BYD , TikTok , Huawei , Xiaomi , Shein และ Temu กับเส้นทาง 100 ปีมาราธอนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ถ้าย้อนไป 20 ที่แล้ว และกล่าวว่าจะมีบริษัทจีนเหล่านี้ขึ้นมาครองโลกธุรกิจในอุตสาหกรรมของตนเอง ผมว่าทุกคนคงขำก๊าก

ต้องบอกว่าเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่สหรัฐฯ มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือจีนในการสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และการทหาร และก้าวขึ้นมาบนเวทีโลก

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มในการเปิดความสัมพันธ์กับจีน สหรัฐฯ เชื่อว่าการผงาดขึ้นมาของจีน ก็จะไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่อเมริกาเคยชักใยได้ สุดท้ายก็จะมาร่วมมือกับพวกเขาในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอเมริกา

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความฝันที่แท้จริงของจีนแล้ว พวกเขามีเป้าหมายเพื่อมาแทนที่อเมริกา และทำเฉกเช่นเดียวกับที่อเมริกาเคยเข้ามาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแทนที่จักรวรรดิอังกฤษ

มีข้อมูลจากหนังสือหลายๆ เล่มที่ตีแผ่เรื่องราวแผนอันลึกลับซับซ้อนของจีน ที่ต้องการเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

และพวกเขาจะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2049 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้ง และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

กลยุทธ์ของจีนคือรูปแบบของ Unrestricted Warfare จีนยินดีต้อนรับการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก แต่จะไม่ยอมปล่อยให้นักลงทุนนำผลกำไรออกนอกประเทศ บริษัทของจีนสยายปีกไปทั่วทุกมุมโลก แต่ในประเทศพวกเขาจำกัดบริษัทต่างชาติที่เติบโตในจีนทุกรูปแบบ

แน่นอนว่าประเทศหนึ่งไม่ต้องการกองทัพขนาดใหญ่โตอีกต่อไปเพื่อพิชิตเป้าหมายในการเป็นมหาอำนาจ

เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นประเทศมหาอำนาจต่างไล่ล่าเพื่อควบคุมประชากร ทรัพยากร หรือแม้กระทั่งเข้าควมคุมรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ

แน่นอนว่าการใช้กำลังทหารนั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแสดงความก้าวร้าว แต่อีกวิธีหนึ่งในการบรรลุอำนาจในมุมมองของจีนนั่นก็คืออำนาจทางเศรษฐกิจ

มันคือการสร้างความเป็นต่อในขอบเขตการสู้รบอื่น ๆ ทั้งหมดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสามารถใช้เพื่อสร้างอิทธิพลและโน้มน้าวผู้นำทางการเมืองในต่างประเทศ ปิดปาก ซื้อหรือขโมยเทคโนโลยี

มันยังสามารถใช้ในการผลิตสินค้าราคาถูกและขับไล่คู่แข่งออกจากธุรกิจหรือทำให้เศรษฐกิจของคู่แข่งอ่อนแอลง

สามารถใช้เพื่อสร้างกองทัพนักวิชาการที่รวบรวมข่าวกรองทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนำไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ได้

การพุ่งทะยานของธุรกิจจีน

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ที่แล้ว หากเราพูดถึงแบรนด์อย่าง BYD , TikTok , Huawei , Xiaomi , Shein และ Temu คิดว่าหลายๆ คนคงส่ายหัวไม่รู้จัก อาจจะมีเพียงแค่ Huawei ที่พอจะมีชื่อเสียงในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมอยู่บ้าง

แต่หากพูดถึงที่เหลือพวกเขาเป็นแบรนด์ที่เพิ่งเกิดมาแทบจะทั้งสิ้น BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 เริ่มผลิตรถยนต์คันแรกในปี 2005 , TikTok ที่เริ่มจาก Douyin ก่อนจะแพร่กระจายไปตัวทั่วโลกผ่านแบรนด์ TikTok ที่เปิดตัวในปี 2016

Shein ก่อตั้งขึ้นในเมืองหนานจิงเมื่อเดือนตุลาคมปี 2008 โดยผู้ประกอบการที่เก่งด้านการทำตลาดผ่าน SEO อย่าง Chris Xu , ส่วน Temu แม้จะมีบริษัทแม่อย่าง PDD Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน แต่แบรนด์ใหม่อย่าง Temu เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2022 นี่เอง

หรือแบรนด์ Xiaomi ที่ตอนนี้ก้าวขึ้นมาท้าชนยักษ์ใหญ่จากทั้งเกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่นในสินค้ากลุ่ม consumer electronics ก็ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2010

จะเห็นได้ว่าแบรนด์เหล่านี้กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมตนเองโดยใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ด้วยอัตราเร่งในการเติบโตแบบโครตไฮสปีด

นี่ยังไม่นับแบรนด์อื่นๆ อีกมากมายที่กำลังเจริญรอยตามรุ่นพี่ๆ และงอกขึ้นมาในแทบจะทุกอุตสาหกรรม รถไฟความเร็วสูง ชิป เครื่องบินพี่จีนก็พัฒนาของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยซึ่งนั่นก็คือ Comac และพร้อมขึ้นมาท้าชนผู้นำอย่าง Boeing หรือ Airbus ในเร็ววันนี้ หรือแม้กระทั่งการท่องอวกาศที่พวกเขาได้ปักหมุดไปไกลแล้ว

