สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ผนึกโนวาร์ตีส ประเทศไทย จัดเวทีมุ่งเน้น ขับเคลื่อนการดูแลรักษาโรคหัวใจ ในงาน ‘Cardio Catalyst: Driving Change in Heart Health’

สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย นำโดย นายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน “Cardio Catalyst: Driving Change in Heart Health” ครั้งที่ 2 เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างอนามัยและสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย

โดยได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายเควิน โจว Head, Asia Aspiring Cluster, Novartis International ร่วมเปิดงาน ณ สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย 

ภายในงานมีการเสวนาระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาการรักษา และแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบโล่ AHA GWTG HF และแสดงความยินดีกับ 6 โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวตามมาตรฐานระดับนานาชาติจาก American Heart Association ซึ่งแสดงถึงศักยภาพและคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในระดับสากล

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการหารือเกี่ยวกับปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทยและทั่วโลก จากข้อมูลสถิติของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มวัยทำงานที่อายุน้อยลง กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ และกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการแพทย์ ในการสร้างโครงการและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การจัดตั้งคลินิกโรคหัวใจล้มเหลว และการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรอง ติดตาม และให้คำแนะนำผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับรางวัลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

พล.ต.ต.นพ.เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายถึงสถานการณ์การดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในปัจจุบันว่าแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือ การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแล้ว และการป้องกันการเกิดโรคหัวใจในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ประเทศไทยมีการพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง

โดยการขับเคลื่อนจากกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงอีกหลายๆหน่วยงานและสมาคมวิชาชีพต่างๆซึ่งรวมถึงสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาระบบ ‘Fast Track’ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและได้รับผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ‘คลินิกหัวใจล้มเหลว’ ในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ไปพร้อมกับการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐานสูงสุดที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำหรับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ คือการสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือนและอันตรายของโรคหัวใจ

โดยเผยว่าปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้องในสื่อโซเชียลมีเดียอยู่และทำให้ผู้ป่วยมีความสับสนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต พฤติกรรมบริโภค การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารอาหารเสริมรวมถึงความกังวลถึงผลข้างเคียงของยา

ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำ เว็บไซต์ ThaiHealthyHeart.com ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลตนเองสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง และจัดทำแนวเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง และผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

“สำหรับงาน Cardio Catalyst: Driving Change in Heart Health ในวันนี้ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะขับเคลื่อนการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ในการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด”

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงหลักการ 4A ในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย อันได้แก่ การตระหนักรู้เกี่ยวกับโรค (Awareness) การประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค (Assessment) การเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสม (Accessibility) และการมีวินัยในการรับการรักษาและการรับประทานยา (Adherence)

ทางด้าน เภสัชกรหญิงสุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด  ได้กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ และส่งเสริมให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้น

“ที่โนวาร์ตีส เราเล็งเห็นว่า การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ เราจึงเชื่อว่าการทำงานร่วมกับผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จะนำไปสู่การพัฒนาการดูแลโรคหัวใจที่ก้าวหน้าไปมากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว โดยในปีนี้เราได้ต่อยอดจากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทางด้านการดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากโรคเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เพียงในผู้สูงอายุ แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีอายุน้อยทั่วโลก ผ่านเวทีที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคในทุกภาคส่วนให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการยกระดับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวให้ได้มาตรฐานสากล เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้านี้ และขอขอบคุณโรงพยาบาลและทีมบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลและทุ่มเทเพื่อผู้ป่วยอย่างตั้งใจเสมอมา ด้วยความร่วมมือกัน เราจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพดียิ่งขึ้น และได้ใช้เวลาอันมีค่ากับคนที่รักมากขึ้น”
การเสวนาและกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่นจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิตทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำน้อยลง และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วย ตอกย้ำถึงเส้นทางความสำเร็จในวันข้างหน้าที่มุ่งสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนแก่ประชาชนไทย

ในขณะเดียวกันประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดได้ โดยการหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจ คอยสังเกตและเอาใจใส่ครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ป่วยให้มีวินัยในการรักษามากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

จอดรถที่ไหน ล็อกรถหรือยัง เกิดอุบัติเหตุโทรหาใครดี หมดกังวลด้วยแอปอัจฉริยะ NissanConnect Services เวอร์ชั่นอัพเดต 

เคยไหมที่คุณรีบมากจนลืมว่า ล็อกรถหรือยัง รถจอดตรงไหน หรือกลัวว่าไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใครหากเกิดอุบัติเหตุ  ถ้าใช่ คนยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์แอคทีฟ ชอบใช้ชีวิตอิสระเต็มที่อย่างคุณ อาจจะต้องการรถยนต์ที่มาพร้อมนวัตกรรมซึ่งเพิ่มความสะดวกสบาย อุ่นใจและปลอดภัยช่วยให้คุณใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการโดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องเหล่านี้ 

นิสสัน อัลเมร่า รุ่นปี 2024 ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ มาพร้อมกับแอป NissanConnect Services* เวอร์ชั่นอัพเดต และกุญแจอัจฉริยะที่มีระบบล็อก และปลด ล็อกอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุม หรือสั่งการรถได้จากระยะไกล ได้ง่ายๆ ส่วนฟีเจอร์ SOS ยังให้ความอุ่นใจว่ามีคนคอยให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดเวลา 

แอปอัจฉริยะ NissanConnect Services เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ขับขี่สามารถสื่อสารกับรถยนต์ และสั่งการต่างๆ ได้ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่  แอปนี้จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้นิสสัน อัลเมร่า ซีดานสไตล์สปอร์ตถูกใจใครหลายๆ คน

ถ้าถามว่า NissanConnect Services ทำอะไรได้บ้าง  ข้อแรกผู้ที่ได้ลองขับนิสสัน อัลเมร่า ชื่นชอบ คือ การควบคุมระยะไกลหลากหลายระบบที่กดเลือกได้ในสมาร์ทโฟน เช่น ระบบสตาร์ตเครื่องยนต์ระยะไกล ช่วยอุ่นเครื่องยนต์ และเปิดแอร์ให้พร้อมเดินทางได้ทันที โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน เปิดประตูรถมาเจอแอร์เย็นๆ ทันทีไม่ต้องนั่งรอไล่ลมร้อนหลายนาที ชีวิตจะดีขึ้นได้ในพริบตา

ส่วนระบบตรวจสอบสถานะการล็อกประตู สั่งล็อก หรือปลดล็อกรถยนต์ระยะไกล สามารถกดดูจากสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน ว่าล็อกรถหรือยัง หรือกดสั่งล็อกหรือปลดล็อกประตูรถยนต์ได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านแอป ช่วยตัดความกังวล และเพิ่มความสะดวกสำหรับคนแอคทีฟ ต้องทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน  

อีกหนึ่งปัญหาที่คนขับรถทุกคนเจอ คือ จำไม่ได้ว่าจอดรถไว้ตรงไหน แอปนี้ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมากๆ เพราะสามารถกดระบบสั่งกะพริบไฟหน้า และระบบแตร ระยะไกล ช่วยค้นหารถด้วยไฟกะพริบ และเสียงแตรสั้น ๆ หรือสั่งเฉพาะไฟกะพริบในสถานที่งดใช้เสียงได้ ส่วน ระบบค้นหาตำแหน่งรถ (My Car Finder)  ช่วยค้นหาตำแหน่งรถยนต์ในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือที่ที่ไม่คุ้นเคย และนำทางไปยังรถได้ง่ายๆ ไม่ต้องเดินวนแล้ววนอีก 

อีกหนึ่งจุดเด่นของแอป  NissanConnect Services คือ ระบบ SOS ที่นิสสันนำมาให้บริการเป็นครั้งแรกในเซ็กเมนต์นี้ โดยเมื่อประสบเหตุไม่คาดฝัน เกิดอุบัติเหตุ หรือต้องการความช่วยเหลือขณะเดินทาง ผู้ขับขี่สามารถกดปุ่ม SOS ที่แผงหน้าปัด เพื่อขอความช่วยเหลือจากศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ทันทีผ่านระบบเครื่องเสียงในรถยนต์  

