Movie Review : Tick, Tick… BOOM! เรื่องราวของ Jonathan Larson ฉายแววในละครเพลงที่ขับขานจากใจ

เป็นอีกหนึ่งภาพยนต์ที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียวสำหรับ Tick,Tick… BOOM! จาก Netflix ซึ่งชื่อเรื่องมาจากผลงานการประพันธ์เพลงและบทละครเรื่องสุดท้ายของ โจนาธาน ลาร์สัน ที่มีชื่อว่า “Rent” และได้ถูกนำมาพัฒนาต่อ จนกระทั่งกลายมาเป็นโชว์ชื่อดังที่ broadway ในอีก 6 ปีต่อมา หลังจากที่ โจนาธาน ได้เสียชีวิตไป

โดยโจนาธานเป็นผู้เขียนบทละครเวทีเรื่อง “Rent” ที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลโทนี่สาขาละครเพลงยอดเยี่ยมในปี 1996 “Rent” ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาดราม่าในปี 1996 ซึ่งถือเป็นรางวัลทรงเกียรติที่ละคร “Hamilton” ของลิน มานูเอลได้รับในปี 2016

มีละครเวทีสาขาดราม่าเพียง 9 เรื่องเท่านั้นที่ได้รับรางวัลนี้ แต่โจนาธานได้เสียชีวิตในคืนก่อนรอบการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Off-Broadway มีการจัดแสดง “Rent” นานถึง 12 ปีในบรอดเวย์ ซึ่งถือว่าเป็นละครที่มีการแสดงยาวนานที่สุดติดอันดับที่ 11 ในประวัติศาสตร์บรอดเวย์

เรื่องนี้ได้ดาราระดับซุปเปอร์สตาร์และคว้ารางวัลมามากมาย ร่วมในการแสดง โจชัว เฮนรี่ (จาก “See”) จะมาร่วมแสดงในบท “โรเจอร์”  แบรดลีย์ วิทฟอร์ด ผู้คว้ารางวัลเอมมี่  (จาก “The Handmaid’s Tale” “Perfect Harmony”) รับบท “สตีเฟน ซอนด์ไฮม์” และ  จูดิธ ไลต์ ผู้คว้ารางวัลเอมมี่และรางวัลโทนี่ (จาก “นักกวนเมือง (The Politician)” “Transparent”) รับบท “โรซ่า สตีเว่น” 

โดยทั้งหมดจะแสดงร่วมกับ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในบท “จอน” อเล็กซานดร้า ชิปป์ ในบท “คาเรสซ่า” โรบิน เด เฮซุส ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอมมี่สามสมัย ในบท “ไมเคิล” และวาเนสซา ฮัดเจนส์ ในบท “ซูซาน” 

Tick, Tick…BOOM!” เป็นเรื่องราวในปี 1990 ที่ติดตามชีวิตจอน พนักงานเสิร์ฟในนิวยอร์กที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแต่งเพลง เขาได้แต่งละครเพลง “Superbia” โดยหวังว่าจะกลายเป็นละครเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกาและทำให้ตัวเองแจ้งเกิดได้

ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกดดันจากซูซาน แฟนสาวที่เบื่อกับการต้องรอเพื่อให้อาชีพของจอนถึงฝั่งฝัน ส่วนไมเคิล เพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมห้องของเขาก็ได้ละทิ้งความฝัน และได้หันไปทำงานในวงการโฆษณาที่จ่ายเงินอย่างงาม และมีความมั่นคงทางการเงินที่มากกว่าการฝันลม ๆ แล้ง ๆ อย่างที่จอนทำ

วันเกิดปีที่ 30 ใกล้เข้ามาแล้ว จอนยิ่งรู้สึกกังวลและเริ่มคิดทบทวนว่าการทำฝันให้เป็นจริงครั้งนี้จะคุ้มกับสิ่งที่เสียไปไหม

เรื่องนี้ได้ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ มารับบทเป็น โจนาธาน ลาร์สัน ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ของ การ์ฟิลด์เลยก็ว่าได้ ด้วยพรสวรรค์ทางด้านการแสดงของเขา และการสวมบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยม เหมือนกับว่าเขาเป็น โจนาธาน ลาร์สัน ตัวจริง

