เบื้องหลัง Superintelligence Team ของ Mark Zuckerberg แค่วางท่า หรือจะเปลี่ยนโลก?

รู้หรือไม่ว่า สงครามครั้งใหม่ที่เดิมพันสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

สงครามครั้งนี้ ไม่ได้สู้กันด้วยกำลังทหาร แต่เป็นการต่อสู้กันด้วยมันสมองและเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ที่อาจมีมูลค่าสูงกว่า GDP ของหลายประเทศรวมกันเสียอีก

เรื่องราวทั้งหมดนี้คือ “สงคราม AI”

สมรภูมินี้มีผู้เล่นหลักคือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Meta, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Amazon, Microsoft และ Apple

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สงครามครั้งนี้ร้อนระอุขึ้นมาอย่างชัดเจน เกิดขึ้นเมื่อ Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Meta ประกาศจัดตั้งทีมพิเศษขึ้นมาในชื่อ “Superintelligence Team”

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังนักลงทุนและคู่แข่งว่า Meta กำลังจะเดิมพันครั้งใหญ่ หรือ “All-in” กับเทคโนโลยี AI

พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทกำลังจะทุ่มทรัพยากรทั้งหมดที่มี เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดนี้ให้ได้

แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ผู้โชกโชนอย่าง David Nicholson จาก Futurum Group กลับมองว่า การลงทุนครั้งนี้อาจมีความเสี่ยงซ่อนอยู่

เขาให้ความเห็นว่า การทุ่มเงินมหาศาลไปกับการสร้างทีมที่ดูยิ่งใหญ่ อาจเป็นเพียงกลยุทธ์ในการสร้างภาพลักษณ์ให้ ดูดีมากกว่าที่จะสร้างผลตอบแทนที่จับต้องได้ในระยะสั้น

เรื่องนี้คล้ายกับหลายบริษัทในอดีต ที่ใช้เงินไปกับการตลาดที่ดูหวือหวา แต่สุดท้ายโมเดลธุรกิจกลับไม่แข็งแกร่งพอ และก็ต้องล้มเหลวไปในที่สุด

เมื่อพี่ใหญ่อย่าง Meta ขยับตัว คู่แข่งเบอร์ต้นๆ อย่าง Alphabet ก็อยู่เฉยไม่ได้

การที่ Alphabet ซึ่งมี AI ที่แข็งแกร่งของตัวเองอยู่แล้ว ตัดสินใจไปจับมือกับ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT ที่กำลังดัง ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

มันสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ยักษ์ใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจ ว่าจะสามารถเอาชนะในสงครามครั้งนี้ได้โดยลำพัง การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งจึงเป็นทางเลือกที่เข้าท่า

แต่เบื้องหลังผู้เล่นที่ออกตัวอย่างชัดเจน ยังมีผู้เล่นอีกกลุ่มที่ทรงพลังอย่างเงียบๆ นั่นคือกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า “Hyperscalers”

Hyperscalers คือบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ขนาดมหึมาของโลก เช่น Google Cloud, Amazon Web Services (AWS) และ Microsoft Azure

บริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบอย่างมหาศาล เพราะพวกเขาคือเจ้าของ “ที่ดิน” ที่ธุรกิจดิจิทัลทั้งหมดต้องมาเช่าใช้อยู่แล้ว

สำหรับพวกเขา AI จึงไม่ใช่ธุรกิจใหม่ที่ต้องไปสร้างตัว แต่เป็นเหมือน “บริการเสริม” ที่สามารถนำมาเสนอขายให้กับฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้วนับล้านรายได้ทันที

และสุดท้าย คือผู้เล่นที่น่าจับตามองที่สุด เพราะยังคงนิ่งเงียบที่สุด นั่นก็คือ Apple ที่ผ่านมา Apple มักจะไม่ใช่ผู้เล่นคนแรกในตลาดใหม่ๆ แต่เมื่อไหร่ที่พวกเขาลงมาเล่น เกมก็มักจะเปลี่ยนไปเสมอ

นี่คือภาพรวมของสมรภูมิ AI ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ครบ และแต่ละรายก็มีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการ “อัดฉีด” เงินลงทุนอย่างมหาศาล

ข้อมูลล่าสุดคาดการณ์ว่า เฉพาะในปี 2024 ที่ผ่านมา บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่อาจใช้เงินลงทุนในด้าน AI รวมกันสูงถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8.8 ล้านล้านบาท

Meta คือหนึ่งในบริษัทที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุด โดยคาดว่าอาจสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำถามคือ เงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ ถูกนำไปใช้กับอะไร?

คำตอบส่วนใหญ่ก็คือ “ฮาร์ดแวร์” โดยเฉพาะชิปประมวลผลประสิทธิภาพสูง หรือ GPU ซึ่งเปรียบเสมือนสมองของ AI

และในตลาดชิป AI ตอนนี้ ก็มีผู้เล่นเพียงรายเดียวที่ครองตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ นั่นก็คือบริษัท Nvidia

ชิปของ Nvidia โดยเฉพาะรุ่นล่าสุดอย่าง Blackwell B200 กลายเป็นสินค้าที่เนื้อหอมและเป็นที่ต้องการของทุกบริษัทในเวลานี้

สถานการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ภาษี Nvidia” คือไม่ว่าบริษัทไหนอยากจะพัฒนา AI ก็ตาม ก็ต้องยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อชิปจาก Nvidia

ในทางธุรกิจแล้ว การพึ่งพาซัพพลายเออร์รายเดียว ถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงอย่างยิ่ง เพราะมันหมายถึงการไม่มีอำนาจต่อรอง และอาจทำให้ต้นทุนพุ่งกระฉูดจนฉุดไม่อยู่

เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุนตรงนี้เอง บริษัทอย่าง Google และ Amazon จึงเริ่มใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “Vertical Integration”

