มาทำความรู้จักกับ Rozy Influencers เสมือนจริงที่ทำรายได้จากสปอนเซอร์กว่าหนึ่งพันล้านวอน

ต้องบอกว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เหล่า Influencers และการจำลองมนุษย์เสมือนจริงได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมโดยเฉพาะในวงการโฆษณา

ซึ่่งตอนนี้มันได้กลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมาก ๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมโฆษณา เนื่องจากการที่ Influencers เสมือนจริงเหล่านี้ แน่นอนว่าพวกมันไม่มีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว และไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา อารมณ์ ที่มนุษย์เรานั้นยังคงมีอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Influencers เสมือนจริงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายทั้งการเดินทาง ปัญหาสุขภาพ หรือ แม้กระทั่งการประท้วงที่เริ่มมีกระแสไปทั่วโลก

โดย Baek Seung Yeop ซีอีโอของ Sidus Studio X ที่ได้สร้าง ‘Rozy’ Influencers AI เสมือนจริงใหม่ที่มาใช้ในอุตสาหกรรมโฆษณาจริง ๆ โดยเขาได้อธิบายว่า

 Sidus Studio X ผู้สร้าง Rozy (CR:Kanto-Creative Corners)
Sidus Studio X ผู้สร้าง Rozy (CR:Kanto-Creative Corners)

“ทุกวันนี้ เหล่าคนดังในบางครั้งต้องถูกถอนออกจากละครที่พวกเขากำลังถ่ายทำ เพราะเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความรุนแรงในโรงเรียน หรือ เรื่องการกลั่นแกล้งต่าง ๆ นา ๆ อย่างไรก็ตาม Influencers เสมือนจริง ไม่มีเรื่องราวเหล่านี้ให้ต้องกังวลเลย”

โดย ‘Rozy’ ซึ่งเป็นมนุษย์เสมือนจริงที่ Sidus Studio X ได้ทำการสร้างขึ้นเมื่อปีที่แล้วในเดือนสิงหาคม อายุของเธอจะคงไว้ที่ 22 ปีตลอดไป และเธอยังแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์เหมือนมนุษย์จริง ๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเริ่มได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อเธอปรากฏตัวในโฆษณาของ Shinhan Life ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยในปัจจุบัน Rozy มีสัญญาโฆษณากับบริษัทต่าง ๆ และได้รับการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก โดย Bake Seung Yeop ได้กล่าวว่า “เราได้สัญญาโฆษณาแล้วสองชิ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา และตอนนี้เรายังมีสัญญาจากสปอนเซอร์ที่รออยู่อีก 8 ชิ้น รวมแล้ว Rozy มีผู้สนับสนุนกว่า 100 ราย”

เขาได้เสริมว่า “เราได้บรรลุผลกำไรตามเป้าหมายแล้ว และ Rozy จะสามารถทำเงินได้มากกว่า 1 พันล้านวอน ( 854,407 เหรียญสหรัฐฯ) ภายในสิ้นปีนี้”

ซึ่งเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ Rozy ทาง Baek ได้อธิบายว่า “เราไม่ได้ใช้บุคคลใดเป็นต้นแบบของเธอ คนรุ่น Gen-Z ไม่ชอบเปิดเผยข้อบกพร่องของตัวเอง และเราไม่ได้มองว่าความงามแบบตะวันตกเป็นมาตรฐานของความงามอีกด้วย”

ด้วยผู้ติดตาม Instagram ประมาณ 58,000 คน Rozy ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานรูปลักษณ์ที่คนรุ่นมิลเลนเนี่ยมชื่นชอบมากที่สุด (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1980 ถึงต้นทศวรรษ 2000)

Rozy ที่ตอนนี้มีผู้ติดตาม Instagram ประมาณ 58,000 คน (CR:Hallyu Central)
Rozy ที่ตอนนี้มีผู้ติดตาม Instagram ประมาณ 58,000 คน (CR:Hallyu Central)

โดยนำตัวละครมาปรับเข้ากับการแสดงออกทางสีหน้าและการเคลื่อนไหวเกือบ 800 แบบ จากนั้นทำการสร้างโมเดลผ่านการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ

“ในช่วงสามเดือนแรกที่เปิด Instagram ของ Rozy แทบไม่มีใครสังเกตเห็นว่าเธอเป็นนางแบบเสมือนจริง 3 มิติ” Baek กล่าว

Rozy สามารถเดินทางไปได้ในทุก ๆ ที่ในโลก โดยไม่ต้องสวมหน้ากากท่ามกลางการแพร่ระบาด และสามารถถ่ายภาพในสถานที่ยาก ๆ ที่มนุษย์จริง ๆ ไม่สามารถถ่ายได้

เธอยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้ม เช่น แคมเปญ “ลดขยะเป็นศูนย์” และ อัพไซเคิล และมีการแสดงออกถึงความคิดและความรู้สึกของเธออย่างมั่นใจไม่ต่างจากมนุษย์จริง ๆ

โดยทาง Baek ได้เปิดเผยถึงแผนการในอนาคตของ Rozy ด้วยว่า บริษัทมีแผนที่จะขยายขอบเขตของกิจกรรมของ Rozy ไปสู่ภาพยนตร์ ละคร และรายการบันเทิง