เรื่องนี้ต้องบอกว่าลืมภาพเก่า ๆ ของ การ์ฟิลด์ไปได้เลย เป็นการรีดศักยภาพการแสดงของเขาออกมาได้อย่างสุดยอดมาก ๆ ทั้งร้องเพลง ทั้งร้องไห้ ทั้งผิดหวัง สมหวัง หรือแม่กระทั่งการแสดงแบบสุดโต่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นภาพยนต์ที่รีดเอาพลังการแสดงของเขาออกมาได้มากที่สุดเรื่องนึงเลยทีเดียว

มีการถ่ายทอดความสัมพันธ์ ทั้งระหว่างเพื่อนด้วยกัน รวมถึงแฟนสาวของจอนอย่างซูซาน ที่วาดฝันชีวิตในมหานครนิวยอร์กไว้อีกแบบ ซึ่งด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่บีบคั้นจอนเอง นั่นทำให้เขาต้องเลือกตัดสินใจทางเดินชีวิตว่าเขาจะทำตามควาฝันของเขาต่อไปหรือไม่

ต้องบอกว่าภาพยนต์เรื่องนี้มีหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของสภาพสังคมของอเมริกาในยุคนั้น ปัญหาเรื่องโรคร้ายที่ถูกมองว่าเป็นโรคที่น่ากลัวใครติดแล้วต้องเสียชีวิตอย่างโรคเอดส์ กับเรื่องของเพศสภาพ LGBTQ 

แต่ภาพใหญ่ที่ภาพยนต์ต้องการสื่อ ผมมองว่าเป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ ในการทำตามความฝันของ โจนาธาน แม้ว่าจะผ่านอุปสรรคมามากมายขนาดไหนก็ตามที

แต่จุดต่างที่ไม่เหมือนกับภาพยนต์สร้างแรงบันดาลใจเรื่องอื่น ๆ ก็คือการถ่ายทอดในรูปแบบของละครเพลง ซึ่งเพลงประกอบในหนัง tick, tick…BOOM! นำมาจากเวอร์ชั่นละครเวทีแทบจะทั้งหมด

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นต้นฉบับที่ โจนาธาน ลาร์สัน ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมและมีความลงตัวเอามาก ๆ เมื่อนำมาใช้ถ่ายทอดผ่านตัวภาพยนต์ ก็กลายเป็นส่วนที่ส่งเสริมเนื้อหาและอารมณ์ของภาพยนต์ ในหลายๆ ฉากได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว

ต้องบอกว่า Tick,Tick… BOOM! เป็นอีหนึ่งภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ภาพยนต์ เรื่องดัง ๆ อีกหลายเรื่อง ตัวผมเองก็ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของโจนาธานมาก่อน หรือ “Rent” ที่เขาเป็นคนแต่ง ซึ่งคิดว่าหลาย ๆ คนก็น่าจะไม่เคยได้ยินเหมือนกัน

ซึ่งภาพยนต์เรื่องนี้ให้แง่คิดที่สำคัญที่ผมมองว่าชีวิตหลายคนน่าจะเคยประสบพบเจอกับเรื่องราวอะไรแบบนี้ ที่เราพยายามทำอะไรให้ประสบความสำเร็จซักอย่าง พยายามในทุกวิถีทาง แต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเสียที อาจจะท้อถอยไปก่อน แต่ภาพยนต์เรื่องนี้จะมาปลุกไฟคุณให้กลับมาสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ อีกครั้ง เหมือนที่ โจนาธาน ทำได้สำเร็จนั่นเองครับผม

Squid Game vs 13 เกมสยอง กับความเหมือนที่แตกต่าง สู่ Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่คล้ายกัน และมีพล็อตที่ดูคล้ายคลึงกันมาก ๆ สำหรับซีรีส์ชื่อดังที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้อย่าง Squid Game กับภาพยนต์ระดับตำนานเรื่องนึงของไทยที่ไปคว้ารางวัลมามากมายอย่าง 13 เกมสยอง ที่นำแสดงโดยกฤษฎา สุโกศล แคลปป์ และกำกับโดยคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เราได้เห็น message หลักที่ทั้งสองเรื่องต้องการสื่อ ไม่ว่าจะเป็น เกม เงินรางวัล ผู้เข้าร่วมเกมที่เป็นคนที่ต้องการเงินอย่างสิ้นหวัง แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะมีความแตกต่างกันมาก แต่ผมมองว่ามันเป็นพล็อตที่คล้ายกันอย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งหลังจากดู ซีรีส์ Squid Game จบ ผมเลยต้องกลับไปหาดู 13 เกมสยองอีกครั้ง ที่เป็นภาพยนต์ที่ได้รับรางวัลมากมาย ในปี 2006 และเป็นอีกหนึ่งภาพยนต์ไทยที่ผมชอบลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว

ด้วยความเหมือนที่แตกต่าง ต้องบอกว่า รายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงคุณภาพด้านโปรดักชั่น ที่เกาหลีสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่แปลกใจว่าทำไมมันถึงได้ฮิต จนขนาดที่ว่าไปแย่งทราฟฟิกจากบริการอื่น ๆ ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศเกาหลีใต้เลยทีเดียว

แถมตอนนี้มันกำลังกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ที่เรียกได้ว่าติดเทรนด์ซีรีส์ยอดฮิตในเกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ กลายเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนึงของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลังจากก่อนหน้านี้ที่ภาพยนต์อย่าง Parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2020 มาแล้ว

ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)
ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)

Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าก่อนหน้าที่วงการภาพยนต์ หรือ ซีรีส์จะโด่งดัง เกาหลีก็ได้ส่งวัฒนธรรม K-pop ที่ปรกติจะบุกไปทั่วเอเชีย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เพียง เอเชีย อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมนี้ มันได้บุกไปถึง อเมริกา และ ยุโรป ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง ๆ สำหรับการดังขึ้นมาเปรี้ยงปร้างอย่างรวดเร็วของวงการบันเทิงเกาหลี ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มูลค่ามหาศาลครอบคลุมไปทั่วโลก

แรกเริ่มเดิมทีนั้น วัฒนธรรมทางด้านเพลงของเกาหลี ก็ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลยังควบคุมระบบการออกอากาศแทบจะทั้งหมดของทุกสื่อในประเทศ

มันไม่มีทีท่า ว่าเกาหลีจะพัฒนาวัฒนธรรมด้านบันเทิงหรือ K-Pop มาได้ไกลถึงเพียงนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่การปรากฏตัวของ Seo Taiji &Boys ทางทีวี ในฤดูใบไม้ผลิปี 1992

มันได้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ มันคือสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง กับกรอบความคิดเดิม ของวัฒนธรรมดนตรีของเกาหลี และที่สำคัญมันยังเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหมดของเกาหลีขึ้นมาใหม่ด้วย

รัฐบาลเกาหลีได้เริ่มมองเห็นว่า วัฒนธรรม อาจเป็นสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ลำดับถัดไปของประเทศได้ มีการปรับแก้ไขกฏหมายเพื่อสนับสนุนผลงานด้านดนตรีและศิลปะ โดยจะเป็นการสละเงินงบประมาณ อย่างน้อย 1% ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนี้

รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)
รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)

และตอนนี้พลังของ Soft Power ของเกาหลีใต้นั้น มันกำลังแพร่กระจายไปยังคอนเท้นต์อื่น ๆ ทั้งภาพยนต์ หรือ ซีรีส์ เรียกได้ว่าครอบคลุมวงการบันเทิงแทบจะทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ Netflix ได้กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาได้เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการจ้างงานจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้

ความบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของเกาหลีควบคู่ไปกับเทคโนโลยี จำนวนคนงานในบริการสร้างสรรค์และศิลปะเพิ่มขึ้น 27% ระหว่างปี 2009 ถึง 2019

ขณะที่ในภาคการผลิต ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนดั้งเดิมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติของเกาหลี ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้ว Netflix กล่าวว่าได้ช่วยสร้างงานเต็มเวลา 16,000 ตำแหน่งในเกาหลีตั้งแต่ปี 2016

อุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์ของเกาหลีมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่มหึมา แต่ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งออกคอนเทนต์มีมูลค่ารวม 10.8 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือราว 1 ใน 10 ของธุรกิจชิป ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาหลี แต่มีรายได้มากกว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอาง

มูลค่าการส่งออกความบันเทิงของเกาหลี ซึ่งรวมถึงสิ่งพิมพ์ เกม เพลง ภาพยนตร์ และรายการทีวี เพิ่มขึ้น 6.3% ในปีที่แล้ว แม้ในขณะที่การจัดส่งสินค้าโดยรวมลดลง 5.4% เนื่องจากการระบาดใหญ่

แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับกระแสเกาหลีที่เรียกว่า เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และอาหาร ก็เพิ่มขึ้น 5.5% ในปีที่แล้ว ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศแห่งเกาหลี 

บทสรุป

ส่วนตัวผมก็มองว่าพลัง Soft Power ของประเทศไทยเราเอง ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก ผมเคยดูในช่อง youtube ที่นำเสนอดาราของประเทศเรา เมื่อไปออกงานต่าง ๆ ในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะในอาเซียน ก็พบว่า กระแสดความนิยมของดาราไทย หรือ คอนเทนต์จากไทย ก็แรงไม่แพ้กัน

หรือแม้กระทั่งในประเทศจีนเอง ก็มีความสนใจในคอนเทนต์จากประเทศไทยอยู่มาก แม้จะไม่เท่าเกาหลีใต้ก็ตามที แต่ก็เป็นโอกาสใหญ่มาก ๆ ของประเทศเราเหมือนกัน หากมีการผลักดันให้เกิดขึ้นแบบบูรณาการเหมือนที่เกาหลีใต้ทำสำเร็จ

หากภาครัฐมีความจริงจัง และสนับสนุนอย่างเป็นระบบเหมือนที่เกาหลีใต้ทำ และเจียดเม็ดเงินมาสนับสนุน ตามสัดส่วน GDP ที่เหมาะสม ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักเหมือนในทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อเจอโรคระบาด ก็ได้เกิดเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนตัวผมเองก็มองว่าประเทศเราก็มีดีพอ ไม่แพ้ชาติใดนะครับ สำหรับเรื่องพลังของ Soft Power และยังมีโอกาสและตลาดใหญ่ ๆ อีกมากสำหรับคอนเทนต์จากประเทศไทยที่จะเติบโตได้ แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ อย่าลืมมาแสดงความคิดเห็นกันนะครับผม

References : https://www.bloombergquint.com/pursuits/k-pop-to-squid-game-lift-korean-soft-power-and-the-economy

Series Review : The Chestnut Man ซีรีส์เดนมาร์กจิตวิทยาเขย่าขวัญผ่านตุ๊กตาเกาลัด

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์คุณภาพจากประเทศเดนมาร์กที่น่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ The Chestnut Man ที่เป็นซีรีส์ สไตล์กลิ่นอายของ Nordic Noir ที่มีการดัดแปลงจากนวนิยาย  Søren Sveistrup ซึ่งต้องบอกว่าเป็นนวนิยายชื่อดังที่มีการแปลเป็น 28 ภาษา และมีการตีพิมพ์กว่า 50 ประเทศ

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบ ซีรีส์ทางฝั่งยุโรปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ไม่ผิดหวังเลย ที่มาในแพลตฟอร์ม Netflix

ด้วยบรรยากาศที่ถ่ายทำในฤดูใบไม้ร่วงของเดนมาร์ก และ การปรับแต่งโทนสีของเรื่องให้ดูน่าพิศวง มันทำให้เข้ากับบรรยากาศของธีมซีรีส์ ที่เน้นไปทางด้านจิตวิทยาเขย่าขวัญ สั่นประสาท ผ่านพล็อตฆาตรกรต่อเนื่อง ด้วยเนื้อเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ

เนื่องเรื่องที่ว่าด้วย Naia Thulin ที่เป็นตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีฆาตรกรรม ที่ชีวิตสับสนและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ร่วมมือกับ Mark Hess ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์คนใหม่ซึ่งได้รับมอบหมายใหม่จาก Interpol อย่างไม่เต็มใจ

และเพื่อสอบสวนการฆาตกรรมของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ถูกพบในสนามเด็กเล่นด้วยมือที่หายไปและหุ่นตุ๊กตาเกาลัดปริศนา ที่สร้างขึ้นจากเม็ดเกาลัดและไม้ขีดไฟหรือกิ่งไม้เพื่อให้มีลักษณะคล้ายกับคน

และมันมีหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าคดีดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับคดีหนึ่งเมื่อปีก่อนเมื่อลูกสาวของรัฐมนตรีกระทรวงสังคมของเดนมาร์ก Rosa Hartung ที่ถูกลักพาตัวไปและมีการสรุปคดีว่าถูกสังหารแต่ยังไม่ค้นพบศพ 

เรียกได้ว่า เป็นพล็อตที่มีความลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ทำให้เราลุ้นไปตลอดทุกตอนเลยทีเดียว ที่ซีรีส์ ค่อย ๆ เฉลยปมต่าง ๆ ออกมา แม้จะมีเพียงแค่ 6 ตอนแต่เรียกได้ว่าลุ้นไปจนจบในทุก ๆ ตอนเลยก็ว่าได้

ตัวละครแต่ละตัวก็เรียกได้ว่ามีรายละเอียดพอสมควร ซีรีส์ได้เล่นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เรื่องการเมือง หรือ บาดแผลภายในใจของตัวละครเอกอย่าง Mark Hess ที่ทำให้เราได้รู้ว่า ทำไมเขาจึงต้องการที่แก้ไขปริศนาคดีดังกล่าวนี้ให้สำเร็จ

ก็ต้องบอกว่า ตัวละครหลักทุกตัว มีสิ่งนึงที่เหมือนกันก็คือ “ทุกคนมีความลับ” นั่นทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีเสน่ห์ มาก ๆ ในการติดตามเรื่องราว ที่ผสานระหว่างเรื่องราวในอดีตของตัวละครหลักทั้งหมด

การเฉลยของเรื่องก็เซอร์ไพรส์ พอสมควร ผมคิดว่าหลาย ๆ คนคงเดาไม่ออกอย่างแน่นอนว่า ฆาตรกรตัวจริงในเรื่องนี้คือใคร

ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ ที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งนะครับ สำหรับ The Chestnut Man ที่จะได้สัมผัสกลิ่นอายใหม่ ๆ ของซีรีส์สไตล์ Nordic Noir ผ่านบรรยากาศของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งให้บรรยากาศที่แปลกใหม่ หากใครเบื่อซีรีส์ทางฝั่ง Hollywood แบบเดิม ผมก็แนะนำว่าเรื่องนี้ ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งครับผม

Series Review : The Twelve (Netflix) 12 คณะลูกขุนที่นำชีวิตของพวกเขาไปสู่คดีฆาตกรรมที่น่าตื่นเต้น

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่เป็นผลงานจากยุโรป ที่มีความน่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ The Twelve (Netflix) ที่เล่าเรื่องราวของคณะลูกขุน 12 คน ที่ต้องมาตัดสินชะตากรรมให้กับผู้หญิงคนหนึ่งในคดีฆาตรกรรมเพื่อนและลูกสาวของเธอ

เรื่องนี้ต้องบอกว่ามีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจที่แทบจะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นสารคดีซะมากกว่าที่จะทำเรื่องราวเหล่านี้ ที่ถ่ายทอดการพิจารณาคดี ผสานไปกับการเล่าเรื่องราวของเหล่าคณะลูกขุนที่กำลังประสบกับปัญหาชีวิตอยู่ ณ ขณะนั้น

เรื่องราวที่ว่าด้วยหญิงที่มีชื่อว่า Frie Palmers เธอถูกพิจารณาคดีในคดีฆาตกรรมสองครั้ง ห่างกันสิบแปดปี โดยคดีแรกคือคดีฆาตกรรมเพื่อนสนิทของเธอ  Brechtje Vindevogel เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2000

เหตุการณ์ที่สองคือการเสียชีวิตของ Roos ลูกสาววัย 2 ขวบของเธอในปี 2016 ซึ่งคดีดังกล่าวได้สร้างกระแสให้กับสื่อในเบลเยียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง Flemish แห่ง Ghent ที่ซึ่งมีการพิจารณาคดีเกิดขึ้น

The Twelve  (ชื่อเดิม:  De Twaalf ) ได้เล่าเรื่องการพิจารณาคดีทางอาญาในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราจะได้เห็นชีวิตภายในและภายนอกของสมาชิกในคณะลูกขุนในขณะที่การพิจารณาคดีกำลังดำเนินไป

