Ryvval กับ Crypto Startup ที่ทำให้คุณสามารถระดมทุนในการต่อสู้คดีของผู้อื่น

บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีรายใหม่วางแผนที่จะวางตัวเป็น “ตลาดหุ้นของการจัดหาเงินทุนเพื่อการดำเนินคดี” โดยอนุญาตให้ชาวอเมริกันเดิมพันคดีแพ่งผ่านการซื้อโทเค็น ซึ่งบริษัทหวังที่จะให้เงินทุนแก่บุคคลที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้

สตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า Ryvval กำลังสร้างโลกแห่งการระดมทุนในการดำเนินคดีเพื่อต่อกรกับระบบศาลของสหรัฐฯ ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกความและนักลงทุน

กระบวนการระดมทุนในการดำเนินคดีเป็นวิธีสำหรับคนที่มีเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีเงินทุนในการฟ้องร้อง และในทางกลับกัน พวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งจากการชนะคดีที่อาจเกิดขึ้น

อุตสาหกรรม cypto ที่เฟื่องฟู ได้สร้างการระดมทุนรูปแบบใหม่ในการดำเนินคดีโดยมีการเสนอคดีฟ้องร้องเบื้องต้น (Initial Litigation Offerings – ILO) ซึ่งใช้แนวคิด crypto โดยอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยค้นหาและให้ทุนกับเคสที่เกิดขึ้นต่าง ๆ บนบล็อคเชนได้

โดยมีการเปิดตัวในปลายปี 2020 บนบล็อคเชน Avalanche ซึ่ง ILO แรกอนุญาตให้ นักลงทุนซื้อ “โทเค็นการดำเนินคดี” ในเคสของ Apothio, LLC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ปลูกกัญชาในแคลิฟอร์เนียที่ฟ้องมณฑลของตนที่ทำลายพืชผล 500 เอเคอร์ คดีนี้หยุดชะงักไปตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่นั่นไม่ได้หยุดนักลงทุนจากการทุ่มเงินมากกว่า 330,000 ดอลลาร์ในคดีซึ่งสูงกว่าเป้าหมายการระดมทุน 250,000 ดอลลาร์

Ryvval ซึ่งก่อตั้งโดยทนายความ Kyle Roche ได้สร้างแนวคิดของ ILO ซึ่ง Roche ได้ทำการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้บุคคลต่างๆ สามารถลงทุนในคดีในศาลของ ILO ได้

ในขณะที่ Roche กล่าวว่า “เป้าหมายของ Ryval คือการเข้าถึงความยุติธรรมในราคาที่ถูกกว่า” และเขาต้องการ “ทำให้ระบบศาลของรัฐบาลกลางสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับทุกคน” 

ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Ryvval อ้างว่านักลงทุนจะสามารถเข้าถึงระดับการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เปิดให้สาธารณชนเข้ามาลงทุน

Roche กล่าวว่า ” นักลงทุนที่ได้รับการรับรองเท่านั้น (เช่น คนรวย นักธุรกิจ และหน่วยงานอื่นๆ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ถือว่ามีสิทธิ์ได้รับการยกเว้นด้านกฎระเบียบ) จะสามารถซื้อขายได้ทันที ในขณะที่คนกลุ่มอื่น ๆ ที่อยากจะลงทุนต้องรอไปอย่างน้อยอีก 1 ปี

น่าสังเกตว่าแพลตฟอร์ม Ryval นั้นยังไม่พร้อมใช้งานจริง แต่ผู้ร่วมก่อตั้งหวังว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในสิ้นไตรมาสแรก จนถึงตอนนี้ ปรากฏว่า Apothio , LLC เป็น ILO เพียงเคสเดียวที่มีการซื้อขายต่อสาธารณะ แต่ Roche หวังว่าจะมีอีกห้าถึงสิบแห่งเมื่อถึงเวลาที่แพลตฟอร์มพร้อมและมีการเปิดแบบเต็มตัว