ต้องบอกว่า สาเหตุสำคัญของความนิยมที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์เสมือนจริงเหล่านี้ อย่างแรกก็คงต้องเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ทั้งเรื่องภาพ วีดีโออย่างเทคโนโลยี Deepfakes หรือ การประดิษฐ์ข้อความโดยใช้เทคโนโลยีอย่าง OpenAI

การหลอมรวมกันของเทคโนโลยีทั้งหมด จะทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปรกติในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งน่าสนใจนะครับ นักการตลาดชาวไทย น่าจะเริ่มหันมาสนใจ Influencers เสมือนจริงอย่าง Rozy กันได้บ้างแล้ว

การปั้นดาราหรือ influencers ขึ้นมาซักคนให้ดัง ก็คงต้องลงทุนกันไม่ใช่น้อย ไหนจะอุปสรรค์เรื่องอารมณ์ และข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งการเดินทาง หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งแน่นอนว่ามูลค่าย่อมลดลงไปตามอายุ

แต่การลงทุนสร้างตัวตนใหม่แบบเสมือนจริงเหล่านี้ สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่าง จัดฉาก ตกแต่ง พาไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ในโลก ผ่านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ซึ่งไม่มีการจำกัดเวลา และพื้นที่และที่สำคัญเทคโนโลยีในตอนนี้มันสุดล้ำจนทำให้เราแทบแยกไม่ออกกันแล้วว่าที่เราเห็นนั้นเป็นคนจริง ๆ หรือ AI เสมือนจริง นั่นเองครับผม

References : https://www.korea.net/NewsFocus/Culture/view?articleId=203388
https://esteemgroup.com/en/esteem-x-sidus-studio-x-co-management-ofrozy-koreas-first-virtual-influencer/
https://www.ajudaily.com/view/20210125173231416

จากคองโกถึงรัฐสภาสหรัฐฯ กับยุคทองของทฤษฎีสมคบคิด ที่กำลังเรืองอำนาจแบบสุดขีด

ในปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษยกเลิกข้อจำกัดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 แต่ก็ยังมีผู้ประท้วงหลายพันคนมารวมตัวกันที่จัตุรัสทราฟัลการ์ในลอนดอน เพื่อประท้วงในเรื่องการล็อกดาวน์ของรัฐบาล

ในบรรดาผู้ที่มาปราศัยนั้นรวมไปถึง Piers Corbyn (น้องชายของอดีตหัวหน้าพรรคแรงงาน) ผู้ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีว่า COVID-19 เป็นเรื่องหลอกลวง หรือ David Icke นักเขียนชื่อดัง และ Gillian McKeith อดีตพยาบาลผู้สร้างทฤษฎีที่เชื่อว่าอาหารที่ดีก็เพียงพอที่จะหยุดไวรัสได้

ต้องบอกว่า เรื่องราวข้างต้นมันได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วในตอนนี้ ไม่เพียงแค่ในประเทศอังกฤษ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

คลื่นสึนามิ Fake News

การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 นั้น เปรียบเหมือนคลื่นสึนามิข้อการเผยแพร่ Fake News ที่ระบาดไปทั่วโลก พร้อม ๆ กับแพร่ระบาดของโรค

ในประเทศฝรั่งเศส มีสารคดีที่กล่าวหาว่า COVID-19 ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นสูงทางการเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสมคบคิดเพื่อทำให้เกิดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งมีคนเข้าชมถึง 2.5 ล้านครั้งภายในสามวันหลังการเผยแพร่

แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ความคิดทีว่า COVID คือเรื่องหลอกลวงได้แพร่กระจายไปพร้อมกับทฤษฎีที่ร้อนแรงที่เรียกว่า QAnon ซึ่งเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงรัฐบาลที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนเฒ่าหัวงู และ Donald Trump คือ ผู้ที่มาปราบปรามพวกเขาเหล่านี้

ซึ่งก็ต้องบอกว่ายุคนี้เป็นยุคเรืองอำนาจแบบสุดขีดของทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโซเชีลมีเดียทำให้ง่ายต่อการแพร่กระจาย ซึ่งไม่ใช่แค่เหล่าประเทศยากจนที่ผู้คนเข้าถึงการศึกษาน้อยเท่านั้น แต่มันยังรวมกระทั่งประเทศร่ำรวยที่สุดอีกด้วย

ในประเทศไนจีเรียมีทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า Muhammadu Buhari ประธานาธิบดีที่เสียชีวิตในลอนดอนเมื่อปี 2017 ถูกปลอมตัวในร่างชาวซูดานที่เรียกวา Jibril

ในประเทศอินเดีย รัฐบาลของ Narendra Modi กล่าวหาว่า Greta Thunberg ซึ่งเป็นวัยรุ่นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศชาวสวีเดน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการระดับโลกที่จะหมิ่นประมาทชาในประเทศของเขา

มีแนวความคิดที่แพร่หลายไปทั่วตะวันออกกลางว่าการโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นปฏิบัติการที่อิสราเอลวางแผนไว้

