NetScape Time ตอนที่ 14 : The Fall of Netscape

ในปี 1994 Bill Gates ได้กล่าว คำ ๆ นึงที่ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อ NetScape เป็นอย่างมากนั่นก็คือ เขาหวังว่าจะไม่มีผู้ผลิตรายใดสร้างรายได้จากโปรแกรม Browser อย่างที่ NetScape กำลังทำอยู่

ต้องบอกว่า สถานการณ์ในขณะนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft นั้นมีเงินสดในมือกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ ผ่านเครื่องจักรทำเงินของพวกเขาอย่าง ระบบปฏิบัติการ Windows และชุดโปรแกรม Office

ซึ่งแนวคิดของ Bill Gates มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว พวกเขาผู้ขาดธุรกิจของระบบปฏิบัติการ และมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมาก ๆ ในโปรแกรมที่พวกเขาวางขายทุก ๆ ตัว การที่จะต้องแจกโปรแกรมบางอย่างฟรี ๆ มันเป็นเรื่องง่ายสำหรับพวกเขามาก

โดยทาง Microsoft นั้นใช้แผนที่เหนือเมฆมาก ๆ คือนำ Internet Exproler ออกสู่ตลาดโดยแถมมากับระบบปฏิบัติการ Windows 95 เลยแทบจะทันที โดย Microsoft นั้นก็ได้พัฒนาตัว IE โดยใช้พื้นฐานมาจาก Mosaic ที่พวกเขาได้ลิขสิทธิ์ต่อมาจาก Spyglass นั่นเอง

Microsoft ปล่อย Internet Exproler มากับ Windows แบบฟรี ๆ
Microsoft ปล่อย Internet Exproler มากับ Windows แบบฟรี ๆ

แต่ NetScape ก็ไม่ได้กลัวแต่อย่างใด เพราะหลังจากปล่อย NetScape Version 2.0 ออกไปนั้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ามาก ๆ จนทำให้มีผู้ใช้งานกว่า 38 ล้านคนทั่วโลก และนับเป็นโปรแกรมที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดไปได้ถึง 80% เลยทีเดียวในช่วงปี 1996

NetScape นั้นใช้กลยุทธ์ในการนำโปรแกรมออกเผยแพร่ทาง internet ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาดูตัวโปรแกรมได้ และได้เริ่มก้าวไปสู่การพัฒนาโปรแกรมสำหรับเครือข่ายในองค์กร และโปรแกรมด้านการค้าใน internet เพื่อสร้างรายได้ให้มากที่สุด

แต่ Microsoft นั้นเป็นบริษัทที่ทุนหนาอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาเรื่องการเงินแต่อย่างใด จึงได้เข้ามาต่อสู้อย่างเต็มตัวและดุเดือดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการแถม Browser ไปกับระบบปฏิบัติการ และเป็นยิ่งส่งเสริมให้คนหันมาใช้ ระบบปฏิบัติการ Windows 95 มากยิ่งขึ้น

ซึ่งสุดท้ายก็มีการฟ้องร้องกัน โดยมีการกล่าวหาว่า Microsoft ผูกขาดการตลาดของระบบปฏิบัติการ ทางฝั่ง Microsoft นั้นก็ไม่แยแสในเรื่องที่เกิดขึ้นเดินหน้าแถม Browser ต่อไปจนครองส่วนแบ่งแทบจะทั้งหมดของ Browser ไปได้ในท้ายที่สุด

และ ทำให้ Netscape ต้องถูกขายให้กับ AOL ในภายหลังก่อนจะพัฒนากลายมาเป็น Mozilla Firefox อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนคดีความฟ้องร้องนั้น ถึงแม้สุดท้าย ศาลจะพิพากษาให้ Microsoft เป็นฝ่ายผิด แต่ Microsoft ก็ยินยอมจ่ายค่าปรับเพียงร้อยกว่าล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งเปรียบเหมือนในสงครามนี้ Microsoft ยอมแพ้ในศาลแต่ ในเชิงธุรกิจนั้น Netscape ได้ตายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเองครับผม

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ NetScape จาก Blog Series ชุดนี้

ต้องบอกว่า Web Browser นั้นถือเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรม ที่เปลี่ยนโลกเราไปตลอดการ แม้การเกิดขึ้นของ World Wide Web จาก Tim Berner lee นั้นจะเกิดมาก่อนก็ตาม แต่การที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง internet ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้นนั้น ก็เป็นผลมาจากโปรแกรม Web Browser ตัวแรกอย่าง Mosaic ที่ Marc Andreeessen เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นมา