Vertical Integration คือการที่บริษัทเข้ามาควบคุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในกรณีนี้คือการออกแบบและพัฒนาชิป AI ของตัวเองขึ้นมา

Google มีชิปที่ชื่อว่า TPU ส่วน Amazon ก็มีชิป Trainium กลยุทธ์นี้คล้ายกับที่ Apple ออกแบบชิปตระกูล A-series ของตัวเองเพื่อใช้ใน iPhone

การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการพึ่งพา Nvidia แต่ยังทำให้พวกเขาสามารถสร้างฮาร์ดแวร์ที่ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ของตัวเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด

นอกจากเรื่องฮาร์ดแวร์แล้ว อีกหนึ่งสมรภูมิที่น่าสนใจก็คือ “โมเดลธุรกิจ” ที่แตกต่างกัน

Meta เลือกใช้โมเดลธุรกิจแบบ “Open Source” กับ AI ที่ชื่อว่า Llama ซึ่งคือการเปิดให้ใครก็ได้สามารถนำโค้ดไปพัฒนาต่อยอดได้ฟรี

ข้อดีของโมเดลนี้คือ มันช่วยสร้างการเติบโตให้กับระบบนิเวศ (Ecosystem) ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีคนจากทั่วโลกมาช่วยกันพัฒนา แต่ข้อเสียคือ การจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นรายได้โดยตรงนั้นทำได้ยากกว่า

ในทางกลับกัน OpenAI เจ้าของ ChatGPT เลือกใช้โมเดลแบบ “Closed Source” ซึ่งคือการเก็บเทคโนโลยีไว้เป็นความลับ และขายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยตรง

ข้อดีคือสามารถควบคุมคุณภาพและสร้างรายได้ได้ทันที แต่ก็อาจถูกคู่แข่งที่ใช้โมเดล Open Source พัฒนาตามทันและแซงไปได้ในที่สุด

ท่ามกลางกระแสที่กำลังบูมนี้ ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องระวัง นั่นคืออาจมีบริษัทที่ดูดีแต่ข้างใน “กลวง” ซ่อนอยู่

กรณีศึกษาที่คลาสสิกที่สุดก็คือเรื่องราวของ “Theranos” สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่เคยถูกยกย่องว่าสุดยอด แต่สุดท้ายกลับถูกเปิดโปงว่าเป็นเรื่องหลอกลวงจนบริษัทต้องปิดตัวไป

เรื่องนี้สอนให้นักลงทุนรู้ว่า บางครั้งเรื่องราวที่หอมหวนและความฝันอันสวยหรู ก็อาจไม่ใช่ของจริงเสมอไป การลงทุนที่ขาดการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ อาจทำให้เงินทุนทั้งหมดต้องมลายหายไปหมดสิ้นได้

มาถึงคำถามสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ แล้วใครคือผู้ที่จะชนะในสงครามครั้งนี้?

หากเราวิเคราะห์จากมุมมองของความได้เปรียบเชิงแข่งขัน หรือ “ป้อมปราการของบริษัท” (Moat) ที่ Warren Buffett ชอบพูดถึง

เราจะพบว่า แม้ Meta จะเป็นผู้ที่ลงทุนหนักที่สุด แต่พวกเขากลับมีป้อมปราการที่อาจจะไม่แข็งแกร่งเท่าคู่แข่งรายอื่น

สาเหตุก็เพราะ Meta ไม่ได้เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการบนมือถือเหมือนที่ Google มี Android และ Apple มี iOS และพวกเขาก็ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์เหมือน Amazon หรือ Microsoft

ดังนั้นแล้ว ผู้ชนะในเกมนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้เล่นที่คุม “แพลตฟอร์ม” ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว

นั่นก็คือ Alphabet (Google), Microsoft และ Amazon เพราะพวกเขาสามารถนำ AI มาต่อยอดกับธุรกิจเดิมที่มีกำไรมหาศาลอยู่แล้วได้ทันที

และอีกหนึ่งผู้ชนะที่แน่นอนก็คือ Nvidia ในฐานะผู้ผลิตชิป ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดในยุค AI

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ในสงครามเทคโนโลยี การมีผลิตภัณฑ์ที่เจ๋งเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

แต่การเป็นเจ้าของ “แพลตฟอร์ม” ที่ทุกคนต้องเข้ามาใช้งานต่างหาก คือความได้เปรียบทางธุรกิจที่ยั่งยืนและยากที่จะมีใครมาทำลายลงได้.

References : [artificialintelligence-news, cloud .google, ai .meta, britannica]

ทำไม Apple ถึงหนีออกจากจีนไม่ได้? กับเกมการเมืองที่แพงที่สุดในโลกเทคโนโลยี

ต้องบอกว่าตัวเลข 3.63 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง คือค่าแรงของคนงานที่ประกอบ iPhone ในจีนปัจจุบัน เปรียบเทียบกับอเมริกาที่ได้เกือบ 17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าเกือบห้าเท่าเลยทีเดียว

แต่การประกอบ iPhone รุ่นใหม่ใช้เวลาแค่ 11 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้นทุนแรงงานทั้งหมดสำหรับ iPhone 16 Pro คือแค่ 40 ดอลลาร์ หรือแค่ 4% ของราคาขายปลีก

ตัวเลขนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ถ้า Apple จ่ายค่าแรงระดับอเมริกันแล้วผลักดันต้นทุนให้กับผู้บริโภค ราคา iPhone จะเพิ่มขึ้นแค่ 146 ดอลลาร์เท่านั้น น้อยกว่าค่าอัพเกรด storage ของหลายคนเสียอีก

แล้วทำไม Apple ถึงยังคงติดอยู่ในจีน ทำไมไม่ย้ายออกมาเมื่อได้รับประโยชน์จากการเป็นอิสระขนาดนั้น

