรันได้บน Compaq ได้แบบที่ว่าไม่ต้องไปทำการ Copy Chip Code ใด ๆ จาก IBM อีกต่อไป  เป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างสิ้นเชิงและปลดแอกจาก IBM ในที่สุด

ความสุดยอดของ Chipset 386 ทำให้ Compaq เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเริ่มฉีกหนี IBM ออกไป และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก IBM ไปได้อย่างมาก

แม้ตลาดองค์กร IBM จะเป็นเจ้าตลาดอยู่ก็ตามแต่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นต้องบอกว่า Compaq ได้ทำยอดขายแซง IBM ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Compaq ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็เข้าสู่ทำเนียบ Fortune 500 ได้สำเร็จ

สามผู้ก่อตั้งต่างร่ำรวยจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่พนักงานกลุ่มแรก ๆ ที่ได้หุ้น ก็ทยอยกลายเป็นเศรษฐีกันไปด้วย ต้องบอกว่า Compaq เป็นบริษัทที่ใช้เวลาสร้างกิจการได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา และสามารถทำยอดขายแตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เร็วที่สุดอีกด้วย

ความผิดพลาดซ้ำสองของ IBM

การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ IBM ถือเป็นครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับบริษัทที่เพิงเกิดใหม่เพียงไม่กี่ปีอย่าง Compaq

IBM ต้องเริ่มใช้การฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรของ Compaq โดยใช้การ Reverse Engineer ที่ Compaq ทำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงเหมือนกันที่ Compaq จะถูกฟ้องร้องจนอาจต้องถูกปิดบริษัทไปเลย แต่สุดท้าย Rod Canion ก็ใช้วิธีการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายจนตกลงกันได้ที่ประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ

IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM
IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM

ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของ IBM คือการต้องการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ Compaq สามารถลอกเลียนแบบได้ โดยออกระบบปฏิบัติการใหม่คือ PS/2 ที่ยากที่คู่แข่งจะเลียนแบบ ซึ่งต้องบอกว่า IBM ต้องการฆ่าทุกคนในธุรกิจนี้เลยก็ว่าได้

แต่หารู้ไม่การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ที่ไม่สามารถเข้ากับผลิตภัณฑ์ตัวเดิมของ IBM ได้เลยนั้นถือเป็นการฆ่าตัวตายของ IBM เอง เพราะองค์กรใหญ่หลาย ๆ องค์กรในสหรัฐได้สั่งซื้อเครื่อง computer ของ IBM ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนต้องมีการเปลี่ยนแบบยกองค์กรและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทำให้องค์กรหลาย ๆ องค์กรไม่ต้องการซื้อ PS/2 ของ IBM เพราะต้องมาเริ่มเรียนรู้กันใหม่หมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาลมาก ๆ

เหมือนยื่นดาบให้ศัตรูมาฆ่าตัวเองเลยก็ว่าได้สำหรับ IBM ชัดเจนว่าต่อจากนี้ ตลาด PC นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว IBM ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตลาดอีกต่อไป มีการรวมตัวของผู้ผลิต PC ขนาดใหญ่จำนวน 9 ราย รวมถึงมีการเจรจากับ Bill Gate จาก Microsoft และพัฒนามาตรฐานของพวกเค้าเองในชื่อ EISA (Extended Industry Standard Architecture) โดยที่ไม่เกี่ยวข้องใด  ๆ กับ IBM อีกต่อไปเป็นการถีบ IBM ออกจากตลาด PC แบบถาวรเลยก็ว่าได้

เมื่อ Compaq เข้าสู่ยุคตกต่ำ

แม้การรวมตัวจะเป็นผลดีและทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นและที่สำคัญสามารถกำจัด IBM ออกจากตลาดได้สำเร็จ แต่ขนาดองค์กรของ Compaq ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มยากที่จะบริหารให้ได้เหมือนตอนเริ่มต้นกิจการ

Compaq เริ่มมีการขยายตลาดไปยังยุโรป ทำให้ได้เจอกับ Eckhard Pfeiffer ที่ถนัดในเรื่องการผลิตในปริมาณมาก ๆ แต่ตัว Rod Canion เองนั้นอยากให้ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพเหมือนเดิมต่อไป รวมถึงผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างโตชิบ้าก็สามารถผลิตในราคาที่ถูกกว่าซึ่งเป็นการเข้ามากำจัดจุดเด่นของ Compaq ในยุคแรก ๆ ไปเลยก็ว่าได้

ปัญหาต่าง ๆ เริ่มรุมเร้าตัว Rod Canion เองและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เริ่มมีการตีตลาดจากแบรนด์นอก รวมถึงดาวรุ่งที่พุ่งแรงขึ้นมาอย่าง Dell ที่สามารถผลิตสินค้าในราคาถูกกว่า Compaq

ทำให้ยอดขายของ Compaq เริ่มตก บริษัทเริ่มปลดพนักงานออกไป Rod Canion เริ่มถูกกดดันจากกรรมการบริษัทคล้าย ๆ กรณีของ Steve Jobs ที่ถูกกดดันให้ออกจาก Apple