ส่วน Huawei เองความจริงพวกเขาประกาศกร้าวอย่างชัดเจนมาก ๆ และดูเหมือนเส้นทางจะสดใสซะด้วยว่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลกภายในปี 2020

แต่ด้วยปัญหาเรื่องสงครามการค้า การแบนเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้พวกเขาต้องถอยทัพกลับไปเริ่มต้นสร้างตัวใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านชิปที่พวกเขาหรือแม้กระทั่งรัฐบาลจีนเองมองว่าคงยืมจมูกคนอื่นหายใจไม่ได้อีกต่อไป

และเมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว Huawei ได้ประกาศวางขายสมาร์ทโฟน Huawei Mate 60 ซึ่งใช้ขุมพลังชิปประมวลผล 7 นาโนเมตรได้สำเร็จ ซึ่งทำให้คู่แข่งทั่วโลกต่างสะพรึงกลัวและเต็มไปด้วยคำถามที่ว่า จีนทำมันได้อย่างไรในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้

จะเห็นได้ว่ารูปแบบของธุรกิจต่าง ๆ ของจีนนั้นคล้ายคลึงกันอย่างมาก เริ่มต้นก็หลอกล่อบริษัทจากต่างประเทศให้มาลงทุนผลิตในประเทศ และดึงดูดเอา knowhow ก่อนที่จะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองอย่างรวดเร็ว

และฐานผู้บริโภคในประเทศของพวกเขาที่ใหญ่โตมหาศาลทำให้พวกเขาสามารถที่จะทดลองสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตลอดเวลา และที่สำคัญประชาชนในชาติก็พร้อมใจกันอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศตัวเองเสียด้วย

ทุกแบรนด์เหล่านี้ ล้วนสร้างนวัตกรรมแบบไม่หยุดยั้ง และพัฒนาด้วยความเร็วแบบไฮสปีด กอรปกับความสัมพันธ์ที่มีความลึกลับซับซ้อนกับทางรัฐบาลจีน ที่เหมือนจะอยู่เบื้องหลังบริษัทเหล่านี้แทบจะทุกแห่ง สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของบริษัทเหล่านี้ได้ ดูได้จากเคสตัวอย่างของการกวาดล้างบริษัทเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

มันเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกวางหมากไว้แทบจะทั้งหมดสอดประสานกันระหว่างองค์กรธุรกิจและภาครัฐของจีนที่คอยกำหนดแผนการที่สอดรับไว้ ตัวอย่างเช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีอยู่ทั่วโลกในขณะนี้

ซึ่งสุดท้ายมันก็จะเป็นไปตามแผนการ The Hundred-Year Marathon ของประเทศจีน ซึ่งดูจากสถานการณ์ในตอนนี้มันมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่พวกเขาก็จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกโดยแทบจะไม่ต้องใช้กระสุนซักนัดเหมือนที่อเมริกาเคยล้มจักรวรรดิอังกฤษได้สำเร็จมาแล้วนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ The Hundred-Year Marathon: China’s Secret Strategy to Replace America as the Global Superpower โดย Michael Pillsbury
หนังสือ Stealth War: How China Took Over While America’s Elite Slept โดย Robert Spalding
https://en.wikipedia.org/wiki/BYD_Auto
https://en.wikipedia.org/wiki/TikTok
https://en.wikipedia.org/wiki/Shein
https://en.wikipedia.org/wiki/Temu_(marketplace)
https://en.wikipedia.org/wiki/Xiaomi

ภัยคุกคามประชาธิปไตย กับการเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่งจากข้อมูลบิดเบือนที่ขับเคลื่อนด้วย AI

เอาจริง ๆ มันไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น แต่มันได้ถูกใช้งานเป็นเครื่องมือมานานแล้วนะครับสำหรับเรื่องของข้อมูลบิดเบือนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI กับการเลือกตั้ง

สองวันก่อนการเลือกตั้งในประเทศสโลวาเกียในเดือนกันยายนปี 2023 คลิปเสียงลึกลับได้แพร่สะพัดไปทั่วโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งในคลิปเสียงดังกล่าวนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า Michal Šimečka ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายค้านเสรีนิยมกำลังวางแผนชั่วร้ายกับนักข่าวเพื่อซื้อคะแนนเสียงและโกงผลการเลือกตั้ง

แต่กลายเป็นว่าคลิปเสียงดังกล่าวมันกลับกลายเป็นของปลอม ซึ่งเป็นการสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนโดยใช้ AI

แต่อย่างไรก็ดี ผู้ลงคะแนนเสียงหลักพันคนได้ทำการแชร์คลิปดังกล่าวว่อนไปทั่วทั้งอินเทอร์เน็ต

Šimečka ซึ่งติดอันดับหนึ่งจากผลเอ็กซิตโพล ได้ออกมาประณามคลิปเสียงดังกล่าว และทางตำรวจสโลวาเกียเองก็ได้ออกคำเตือนไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ระมัดระวังในเรื่องคลิปปลอมเหล่านี้

อย่างไรก็ดีคลิปดังกล่าวได้ทำให้ผลการเลือกตั้งแปรเปลี่ยน กลายเป็นว่า Šimečka พ่ายแพ้ให้กับ Robert Fico คู่แข่งที่สนับสนุนรัสเซีย

มันน่าสนใจนะครับ รัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว และภาพจำเก่า ๆ ของเราก็อาจกลับคืนมากับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ที่ Donald Trump เอาชนะ Clinton ไปได้อย่างเหลือเชื่อ