แน่นอนว่าเรื่องราวของการก่อตั้งบริษัทใหม่อย่าง NetScape นั้น เป็นเรื่องราวที่ดั่งปาฏิหาริย์ เพราะใช้เวลาเพียงปีกว่า ๆ เท่านั้น พวกเขาก็สามารถพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ และ สร้างปาฏิหาริย์มากมายให้กับ WallStreet

แต่แน่นอนว่า เมื่อการเติบโตไปเข้าหูยักษ์ใหญ่ ที่ครอบครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จอย่าง Microsoft มันก็เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะชนะยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ได้ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งให้กับเหล่า startup ยุคหลังว่า ไม่ควรที่จะเข้าไปต่อกรกับ ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft แต่เนิ่น ๆ

แน่นอนว่า เราจะได้เห็นบริษัทยุคหลัง ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้จากเรื่องราวของ NetScape ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็น Google ที่พวกเขาทำทุกอย่างให้เงียบที่สุด และเลี่ยงการต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ให้มากที่สุด

ซึ่ง Google นั้นประสบความสำเร็จ เพราะกว่า Microsoft จะรู้ตัวนั้น พวกเขาได้พัฒนาเทคโนโลยีจนนำห่างไปไกลแล้ว จน Microsoft ไม่สามารถที่จะไล่ตาม Google ได้ทันในที่สุด แม้จะพยายามบีบอย่างไร แต่มันก็ช้าเกินไปเสียแล้วนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า Google นั้นรับบทเรียนจากการเข้าไปต่อสู้กับ Microsoft ของ NetScape อย่างชัดเจน

แน่นอนว่า โลกยุคใหม่นั้น บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Microsoft นั้นไม่ได้เปรียบในทุกเรื่องเสมอไป ด้วยขนาดองค์กรที่ใหญ่ ทำให้เคลื่อนตัวผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้เกิดบริษัทหน้าใหม่ Startup หน้าใหม่ ขึ้นมาเปลี่ยนโลกมากมายอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน

ซึ่งบทเรียนของ NetScape นั้นก็ ถือเป็น Case Study ที่สำคัญให้ เหล่าบริษัท Startup หน้าใหม่ยุคหลัง สามารถที่จะลืมตาอ้าปาก ไม่ถูกกลืนกิน เหมือนในยุคก่อนหน้าได้ ต้องถือว่าเรื่องราวของพวกเขา สร้างคุณูปการให้กับนักธุรกิจยุคหลังเป็นอย่างมาก นั่นเองครับผม

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

References : https://www.theguardian.com/global/2015/mar/22/web-browser-came-back-haunt-microsoft

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

NetScape Time ตอนที่ 13 : Monopoly Power

แน่นอนว่าความขัดแย้งที่เริ่มต้นขึ้นจาก Microsoft ในเรื่อง APIs นั้น นำไปสู่ความล่าช้าในการพัฒนาโปรแกรม NetScape 2.0 ซึ่งแต่เดิมงานด้านการพัฒนานั้นก็หนักอยู่แล้วในการพัฒนา Features ใหม่ ๆ ออกมา แต่การเตะตัดขาโดย Microsoft นั้นทำให้งานยากขึ้นเป็นเท่าตัว

วันที่ 21 มิถุนายน ปี 1995 Marc , James Barksdale และทีมงาน ได้พบกับตัวแทนของ Microsoft ซึ่ง ตอนนั้น Microsoft พร้อมที่จะมอบ APIs ให้ แต่เรียกร้องหลายสิ่งหลายอย่างเป็นการตอบแทน

โดย Microsoft นั้นต้องการที่นั่งในคณะกรรมการบริษัท และหุ้นของบริษัทจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า Microsoft นั้นเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีเงินเหลือมากมาย มันเป็นการบีบบังคับทางธุรกิจ ซึ่ง Microsoft นั้นมีอำนาจเหนือกว่าเพราะเป็นคนควบคุมระบบปฏิบัติการที่เป็นหน้าด่านของโปรแกรมทุกสิ่ง

Jim คิดว่านี่่มันเป็นการใช้อำนาจมาบีบบริษัทชัด ๆ ซึ่งมันดูไม่แฟร์ ซึ่งเขามองว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย และ James เอง ก็รู้สึกโมโหเช่นเดียวกันในเรื่องดังกล่าว จึงได้ตอบปฏิเสธไปในการพบกันครั้งนั้น

NetScape 2.0 ที่ต้องการลงใน Windows 95
NetScape 2.0 ที่ต้องการลงใน Windows 95

หลังจากนั้นเพียงอาทิตย์เดียว Microsoft ก็ยอมให้ส่วนของ APIs สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows 95 ในที่สุด และ ทางทีมงานของ Marc ก็ได้เร่งทำจนเสร็จตามกำหนดในที่สุด แต่ไม่มีคำอธิบายใด ๆ จาก Microsoft ว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะอะไรกันแน่

ตัว James เองนั้น มองถึงอนาคต และทราบดีถึงการแข่งขันที่รุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ตื่น แม้ NetScape จะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าก็ตาม และผู้ใช้ internet ทั่วโลกต่างหลงรักใน NetScape ในการท่องโลก internet

แม้ Microsoft นั้นจะทำเป็นไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และแทบจะไม่ได้พัฒนาโปรแกรม Mosaic เพิ่มเติมแต่อย่างใด หลังจากที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจาก Spyglass ก็ตามที พวกเขาทำทีเหมือนจะสนใจแค่บริการ online ผ่าน Microsoft Network เพียงเท่านั้น

แน่นอนว่า Windows 95 นั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ๆ ทาง James จึงได้เข้าไปติดต่อกับเหล่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ ๆ เพื่อทำการผนวกโปรแกรม NetScape 2.0 เข้าไปในระบบปฏิบัติการที่ให้พวกเขานำมาใส่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะทำการขายให้กับลูกค้า

มันเป็นการเพิ่มฐานลูกค้า เพื่อช่วยขยายส่วนแบ่งทางการตลาดไปสู่คนที่ยังไม่เคยใช้งาน internet ซึ่งโปรแกรมที่แถมไปด้วยกับเครื่อง น่าจะเป็นผลดีกับลูกค้า ซึ่งถือเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ไปในตัว

แต่แผนการของ James ก็ต้องถูกเบรค โดย Microsoft เพราะหลังจากที่ Microsoft รู้เรื่องดังกล่าว ก็ได้ทำการบีบเหล่าผู้ผลิต ไม่ให้ใช้ โปรแกรม NetScape ติดไปกับเครื่อง เป็นการแทรกแซงอีกครั้งจากยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft

ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่แหกกฏอย่าง Compaq ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในตอนนั้น ซึ่งได้นำโปรแกรม NetScape 2.0 เข้าไปผนวกในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนหลายรุ่นที่พวกเขาจำหน่าย

แต่ไม่นานนักทาง Microsoft ได้ประกาศยกเลิกลิขสิทธิ์โปรแกรมระบบปฏิบัติการ Windows 95 ที่เคยมอบให้บริษัท Compaq จน Compaq ต้องยุติการติดตั้งโปรแกรม NetScape 2.0 ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองในที่สุด

Compaq ที่เป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ในขณะนั้น ยังไม่กล้าขัด Microsoft
Compaq ที่เป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ในขณะนั้น ยังไม่กล้าขัด Microsoft

มีการบีบบังคับผู้ผลิตทุกรายไม่ให้ใช้โปรแกรม NetScape มีการขู่ว่าจะเพิ่มค่าลิขสิทธิ์ Windows 95 อีก 3 เหรียญ หากมีการลงโปรแกรม NetScape ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะขายให้กับลูกค้า

เรียกได้ว่ามันเป็นการใช้อำนาจที่ควบคุมตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จ ในตลาดระบบปฏิบัติการ Windows ที่ตอนนั้นควบคุมผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์กว่า 80% ที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่มีบริษัทใดกล้าต่อกร กับ Microsoft แม้แต่รายเดียว โดยเฉพาะเหล่าบริษัทผู้ผลิต Software ทั้งหลาย

การเรียกค่าลิขสิทธิ์เพิ่มหากมีผู้ผลิตใดลงโปรแกรม NetScape ก็เทียบได้กับว่า Microsoft พยายามเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์เพิ่มในตัวโปรแกรม NetScape นั่นเอง แต่ไปขูดรีดกับเหล่าผู้ผลิตที่คิดจะฝ่าฝืนกฏของ Microsoft แทนที่จะบีบมาที่ NetScape โดยตรง

แน่นอนว่าในตอนนั้น ไม่มีโปรแกรม Broswer ใด ที่สามารถทำงานได้ดีกว่า NetScape แม้ผู้ใช้งานจะชอบโปรแกรม NetScape เพียงใดก็ตาม แต่การนำโปรแกรมเข้าไปบรรจุในเครื่องนั้น จะทำให้เหล่าผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จึงไม่มีผู้ผลิตรายใดกล้าใส่โปรแกรม NetScape เข้าไป

มันเป็นที่ชัดเจนแล้ว่า Bill Gates กำลังจ้องมองลงมาที่ NetScape แบบชัดเจน และเริ่มใส่ใจว่า NetScape จะกลายเป็นภัยคุกคามของพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่านการกระทำต่าง ๆ อย่างที่ได้กล่าวไป

การที่ระบบปฏิบัติการถูกผูกขาดโดย Microsoft กลายเป็นปัญหาใหญ่ของ NetScape เมื่อสัญญาณมันชัดเจนขนาดนี้ NetScape จะตอบโต้กลับอย่างไร และต้องเตรียมการสำหรับการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วยความยากลำบากแค่ไหน ศึกครั้งนี้ ใครจะเป็นผู้ชนะ ตัวจริง โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 14 : The Fall of NetScape (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

NetScape Time ตอนที่ 11 : Going Public

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมปี 1995 Jim เริ่มคิดถึงการนำ NetScape เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ แม้บริษัทจะตั้งมาได้เพียงแค่ ปีเศษ ๆ เท่านั้นก็ตาม และแม้ถึงไตรมาสล่าสุดผลประกอบการยังไม่เป็นตัวเลขบวกก็ตามที

เหตุผลที่สำคัญที่ Jim คิดถึงเรื่องดังกล่าว ก็คือ ตอนที่เจอปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กับ ศูนย์ NCSA นั้น ได้มีการว่าจ้างบริษัทด้านการลงทุนชื่อดังอย่าง Morgan Stanley มาช่วยเหลือในด้านการระดมทุน

แน่นอนว่า Morgan Stanley นั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในการนำบริษัททั้งหลายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และ Spyglass คู่แข่งสำคัญก็รู้ถึงเรื่องราวดังกล่าว และคงคิดว่า NetScape นั้นกำลังเตรียมการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ นั่นเองเป็นแรงผลักดันให้ Spyglass ต้องนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน

ซึ่ง Spyglass เองนั้นก็มีรายได้เข้ามาในระดับหนึ่งแล้วเช่นกัน รวมถึงข้อตกลงกับ Microsoft และกำลังเริ่มขายโปรแกรม Mosaic ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ รวมถึงกระแสของ internet ที่ค่อนข้างเริ่มมาแรงมาก ๆ ในขณะนั้น

และมีข่าวหลุดออกมาจริง ๆ ว่า Spyglass กำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ Jim รู้สึกโกรธมาก ๆ เพราะ คงเป็นเรื่องบ้าบอมาก ๆ ที่ Spyglass ที่ใช้เทคโนโลยีล้าหลังกว่า NetScape สามารถที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ก่อนพวกเขา

Jim ไม่ค่อยพอใจหาก Spyglass จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก่อนเขา
Jim ไม่ค่อยพอใจหาก Spyglass จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก่อนเขา

แม้จะมีข้อดีในเรื่องการได้ระดมทุนจำนวนเงินที่มหาศาล แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นั้นทุกอย่างก็ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งแน่นอนว่า จะนำไปสู่ความสนใจของคู่แข่งอย่าง Microsoft และจะทำให้ Microsoft ต้องมาเข้ามาแข่งในตลาดนี้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ดูเหมือนคณะกรรมการทุกคน ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับ Jim ที่จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ แต่คงมีแต่ James Barksdale CEO ของบริษัทเท่านั้น ที่ดูเหมือนจะยังไม่อยากจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะเขามองว่า NetScape ยังเล็กเกินไป และจะเกิดความเข้มงวดในการบริหารงาน เพราะต้องสร้างผลกระกอบการที่ดีในทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งไม่เหมาะกับบริษัทขนาดเล็กที่กำลังเติบโตอย่าง NetScape

Jim จึงใช้ ทีมกฏหมายและที่ปรึกษาจาก Morgan Stanley เพื่อให้คำแนะนำและช่วยโน้มน้าว James ให้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งสุดท้าย James ก็โอเคด้วย กับแนวคิดในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะผลการศึกษาจากเหล่าที่ปรึกษานั้นผลออกมาเป็นเชิงบวกแทบจะทุกราย

หลังจากนั้น ก็เป็นแผนการที่จะนำบริษัทเข้าตลาดให้เร็วที่สุด โดยมีการกำหนดราคาหุ้นของบริษัทที่ 15 เหรียญต่อหุ้น และจำนวนหุ้นที่จะมีการเสนอขายต่อสาธารณะ 3.5 ล้านหุ้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เกิดจากการคาดการณ์ ซึ่งเป็นการคำนวณราคาว่า ราคาใด จะไม่สูงจนเกินไปนักจนเหล่านักลงทุนไม่สนใจ และไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้ขาดรายได้ที่ควรจะเป็น