เหตุการณ์ในเดือน พฤศจิกายน ปี 2022 แสดงให้เห็นความเสี่ยงที่ชัดเจน Apple สูญเสียเงินหนึ่งพันล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ หลังจากนโยบาย COVID-0 ของจีนทำให้เกิดการประท้วงที่โรงงานสำคัญ

หากแต่ตัวเลข 146 ดอลลาร์ไม่ใช่ตัวเลขที่สำคัญ เพราะต้นทุนแรงงานไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ Apple พึ่งพาจีนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่คำว่า “ขนาด” และ “ความยืดหยุ่น” Apple ไม่ต้องการแค่ผลิต iPhone เพียงหนึ่งเครื่อง พวกเขาต้องการผลิต 590 เครื่องต่อนาที หรือ 35,000 เครื่องต่อชั่วโมง การผลิต 849,000 เครื่องต่อวัน และ 5.9 ล้านเครื่องต่อสัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

เพราะจากประเทศ 200 ประเทศบนโลก มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถผลิต iPhone ได้ในราคา ขนาด และมาตรฐานที่เข้มงวดแบบนี้

แม้ว่า Apple จะเริ่มผลิต iPhone ในอินเดียตั้งแต่ปี 2017 และภายในปี 2024 ผลิตได้ประมาณ 25 ล้านเครื่อง แต่การกระจายการผลิตไปยังอินเดียเกิดขึ้นช้ากว่าในจีนถึงสิบเท่า

ปัญหาแรกที่ทำให้เป็นเรื่องที่ยากที่จะย้ายจากจีนก็คือความต้องการที่ผันผวน เพราะ iPhone ขายได้เกือบสองเท่าระหว่าง เดือนกันยายน ถึงช่วง Christmas เมื่อเทียบกับช่วงอื่น ๆ เช่น ในเดือน เมษายน, พฤษภาคม และ มิถุนายน

CEO Tim Cook เกลียดการถือสินค้าคงคลัง เขาเรียกมันว่า “ความชั่วร้ายโดยพื้นฐาน” เปรียบเทียบกับธุรกิจนม หากผ่านวันหมดอายุ ก็จะมีปัญหาทันที

ในปี 2012 บริษัทวิจัย Gartner ประเมินว่าผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone เฉลี่ยอยู่ในการครอบครองของบริษัท Apple เพียงแค่ห้าวันเท่านั้น ซึ่งนับจากเวลาที่บินออกจากเครื่องบิน 747 ในจีนกลางจนถึงเวลาที่ขายให้กับลูกค้าใน Pittsburgh ใช้เวลาแค่ห้าวัน และตัวเลขนี้น่าจะดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การนำของ Cook

เพื่อรองรับความต้องการที่แปรผันสูงโดยไม่ถือสินค้าคงคลัง พันธมิตรการผลิตอย่าง Foxconn ต้องเพิ่มแรงงานเป็นสองเท่า จ้างคนงานเพิ่มถึงหนึ่งล้านคนในช่วงเตรียมตัวก่อนเดือนกันยายน แล้วปลดพวกเขาอย่างรวดเร็วหลังปีใหม่

ตามข้อมูลของ Patrick McGee ในหนังสือ “Apple and China” Foxconn เคยจ้างงานคนถึง 1.7 ล้านคน ในขณะที่ Walmart นายจ้างเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมี 2.1 ล้านคน

ลองจินตนาการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหาก Walmart ปลดพนักงานครึ่งหนึ่งทุกเดือนธันวาคม โดยไม่มีเงินชดเชย สำนักงานว่างงานจะล้นไปด้วยคนตกงาน

ครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเหล่านี้จะตกอยู่ในสภาพความยากจนอย่างกะทันหันทุกปี แต่นั่นไม่ใช่ในจีน นี่คือจุดที่ทำให้จีนพิเศษแบบสุดๆ

พลเมืองจีนถูกผูกติดทางกฎหมายกับภูมิภาคเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ทางการจีนผ่อนปรนข้อกำหนดเหล่านี้ อนุญาตให้คนเดินทางไปทั่วประเทศได้อย่างอิสระ

แต่มีเงื่อนไขก็คือ คุณสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ แต่คุณยังคงได้รับบริการของรัฐเฉพาะที่ครอบครัวของคุณลงทะเบียนอย่างเป็นทางการเท่านั้นซึ่งก็คือที่บ้านเกินของตนนั่นเอง

หากคุณเกิดในพื้นที่ชนบทของมณฑล Gansu ซึ่งมี GDP ต่อหัวเพียง 7,000 ดอลลาร์ ประมาณเท่ากับ Libya รัฐบาลอนุญาติให้คุณไปทำงานในโรงงานนอกปักกิ่งที่มี GDP ต่อหัวสูงกว่าสี่เท่า

แต่จะไม่อนุญาตให้คุณใช้โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียน ความแตกต่างของค่าจ้างอันมากโขระหว่างพื้นที่ชนบทและเมืองได้ผลักดันแรงงานย้ายไปยังโรงงานในเมืองใหญ่ ๆ

สิ่งที่สำคัญกว่ามากสำหรับ Apple คือความยืดหยุ่นอย่างมหาศาล ชนชั้นล่างของจีนประมาณ 300 ล้านคนหรือมากกว่านั้นของแรงงานเหล่านี้มีความพร้อมอยู่เสมอ

ทำให้ง่ายต่อการจ้างและง่ายต่อการไล่ออก สำหรับ Foxconn งานส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานที่น่าเบื่อ กิจวัตรที่โหดร้าย กะ 12 ชั่วโมง และสภาพแวดล้อมที่น่าเศร้า

Foxconn ไม่ต้องการให้คนงานพึงพอใจเพราะไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่นาน ๆ งานเหล่านี้ถูกออกแบบให้ตัดทิ้งได้แบบทันที พนักงานเฉลี่ยลาออกหลังจากทำงานได้เพียง 68 วัน