เรื่องดังกล่าวได้รับการพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แล้วว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวดังกล่าวจริง โดยเฉพาะการบิดเบือนข้อมูลต่าง ๆ ก่อนการเลือกตั้ง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ตรวจสอบพบหลักฐานของการสร้างแคมเปญออนไลน์ของรัสเซียเพื่อโน้มน้าวการลงคะแนนเสียง โดยมีการสร้างฟาร์มโทรลล์ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือที่เรียกว่า Internet Research Agency (IRA)

เจ้าหน้าที่ IRA ได้สร้างกลุ่มบัญชีและเพจปลอมและซื้อโฆษณาเป็นเงินรูเบิล โจมตีพรรคเดโมแครตของ Hillary Clinton โดยปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องเชื้อชาติ การย้ายถิ่นฐาน หรือ สิทธิในการครอบครองปืน

มันเป็นสงครามด้านข้อมูลและความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแทบจะทุกแพลตฟอร์มในขณะนี้

โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้คนราว 2 พันล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรวัยผู้ใหญ่ของโลก จะเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2024 ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และสหราชอาณาจักร

ซึ่งก็ต้องบอกว่าข้อมูลบิดเบือนทางออนไลน์เหล่านี้เป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญสำหรับการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว แม้กระทั่งในประเทศไทยเราเองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สงครามข้อมูลบิดเบือนเรียกได้ว่าถล่มกันแบบเลือดสาดเลยทีเดียว

แต่เมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากเทคโนโลยี Generative AI ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้เกิดเครื่องมืออันทรงพลังใหม่ ๆ เช่น ChatGPT ของ OpenAI , Midjourney หรือโปรแกรมสร้างข้อความ เสียง และวีดีโออื่น ๆ ที่เรียกได้ว่าปลอมกันได้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น

การทดสอบครั้งสำคัญของเทคโนโลยีนี้ครั้งแรกคือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน ที่เราได้เห็นคลิปปลอมถูกแชร์กันว่อนไปหมด และสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้กับเรื่องราวสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสไปมาก

ซึ่งในตอนนี้เครื่องมือเหล่านี้เรียกได้ว่าเหมือนมีเวทย์มนต์ที่สามารถเสกผลการเลือกตั้งได้เลยทีเดียว

แต่ก่อนเราอาจจะไม่ไว้วางใจหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งที่มักมีกลิ่นตุ ๆ อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีใหม่เป็นการเพิ่มความไม่ไว้วางใจของเหล่าสาธารณชนต่อรัฐบาล สถาบันหลักของชาติ หรือแม้กระทั่งระบอบประชาธิปไตย

ภายในปี 2020 แคมเปญบิดเบือนข้อมูลบนโซเชียลมีเดียถูกดำเนินการมากกว่า 80 ประเทศ เริ่มมีการใช้เทคนิคขั้นสูงอย่าง Deepfaking โดยเฉพาะการเรนเดอร์ใบหน้าปลอมในรูปแบบดิจิทัล

การถือกำเนิดขึ้นของ Generative AI ทำให้สามารถผสมผสานข้อความ รูปภาพ เสียง และวีดีโอ มันทำให้เปลี่ยนศักยภาพของ Deepfakes ไปอย่างสิ้นเชิง และทุกคนสามารถใช้งานเครื่องมือดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย

มีงานวิจัยที่ออกมาว่าความซับซ้อนของเทคโนโลยี Deefakes เหล่านี้ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในทุกสิ่งบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของจริงก็ตาม

อย่างในไทยตอนนี้ผมว่าทุกคนเองก็คงจะหลอนไปหมดแล้วกับเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่า ดาหน้าถล่มมาในทุกรูปแบบ ทำให้ทุกคนเริ่มสับสนไปหมดแล้วว่าสิ่งไหนคือของจริงและสิ่งไหนคือการหลอกลวง

ปัญหาคือตัวแพลตฟอร์มเองที่ไม่สามารถที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าวนี้ได้เลย เราจะเห็นได้ถึงโพสต์โฆษณาหลอกลวงมากมายที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอจากเหล่าเจ้าของแพลตฟอร์มเลย

ซึ่งท้ายที่สุดมันอาจจะนำพาเราไปถึงจุดที่มองว่า การลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแทบจะไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะเราอาจจะหลอนจนคิดว่าทุกคนต่างกำลังโกหกเรา ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการจัดฉาก

มันดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข แน่นอนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ซึ่งภาษิตที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น” คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคที่ข้อมูลบิดเบือนขั้นสูงกำลังครอบครองโลกออนไลน์ของมนุษย์เราเหมือนในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

ไทย x มณฑลไท่กั๋ว เมื่อจีนรุกฆาตในขณะที่ชนชั้นสูงของไทยยังคงหลับใหล

ต้องบอกว่าสถานการณ์ที่ทุนจีนรุกหนักในประเทศไทย เริ่มต้นด้วยดาหน้าถล่มผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยสินค้าราคาถูกทำลายเศรษฐกิจรากหญ้าของไทยมาหลายปีแล้ว ก่อนที่ในปีนี้เราเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกับร้านค้าที่ไม่ใช่ online ของจีนที่ตามมาถล่มซ้ำแบบเจ็บปวด และดูเหมือนว่าแทบไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปจัดการได้เลย