นอกจากนี้ นิสสัน อัลเมร่า รุ่นปี 2024 ยังยกระดับความสะดวกสบาย และความปลอดภัยไปพร้อมกัน ด้วยกุญแจอัจฉริยะที่มาพร้อมกับระบบล็อก/ปลดล็อกอัตโนมัติ  เมื่อเข้าใกล้หรือออกห่างจากตัวรถ เพียงจอดรถ ผู้ขับขี่สามารถเดินไปทำธุระได้เลย เพราะระบบอัจฉริยะของนิสสันจะช่วยล็อกรถให้โดยอัตโนมัติ 

และเมื่อผู้ขับขี่เดินกลับมาที่รถ กุญแจอัจฉริยะจะส่งสัญญาณปลดล็อกให้เอง  สะดวกสบายเมื่อต้องถือของเต็มมือ โดยไม่ต้องกดปุ่มที่ประตู และป้องกันการลืมล็อกรถ ซึ่งฟีเจอร์นี้จะมีในรุ่น V และ VL

คราวนี้ ไม่ว่าคุณจะไปทำธุระ ซื้อของ ไปเที่ยวชิลล์ๆ กับครอบครัวหรือแก๊งเพื่อนในวันว่าง เส้นทางไหน ๆ ก็สะดวก สบาย ปลอดภัย และอุ่นใจ เพราะ NissanConnect Services จะคอยดูแลเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ และยังสะท้อนการขับขี่แห่งอนาคตที่ผสมผสานการขับขี่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานได้อย่างลงตัว  

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิสสัน อัลเมร่า และฟีเจอร์ต่างๆ ได้ที่ https://www.nissan.co.th/vehicles/new-vehicles/new-almera.html หรือติดต่อผู้แทนจำหน่ายนิสสันทั่วประเทศ

กลุ่มบุญรอดฯ คว้ารางวัล HR ASIA หนึ่งในองค์กรที่น่าร่วมงานของเอเชีย ต่อเนื่อง 4 ปี

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด คว้ารางวัล “HR Asia Best Companies to Work for in Asia 2024” หนึ่งในองค์กรที่น่าทำงานที่สุดในระดับเอเชียติดต่อกันเป็นปีที่ 4 จาก HR Asia นิตยสารชั้นนำด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชีย

โดยประเมินจากคะแนนรวมสูงสุด 3 ด้าน ได้แก่ รับฟังการมีส่วนร่วมของพนักงาน, ดูแลเอาใจใส่ สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการทำงาน และวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม ซึ่งบริษัทบุญรอดฯ ย้ำวิสัยทัศน์ Bringing Joy to Life ให้ความสำคัญกับการสร้างคนและดูแลคนให้มีความสุข เพื่อขับเคลื่อนองค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมอย่างยั่งยืน

คุณสุนิษฐ์ สก๊อต Deputy Group Director – Corporate Capability Development บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลา 91 ปี  กลุ่มบุญรอดฯ มุ่งเน้นการสนับสนุนและพัฒนาบุคลากร ซึ่งหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแรง คือ ‘การสร้างคน’

เนื่องจากตระหนักดีว่าคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด การสร้างคนให้เก่งและเป็นคนดีของสังคม ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างรอบด้าน การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม รวมถึงเอาใจใส่คุณภาพชีวิตของพนักงานในทุกมิติ เป็นสิ่งที่บริษัทฯได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด จนกลายเป็น Singha way หรือ วิถีแห่งสิงห์ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน”

สำหรับรางวัล “HR Asia Best Companies to Work for in Asia” จัดโดยนิตยสาร HR Asia เป็นโครงการมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่ได้รับการยอมรับจากพนักงานว่าน่าทำงานที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยในปี 2024 กลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีค่าเฉลี่ยคะแนนรวมสูงสุด จากองค์กรไทยที่เข้าร่วมกว่า 298 องค์กร