Rod Canion เริ่มทนกระแสกดดันไม่ไหวจนต้องยอมถอนตัวออกไป เป็นการสิ้นสุด Compaq ของยุคผู้ก่อตั้งทั้งสามและให้ Eckhard Pfeiffer เข้ามาเป็น CEO แทน

ซึ่งสุดท้ายก็มีการควบรวมกิจการกับ HP เพื่อกลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2002 เป็นการสิ้นสุดแบรนด์ Compaq ไปในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.wikipedia.org
https://history-computer.com/the-real-reason-compaq-failed-spectacularly/
https://www.pcmag.com/news/the-golden-age-of-compaq-computers
https://www.wnyc.org/story/unlikely-pioneers-who-founded-compaq-and-transformed-tech/

Geek Life EP27 : เคล็ดลับการเพิ่ม Productivity จาก Elon Musk, Jeff Bezos และ Steve Jobs

ทุกคนมีเวลาในหนึ่งวัน 24 ชั่วโมงเท่ากันกับคนอย่างElon Musk ซึ่งไม่ใช่เพียง CEO ของ Tesla แต่ยังรวมถึง SpaceX, The Boring Company และ Neuralink และ Jack Dorsey ซึ่งเป็น CEO ของทั้ง Twitter และ Square

แล้วผู้ก่อตั้งมหาเศรษฐีที่มีงานยุ่งเช่น Musk และ Dorsey จะจัดการวันเวลาของพวกเขาอย่างไร? และนี่คือเคล็ดลับของ Musk’s, Dorsey’s และผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆ ในการเพิ่ม Productivity

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/36qkHkF

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/35cXAtj

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3I3DZu9

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3I8YhST

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/XG_dS3ul4qk

References Image : https://in.askmen.com/career/1124786/article/jeff-bezos-elon-musk-steve-jobs-and-more-the-weirdest-habits-of-highly-successful-ceos-and-business

จิตวิทยาเบื้องหลัง iPhone รุ่นใหม่ และเหตุใดจึงยากที่จะต้านทานกิเลสกับมัน

นับตั้งแต่ Steve Jobs ประกาศวางขาย iPhone เครื่องแรกในงาน MacWorld ในปี 2007 Apple ได้เปิดตัว iPhone มากกว่า 20 รุ่น จากข้อมูลในเดือนมกราคม 2019 พบว่ามีชาวอเมริกันกว่า 80% เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน

และในปีเดียวกันนั้นมี iPhone ที่ใช้งานอยู่ 900 ล้านเครื่องทั่วโลกตามรายงานของ Tim Cook CEO ของ Apple เมื่อ Apple ประกาศเปิดตัว iPhone 12 ในวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้สั่งซื้อ iPhone ล่วงหน้าประมาณ 2 ล้านคนภายในแค่ 24 ชั่วโมงแรกเพียงเท่านั้น

แล้วทำไมแฟน ๆ เหล่าสาวก Apple ต่างก็ชื่นชอบและอยากซื้อ iPhone รุ่นใหม่ทุกครั้ง? นี่คือเหตุผลทางจิตวิทยาที่ยากที่จะต้านทานกิเลสจาก iPhone รุ่นใหม่

เราติดใจกับคำว่า ‘what’s next’

การผลิต iPhone รุ่นใหม่แต่ละครั้งมีคุณสมบัติใหม่ ๆ เช่น iPhone 4 ในปี 2011 นำกล้อง “เซลฟี่” แบบหันหน้าไปทางด้านหน้าเป็นครั้งแรก ในขณะที่ iPhone 5S ในปี 2013 เปิดตัวการสแกนลายนิ้วมือ Touch ID ส่วนรุ่นล่าสุดอย่าง iPhone 12 มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G ที่เร็วขึ้นและกล้องที่สุดล้ำ

“ถึงแม้ว่า iPhone เครื่องปัจจุบันของคุณจะทำงานได้ดีอยู่แล้วก็ตาม แต่ผู้คนต่างสนใจการปรับปรุงคุณภาพและความสามารถเหล่านั้น” Kelly Goldsmith รองศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก Vanderbilt University ใน Owen Graduate School of Management กล่าว

โทรศัพท์รุ่นใหม่แต่ละรุ่น และ Apple ในฐานะแบรนด์ก็ได้แสดงถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ และคำว่า “what’s next” ซึ่งผู้บริโภคมักจะให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง Katie Martell ที่ปรึกษาด้านการตลาดกล่าว “เราอาศัยอยู่ในโลกที่มีอะไรใหม่ ๆ และอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด”

มันเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของคุณ

ในปี 2011 Samsung คู่แข่งของ Apple ได้เปิดตัวโฆษณาที่ล้อเลียนผู้คนที่มาต่อแถวนอกร้านค้า Apple เพื่อรอการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ มีการล้อเลียนในโฆษณาว่า “ถ้าหน้าตาของเครื่องมือถือมันเหมือนกัน คนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณได้อัปเกรดรุ่นใหม่ไปแล้ว” 

