ByteDance x Tencent ศึกสงครามวีดีโอสั้นจีนเมื่อการเดิมพันของผู้ชนะคือการครองตลาดโลก

ภายในปี 2015 อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของจีนทั้งหมดทราบดีว่าการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานกำลังมุ่งสู่รูปแบบวีดีโอ ปัญหาคือผู้ผลิตวีดีโอขนาดสั้นยังหารูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืนไม่ได้ หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดผู้ผลิตเนื้อหาในทันทีคือการจ่ายเงินให้กับพวกเขา

กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ได้กลายเป็นสงครามแดงเดือด เงินหลายพันล้านหยวนถูกทุ่มไปเพื่อดึงดูดสตูดิโอโปรดักชั่นและ creator ที่มีความสามารถให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มของตนเอง

ByteDance เข้าสู่ตลาดนี้ค่อนข้างช้า มีแอปจีนหลายสิบแอปที่ได้เข้าสู่ตลาดไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงการดัดแปลงแอปอย่าง Vine และ Dubsmash เพื่อมาตอบโจทย์ตลาดในท้องถิ่น

Meipai แอปวีดีโอสั้นที่อยู่ภายใต้แอปแต่งภาพที่ใหญ่ที่สุดของจีน Meitu เป็นที่ชื่นชอบของคนหนุ่มสาวในเมือง ส่วนผู้นำตลาดอย่าง Kauishou ได้ยึดเอาผู้ใช้หลายสิบล้านคนในเมืองเล็ก ๆ ของจีน เรียกได้ว่าตลาดได้ครอบคลุมไปทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่โปรดักชั่นมืออาชีพไปจนถึงเกษตรกรในชนบทที่มีการบันทึกวีดีโอในทุ่งนา

แอปเรือธงของ ByteDance อย่าง Toutiao ที่มีส่วนของการนำเสนอวีดีโอสั้นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 เวลาเฉลี่ยของผู้ใช้งานต่อวันคือ 53 นาที และเติบโตขึ้นเป็น 76 นาทีต่อวันภายในไตรมาสที่สามของปีเดียวกัน

การคัดลอกจากสิ่งที่ดีที่สุด

ปริมาณการเสพวีดีโอสั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 เพิ่มขึ้นในอัตรา 35% ต่อเดือน ไม่มีทางที่ทีมของ Zhang Yiming ผู้ก่อตั้ง ByteDance จะอยู่เฉย ๆ ได้อีกต่อไป พวกเขาต้องเริ่มจริงจังกับการสร้างแพลตฟอร์มวีดีโอสั้นโดยเฉพาะ

หลังจากที่มุ่งมั่นที่จะลุยในสงครามวีดีโอสั้น คำถามต่อไปก็คือ ByteDance จะทำอย่างไรกับสงครามในมหาสมุทรสีเลือดเช่นนี้

คำตอนนั้นง่ายมาก “คัดลอกสิ่งที่ดีที่สุด” และเป้าหมายของพวกเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนั่นก็คือ Musical.ly

ความรับผิดชอบในการโคลนนิ่ง Musical.ly เป็นของ Kelly Zhang ผู้ดูแลแพลตฟอร์มเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (UGC)

Kelly มีชื่อเสียงในด้านความเข้าใจวิธีการปลูกฝังชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญของแพลตฟอร์ม UGC โดย Kelly เองมีประสบการณ์ในการดูแลแพลตฟอร์มของ ByteDance หลายแพลตฟอร์ม และโครงการโคลนนิ่ง Musical.ly ก็เป็นเพียงโครงการหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่ ByteDance ทำ

และภายในสิ้นเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ทีมก็พร้อมสำหรับการเปิดตัวแพลตฟอร์มสั้นใหม่ ที่ถูกเรียกว่า A.me ซึ่งแอปเข้าสู่ตลาดภายใต้สโลแกน “A.me – Music Short Videos”

แทนที่จะรวบรวมเอาเหล่า influencers ชื่อดังในวงการ ทีมงานได้สร้างทีม creator หน้าใหม่ราว ๆ 20 คน ซึ่งได้เกณฑ์มาจากแพลตฟอร์มอื่น รวมถึง Musical.ly เพื่อสร้างวีดีโอ เป้าหมายคือ การให้เนื้อหาเป็นแรงบันดาลใจและให้ความรู้แก่ผู้ใช้รายแรก ๆ ในการสร้างวีดีโอ

สิ่งแรกที่ทีมงานของ Kelly ทำก็คือการปฏิบัติต่อกลุ่ม creator ยอดนิยมกลุ่มเล็ก ๆ เยี่ยงราชา โดยจะมีการสนทนากับพวกเขาทีละคนทุกวัน ตั้งใจฟังความคิดของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขากำลังมีส่วนร่วมในการเติบโตของแพลตฟอร์ม หากประสบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขทางออนไลน์ได้ พวกเขาจะได้รับเชิญให้ไปพูดคุยระหว่างมื้ออาหารฟรีที่บริษัท ByteDance

Kelly Zhang มีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์ของ ByteDance ในประเทศจีน (CR:kr-asia)
Kelly Zhang มีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์ของ ByteDance ในประเทศจีน (CR:kr-asia)

กลยุทธ์ของ A.me นั้นเป็นหนึ่งในรูปแบบการสร้างแพลตฟอร์มในจีนอยู่แล้ว มันไม่เหมือนในโลกตะวันตกที่บทบาทในการหาผู้ใช้ใหม่เป็นหน้าที่ของทีมการตลาด การขาย ซึ่งมักจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก

บริษัทจีนชอบที่จะใช้แรงงานมนุษย์ ในการส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มของตน ใช้เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีหรือ AI มากจนเกินไป

A.me ทุ่มเทกับเหล่า creator ยอดนิยมช่วงแรก ๆ อย่างหนัก ทำทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขาพอใจ แม้กระทั่งซื้ออาหารเย็นและช่วยทำการบ้านให้เสียด้วยซ้ำในบางครั้ง

กำเนิด Douyin

แต่ด้วยปัญหามากมายที่ย่ำแย่ในช่วงแรก ๆ ของ A.me ตัวแอปเองนั้นถูกสร้างมาได้ค่อนข้างแย่โดยมี bug มากมาย และมีแค่ฟีเจอร์พื้นฐานเพียงเท่านั้น และกลุ่มเป้าหมายของแพลตฟอร์มนั้นค่อนข้างสับสบ โดยต้องการดึงเด็กก่อนวัยรุ่น และผู้ที่มีอายุยี่สิบต้น ๆ เป็นลำดับแรก

และที่สำคัญ ชื่อ A.me นั้นไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายเพียงพอสำหรับชาวจีน และจำเป็นต้องมีการรีแบรนด์ ดนตรีเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในประสบการณ์ของแอป ความคิดที่ว่าทั้ง creator และผู้ชมจะขยับร่างกายของพวกเขาไปกับเสียงเพลงโดยไม่รู้ตัว เป็นแรงบันดาลใจให้สมาชิกในทีมคนหนึ่งตั้งชื่อว่า Douyin

抖音 dǒu yīn

抖 dǒu : แปลได้ว่า “สั่น” “ตัวสั่น” หรือ “สั่น”

音 yīn: สามารถเข้าใจได้ว่า “เสียง” “ดนตรี” หรือ “โน้ตเพลง”

“Douyin” ได้รับการโหวตให้เป็นที่ชื่นชอบจากหลายร้อยชื่อที่นำมาพิจารณา

ดีไซเนอร์รุ่นเยาว์ได้รับมอบหมายให้ออกแบบโลโก้รูปแบบใหม่ เขาเริ่มสร้างภาพที่จะจับความรู้สึกร่าเริง และตัดสินใจที่จะเล่นกับโน้ตดนตรี เขาได้สร้างไอคอนผ่านตัวกรองต่าง ๆ และใช้เอฟเฟกต์ “glitch” ที่ชวนให้นึกถึงสัญญาณที่บิดเบือนของโทรทัศน์เครื่องเก่าจากการที่มีสัญญาณอ่อน

ตัวโน้ตดนตรีได้ถูกแปลงให้มีรูปร่างตัวอักษร “d” ซึ่งหมายถึงตัวอักษรแรกของแอป Douyin มันเป็นโลโก้ที่สมบูรณ์แบบ แตกต่าง มีความสร้างสรรค์ แและจดจำได้แทบจะในทันที

ด้วยการรีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและได้รับงบประมาณที่มากขึ้น ทำให้ Douyinn ถูกปรับให้เป็นแอปที่มีความทันสมัยสำหรับชนชั้นสูงอายุน้อยในเมืองที่ทันสมัย แต่ทีมงานจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่สำคัญของพวกเขา นั่นคือการขาด creator รุ่นเยาว์ที่มีคุณภาพ

ทางออกคือนักศึกษาวิทยาลัยศิลปะ The Douy ทีมงานได้พุ่งเป้าไปที่โรงเรียนด้านศิลปะทั่วประเทศเพื่อค้นหานักเรียนที่หน้าตาดีมาเป็นผู้ใช้ ทีมงานโน้มน้าวใจพวกเขาให้เข้าร่วมกับ Douyin ทั้งหมดหลายร้อยคน โดยสัญญาว่าจะทำให้พวกเขาโด่งดังในโลกออนไลน์

จากนั้นทีมงานก็เริ่มปรับเปลี่ยนการมองเห็นวีดีโอเพื่อส่งเสริมประเภทของเนื้อหายอดนิยมที่พวกเขาต้องการโปรโมต

Douyin ได้ระดมพนังานทั้งหมดเพื่อดึงดูด creator จากคู่แข่ง พวกเขาค้นหาเหล่า creator พรสวรรค์สูงที่มีความเหมาะสมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมดของจีน แม้แต่แพลตฟอร์มที่ดังในต่างประเทศอย่าง Musical.ly โดยส่งข้อความหาพวกเขาทีละคน

ในขณะเดียวกัน ก็ได้ทำการคัดลอกวิธีการของ Musical.ly นั่นก็คือการสร้างลายน้ำไว้บนพื้นหลังวีดีโอ ซึ่งลายน้ำเป็นกุญแจสำคัญมาก ๆ มันเหมือนกับช่องทางการโฆษณาขนาดเล็ก สำหรับคนที่สนใจในวีดีโอจะเห็นลายน้ำและค้นหาชื่อใน App Store

โดย ID ผู้ใช้เฉพาะของผู้สร้างวีดีโอจะถูกเพิ่มลงในลายน้ำถัดจากโลโก้ของ Douyin ที่มีการกระพริบ การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ กระตุ้นให้ผู้คนแชร์วีดีโอของตนบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ และสามารถนำผู้คนกลับมาที่บัญชีของตนและขยายฐานแฟน ๆ ได้

Douyin ยังคงโหมประโคมกระแสอย่างต่อเนื่องด้วยการเริ่มแคมเปญโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ในช่วงฤดูร้อนปี 2017 ซึ่งใช้ไอเดียสุดเจ๋งที่มีลักษณะขี้เล่น และโต้ตอบกับบุคคลที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์ เช่น Mona Lisa และ Abraham Lincoln และมันได้แพร่กระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ซึ่งรวบรวมความอยากรู้และสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์

Lip Sync Battle เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับ Musical.ly ในตลาดสหรัฐฯ Douyin ก็ใช้วิธีการรูปแบบเดียวกันในรายการ “Hip Hop in China” และรายการคู่แข่ง “This! Is Street Dance” ผลักดันให้ Douyin ให้อยู่ในระดับแนวหน้าของวัฒนธรรมเยาวชนจีน

การเต้นที่ผลักดันให้ Douyin ให้อยู่ในระดับแนวหน้าของวัฒนธรรมเยาวชนจีน (CR:Youtube)
การเต้นที่ผลักดันให้ Douyin ให้อยู่ในระดับแนวหน้าของวัฒนธรรมเยาวชนจีน (CR:Youtube)

ในเดือนตุลาคม ผู้ใช้รายวันของ Douyin เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 7 เป็น 14 ล้าน สองเดือนต่อมาได้พุ่งเป็น 30 ล้านราย อัตราการรักษาผู้ใช้ 30 วันเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 20% เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในแอปเพิ่มขึ้นจาก 20 เป็น 40 นาที ไม่มีอะไรฉุดความร้อนแรงของ Douyin ได้อีกต่อไป

Yiming ได้มีคำบัญชาการให้ทุกคนในทีมบริหารต้องทำวีดีโอ Douyin ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ยอดการมีส่วนร่วม ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องเข้าใจวีดีโอสั้น ๆ จากมุมมองของ creator ด้วย Yiming เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างวีดีโอใน Douyin เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้บริหารคนอื่น ๆ

สัปดาห์วันหยุดตรุษจีนเป็นโอกาสพิเศษอีกอย่างหนึ่งสำหรับการโปรโมทแอป ผู้คนหลายร้อยล้านคนเดินทางกลับบ้านเพื่อกลับไปหาครอบครัวและพบว่าตัวเองมีเวลาว่างเพื่อพักผ่อน แอปความบันเทิงอย่าง Douyin เป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบในการฆ่าเวลา และจะมีการกระจายแบบปากต่อปากระหว่างสมาชิกในครอบครัว

Douyin ได้มอบเงินให้กับผู้ใช้โดยตรง มีการแจกซองอั่งเปาตรุษจีนผ่านแอป และใช้เงินอย่างมหาศาล ซื้อโฆษณาและโปรโมชั่นผ่านช่องทางออนไลน์หลัก ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ ซึ่งได้ใช้เงินประมาณ 4 ล้านหยวนต่อวัน (มากกว่าครึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ผลักดันให้ Douyin ขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ของ App Store ในประเทศจีน

ผู้ใช้รายวันของ Douyin เพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 ล้านคนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมครอบคลุมช่วงตรุษจีน โดยบัญชียอดนิยมบางบัญชีมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า

ความสำเร็จทำให้ ByteDance กล้าเพิ่มงบประมาณให้กับ Douyin เป็นสองเท่า โดยเพิ่มงบประมาณการโปรโมตรายวันเป็น 20 ล้านหยวน (2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อซื้อ traffic ทุกช่องทาง ภายในเดือนเมษายน มีผู้ใช้รายวันเกิน 100 ล้านคน

ฟากฝั่งคู่แข่งอย่าง Tencent เจ้าของ Wechat ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม super app ที่ถือครองส่วนแบ่งกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาที่คนจีนใช้บนสมาร์ทโฟน ซึ่งนักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ว่ายังไง Tencent ก็น่าจะยึดครองตลาดวีดีโอสั้นได้แบบง่ายดาย

Tencent นั้นเข้าสู่ตลาดวีดีโอสั้นในช่วงต้นด้วยร่างโคลนของ Vine ชื่อ Seishi ในเดือนกันยายนปี 2013

แอปได้รับความสนใจจากสื่อในช่วงต้น หลังจากการโปรโมทอย่างหนักช่วงตรุษจีน มีผู้ใช้งาน 45 ล้านคนต่อวัน แต่ด้วยการที่มีคุณสมบัติเพียงแค่พื้นฐานเท่านั้น ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน และขาดการสนับสนุนจากบริษัทภายใน ไม่นานกระแสมันก็ตกลง และหายไปจากตลาด คล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Vine

หลังจากการก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของ Douyin ทาง Tencent แก้เกมด้วยการลงทุนใน Kuaishou ซึ่งเป็นแอปวีดีโอสั้นชั้นนำของตลาดในขณะนั้น ผลักดันการประเมินมูลค่าบริษัทเป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์

มันเป็นกลยุทธ์ที่คุ้นเคยที่ Tencent ใช้กับทั้งธุรกิจ ecommerce , search engine , การจัดส่งอาหาร และการเรียกรถ หนึ่งเดือนหลังจากการลงทุนใน Kuaishou ทำให้ Weishi ประกาศว่าจะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ

แต่ความเร็วดั่งจรวดในการเติบโตของ Douyin ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมประหลาดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อถึงวันตรุษจีนปี 2018 Douyin ก็ยึดครองตลาดแทบจะเบ็ดเสร็จ Tencent พยายามที่จะตอบโต้ แต่ฐานผู้ใช้หลักของ Kuaishou ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศจีน ซึ่งห่างไกลจากฐานที่มั่นของ Douyin ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประชากรวัยหนุ่มสาวซึ่งมีกำลังซื้อมากกว่า

การปะทะกันของไททันส์

Tencent รู้สึกถึงภัยคุกคามอย่างหนัก และ Kuaishou คงไม่สามารถต้านทาง Douyin ได้อย่างแน่นอน จึงคิดแผนใหม่ นั่นก็คือการฟื้นคืนชีพ Weishi อีกครั้ง

ในช่วงต้นปี 2018 Tencent ได้สร้างทีมงานหัวกะทิชุดใหม่เพื่อฟื้นฟู Weishi ทำการรีแบรนด์ และปรับปรุงแพลตฟอร์มทั้งหมดให้เป็นโครงสร้างแบบเดียวกับ Douyin ทีมงานของ Weishi นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีขนาดถึง 400 คน

แนวทางของ Tencent ในการกำจัดคู่แข่งนั้น มักได้ผลมาโดยตลอด ด้วยอำนาจและเงินตราที่เหนือกว่า การโคลนผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาผ่าน Wechat สามารถกระตุ้นการดาวน์โหลดได้อย่างมาก

Tencent ได้บล็อก ByteDance ไม่ให้ซื้อโฆษณาออนไลน์ทุกรูปแบบในแพลตฟอร์มของตน นอกจากนี้ยังทุ่มเงินดึงตัว creator มาจาก Douyin และได้ประกาศเงินช่วยเหลือ 3 พันล้านหยวนสำหรับเหล่า creator ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์ม Weishi version 2.0

หลังจากผ่านไปครึ่งปี Weishi มีผู้ใช้ถึงสี่ล้านคนต่อวัน ด้วยการทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดเพื่อกำจัด Douyin แต่ดูเหมือนว่ามันยังไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะสุดท้ายเวลาของผู้ใช้งานใน Weishi นั้นก็ยังน้อยกว่า Douyin ถึง 4 เท่า

Weishi กับการเดิมพันของ Tencent (CR:TechNode)
Weishi กับการเดิมพันของ Tencent (CR:TechNode)

มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก ๆ ที่ Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมจีนที่มีเงินทุนมากมายมหาศาลจะเดินเกมพลาดในศึกวีดีโอสั้น

Weishi 1.0 นั้นเข้าสู่ตลาดเร็วเกินไป ส่วน Weishi 2.0 ก็เข้าสู่ตลาดช้าเกินไปเสียแล้ว มันไม่สามารถสร้างโมเมนตัมกลับมาได้อีกแล้ว เพราะ Douyin ได้ครองส่วนแบ่งไปแทบจะหมดแล้ว เพราะในที่สุดเมื่อผู้คนดาวน์โหลด Weishi มา พวกเขาก็รู้ว่าเป็นเพียงแค่แอปโคลนนิ่ง พวกเขาจึงย้ายกลับไปที่ Douyin

ความสำเร็จของ Douyin นั้นมาจากปัจจัยสำคัญที่สุดที่พวกเขาสะสมองค์ความรู้มานานนั่นก็คือ Recommendation Engine ที่พวกเขามีเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน

การสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลรูปแบบใหม่นี้ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางสังคม แม้ว่า social graph จะมีศักยภาพในการปรับปรุงคำแนะนำก็ตาม แต่มันก็นำมาซึ่งแง่ลบ เช่น การเพิ่มครอบครัว คนรู้จัก หรือเพื่อนร่วมงานเข้ามา ทำให้ความรู้สึกอิสระของเหล่า creator ขาดหายไป

ภายในปี 2018 มันชัดเจนแล้วว่า ByteDance ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อ Tencent แบบเต็มตัว เพราะ Wechat ทำได้เพียงตอบสนองความต้องการด้านการสื่อสาร ในขณะที่ Douyin กำลังเข้ามาตอบสนองความต้องการด้านความบันเทิงซึ่งจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ๆ

แม้ ByteDance จะไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจที่เป็นเครื่องจักรทำเงินอย่าง ตลาดเกมมือถือ แต่มันก็จินตนาการได้ว่าในอนาคตมันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

Tencent จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปในอดีตของตนเอง ในยุคพีซี บริษัทค่อย ๆ เคลื่อนตัวจากโซเชียลมีเดียมาเป็นเกมทีละขั้น และก้าวแซงหน้าผู้นำตลาดคนอื่น ๆ ที่มาก่อนพวกเขาได้สำเร็จ

หาก Tencent ถูกโจมตีที่หัวใจหลักของธุรกิจนั่นก็คือเครือข่ายทางสังคม ทำให้บริษัทคู่แข่งจะมีความได้เปรียบอย่างมาก ซึ่งเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสิ่งต่างๆ มากมายอย่างที่ Tencent ทำผ่าน Wechat ในทุกวันนี้ในราคาต้นทุนที่ถูกแสนถูก

ตอนนี้ ByteDance เริ่มมีความได้เปรียบในการกระจายต้นทุนที่ต่ำได้เช่นเดียวกันผ่าน Douyin และเนื่องจากเกมเป็นหนึ่งในบริการออนไลน์ที่ทำกำไรมากที่สุดของจีน ซึ่งมันคงใช้เวลาอีกไม่นานก่อนที่ ByteDance จะเริ่มดำเนินการธุรกิจเกมของตนเอง และจะเริ่มเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อธุรกิจหลักของ Tencent

Tencnet ได้เผาผลาญเงินสดไปจำนวนมหาศาลกับศึกวีดีโอสั้นครั้งนี้ และทุ่มเทเวลาและความพยายามอย่างมากในการสร้าง Weishi แม้จะชัดเจนว่ามีโอกาสน้อยที่จะเป็นคู่แข่งกับ Douyin ได้แต่ Tencent ยังคงต้องอดทนทำมันต่อไป เพราะเหตุผลเดียวทีว่า

“ถ้าคุณไม่กระโจนเข้ามาแข่งขัน คุณอาจจะสูญเสียทุกอย่างที่คุณสร้างมา”

References :
https://finance.yahoo.com/news/chinas-short-video-war-heats-093000397.html
https://kr-asia.com/douyin-clashes-further-with-tencent-over-short-video-market-grab
หนังสือ Attention Factory : The Story of TikTok & China’s ByteDance โดย Brennan Matthew
หนังสือ TikTok Boom : China’s Dynamite App and the Superpower Race for Social Media โดย Chris Stokel-Walker



รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจาก อบก. เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

รอยัล ภูเก็ต มารีน่า หรือ RPM กำลังก้าวสู่การเป็นท่าจอดเรือชั้นนำที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ CFO ทำให้ RPM ได้ก้าวไปสู่อีกขั้นของการเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก

RPM มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนทางทะเลในฐานะท่าจอดเรือแห่งเดียวในประเทศไทย และผู้นำรายแรกในภูเก็ตในกลุ่มอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร CFO ประจำปี 2566 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในนาม อบก. (TGO)

อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินการด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การชดเชยคาร์บอน เพื่อนำไปสู่การจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

โดยการรับรองนี้เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงประสิทธิภาพของกระบวนการในการบริหารงานภายในองค์กร ที่ได้รับหลังจากการประเมินผลงานด้านการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การรับรองขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบ ในนาม International Accreditation Forum และ คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ หรือ National Standardization Council of Thailand

นายกูลู ลัลวานี หัวเรือใหญ่ของ RPM  เน้นย้ำว่า “การผ่านการรับรอง CFO ครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทอันแน่วแน่ของเรา ในด้านความยั่งยืน สะท้อนให้เห็นในทุกแง่มุมของการดำเนินงานอย่างตั้งใจ เรามีความยินดีที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐในฐานะท่าจอดเรือแห่งเดียวของประเทศไทย และผู้นำรายแรกในภูเก็ตในกลุ่มอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป้าหมายของเราคือรักษามาตรฐานการเป็นท่าจอดเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดอีกแห่งของเอเชีย

รอยัล ภูเก็ต มารีน่า เรามุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ สู่การเป็นท่าจอดเรือที่ปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก ตั้งเป้าเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการใช้ชีวิต การทำงาน การพักผ่อนหรือแม้แต่การเฉลิมฉลอง ตามแบบวิถีชีวิตของนักท่องเที่ยวทางทะเล ณ เมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก อย่างภูเก็ตแห่งนี้

นอกเหนือจากสิ่งอํานวยความสะดวกในท่าจอดเรือของเราแล้ว เรายังคงพัฒนาและยกระดับที่พักอาศัยชั้นเลิศ ศูนย์กลางร้านค้า สำหรับผู้คนที่ต้องการวิถีชีวิตที่แตกต่าง ยิ่งไปกว่านั้น RPM ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

จากการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลด้านองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดโดยหอการค้า เนเธอร์แลนด์ – ไทย NTCC ที่ตอบโจทย์ต่อความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกํากับดูแลกิจการ (ESG)

อีกทั้งยังเป็นตัวแทนเดียวจากท่าจอดเรือในภูเก็ตที่ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ในงานสัมมนาหัวข้อ  “ยุทธศาสตร์สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนของอันดามัน” หรือ Andaman Sustainable Tourism Forum ครั้งที่ 1 จัดโดย มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

อีกหนึ่งความสำเร็จของ RPM คือ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปีนี้เอง RPM ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ อย่าง Letter of Recognition หรือ LOR ภายใต้โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือเรียกโดยย่อว่าโครงการ LESS ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. นั่นเอง

ท่าจอดเรือของ RPM สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานได้มากถึง 40% ต่อวัน ผ่านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สะอาดและยั่งยืน ทั้งนี้องค์กรยังมีแผนพัฒนาเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง สู่การเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนของโลก 

นอกจากนี้ RPM เอง ร่วมมือกับพันธมิตรทางเรือต่าง ๆ ในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท ตั้งเป้าหากสำเร็จจะสามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้ราว ๆ กว่า 4 ล้านขวดต่อปี ความร่วมมือเหล่านี้ยังครอบคลุมไปถึงพันธมิตรอื่น ๆ มากมาย อาทิเช่น องค์กร Seakeepers, มูลนิธิ Oceans For All, License To Clean, บริษัท Wawa Creations และ Disabled Sailing Thailand หรือที่รู้จักกันในนาม สมาคมกีฬาเรือใบสำหรับคนพิการ อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ในการเดินทางสู่การเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

Geek Daily EP195 : OpenAI จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายต่อไปได้สำเร็จหรือไม่?

OpenAI จะสามารถเปลี่ยนความได้เปรียบตั้งแต่เนิ่นๆ ให้เป็นข้อได้เปรียบที่ยั่งยืน และเข้าร่วมกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างที่ Facebook, Google , Amazon หรือ Microsoft ทำสำเร็จได้หรือไม่ 

ซึ่งในการจะทำเช่นนั้นให้สำเร็จได้อย่างบริษัทพวกพี่ ๆ พวกเขาจะต้องหลีกเลี่ยงชะตากรรมของผู้บุกเบิกด้านเทคโนโลยีในอดีต ไล่มาตั้งตั้งแต่ Netscape ไปจนถึง Myspace ซึ่งถูกคู่แข่งที่เรียนรู้จากความสำเร็จและการสะดุดขาตัวเองในช่วงแรก ๆ จนถูกแซงหน้าไป และเนื่องจาก OpenAI เป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยีนี้เป็นบริษัทแรก ๆ การตัดสินใจของพวกเขาจึงช่วยบอกทิศทางที่กว้างขึ้นของอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดใหม่ได้

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/bdz6yn6c

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/mwf28u87

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://tinyurl.com/54tt874b

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/cpdua5nd

🎧 ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/i8Gx-RT-18U

References Image : https://www.dw.com/en/chatgpt-sparks-ai-investment-bonanza/a-65368393

Geek Story EP173 : Project Muscle สู่ Gorilla Glass จากโปรเจ็กต์ที่ถูกลืมสู่นวัตกรรมหน้าจอมือถือเปลี่ยนโลก

ยุคก่อนที่ iPhone จะถือกำเนิดขึ้นมนุษย์เราแทบจะใช้จอมือถือห่วย ๆ ตกนิดตกหน่อยจอก็แตก แถมเป็นพลาสติกที่มีรอยขีดข่วนง่ายมาก ๆ สร้างความปวดหัวให้กับผู้ใช้ทั่วโลก

ในเดือนกันยายนปี 2006 เพียงสี่เดือนก่อนที่ Steve Jobs วางแผนที่จะเปิดเผย iPhone ให้โลกได้เห็น

เขาได้ปรากฎตัวขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ Apple ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว

“ดูนี่สิ” เขาพูดกับผู้บริหารระดับกลาง โดยถือ iPhone เครื่องต้นแบบที่มีรอยขีดข่วนอยู่ทั่วจอแสดงผลแบบพลาสติกเหมือนกับที่มือถือในยุคนั้นทำกัน ซึ่งเพียงแค่กระทบกับกุญแจในกระเป๋ากางเกงก็แทบมีรอยเต็มไปหมดแล้ว

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/jb93wasu

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/5pxsd844

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://tinyurl.com/32jsc5fw

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/yfzsdymz

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/U6q773Bst0c

จาก Toutiao สู่ TikTok กับการเปลี่ยนโลกด้วยคอมพิวเตอร์อัลกอริทึม

การที่จะสร้างธุรกิจให้ impact ระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย คีย์สำคัญของธุรกิจโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีนั้นส่วนใหญ่วัดกันที่คอมพิวเตอร์อัลกอริทึม เช่น PageRank ของ Google , NewsFeed ของ Facebook ซึ่งเป็นคีย์สำคัญในการพลิกจากบริษัทเล็ก ๆ ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดยักษ์ขนาดใหญ่มหึมาระดับแสนล้านได้

โลกที่เต็มไปด้วยโปรแกรมเมอร์ยอดอัจฉริยะมากมาย หากใครคิดจะแหวกว่ายขึ้นไปอยู่ระดับท็อปได้นั้น มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ ต้องมีความฉลาดเป็นกรด และแน่นอนว่าองค์กรธุรกิจก็ต้องประกอบไปด้วยเหล่าทวยเทพแบบนี้เป็นจำนวนมาก จึงจะสามารถผลักดันองค์กรธุรกิจให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

เคสของ TikTok เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก ๆ ในเรื่องของคอมพิวเตอร์อัลกอริทึม ที่มันสามารถสร้างธุรกิจระดับแสนล้านเหรียญ และยังไม่มีทีท่าว่าความร้อนแรงจะลดลงไปเลย ด้วย Recommendation Engine ของพวกเขา

ในช่วงต้นปี 2012 วิศวกรที่แทบไม่มีใครรู้จักอย่าง Zhang Yiming กำลังหมกมุ่นอยู่กับแนวคิดเกี่ยวกับการทำเหมืองข้อมูลและการแนะนำข้อมูล ค้นคว้าเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเนื้อหาออนไลน์ที่สำคัญทั้งหมดจากทั้งตลาดจีนและอเมริกา

เขาได้สังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างนึงก็คือ แอปอันดับต้น ๆ ที่ไม่ใช่เกมบน App Store ของจีนนั้นจะเน้นไปที่เรื่องของความบันเทิง

ก่อนที่จะจดทะเบียนบริษัท ByteDance อย่างเป็นทางการ ทีมงานชุดแรก ๆ ก็ได้ลองสร้างแอปแรกของพวกเขาในชื่อ “Hilarious Goofy Pics (ภาพตลกขบขัน)” ซึ่งเต็มไปด้วยมีมต่าง ๆ ที่สนุกสนานและรูปภาพที่ไร้สาระมากมาย

แอปที่สองชื่อ “Implied Jokes” โดยเน้นที่มีมในอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ และมันก็โด่งดังเป็นกระแสขึ้นมาทันที มีผู้ใช้นับล้านรายภายในไม่กี่เดือน

โดยรวมแล้ว บริษัทได้ทดลองเผยแพร่แอปมากกว่าหนึ่งโหลสำหรับการทดสอบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012 โดยทดลองกับธีมและทิศทางที่หลากหลาย

ก่อนหน้านี้ที่ 99Fang ทีมงานของ Yiming ได้สร้างแอปอสังหาริมทรัพย์ห้าแอปเพื่อทดสอบตลาดต่าง ๆ ในขณะที่ ByteDance เขาได้ปรับปรุงกลยุทธ์นี้ให้กลายเป็นหนึ่งในการทดลองอย่างรวดเร็ว ผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ และปล่อยออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ทดสอบคุณสมบัติที่หลากหลาย และให้ตลาดตรวจสอบว่าสิ่งใดมีมูลค่า ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของ ByteDance ในภายหลัง

เป็นเรื่องโชคดีของ ByteDance ในตอนนั้น เพราะการพัฒนาแอปในจีนยังเป็นเรื่องใหม่มาก แอปของคู่แข่งจำนวนมากมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะ ทำให้กว่าจะดาวน์โหลดเสร็จใช้เวลานานมาก ๆ

แอปของ ByteDance นั้นเน้นไปที่ขนาดเล็กและเบา มีเพียงไม่กี่เมกะไบต์ โดยเนื้อหาของพวกเขาได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ด้วยระบบแบ็กเอนด์ที่รวบรวมข้อมูลและจัดประเภทเนื้อหาจากทั่วทั้งเว็บเป็นประจำ

การบริโภคเนื้อหา เช่น บทความ รูปภาพ หรือวีดีโอบนสมาร์ทโฟนเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างมากจากอินเทอร์เน็ตบนเดสก์ท็อปพีซี Yiming ได้ทำการวิเคราะห์ถึง painpoint ไว้สามจุด ก็คือ หน้าจอที่มีขนาดเล็ก เวลาดาวน์โหลดที่นานเกินรอ และจำนวนข้อมูลที่เกินพิกัด ซึ่งเท่าที่เขาเห็น ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดในจีนที่จัดการกับปัญหาทั้งสามนี้พร้อมกันได้

ทีมงานเริ่มสร้างแอปที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเพื่อรวบรวมและจัดระเบียบรูปแบบเนื้อหามากมายจากอินเทอร์เน็ต แอปที่ขับเคลื่อนโดย Big Data และ Machine Learning ที่จะให้บริการผู้คนด้วยฟีดที่ปรับแต่งตามความชอบส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยี AI แบบไม่ต้องพึ่งพามนุษย์

สถานการณ์ในปี 2012 พอร์ทัลข่าวของจีนส่วนใหญ่จ้างบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์และจัดการเนื้อหาด้วยตัวเอง Yiming เชื่อว่าสิ่งนี้จะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคมือถือ

ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้า เขารู้สึกว่ามนุษย์จะถูกกำจัดออกจากกระบวนการจัดการข่าวทั้งหมด และแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติที่ใช้ประโยชน์จาก Big Data และ Machine Learning

Jinri Toutiao เป็นแอปใหม่ ซึ่งมีความหมายว่า “หัวข้อข่าวของวันนี้” และต่อมาถูกเรียกว่า “Toutiao” หรือ “หัวข้อข่าว” ซึ่งชื่อนี้ชนะเลิศจากการนำเสนอโดยทีมงานกว่าร้อยชื่อ

แอปข่าวถือเป็นธุรกิจที่สร้างเงินได้มหาศาล เพราะมีการใช้งานต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนเปิดแอปข่าว แม้ว่าจะมีเวลาว่างเพียงนาทีเดียวในการอ่านพาดหัวข่าว ความต้องการรับทราบข้อมูลใหม่ตลอดเวลาเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อสร้างนิสัยดังกล่าวแล้ว แอปข่าวจะไม่ถูกลบไปจากมือถือของผู้คน

เมื่อ Toutiao เปิดตัว ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ด้วยประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่า แม้จะอยู่ในหมวดหมู่ข่าวที่จำกัด แต่ก็ยังแซงหน้าแอปอื่น ๆ ในด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ทั้ง Weibo , Wechat หรือแม้กระทั่ง Baidu

Toutiao เปิดตัว ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ด้วยประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่า (CR:Nanjing Marketing Group)

กลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Yiming ก็คือการรวมเครือข่ายของแอปต่างๆ ที่เขาปล่อยไปก่อนหน้านี้ แล้วแปลงผู้ใช้งานมายัง Toutiao ซึ่งแอปที่มีอยู่ก่อนหน้าของเขาทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางการได้มาของกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก

ตลอดปี 2012 พวกเขาใช้จ่ายเพียงแค่หนึ่งล้านหยวน (158,000 ดอลลาร์) ในการโปรโมตแอป และมีผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งล้านคนภายในสิ้นปี ต้นทุนการได้มาของผู้ใช้งานต่อผู้ใช้นั้นน้อยกว่า 0.1 หยวน การสร้างแอปมีมต่างๆ ก่อนหน้านี้เป็นวิธีที่โครตฉลาดในการดึงดูดผู้ใช้ในราคาถูก ซึ่งสามารถแปลงมาสู่แพลตฟอร์มหลักอย่าง Toutiao ได้ในภายหลัง

Recommendation Engine

ในปี 2011 Google ได้เริ่มใช้ระบบ Machine Learning ใหม่ที่เรียกว่า Sibyl เพื่อให้คำแนะนำบน Youtube ผลกระทบของ Sibyl นั้นเกิดขึ้นแทบจะทันที วิศวกรของ Youtube พบว่าตัวเลขการเข้าชมของ Youtube พุ่งกระฉูดขึ้นแบบฉุดไม่อยู่

Machine Learning ทำงานได้ดีจนในไม่ช้าผู้คนจำนวนมากเลือกว่าจะดูอะไรตาม “วีดีโอแนะนำ” มากกว่าวิธีการอื่น ๆ ในการเลือกวีดีโอ เช่น การค้นหาทางเว็บหรือการอ้างอิงทางอีเมล

Google พบขุมทรัพย์ทำเงินใหม่ผ่านอัลกอริธึม Machine Learning พวกเขาได้พัฒนาพวกมันขึ้นไปอีกขั้น โดยสิ่งที่เรียกว่า Google Brain ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่ม Moonshot อันโด่งดังของบริษัท Google X ที่นำโดยศาสตราจารย์ Andrew Ng จากสแตนฟอร์ด

Andrew Ng มหาเทพด้าน Machine Learning อันดับต้น ๆ ของโลก (CR:Tech in Asia)
Andrew Ng มหาเทพด้าน Machine Learning อันดับต้น ๆ ของโลก (CR:Tech in Asia)

Google Brain ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าครั้งใหม่ของเทคโนโลยี Deep Learning แม้ผลกระทบจาก Sibyl นั้นจะน่าประทับใจ แต่ผลกระทบจาก Google Brain นั้นสร้าง Impact ที่สูงกว่ามาก

ในช่วงสามปี 2014-2017 เวลารวมที่ใช้ในการดูวีดีโอบนหน้าแรกของ Youtube เพิ่มขึ้น 20 เท่า คำแนะนำผลักดันมากกว่า 70% ของเวลาทั้งหมดบน Youtube วีดีโอแนะนำของ Youtube กลายเป็นเรื่องน่าขนลุกที่จะคาดเดาสิ่งที่คุณสนใจได้อย่างแม่นยำ

ที่ประเทศจีน Yiming ได้กลายเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว เขาไม่เพียงแค่เห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของมันเท่านั้น แต่ยังดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับมันอย่างรวดเร็วอีกด้วยเพื่อไม่ให้ยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ รู้ตัวทัน

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนความสำเร็จของ ByteDance คือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในช่วงต้นของ Yiming ที่พวกเขามุ่งมั่นที่จะใช้เทคนิคใหม่ ๆ เหล่านี้ และจังหวะเวลาของตัดสินใจนั้นมีองค์ประกอบร่วมกันก็คือ การเติบโตอย่างบ้าคลั่งของสมาร์ทโฟนและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI

มันได้กลายเป็นเครื่องจักรที่ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ Yiming มองว่าสิ่งที่เขาจะต้องทำโดยด่วนก็คือ การเปลี่ยนจาก “คนที่กำลังมองหาข้อมูลเป็นข้อมูลกำลังหาผู้คน”

อัลกอริธึมคำแนะนำรูปแบบใหม่ จะฉีกหนีไปจากเดิมอย่างชัดเจน ที่สถานการณ์ในตอนนั้นโลกถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของโซเชียลมีเดียที่ต้องการคำแนะนำเพียงเล็กน้อยแต่จะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของการเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนเพียงเท่านั้น

อัลกอริธึมคำแนะนำรูปแบบใหม่ กำลังใกล้จะสุกงอมเต็มที่ Yiming ต้องคว้าโอกาสนี้ไว้ เนื่องจากคำแนะนำแทบไม่ต้องการข้อกำหนดในการติดตามเพื่อการเชื่อมต่อเหมือนในเครือข่ายโซเชียลมีเดีย

คำแนะนำที่ดีต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้วย search engine ผู้ใช้จะแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนโดยสิ่งที่พวกเขาพิมพ์ลงในแถบค้นหา และมีการตั้งค่าของผู้ใช้ตามพฤติกรรมก่อนหน้าเพียงอย่างเดียว

โดยทั่วไประบบการแนะนำต้องอาศัยกระบวนการหลักสองประการ : “content-based filtering (การกรองตามเนื้อหา)” และ “collaborative filtering (การกรองการทำงานร่วมกัน)”

แนวคิดทั้งสองนี้ค่อนข้างง่ายต่อการเข้าใจ ระบบการกรองตามเนื้อหาจะแนะนำเนื้อหาให้กับผู้ใช้ ในสิ่งที่คล้ายกับที่พวกเขาต้องการอยู่แล้ว หากผู้ใช้สนุกกับการดูวีดีโอสุนัขและถูกแท็กว่าเป็น “คนรักสุนัข” ระบบจะแนะนำวีดีโอสุนัขเพิ่มเติม

ส่วนระบบการกรองการทำงานร่วมกันจะยึดตามคำแนะนำในการค้นหากลุ่มผู้ใช้ที่ชอบเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ความสนใจของ Jane และ Tracey มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก หาก Jane ดูวีดีโอซ้ำ ๆ จนจบ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสนใจที่เชื่อถือได้ ระบบจะแนะนำวีดีโอนั้นให้กับ Tracey ด้วย

ในช่วงกลางปี 2012 Yiming ได้ส่งอีเมลไปยังทีมเทคนิคของ ByteDance ด้วยชื่อที่เป็นลางไม่ดี “Recommended Engine General Meeting”

Yiming มุ่งมันที่จะผลักดันในหัวข้อที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของบริษัท ในเนื้อหาอีเมลยังระบุด้วยว่า “ในการเป็นแพลตฟอร์มข้อมูล จำเป็นต้องทำงานได้ดีกับเครื่องมือแนะนำส่วนบุคคล พวกคุณต้องการเริ่มต้นสิ่งนี้ในตอนนี้หรือไม่”

ระบบการแนะนำเบื้องต้นของ Toutiao ซึ่งเรียกว่า “personalization technology (เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ)” โดยเมื่อเปิดแอปขึ้นมา แล้วผู้ใช้จะได้รับบทความที่อ่านแล้วติดอันดับต้น ๆ เพื่อให้พวกเขาติดใจในทันที

หลังจากนั้นจะเป็นการรวมบทความ clickbait ที่ตรงเป้าหมายมากขึ้นซึ่งดึงดูดผู้ใช้เฉพาะกลุ่มเพื่อทดสอบและตัดสินใจว่าใครคือผู้อ่าน ผู้ใช้ที่คลิกบทความที่มีภาพตัวอย่างขนาดใหญ่ของนางแบบรถยนต์น่าจะเป็นผู้ชาย ผู้ใช้รายอื่นที่อ่านบทความ “ซุปไก่เพื่อจิตวิญญาณ” น่าจะเป็นผู้สูงอายุ การเสริมการคาดเดานี้คือข้อมูลพื้นฐาน เช่น รุ่นโทรศัพท์ของผู้ใช้ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และวันเวลาที่พวกเขาเปิดแอป

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อ ByteDance ได้ไปขโมยตัว Yang Zhenyuan รองผู้อำนวยการฝ่ายการค้นหามาจาก Baidu ซึ่งเขาทำงานกับ Baidu มาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว Yang ได้รับตำแหน่งรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ ByteDance ทันที และเตรียมพร้อมสำหรับการอัปเกรดทางเทคนิคครั้งใหญ่

 Yang Zhenyuan มือดีที่คว้าตัวมาจาก Baidu (CR:PingWest)
Yang Zhenyuan มือดีที่คว้าตัวมาจาก Baidu (CR:PingWest)

การได้พนักงานระดับเรือธงอย่าง Yang เข้ามานั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ByteDance ซึ่งเปิดประตูให้กับวิศวกรของ Baidu คนอื่น ๆ ที่ติดตามเขามาร่วมงานด้วย

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่เพิ่มขึ้นจากทีมของ Baidu ภายในปี 2016 พวกเขาสามารถทดลองวิธีการต่าง ๆ ในการสร้างเนื้อหาด้วยอัลกอริธึม ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนั้น บอทที่พัฒนาโดย ByteDance ได้เขียนข่าวต้นฉบับ เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้เร็วกว่าสื่อแบบดั้งเดิม และเพลิดเพลินกับระดับของการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้ที่เทียบได้กับบทความที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ

ในเดือนมกราคมปี 2018 ByteDance ได้จัดประชุมสาธารณะในกรุงปักกิ่งเพื่อเปิดเผยว่าอัลกอริธึมของพวกเขาทำงานอย่างไร เป้าหมายเพื่อบรรเทาการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อของรัฐและหน่วยเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารควบคู่ไปกับความกังวลเกี่ยวกับการขาดการดูแลของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

ในงานดังกล่าวผู้นำทีมอัลกอริธึมระดับอาวุโสของบริษัท Cao Huanhuan ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการของระบบการแนะนำของ ByteDance

ระบบของ ByteDance ใหม่นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ 3 โปรไฟล์ : content profile (โปรไฟล์เนื้อหา) , user profile (โปรไฟล์ผู้ใช้) และ environment profile (โปรไฟล์สภาพแวดล้อม)

สำหรับโปรไฟล์เนื้อหา Cao ได้ยกตัวอย่างบทความข่าวเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษระหว่างลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยคำหลักจะถูกดึงออกมาจากบทความโดยใช้เทคโนโลยี Natural Language Processing (NLP)

ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็คือ “สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล” “สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด” “พรีเมียร์ลีกอังกฤษ” และชื่อผู้เล่นหลักหลายคนจากเกมดังกล่าว เช่น “ดาวิด เด เคอา”

จากนั้นจะมีการกำหนดค่าความเกี่ยวข้องกับคำหลัก ในตัวอย่าง “สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด” เท่ากับ 0.9835 และ “ดาวิด เด เคอา” เท่ากับ 0.9973 ซึ่งทั้งคู่ถือว่าสูงมากตามที่คาดไว้ โปรไฟล์เนื้อหายังรวมถึงเวลาที่เผยแพร่บทความ ซึ่งช่วยให้ระบบคำนวณว่าบทความนั้นล้าสมัยเมื่อใดและหยุดการแนะนำ

โปรไฟล์ผู้ใช้สร้างขึ้นจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงประวัติการท่องเว็บ ประวัติการค้นหา ประเภทของอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ ตำแหน่งของอุปกรณ์ อายุ เพศ และลักษณะพฤติกรรม ผู้ใช้ถูกแบ่งออกเป็นละติจูดหลายหมื่นตามข้อมูลโซเชียลและการขุดพฤติกรรมผู้ใช้เพื่อสร้างโปรไฟล์ที่แตกต่างกัน

เมื่อคุณอ่านโพสต์ที่แพลตฟอร์มแนะนำ มันจะเรียนรู้การตั้งค่าของคุณโดยติดตามพฤติกรรมของคุณ : สิ่งที่คุณเลือกอ่าน สิ่งที่คุณเลือกที่จะยกเลิกอ่าน คุณใช้เวลานานแค่ไหนกับเนื้อหา บทความที่คุณแสดงความคิดเห็น และเรื่องราวใดที่คุณ เลือกที่จะแชร์

สุดท้ายโปรไฟล์สภาพแวดล้อมจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ใช้เสพเนื้อหา เช่น ที่ทำงาน ที่บ้าน หรือระหว่างการเดินทางบนรถไฟใต้ดิน เนื่องจากความชอบของผู้คนแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ลักษณะด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้แก่ สภาพอากาศและแม้กระทั่งความเสถียรของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้ใช้และเครือข่ายที่พวกเขาใช้ ( เช่น Wi-Fi หรือ China Mobile 4G)

ระบบจะคำนวณการจับคู่ทางสถิติที่รัดกุมที่สุดระหว่างโปรไฟล์เนื้อหา โปรไฟล์ผู้ใช้ และโปรไฟล์สภาพแวดล้อม ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพเปอร์เซ็นต์ของบทความที่อ่านและเปอร์เซ็นต์ของบทความที่อ่านเสร็จสิ้นแล้ว (เช่นเวลาที่ใช้)

จากนั้นกระบวนการเผยแพร่เนื้อหาจะจัดสรร “ค่าคำแนะนำ” ให้กับเรื่องราวที่ตีพิมพ์ใหม่แต่ละรายการโดยพิจารณาจากคุณภาพและจำนวนผู้อ่านที่เป็นไปได้ ยิ่งมีมูลค่าสูงเท่าใด ก็จะยิ่งแจกจ่ายบทความให้คนที่เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น

ค่าการแนะนำจะเปลี่ยนไปเมื่อผู้ใช้ตอบโต้กับมัน ปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก เช่น การชอบ การแสดงความคิดเห็น และการแชร์ ช่วยเพิ่มมูลค่าของคำแนะนำ

ส่วนการกระทำเชิงลบ เช่น ไม่ชอบและเวลาในการอ่านสั้น ค่าจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากเนื้อหาเริ่มล้าสมัย สำหรับหมวดหมู่ข่าวด่วน เช่น ข่าวกีฬา หรือ ราคาหุ้น วันหรือสองวันอาจเพียงพอสำหรับมูลค่าที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับเนื้อหาหมวดหมู่ที่มีระยะเวลายืนยาว (Evergreen Content) เช่น ไลฟ์สไตล์หรือการทำอาหาร กระบวนการจะช้าลง

ความสวยงามของการพึ่งพาคำแนะนำในการปรับปรุงการมีส่วนร่วมคือการสร้างวัฏจักรที่ดีของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งมักเรียกกันว่า “data network effect” ยิ่งใช้เวลากับแอปมากเท่าไหร่ โปรไฟล์ผู้ใช้ก็จะยิ่งสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การจับคู่เนื้อหาที่แม่นยำยิ่งขึ้นและประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีขึ้น

Recommendation Engine คือเครื่องจักรอันทรงพลังใหม่ของ ByteDance ที่พวกเขาสามารถที่จะคิดการณ์ใหญ่ มันผลักดันให้ Toutiao แอปอ่านข่าวของพวกเขาแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และสามารถทำรายได้ให้กับพวกเขาอย่างเป็นกอบเป็นกำ

เหมือนตัว Yiming จะเห็นขุมทรัพย์ขนาดมหึมาจากคอมพิวเตอร์อัลกอริทึมนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ ByteDance แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งการเริ่มทดลองกับ Toutiao นี่เองที่สุดท้าย เมื่อนำอัลกอริทึมนี้มาสร้างแอปอย่าง TikTok ก็สามารถผลักดันให้แพลตฟอร์มวีดีโอสั้นรูปแบบใหม่นี้เติบโตอย่างบ้าคลั่ง และยึดครองโลกเราอย่างที่ได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Attention Factory : The Story of TikTok & China’s ByteDance โดย Brennan Matthew
หนังสือ TikTok Boom : China’s Dynamite App and the Superpower Race for Social Media โดย Chris Stokel-Walker
https://pandaily.com/zhang-yiming-5-common-characteristics-outstanding-youth/