ต้องบอกว่า แนวคิดของ Ryval นั้นน่าสนใจ โอกาสที่นักลงทุนใจดีจะช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนที่ใช้ในการฟ้องบริษัทหรือรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แนวคิดในการสร้างสิ่งจูงใจให้สอดคล้องกันระหว่างคนจนกับคนรวยนั้นก็ถือว่าส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

บทสรุป

อ่านข่าวนี้แล้วต้องบอกว่า เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพ crypto ที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว ต้องบอกว่าปัญหาใหญ่ในการสร้างความยุติธรรมให้กับทุก ๆ คน ก็คือเงินทุน ยิ่งการต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรือ กลุ่มนายทุนใหญ่ ที่ต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาลในการทำคดีให้ชนะ

มันมีบทเรียนมากมายที่เกิดขึ้น จากความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ในสารคดีของ Netflix ก็มีการฉายภาพเรื่องราวเหล่านี้ ว่าเงินทุนมันสำคัญขนาดไหนในการต่อสู้คดี มันสามารถชี้ถูกเป็นผิด หรือ ผิดเป็นถูกได้เลย

การเกิดขึ้นของนวัตกรรมแบบนี้ถือว่าน่าสนใจนะครับ แต่อาจจะเกิดกับพวกคดีแพ่งที่สามารถเรียกร้องส่วนแบ่งได้ก่อน ซึ่งก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ขัดสนอีกหลาย ๆ คน ที่จะกล้าลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรมให้กับตนเองมากยิ่งขึ้นนั่นเองครับผม

References : https://www.unilad.co.uk/technology/tech-startup-wants-to-enable-people-to-bet-on-court-cases-with-crypto/
https://www.vice.com/en/article/v7d7x3/tech-startup-wants-to-gamify-the-us-court-system-using-crypto-tokens
https://futurism.com/crypto-startup-fund-lawsuits

ส่องกลยุทธ์ ยานแม่ SCBX กับการแหกกฏเดิม ๆ ของธนาคารเพื่อมุ่งหน้าสู่ Regional Company

ข่าวร้อนแรงที่สุดที่มีการประกาศมาเมื่อวานคงจะหนีไม่พ้น การเปิดตัว SCBX ที่ถูกเรียกว่า ‘ยานแม่’ ที่ต้องเรียกได้ว่าเป็นการปรับยกเครื่องโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อลุยธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

เรียกได้ว่าแตกย่อย เพื่อความคล่องตัว และแก้ปัญหาในเรื่องข้อจำกัดเรื่องกฏระเบียบของการเป็นธนาคาร เพื่อเดินหน้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริงสำหรับ SCBX ที่มีการกำเนิดของบริษัทร่วมทุนที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็น AISCB , Alpha X , Auto X , Card X และอีกหลากหลายบริษัทตามที่สื่อต่างๆ ได้เสนอข่าวไป

ผมจะมาชวนวิเคราะห์สิ่งที่น่าสนใจจากการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการเซอร์ไพรส์ ที่สั่นสะเทือนแวดวงธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก

SCB เดิมที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง?

เป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับเหล่าสาขาของธนาคาร หรือพนักงานที่อยู่ในยุคเก่า ที่ต้องผลัดใบก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัวของ SCB นะครับ

แน่นอนว่า SCB ได้ดำเนินการลดจำนวนสาขาไปเป็นจำนวนมากมาซักระยะหนึ่งแล้ว เอาแค่สาขาที่ใกล้บ้านผม จาก 5 สาขาลดเหลือ 1 สาขาเท่านั้น มันเป็นเทรนด์ที่ชัดเจนมากว่า การทำธุรกรรมในสาขาแบบเดิม ๆ จะลดน้อยลงไปอีกมาก ๆ ในอนาคต

สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภค ที่เรียกได้ว่า ปรับเปลี่ยนกันแบบต้องบังคับปรับกันเลยทีเดียว หลังจากการระบาดของ COVID-19 ที่มีการปรับตัวไปสศู่การใช้ทำธุรกรรมผ่านแอป หรือ สังคมไร้เงินสด

ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว แม้กระทั่งคนแก่คนเฒ่า ผมก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็สามารถปรับตัวกันได้แล้วเช่นกัน คงเหลือคนจำนวนกลุ่มไม่มากนัก ที่ยังยึดติดกับการทำธุรกรรมผ่านธนาคารในรูปแบบเดิม ๆ

ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เราคงเห็นพนักงานตามสาขา ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เหลือไว้เพียงบางแห่งเท่านั้น โดยเฉพาะอาจจะเป็นในห้างสรรพสินค้า เพื่อไว้สำหรับความสะดวกให้กับคนที่มาทำกิจกรรมต่างๆ ในห้าง

เมื่อแพล็ตฟอร์มจีน โดนเล่นงานจากรัฐ

เอาจริง ๆ การปรับตัวครั้งใหญ่ของระบบธนาคารไทย น่าจะเกิดจากการเล็งเห็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่บริการทางการเงินของบริษัทเทคโนโลยีนั้น รุกล้ำเข้ามาในธุรกิจของธนาคารดั้งเดิมจนยึดส่วนแบ่งไปได้มากมาย

ธนาคารในประเทศเราต่าง transform ครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ โดยเริ่มจากการโอนเงินแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม การใช้ พร้อมเพย์  หรือ การลงทุนครั้งใหญ่ในการปฏิวัติแอปบนมือถือของหลายๆ ธนาคาร ที่ตอนนี้เรียกได้ว่าธุรกรรมเกือบทุกอย่าง สามารถทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วผ่านแอป

แต่ดูเหมือนศัตรูที่น่ากลัวอย่าง ซุปเปอร์แอป ของจีน จะถูกคลายพิษสงลงไป เนื่องจากการเข้ามาควบคุมของรัฐบาล ที่เรียกได้ว่า เดินหน้าจัดการอย่างจริงจัง ทำให้ตอนนี้คงไม่มีอารมณ์มาบุกต่างประเทศมากซักเท่าไหร่ คงขอแค่เอาตัวรอดในประเทศตัวเองให้ได้ก่อน

ซุปเปอร์แอปจีน ที่โดนเล่นงานอย่างหนักจากรัฐ (CR:The Republic)
ซุปเปอร์แอปจีน ที่โดนเล่นงานอย่างหนักจากรัฐ (CR:The Republic)

แต่ถึงแม้จะบุกมาจริง ๆ มันก็น่าสนใจนะครับ เพราะ แอปจากจีนนับรายได้ที่จะสามารถบุกต่างประเทศได้ จะมีให้เห็นก็แค่ TikTok เท่านั้นที่ดูเป็น Global Company รุกตลาดโลกได้สำเร็จ

ส่วนแอปอื่น ๆ พอเจอคู่แข่งในภูมิภาคต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะล้มไม่เป็นท่าเสียมากกว่า ตัวอย่างเห็นได้ชัด WeChat x Line หรือ แม้กระทั่ง Lazada เองที่กำลังเพลี่ยงพล้ำให้กับ Shopee อยู่ในขณะนี้

การมุ่งหน้าสู่ Regional Company

ส่วนนี้ผมค่อนข้างตื่นเต้นมาก ๆ กับธุรกิจธนาคารของไทย ผมคิดว่าไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน ในภูมิภาคเราความล้ำของเทคโนโลยีที่ปล่อยออกมา เรียกได้ว่าแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน ทุกธนาคารต่างสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ออกมาเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ซึ่งผมคิดว่า นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกับแวดวงธนาคารนั้น ก็ไม่เป็นสองรองใครในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

การปรับตัวครั้งนี้ แน่นอนว่า เกิดจากการถูกรุกล้ำเข้ามาในธุรกิจ จากเหล่าแพล็ตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีใน Region ไม่ว่าจะเป็น Grab , Shopee , … ที่ดูเหมือนต่างมุ่งหน้ามาลุยในธุรกิจทางด้านการเงินเหมือน ๆ กัน

คู่แข่งตัวจริงน่าจะกลายเป็น Super App ภายใน Region (CR: Tech in Asia)
คู่แข่งตัวจริงน่าจะกลายเป็น Super App ภายใน Region (CR: Tech in Asia)

ซึ่งหากปล่อยให้เหล่าแพล็ตฟอร์มพวกนี้กินรวบ คงไม่เป็นเรื่องดีแน่นอน ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ครั้งนี้ของ SCBX นั้น ก็คงไม่มองแค่ตลาดในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะหากรอ จนถูกขย้ำในบ้านเมื่อไหร่ ก็ตายสถานเดียวเหมือนในหลาย ๆ ธุรกิจ

ด้วยความพร้อมทั้งเงินทุน และ อาวุธที่สำคัญอย่างทรัพยากรมนุษย์ที่ได้ดึงดูดคนเก่ง ๆ ไปเป็นจำนวนมากในธุรกิจธนาคารไทย (ตัวอย่างสาย Tech ที่ตอนนี้ดึงกันวุ่นไปหมด และให้เงินสูงที่สุดด้วย)

ซึ่งผมก็คิดว่า ถึงเวลาที่เราก็ต้องบุกลุยต่างประเทศเหมือนกันเพื่อเป็นผู้นำใน Region ให้ได้ เพราะไม่งั้น หากเหล่าแพล็ตฟอร์มได้ข้อมูลไปจำนวนมหาศาล จากฐานผู้ใช้ของพวกเขาที่มีอยู่ทั่ว Region ก็จะทำให้พวกเขาจะได้เปรียบเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะทางด้านการเปล่อยสินเชื่อที่เปรียบเสมือนไข่ในหินของทุก ๆ ธนาคารนั่นเองครับผม

Credit Image : https://www.posttoday.com/finance-stock/news/663818

การปลูกถ่ายกระจกตาเทียมครั้งแรกของโลกช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของชายที่ตาบอดมา 10 ปี

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ในวงการแพทย์ของโลก ด้วยความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตอนนี้แพทย์ประสบความสำเร็จในการดำเนินการปลูกถ่ายกระจกตาเทียมได้เป็นครั้งแรกของโลก

การปลูกถ่ายกระจกตาเทียมที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกของโลกนี้ดำเนินการเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่โรงพยาบาล Beilinson ในอิสราเอลหรือที่เรียกว่าศูนย์การแพทย์ราบิน 

ขั้นตอนนี้ดำเนินการโดย CorNeat ซึ่งเป็น บริษัท Startup ของอิสราเอลซึ่งได้รับการอนุมัติสำหรับการทดลองทางคลินิกในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วตามรายงานของ  Israel Hayom

หลังจากสูญเสียการมองเห็นไปเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้เนื่องจากกระจกตาผิดรูป Jamal Furani ผู้ป่วยอายุ 78 ปีเป็นคนแรกที่สามารถมองเห็นได้อีกครั้งเมื่อได้รับการใส่กระจกตาเทียม

Furani ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาเทียมที่รวมเข้ากับผนังตาโดยตรงและหลังจากการผ่าตัดหนึ่งชั่วโมงเขาสามารถจดจำสมาชิกในครอบครัวและอ่านตัวเลขบนแผนภูมิได้ เป็นการคืนการมองเห็นโลกที่สวยงามให้กับเขาได้อีกครั้ง

Furani ชายที่ตาบอกมา 10 ปี กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
Furani ชายที่ตาบอกมา 10 ปี กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง (CR:dailymail.co.uk)

กระจกตาเทียมที่เรียกว่า KPro สามารถแทนที่กระจกตาที่ผิดรูปได้ ได้รับการออกแบบด้วยวัสดุ biomimetic เนื้อเยื่อนาโนสังเคราะห์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งวางอยู่ใต้เยื่อบุตาขาวซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ ที่ปกคลุมพื้นผิวของเปลือกตาและส่วนสีขาวของลูกตา

CorNeat กล่าวว่าการงอกใหม่ของเซลล์จะเริ่มขึ้นและในอีกไม่กี่สัปดาห์กระจกตาเทียมจะฝังอยู่ในดวงตาของผู้ป่วยอย่างถาวร  

Dr. Gilad Litvin หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของ CorNeat Vision และผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์กล่าวกับ Israel Hayom ว่าขั้นตอนนี้ “ค่อนข้างง่าย” และการผ่าตัดใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง

CorNeat เลือกผู้ป่วยทดลอง 10 รายที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากการตาบอดของกระจกตาและผู้ที่เคยประสบปัญหาการปลูกถ่ายกระจกตาที่ล้มเหลวในอดีต

“ ขั้นตอนการผ่าตัดทำได้ง่ายและผลลัพธ์ก็เกินความคาดหมายของเรา” ศาสตราจารย์ Irit Bahar หัวหน้าแผนกจักษุวิทยาของโรงพยาบาล Beilinson กล่าว “ช่วงเวลาที่เราถอดผ้าพันแผลออกเป็นช่วงเวลาที่สะเทือนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นการเติมเต็มความฝันของผู้ป่วยที่ตาบอดสนิทมากว่า 10 ปี ซึ่งเราในฐานะแพทย์มีความภูมิใจที่ได้อยู่แถวหน้าของโครงการที่น่าตื่นเต้นและมีความหมายนี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนนับล้านอย่างไม่ต้องสงสัย”

Litvin กล่าวว่าเขารู้สึกตื่นเต้นกับผลลัพธ์ที่ได้โดยกล่าวว่า “เป็นสิ่งที่เหนือจริง” ที่ทีมได้สร้างความสำเร็จครั้งแรกของโลกและกำลังทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ 

“หลังจากทำงานหนักมาหลายปีการได้เห็นเพื่อนร่วมงานทำงานร่วมกับ CorNeat KPro อย่างสบายใจ และการได้เห็นเพื่อนมนุษย์กลับมามองเห็นได้ในวันรุ่งขึ้นก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก” ทุกคนต่างปลื้มปิติน้ำตาไหลนองกับความสำเร็จในครั้งนี้

การปลูกถ่ายกระจกตาเป็นขั้นตอนทั่วไปในการฟื้นฟูสายตา แต่สามารถทำได้เฉพาะกับกระจกตาที่ได้รับจากผู้บริจาคซึ่งมีความต้องการสูง ในขณะที่กระจกตาหมูเป็นอีกวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เช่นเดียวกัน แต่ความสำเร็จของทีมในขั้นตอนนี้กับ KPro สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันได้เปลี่ยนชีวิตให้กับผู้คนอีกจำนวนมาก

Bahar กล่าวว่าเขาหวังว่าขั้นตอนนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยตาบอดหลายล้านคนทั่วโลกกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

ต้องบอกว่าข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีให้กับผู้ป่วยที่ตาบอดสนิททั่วโลก ได้มีความหวังที่จะกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

แต่อีกแง่มุมนึงที่เราได้เรียนรู้ก็คือ การสร้างนวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งจากประเทศอิสราเอล ประเทศในดินแดนทะเลทรายแห้งแล้งและโอบล้อมด้วยภัยสงคราม

และอย่างที่เราได้เห็นข่าวมาตลอด อิสราเอล ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของหลากหลายนวัตกรรมระดับโลก เทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากดินแดนแห่งนี้ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูโลก แต่ยังช่วยชีวิตผู้คนนับพันล้านทั่วโลกด้วยเช่นกันอย่างที่เราได้เห็นกับนวัตกรรมในการรักษาผู้ป่วยตาบอดจากบทความชิ้นนี้นั่นเองครับผม

References : https://www.businessinsider.com/world-first-artificial-corneal-transplant-78-year-old-has-recovered-sight-israel
https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-9177323/Legally-blind-man-regains-sight-following-successful-artificial-cornea-treatment.html
https://www.iflscience.com/health-and-medicine/first-artificial-cornea-transplant-restores-78yearold-mans-vision/

Afterpay กับการพลิกวิกฤติสู่โอกาสในห้วงเวลาการแพร่ระบาด ของไวรัส COVID-19

Nick Molnar ได้กลายมาเป็นไอคอนของคนรุ่นใหม่ชาวออสเตรเลีย หนุ่มน้อยวัย 30 ได้รับเครดิตจากการคิดค้นพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนรุ่นมิลเลนเนี่ยมนับล้าน ที่ทำให้เขาได้กลายเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดของออสเตรเลีย

Molnar ซึ่งเป็นนักศึกษาด้านการพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้เริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนหนุ่มสาวที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มสงสัยในผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบเดิม ๆ เช่น บัตรเครดิต ซึ่งอาจจะนำไปสู่การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ เขาได้พบว่า พ่อแม่หรือเพื่อนของพ่อแม่ของเขาต่างตกงานกันถ้วนหน้า และกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยมมีความคิดที่จะใช้เงินของตัวเองมากกว่าการสร้างหนี้ คนรุ่นนี้ต้องการจ่ายผ่านบัตรเดบิตมากกว่า เมื่อเทียบกับบัตรเครดิต เหมือนคนในรุ่นก่อน ๆ หน้า

แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ จะเน้นไปที่การใช้บัตรเดบิตมากกว่าบัตรเครดิต
แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ จะเน้นไปที่การใช้บัตรเดบิตมากกว่าบัตรเครดิต (CR:CNBC)

ดังนั้น Molnar และเพื่อนของเขา Anthony Eisen จึงตัดสินใจหาทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับกลุ่มคนยุคมิลเลนเนี่ยมสำหรับการชำระเงินแบบรอการตัดบัญชี โดยจะเรียกเก็บเงินค่าคอมมิชชั่นจากผู้ค้าปลีกเพื่อการขาย แทนที่จะเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคในการชำระเงิน ในรูปแบบของ “ซื้อตอนนี้จ่ายทีหลัง”

ซึ่งผู้ซื้อสามารถที่จะซื้อสินค้าได้สูงถึง 1,500 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,115 ดอลลาร์สหรัฐ) ในการผ่อนแบ่งจ่าย 4 งวดเท่า ๆ กัน ในขณะที่ผู้ค้าปลีกที่เข้าร่วมจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นอีกเล็กน้อย ประมาณ 4%-6% จากการขาายแต่ละครั้ง ซึ่งหากผู้ซื้อไม่มีการชำระเงินคืน จะถูกบล็อกจากบริการจนกว่าจะชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน

หลังจากที่ได้ทำการเปิดตัวในช่วงปลายปี 2014 ธุรกิจของเขาก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียม ที่มีเงินสดจำนวนมากชอบรูปแบบการผ่อนชำระ ในขณะที่ผู้ค้าปลีกเริ่มกระตือรือร้นที่จะเพิ่มยอดขายโดยการมาร่วมกับบริการของ Afterpay เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ภายในสองปี Afterpay สามารถระดมทุนได้สูงถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งในการเสนอทำ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มีผู้แห่แหนกันเข้ามาจองเพื่อซื้อหุ้นของ Afterpay เป็นจำนวนมหาศาล

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เมื่อพวกเขาได้เริ่มขยายกิจการไปสู่อเมริกาในปี 2018 หลังจากการทวีตของ Celeb ชื่อดังอย่าง Kim Kardashian ที่แบรนด์เครื่องสำอางค์ของน้องสาวเธอได้กลายมาเป็นพันธมิตรกับ Afterpay รวมถึง แบรนด์เสื้อกีฬายอดนิยมอย่าง Adidas ที่ต้องการเจาะพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลนเนี่ยม

ทวีตของ Kim Kardashian สร้างกระแสให้กับ Afterpay ในตลาดอเมริกา
ทวีตของ Kim Kardashian สร้างกระแสให้กับ Afterpay ในตลาดอเมริกา

และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้บริการของ Afterpay ยิ่งเติบโต จากการ lockdown ที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ เมือง ทำให้การทำธุรกรรมบัตรเครดิตลดลงกว่า 30% ซึ่งแม้ว่าธุรกรรมบัตรเดบิตจะลดลงเช่นเดียวกัน แต่ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายสินค้าปลีกและสินค้าปรับปรุงบ้านอีกครั้งในช่วงที่ถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน

“ถ้าคุณได้ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในการระบาดครั้งใหญ่นี้ จะคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤติการเงินปี 2008 พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนจากการใช้บัตรเครดิตเป็นเดบิต” Molnar กล่าว