แต่ก็ต้องบอกว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเพียงเท่านั้น ผมตั้งชื่อบทความนี้โดยเลียนแบบมาจากชื่อหนังสือ Stealth War: How China Took Over While America’s Elite Slept โดย Robert Spalding เพราะมันฉายภาพซ้ำเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกามาแล้ว

ซึ่งกว่าอเมริกาจะรู้ตัวได้ทันมันก็มาถึงยุคของประธานาธิบดี Donald Trump ที่เริ่มสร้างสงครามทางการค้าแบบขั้นโหด แบนทุกอย่าง และกีดกันจีนเต็มที่ ไม่ให้ลุกล้ำพวกเขาไปมากกว่านี้

มันอาจจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่เหตุการณ์เหล่านี้ มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อนบ้านเรือนเคียงของประเทศเราอย่างลาว หรือ กัมพูชาเอง ก็แทบจะกลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีนไปเสียแล้ว

มันมีเนื้อหาที่น่าสนใจจากหนังสือ Stealth War ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนกับรูปแบบของ Unrestricted Warfare

การพิชิตประเทศต่าง ๆ ไม่ต้องการกองทัพขนาดใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไป เพื่อเข้าไปควบคุมทรัพยากร หรือรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ

กำลังทหารเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการแสดงความก้าวร้าว วิธีหนึ่งในการบรรลุอำนาจดังกล่าวของสไตล์แบบจีนก็คือ อำนาจทางเศรษฐกิจก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน เพราะมันสามารถใช้ในการสร้างอิทธิพลและโน้มน้าวผู้นำทางการเมืองในประเทศต่างๆ ปิดปาก ซื้อหรือขโมยเทคโนโลยี สามารถใช้ในการผลิตสินค้าราคาถูกและขับไล่คู่แข่งออกจากธุรกิจหรือทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อ่อนแอลง

นั่นคือสิ่งที่จีนพยายามเข้าไปแทรกซึมอเมริกาผ่านวิธีการต่าง ๆ การถล่มด้วยสินค้าราคาถูกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มียุทธศาสตร์ต่าง ๆ เตรียมไว้เพียบพร้อมเช่นการเข้าไปเจรจากับไปรษณีย์ของอเมริกาเพื่อให้สินค้าที่สั่งในปริมาณไม่เยอะที่แทบจะไม่ต้องเสียภาษี

เรื่องนี้มันเกิดเคสที่คลาสสิกมาก ๆ ในอเมริกา ชายที่ชื่อว่า AJ Khubani ที่มีความฝันแบบอเมริกันดรีม สร้างธุรกิจด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย มีความมุมานะทำงานอย่างหนัก

Khubani เก็บหอมรอมริบเริ่มต้นธุรกิจด้วยทุน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์และจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ในนามของ “As Seen on TV” สร้างบริษัทจนมียอดขายมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเป็นเวลาหลายปี

ในปี 1990 Khubani สังเกตเห็นว่าบริษัทของเขากลายเป็นเป้าของเหล่านักลอกเลียนแบบชาวจีน

“ถ้าคุณไปที่ supermarket คุณจะพบสินค้าเราเป็นของปลอม ทุกอย่างเหมือนกันหมด แพ็คเกจเหมือนกัน ยี่ห้อเดียวกัน” Khubani กล่าว

และการบูมขึ้นมาของ ecommerce ทำให้การปลอมแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นแบบทวีคูณ สินค้าเลียนแบบของเขาถูกขายผ่าน Amazon

“พวกเขาใช้เครื่องหมายการค้าของเรา ผลิตภัณฑ์ที่จดสิทธิบัตรของเรา ใช้รูปถ่ายของเรา ใช้วีดีโอของเรา ใช้ทุกอย่างของเรา” Khubani กล่าว

แต่เมื่อ Khubani แจ้งไปทาง Amazon กลับได้รับคำตอบที่ทำให้เขายิ่งเจ็บปวดรวดร้าว เพราะ Amazon ตอบกลับมาว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าสินค้าชิ้นไหนเป็นของปลอม

แต่เบื้องหลังก็คือ Amazon ทำเงินมหาศาลจากสินค้าลอกเลียนแบบเหล่านี้ แถมยังแอบสนับสนุนช่วยเหลือการขายสินค้าลอกเลียนแบบ เพราะมันทำให้พวกเขายิ่งร่ำรวยขึ้น

Amazon ไม่ใช่เพียงเจ้าเดียวที่รุมทำร้ายพ่อค้าท้องถิ่น แต่บริการไปรษณีย์สหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงกับจีนที่จะเสนอส่วนลดจำนวนมากสำหรับพัสดุที่จัดส่งออกจากประเทศจีนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม

ตัวอย่างเช่น การส่งพัสดุหนัก 1.3 กิโลกรัมในระยะทาง 3.7 กิโลเมตร จาก Pennsylvania Avenue ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยัง US Capital มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดส่งสินค้าประเภทเดียวกัน 11,000 กิโลเมตร จากปักกิ่งไปยังทำเนียบขาว

ซึ่งเราจะเห็นภาพนี้คุ้นๆ กับหลายๆ ประเทศ เป็นกลยุทธ์ที่ใกล้เคียงกันทั้งหมด ประเทศไทยเราเองสินค้าจีนที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาทก็แทบจะไม่ต้องเสียภาษี

การวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งรถไฟความเร็วสูง หรือถนนหนทางเพื่อให้จัดส่งสินค้าได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ยิ่งประเทศในแถบโซนเอเชียเรียกได้ว่าสินค้าจีนแทบจะกินเรียบทั้งหมดสากเบือยันรถไฟฟ้า EV

แต่สิ่งที่น่าห่วงนอกเหนือจากการโจมตีด้วยอาวุธออนไลน์ที่ทั้งเร็วและแรง ทำลายพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยไปนับต่อนับ และยังบังคับให้ขายสินค้าราคาที่ถูกที่สุด (หากใครขายแพงก็จะปิดการมองเห็นซะ)

สิ่งที่น่าตลกก็คือคำค้นหายอดฮิตในแพลตฟอร์ม ecommerce ทั้งหลายจากจีนที่ยึดครองแถบโซนอาเซียนแทบจะเบ็ดเสร็จ มันคือคำว่า สินค้า xxx ราคา 1 บาท

มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก ๆ ที่ขายสินค้าด้วยราคาที่ต่ำขนาดนี้แล้วยังอยู่ได้ คงไม่มีคนไทยที่ไหนกล้าไปสู้กับพี่จีนหากขายในราคาแบบนี้ แถมยังส่งไวเหมือนพวกพี่ๆ เขามีโกดังอยู่รายล้อมเมืองไทยไปเสียแล้ว

การโจมตีตามมาต่อเนื่อง เราเห็นเฟรนไชส์น้ำมะนาว 20 บาท ขยายไปทุกมุมเมือง แพร่พันธ์ุเร็วยิ่งกว่าไฮดร้า ร้านอาหารอีกมากมายที่กำลังรุมถล่มกระจายไปทั่วทุกมุมเมืองในขณะนี้

“มณฑลไท่กั๋ว” แปลว่าไทยเป็นมณฑลหนึ่งของจีน มันกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง ต้องบอกว่าการรุกคืบของทุนจีนใหม่ ๆ มาในทุกรูปแบบ จะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ถ้าหากเหล่าผู้นำชนชั้นสูงของไทยยังคงหลับใหลอยู่เหมือนในตอนนี้

References :
https://mgronline.com/china/detail/9660000011123
หนังสือ Stealth War: How China Took Over While America’s Elite Slept  โดย Robert Spalding

AI nationalism เมื่อโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของชาตินิยม AI

ต้องบอกว่าคำว่า “ชาตินิยม” เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศหลายๆ ประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเคสตัวอย่างมากมายที่ความเป็นชาตินิยมของคนในชาติผลักดันให้ประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น จีน เกาหลีใต้ หรือ เวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา

แล้วถามว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้นหากชาติใด ไม่มีเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทมาก ๆ อย่าง AI โดยเฉพาะ Large Language Model (LLM) ที่กำลังกลายเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ มันเป็นคำถามที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อาบูดาบีได้เปิดตัวบริษัท AI71 ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้าน AI แห่งใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และสร้างผลิตภัณฑ์อย่าง “Falcon” ซึ่งเป็นเทคโนโลยี LLM คล้ายๆ กับ ChatGPT

ในฝรั่งเศส Mistral บริษัทที่สร้างโมเดล LLM ของฝรั่งเศสที่เพิ่งก่อตั้งบริษัทมาได้ 7 เดือนได้ประกาศระดมทุนรอบล่าสุดมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลักดันให้บริษัทมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ที่แม้กระทั่งประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศสก็ยังได้ออกมากล่าวถึง ChatGPT และเทคโนโลยี LLM อื่น ๆ ที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นหลักคงไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรม ภาษา และจริยธรรมของประเทศเราได้

Krutrim สตาร์ทอัพรายใหม่ของอินเดีย ได้เปิดตัวเทคโนโลยี LLM ตัวแรกของอินเดีย และ Sarvam บริษัทที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 5 เดือน สามารถระดมทุนได้ 41 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโมเดลภาษาอินเดียที่คล้ายคลึงกัน

และหากติดตามข่าวแวดวงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่อง AI เราจะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้เหมือนกัน และแน่นอนว่าพวกเขาคงไม่อยากตกเป็นเมืองขึ้นของ Silicon Valley อีกครั้งเป็นแน่แท้

ต้องบอกว่า AI ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เข้มข้นระหว่างอเมริกาและจีน ในปีที่ผ่านมาเพียงแค่สองประเทศนี้ก็ลงทุนในเทคโนโลยี AI ไปกว่า 40,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแน่นอนว่าประเทศอื่น ๆ ก็คงไม่อยากถูกทิ้งไว้เพียงเบื้องหลัง

ในปีที่ผ่านมารัฐบาลที่มีความทะเยอทะยานด้าน AI อีก 6 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยี AI โดยอัดเม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในอเมริกาโดยเฉพาะแถบ Silicon Valley พวกเขาได้กลิ่นของผลประโยชน์อันมหาศาลของเทคโนโลยีนี้ก่อนใคร แทบไม่ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกาเลยด้วยซ้ำ

รัฐบาลใช้เงินไปกับนโยบายด้านอื่นๆ โดยทุ่มเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิปภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาโดยเฉพาะ TSMC จากไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน หากจีนตัดสินใจที่จะบุกเกาะแห่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของพวกเขา

อีกวิธีหนึ่งที่โหดเหี้ยมมาก ๆ ของอเมริกาก็คือ การออกกฎหมายควบคุมการส่งออก โดยห้ามการขายเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยรวมถึงชิปและอุปกรณ์การผลิตชิปให้กับศัตรูคู่อาฆาตอย่างจีนและรัสเซีย นอกจากนี้ยังสั่งห้ามชาวอเมริกาแบ่งปัน knowledge ความเชี่ยวชาญด้าน AI กับประเทศเหล่านี้ด้วย

ฝั่งจีนก็อย่าคิดว่าโดนแค่นี้พวกเขาจะยอมง่าย ๆ เพราะพวกเขาผลิตได้สากเบือยันเรือรบอยู่แล้ว แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าทางฝั่งอเมริกา แต่รัฐบาลจีนได้ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลโดยใช้เงินเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ในดินแดนของพวกเขาเองโดยไม่พึ่งอเมริกาอีกต่อไป

และเพียงแค่ข่าวที่ Huawei บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำจากจีนสามารถผลิตชิปในระดับ 7 นาโนเมตรได้ในปีที่แล้ว กลายเป็นข่าวใหญ่ช็อกโลก ซึ่งอเมริกาคงจินตนาการไม่ออกว่าทำไมจีนถึงพัฒนามันได้เร็วเพียงนี้ และหากมีการพัฒนาในอัตราเร่งแบบนี้และทางรัฐบาลเห็นเป็นวาระแห่งชาติ เราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยีชิปของจีนแซงหน้าอเมริกาในเร็ววันนี้ก็เป็นได้

หน่วยงานกลางและท้องถิ่นของจีนได้อัดเม็ดเงินลงทุนไปยังบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน AI ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “guidance funds” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งกระจายการลงทุนไปเกือบ 2,000 บริษัททั่วประเทศในเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่ถือว่ามีความสำคัญเชิงกลยุทธ์

พรรคคอมมิวนิสต์กำลังมองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก และเริ่มหันมาโฟกัสช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก นโยบายการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่กลายเป็นประเด็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีข้อมูลขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เท่านั้น

ความน่าสนใจก็คือ การเข้ามาแทรกแซงโดยรัฐแบบเดียวกับที่จีนทำนั้น กำลังถูกเลียนแบบในส่วนอื่น ๆ ของโลกเช่นเดียวกัน เช่น ในอ่าวเปอร์เซีย และด้วยการที่เป็นระบอบที่ไม่ต่างจากเผด็จการ ทำให้ซาอุดิอาระเบีย หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้ดีกว่าประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่

เพราะการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย อาจต้องคำนึงถึงความกังวลของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ในด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องการที่ AI จะเข้ามาแย่งงาน ซึ่งหากประเทศไทยเราเองหันมาสนใจเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง ป่านนี้เราคงได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ถกเถียงกันในสภาบ้างแล้ว

ซึ่งด้วยเงินทุนมหาศาลโดยเฉพาะจากน้ำมัน นั่นทำให้รัฐจากอ่าวเปอร์เซียมีเงินเหลือเฟือ ซื้อแม้กระทั่งทรัพยากรบุคคลจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ จากทั่วโลก

โครงการ AI ที่ King Abdullah University of Science and Technology ในซาอุดิอาระเบีย และ Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence (MBZUAI) ในอาบูดาบี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้าน AI แห่งแรกของโลก ได้ช่วงชิงอาจารย์ระดับแนวหน้าจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น University of California,Berkeley และ Carnegie Mellon

แนวทางของประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียเรียกได้ว่ากำลังเห็นผลลัพธ์ออกมาอย่างชัดเจน ความสามารถของโมเดล Falcon ซึ่งสร้างครั้งแรกโดยทีมวิศวกรประมาณ 20 คน สามารถแข่งขันได้กับโมเดล  Llama 2 ซึ่งเป็นโมเดล Open Soruce ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและคิดค้นโดย Meta

AI71 วางแผนที่จะปรับปรุงโมเดล Open Source โดยใช้ชุดข้อมูลระดับชาติจากสาขาต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือน้ำมัน ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา น้ำมันขับเคลื่อนประเทศพวกเขาเหล่านี้ แต่ในยุคหน้าข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศของพวกเขาในยุคถัดไป

รัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีผสมผสานแนวทางของทั้งอเมริกาและจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งสหภาพยุโรป ตัวอย่างเช่น เยอรมนีผลักดันเม็ดเงินลงทุน 33,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโรงงานชิปแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นโดย Intel บริษัทผลิตชิปสัญชาตอเมริกัน

สหราชอาณาจักรเตรียมลงทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปีให้กับ AI และ Super Computer และกำลังพิจารณาที่จะอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่เป็นบริการสุขภาพแห่งชาติ

รัฐบาลอินเดียกำลังส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยสนับสนุนให้เหล่าผู้ให้บริการ Clound Computing รายใหญ่สร้างศูนย์ข้อมูลในอินเดียเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการอบรมโมเดลด้าน AI ซึ่งอินเดียมีข้อมูลมหาศาลจากบริการสาธารณะดิจิทัลต่าง ๆ ที่เรียกว่า “India Stack” ซึ่งพวกเขาหวังว่าในท้ายที่สุดจะรวมโมเดล AI ของอินเดียเข้ากับบริการดิจิทัลเหล่านี้ในท้ายที่สุด

แน่นอนว่าแนวทางแต่ละแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน การควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเหมือนจีนนั้นคงทำได้ยากในประเทศอื่น ๆ ในโลกเสรีประชาธิปไตยประชาชนต้องมีส่วนร่วมและกฎหมายต่างๆ ก็ต้องมีการถกเถียงกันเพื่อควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องการควบคุมสิ่งที่สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เฉกเช่น AI

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลด้านสุขภาพ รัฐบาลจำนวนมากก็ไม่ต้องการพึ่งพา AI ที่มาจากชาติอื่น เพราะมันเป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน

การมอบข้อมูลที่ละเอียดอ่อนแก่บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะจากต่างชาติ ในเรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลสุขภาพของพลเมืองในประเทศ อาจจุดชนวนกระแสต่อต้านในพื้นที่สาธารณะ แม้แต่ประเทศที่ปกครองโดยระบบเผด็จการก็ตามที

ดูเหมือนว่าทุกประเทศที่มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ กำลังปกป้องข้อมูลชาติตัวเองกันอย่างเต็มที่ แม้จะต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อแข่งขันกับขาใหญ่จาก Silicon Valley ก็ตาม แต่มันเป็นเหมือนความจำเป็นที่พวกเขาต้องทำ

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วประเทศไทยเราล่ะกำลังอยู่ส่วนไหนของการแข่งขันด้าน AI Race ในครั้งนี้?

Lithography Wars กับการต่อสู้ของ ASML สู่การผูกขาดเครื่องจักรในการผลิตชิป

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1984 ในตอนนั้น ASML เป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ใหม่ ๆ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ แถมยังไม่มีเงินทุน ไม่ต้องคิดถึงการสร้างเครื่องจักรในการผลิตชิปรุ่นถัดไปของโลกที่คงเป็นแค่เรื่องในฝัน

ปีเดียวกันนั้นเองเป็นปีที่บริษัท Philips ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ได้แยกแผนกในการสร้างเครื่องจักรผลิตชิปออกไป และก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ ASML โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Veldhoven ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนเนเธอร์แลนด์ที่ติดกับเบลเยียมมากนัก

มันดูจะไกลเกินฝันจริง ๆ สำหรับ ASML ที่จะกลายเป็นบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แม้ยุโรปในยุคนั้นจะเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ แต่เห็นได้ชัดว่ายังตามหลัง Silicon Valley และทางฝั่งญี่ปุ่นอยู่สุดกู่

ASML นั้นใช้แนวคิดที่แตกต่างจากบริษัทจากญี่ปุ่นหรืออเมริกา โดยตัดสินใจที่จะประกอบระบบจากส่วนประกอบที่ทำการจัดหามาอย่างพิถีพิถันจากซัพพลายเออร์ทั่วโลก มันเป็นการพึ่งพาบริษัทอื่นในการสร้างส่วนประกอบหลักของเครื่องจักร และดูเหมือนว่าแนวคิดดังกล่าวนี้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงมากมาย

แต่ ASML เรียนรู้ที่จะจัดการกับมัน ในขณะที่เหล่าคู่แข่งโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นทั้ง Canon และ Nikon นั้นพยายามที่จะสร้างทุกอย่างภายในบริษัท

ASML สามารถซื้อส่วนประกอบที่ดีที่สุดในตลาดได้ และเมื่อพวกเขาเริ่มมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่อง EUV ความสามารถในการรวมเอาส่วนประกอบชั้นยอดจากแหล่งต่าง ๆ ของพวกเขา กลายมาเป็นจุดแข็งที่เด็ดที่สุด

ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่น้อย เพราะในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ASML จากเนเธอร์แลนด์ถูกมองว่าเป็นกลางในข้อพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

Micron ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ผลิต DRAM สัญชาติอเมริกัน ต้องการซื้อเครื่องจักรในการผลิต จึงได้เลือก ASML แทนการพึ่งพา Canon หรือ Nikon ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับคู่แข่งของ Micron ในญี่ปุ่น

การที่ ASML แยกตัวออกมาจาก Philips นั้นช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับ TSMC จากไต้หวัน เพราะ Philips เองถือเป็นนักลงทุนรายสำคัญใน TSMC โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาให้กับทางฝั่งของ TSMC ในช่วงเริ่มต้น

ASML จึงได้ฐานลูกค้าจาก TSMC เพราะโรงงานของ TSMC นั้นได้รับการออกแบบตามกระบวนการผลิตของ Philips เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อโรงงานของ TSMC เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี 1989 ทำให้ TSMC ต้องซื้อเครื่องจักรในการผลิตชิปเพิ่มอีก 19 เครื่อง และทั้งหมดถูกสั่งตรงมาจาก ASML

ASML และ TSMC เริ่มต้นจาการเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีใครสนใจในอุตสาหกรรมผลิตชิปในช่วงแรก ๆ แต่พวกเขาก็เติบโตไปด้วยกันและสร้างความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

ฝั่งอเมริกาเอง Andy Grove กำลังเตรียมที่จะอนุมัติการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งแรกของ Intel ในการวิจัยเครื่องมืออย่าง EUV เช่นเดียวกับที่ ASML กำลังทำอยู่

Andy Grove กำลังเตรียมที่จะอนุมัติการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งแรกของ Intel ในการวิจัยเครื่องมืออย่าง EUV (CR:MetaSwitch)
Andy Grove กำลังเตรียมที่จะอนุมัติการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งแรกของ Intel ในการวิจัยเครื่องมืออย่าง EUV (CR:MetaSwitch)

ซึ่งในช่วงปี 1992-1996 นั้น Intel เองก็ได้สร้างความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการหลายแห่งที่ดำเนินการโดยกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการสร้างเครื่อง EUV มันดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเพราะเหล่าห้องวิจัยของอเมริกาที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างต้นแบบระบบ EUV แต่พวกเขามุ่งเน้นไปที่เรื่องวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การผลิตให้ได้จำนวนมาก ๆ ในสเกลอุตสาหกรรม

เป้าหมายของ Intel คือการสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่แค่การวัดผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ Intel ต้องค้นหาบริษัทที่สามารถผลิตเครื่อง EUV ในปริมาณมาก ๆ ซึ่งเมื่อเหลียวมองไปยังบริษัทในอเมริกาแทบจะไม่มีบริษัทใดทำได้เลย

บริษัทที่สามารถสร้างเครื่องมือเหล่านี้ที่ใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในอเมริกาคือ Silicon Valley Group (SVG) ซึ่งมีความล้าหลังทางด้านเทคโนโลยี รัฐบาลสหรัฐเองยังคงอ่อนไหวจากสงครามทางการค้าในช่วงปี 1980 กับญี่ปุ่น จึงไม่ต้องการให้ Nikon และ Canon เข้ามามีส่วนร่วม แม้ว่า Nikon เองก็ไม่ได้คิดว่าเทคโนโลยี EUV มันจะใช้งานได้จริงก็ตาม ทำให้ ASML เป็นบริษัทเดียวที่เหลืออยู่ที่จะช่วยเหลือ Intel ได้

แต่แน่นอนว่าแนวคิดในการให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงงานวิจัยที่ทันสมัยที่สุดจากห้องทดลองระดับชาติของอเมริกาทำให้เกิดความกังวลขึ้นในวอชิงตัน สถานการณ์ในตอนนั้นยังไม่มีการประยุกต์ใช้มันเพื่อใช้ในแวดวงทหาร และยังไม่ชัดเจนว่า EUV มันจะใช้งานได้จริง

แต่เหล่านักการเมืองอเมริกันเองมองว่า ASML และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นพันธมิตรที่เชือถือได้ สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับนักการเมืองชาวอเมริกันคือผลกระทบต่อการสร้างงานไม่ใช่เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดให้ ASML สร้างโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับสำหรับการสร้างเครื่อง EUV และว่าจ้างพนักงานชาวอเมริกัน แต่อย่างไรก็ตามการวิจัยและพัฒนาหลักของ ASML นั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์

เมื่อถูกปิดกั้นไม่ให้ทำการวิจัยในห้องแล็บแห่งชาติของสหรัฐฯ Nikon และ Canon ก็ได้ตัดสินใจที่จะไม่สร้างเครื่องมือ EUV ของตนเอง ปล่อยให้ ASML เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในโลก

ในขณะเดียวกับในปี 2001 ASML ได้เข้าซื้อกิจการของ Silicon Valley Group ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรในการผลิตชิปแห่งสุดท้ายของอเมริกา แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นอีกครั้งว่าดีลนี้มันเหมาะสมหรือไม่และจะส่งผลต่อเรื่องความมั่นคงของอเมริกาหรือไม่

ภายใน DARPA และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งให้ทุนกับอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน เจ้าหน้าที่บางคนได้มีการคัดค้านดีลดังกล่าว สภาคองเกรสก็แสดงความกังวลเช่นเดียวกัน โดยวุฒิสมาชิกสามคนได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี George W. Bush ว่า “ASML จะครอบครองเทคโนโลยี EUV ทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ”

วุฒิสมาชิกได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี George W. Bush ถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นหาก ASML ครอบครองเทคโนโลยี EUV (CR:Flickr)
วุฒิสมาชิกได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี George W. Bush ถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นหาก ASML ครอบครองเทคโนโลยี EUV (CR:Flickr)

ฝั่งของ Intel ก็ได้ออกมาโต้แย้งในเรื่องดังกล่าวว่าการขาย Silicon Valley Group ให้กับ ASML มีความสำคัญต่อการพัฒนา EUV และเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตของการประมวลผล ซึ่งหากไม่มีการควบรวมกิจการเส้นทางในการพัฒนาเครื่องมือใหม่ในสหรัฐอเมริกาจะล่าช้าออกไปอีก

ดังนั้นเครื่อง EUV ยุคถัดไปจึงได้ถูกประกอบในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าส่วนประกอบบางอย่างจะยังคงสร้างขึ้นในโรงงานในคอนเนตทิคัต เครือข่ายทางวิทยาศาสตร์ที่ผลิต EUV นั้นมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยรวบรวมนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ ทั้ง อเมริกา ญี่ปุ่น สโลวีเนียและกรีซ

แต่อย่างไรก็ตาม การผลิต EUV ไม่ได้มีการผลิตไปทั่วโลก แต่ถูกผูกขาดทั้งห่วงโซ่อุปทานที่จัดการโดยบริษัทเดียวนั่นก็คือ ASML ซึ่งสามารถที่จะควบคุมอนาคตของการผลิตชิปของโลกอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :
เรียบเรียงจากหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology โดย Chris Miller
https://en.wikipedia.org/wiki/ASML_Holding
https://thechipletter.substack.com/p/the-founding-of-asml-part-1-the-philips
https://www.referenceforbusiness.com/history2/76/ASML-Holding-N-V.html
https://www.asml.com/en/products/euv-lithography-systems