Geek Story EP399 : ภาพสะท้อนประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ในเศรษฐกิจเวียดนามวันนี้

เราได้ยินข่าวกันมาหลายปี ว่าเวียดนามจะแซงไทย บริษัทต่างชาติแห่กันไปลงทุนที่นั่น ทิ้งประเทศไทยไปเกือบหมดแล้ว ภาพของเศรษฐกิจเวียดนามที่กำลังคึกคักถูกฉายซ้ำๆ จนหลายคนเชื่อว่าอนาคตของภูมิภาคนี้อยู่ที่เวียดนาม

แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเวียดนามในวันนี้ คือภาพสะท้อนของประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน และเส้นทางข้างหน้าของพวกเขา อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายคนคิด ความท้าทายที่รออยู่ ทั้งการพึ่งพาต่างชาติที่มากเกินไป ผลิตภาพแรงงานที่ยังต่ำ และสังคมที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify :
https://tinyurl.com/2f4hsm3s

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/2a4j833k

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/u3vtyeaz

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/QkQKV89QtNQ

Geek Talk EP105 : เหตุผลที่ BYD กำลังฉีกหนี Tesla ถอดรหัส ‘บ่อปลาเทคโนโลยี’ อาวุธลับที่ทำให้ BYD ไร้เทียมทาน

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่หลายคนบ่นว่านานแสนนาน มันสามารถเสร็จได้ในเวลาแค่ 5 นาที… ใช่ครับ 5 นาที เท่ากับเวลาที่เราเดินเข้าไปซื้อกาแฟแก้วหนึ่ง หรือพอๆ กับเวลาที่เราจอดเติมน้ำมันในปั๊มเลย

เรื่องนี้ไม่ใช่คำถามในหนังไซไฟ แต่มันคือคำประกาศที่สั่นสะเทือนวงการยานยนต์โลกจากบริษัทจีนอย่าง BYD ที่บอกว่าพวกเขาทำได้จริง

วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่า เบื้องหลังคำประกาศที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนโลกนี้ มันมีอะไรซ่อนอยู่ เทคโนโลยีนี้เป็นของจริง หรือเป็นแค่การตลาดที่สวยหรู และที่สำคัญที่สุดคือ ปรากฏการณ์ของ BYD กำลังจะบอกอะไรเราเกี่ยวกับอนาคตของวงการรถยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/52f9w23d

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
 https://tinyurl.com/mu2hjxn7

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/fub235k

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/j3aCoqMSCyA

ทำไม Clubhouse ถึงตายเร็วกว่าเกิด? บทเรียนสำหรับสตาร์ทอัพยุคใหม่ จาก 4 พันล้านดอลลาร์ สู่ความเงียบงัน

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมแอปพลิเคชันที่เคยดังกระฉูดมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ถึงกลับดิ่งลงเหว หายไปจากความสนใจของผู้คนได้ในเวลาไม่ถึงปี ?

เรื่องราวของ Clubhouse คือกรณีศึกษาที่น่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการโซเชียลมีเดีย เป็นบทเรียนราคาแพงที่นักการตลาดและผู้ประกอบการทุกคน

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2021 ถ้าจะหาแอปโซเชียลที่เนื้อหอมที่สุดในโลก ชื่อของ Clubhouse คงนอนมาเป็นอันดับหนึ่งแบบไร้คู่แข่ง ด้วยมูลค่าบริษัทที่พุ่งทะยานไปถึง 4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 แสนล้านบาท

แอปนี้มีผู้ใช้งานประจำมากกว่า 17 ล้านคน และกลายเป็นของที่ทุกคนถวิลหาที่จะต้องมีติดเครื่องไว้ เรียกได้ว่าเป็นดาวดวงใหม่ที่ถูกเสกขึ้นมาประดับวงการโซเชียลอย่างแท้จริง

ลองนึกภาพตาม บรรดาคนดังระดับโลกต่างพากันเข้ามาใช้พื้นที่นี้ไม่ว่าจะเป็น Elon Musk หรือ Mark Zuckerberg ที่มาเล่าเรื่อง Metaverse อย่างกระตือรือร้น หรือแม้กระทั่ง Oprah Winfrey ก็ยังมาแชร์เทคนิคการสัมภาษณ์ของเธอ

แต่แล้วเกิดอะไรขึ้น ? ทำไมสวรรค์ของ Clubhouse ถึงได้พังทลายลงมาอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้งานกว่า 80% หายวับไปกับตา จนกลายเป็นหนึ่งในความล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ในแวดวงเทคโนโลยี