หลังจากหุ้นของ After ลดลงเหลือ 8 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อหุ้นในเดือนมีนาคม ปี 2020 ราคาหุ้นได้เพิ่มขึ้น 1,300% และได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 105 ดอลลาร์ออสเตเลียในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ได้เข้ามาลงทุนมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ สำหรับการถือหุ้น 5% ในบริษัทในช่วงเดือนพฤษภาคม นั่นทำให้ Afterpay ได้กลายเป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในออสเตรเลีย และทำให้ทั้ง Molnar และเหล่าผู้ร่วมก่อตั้ง กลายเป็นมหาเศรษฐีทันที

แต่แม้ว่า Afterpay จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีโจทย์ใหญ่สำหรับบริษัทของ Molnar ในเรื่องการสร้างกำไร ในปี 2020 รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นสองเท่าจากปีก่อนหน้า แต่ก็พบกับการขาดทุนสูงถึง 16.8 ล้านดอลลาร์

ซึ่งเหมือนกับ Startup ส่วนใหญ่ ตอนนี้ Afterpay นั้นมุ่งเน้นไปที่การเติบโตไปข้างหน้า ด้วยการขยายบริการไปทั่วโลก เป้าหมายสำคัญของพวกเขาได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ยุโรป

Molnar วางแผนที่จะย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาแบบเต็มตัว เพื่อมุ่งมั่นกับการขยายตัวของธุรกิจเขาในอเมริกา ในขณะที่ Co-Founder อย่าง Eisen จะคงยังอยู่เพื่อดูแลบริษัทที่ฐานบัญชาการหลักของพวกเขาในออสเตรเลีย

ต้องบอกว่าถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจมาก ๆ ที่เติบโตสวนกระแส ความตกต่ำของเศรษฐกิจในยุคการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในออสเตรเลีย 1 ใน 3 ของประชากรในกลุ่มมิลเลนเนี่ยม ใช้บริการของ Afterpay ในทุก ๆ เดือน

ในสหรัฐอเมริกา Transaction ที่เกิดขึ้นสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ต้องบอกว่า ตอนนี้พวกเขาเพียงแค่อยู่ในจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยเฉพาะกับสร้างสรรค์บริการมาสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งเมื่อคนรุ่นนี้เติบโตเต็มที่ Afterpay ก็พร้อมที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าแบบฉุดไม่อยู่อีกต่อไปนั่นเองครับผม

References : https://baystbull.com/how-afterpay-ceo-nick-molnar-is-transforming-the-digital-shopping-experience/
https://www.jetstar.com/au/en/inspiration/articles/nick-molnar-success-hacks
https://www.cnbc.com/2020/12/08/afterpays-nick-molnar-is-australias-youngest-self-made-billionaire.html

Geek Story EP61 : Cyberbullying กับจุดจบ Social Network น้องใหม่ไฟแรงอย่าง Yik Yak

ต้องบอกว่ามาด้วย concept ง่าย ๆ เลยสำหรับ social network น้องใหม่ในขณะนั้นอย่าง Yik Yak โดยใช้ concept ง่าย ๆ คือ “a location-based social network that helps you connect with the people around you”

ซึ่งในกระแสที่ social network เจ้าใหญ่ได้ยึดครองตลาดไปแทบจะหมดแล้ว ก็ได้เกิดบริการที่ simple คือ ช่วยคุณติดต่อคนรอบกายคุณ ซึ่งเหมือนจะ idea ที่ดีนะ เพราะ facebook ก็เน้นไปในแนว social ขนาดใหญ่ ทั้งครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นสังคมใหญ่รอบตัวเรามากกว่า แต่ Yik Yak focus ที่ community ขนาดเล็ก ๆ แต่อยู่ใกล้ตัวเราจริง  ๆ ผ่าน location based

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/37futCR

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/2kxHtQ3

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3mj6Qzs

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/Z6zi5Gx37U0

References : en.wikipedia.org,startuphook.com,hyunjinp.wordpress.com,www.wyff4.com,www.slideshare.net