ไม่ช้าก็เร็ว พวกเขาก็ต้องการเจอลูก ซึ่งฝากไว้กับปู่ย่าตายายในบ้านเกิดเกือบตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงว่าในที่สุดพวกเขาก็จะต้องการการดูแลทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วย

แหล่งของแรงงานราคาถูกอีกแหล่งหนึ่งคือนักเรียน เมื่อ Foxconn ต้องการคนเพิ่ม รัฐบาลท้องถิ่นจะขนนักเรียนจากโรงเรียนอาชีวศึกษามาฝึกงาน 2-6 เดือน ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการจบการศึกษา

แล้วทำไมจีนถึงช่วยบริษัทเอกชนอเมริกัน คำตอบเกี่ยวข้องกับตัวเลขตั๋วเครื่องบิน 50 ที่นั่งชั้นธุรกิจเส้นทางระหว่าง San Francisco สู่ Shanghai ที่ Apple จองจาก United Airlines

ที่นั่ง 50 ที่รายวันนั้น แต่ละที่มีมูลค่าประมาณ 4,000 ดอลลาร์แสดงให้เห็นระดับการมีส่วนร่วมและการลงทุนของบริษัท ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ให้บริษัทอื่นในจีนผลิต แล้วแทบไม่มาสนใจใยดี

แต่ Apple ปฏิเสธที่จะปล่อยให้ชะตากรรมของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดอยู่ในมือของคนอื่น เพื่อรักษาการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด และตรงกับกำหนดเวลาที่เข้มงวด

Apple ได้ส่งวิศวกรเดินทางประมาณ 20,000 ครั้งต่อปีไปยัง Shanghai เพียงแห่งเดียว ณ ปี 2019 Apple เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ United Airline โดยใช้จ่ายเงินไปกว่า 150 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ปกติ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทที่เก็บความลับมากที่สุดบนโลก แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ Apple ซีเรียสมาก เพราะไม่ต้องการให้ Foxconn มีอำนาจมากจนเกินไป

ระหว่างปี 2007 ถึง 2012 อัตรากำไรของ Apple เติบโตจากประมาณ 20% เป็นเกือบ 35% ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ต้องขอบคุณ Foxconn แต่แม้จะเป็นผู้ทำให้ Apple กำไรพุ่งกระฉูด แต่อัตรากำไรของ Foxconn กลับลดลง

โดยหลังจากความสำเร็จอันน่าทึ่งของ iPhone ในปี 2007 Foxconn เริ่มหาสถานที่ใหม่เพื่อเสริมโรงงานใน Shenzhen ในเวลานั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะเลือกเมื่องที่ยากจน ชนบท และห่างไกลของจีนอย่างเจิ้งโจว

เมืองที่มีสนามบินรันเวย์เดียวที่ล้อมรอบด้วยฟาร์มครอบครัวและหมู่บ้านเล็กๆ คำถามก็คือ ภูมิภาคเล็กๆ แห่งนี้สามารถรองรับการมาถึงอย่างกะทันหันของคนงาน 300,000 คนได้อย่างไร

Foxconn ลงนามสัญญากับรัฐบาลเจิ้งโจว ในเดือนกรกฎาคม 2010 รัฐบาลท้องถิ่นจ้างคนงาน 2,000 คนทันทีเพื่อทำงานสามกะ 24-7 เพื่อสร้างโรงงานของ Apple ให้เสร็จ

ข้าราชการท้องถิ่นรีบรื้อถอนบริษัทที่ขวางเส้นทางการก่อสร้างโรงงาน Apple และแม้กระทั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟใต้ดินของเมืองเพื่อย้ายอุปกรณ์ไปยังโรงงาน ภายในเดือนสิงหาคม เพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น Foxconn เริ่มดำเนินการได้แทบจะทันที

แต่ความช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น พวกเขายังสรรหาคนงาน ยกเลิกภาษีองค์กร และกำหนดให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตพิเศษที่ปลอดจากภาษีศุลกากร แถมรัฐบาลเจิ้งโจวได้สร้างสนามบินใหม่ที่ทันสมัยขนาดยักษ์ไว้ข้างๆ โรงงาน Apple อีกด้วย

ดังที่ Tim Cook เคยกล่าวไว้ “จีนหยุดเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำมาหลายปีแล้ว” สิ่งที่ทำให้ Apple อยู่ในจีนไม่ใช่เรื่องต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการทางธุรกิจของ Apple และเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีน

อินเดียสามารถเสนอแรงงานจำนวนมากกว่าและถูกกว่า อเมริกาสามารถเสนอเครดิตภาษี แต่มีเพียงจีนเท่านั้น ที่ตั้งแต่บุคคลระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงข้าราชการท้องถิ่นระดับล่างสุด สามารถช่วยเหลือบริษัท Apple ได้ในทุกขั้นตอน

แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ว่า Apple จะพยายามกระจายการผลิตไปยังอินเดียและเวียดนาม และในปี 2024 อินเดียผลิต iPhone ได้ประมาณ 25 ล้านเครื่อง แต่ก็ยังคิดเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับจีน

ในช่วงที่ผ่านมา Apple พยายามส่งสัญญาณว่ากำลังลดการพึ่งพาจีน การส่งออก iPhone ที่ผลิตในอินเดียเพิ่มขึ้นหนึ่งในสามเป็นเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์

แต่ตามที่ Patrick McGee ผู้เขียนหนังสือ “Apple in China” ระบุไว้ว่า หาก iPhone รุ่นต่อไปที่คุณซื้อมีป้าย “Made in India” บนกล่อง โทรศัพท์เครื่องนั้นก็ไม่ได้พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่มีจีนเป็นศูนย์กลางน้อยไปกว่า iPhone เครื่องอื่นๆ เลย

หากมีปัญหาเกิดขึ้นในจีน iPhone ก็ไม่สามารถที่จะผลิตที่อินเดียได้ เพราะการประกอบชิ้นส่วนย่อย ๆ ล้วนเกิดขึ้นในจีนแทบจะทั้งสิ้น

สถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อ iPhone City ในเจิ้งโจว เริ่มเงียบลง เนื่องจาก Apple สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนให้กับแบรนด์จีนอย่าง Huawei และ Xiaomi และ Foxconn ย้ายการผลิตไปต่างประเทศ

ภายในโรงงาน Foxconn ที่เจิ้งโจว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5.6 ตารางกิโลเมตร ประมาณหนึ่งในสิบของ Manhattan และจ้างงานคนถึง 200,000 คน

พวกเขาต้องทำงานในห้องที่ไม่มีหน้าต่างที่มีกลิ่นคลอรีน สวมชุดป้องกันไฟฟ้าสถิตและหน้ากาก หากต้องการไปห้องน้ำ ต้องชดเชยเวลาที่เสียไป สภาพการทำงานที่โหดเหี้ยมแต่ต้องทน

สภาพการทำงานที่หนักหน่วงเป็นสิ่งที่ตั้งใจออกแบบมา เพื่อให้คนงานไม่อยากอยู่นาน และสามารถเปลี่ยนแรงงานได้ตามต้องการ เป็นระบบที่โครตโหดแต่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวของ Apple และจีนไม่ใช่เพียงเรื่องของต้นทุนแรงงานหรือการเมือง แต่เป็นเรื่องของระบบที่ซับซ้อนที่สร้างขึ้นมาในช่วงสองทศวรรษ ระบบที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์และต่างก็พึ่งพาซึ่งกันและกัน

จีนได้เทคโนโลยี การจ้างงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะที่ Apple ได้ความสามารถในการผลิตที่ไม่มีใครเทียบได้ ความยืดหยุ่นที่จำเป็น และต้นทุนที่แข่งขันได้

การที่ Apple จะสามารถหลุดออกจากการพึ่งพาจีนได้อย่างสมบูรณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องของเวลาเพียงแค่สองสามปี แต่อาจต้องใช้เวลาทั้งทศวรรษ และต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยี นโยบายรัฐบาล และพฤติกรรมผู้บริโภค

สำหรับตอนนี้ แม้จะมีความตึงเครียดทางการเมือง ภาษีที่เพิ่มขึ้น และความพยายามกระจายการผลิต Apple และจีนยังคงผูกพันกันอย่างแนบแน่น เพราะทั้งสองฝ่ายรู้ดีว่า การแยกทางอย่างกะทันหันจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งคู่

นี่คือความจริงเบื้องหลังที่ซับซ้อนกว่าตัวเลข 146 ดอลลาร์ มันไม่ใช่เพียงเรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของระบบ ความสัมพันธ์ และการพึ่งพาซึ่งกันและกันที่สร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน

ความเจ็บปวดของการแยกทางจะไม่ใช่แค่ตัวเลขในงบการเงิน แต่จะเป็นการสั่นคลอนทั้งระบบเศรษฐกิจโลก ทั้ง Apple และจีนต่างก็รู้ดีว่าพวกเขาต้องการกันและกันมากแค่ไหน

ในโลกที่การเมืองและเศรษฐกิจผสมผสานกันอย่างซับซ้อน ความสัมพันธ์แบบนี้แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังคงมีพลังที่แข็งแกร่งพอที่จะผูกมัดสองมหาอำนาจเข้าด้วยกัน

เรื่องราวของ Apple และจีนจึงเป็นมากกว่าการผลิต iPhone เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับพลังของการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ และความท้าทายในการแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง

References: [restofworld.org, cnbc, 9to5mac,PolyMatter]

การสังหารหมู่งานสาย STEM นักเศรษฐศาสตร์โนเบลเตือน ยุคปฏิวัติแรงงานครั้งใหม่ คุณพร้อมแล้วหรือยัง?

ต้องบอกว่ากลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็น “พี่ใหญ่” ในโลกของการทำงาน เป็นกลุ่มคนที่ใครๆ ก็หมายปองและถวิลหาอยากจะเป็น นั่นคือเหล่าผู้คนในสายงาน STEM

STEM ก็คือกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) นั่นเอง

ในอดีต คนกลุ่มนี้แทบจะไม่เคยต้องกังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพเลย พวกเขาคือผู้รังสรรค์นวัตกรรม คือคนที่ขีดเขียนอนาคต เป็นมันสมองที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่เราใช้กัน

ในขณะที่อาชีพอื่นเริ่มร้อนๆ หนาวๆ กับการมาของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คนในแวดวง STEM กลับรู้สึกชิลๆ เพราะคิดว่า “ก็เรานี่แหละคนสร้าง AI แล้วมันจะมาแย่งงานเราได้ยังไง?”