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากชายสองคน Paul Davison และ Rowan Seth ผู้ก่อตั้ง Clubhouse พวกเขามีไอเดียที่ โครตเจ๋งมาก ๆ คือการสร้างแพลตฟอร์มที่แตกต่างจาก Instagram และ TikTok โดยสิ้นเชิง

พวกเขาต้องการรังสรรค์พื้นที่ที่ใช้ “เสียง” เป็นตัวนำ ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องหน้าตาเหมือนตอนใช้ Zoom หรือโซเชียลอื่น ๆ แต่เน้นการเชื่อมต่อกันด้วยเสียงสด ๆ แบบเรียลไทม์

Clubhouse เปิดตัวในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเหมาะเจาะมาก ๆ เพราะการระบาดของโควิด-19 เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น ผู้คนทั่วโลกถูกกักตัวอยู่บ้านและโหยหาการเข้าสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ

ความพิเศษของ Clubhouse คือระบบที่ต้องได้รับเชิญเท่านั้น (invite-only) ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นคลับลับเฉพาะกลุ่มที่ใคร ๆ ก็หมายปอง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้ามาเดินเล่นได้ง่าย ๆ

ความรู้สึกพิเศษนี้เองที่ทำให้แอปบูมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปี 2020 เป็นปีแห่งการก่อร่างสร้างตัว ปี 2021 คือปีที่ Clubhouse ระเบิดฟอร์มอย่างเต็มที่

เพียงแค่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เดือนเดียว Clubhouse ถูกดาวน์โหลดไปเกือบ 10 ล้านครั้งทั่วโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความนิยมพุ่งกระฉูดก็คือการเข้ามาของเหล่าคนดังและผู้ทรงอิทธิพลในวงการต่าง ๆ

สิ่งที่ Instagram ทำกับรูปภาพ Clubhouse ก็กำลังทำสิ่งเดียวกันนั้นกับ “เสียง” การเติบโตที่บ้าคลั่งนี้ไปเข้าตานักลงทุนรายใหญ่อย่าง Andreessen Horowitz ที่ประเมินมูลค่าบริษัทไว้สูงลิ่ว

แต่ใครจะไปคิดว่าความสำเร็จที่ดูเหมือนจะฉุดไม่อยู่นี้ กำลังจะกลายเป็นเพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา…

ในช่วงที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน Clubhouse คือคำตอบที่ใช่ที่สุด จำนวนผู้ใช้เพิ่มจากหลักพันในเดือนพฤษภาคม 2020 กลายเป็น 600,000 คนในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เป็นการเติบโตที่โหดมาก

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ความสำคัญของ Clubhouse ก็เริ่มหมดไปสำหรับหลายคน มันไม่ต่างอะไรกับของเล่นชิ้นใหม่ที่พอเบื่อแล้วก็โยนทิ้ง

จากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้กว่า 88% เลิกเล่น Clubhouse เพราะมองว่ามันเป็นแค่กระแสชั่วคราวในช่วงระบาดเท่านั้น แต่เบื้องหลังความล่มสลายนี้ มันมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้น

ปัญหาใหญ่ข้อแรกคือการที่ Clubhouse ดูเหมือนจะเทิดทูนเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และคนดังมากเกินไป จนละเลยผู้ใช้งานทั่วไป บรรยากาศในแอปให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคลับของชนชั้นสูง ที่คนธรรมดาแทบไม่มีสิทธิ์เข้าถึง

บางคนถึงกับเอาบัตรเชิญไปขายในราคาหลายหมื่นบาท ทำให้คนทั่วไปที่อยากลองใช้รู้สึกยี้ และมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระในขณะที่คนดังกลับเติบโตและกอบโกยบนแพลตฟอร์มนี้

เมื่อ Elon Musk เปิดห้องสนทนา แฟนคลับของเขาก็แห่กันเข้ามาจนแอปแทบแตก เขาดึงดูดผู้ฟังได้ทันที 5,000 คน ซึ่งเกินขีดจำกัดที่แอปจะรับไหวในตอนนั้น

ไม่ใช่แค่คนในวงการเทคฯ เท่านั้น แม้แต่ตำนานฮิปฮอปอย่าง MC Hammer หรือแร็ปเปอร์อย่าง 21 Savage ก็เข้ามาใช้พื้นที่นี้สร้างแบรนด์และเชื่อมต่อกับแฟนคลับ มันกลายเป็นเวทีของคนดังโดยสมบูรณ์

แม้ช่วงแรกมันจะเจ๋งมาก ๆ ที่ได้ฟังคนดังพูดสด ๆ แต่ไม่นานผู้ใช้ทั่วไปก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง พวกเขาเข้าถึงห้องสนทนาที่น่าสนใจได้ยาก เพราะระบบจะดันแต่ห้องของคนดังขึ้นมา

การต้องทนฟังบทสนทนายาว ๆ ที่ไม่มีการตัดต่อเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ มันไม่สามารถดึงความสนใจไว้ได้นานพอ ก่อนที่พวกเขาจะสลับไปเช็ก Instagram หรือ Twitter แทน

ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นมีคอนเทนต์ที่ผ่านการตัดต่อมาอย่างดี แต่ Clubhouse ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การสร้างบทสนทนาสดหนึ่งชั่วโมงให้น่าสนใจตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ Clubhouse ไม่มีฟีเจอร์บันทึกการสนทนาในช่วงแรก ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง

ลองนึกภาพตาม คุณกำลังฟังเรื่องสุดมันอยู่ดี ๆ แต่มีสายสำคัญเข้า หรือต้องไปทำธุระด่วน พอกลับมาอีกที บทสนทนาส่วนสำคัญก็หายไปหมดสิ้นไม่สามารถย้อนกลับไปฟังได้อีก

ในทางกลับกัน Twitter Spaces คู่แข่งที่มาทีหลัง กลับมีฟีเจอร์นี้ให้ใช้ตั้งแต่วันแรก Clubhouse เพิ่งจะมาเพิ่มปุ่มบันทึกในเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งมันก็สายไปเสียแล้ว

ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์บันทึกที่ขาดไป แต่คุณสมบัติพื้นฐานอื่น ๆ ก็ไม่มีเช่นกัน ผู้ใช้แชร์รูปหรือวิดีโอไม่ได้ ส่งข้อความส่วนตัวก็ไม่ได้ โพสต์สเตตัสก็ไม่ได้ มีแค่ห้องเสียงเพียว ๆ ซึ่งมันไม่เพียงพอที่จะฉุดรั้งผู้ใช้ไว้ได้อีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น Clubhouse ยังกลายเป็นแหล่งรวมของคำพูดแสดงความเกลียดชัง การเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ และการคุกคามต่าง ๆ นานาจนฉาวโฉ่ไปทั่ว

มีห้องสนทนาที่ตั้งชื่อแบบล้ำเส้น เช่น “ผู้หญิงผิวดำบนเตียงห่วยจริงหรือ?” ที่มีคนเข้าร่วมกว่า 4,000 คน และโจมตีกันอย่างเปิดเผย สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่เป็นพิษและขาดการควบคุมดูแลที่ดีเพียงพอ

ปัญหานักต้มตุ๋นที่เข้ามาสร้างห้องล่อลวงผู้คนด้วยแผนรวยเร็ว หรือการปลอมตัวเป็นคนดังก็แพร่ระบาดไปทั่ว ปัญหาเหล่านี้รุมเร้าจนแพลตฟอร์มที่เคยได้รับความนิยมกลับเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

อิทธิพลที่ Clubhouse เคยมีต่อโลกโซเชียลได้สูญสิ้นไปในเวลาเพียงไม่กี่เดือน Twitter Spaces ที่เปิดตัวตามมา สามารถแซงหน้าไปได้อย่างไม่เห็นฝุ่น เครือข่ายเดิมที่แข็งแกร่งของ Twitter นั้น มีพลังมากเกินกว่าที่ Clubhouse จะต่อกรด้วยได้

เดือนเมษายน 2023 Clubhouse ประกาศปลดพนักงานออกถึง 50% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ของบริษัทเริ่มแย่ ผู้ก่อตั้งหวังว่าทีมที่เล็กลงจะช่วยให้ขยับตัวได้เร็วขึ้น

แต่คำถามคือ จะมีการกลับมาของ Clubhouse อีกครั้งหรือไม่? อนาคตของแอปที่เคยรุ่งเรืองนี้ยังคงมืดมนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

บทเรียนสำคัญจากการ “ขึ้นสุดลงสุด” ของ Clubhouse มีหลายประการที่น่าขบคิด

อย่างแรก การเติบโตที่เร็วเกินไปอาจเป็นยาพิษ ผู้ก่อตั้งเองยอมรับว่าพวกเขาโตเร็วเกินไปจนระบบและทีมงานไม่สามารถรองรับได้ทัน

อย่างที่สอง การพึ่งพากระแสชั่วคราวเป็นความเสี่ยงมหันต์ Clubhouse เกิดจากความต้องการในช่วงโควิด แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ความต้องการนั้นก็ลดฮวบลง

อย่างที่สาม การให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์มากเกินไป คือการถีบส่งผู้ใช้ทั่วไป ความรู้สึกของการเป็นพลเมืองชั้นสองทำให้ไม่มีใครอยากอยู่ต่อ

และสุดท้าย การขาดคุณสมบัติพื้นฐานและการแก้ปัญหาที่ล่าช้าเกินไป คือการขีดชะตาชีวิตของตัวเองให้ดับสนิท ในสมรภูมิที่การแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดในโลก

Clubhouse คือตัวอย่างชั้นดีของแอปที่มาเร็วไปเร็วแม้จะมีแนวคิดที่โครตเทพ และได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนชั้นนำ แต่ความล้มเหลวในการปรับตัวและแก้ปัญหาพื้นฐานให้ทันท่วงที ก็ทำให้พวกเขาต้องสูญสิ้นทุกสิ่งไปในที่สุด

เรื่องราวนี้คือบทเรียนราคาแพงที่ถูกขีดเขียนไว้ในประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ว่าไอเดียที่เจ๋งเพียงอย่างเดียว ไม่เคยเพียงพอที่จะการันตีความสำเร็จในโลกธุรกิจที่โหดเหี้ยมใบนี้ได้เลย

References: [justanotherpm, wikipedia, marketrealist, scmp]

ยุคมืดของ Siri? จากผู้นำสู่ผู้ตาม สงครามที่ Apple แพ้ก่อนจะเริ่มต่อสู้

เคยไหมครับ… ที่หยิบ iPhone สุดรักขึ้นมา แล้วลองคุยกับ Siri ดู แต่สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยความผิดหวัง

เชื่อว่าหลายคนคงพยักหน้า

วันนี้เราจะมาคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Siri ผู้ช่วยอัจฉริยะที่เคยเป็นที่เชิดหน้าชูตา และทำไม Apple พี่ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี ถึงดูเหมือนจะก้าวช้ากว่าใครเพื่อนในยุค AI ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในขณะนี้

เรื่องราวทั้งหมดต้องย้อนกลับไปในปี 2011

ตอนนั้น Apple ได้เปิดตัว Siri ออกมาพร้อมกับ iPhone 4S มันเป็นอะไรที่เจ๋งมาก ๆ และสร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก

ลองนึกภาพตามนะครับ… โลกที่แค่พูดกับโทรศัพท์ว่า “วันนี้อากาศเป็นยังไง” แล้วมันก็ตอบกลับมาได้ทันที มันคือภาพจากหนังไซไฟที่กลายเป็นจริงขึ้นมา

ขนาด Steve Jobs เองยังประทับใจกับความสามารถของ Siri แบบสุด ๆ

เขามองเห็นภาพอนาคตที่มนุษย์จะสื่อสารกับเทคโนโลยีด้วยเสียง แทนการพิมพ์ที่ยุ่งยาก นี่คือการปฏิวัติที่แท้จริงในยุคนั้น

แต่ใครจะไปคิดว่า… 15 ปีผ่านไป Siri ก็ยังฟังเราผิด ๆ ถูก ๆ ไม่เข้าใจบริบท และที่น่าเจ็บปวดที่สุดคือ Apple ดูเหมือนจะโดนคู่แข่งทิ้งห่างไปหลายขุม

ในยุคแรกเริ่ม Siri คือของเล่นใหม่ที่ทุกคนหมายปอง ไม่มีใครเคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน มันคือครั้งแรกที่เทคโนโลยีให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว เหมือนมีผู้ช่วยติดตัวไปทุกที่

แต่ความตื่นเต้นนั้นก็ค่อย ๆ จางหายไป…

เราต้องเข้าใจธรรมชาติของ Apple ก่อนว่าพวกเขาคือบริษัทฮาร์ดแวร์ขนานแท้ เป็นเจ้าพ่อแห่งการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม แข็งแกร่ง และใช้งานง่าย

แต่เรื่องซอฟต์แวร์และบริการ… อาจไม่ใช่จุดแข็งที่สุดของพวกเขา

ผลก็คือ Siri แทบไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นเลยเป็นเวลาหลายปี เหมือนถูกปล่อยให้ย่ำอยู่กับที่

ในขณะที่ Apple กำลังชะล่าใจ คู่แข่งอย่าง Amazon ก็เปิดตัว Alexa ออกมาสู่ตลาด

Alexa ไม่ได้เป็นแค่ผู้ช่วยตอบคำถาม แต่มันทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะ ควบคุมอุปกรณ์ในบ้าน สั่งซื้อของออนไลน์ เล่นเพลง แถมยังตอบคำถามได้แม่นยำกว่าอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือ ความเทพของมันคือการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

Apple เริ่มสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีในมือ Siri ที่เคยเป็นนวัตกรรมสุดล้ำ กลับกลายเป็นเทคโนโลยีที่ดูจะตกยุคไปเสียแล้ว

ผู้ใช้งานเริ่มหงุดหงิดที่ Siri ไม่เข้าใจสิ่งที่พูด ตอบผิด ๆ ถูก ๆ หรือบางครั้งก็เงียบไปเลย จนหลายคนพาลจะยี้เอา

แล้วเรื่องราวก็มาถึงจุดพีค… ในเดือนพฤศจิกายน 2022

วันนั้น OpenAI ได้เปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า ChatGPT สู่สายตาสาธารณชน และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่สั่นคลอนโลกทั้งใบอย่างแท้จริง

ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด… Generative AI ได้ถือกำเนิดขึ้นและเติบโตอย่างบ้าคลั่ง

Microsoft และ Google ไม่รอช้า รีบปรับทัพครั้งใหญ่ทันที พวกเขาวางเดิมพันอนาคตทั้งหมดไว้กับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Large Language Models หรือ LLMs ตั้งแต่ระบบค้นหาไปจนถึงโปรแกรมทำงาน

แต่ดูเหมือน Apple จะยังตามเกมไม่ทัน… ยังไม่เข้าใจว่าโลกมันหมุนไปเร็วแค่ไหนแล้ว

ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับเครื่องมือ AI ใหม่ ๆ ทั้ง ChatGPT, Claude หรืออื่น ๆ ที่สามารถทำในสิ่งที่ Siri ไม่เคยทำได้มาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด, ร่างบทความ, ตอบคำถามที่ซับซ้อน, แก้โจทย์คณิตศาสตร์ หรือแม้แต่แปลภาษาได้อย่างไหลลื่น

ผลกระทบที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่มาก…

ราคาหุ้นของ Apple ที่เคยพุ่งกระฉูด ก็ดิ่งลงเหวกว่า 16% ในช่วง 6 เดือน ในขณะที่หุ้นของบริษัทเทคฯ คู่แข่งที่มี AI สุดโหดอยู่ในมือกลับพุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง

เดือนพฤศจิกายน 2023 ผู้บริหารระดับสูงของ Apple ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทไม่ได้ตามหลังใคร… แต่นักลงทุนและคนในวงการต่างรู้ดีว่ามันคือการปฏิเสธความจริงที่โหดร้าย

จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2024 ในที่สุด Apple ก็ต้องยอมรับความจริง พวกเขาประกาศว่าจะยกเครื่อง Siri ใหม่หมดจด โดยใช้แนวคิด LLM เพื่อทำให้มันฉลาดเทียบเท่า ChatGPT

แต่แล้ว… พรหมลิขิตก็เล่นตลก

เมื่อถึงต้นปี 2025 Apple ก็ต้องออกมายอมรับหน้าชื่นตาบานว่า “อุ๊ปส์… เราทำไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ยังไม่พร้อม”

นี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงสำหรับบริษัทที่ถูกมองว่าตกขบวนรถไฟสาย AI ไปแล้ว มันเป็นอะไรที่เละไม่เป็นท่าจริง ๆ

คำถามคือ… ทำไมบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่าง Apple ถึงได้ช้าขนาดนี้?