James Barksdale เป็นคนนำทีมเพื่อออก Roadshow เพื่อเดินสายนำเสนอหุ้นของบริษัท เพื่อสร้างความสนใจและดึงดูดเหล่านักลงทุน ซึ่งเหล่านักลงทุนทั้งจากสถานบันการเงินต่าง ๆ จะมีโอกาสได้ฟังและสอบถามเรื่องเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงกับเหล่าผู้บริหาร

James Barksdale นำทีมออก Roadshow ( source : gettyimage)
James Barksdale นำทีมออก Roadshow ( source : gettyimage)

ซึ่งผลจากการออก Roadshow ครั้งนี้ ที่ไปตระเวนทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นไปสูงถึง 28 เหรียญต่อหุ้นเลยทีเดียว และมีการเพิ่มจำนวนหุ้นที่จะจำหน่ายในตลาดเป็น 5 ล้านหุ้น

เรียกได้ว่าหลังจากการออก Roadshow นั้นผลตอบรับที่ได้ยอดเยี่ยมมาก ๆ มีนักลงทุนจำนวนมาก ที่แสดงความสนใจ มีการพูดกันว่า NetScape จะกลายเป็นบริษัทผลิต Software ที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

และแล้ววันที่สำคัญก็มาถึง ในวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1995 เป็นวันที่จารึกประวัติศาสตร์ความสำเร็จของ NetScape และอุตสาหกรรม internet มีการประโคมจากสื่อชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำอย่าง NewyorkTime

โดยกล่าวชื่นชม NetScape ไว้มากมาย ว่าพวกเขาได้จารึกประวัติศาสตร์ใหม่ บริษัทที่มีอายุเพียงแค่ 15 เดือน และยังแทบจะไม่สร้างผลกำไร แต่กลายเป็นบริษัทที่ร้อนแรงที่สุดในธุรกิจ internet ที่จะนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

หุ้น NetScape ถูกกำหนดไว้ที่ 28 เหรียญต่อหุ้น เมื่อมีการเปิดจำหน่ายจริง ราคาพุ่งสูงขึ้นไปถึง 74.75 เหรียญต่อหุ้น และมันได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเปิดขายหุ้นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ WallStreet ที่ทำให้มูลค่าบริษัททั้งหมดพุ่งสูงขึ้นไปถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

แน่นอนว่า หลังจากการเปิดขายหุ้นออกสู่สาธารณะ มันทำให้เหล่าผู้ก่อตั้งกลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อสิ้นสุดวันหุ้นของ James Barksdale มีมูลค่าถึง 244.7 ล้านเหรียญ ส่วนของ Marc Andreessen มีมูลค่า 58.3 ล้านเหรียญ และเหล่าพนักงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานต่างกลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืนจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น

แต่ผลงานในตลาดหลักทรัพย์ มันก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะหลังจากข่าวนี้ได้แพร่กระจายออกไป มันก็ถึงเวลาแล้วที่ Microsoft พี่ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี ที่มีทุนมหาศาล พร้อมทรัพยากรคุณภาพจำนวนมาก พร้อมที่จะมาลุยในตลาดนี้เต็มตัว หลังจากเห็นความสำเร็จของ NetScape แล้วเมื่อยักษ์ใหญ่ตัวจริง มาลุยในตลาด internet อันหอมหวนนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้น? NetScape จะพบกับศึกหนักเพียงใด ในการประมือกับ Microsoft ครั้งแรก โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 12 : Fighting the Real Enemy

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://prezi.com/ac4nt1sqdfdv/netscape-ipo/

NetScape Time ตอนที่ 10 : Breakout

แม้ปัญหากับมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ได้ข้อยุติไปแล้วก็ตาม แต่ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือ การก้าวเข้ามาของ Microsoft เมื่อทางมหาวิทยาลัยนั้นได้ให้ลิขสิทธิ์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft กับโปรแกรม Mosaic แต่ไม่ยอมให้กับ NetScape Communication

แม้ปัญหาแรกจะคลี่คลายในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บริษัทต้องสูญเสียอะไรหลาย ๆ อย่างมาก ๆ ต้องปลดพนักงานกว่า 20 คนจากจำนวนพนักงานทั้งหมด 120 คน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในกระบวนการทางกฏหมายอีกมากมาย กว่าจะได้ข้อยุติ และทำให้บริษัทเหลือทุนเพียงแค่ 1 ล้านเหรียญ เศษ ๆ เท่านั้น

ยังมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อ James Barksdale ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับบริษัทในที่สุด สื่อต่าง ๆ ก็เริ่มให้ความสนใจกับ NetScape อีกครั้ง รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เริ่มที่จะกลับมาติดต่อของลิขสิทธิ์ในการใช้งานโปรแกรม NetScape Navigator ที่เพิ่งปล่อย version 1.0 ออกไปเพียงไม่นาน

ซึ่งการได้ผู้บริหารระดับสูงอย่าง James Barksdale มาร่วมงานนั้น ยิ่งทำให้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าว เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1995 สถานการณ์ทุกอย่างของบริษัทก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

เมื่อ James Barksdale เข้ามาสถานการณ์ต่าง ๆ ของบริษัทก็เปลี่ยน
เมื่อ James Barksdale เข้ามาสถานการณ์ต่าง ๆ ของบริษัทก็เปลี่ยน

เมื่อ internet ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ทีมงานของ NetScape ได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่ออธิบายถึงเรื่องของเว๊บ ให้กับบริษัทต่าง ๆ ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งด้านสื่อสาร ธนาคาร รวมถึงบริษัทจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ มากมายทั่วโลก

บริษัทได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว และได้เริ่มรุกตลาดไปยังต่างประเทศ โดยมีสำนักงาน 28 แห่งในยุโรป และ 13 แห่งในเอเชีย มีการประกาศความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ 12 แห่งในประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ลิขสิทธิ์ NetScape Navigator

มีการตั้งคำถามขึ้นมากมาย ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร เมื่อการก้าวเข้ามาของเว๊บ และ internet เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ บนโลก internet เมื่อได้ใช้งาน NetScape Navigator

ต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้นั้น internet ได้ถูกใช้ในวงแคบ ๆ ของวงการการศึกษา และ กลุ่มนักวิจัยเพียงเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานส่งผ่านข้อมูล Text ซึ่ง Mosaic และ NetScape ได้เปลี่ยนให้คนทั่วไปเข้ามาสู่ internet ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างก็คือ internet นั้นยังมีความสามารถในการพัฒนาได้อีกไกล เพราะเหล่าบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ เริ่มปรับตัวเข้ามาให้บริการ Internet Service Provider (ISP) เพราะพวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วในด้านโทรคมนาคม

ในด้านการเงินนั้น บริษัทก็เริ่มกลับมาอยู่ในเส้นทางที่สดใสอีกครั้ง แม้จะมีผลิตภัณฑ์เพียงแค่โปรแกรม NetScape Navigator v1.0 และ สินค้าอีก 2 ตัวที่เป็น server เพื่องานสื่อสารและการค้า แต่การได้ลูกค้าระดับ Big อย่าง AT&T เข้ามาทำให้มีผู้สนใจผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากมาย

ไม่นานหลังจาก James Barksdale เข้ามาร่วมงาน เขาก็สามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ต้องเรียกได้ว่าเขาเข้ามาในสถานการณ์ที่ถูกที่ ถูกเวลาเสียจริง ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า เพียงแค่เพิ่มคนตอบโทรศัพท์เพิ่มขึ้น ยอดขายก็แทบจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว และมันได้ทำให้บรรยากาศของบริษัทเปลี่ยนจากความเครียดสุด ๆ ในช่วงก่อนหน้า กลายเป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

แต่แม้จะมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในต้นปี 1995 บริษัทก็ได้ตัดสินใจระดมทุนรอบที่สาม ซึ่งเป็นการระดมทุนผ่านบริษัทต่าง ๆ โดยให้บริษัทยักษ์ใหญอย่าง Morgan Stanley เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องดังกล่าว และช่วยให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 150 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นตัวเลขมหาศาลมาก ๆ เมื่อเทียบกับขนาดบริษัทในขณะนั้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ แนวทางในการดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกกลุ่มคือ ลูกค้าบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการสร้างรายได้

ในเดือน กุมภาพันธ์ปี 1995 บริษัทสร้างได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กรได้มากจน Marc เองได้ปฏิเสธ ที่จะทดลองจ้าง Jerry Yang และ David Filo สองบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้พัฒนาเว๊บไซต์ Yahoo เพราะต้องบอกว่าตอนนั้น แทบไม่มีใครมองเห็นถึงศักยภาพของเว๊บ portal แบบ Yahoo ทำ รวมถึง Search Engine เองก็ตามที่ยังไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นในโลกของ internet

Jerry Yang และ David Filo เกือบจะมาเป็นพนักงาน NetScape
Jerry Yang และ David Filo เกือบจะมาเป็นพนักงาน NetScape

เมื่อบริษัทได้รับเงินระดมทุนจำนวนมหาศาลในการระดมทุนรอบ 3 ก็ทำให้สามารถจ้างพนักงานที่มีศักยภาพได้มากยิ่งขึ้นในหลาย ๆ ตำแหน่ง ทำให้บริษัทแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 1995 นั้น บริษัทได้เพิ่มจำนวนพนักงานเป็นกว่า 2,000 คน

ทั้ง James , Jim และ Marc เองก็ได้เริ่มตระหนักว่าโปรแกรม Browser อย่าง NetScape Navigator นั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ internet ในตอนนั้นไม่ว่าลูกค้าจะไปที่ใดบนโลก internet จะค้นหาข้อมูล เลือกซื้อสินค้า หรือ กระทำการใด ๆ ก็ต้องทำผ่าน Browser เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แน่นอนว่า มันสร้างอำนาจต่อรองให้กับบริษัทของพวกเขาเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี มันก็ได้สร้างคู่แข่งให้กับพวกเขาโดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน เพราะเว๊บไซต์ต่าง ๆ เริ่มเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เช่น ตัวอย่างการเกิดขึ้นของ Yahoo แม้ NetScape เองจะเป็นผู้สร้างตลาดนี้ให้เกิดขึ้นก็ตามที

สถานการณ์ในตอนนั้น ต้องเรียกได้ว่า NetScape กลายเป็นราชาแห่งโลก internet เหล่าผู้บริหารเองก็เชื่อว่า อนาคตทั้งหมดของ internet อยู่ที่โปรแกรมของบริษัทนั่นก็คือ Browser NetScape ไม่ใช่ที่ตัวเว๊บไซต์เช่น Yahoo

และเมื่อผ่านไปถึง ฤดูใบไม้ผลิ บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 7 ล้านเหรียญในไตรมาสแรก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่า ทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างกำลังเข้าทางพวกเขาทั้งหมด เหมือนจะไม่มีอะไรจะมาหยุดพวกเขาอยู่ได้อีกต่อไป

แต่พวกเขากลับไม่รู้ตัวว่า กำลังมีศัตรูที่แข็งแกร่งได้แอบซุ่มเงียบ ๆ อยู่ และกำลังจะมาโค่นล้มบัลลังก์พวกเขา แล้ว ศัตรูผู้นั้นคือใคร แล้วเขาจะมาล้มเจ้าตลาด ผู้เป็น Gateway ประตูสู่โลก internet อย่าง NetScape Navigator ได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Going Public

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
Fanpage :facebook.com/tharadhol.blog
Blockdit :blockdit.com/tharadhol.blog
Twitter :twitter.com/tharadhol
Instragram :instragram.com/tharadhol

NetScape Time ตอนที่ 9 : Move On

แน่นอนว่าเรื่องของ Branding นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และการที่ Jim และทีมงานของเขาได้สร้างชื่อบริษัทจนเป็นที่รู้จักกันแล้วในนามของ Mosaic Communication ซึ่งถึงแม้ความต้องการของมหาลัยอิลลินอยส์ ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนชื่อ เพราะมันคล้องจองกับโปรแกรม Mosaic ที่ทางมหาลัยมีเครื่องหมายการค้าอยู่

แน่นอนว่าการเปลี่ยนชื่อนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าทีมงานพัฒนาของ Marc เพราะพวกเขาได้ร่วมกันพัฒนากันมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้าย Jim จึงเลือกการยอมถอยก้าวหนึ่งด้วยการยอมเปลี่ยนชื่อเป็น NetScape ตามชื่อของโปรแกรมที่เขาได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ออกไปก่อนหน้านี้

มีการออกแบบโลโก้ใหม่ เป็นตัวอักษรตัว N บนพื้นหลังรูปท้องฟ้า และดวงดาว ซึ่งหลายหลังโลโก้ดังกล่าว ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น ด้วยการมีรูปดาวตกพุ่งอยู่ด้านหลัง หลังจากมีการแข่งขันเสนอความคิดกันบนโลกออนไลน์

และปัญหานี้มันยังส่งผลถึง James Barksdale ที่ยังไม่ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าจะมาเป็นผู้บริหารบริษัท แม้จะเข้ามาเป็นคณะกรรมบริษัทแล้วก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาดังกล่าว ซึ่ง James ได้บอกกับ Jim ว่า ภาพพจน์ของบริษัทจะเสียหาย หากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฏหมายกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาอยากให้หาวิธียุติปัญหานี้เสียก่อน

ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาก็เรื่องของเงินทุน ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างงานซึ่งเริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการจ้างงานในแผนกบริการลูกค้าที่มีเพิ่มเข้ามาเยอะมาก ในขณะที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงหยุดชะงัก ทำให้ Jim เองต้องคิดถึงแผนการปลดพนักงานครั้งแรก ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ควรเกิดอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเกิดใหม่

มีนักลงทุนหลาย ๆ รายเริ่มถอนตัว จากความคิดที่จะลงทุนในบริษัท เนื่องจากปัญหานี้ ซึ่งสถานการณ์ของบริษัท ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจจะทำให้บริษัทเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้เลยทีเดียว

Jim นั้นรู้สึกโมโหเป็นอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาได้ลงทุนด้วยเงินส่วนตัวไปกว่า 9-10 เดือนแล้ว กว่า 5 ล้านเหรียญ และเขามองว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรหารายได้จากสิ่งประดิษฐ์ใด ๆ เพราะเนื่องจากองค์กรนี้ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยเฉพาะกับในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา

ดูเหมือนทุกอย่างจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล โดยทนายฝั่งของ Spyglass ก็ได้พยายามยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ Jim เกิดปัญหา

ส่วนฝั่งทีมพัฒนานั้น ก็กำลังเร่งดำเนินการในการออกผลิตภัณฑ์ เวอร์ชั่น 1.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นจริงตัวแรกที่จะปล่อยออกมาตามแผน ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤศจิกายน ทางทีมทนายของ Jim ก็พยายามที่จะจบปัญหานี้ให้เร็วที่สุด ไม่ให้มันบานปลายไปมากกว่านี้

NetScape 1.0 ที่จะปล่อยเวอร์ชั่นจริงอย่างเป็นทางการ
NetScape 1.0 ที่จะปล่อยเวอร์ชั่นจริงอย่างเป็นทางการ

Jim ได้ทำการเสนอหุ้น จำนวน 6 หมื่นหุ้นให้กับทางมหาวิทยาลัย แต่พวกเขาก็ตอบปฏิเสธ และเรียกร้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีการเสนอเรียกร้อง กันไปมาหลายรอบมาก ๆ เป็นช่วงเดือนที่เสียเวลาไปเปล่า ๆ สำหรับทีมงานของ Jim

สถานการณ์สุดท้ายนั้น ทางมหาวิทยาลัย มีทางเลือกด้วยกัน 3 ทาง คือ ทางที่หนึ่ง คือการปกป้องบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่าง Spyglass โดยการยื่นฟ้อง ทางที่สองคือการตกลงยอมให้มีการตรวจสอบโปรแกรมและ Sourcecode ดั่งที่ Jim หวังไว้ ส่วนทางสุดท้าย คือ ปล่อยให้ Jim ดำเนินการตามที่มีการยื่นฟ้องไป

Jim ต้องการให้ตรวจสอบถึงระดับ Source Code ของโปรแกรม ว่าเขาได้พัฒนาขึ้นมาใหม่
Jim ต้องการให้ตรวจสอบถึงระดับ Source Code ของโปรแกรม ว่าเขาได้พัฒนาขึ้นมาใหม่

สุดท้าย เมื่อถึงช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งใกล้กำหนดโปรแกรมตัวจริงจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายก็ได้ข้อสรุปกันเสียที โดยตกลงจะไม่เผยแพร่ข้อตกลงที่เกิดขึ้น

และสิ่งที่น่าเซอร์ไพรซ์ก็คือ ภายใน 2 อาทิตย์หลังจากที่มีข้อตกลง บริษัท Microsoft ได้รับลิขสิทธิ์โปรแกรม Mosaic โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมเหมือนที่ Jim และบริษัทของเขาเคยถูกเรียกร้องมาก่อน

Marc และเพื่อนทีมงานนักพัฒนาต้องยอมประนีประนอมกับทางมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง Wall Street Journal ลงบทความในวันก่อนคริสต์มาส ว่าบริษัท NetScape Communication (หลังเปลี่ยนชื่อ) และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ได้ตกลงความขัดแย้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากันได้เสียที เป็นการสิ้นสุดปัญหาเรื่องดังกล่าวในที่สุด

ต้องบอกว่าเป็นของขวัญวันคริสต์มาส ที่เยี่ยมยอดมาก ๆ สำหรับ Jim เพราะเขาจะได้เดินหน้าต่อกับบริษัทเสียทีหลังจากการมีปัญหากันมาหลายเดือน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อบริษัทในหลาย ๆ ด้าน และภารกิจต่อไปของ Jim ก็คือ การดึงตัว James Barksdale เข้ามาร่วมงานให้เร็วที่สุด หลังจากปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อขับเคลื่อนบริษัทให้เดินหน้าต่อไปให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ พี่ใหญ่อย่าง Microsoft เริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Jim และทีมงานยอดอัจฉริยะของเขา โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : Breakout

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.industryweek.com/leadership/companies-executives/article/21963789/jim-clark-the-shooting-star-netscape