การมีโทรศัพท์รุ่นล่าสุดและดีที่สุดเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ Goldsmith กล่าว “ มันเป็นสิ่งที่คุณพกติดตัวตลอดเวลาดังนั้นมันจึงถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับคุณให้คนอื่นรู้” เธอกล่าว

โทรศัพท์ของคุณยังเป็นกลไกที่แข็งแกร่งสำหรับสิ่งที่เรียกว่า ”สัญลักษณ์ของตัวคุณ” ซึ่งเป็นแนวคิดในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของคุณที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อเกี่ยวกับตัวคุณเอง

ในกรณีนี้การมี iPhone รุ่นใหม่ล่าสุดสามารถเพิ่มความนับถือต่อตนเอง และเตือนคุณว่าคุณไม่ได้ล้าสมัย “ทุกครั้งที่คุณมองไปที่โทรศัพท์เครื่องนั้น จะบอกคุณบางอย่างเกี่ยวกับตัวคุณและมันเป็นการตอกย้ำลักษณะบางอย่างของตัวคุณเอง” Goldsmith กล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Apple มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมผู้บริโภคด้วยการโปรโมตเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้กับ iPhone เครื่องใหม่ของพวกเขา Martell กล่าว 

ตัวอย่างเช่น Apple สนับสนุนให้ผู้คนแชร์รูปภาพที่ถ่ายบน iPhone ด้วย แฮชแท็ก “#ShotoniPhone” เพื่อนำไปรวมอยู่ในป้ายโฆษณาและแคมเปญโฆษณาของApple นี่เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคทราบว่า “คุณมีอำนาจนั้นอยู่ในมือ”

ช้าอดหมดนะจ๊ะ!!!

เมื่อ iPhone รุ่นใหม่พร้อมใช้งานเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นเหล่าสาวกมารอคอยรอบ ๆ ร้าน Apple หลายชั่วโมงก่อนที่ร้านจะเปิด แฟน ๆ Apple ต้องการเป็นคนแรกที่มีและใช้อุปกรณ์และมักหลีกเลี่ยงการรอคอยจากความล่าช้าในการจัดส่ง

สำหรับผู้บริโภคเส้นแบ่งที่อยู่นอกร้านเป็นสัญญาณว่าอะไรก็ตามที่อยู่ภายในร้าน Apple นั้นมีคุณค่า มีแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสองประการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว : การพิสูจน์ทางสังคม (การทำให้เชื่อว่าคนอื่นก็ต้องการสินค้า) และ ความขาดแคลน (ความกลัวว่าอาจมีไม่เพียงพอ) Goldsmith กล่าว

การวิจัยพบว่าเมื่อคุณคิดว่าสิ่งของหายากมันจะเพิ่มความเร้าอารมณ์ของคุณ และทำให้คุณรู้สึกตื่นตระหนกในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว การรับรู้ถึงความขาดแคลนทำให้คุณมีความเข้าใจในความจริงน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะปล่อยใจไปกับสิ่งของที่คุณชื่นชอบมากกว่าการหาทางเลือกอื่น ๆ ที่มีเหตุผลมากกว่า

″นั่นทำให้คุณอยากซื้อ ทำให้คุณอยากเข้าแถวและทำให้คุณไม่อยากพลาด” เธอกล่าว

“ผู้บริโภคตอบสนองแทบจะรุนแรงเกินไปต่อกลยุทธ์ทางการตลาดที่ขาดแคลนเหล่านี้” Goldsmith กล่าว

มันเป็นประสบการณ์ทางสังคม

“Apple ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับการรอคอย iPhone และคาดหวังถึงสิ่งที่จะมีใน iPhone และการพูดคุยเกี่ยวกับ iPhone” Goldsmith กล่าว ด้วยการประกาศวันที่วางจำหน่ายของ Apple“ มันเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากที่คุณรู้สึกกับคู่แข่งรายอื่น ๆ” Martell กล่าว

References : https://www.cnbc.com/2020/10/19/iphone-12-pre-orders-sales-exceed-iphone-11-top-analyst-says.html
https://www.youtube.com/watch?v=tNxDd3l0lEU
https://www.apple.com/newsroom/2019/01/share-your-best-photos-shot-on-iphone/
https://www.cnbc.com/2019/09/20/apple-iphone-11-goes-on-sale-with-lines-outside-major-stores-around-the-world.html
https://changingbusiness.johnshopkins.edu/spring2015/blog/2015/03/13/the-less-i-see-you-the-more-i-want-you/
Jonathan Brady/PA Images via Getty Images

The Second Coming กับการตัดสินใจที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการธุรกิจ

ต้องบอกว่าถือเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการธุรกิจ ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารของ Apple ในปี 1996 เพื่อนำ Steve Jobs กลับคืนสู่ บริษัท ที่เขาร่วมก่อตั้งมาเมื่อ 20 ปีก่อนหน้า

ในช่วงเวลาทศวรรษครึ่งระหว่างการกลับมาของ Steve Jobs ไปจวบจนถึงการเสียชีวิตของเขาในปี 2011 เขาได้ทำให้ Apple กลายเป็น บริษัท ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก 

อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงและสถานการณ์ของการกลับมาของ Jobs แสดงให้เห็นว่าเบื้องหลังการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่บางอย่าง หรืออาจจะทั้งหมด เป็นการผสมผสานระหว่างจังหวะเวลาที่ดี และเรื่องของโชคชะตา

ต้องบอกว่า Apple เป็นเรื่องราวความสำเร็จของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จากความแข็งแกร่งของคอมพิวเตอร์ Macintosh และการทำให้ Mac เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริโภคเครื่องแรกที่ใช้ไอคอนและเมาส์ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมในภายหลัง

ภายใต้คำบรรยายอันสวยหรูของ สตีฟ จ๊อบส์ เครื่อง Mac นั้นใช้งานง่ายและวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แคมเปญโฆษณาชื่อดัง “1984” ที่ Apple เปิดตัวในงาน Super Bowl

โดยในปีนั้น Apple แสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นผู้กำราบ IBM ที่เป็นยักษ์ใหญ่ทรงพลังในยุคนั้น และยังคงเป็นหนึ่งในการแสดงแบรนด์และการจัดการภาพลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจที่สุดในอุตสาหกรรมโฆษณา

อย่างไรก็ตามในหลายปีต่อมา Apple ก็ถึงคราวต้องสะดุด เพราะเริ่มมีการขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์หลายประเภทตั้งแต่เครื่องพิมพ์ไปจนถึงคอมพิวเตอร์พกพา อย่างเครื่อง Newton ที่แสนน่าอาย

หากการจัดการของ Apple อ่อนแอ คณะกรรมการของบริษัทก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกันนัก ในปี 1993 ได้แทนที่ CEO คนเก่าอย่าง John Sculley ด้วยหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการที่เยอรมันของ Apple อย่าง Michael Spindler 

Spindler ต้องเข้ามากอบกู้ Apple ที่กำลังตกต่ำ ในปี 1995 เขาพยายามที่จะขายบริษัทให้กับ Sun Microsystems แต่สุดท้ายข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น 

และในช่วงเวลาเดียวกันกับมหาเศรษฐี Larry Ellison ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Steve Jobs ได้พิจารณาซื้อ Apple และจะนำเพื่อนของเขาอย่าง Jobs กลับมาอีกครั้งในตำแหน่ง CEO 

แต่ทว่า Ellison ไม่เคยเปลี่ยนการพูดคุยของเขาให้กลายเป็นการกระทำอย่างแท้จริง และในปี 1996 คณะกรรมการไม่พอใจกับ Spindler และหันไปหา Gil Amelio ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตชิปจาก National Semiconductor

โดยพื้นฐานแล้ว Amelio ไม่เคยแม้จะมีโอกาสที่จะกลายมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Apple เลยด้วยซ้ำ ด้วยภูมิหลังที่ขายส่วนประกอบให้กับผู้ผลิตรายอื่นเขาจึงไม่มีประสบการณ์ด้านสินค้าสำหรับผู้บริโภค

ในปี 1996 Apple ขาดทุน 816 ล้านดอลลาร์จากยอดขาย 9.8 พันล้านดอลลาร์ซึ่งบริษัทกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิด โดยยอดขายลดลง 11% จากปีก่อนหน้า

ในช่วงเวลาอันมืดมนนี้คณะกรรมการของ Apple ซึ่งมีความผิดฐานจ้างซีอีโอ 2 คน และล้มเหลว แม้ว่าจะเกือบล้มเหลวเป็นครั้งที่สามก็ตาม 

แต่ Amelio ทำให้คณะกรรมการเชื่อมั่นว่า Apple จำเป็นต้องซื้อ บริษัท ซอฟต์แวร์เพื่อที่จะได้ทรัพย์สินทางปัญญาและความสามารถในการแทนที่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการที่มีอายุมากเกินไปแล้วของพวกเขา

Apple ได้ยื่นข้อเสนอให้กับ บริษัท Be ซึ่งบริหารงานโดย Jean-Louis Gassée อดีตผู้บริหารของ Apple  แต่ Gassée ไม่พอใจกับข้อเสนอของ Apple เท่าใดนัก

และในช่วงเวลาเดียวกันนี่เอง Garrett Rice ผู้บริหารระดับกลางของ NeXT ได้ติดต่อผู้บริหารระดับสูงของ Apple พร้อมคำแนะนำว่า Apple ควรซื้อ NeXT เพราะผู้ก่อตั้ง NeXT ไม่ใช่ใครอื่นเพราะเขาคือ Steve Jobs

Steve Jobs ที่ได้ไปเริ่มต้นใหม่กับ NeXT แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
Steve Jobs ที่ได้ไปเริ่มต้นใหม่กับ NeXT แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เขาเริ่มต้น บริษัท ได้ไม่นานหลังจากออกจาก Apple โดยเดิมทีนั้น NeXT เป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่กำหนดเป้าหมายไปที่ตลาดการศึกษา อย่างไรก็ตาม NeXT ได้ล้มเหลวในฐานะผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และกำลังประสบความล้มเหลวในตลาดซอฟต์แวร์ด้วยเช่นเดียวกัน 

Garrett โทรหา Apple โดยที่ไม่รู้ปัญหาของในอดีตของ Jobs แต่อย่างใด และ Apple ก็เริ่มคุยกับ NeXT โดยที่ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ในบอร์ดของ Apple 

ในช่วงปลายปี 1996 การเจรจากับ Be สิ้นสุดลง และ Apple เริ่มเจรจาอย่างจริงจังกับ NeXT คราวนี้ Gil Amelio ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของการสนทนา 

Amelio เข้าใจถึงคุณค่าของซอฟต์แวร์ของ NeXT และผลกระทบต่อขวัญกำลังใจ ในวิสัยทัศน์ของผลิตภัณฑ์และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งอาจมาจากการชักชวนให้ Steve Jobs เข้าร่วมงานกับ Apple อีกครั้ง

Amelio เคยพบกับ Jobs ในปี 1994 เมื่อ Amelio เข้าร่วมคณะกรรมการ Apple และ Jobs ขอความช่วยเหลือจาก Amelio ในการตั้ง CEO ของ Apple 

Amelio อาจจะคิดไปเองว่า Jobs เป็นผู้จัดการที่มีชื่อเสียงอย่างฉาวโฉ่ในการบริหารงาน Apple ครั้งแรก และที่ NeXT เอง Jobs ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้ว่าสตีฟจ็อบส์จะเก่งและมีเสน่ห์ แต่สตีฟจ็อบส์ในปี 1996 นั้นก็ไม่ใช่ตัวแทนของ CEO ที่ชัดเจนนักที่จะฝากอนาคตไว้ได้

ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนว่า Jobs จะไม่แยแสกับการเข้าร่วม Apple อีกครั้ง จนเขาปฏิเสธคำขอของ Amelio ในการเซ็นสัญญาจ้างงานกับ บริษัท โดยเลือกที่จะเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการมากกว่า

นอกจากนี้ Jobs ยังเรียกร้องให้ Apple จ่ายเงินจำนวน 427 ล้านดอลลาร์ให้กับ NeXT เป็นเงินสดซึ่งหมายความว่าจ็อบส์ไม่สนใจสิ่งจูงใจในระยะยาวในการสร้างความมั่นใจว่าการเข้าซื้อ NeXT ของ Apple จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่เขาได้รับเงินเป็นเงินสด

โดย Jobs ได้ขอที่นั่งในคณะกรรมการบริหารของ Apple แต่คำขอดังกล่าวถูก Amelio ปฏิเสธ ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1996 และอีกหลายสัปดาห์ต่อมา Jobs มีบทบาทเล็กน้อยในการนำเสนอของ Apple ในงาน Macworld ในปีนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1997 เป็นการตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญกับงานอีกครั้ง Amelio ต้องการเวทมนตร์ของ Jobs เพื่อมากอบกู้ Apple อย่างชัดเจน แม้ว่า Amelio ก็ต้องการที่จะรักษางานของเขาไว้ด้วยก็ตามที

ไม่นานหลังจากที่ Jobs ได้กลายมาเป็น “ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ” ให้กับ บริษัทเดิมของเขา เขาก็เริ่มท่องไปในบริษัทราวกับว่าเขาเป็นเจ้านายคนใหม่ ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้พบกับ Jonathan Ive นักออกแบบอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ซึ่งเมื่อปีก่อนหน้าเพิ่งได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Apple 

Jobs ได้ชื่นชมต้นแบบที่ Ive กำลังสร้างอยู่รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ออล – อิน – วันโปร่งแสงที่จะกลายเป็น iMac ในภายหลัง Jobs ยังอยากรู้ในสิ่งที่ทุกคนทำอยู่ หลังจากหายไปจากบริษัทเป็นเวลาเนิ่นนาน

Jobs เองก็ไม่ได้เป็นพนักงานของ Apple (ในความเป็นจริงเขาเป็น CEO ของ Pixar ในเวลานั้น) เขาไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นที่สำคัญ เขาไม่ได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการด้วยซ้ำ แต่ข่าวลือรอบ ๆ Apple ก็เริ่มมีกระแส ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นกับ Apple ซึ่งในไม่ช้าชาวซิลิคอนวัลเลย์ก็รู้ว่า Jobs กำลังแย่งชิงอำนาจจาก Amelio อย่างเงียบ ๆ

ในเวลานี้สมาชิกคณะกรรมการคนใหม่ล่าสุดของ Apple อดีต CEO ของดูปองท์ Edgar Woolard เริ่มตื่นตระหนกเกี่ยวกับ Amelio เขาพูดคุยกับทั้ง Amelio และ Jobs รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ Apple คนอื่น ๆ

ในขณะที่ Apple อยู่ในโหมดลดขนาดองค์กรอย่างต่อเนื่อง และ Woolard ก็กังวลเกี่ยวกับความสามารถของ บริษัท ในการบรรลุตามแผน รวมถึงเรื่องของขวัญกำลังใจพนักงานที่ตกต่ำแบบสุดขีด

ในเดือนกรกฎาคมหลังจากปรึกษากับ Jobs ตัว Woolard เป็นหัวหอกในการตัดสินใจของคณะกรรมการที่จะไล่ Amelio ออกไปให้พ้นทาง 

ในขณะที่ Woolard เองก็ไม่แน่ใจได้ว่าจ็อบส์จะก้าวเข้ามาเป็นซีอีโอหรือไม่ แต่เขารู้สึกได้ว่าองค์กรเริ่มจะคล้อยตามอดีตผู้นำของพวกเขา ซึ่งการไล่ Amelio นั้นเป็นการตัดสินใจที่จะช่วยให้ Jobs ฟื้นอำนาจใน บริษัท ได้ในท้ายที่สุด 

Gil Amelio ผู้นำพา Steve Jobs กลับมา ก่อนทีตัวเองจะถูกไล่ออกตามไป
Gil Amelio ผู้นำพา Steve Jobs กลับมา ก่อนทีตัวเองจะถูกไล่ออกตามไป

แม้ว่า Amelio จะจากไปแล้วก็ตามที Jobs ก็ยังไม่เต็มใจที่จะเป็น CEO ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลว่าเขาไม่สามารถเป็น CEO ของ Apple และ Pixar พร้อมกันได้ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่แน่ใจว่า Apple จะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ในสมรภูมิธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม Jobs ตกลงที่จะเข้าร่วมคณะกรรมการของ Apple แต่ด้วยเงื่อนไขที่คณะกรรมการทุกคนต้องอึ้ง เพราะเขาต้องการให้ทุกคนในคณะกรรมการ ยกเว้นเพียงแค่ Woolard ลาออก เพื่อให้ Jobs สามารถสร้างบอร์ดใหม่กับคนที่เขาไว้ใจได้ 

เมื่อ Amelio จากไป Jobs ก็เริ่มบริหารงาน Apple อย่างมีประสิทธิภาพ เฟรด แอนเดอร์สันประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ บริษัท กลายเป็นซีอีโอชั่วคราว แต่ก็อยู่ในการควบคุมของ Jobs

เขาจัดการการเจรจากับ Microsoft ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนใน Apple มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ซึ่งประกาศในเดือนสิงหาคมรวมทั้งความมุ่งมั่นของ Microsoft ในการสร้าง Microsoft Office สำหรับ Macintosh ต่อไป

ภายในเดือนกันยายน Jobs ได้กวาดล้างบอร์ด Apple และได้นำเอาเพื่อนจำนวนหนึ่งรวมทั้ง Ellison และ Bill Campbell อดีตผู้บริหารของ Apple เข้ามาแทนที่ ในเดือนนั้นเขาได้ประกาศว่าเขาจะเป็น“ ซีอีโอชั่วคราว” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีบันทึกภายใน Apple ในฐานะ iCEO 

Jobs กลับมาแล้ว แต่ในแง่หนึ่งคณะกรรมการก็ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะพาเขากลับมา คณะกรรมการได้ว่าจ้าง บริษัท ค้นหาเพื่อค้นหา CEO ถาวร แต่ไม่มีใครเก่งพอที่จะรับงาน กับสถานการณ์ของ Apple ในตอนนั้น 

“ มีพวกเราจำนวนพอสมควรในคณะกรรมการที่ตัดสินใจซื้อ NeXT เพียงเพื่อนำ Jobs กลับมาที่บริษัท ” เบอร์นาร์ด โกลด์สไตน์ อดีตผู้บริหารวาณิชธนกิจ เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกปลดออกจากบอร์ด “เราไม่ได้คาดหวังว่า NeXT จะนำความก้าวหน้าทางเทคนิคมาให้เรา ผมโหวตให้ Jobs กลับมาแม้ว่า Jobs จะบอกชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการให้ผมอยู่ต่อก็ตาม”

ในที่สุดจ็อบส์ก็จะสร้างคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลที่ประสบความสำเร็จสูงซึ่งยังคงถูกมองว่าเป็นที่ปรึกษาให้เขามากกว่าเจ้านาย

โดยขั้นตอนที่ Jobs ใช้ในการฟื้นฟู Apple นั้นเด็ดขาด เขาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อกำจัดโครงสร้างที่แตกแยกของ Apple ให้กลับมาฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งหนึ่ง

โดยเลือกที่จะรวมการตัดสินใจการวางแผนและการโฆษณาไว้ที่เดียวแทน โดยเขาได้ไล่ผู้จัดการระดับกลางหลายพันคน และทำการว่าจ้างผู้บริหารด้านโลจิสติกส์คนใหม่

Tim Cook ซีอีโอในอนาคต ซึ่งเข้ามาช่วยในการปิดโรงงานและคลังสินค้าที่เป็นของ Apple และทำการทิ้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึง Newton และกล้องดิจิทัลรุ่นแรกของ Apple อย่าง QuickTake 150

สิ่งที่ทำให้การกลับมาของสตีฟจ็อบส์น่าสนใจมากคือความเป็นผู้นำของเขาเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นได้อย่างไร พนักงานและลูกค้าของ Apple ต่างชื่นชอบ เพราะเขาแสดงถึงความมีไหวพริบ และความภาคภูมิใจที่ทำให้ผู้คนกลับมามีความรู้สึกตื่นเต้นกับ Apple ได้อีกครั้ง

ในการนำเสนอในงาน Macworld ในช่วงต้นปี 1998 ซึ่งเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากเข้าควบคุม Apple Jobs ได้แสดงให้แฟน ๆ ของบริษัท เห็นกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นและปลูกฝังความรู้สึกว่า Apple พร้อมที่จะกลับมาแล้ว และอย่างที่เราได้รับรู้กันในวันนี้ ความจริงที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของธุรกิจทั่วโลกในอีกหลายปีข้างหน้านับจากเขากลับเข้ามากุมบังเหียน Apple ได้สำเร็จอีกครั้งนั่นเองครับ

อ่านเรื่องราวการกลับมากุมบังเหียน Apple ของ Steve Jobs ในคำรบสองต่อได้ที่
–> https://www.tharadhol.com/how-ipod-building-an-apple-empire/

References : หนังสือ The Greatest Business Decisions of All Time
https://www.thejournal.ie/steve-jobs-predicted-commerce-1821623-Dec2014/
https://appleinsider.com/articles/18/07/10/gil-amelio-resigned-at-apple-ceo-21-years-ago-paving-the-way-for-steve-jobs-ascension-as-ceo

Tim Cook กับความอัจฉริยะในการยกระดับ Apple สู่ขีดสูงสุด

Tim Cook ได้เข้าร่วมงานกับ Apple เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1998 สถานการณ์ของ Apple ในขณะนั้น ไม่ใช่บริษัทที่น่าไปร่วมงานแต่อย่างใด สถานการณ์ทางการเงินอยู่ใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที และขวัญกำลังใจของเหล่าพนักงานก็เริ่มต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ

ตัว Steve Jobs เองเพิ่งกลับมาร่วมงานกับ Apple อีกครั้ง ในฐานะ CEO ชั่วคราว หรือ iCEO เรียกได้ว่าสิ่งเดียวที่ Apple เหลืออยู่ในขณะนั้นก็คือจิตวิญญาณ “Think Different” ที่กำลังมาอีกครั้งจาก Jobs แต่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดคอมพิวเตอร์ของ Apple นั้นลดลงจากร้อยละ 10 เหลือมาอยู่เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น CEO ในขณะนั้นอย่าง Amelio ต้องทำการดึงตัว Steve Jobs กลับมากู้วิกฤติที่แสนสาหัสนี้อีกครั้ง

Jobs ต้องนำพา Apple กลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และเริ่มแก้ไขสถานการณ์โดยยอมรับความจริงที่ว่า Amelio นั้น ทำสิ่งที่ผิดพลาด โดย Jobs เริ่มจัดการเหล่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไร เช่น นิวตัน คอมพิวเตอร์มือถือรุ่นแรก ของ Apple ผลงานการสร้างสรรค์ของ John Sculley ผู้ซึ่งเป็นคนทำให้ Jobs ต้องออกจาก Apple ไปในครั้งแรก

Jobs เริ่มตัดสายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออกไปจนเหลือเพียงแค่ 4 รุ่น โดยสองรุ่นแรกคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ มืออาชีพ ส่วนอีกสองจะเป็นส่วนของเครื่องแบบพกพา แม้จะดูเสี่ยงมาก ๆ เพราะถ้าตัดเหลือ 4 รุ่นแล้วล้ม ความหมายก็คือ Apple คงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อ เข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน

Jobs พยายามตัดผลิตภัณฑ์ของ Apple ให้เหลือน้อยที่สุด
Jobs พยายามตัดผลิตภัณฑ์ของ Apple ให้เหลือน้อยที่สุด

และแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของ Apple ที่เผชิญมาตลอดนั่นก็เรื่องของการวางแผนการผลิต รวมถึงเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังต่าง ๆ ส่วนใหญ่นั้น Apple มักจะจ้างซัพพลายเออร์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนประกอบที่กำหนดเองและมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการวางจำหน่ายให้คู่แข่ง และ ไม่สามารถคัดลอก หรือ เลียนแบบได้ง่าย

แต่มันเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะ การวางแผนการผลิตจะยากมาก ๆ ความยืดหยุ่นในการผลิตน้อย การประเมินคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นไปได้ยาก และจะเกิดหายนะขึ้นทันทีหากมีการคาดการคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด

เกิดเหตุการณ์ที่เหล่านักลงทุนของ Apple เกลียดอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ เมื่อยามที่ Apple มีผลิตภัณฑ์ที่ร้อนแรง แต่มันไม่สามารถส่งไปถึงมือลูกค้าได้เนื่องจากปัญหาเรื่องการผลิตของ Apple นั่นเอง

และเมื่อ Jobs กลับมาอีกครั้งในปี 1997 เขาตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะไม่ให้เห็นความผิดพลาดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก และเริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ด้านในเรื่องการปฏิบัติการของ Apple

แม้ก่อนหน้านั้น Cook จะปฏิเสธนายหน้าของ Apple หลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะตัว Cook เองก็มีความสุขดีที่ Compaq แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าควรจะเข้าไปเจอ Jobs ซักครั้งเพราะชายผู้นี้ เป็นหนึ่งในตำนานผู้สร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นี้ขึ้นมานั่นเอง

แต่เมื่อเขาได้เข้าไปนั่งฟังกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ Jobs สำหรับ Apple ในการพบกันจริง ๆ ครั้งแรก เขาก็ถูกโน้มน้าวโดย Jobs ให้มามีส่วนร่วมของภารกิจเปลี่ยนโลกครั้งใหม่ของ Jobs ซึ่งจะเปลี่ยนแนวคิดของคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เคยเห็นมาก่อน

และเมื่อ Jobs ได้เจอกับ Cook นั้น เขาก็เข้าใจทันทีว่าพวกเขาแบ่งปันมุมมองเดียวกันในเรื่องการผลิต ซึ่งสุดท้ายทำให้ให้ Cook คล้อยตามและมาร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับ Jobs ในที่สุด และถือเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งนึงในวงการคอมพิวเตอร์โลก

ในขณะนั้น Cook มีอายุ 37 ปี ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple ในตำแหน่ง รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก ซึ่งเขาได้รับงานใหญ่มาก ๆ ในการรื้อระบบการผลิต และจำหน่ายของ Apple ทั้งหมด และุถือว่าเป็นงานที่ท้าทายเขาที่สุดตั้งแต่เริ่มทำงานมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งเพียงแค่ 7 เดือนหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เขาก็สามารถที่จะลดสินค้าคงคลัง จากราวๆ 30 วัน เหลือเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาได้ทำการปรับปรุงระบบการปฏิบัติการของ Apple โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดแทบจะทุกขั้นตอนการผลิต

Cook นั้นได้เน้นการลดซัพพลายเออร์ลงให้เหลือเพียงไม่กี่ราย เขาไปเยี่ยมซัพพลายเออร์แต่ละราย ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องนึงเช่น การที่ Cook โน้มน้าวให้ NatSteel ผู้ผลิตแผงวงจรที่เป็น Outsource ของ Apple ย้ายมาตั้งโรงงานใกล้กับโรงงานของ Apple ใน ไอร์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย และ สิงคโปร์

ซึ่งการย้ายซัพพลายเออร์เข้ามาใกล้โรงงานนั้นทำให้กระบวนการ JIT (Just-in-time) ทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากส่วนประกอบสามารถส่งมอบได้รวดเร็วขึ้นและมีความถี่ที่มากขึ้นนั่นเอง

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการ outsource ออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Apple นั่นคือ ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลัง ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับ Apple ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังเหล่านี้เองที่ทำให้ Apple เกือบเข้าสู่ภาวะล้มละลายมาแล้ว

และเพื่อรองรับการคาดการณ์การผลิต Cook ได้ลงทุนในระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ที่ทันสมัยที่สุดจาก SAP ที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง เข้าสู่ระบบไอที ที่เหล่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนของ Apple ใช้งานอยู่

Tim Cook ได้ปรับมาใช้ ซอฟต์แวร์อย่าง SAP เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
Tim Cook ได้ปรับมาใช้ ซอฟต์แวร์อย่าง SAP เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบ หรือ ทางฝั่งร้านค้าปลีก ระบบที่ซับซ้อนทำให้ทีมปฏิบัติงานของ Cook ได้เห็นมุมมองที่ชัดเจนของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ร้านค้าออนไลน์ใหม่ของ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเพียงไม่นาน

R/3 ERP เป็นระบบประมวลผลส่วนกลางของการผลิตแบบใหม่ ที่รวดเร็วและทันเวลาของ Apple ชิ้นส่วนถูกสั่งจากซัพพลายเออร์เมื่อจำเป็นเท่านั้น และโรงงานผลิตก็สามารถสร้างกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที

ภายใต้การนำของ Cook เวลาในสินค้าคงคลังของ Apple ลดลังจากเป็นเดือน ๆ เหลือเพียงไม่กี่วัน เพียงแค่ 7 เดือน ต้นทุนในการจัดการเรื่องสินค้าคงคลังลดลงจาก 400 ล้านเหรียญ เหลือเพียงแค่ 78 ล้านเหรียญ

Cook ได้รับเครดิตเป็นอย่างมาก ในการมีบทบาทสำคัญให้ Apple สามารถกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ ซึ่งระบบที่เขาได้วางไว้นั้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของ Apple ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า Apple จะไม่มีวันเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้หากปราศจากความเป็นเลิศของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ช่วยกู้สถานการณ์ด้านการปฏิบัติการในเรื่องการผลิตของ Apple ไว้ได้สำเร็จนั่นเองครับ

References : https://appleinsider.com/articles/20/08/10/apple-ceo-tim-cook-is-now-a-billionaire