แน่นอนว่ามันมีหลายความเชื่อที่อาจจะดูน่าขัน และไม่มีอันตราย เช่น ความคิดที่ว่า Elvis Presley ยังมีชีวิตอยู่และอาศัยอยู่ในคาลามาซู มิชิแกน

อย่างไรก็ตามความเชื่อในเรื่องทางการเมืองนั้นรุนแรงกว่า Quassim Cassam จากมหาวิยทาลัย Warwick ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “รูปแบบการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองนั้นสำคัญที่สุด”

พลังของโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองนั้น เป็นการให้คำอธิบายแก่ผู้คนเกี่ยวกับโลกที่โทษความโชคร้ายของพวกเขาที่มีต่อศัตรูทางด้านการเมือง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องไร้สาระ ความสามารถในการจูงใจผู้คน คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

จุดเริ่มต้นที่คองโก

และเพื่อเข้าใจถึงวิธีที่พวกเขาเผยแพร่ทฤษฎีสมคิดทางด้านการเมือง จุดเริ่มต้นคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

Valentin Mubake นักการเมืองสูงวัยได้นำเสนอทฤษฎีสมคบคิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศ ต้องบอกว่าปัญหาของประเทศคองโกนั้นเริ่มต้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เมื่อ Paul Kagameได้จัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวรวันดาทุตซิส นั่นทำให้เขาได้รับเสียงสนับสนุนทางการเมืองเพื่อยึดครองรวันดาและบุกคองโกในช่วงเวลาที่อ่อนแอที่สุด

Valentin Mubake นักการเมืองสูงวัยได้นำเสนอทฤษฎีสมคบคิดโจมตีชาวรวันดา (CR:UDPS LE PEUPLE)
Valentin Mubake นักการเมืองสูงวัยได้นำเสนอทฤษฎีสมคบคิดโจมตีชาวรวันดา (CR:UDPS LE PEUPLE)

“Tony Blair และ Bill Clinton ทำงานร่วมกับ Kagame เพื่อเตรียมทำสงครามที่จัดขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา” Mubake กล่าว เขาอ้างว่าสหประชาติทำการสังหารหมู่และแพร่กระจายโรคต่าง ๆ เช่น อีโบลา เพื่อให้แผนดำเนินการต่อไป

ต้องบอกว่าแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับการอย่างกว้างขวางในประเทศคองโก ซึ่ง แนวคิดสร้างความเกลียดชังชาวรวันดาจุดชนวนให้เกิดความรุนแรงทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวคองโกทุตซิส

ความเชื่อที่ว่า อีโบลา เป็นแผนการของต่างประเทศได้นำไปสู่การนำกองกำลังติดอาวุธบุกไปที่คลินิกที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย และ ทำการปลดปล่อยผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งทำให้เชื้อยิ่งแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ประชาชนชาวคองโกปฏิเสธที่จะรับวัคซีน COVID-19 เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดังกล่าว Rodiguez Katsuva นักข่าวชาวคองโก ผู้ก่อตั้ง Congo Check ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงกล่าวว่า ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ คือ การฆ่าชาวคองโกที่แท้จริงต่างหาก

หรือแม้กระทั่งการการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 ที่ ประธานาธิบดี Donald Trump เอาชนะ Hillary Clinton ไปได้ ก็มีประเด็นในโลกออนไลน์มากมายที่มีการกล่าวหา Hiallry Clinton

มีทฤษฎีสมคบคิด ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผ่านเครือข่ายโซเชีลมีเดียจำนวนมาก ที่มุ่งโจมตี Clinton ในช่วงท้าย ๆ ของการเลือกตั้ง

Hillary Clinton ที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงผ่านเครือข่ายโซเชีลมีเดียในช่วงท้ายของการเลือกตั้ง (CR:The New York Times)
Hillary Clinton ที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงผ่านเครือข่ายโซเชีลมีเดียในช่วงท้ายของการเลือกตั้ง (CR:The New York Times)

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากสื่อยุคใหม่ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ในยุคปัจจุบันเราสามารถหาข่าวปลอมเหล่านี้ได้มากมาย และที่สำคัญยิ่งเป็นข่าวปลอม มันมีโอกาสที่จะถูกแชร์ และกระจายเป็นวงกว้างได้มากกว่า ผ่านอัลกอริธึมเบื้องหลังของเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter

และ Trump เองได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากเครือข่ายข่าวลวงแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวสุดฉาวของ Hillary Clinton ที่ยิ่งทำให้ข่าวปลอมเหล่านี้ถูกกระพือให้ยิ่งกระจายออกเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ Mitch McConnell หัวหน้าพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเรียกทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็น “มะเร็ง” ในพรรคของเขา แต่เขายังคงโหวตให้พ้นผิดจาก Trump ที่ใช้พวกเขาเพื่อปลุกระดมการจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ

Ted Cruz วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันประณาม Trump ที่อ้างว่าเขาเกิดในต่างประเทศอย่างไม่มีมูลความจริง แต่ในปี 2020 เขาสนับสนุนข้อกล่าวหาเท็จของ Trump ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีถูกขโมยผลไป 

นั่นอาจเป็นเพราะในพรรครีพับลิกันเองเหล่าผู้มีอำนาจจำนวนมากเชื่อว่าเรื่องที่ Trump กล่าวมากกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยมีถึง 45 คนในกลุ่ม QAnon ลงสมัครรับเลือกตั้งในสภาคองเกรสในปี 2022 เลยทีเดียว

แล้วจะแก้ไขปัญหาทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ได้อย่างไร?