ซึ่งเป็นการถ่ายทอดให้เห็นว่าพวกเขานำอคติและประสบการณ์ชีวิตใดบ้างมาที่โต๊ะประชุมของเหล่าคณะลูกขุนเพื่อนทำการตัดสินคดี และเมื่อฟังหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และตัดสินว่าเธอมีความผิดหรือไม่

ต้องบอกว่าการเล่าเรื่องชีวิตของคณะลูกขุนก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่อาจส่งผลต่อมุมมองของพวกเขาต่อคดีนี้

แม้ว่าพวกเขาจะสาบานตนเองก่อนมาเป็นคณะลูกขุนว่าจะไม่มีอคติก็ตาม ความลำเอียงมีอยู่ในมุมมองของทุกคนในชีวิต ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามเป็นกลางแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในโลกของเรา

ซึ่งเรื่องราวจะโฟกัสไปยังคณะลูกขุนบางคน เช่น Delphine และสามีที่คอยควบคุมเธอ รวมถึง Holly Ceusters ซึ่งกำลังหนีจากฝันร้ายจากคดีฆาตรกรรมครอบครัวของเธอ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวแวดล้อมอื่น ๆ เช่น Marc Vindevogel  ที่รับบทพ่อของ Brechtje ที่สงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ Frie ในการฆาตกรรมลูกสาวของเขา

โดยซีรีส์ชุดนี้จะมีทั้งหมด 10 ตอน ซึ่ง แต่ละตอนจะเป็นการตั้งชื่อตามตัวละครที่มีบทบาทหลักในตอนนั้น ๆ แต่ก็ไม่ได้ใช่ตอนที่เล่าเรื่องราวของตัวละครนั้นทั้งหมดแต่อย่างใด เนื้อหาหลักของทุกตอน ก็จะเป็นการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่จะคอยคลี่ปมทุกอย่างออกมาทีละนิด

เรื่องนี้มีหลายแง่มุมที่ถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจเลยทีเดียว ทั้งการเหยียดผิว การปกครองแย่งชิงอำนาจ (ในการเป็นผู้นำคณะลูกขุน) การทำงานของสื่อ ปัญหาครอบครัว ทั้งปัญหาพ่อลูก ปัญหารักสามเศร้า เรียกได้ว่า มีรายละเอียดทุกอย่างครบ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไป มันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อเหล่าคณะลูกขุนเหล่านี้ ที่ต้องมาตัดสินชะตาชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ทั้งที่ชีวิตของตัวเองก็ยังวุ่นวายอยู่นั่นเอง

แต่น่าสนใจว่าหลังจากที่ผมได้ดูซีรีส์ชุดนี้จบ ทำให้ผมได้ย้อนไปคิดถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งได้รีวิวไปนั่นก็คือ Noise: A Flaw in Human Judgment (เสียงรบกวนสู่ข้อบกพร่องในการตัดสินใจของมนุษย์)

มันชัดเจนมาก ๆ เมื่อได้มาดูซีรีส์ชุดนี้ มันเป็นเรื่องของ Noise หรือเสียงรบกวนที่มากระทบเรา ในการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างที่สำคัญ (ในซีรีส์คือ การตัดสินให้ผู้หญิงคนนึงต้องจำคุกไปตลอดทั้งชีวิต)

ซึ่ง ก็น่าสนใจนะครับว่าในระยะยาว Daniel Kahneman (ผู้เขียนหนังสือ) มองเห็นโลกที่เราอาจ “ไม่ต้องการคน” เพื่อตัดสินใจในหลาย ๆ อย่างอีกต่อไป เมื่อสามารถจัดโครงสร้างปัญหาและรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นได้

เหล่าคณะลูกขุนที่เป็นมนุษย์ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะหุ่นยนต์มันไม่มีอารมณ์ หรือผลกระทบอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง พวกมันพิจารณาจากหลักฐาน ข้อมูลที่ปรากฏ เพียงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความแม่นยำกว่าการตัดสินใจของมนุษย์จากซีรีส์เรื่องนี้อย่างแน่นอนนั่นเองครับผม

Series Review : The Defeated (Netflix) เยอรมันหลังสงคราม กับบ้านเมืองที่ไร้ขื่อแป

