ในช่วงทศวรรษที่ 1990 IBM กำลังประสบกับวิกฤติ พวกเขาได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดทั้งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและหัวใจหลักของธุรกิจอย่างคอมพิวเตอร์เมนเฟรม จนใกล้จะล้มละลายเต็มที
Louis V. Gerstner ชายที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษาของ McKinsey และเป็น CEO ของ American Express แทบไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี ถูกเรียกตัวให้มากอบกู้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกอย่าง IBM
Gerstner ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกที่จะมากอบกู้บริษัทอย่าง IBM ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดยักษ์ในยุคนั้น เขาไม่ใช่นักเทคโนโลยี เป็นเพียงที่ปรึกษาด้านการจัดการให้กับ McKinSey และเคยเป็นผู้ออกบัตรเครดิต American Express
ประสบการณ์ก่อนหน้านี้ของเขายังเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของบริษัทผลิตบุหรี่และคุกกี้ RJR Nabisco บริษัท IBM ที่เขากำลังจะเข้าร่วมมีภาระใหญ่ที่หนักอึ้งมาก ๆ เพราะกำลังสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งเทรนด์ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังเติบโตและแอปพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ที่มีแนวคิดที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับคอมพิวเตอร์เมนเฟรมแบบรวมศูนย์ของ IBM
ราคาหุ้นของ IBM ลดลงจาก 43 ดอลลาร์ในปี 1987 เหลือเพียงแค่ 12 ดอลลาร์ในช่วงต้นปี 1990 ซึ่ง ณ เวลานั้น Gerstner เพิ่งได้พบกับผู้ถือหุ้น IBM เป็นครั้งแรก
การเดิมพันของ IBM กับ Gerstner ต่างได้รับการเย้ยหยันจากคนในวงการ ทุกคนต่างมองว่า IBM ไม่น่าจะรอด Gerstner ขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
สื่อถึงขึ้นออกมาประโคมข่าวว่า Gerstner เป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาด้านการจัดการให้กับ IBM ได้เท่านั้น ซึ่งมันตรงกันข้ามกับวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่หรือผลิตภัณฑ์สุดล้ำที่บริษัทสามารถทำได้ในยุคก่อนหน้า
หนึ่งสัปดาห์หลังจากเข้ามารับตำแหน่งที่ IBM Gerstner ได้พบกับกลุ่มลูกค้าชั้นนำ และอธิบายมุมมองของเขา
“ผมเป็นลูกค้าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศมานานก่อนที่ผมจะกลายมาเป็นพนักงานของ IBM ในขณะที่ผมไม่ใช่นักเทคโนโลยี แต่ผมเชื่ออย่างแท้จริงว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเปลี่ยนแปลง ทุก ๆ สถาบันในโลก”
Gerstner รู้สึกตกใจกับสิ่งที่เขาค้นพบที่ IBM เขาพบว่าบริษัทมีระบบการเมืองและทำตัวเชื่องช้าเหมือนกับหน่วยงานราชการ เขามองเห็นเหล่าผู้บริหารต่างแก่งแย่งชิงดีกันเองมากกว่าที่จะแสดงถึงความกังวลต่อลูกค้าที่กำลังหนีหายออกไปเรื่อย ๆ
ในเวลานั้นเหล่าผู้บริหารของ IBM ต่างมีผู้ช่วยที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง แต่กลายเป็นว่าคนหนุ่มเหล่านี้กลับเพียงแค่เตรียมการนำเสนอสไลด์ผลิตภัณฑ์แบบละเอียดยิบ แต่แทบไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าเอาเสียเลย
Gerstner เข้าใจดีว่าการฟังลูกค้าถือเป็นกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนทิศทางของธุรกิจใหม่ ในการพบปะผู้บริหารระดับสูง 50 คนที่ IBM Gerstner ได้สั่งให้พวกเขาแต่ละคนไปเยี่ยมลูกค้ารายใหญ่อย่างน้อยห้ารายในช่วงสามเดือนแรก
Gerstner ต้องการให้ผู้บริหารของเขาตั้งใจฟังให้มากพอที่จะรายงานสิ่งที่ค้นพบให้เขาทราบได้โดยตรง เขาต้องการรายงานสั้น ๆ เพียงแค่หนึ่งหน้า สูงสุดไม่เกินสองหน้า ซึ่ง Gerstner เรียกปฏิบัติการดังกล่าวว่า “Operation Bear Hug”
เมื่อได้รับรายงานก็จะมีการส่งไปยังทีมงานอื่น ๆ ในองค์กรของ IBM ที่สามารถจะช่วยแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ Operation Bear Hug นั้นถือเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรรมองค์กรของ IBM ซึ่ง Gerstner มองว่า ไม่เพียงแค่ IBM จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยมุมมองจากภายนอกเข้ามาเพียงเท่านั้น แต่เขายังให้ความสนใจกับสิ่งที่เหล่าผู้บริหารทำและให้พวกเขารับผิดชอบเป็นการส่วนตัวอีกด้วย
เรียกได้ว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ยิงเข้าไปตรงจุดของ IBM ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาอย่างชัดเจน เพราะ Operation Bear Hug นั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สามประการ คือ ทำให้ IBM กลับสู่รากเหง้าเดิมที่มุ้งเน้นไปที่ลูกค้า ทำให้ Gerstner มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจ และ ทำให้ ซีอีโอคนใหม่ เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำคนเก่าของ IBM ที่เขาได้สืบทอดตำแหน่งมา
มันช่วยให้ Gerstner สามารถวิเคราะห์ถึงการตัดสินใจของผู้บริหารคนเก่าก่อนที่เขาจะมาถึง ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปตอนที่ Gerstner เดินเข้าประตูที่ IBM ในตอนแรก สถานการณ์ ณ ตอนนั้น IBM เตรียมที่จะเลิกกิจการแล้วเสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่ Gerstner ได้ยินจากลูกค้าที่เขาพบ ควบคู่ไปกับรายงานของ Bear Hug และประสบการณ์ของเขาเองที่ American Express ทำให้เขาได้ข้อสรุปที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
สิ่งที่ Gerstner ทำแม้จะเป็นสิ่งง่าย ๆ แต่มันทำให้ IBM มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เดิมทีที่แต่ละแผนกต่างรู้สึกแตกแยก แต่ตอนนี้พวกเขาได้รู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแผนก คอมพิวเตอร์เมนเฟรม คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ดิสก์ไดรฟ์ ซอฟต์แวร์ และ ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้คนในองค์กรรู้ว่า คู่แข่งยังตามหลังพวกเขาอยู่มาก
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจเมนเฟรมที่ IBM คิดค้นและครอบครองตลาดมานานหลายปีสามารถทำกำไรได้อีกครั้ง หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยไม่ได้ปรับราคาให้สูงเว่อร์จนคู่แข่งสามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป
Gerstner มองว่า IBM นั้นจะเป็นผู้ให้บริการแบบเต็มรูปแบบเพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมนี้ แต่สิ่งที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้จากลูกค้าก็คือพวกเขาต้องการให้ IBM เป็นบริษัทที่ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจร
ก่อนหน้าที่ Gerstner จะเข้ามากุมบังเหียนนั้น ผู้บริหารคนเก่า ๆ ต่างมุ่งเน้นไปที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบสะเปะสะปะ และพลาดการให้ความสำคัญกับ “โซลูชั่น”
ยุคถัดไป IBM จะเปลี่ยนความสำคัญทั้งหมดไปที่การจัดหา “โซลูชั่น” ที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการให้คำปรึกษา และ โครงการบูรณาการทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ IBM แตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน
ด้วยการให้ความสำคัญกับลูกค้า Gerstner ยังได้ปลูกฝังนวัตกรรมบางอย่างที่เป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานของ IBM มาจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการประชุมสภา CIO กลุ่มหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านสารสนเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ IBM ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นระยะเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมและวิธีที่สินค้าและบริการของ IBM สามารถช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากพวกเขาได้
Operation Bear Hug ของ Gerstner นั้นได้ถูกสรุปเรื่องราวของความสำเร็จกับสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ว่า “Louis V. Gerstner ได้กำหนดแซนด์บ็อกซ์ของเขาและเป็นแซนด์บ็อกซ์ที่ใหญ่มากและเป็นแซนด์บ็อกซ์ที่เหมาะสมมากสำหรับ IBM” Andy Grove จาก Intel กล่าวกับ Fortune ไว้ในปี 1997
References :
หนังสือ FORTUNE The Greatest Business Decisions of All Time: How Apple, Ford, IBM, Zappos, and others made radical choices that changed the course of business โดย Verne Harnish
https://moneycrown.wordpress.com/2015/07/20/the-1993-2002-turnaround-of-international-business-machines-corporation-ibm-by-louis-gerstner/