แต่ดูเหมือนว่าความคิดนั้นกำลังจะแปรเปลี่ยนไปเสียแล้ว

เพราะตอนนี้ ความเชื่อมั่นของคนกลุ่มนี้กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก และความกังวลก็เริ่มคืบคลานเข้ามาในใจของพวกเขาอย่างช้าๆ

เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อบริษัทจัดหางานด้านเทคโนโลยีอย่าง Sthree ได้ปล่อยผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า “How the STEM World Evolves” ออกมา

ผลสำรวจนี้เจาะลึกเข้าไปในความคิดของคนทำงานสาย STEM กว่าสองพันคนทั่วโลก และสิ่งที่ค้นพบก็น่าสนใจมากจนทำเอาหลายคนตกใจ

ตัวเลขมันฟ้องว่า 34% ของคนในสายงาน STEM ทั้งหมด เริ่มกังวลว่า AI จะเข้ามาแย่งงานของพวกเขาไปจนหมดสิ้น

แต่ที่พีคไปกว่านั้นคือ เมื่อมองไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วงการนี้ ตัวเลขความกังวลกลับพุ่งไปถึง 44% เลยทีเดียว

มันกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ที่ควรจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่า กลับเป็นฝ่ายที่หวาดกลัวมากที่สุด

เรื่องนี้มันกลับตาลปัตรจากที่เราเคยคิดกันว่าคนรุ่นเก่าต่างหากที่น่าจะกลัวเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ความจริงกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

เหตุผลก็เพราะว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญหน้าและอยู่ร่วมกับ AI ไปอีกหลายสิบปีในเส้นทางอาชีพของพวกเขา ความไม่แน่นอนในอนาคตจึงถาโถมเข้าใส่พวกเขาแบบจัดเต็ม

ความกังวลนี้ไม่ใช่เรื่องมโนไปเอง เพราะมีเสียงยืนยันจากบุคคลระดับโลกอย่าง Christopher Pissarides ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics ผู้เคยคว้ารางวัล Nobel Prize มาแล้วในปี 2010

เขาออกมาพูดแบบตรงไปตรงมา ชนิดที่ไม่ต้องอ้อมค้อมเลยว่า คนทำงานสาย STEM นั่นแหละที่ควรจะกังวลเรื่อง AI มากที่สุด

Pissarides อธิบายแนวคิดของเขาว่า ทักษะที่จำเป็นมากๆ ในตอนนี้ เช่น การรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูล และการพัฒนา AI ให้ใช้งานได้จริง กำลังเป็นเหมือน “เมล็ดพันธุ์แห่งการทำลายล้างตัวเอง”

พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่กำลังปลุกปั้นและสร้าง AI ขึ้นมาในวันนี้ ก็คือคนที่กำลังเสกอาวุธที่จะย้อนกลับมาทำให้ทักษะของตัวเองนั้นล้าสมัยและไร้ค่าในอนาคต

เบื้องหลังของสถานการณ์นี้มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ บริษัทใหญ่ๆ เริ่มมองเห็นศักยภาพจากการลงทุนใน AI แทนแรงงานมนุษย์

แม้ว่าตอนนี้จะยังเป็นการลงทุนเพียงน้อยนิด แต่พวกเขากำลังวางแผนระยะยาวที่จะค่อยๆ ลดการพึ่งพามนุษย์ลงเมื่อ AI ที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นเก่งกาจและทรงพลังมากพอ

ผลการศึกษาจากยักษ์ใหญ่ทางการเงินอย่าง Goldman Sachs ยิ่งตอกย้ำภาพนี้ให้ชัดเจนขึ้นไปอีก โดยคาดการณ์ว่า AI จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานในปัจจุบันได้ถึง 25%

ขณะที่อีกประมาณ 65% ของคนทำงาน ก็ต้องเตรียมใจไว้เลยว่ารูปแบบการทำงานของพวกเขาจะถูก AI เข้ามาเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

ไม่ใช่ทุกสายงานใน STEM ที่จะโดนผลกระทบเท่ากัน เหมือนกับพายุที่ไม่ได้พัดถล่มทุกพื้นที่ด้วยความรุนแรงเท่ากัน

กลุ่มที่ดูจะยิ้มออกมากที่สุดคือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพราะงานของพวกเขายังต้องอาศัยการสัมผัส การสื่อสาร และความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังทำได้ไม่ดีนัก

แต่สำหรับสายเทคโนโลยีจ๋าๆ อย่าง Software Development, Web Development, Data Science หรือการ Coding กลับต้องเจอศึกหนัก

เพราะงานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับตัวเลขและข้อมูลมหาศาล ซึ่งเป็นอาหารโปรดของ AI ที่สามารถประมวลผลได้รวดเร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์หลายเท่าตัว

เราได้เห็นตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างบริษัทแอปสอนภาษาชื่อดัง Duolingo ที่ CEO ออกมาประกาศกร้าวเมื่อเดือนเมษายน 2025 ว่าบริษัทจะเดินหน้าสู่การเป็น “AI-first” อย่างเต็มตัว

นั่นหมายความว่างานหลายอย่างที่เคยต้องจ้างมนุษย์ทำ ตอนนี้ถูกส่งต่อไปให้ AI จัดการแทนเรียบร้อยแล้ว เป็นการถีบส่งพนักงานเดิมแบบไม่ทันตั้งตัว

หรือเรื่องเล่าสุดเจ็บปวดของนักเขียนคนหนึ่งใน Tech Startup ที่ถูกเลิกจ้างแบบไร้คำอธิบาย แต่ภายหลังกลับไปเจอข้อความใน Slack ที่ผู้จัดการเรียกเธอว่า “Olivia/ChatGPT” เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า ChatGPT สามารถทำงานแทนเธอได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นมุมมืดของวงการเทคโนโลยีที่บางครั้งก็โหดเหี้ยมและไร้ความปรานีอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ท่ามกลางข่าวร้ายที่ถาโถมเข้ามา ก็ยังมีแสงสว่างรำไรให้เราได้ใจชื้นกันอยู่บ้าง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้สอนเราว่า ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทำลายล้างงานเก่า มันก็จะสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนเสมอ

ข้อมูลจาก World Economic Forum คาดการณ์ว่า แม้ AI และหุ่นยนต์จะทำให้ 85 ล้านตำแหน่งงานหายไปภายในปี 2025 แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จะรังสรรค์งานใหม่ๆ ขึ้นมาถึง 97 ล้านตำแหน่ง

งานใหม่เหล่านี้จะอยู่ในแวดวง AI Development, Data Science และที่สำคัญคืองานที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI

แต่ก็มีเงื่อนไขสำคัญ เพราะ 77% ของงาน AI ใหม่ๆ เหล่านี้ ต้องการวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท และอีก 18% ต้องการถึงระดับปริญญาเอกเลยทีเดียว

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ ได้เปลี่ยนทัศนคติของคนทำงานสาย STEM ใหม่ทั้งหมด พวกเขาไม่ได้มองแค่เรื่องเงินเดือนที่สูง ๆ เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผลสำรวจของ Sthree พบว่า 53% ของคนกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงในงาน” มากกว่าการขึ้นเงินเดือนเสียอีก

และกว่า 63% มองว่า “ความยืดหยุ่นในการทำงาน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเส้นทางอาชีพของพวกเขาอย่างมาก

ที่น่าสนใจที่สุดคือ 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า “การทำงานที่มีเป้าหมาย” และสร้างคุณค่า เป็นหัวใจหลักในการเลือกอาชีพของพวกเขาในยุคนี้

นั่นแสดงให้เห็นว่า คนสาย STEM ของแท้ในยุคนี้ เข้าใจดีว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป และการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องคือหนทางเดียวที่จะอยู่รอด

กว่า 50% ยินดีที่จะเลือกโปรเจกต์ที่ช่วยพัฒนาทักษะของพวกเขา แม้จะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าก็ตาม เพราะพวกเขารู้ดีว่าถ้าไม่ Upskill ตัวเอง ก็อาจจะกู่ไม่กลับและดับสนิทไปจากวงการนี้ได้เลย

นี่คือสัญญาณที่บอกว่า บริษัทต่างๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเช่นกัน การจะดึงดูดคนเก่งๆ ที่เป็นที่หมายปองไว้ให้อยู่กับองค์กรต่อไปได้ ไม่ใช่แค่การอัดฉีดเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

บริษัทต้องลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของพนักงาน เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงที่พวกเขาสามารถเติบโตและสยายปีกไปพร้อมกับองค์กรได้

ตัวอย่างที่เจ๋งมาก ๆ คือ Amazon ที่ประกาศทุ่มงบกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการ “Upskilling 2025” เพื่อฝึกอบรมพนักงานกว่า 300,000 คน ให้มีทักษะพร้อมสำหรับงานด้านเทคนิคในอนาคต

แล้วเราควรจะรับมือกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร?

สำหรับคนที่ทำงานในสาย STEM อยู่แล้ว คำแนะนำไม่ใช่การตั้งป้อมสู้กับ AI แต่คือการเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เก่งกว่าคนอื่น

ลองคิดดูสิว่ามันจะเจ๋งแค่ไหน ถ้าเราสามารถใช้ ChatGPT ช่วยร่างโค้ด หรือใช้ GitHub Copilot ช่วยเขียนโปรแกรม ทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และการพัฒนาทักษะที่ AI ยังทำได้ไม่ดีพอ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ และที่สำคัญที่สุดคือทักษะการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์

สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่กำลังเลือกเส้นทางชีวิต Christopher Pissarides แนะนำว่าอย่ามองข้ามทักษะที่เกี่ยวข้องกับความเข้าอกเข้าใจ (Empathetic Skills) และความคิดสร้างสรรค์

งานที่ต้องใช้การดูแลเอาใจใส่ การสื่อสาร และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน และเป็นงานที่ AI ไม่สามารถทำแทนได้อย่างสมบูรณ์

มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษยชาติเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบนี้

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตเคยทำให้คนกลัวว่าจะตกงานกันถ้วนหน้า แต่สุดท้ายมันก็สร้างงานใหม่ๆ และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนขึ้นมามากมาย

ยุคอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน ตอนที่มันเข้ามาใหม่ๆ ผู้คนต่างพากันหวาดกลัวว่าร้านค้าจะเจ๊ง พนักงานธนาคารจะตกงาน

แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการถือกำเนิดของ E-commerce, Digital Marketing และอาชีพอีกนับไม่ถ้วน ที่สร้างโอกาสให้คนธรรมดาสามารถก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้

AI ก็อาจจะเป็นเช่นนั้น มันอาจจะทำให้บางอาชีพต้องจบเห่และมลายหายไปหมดสิ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จะเปิดประตูสู่โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาสที่เรายังจินตนาการไม่ถึง

กุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การต่อต้านหรือหลีกหนี แต่คือการปรับตัว เรียนรู้ และเปิดใจยอมรับ

อนาคตของการทำงานไม่ได้ถูกขีดชะตาไว้ให้เราต้องพ่ายแพ้ แต่ถูกขีดเขียนขึ้นเพื่อให้เราได้แสดงความสามารถในการปรับตัวและความเป็นมนุษย์ของเราออกมา

เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากเครื่องจักร ไม่ใช่ความสามารถในการประมวลผลข้อมูล แต่คือหัวใจ ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ และจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด

และนั่นคือความสามารถที่แท้จริง ที่จะทำให้เราไม่เพียงแค่อยู่รอด แต่จะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสง่างามในยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง.