ต้องบอกว่าทฤษฏีสมคบคิดที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่สิ่งใหม่ของโลก มันมีมานานแล้ว ผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ สื่อสิงพิมพ์ต่าง ๆ ในโลกยุคเก่า

แต่การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ทำให้เครือข่ายโซเชีลมีเดียนั้นมีอิทธิพลต่อเรื่อง propaganda หรือ ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ มากกว่าที่เคยเป็นมา

ส่วนตัวมองว่าพลังของการกระจายข่าวนั้นมันรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะเครือข่ายโซเชียลมีเดียถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของเครื่องจักร หรือ AI ที่สื่อยุคเก่า ๆ ไม่สามารถทำได้ มันทำให้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมมาก ๆ และ อัตราการแพร่กระจายในรูปแบบ exponential

การแก้ปัญหาก็ต้องแก้กันที่เครือข่ายเหล่านี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในปี 2019 Facebook เริ่มจำกัดจำนวนผู้คนเพียง 5 คน ที่สามารถส่งต่อข้อความบน Whatsapp ได้พร้อมกัน

เป้าหมายก็คือเพื่อชะลอการแพร่กระจายของทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้บนแพล็ตฟอร์มของพวกเขา หรือในอินเดีย Facebook ใช้ผู้ดูแลกว่า 15,000 คน เพื่อลบข้อมูลที่บิดเบือน

หรืออีกหนึ่งเครือข่ายแหล่งแพร่กระจายข้อมูลผิด ๆ อย่าง Twitter ได้มีการระงับบัญชี 70,000 บัญชีที่มีการเชื่อมโยงกับ QAnon

ต้องบอกว่าทั้งสองแพล็ตฟอร์มพยายามที่จะระงับโพสต์ที่เผยแพร่ Fake news หรือ ทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่เป็นจริงอย่างแข็งขัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในสหรัฐอเมริกา Facebook ก็เริ่มกวดขันการลงโฆษณาที่เกี่ยวกับประเด็นทางด้านการเมืองมากยิ่งขึ้น

เรื่องราวของทฤษฎีสมคบคิด หรือ การเผยแพร่ข่าวปลอมเหล่านี้ มันไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลกเราแต่อย่างใด แต่ตอนนี้ผมมองว่าสิ่งที่ต่างกันอย่างชัดเจน และทำให้ปัญหานี้มันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะมันได้ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของมันอย่าง Algorithm AI นั่นเองครับผม

References :
https://en.wikipedia.org/wiki/QAnon
https://www.nytimes.com/article/what-is-qanon.html
https://www.nbcnews.com/news/world/congo-s-ebola-response-threatened-conspiracy-theories-rumors-n994156
https://www.economist.com/international/2021/09/04/from-congo-to-the-capitol-conspiracy-theories-are-surging
https://www.usnews.com/news/politics/articles/2021-01-07/mob-at-us-capitol-encouraged-by-online-conspiracy-theories
https://time.com/5703662/ebola-conspiracy-theories-congo/
https://news.yahoo.com/hillary-clinton-says-conspiracies-her-174559859.html

The Great Firewall สื่อของรัฐและการเซ็นเซอร์จัดการกับ coronavirus ในจีนอย่างไร

ต้องบอกว่าเป็นคำถามที่สนใจมาก ที่สาเหตุใด ประเทศจีน ที่ดูเหมือนจะใช้วัคซีน ที่ผลิตในประเทศตัวเองเป็นหลักอย่าง sinopharm หรือ sinovac ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในทั่วโลกอยู่ตอนนี้ในเรื่องความสามารถในการจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่น สายพันธุ์ เดลต้า ที่กำลังระบาดหนักอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ แต่จัดการกับการแพร่ระบาดได้สำเร็จ

ต้องบอกว่า key หลักสำคัญหนึ่งประการในการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ ก็คือเรื่อง ความสามารถในการควบคุมสื่อได้แบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาลจีนผ่าน The Greate Firewall นั่นเอง

ซึ่งในช่วงต้นของการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศจีนนั้น มีการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลนับพัน ปรากฏขึ้นบนเครือข่าย Social Media ในประเทศจีน โดยมีการตั้งคำถามกับรัฐบาลว่ากำลังปกปิดเรื่องไวรัสที่คล้ายกับซาร์หรือไม่

แม้ในช่วงแรก ๆ รัฐบาลก็พยายามปิดกั้น เซ็นเซอร์ ข้อความต่าง ๆ เหล่านี้บนแพลตฟอร์ม เช่น Sina Weibo แต่มันก็มีปริมาณมากจนหลายคนยังสามารถที่จะมองเห็นได้