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์จาก Netflix ที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจเลยทีเดียวนะครับสำหรับ The Defeated ที่เป็นการเล่าเรื่องราวของประเทศเยอรมันหลังการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ที่ต้องมาสร้างประเทศกันใหม่ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าเป็นช่วงที่ประเทศพวกเขายังไร้ขื่อแป ระบบยุติธรรมที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่จากศูนย์กันเลยทีเดียว

โดยพล็อตเรื่องได้ดำเนินขึ้นหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเมืองเบอร์ลินได้ถูกแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน โดย อเมริกา โซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส

เรื่อราวที่ว่าด้วยนายตำรวจที่มีชื่อว่า แม็ก แมคคลิริน ที่มาจากบรู๊คลิน นิวยอร์ก เขาได้ถูกส่งมาประจำการในพื้นที่ของอเมริกาในใจกลางกรุงเบอร์ลิน ที่ถูกแบ่งส่วนจากประเทศต่าง ๆ ที่ชนะสงคราม

เป้าหมายคือมาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสถานีตำรวจของกรุงเบอร์ลิน ให้เทียบเท่าในนิวยอร์ก เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศในตอนนั้นต้องบอกแทบจะแหลกสลาย บ้านเมืองเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่เป็นผลจากสงคราม

รวมถึงสาวอย่างเอลลี่ ที่ต้องมาทำงานร่วมกับ แม็ก ในการสืบสวนคดีที่เลวร้าย ที่จะพยายามควานหัวตัว เองเกิล มาร์เคิล (ตัวร้ายของเรื่อง) ที่เป็นนายแพทย์ที่ช่วยเหลือผู้หญิงในเบอร์ลินจากการถูกข่มขืน แต่ก็ต้องแลกกับการใช้งานสาว ๆ เหล่านี้เพื่อหาผลประโยชน์บางอย่างให้กับเขา

ลองจินตนาการว่า ประเทศที่แพ้สงครามใหม่ ๆ มันเต็มไปด้วยความยากลำบากขนาดไหน มีเรื่องวุ่นวายมากมายที่เกิดขึ้นในเมือง การฆ่าฟัน การข่มขืน ได้กลายเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นไปแล้วภายในเมืองแห่งนี้

ต้องบอกว่า ซีรีส์ ก็ได้ถ่ายทอดมุมมองที่น่าสนใจหลายมุม ทั้งเรื่องของความขัดแย้งระหว่างนาซี กับ ชาวยิว การล้างแค้น ความรัก การทุจริตคอรัปชั่น ที่กำลังเกิดขึ้น บนคราบน้ำตาของประชาชนชาวเยอรมัน ที่กำลังร่วมแรงร่วมใจกันสร้างชาติใหม่ขึ้นมา

แม้เนื้อเรื่องจะไม่มีอะไรมากนัก เป็นซีรีส์สืบสวนสอบสวน ผ่านบรรยากาศของเบอร์ลินยุคหลังสงครามโลกเพียงเท่านั้น เนื้อหาหลัก ก็เป็นเรื่องราวการตามหาพี่ชายที่สูญหายไปของพระเอกอย่าง แม็ก

แต่จากเส้นเรื่องหลักในการตามหาพี่ชายของเขานี่แหละ ที่จะไปขุดลึกถึง เรื่องราวอื่น ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ซึ่งเต็มไปด้วยความโหดร้าย รุนแรง และหดหู่มาก ๆ สำหรับซีรีส์ชุดนี้

แต่ต้องบอกว่า เรื่องนี้ได้จับมุมมองใหม่ที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งมีหนังหรือซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เรื่องนี้ จะเป็นแง่มุมใหม่ ๆ ที่คุณจะไม่ได้พบเจอในหนังหรือ ซีรีส์ชุดไหนมาก่อนอย่างแน่นอน

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์โดยเฉพาะส่วนของสงครามโลกครั้งที่สองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงถือว่าประทับใจกับการเล่าเรื่องของซีรีส์ชุดนี้เอามาก ๆ แต่ข้อเสียคือการดำเนินเรื่องที่ดูจะช้าไปหน่อย แม้ตอนจบจะเป็นอะไรที่เดาได้ไม่ยาก แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้ายของสงครามได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียวครับผม