บริษัท Big Four กล่าวว่ามีแผนที่จะหาวิธีใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการปฏิบัติงานด้านภาษีด้วยเช่นกัน
นับตั้งแต่เปิดตัว ChatGPT แชทบอท AI ที่พัฒนาโดย OpenAI ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft ได้กระตุ้นความสนใจในศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพ
บริษัท Big Four กล่าวว่ามีแผนที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเองสำหรับลูกค้าด้านภาษีและกฎหมายโดยใช้แพลตฟอร์มของ Harvey
ไม่แทนที่แค่นำมาช่วยเหลือ
PwC จะไม่ใช้ AI เพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและจะไม่แทนที่นักกฎหมาย แน่นอนว่าการมองหาวิธีการใช้ AI ของอุตสาหกรรมบริการระดับมืออาชีพถือเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องสู่ระบบอัตโนมัติของงานที่มีลักษณะซ้ำซากจำเจ
ทั้งนี้ Bain & Co และ Boston Consulting Group กำลังทดลองใช้ OpenAI เช่นเดียวกัน รวมถึงบริษัทกฎหมาย Allen & Overy ที่มีการใช้ Harvey อยู่แล้ว และได้ออกมายืนยันว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่แทนที่พนักงานคนใด พวกเขามองว่ามันจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้ในอนาคต
Robin AI ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Harvey กล่าวว่าได้ให้บริการแก่ที่ปรึกษา Big Four สองแห่งและสำนักงานกฎหมาย Clifford Chance ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบและแก้ไขสัญญา บริการของพวกเขาสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Anthropic บริษัทสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ
“เป้าหมายคือทำให้งานที่มีปริมาณมากที่ซ้ำซากจำเจเป็นไปโดยอัตโนมัติซึ่งไม่ควรใช้มนุษย์มาทำสิ่งเหล่านี้” Richard Robinson ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Robin กล่าว
Tesla อาจเป็นผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และตามที่ Elon Musk ได้คุยโวไว้ว่าพวกเขาล้ำหน้ากว่าคู่แข่งมากจนแทบมองไม่เห็นใครที่จะมาต่อกรพวกเขา
ในขณะที่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ยุคเครื่องยนต์สันดาปอย่าง Toyota ก็ไม่ได้สนใจภัยร้ายที่ย่องมาเงียบ ๆ จากผู้ผลิตชาวจีนอย่าง BYD ซึ่งในปีนี้อาจแซงหน้า Tesla ในฐานะผู้ขายรถยนต์ EV รายใหญ่ที่สุดของโลก (ไม่รวมถึงรถไฮบริดซึ่งพวกเขาก็ผลิตด้วยเช่นกัน)
ความน่าสนใจก็คือ BYD และ Toyota พวกเขาเป็นพันธมิตรกันในประเทศจีน ที่สำคัญกว่านั้น BYD ได้เลียนแบบคุณลักษณะหลายอย่างของ Toyota ที่ได้กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกมานานหลายทศวรรษ
บริษัททั้งสองมีความคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ พวกเขาไม่ได้เริ่มต้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ Toyota เริ่มต้นธุรกิจด้วยการผลิตเครื่องทอผ้าแบบอัตโนมัติ
ผลิตภัณฑ์แรกของ BYD คือแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อมองจากจุดเริ่มต้นพวกเขาตามหลังคู่แข่งด้านการผลิตรถยนต์ระดับโลกในยุคของตัวเองเป็นอย่างมาก
BYD ใช้ความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่และมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าและรถปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นที่รู้จักในจีนว่าเป็นรถยนต์พลังงานใหม่ ( NEV ) ทั้ง Toyota และ BYD ฝึกปรือฝีมือด้วยตลาดภายในประเทศและเมื่อพวกเขาเริ่มออกไปตีตลาดต่างประเทศก็เริ่มต้นในตลาดรถยนต์ในประเทศที่ค่อนข้างด้อยพัฒนา
แต่จุดเริ่มต้นในการผลิตรถยนต์ได้ยกระดับธุรกิจของพวกเขาอย่างรวดเร็ว ในช่วงหกปีตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1961 การส่งออกของ Toyota เติบโตมากกว่า 40 เท่า และนั่นคือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของ Toyota
ปัญหาที่พวกเขาพบเจอก็คล้ายคลึงกัน Toyota ได้ตกเป็นเหยื่อของ สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯและญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ฟากฝั่ง BYD ก็ต้องประสบพบเจอกับสงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกันที่ใกล้จะถึงจุดเดือดอยู่ในตอนนี้
Tu Le จาก Sino Auto Insights ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านยานยนต์ EV ได้ขนานนาม BYD ว่าเป็น “The New Toyota” ซึ่ง Toyota นั้นถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะด้านการผลิตของอุตสาหกรรมมานานหลายทศวรรษ “วิถีแห่งโตโยต้า” คือการรวมกันของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือไคเซ็น การผลิตแบบลีน และการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เหนือชั้น
BYD ทำสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการบูรณาการในแนวดิ่งมากที่สุดในโลก ทำทุกอย่างตั้งแต่ที่นั่งของตัวเองไปจนถึงแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทาง Le ได้ใช้คำว่า Get shit done (GSD) เพื่ออธิบายความสามารถในการผลิตของ BYD
“มีเพียงมนุษย์ไม่กี่คนที่ทำการตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้าย หุ่นยนต์ของ BYD ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับการผลิตรถยนต์เช่นเดียวกับที่ Toyota เคยทำได้สำเร็จ” Warren Buffett ไอคอนด้านการลงทุนของอเมริกาเป็นแฟนตัวยงของ BYD รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
จากข้อมูลนี้ บริษัทบ่งบอกเป็นนัยว่าในไตรมาสที่ผ่านมา อัตรากำไรของธุรกิจรถยนต์ของ BYD นั้นได้แซงหน้า Tesla ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ทำกำไรได้มากที่สุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า BYD ที่เติบโตมาจากการสร้างรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดสำหรับตลาด mass กำลังขายรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมที่มีกำไรสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างจาก Tesla ตรงที่พวกเขามีรุ่นและสไตล์ที่หลากหลายและมีการออกรถรุ่นใหม่เป็นประจำ
บุกตลาดอเมริกา
ยังมีโอกาสใหญ่มาก ๆ สำหรับ BYD ในตลาดอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังไม่ได้บุกไปยังตลาดนี้มากนัก แต่อุปสรรคใหญ่ในการเข้าสู่ตลาดอเมริกาคือภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นนโยบายสมัยประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีปัญหาอย่างหนักกับประเทศจีน และมีการกีดกันการค้าโดยเฉพาะส่วนประกอบ EV ที่ผลิตในจีน เช่น แบตเตอรี่
ในที่สุดการเปิดตัวในอเมริกาของ BYD คงเกิดขึ้นแน่ ๆ เหล่าผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันก็ต้องพึ่งพายอดขายในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาไม่สามารถกีดกันให้ BYD บุกเข้ามาในประเทศเขาได้เช่นเดียวกัน
BYD อาจนำเสนอรถยนต์ EV ที่ราคาต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์ ที่จะกระตุ้นตลาด mass ในสหรัฐอเมริกา และหากพวกเขาล้มเหลว BYD ก็สามารถที่จะขอความช่วยเหลือผ่านองค์ความรู้ของ Toyota ในการเจาะตลาดอเมริกา เพราะพวกเขามีความร่วมมือกันอยู่แล้วในประเทศจีน
สำหรับตอนนี้ Toyota ได้เริ่มตระหนักถึงความท้าทายจาก BYD ซึ่งก็มาก พอๆ กับโอกาสที่เกิดขึ้น พวกเขาทั้งสองมีคุณลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันมาก Toyota และ BYD ไม่ได้คุยโม้โอ้อวดถึงจุดแข็งของตัวเองอย่างที่ Elon Musk ทำกับ Tesla แต่ให้ตัวเลขเป็นบทพิสูจน์ทางธุรกิจให้โลกได้เห็นนั่นเอง
ธุรกิจวีดีโอสตรีมมิ่งกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการกลับมาของ Bob Iger สู่ตำแหน่งผู้บริหารของ Disney และการกลับมาอีกครั้งของ Reed Hastings ที่ Netflix รวมถึงข่าวล่าสุดที่ว่า Susan Wojcicki จะลาออกจาก YouTube หลังจากเก้าปี นั่นถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่สำคัญของธุรกิจนี้
สถานการณ์ที่เริ่มสั่นคลอนของบริษัทแม่อย่าง Alphabet เมื่อ Sundar Pichai กำลังต่อสู้กับสงครามในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ChatGPT ของ Microsoft ซึ่งกำลังทำให้เกิดการรุกล้ำในธุรกิจที่เป็นเครื่องจักรทำเงินอย่างการค้นหาของ Google
แต่การเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่ใหญ่กว่า Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ทำให้ YouTube เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจกว่า เนื่องด้วยความสามารถในการขยายบริการต่างๆ เช่น YouTube TV ไปทั่วโลกอาจถูกตัดแข้งตัดขาโดยข้อกังวลด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับขนาดของ Alphabet ที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ
และการตอบสนองอย่างตื่นตระหนกของ Sundar Pichai ต่อ ChatGPT ซึ่งเป็นหุ้นส่วนด้าน AI ระหว่าง Microsoft และสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง Open AI ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของเขา
Laura Martin จาก Needham ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน ประเมินว่ามูลค่าของ Youtube อาจมีมูลค่าอย่างน้อย 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่า Disney และ Netflix ถึงสองเท่า
ก่อนหน้านี้เหล่านวัตกรรมที่สั่นสะเทือนโลกซึ่งหมายถึงนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ นั่นก็ทำให้เราสามารถจินตนาการได้ว่า AI ที่มีประสิทธิภาพอาจเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในอีกหลายปีข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน
ในบทความที่ตีพิมพ์ในปี 1995 Timothy Bresnahan จาก Stanford University และ Manuel Trajtenberg จาก Tel Aviv University ได้กำหนดสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นลักษณะของเทคโนโลยีที่ใช้งานทั่วไป ที่ต้องใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม มีศักยภาพสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิด “ส่วนเสริมทางนวัตกรรม” นั่นคือ กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ในอนาคต
แล้วการปฏิวัติทางเศรษฐกิจด้วย AI ยุคใหม่จะเริ่มขึ้นเมื่อใด?
Robert Allen แห่ง New York University Abu Dhabi ได้กล่าวว่าการเติบโตของผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร สะท้อนถึงการขาดเงินทุนในการสร้างโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งมันค่อยๆ เอาชนะได้เมื่อเหล่านายทุนนำกำไรอันมากล้นของพวกเขากลับมาลงทุนใหม่
ในทำนองเดียวกัน ประสิทธิภาพที่น่าทึ่งของเครื่องมือ AI ล่าสุด แสดงถึงการก้าวกระโดดครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เริ่มจุดประกายเทคโนโลยี AI ที่เปิดตัวออกมาเมื่อประมาณทศวรรษที่แล้ว (เช่น Siri ผู้ช่วยเสมือนของ Apple เปิดตัวในปี 2011 เป็นต้น)
Erik Brynjolfsson จาก Stanford University, Daniel Rock จาก Massachusetts Institute of Technology และ Chad Syverson จาก University of Chicago แนะนำว่าเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามา disrupt อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “productivity J-curve” การเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวมที่วัดได้จริงอาจลดลงในช่วงหลายปีหรือหลายทศวรรษหลังจากที่เทคโนโลยีใหม่ปรากฏขึ้น
AI อาจช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตของคนงานในทุกระดับทักษะที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งอาชีพอย่างนักเขียน แต่เมื่อมองถึงอาชีพโดยรวมนั้นขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงนำไปสู่ความต้องการโดยรวมที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่าง เช่น การเกิดขึ้นของระบบสายพานการผลิต ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับ GPT ทำให้ Henry Ford สามารถลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์ นั่นทำให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และเหล่าพนักงานต่างได้รับประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกัน หาก AI ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนด้านการแพทย์ นั่นอาจนำไปสู่ความต้องการบริการทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่สูงขึ้นอีกมาก
AI ที่ทรงพลังมีโอกาสที่จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดการงานเกือบทุกอย่างที่คนทั่วไปสามารถทำได้ ซึ่งจะนำมนุษยชาติเข้าสู่รูปแบบเศรษฐกิจที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป
และเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคนจะนำไปสู่เป็นความเจริญรุ่งเรืองในวงกว้างมากกว่าที่จะสร้างความโกลาหล การปฏิวัติครั้้งใหญ่ของ AI ในครั้งนี้คงทำให้มีเวลาอีกไม่นานที่พวกเราเหล่ามนุษยชาติอาจถึงเวลาที่ต้องแข่งขันแย่งชิงกันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้