การเซ็นเซอร์ในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดนั้นเป็นไปได้ช้า เนื่องจากความโมโหของประชาชนชาวจีน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ปี 2020 นั้น สื่อหลายแห่งได้ใช้โอกาสนี้ ในการเผยแพร่การสืบสวน ซึ่งได้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางบน Social Media ของจีน

ถึงขนาดที่ว่า ในช่วงการระบาดหนัก ๆ ในช่วงแรกนั้น มีการตำหนิไปทุกทิศทุกทางจากประชาชนชาวจีน ในช่วงกลางเดือนมกราคม ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แทบจะหายไปจากหน้าสื่อของประเทศจีน เขาแทบไม่ถูกพบเห็นในที่สาธารณะเลยด้วยซ้ำ มีการคาดเดาว่าเขากำลังหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับประชาชนในช่วงวิกฤติหนักของการแพร่ระบาด

ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อปักกิ่งมีกลยุทธ์ใหม่ในการโฆษณาชวนเชื่อ รายงานเหล่านี้ ก็ถูกกำจัดหายไปจนหมดสิ้นบนโลกออนไลน์ของประเทศจีน

ภายในหนึ่งสัปดาห์ สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงเริ่มเตือนรัฐบาลท้องถิ่นในอู่ฮั่นว่า “จะถูกตอกย้ำถึงความอับอายทางประวัติศาสตร์ตลอดไป” หากพวกเขาไม่เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่ของตน

นั่นทำให้ สื่อจีนและ social media นั้นยิงคำถามตรงไปที่รัฐบาลท้องถิ่นของอู่ฮั่นทันที โดยหนังสือพิมพ์อย่าง Beijing News ได้เขียนบทวิพากษ์วิจารณ์แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า “ทำไมอู่ฮั่นไม่แจ้งให้สาธารณชนทราบเร็วกว่านี้”

จากนั้นประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ในฐานะเสาหลักแห่งความเชื่อมั่น และความแข็งแกร่งท่ามกลางการฟื้นตัวของจีน

ในช่วงที่สังคมกำลังสับสน ดร.หลี่ เหวินเหลียง กลายเป็นที่รู้จักในระดับสากลในฐานะแพทย์ “ผู้แจ้งเบาะแส” ซึ่งพยายามเตือนเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับไวรัสที่มีลักษณะคล้ายซาร์ แต่เรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้นเมื่อ ดร.หลี่ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หลังจากพบกว่าเขาถูกสอบสวนในเรื่อง “แสดงความคิดเห็นที่เป็นเท็จ” ต่อสาธารณะ

ดร.หลี่ เหวินเหลียง ผู้เสียสละตัวจริง (CR:VOANews)
ดร.หลี่ เหวินเหลียง ผู้เสียสละตัวจริง (CR:VOANews)

แม้รัฐบาลจีนจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ดร. หลี่ เหวินเหลียง เป็นผู้เสียสละ แต่นักเคลื่อนไหวอีกหลายคน ก็ประสบพบเจอชะตากรรมเดียวกันไม่ต่างจาก ดร. หลี่

ในช่วงการระบาดของอู่ฮั่น นักข่าวพลเมืองจำนวนหนึ่งได้ทำการหลีกเลี่ยง “The Great Firewall” เพื่อกระจายข่าวเรื่องการระบาดในอู่ฮั่นออกไปทั่วโลก

ซึ่งรวมถึง เฉิน กุ้ยฉี ฝาง ถัง และ จาง จ้าน พวกเขาได้สร้างวีดีโอบน youtube ที่มียอดวิวกว่าหลายแสนครั้ง ที่พวกเขาได้ฉายภาพที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในอู่ฮั่น

แต่พวกเขาก็ไม่รอดพ้นเงื้อมมือของรัฐบาล เพราะสุดท้ายได้ถูกจับกุมเข้าคุก และ youtube เองก็ถูกบล็อกในประเทศจีน ทำให้มีคนไม่กี่คนในประเทศที่ทราบถึงเรื่องราวที่แท้จริงดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา จีนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พวกเขาเอาชนะ COVID-19 ได้สำเร็จ แต่เห็นได้ชัดว่า การเซ็นเซอร์ ก็ได้พยายามกลบหลักฐานของความไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กลุ่มคนหนุ่มสาว

เมื่อประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกใหม่ผ่านเรื่องราวที่ถูกจัดสร้างโดยรัฐบาล

ฝาง ฟาง นักเขียนชาวจีนได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำหรับการบันทึกชีวิตของเธอในอู่ฮั่น และเผยให้เห็นถึงความกลัวและความหวังของชาวอู่ฮั่นที่หาดูได้ยาก

อย่างไรก็ตามไดอารี่ออนไลน์ของเธอ ได้ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลจีน ที่กล่าวหาว่าเธอพยายามที่จะทำร้ายชาติและสร้างมุมมองลบของจีนให้กับชาวโลก

ฝาง ฟาง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวแท้จริงก็ถูกรํฐบาลจีนจ้องเล่นงาน
ฝาง ฟาง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวแท้จริงก็ถูกรํฐบาลจีนจ้องเล่นงาน

สื่อของรัฐได้พยายามส่งเสริมหนังสืออื่น ๆ รวมทั้งหนังสือของชาวต่างชาติ ที่ส่งเสริมเรื่องราวในแง่ดีของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการไวรัสของทางการ

แต่ในบางกรณี ก็มีการโต้กลับจากพลเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับสื่อของรัฐที่พยายามเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการ การระบาดของอู่ฮั่น

สิ่งนี้ชัดเจนมาก ในเดือนกันยายนปี 2020 เมื่อ Heroes in Harm’s Way ละครเรื่องแรก ที่อิงจากเรื่องราวในชีวิตจริง ของพนักงานแนวหน้าที่ต้องรับมือกับการระบาด ได้ถูกวิจารณ์เกี่ยวกับ การดูถูกบทบาทที่ผู้หญิงมีต่อการระบาดครั้งนี้

แน่นอนว่านอกเหนือจากการบอกพลเมืองของตนเองว่าจีนสามารถเอาชนะสงครามเหนือ COVID-19 ได้สำเร็จแล้ว จีนยังต้องการบอกให้โลกได้รับรู้ด้วย

จีนพยายามส่งเสริมแนวคิดที่ว่าความสำเร็จในการจัดการ COVID-19 ของจีน หมายถึงรูปแบบทางการเมือง (ปกครองแบบคอมมิวนิสต์) ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าของตะวันตกอีกด้วย

บทเรียนที่น่าสนใจจากการควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จของจีน

จะเห็นได้ว่า แนวความคิดในการจัดการกับ COVID-19 ของจีนนั้น ไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องของวัคซีนเป็นหลักเหมือนประเทศแถบตะวันตก ที่สามารถที่จะเอาชนะศึกได้ด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพ

แต่จีน ใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งรูปแบบการปกครอง และการจัดการสื่อต่าง ๆ ทั้ง online หรือ offline ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก ๆ

และด้วยการที่โลกเราในตอนนี้โดยเฉพาะในแพล็ตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ นั้น ใครจะลุกขึ้นมาเป็นสื่อก็ได้ และสามารถสร้างข่าวปลอม ข่าวปั่น ที่ต้องการยอดไลค์ ยอดแชร์ ที่ดูเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ โดยเฉพาะเรื่อง COVID-19 ที่ยิ่งทำให้โลกเราปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น

ซึ่งบางครั้ง เราก็อยู่ในโลกออนไลน์ที่แทบจะแยกกันไม่ออกแล้วว่าเรื่องใดเป็นข่าวจริง เรื่องใดเป็นข่าวเท็จในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลมหาศาลจำนวนมากมายผ่านตาเรา ที่ถูกส่งตรงผ่านเครือข่าย Social Media เหล่านี้

เราได้เห็นปัญหานี้เกิดขึ้นมากมาย แม้กระทั่งสื่อกระแสหลักก็ตาม ก็ยังหลุดปล่อยข่าวปลอมออกมาได้ ซึ่งเมื่อข่าวปลอมต่าง ๆ นั้นถูกแพร่กระจายไปแล้ว สิ่งที่ยากก็คือ การแก้เรื่องราวความจริงให้กลับมา มันเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ เพราะคนต่างเชื่อไปแล้ว

ซึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดคงไม่น่าแปลกใจ ว่า ทำไมประเทศจีน จึงสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้วัคซีน นั้นจะไม่ใช่อาวุธหลักในการแก้ปัญหาของพวกเขาก็ตามที

แต่ประเทศเราคงจะเลียนแบบจีนได้ยาก เพราะเราเป็นประเทศประชาธิปไตย (หรือกึ่งประชาธิปไตย) ที่อย่างน้อยทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง ที่รัฐบาลคงไม่สามารถที่จะไปปิดกั้น เซ็นเซอร์สิ่งต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือใช้อำนาจการจัดการแบบเด็ดขาด แบบที่จีนทำได้

เพราะฉะนั้นทางรอดของเราก็คงมีทางเดียว นั่นคือการเดินทางตามแบบตะวันตก ด้วยการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ และ ทำการระดมฉีดประชาชนให้มากที่สุด และ เร็วที่สุด อย่างที่ โลกตะวันตกสามารถทำได้สำเร็จมาแล้วนั่นเองครับผม

References : https://www.nytimes.com/2020/12/19/technology/china-coronavirus-censorship.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55355401
https://edition.cnn.com/interactive/2021/02/asia/china-wuhan-covid-truthtellers-intl-hnk-dst/
https://www.hrw.org/news/2021/01/26/chinas-covid-success-story-also-human-rights-tragedy
https://theconversation.com/chinas-coronavirus-cover-up-how-censorship-and-propaganda-obstructed-the-truth-133095

Geek Monday EP58 : AtomWise กับการใช้พลัง AI ช่วยคิดค้นยาสูตรใหม่

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบันในการค้นพบและพัฒนายาก่อนเข้าสู่กระบวนการทางคลินิก คือ การระบุ Candidate ของยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นปัญหาที่นักวิจัยใน บริษัท ยาทุกแห่งต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่และในสถาบันวิจัยหลายพันแห่งทั่วโลก

AtomNet ขจัดอุปสรรคทางกายภาพบางอย่างที่ จำกัด ความสำเร็จของการค้นพบยา การวิจัยและพัฒนาไม่ได้ถูกจำกัดด้วยจำนวนสารประกอบที่มีอยู่ในห้องสมุดอีกต่อไป

และเวลาในการคัดกรองสารประกอบเหล่านี้ Atomwise สามารถวิเคราะห์พื้นที่ทางเคมีที่มีขนาดใหญ่มากมาย หลายพันล้านของสารประกอบเพื่อระบุส่วนย่อยขนาดเล็กที่มีความจำเพาะสูงสำหรับการสังเคราะห์และการทดสอบ 

กระบวนการค้นพบและการเพิ่มประสิทธิภาพของยานั้น โดยปกติใช้เวลาหลายปี ซึ่งสามารถบีบอัดด้วยเทคโนโลยี AI ของ Atomwise ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/2DNiKAm

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3gTC8Kw

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2DJApsK

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/OR9lrJEBm2A

References : https://www.atomwise.com/
https://www.atomwise.com/2015/03/24/new-ebola-treatment-using-artificial-intelligence/
https://www.atomwise.com/our-technology/
https://www.eurekalert.org/pub_releases/2020-06/uok-upw062320.php
https://www.pharmaceutical-technology.com/news/atomwise-covid-19-collaborations/

COVID-19 กับการสูญเสียความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของอเมริกา

รัฐบาลสหรัฐใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์ทุก ๆ ปีมากกว่ารัฐบาลอื่น ๆ ในโลก เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และหวังจะใช้มันเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่คาดเดาไม่ได้อย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับการแพร่ระบาดของ COVID-19

ต้องบอกว่านี่คือความล้มเหลวของนโยบายวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาสมัยใหม่ นโยบายที่ย้อนกลับไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามผู้กำหนดนโยบายเรียกร้องให้รัฐสภามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างศักยภาพและความคิดทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ 

ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือยุคทองของประเทศ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับการวิจัยขั้นพื้นฐานและการศึกษาเพื่อเติมเต็ม ห้องปฏิบัติการวิจัยเชิงลึกที่ใช้ในอุตสาหกรรม ด้วยจุดแข็งที่รวมกันเหล่านี้ทำให้ประเทศมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างรวดเร็วและวางรากฐานทางเทคโนโลยีสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศทั้งในด้านโทรคมนาคม ด้านการทหารและสุขภาพ  

โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่สหรัฐฯยังคงทำงานอย่างหนักกับ นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเดิม ๆ  แม้อเมริกาจะประสบความสำเร็จในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทรงพลังที่สุดสำหรับการวิจัยเชิงวิชาการในโลก

แต่ในขณะเดียวกันความสามารถของประเทศในการเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นโซลูชั่นที่ใช้งานได้จริงนั้นดูเหมือนจะล้มเหลวไม่เป็นท่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการแพร่ระบาดของ COVID-19 

สหรัฐฯ ใช้เวลาในการวิจัยด้านสุขภาพของมนุษย์มากกว่าเรื่องของเกษตรกรรมและพลังงานรวมกัน แต่ดูเหมือนว่ามันยังไม่เพียงพอในการเตรียมตัวไว้สำหรับ COVID-19 ไม่ใช่เพราะเรื่องงบประมาณที่น้อยเกินไปอย่างแน่นอน แต่เพราะมันไม่ได้ถูกใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ  มี 3 บทเรียนที่น่าสนใจที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

1. ไม่เพียงแค่ให้ทุนวิจัยอย่างเดียว

ต้องบอกว่าจำนวนเงินที่สหรัฐอเมริกาใช้จ่ายในงานวิจัยโดยเฉพาะเรื่องของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่อยู่นอกระบบงานวิจัยทางด้านการทหารแล้วนั้น ระบบของอเมริกาถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุนสนับสนุนการวิจัย แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา 

มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยระดับชาติมากที่สุดพร้อมกับหน่วยงานภาครัฐและห้องปฏิบัติการที่ไม่แสวงหากำไรอื่น ๆ สถาบันเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยแรงจูงใจที่ส่งเสริมการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และผลงานที่ตีพิมพ์ออกมา 

ดังนั้นในขณะที่สหรัฐฯให้เงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวนมากในด้านต่าง ๆ เช่น ภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคติดเชื้อ แต่ใช้เวลาน้อยมากในการแปลการค้นพบเหล่านั้นเป็นการเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาด ซึ่งความจริงแล้วนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งคู่

ด้วยการตระหนักถึงความต้องการในการแก้ปัญหาสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มให้การสนับสนุนความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นปัญหาเฉพาะด้าน เช่น การพัฒนาในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกกว่า หรือแบตเตอรี่รุ่นต่อไป 

ซึ่งความคิดริเริ่มเหล่านี้เป็นขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้องสำหรับนวัตกรรมของประเทศโดยเฉพาะนวัตกรรมที่ส่งผลด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเงินทุนของรัฐบาลส่วนใหญ่มักจะไหลไปที่นักวิชาการ และนักวิจัยภาครัฐไม่กี่กลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าผลงานของพวกเขาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการค้นพบและเผยแพร่ในวารสารและการนำเสนอในที่ประชุมทางวิชาการเพียงเท่านั้น

2. หลีกเลี่ยงการระดมทุนเพื่อการวิจัยในระดับอุตสาหกรรม

บริษัท ขนาดใหญ่ไม่ได้สนใจในการระดมทุนในนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ในขั้นต้น รัฐบาลสหรัฐล้มเหลวในการตอบสนอง การสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับการวิจัยภาคเอกชนนั้นลดลงไปจากยุครุ่งเรืองในช่วง 50 ปีก่อนเป็นอย่างมาก

ซึ่งผลที่ได้คือผู้คนในอุตสาหกรรมที่รู้วิธีการใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับการวิจัยที่ล้ำสมัยและการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลน้อยกว่าที่เคยเป็นมา และเนื่องจากองค์กรวิจัยของรัฐได้แยกตัวออกจากภาคอุตสาหกรรมจึงมีวิธีการตรวจสอบและปรับขนาดเทคโนโลยีที่สำคัญน้อยมาก เช่น การพัฒนาวัคซีนในโรคระบาด

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนรูปแบบการวิจัยในอุตสาหกรรมที่สดใสที่สุดในวันนี้ นั่นก็คือ Startup บริษัทเอกชนจะถูกแยกออกจากการเข้ารับเงินทุนวิจัยส่วนใหญ่อย่างเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะเป็นการระดมทุนในภาคเอกชนด้วยกันเอง

ทำให้บริษัท Startup ที่เพิ่งเริ่มต้นจะมีความเสียเปรียบเพราะกฎการระดมทุนถูกสร้างขึ้นสำหรับบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง 

โครงการวิจัยขั้นสูงของหน่วยงานทางด้านกลาโหมอย่าง DARPA เป็นหนึ่งในไม่กี่หน่วยงานของรัฐที่มีความยืดหยุ่นในการระดมทุนการวิจัยที่ดีที่สุด  

ตัวอย่าง บริษัทอย่าง Moderna Therapeutics เป็นหนึ่งในหลาย ๆ บริษัท ที่พัฒนาวัคซีนที่เกิดจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก DARPA ในระยะเริ่มต้น แต่ถึงกระนั้น DARPA ก็ยังต้องการการเชื่อมต่อที่ดีกว่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม 

Darpa ที่มีงานวิจัยสุดล้ำออกมามากมาย แต่สำหรับวงการทหารเพียงเท่านั้น
Darpa ที่มีงานวิจัยสุดล้ำออกมามากมาย แต่สำหรับวงการทหารเพียงเท่านั้น

โดยทาง DARPA กำลังพัฒนาวิธีการสำหรับผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์เพื่อทำงานร่วมกับนักวิจัยของ DARPA และเชื่อมโยงการวิจัยในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่เทคโนโลยีชีวภาพไปจนถึงเทคโนโลยีทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์

3. มุ่งเน้นไปสู่สิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคต

การที่ระบบยังคงยึดติดอยู่กับลำดับความสำคัญและแนวทางการวิจัยของศตวรรษที่ผ่านมา มันไม่สามารถปรับโฟกัสได้เร็วพอสำหรับปัญหาที่มีความสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยของข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัย หรือ การแพร่ระบาดของโรค

ตัวอย่างผลงานการวิจัยของสหรัฐในปัจจุบันมันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยเงินทุกดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้ไปกับการวิจัยทางชีววิทยาและการแพทย์เพียงแค่ 15 เซ็นต์เพียงเท่านั้น

ในการวิจัยทางเคมีและฟิสิกส์แม้จะมีศักยภาพมหาศาลสำหรับการคิดค้นในการดักจับคาร์บอนการเก็บพลังงานหรือพลังงานฟิวชั่น ซึ่งได้ทำการวิจัย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ต้องการโซลูชั่นเหล่านี้ทันที เช่นเดียวกับ งานวิจัยทาด้านชีววิทยาและการแพทย์ ที่ต้องการสิ่งที่เป็นโซลูชั่นที่สามารถใช้งานได้ทันที เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นนั่นเอง

ต้องบอกว่า Covid-19 เป็นวิกฤตที่น่ากลัว นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ในการทบทวนอีกครั้งว่าการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรในอนาคต

สำหรับการทุ่มเทงบประมาณไปจำนวนมหาศาลขนาดนี้ของอเมริกา แต่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นจริงกลับไม่สามารถจะช่วยเหลือประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสถานการณ์ทางด้าน COVID-19 ของอเมริกานั้น ยังวิกฤติอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ณ ปัจจุบัน อย่างที่เราได้เห็นกันนั่นเองครับ

References : https://www.technologyreview.com/2020/06/17/1003322/how-the-us-lost-its-way-on-innovation