ในการประเมินทั้ง 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการภายในองค์กรที่ดีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน(CORE) ค่าเฉลี่ย 4.16 การดูแลเอาใจใส่และสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการทำงาน(SELF) ค่าเฉลี่ย 4.33 และการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม(GROUP) ค่าเฉลี่ย 4.46 ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการยืนยันการเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคนอย่างมั่นคง สนับสนุนโอกาสเติบโตของพนักงาน และตอกย้ำการเป็นองค์กรที่น่าทำงานในระดับเอเชีย 4 ปีซ้อน นับตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน

ฟิลิปส์ ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันความรู้ พร้อมจัดเวิร์คช้อปหวังพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรทางการแพทย์

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจในประเทศไทยมากถึง 7 หมื่นราย หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และยังพบผู้ป่วยโรคหัวใจตั้งแต่อายุ 15 ปี เห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคหัวใจพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ดังนั้น ฟิลิปส์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกจึงอยากร่วมรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลโรคหัวใจ เนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ที่ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี โดยได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจมาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ

พร้อมจัดเวิร์คช้อปเพื่อยกระดับความรู้ในการตรวจโรคหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์กว่า 60 ท่าน ในงาน “2nd Primer in 3D Echo” 

โรคหัวใจถือเป็นโรคที่อันตราย เพราะอาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลยจนอาจเกิดการเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยโรคหัวใจมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคหัวใจที่เกิดจากไลฟ์สไตล์และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ และโรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น

โดยในผู้ป่วยโรคหัวใจอาจจะมีอาการเหนื่อยหอบง่าย นอนราบแล้วอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่งช่วงกลางคืน เจ็บหน้าอกซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเป็นลมหมดสติที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นลมแดดหรือการยืนนาน เป็นต้น ดังนั้น การสังเกตความผิดปกติ และการเข้ารับการตรวจหรือปรึกษาแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลโรคหัวใจตั้งแต่เนิ่นๆ

ศาสตราธิคุณแพทย์หญิง สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง อุปนายก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เพราะวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ค่อนข้างเครียด เร่งรีบ อาหารที่รับประทานมีส่วนประกอบของแป้งและไขมันเพิ่มขึ้น การออกกำลังกายน้อยลง รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแพทย์และการตรวจเฉพาะทางต่างๆ แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ แพทย์จะซักถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจโลหิตเพื่อประเมินเบื้องต้น และพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมทางหัวใจและหลอดเลือดตามข้อบ่งชี้ โดยหนึ่งในการตรวจทางหัวใจที่สำคัญ คือ การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) ใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวด์ส่งผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจและสะท้อนกลับมาแสดงเป็นภาพหัวใจในขณะเคลื่อนไหว สามารถดูหัวใจทุกส่วนประกอบที่สำคัญ โดยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจนี้ไม่ใช้รังสีหรือสารทึบแสง ดังนั้นถือว่ามีความปลอดภัย และมีความสำคัญในการวินิจฉัยแยกโรคโรคหัวใจประเภทต่างๆ เพราะการวินิจฉัยที่แม่นยำย่อมนำมาซึ่งการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลลัพธ์ที่ดี”

ปัจจุบันการพัฒนาการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ จากภาพ 2 มิติ มาเป็นการใช้งานเทคโนโลยี 3 มิติ หรือ 3D Echocardiography (3D Echo) มีบทบาทสำคัญในการใช้คลื่นเสียงสะท้อนหัวในการตรวจวินิจฉัยได้ละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้น 

ฟิลิปส์ หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี 3D Echo  เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้และเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้เทคโนโลยีการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยจึงได้จัดงานเวิร์คช้อป Primer in 3D Echo ครั้งที่2 ขึ้น ณ โรงแรม Conrad กรุงเทพฯ

พร้อมเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจมาเป็นวิทยากร โดยหัวข้อหลักในปีนี้คือ “Basic to intermediate using 3D Echo in daily practice” มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของการใช้งานเทคโนโลยีการหัวใจด้วยเสียงสะท้อนแบบ 3 มิติ ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคหัวใจ

เนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องมือต่างๆบนโปรแกรมของเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนชนิด 3 มิติให้เหมาะสม  การจัดการข้อมูลภาพ 3 มิติ และมีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีจริง โดยหวังว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาและการวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้ารับการตรวจโรคหัวใจตั้งแต่เนิ่นๆ ยังจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การดูแลสุขภาพหัวใจเชิงป้องกันก็สำคัญเช่นกันเพราะการดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคหัวใจย่อมดีกว่าการรักษา

“สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคหัวใจก็คือ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารมัน ทอด หวาน พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากพบความผิดปกติก็รีบปรึกษาแพทย์ เพียงเท่านี้ เราก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงและสามารถลดความรุนแรงของโรคได้” ศาสตราธิคุณแพทย์หญิง สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง กล่าวปิดท้าย

สิงห์ฯ ร่วมกับ Insightist และ GDK จัดงานใหญ่ Ai Thailand Conference 2024 ทรานฟอร์มคน-องค์กร ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่

สิงห์ฯ ผนึก Insightist องค์กรธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation และ GDK บริษัทผู้นำด้านการตลาดออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ดึงเหล่ากูรูด้าน Tech จัดงาน Ai Thailand Conference 2024 : The Next Future ครั้งแรกในไทย ร่วม Transform คน-องค์กรธุรกิจ รับมือยุค Digital Disruption เสริมแกร่งองค์ความรู้ด้าน Ai สู่การประยุกต์ใช้กับองค์กรยุคใหม่ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ สามย่าน มิตรทาวน์ 

คุณธีรานนท์ ศิริกุลพิริยะ MD of Solutions IMPACT กล่าวว่า การจัดงาน Ai Thailand Conference ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการ ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกธุรกิจยุค Ai อย่างแท้จริง ที่จะตอบทุกคำถามคาใจ ทั้งการปรับตัว ตลอดจนแนวคิดการการทำธุรกิจยุคใหม่ จากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Business Transformation และ People Transformation เพื่อให้พร้อมรับมือ ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเทรนด์ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจแห่งโลกอนาคตต่อไป

ด้านคุณอรรณพ สลิดบัว CEO GDK GROUP, Co-CEO Live Forward กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวสู่โลกแห่ง Ai เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่องค์กรต่างๆ ต้องรับมือ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องเท่าทันสถานการณ์กับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น และขอขอบคุณ คุณภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนการ Transform คน-องค์กร ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก

ซึ่งสิงห์ฯ ผู้สนับสนุนหลักในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยี Ai มาใช้ในการทำงาน จนเกิดการ Transform ปรับใช้ Ai ในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี และภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด องค์กรชั้นนำที่มอบโอกาสถ่ายทอดความรู้ และมุมมองของการพัฒนาอันก้าวกระโดดสู่โลกอนาคต

ทั้งนี้ งาน Ai Thailand Conference 2024 : The Next Future ถือเป็นงานที่รวบรวม Business Transformation และ People Transformation กับ 2 Sessions ที่จะมาช่วยชี้ทิศทางธุรกิจไทยในยุค Ai ในหัวข้อ Business NEXT Future : ที่จะมาถอดรหัสอนาคต Ai กับธุรกิจ และ People NEXT Future สู่การปรับตัวท่ามกลางการเข้ามาของ Ai

พร้อมกันนี้ยังจะได้พบกับเหล่ากูรูคนดังมากมาย (Speaker) อาทิ คุณหนุ่ย พงศ์สุข, คุณท๊อป จิรายุส, คุณกระทิง เรืองโรจน์, คุณแท็ป รวิศ และเหล่ากูรูอีกมากมาย ที่จะมาร่วมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Ai / People และที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวบรวม Use case เกี่ยวกับการปรับตัวของธุรกิจ การพัฒนาคน การประยุกต์ธุรกิจ กับการใช้ Ai เพื่อใช้กับธุรกิจ ทั้งระดับองค์กรต่างๆ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 2,000 คน และมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สู่โลก Ai ในอนาคตและต่อยอดสู่ความเป็น The Next future