ผู้เชี่ยวชาญชี้ไปที่หลายสาเหตุด้วยกัน

อย่างแรกเลยคือ Apple ไม่ได้ปลุกปั้นโมเดล AI ของตัวเองขึ้นมาตั้งแต่ต้น แต่กลับเลือกที่จะยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดยไปพึ่งพาพาร์ทเนอร์อย่าง OpenAI ซึ่งทำให้พวกเขาเสียการควบคุมไปมากโข

อย่างที่สองคือ การปรับโครงสร้างทีม AI ที่ล่าช้า และการดึงตัวผู้เชี่ยวชาญด้าน LLM ชั้นเทพที่ไม่ทันการณ์ ในขณะที่คู่แข่งกำลังแย่งชิงคนเก่งกันอย่างดุเดือด

อย่างที่สาม เมื่อ Apple เปิดตัว “Apple Intelligence” ในที่สุด มันก็ไม่ได้ดีอย่างที่หลายคนคาดหวัง

มีกรณีฉาวโฉ่ที่ AI สรุปข่าวของ BBC ผิดพลาดอย่างร้ายแรง จนกลายเป็นข่าวปลอมส่งตรงถึงหน้าจอผู้ใช้ ทำเอา BBC โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

ปัญหาหลักที่ Apple ยังแก้ไม่ตกคือเรื่อง “Hallucinations” หรืออาการประสาทหลอนของ AI ที่กุเรื่องขึ้นมาเอง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการตามคู่แข่งไม่ทัน ที่สามารถพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้เร็วกว่ามาก

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Apple เลือกเดินในเส้นทางที่แตกต่าง พวกเขาเน้น AI ที่ทำงานบนตัวอุปกรณ์ (On-device) โดยให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นที่สุด

นี่คือดาบสองคม…

มันเป็นทั้งจุดแข็งที่สร้างความไว้วางใจให้กับแบรนด์ แต่ก็เป็นจุดอ่อนที่จำกัดความสามารถของ AI ไปในตัว เพราะโมเดลที่รันบนเครื่องได้ต้องมีขนาดเล็กกว่าโมเดลยักษ์ใหญ่ที่รันบนคลาวด์

Apple ไม่มีธุรกิจคลาวด์ขนาดมหึมาเหมือน Google หรือ Microsoft ทำให้ต้องพึ่งพาความร่วมมือกับบริษัทอื่น ซึ่งทำให้ทุกอย่างซับซ้อนและล่าช้าไปหมด

แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นี้… Apple ยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

พวกเขากำลังจัดหนัก จัดเต็ม อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อไล่ตามให้ทัน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Apple ประกาศแผนลงทุนในสหรัฐฯ มากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า

เงินลงทุนก้อนนี้จะถูกใช้ไปกับการสร้างโรงงานผลิตชิป AI แห่งใหม่, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, และจ้างงานผู้เชี่ยวชาญ

พวกเขายังซุ่มพัฒนาชิป AI ของตัวเองภายใต้โปรเจกต์ลับที่ชื่อว่า “Project ACDC” ขยายทีม AI และทดสอบการรวม LLM เข้ากับระบบปฏิบัติการ

สิ่งที่น่าสนใจคือ Apple ยังคงยึดมั่นในหลักการเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างเหนียวแน่น

ในขณะที่คู่แข่งอย่าง xAI ของ Elon Musk ใช้ข้อมูลมหาศาลจาก X (Twitter) หรือ Meta ที่มีข้อมูลผู้ใช้ในมือเป็นภูเขาเลากา Apple กลับต้องพึ่งพาข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลสังเคราะห์ที่สร้างโดย AI ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์อาจไม่ทรงพลังเท่า

แต่นี่อาจเป็นไพ่ตายของ Apple ก็ได้…

พวกเขามีข้อได้เปรียบที่โหดมาก ๆ นั่นคือการควบคุมอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานอยู่ทั่วโลกมากกว่า 2.4 พันล้านเครื่อง

Apple ยังเป็นผู้ผลิตชิปของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขายังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งานอย่างลึกซึ้ง

Tim Cook ซีอีโอคนปัจจุบันเคยพูดไว้อย่างชัดเจนว่า Apple จะไม่รีบร้อนปล่อยผลิตภัณฑ์ออกมาเพียงเพื่อเอาใจตลาดหุ้น Wall Street

พวกเขาจะรอจนกว่าจะ “ทำให้มันถูกต้อง” จริง ๆ แม้จะต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นก็ตาม

การที่ Apple เปลี่ยนวิธีการประกาศฟีเจอร์ใหม่ โดยจะเปิดเผยก็ต่อเมื่อใกล้ถึงวันเปิดตัวจริง ๆ ก็เป็นสัญญาณว่าพวกเขากำลังเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต

บางทีเราอาจจะได้เห็น Siri ที่ถูกปลุกเสกขึ้นมาใหม่ให้ฉลาดขึ้น เข้าใจบริบทมากขึ้น และสนทนาได้เป็นธรรมชาติกว่าเดิมใน iOS ใหม่ที่กำลังจะมาถึง

แน่นอนว่าการแข่งขันยังคงดุเดือดเลือดพล่าน

ล่าสุด Jony Ive อดีตหัวหน้านักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ iPhone ก็ได้ไปจับมือกับ OpenAI เพื่อสร้างอุปกรณ์ AI ใหม่ ซึ่งอาจกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Apple ในอนาคต

แต่รู้ไหมครับ… Apple ไม่ได้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกมาได้เพราะโชคช่วย

พวกเขาเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จากการใช้ชิป Intel มาสู่ชิปของตัวเอง จากยุค iPod สู่การมาถึงของ iPhone ที่เปลี่ยนโลก

หนึ่งในตัวขับเคลื่อนมูลค่ามหาศาลสำหรับ Apple ในอนาคต คือถ้าพวกเขาสามารถนำ Generative AI มาไว้บนอุปกรณ์พกพาได้สำเร็จจริง ๆ

นั่นจะทำให้พวกเขาเป็นเจ้าแรกที่นำ AI อันทรงพลังมาสู่มือผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างแท้จริง

ผมคิดว่า Apple อาจจะประเมินความเปลี่ยนแปลงของ AI ต่ำเกินไป และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพา OpenAI

แต่การยอมรับความผิดพลาดในครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นได้

กลยุทธ์ของ Tim Cook ที่เน้นความพึงพอใจของลูกค้าอาจจะดูช้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันมักจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนไม่ได้ต้องการแค่เทคโนโลยีที่ล้ำที่สุด แต่ต้องการเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง, เชื่อถือได้, และทำให้ชีวิตง่ายขึ้น…

แม้ว่าวันนี้ Apple จะดูเหมือนตามหลังอยู่… แต่พวกเขายังมีโอกาสที่จะกลับมาผงาดได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม

สิ่งที่เราต้องจับตาดูต่อไปคือ Apple จะสามารถนำ DNA ของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันสุดเจ๋ง มาหลอมรวมกับพลังของ AI ได้หรือไม่

และถ้าพวกเขาทำได้… นั่นอาจเป็นการกลับมาที่น่าตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เทคโนโลยีเลยทีเดียว.

References: [bloomberg, cnbc, reuters, 9to5mac, techradar]

Geek Story EP398 : The Hangzhou Six ทำความรู้จัก 6 บริษัทเทคจีนที่น่าลงทุนที่สุดในทศวรรษนี้

ถ้าผมพูดถึงหุ่นยนต์ต่อสู้สุดล้ำ, เกมราชาวานร (Black Myth: Wukong) ที่คนทั้งโลกรอคอย, หรือ AI ที่ฉลาดเป็นกรด… หลายคนอาจจะนึกถึงซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ที่อเมริกา หรือไม่ก็บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในปักกิ่งหรือเซินเจิ้น

แต่ถ้าผมบอกว่าทั้งหมดที่พูดมานี้ มีจุดกำเนิดและเชื่อมโยงอยู่กับเมืองๆ เดียวในจีน ที่ไม่ใช่เมืองหลวงอย่างปักกิ่ง และเมืองนี้ก็คือ “หางโจว” (Hangzhou)

หลายคนอาจจะรู้จักหางโจวในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม มีทะเลสาบซีหู (Xī Hú) เป็นมรดกโลก แต่ในวันนี้ หางโจวกำลังสวมหมวกอีกใบหนึ่ง นั่นคือการเป็น “ศูนย์กลางเทคโนโลยี” หรือ High-tech Hub แห่งใหม่ล่าสุดของจีน ที่กำลังปั้นบริษัทยูนิคอร์นและสร้างเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

คำถามที่น่าสนใจก็คือ… เมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และบทกวีแห่งนี้ พลิกโฉมตัวเองมาเป็นบ้านของบริษัทเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดในจีนได้อย่างไร?

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify :
https://tinyurl.com/44j7tjff

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/yvyhpd88

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/yckyvph2

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/mIp1eTVZDAo