References: [bloomberg, lse.ac.uk, sthree, taipeitimes, specialiststaffinggroup]

25 ปีแห่งความภักดี VS 1 วินาทีของอัลกอริทึม เมื่อ Microsoft ใช้คอมพิวเตอร์อัลกอริทึมตัดสินว่าใครควรออก

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งคอมพิวเตอร์จะมาตัดสินชะตากรรมชีวิตการทำงานของเรา? เรื่องราวในบทความนี้อาจทำให้เราต้องคิดทบทวนความเชื่อเรื่องความภักดีต่อบริษัทใหม่

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2025 วงการเทคโนโลยีได้รับข่าวใหญ่จาก Microsoft ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์ที่หลายคนเทิดทูน ประกาศการปลดพนักงานครั้งใหญ่

Microsoft ปลดพนักงานไป 6,000 คน หรือประมาณ 3% ของพนักงานทั่วโลก บริษัทให้เหตุผลแบบเป็นทางการ “เราดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริษัทมีตำแหน่งที่ดีที่สุดในการแข่งขัน”

การปลดงานครั้งนี้เป็นรอบที่ใหญ่ที่สุดของ Microsoft นับตั้งแต่ปี 2023 ที่บริษัทปลดพนักงานออกไป 10,000 คน

ที่น่าสนใจคือครั้งนี้เป็นรอบที่สองในปี 2025 แล้ว ก่อนหน้านี้บริษัทเพิ่งปลดพนักงานไปประมาณ 1% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจของการปลดพนักงานในรอบนี้ก็คือ มันกระจายไปทุกระดับ ทุกทีม ทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการระดับสูงหรือพนักงานทั่วไป

วิศวกรซอฟต์แวร์กลายเป็นเป้าหมายหลัก ถูกปลดออกไปมากกว่า 2,000 ตำแหน่งในรัฐ Washington เพียงแห่งเดียว

บริษัทอ้างว่าเป็นการ “กำจัดชั้นการจัดการที่ไม่จำเป็น” และปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเร่งโครงการ AI แต่พอดูตัวเลขผลกำไรแล้วทุกคนต่างสงสัยกับการตัดสินใจครั้งนี้ของ Microsoft

Microsoft เพิ่งรายงานผลกำไรที่ดีมาก ๆ ในไตรมาสแรกของปี 2025 เกินคาดการณ์ด้วย แล้วทำไมต้องปลดคนล่ะ?

ในบรรดาเรื่องราวที่เกิดขึ้น มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนทั้งโลกต้องอึ้ง นั่นคือเรื่องของพนักงาน Microsoft คนหนึ่งที่ทำงานมา 25 ปีเต็ม

ลองคิดดู 25 ปี มันคือเกือบครึ่งชีวิตของคนเราแล้ว แต่เขาถูกปลดงานด้วยเหตุผลที่โครตไร้สาระ “ถูกเลือกแบบสุ่มโดยอัลกอริทึมคอมพิวเตอร์”

ภรรยาของเขาเล่าเรื่องนี้บน Reddit ด้วยความระทมทุกข์ เธอบอกว่าสามีของเธอได้รับการบอกกล่าวเรื่องการปลดงานเพียงไม่กี่วันก่อนวันเกิดปีที่ 48

ที่โหดที่สุดคือวันสุดท้ายของเขาในที่ทำงานคือวันเกิดของเขาเองพอดี เป็นของขวัญวันเกิดที่เจ็บปวดที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

เขาเป็นคนออทิสติกและป่วยเป็นโรค Multiple Sclerosis แต่แทบไม่เคยลาป่วยเลย เขาทำงานกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่เคยบ่น เขาเป็นคนที่รับเวรในช่วงวันหยุด Christmas และ Thanksgiving เพื่อให้เพื่อนร่วมงานที่มีลูกได้กลับบ้าน

ภรรยาของเขาเล่าต่อว่า “เขาไม่เคยขาดงานสักวัน แทบไม่เคยโทรเพื่อลาป่วย และถ้าเขาป่วยจริงๆ เขาก็จะทำงานจากบ้าน เขาไม่เคยขอขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง”

“เขาแค่มาทำงานต่อไปและแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้” คำพูดนี้ทำให้เราเห็นภาพของคนที่ทุ่มเทให้กับงานอย่างแท้จริง

และสิ่งที่น่าตลกก็คือเขาเพิ่งได้รับรางวัลคริสตัลสำหรับการทำงาน 25 ปีเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ได้รับรางวัลแล้วก็ถูกไล่ออก

เขาเคยได้รับรางวัลสำหรับการแก้ไขปัญหาเทคนิคที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ แต่อัลกอริทึมไม่รู้เรื่องพวกนี้เลยด้วยซ้ำ

เขายังเป็นพี่เลี้ยงให้กับเพื่อนร่วมงานหลายร้อยคน หลายคนในจำนวนนั้นได้เลื่อนขั้นไปเป็นผู้บริหาร แต่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไรต่ออัลกอริทึม

เหตุการณ์คล้ายๆ กันยังเกิดขึ้นกับ Gabriela de Queiroz ผู้อำนวยการฝ่าย AI สำหรับ Microsoft for Startups ที่ถูกปลดงานในรอบเดียวกัน

เธอถูกปลดจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ AI ในช่วงเวลาที่ Microsoft กำลังลงทุนอย่างบ้าคลั่งใน AI

Gabriela เขียนบน X ว่า “ฉันได้รับผลกระทบจากการปลดงานรอบล่าสุดของ Microsoft เศร้าใจไหม แน่นอน ฉันใจสลายที่เห็นคนเก่งมากมายที่ฉันมีเกียรติได้ร่วมงานด้วยถูกปลด”

“เหล่านี้คือคนที่ใส่ใจอย่างลึกซึ้ง ทำเกินกว่าที่คาดหวัง และสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง” คำพูดของเธอสะท้อนความรู้สึกของคนที่เหมือนกำลังถูกแทงข้างหลัง แม้ว่าเธอจะถูกขอให้หยุดงาน แต่เธอยังคงเข้าร่วมประชุมและทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ

“ฉันเลือกที่จะอยู่อีกสักหน่อย เข้าร่วมประชุม ทำงานที่ทำได้ให้เสร็จ” เธอกล่าว

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการถกเถียงอย่างมากในโลกออนไลน์ ผู้คนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้อัลกอริทึมในการตัดสินใจเรื่องการปลดงาน

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า “นี่คือเหตุผลที่ไม่มีใครควรภักดีต่อนายจ้าง” คำพูดที่ฟังแล้วเจ็บปวดแต่เป็นความจริง

อีกคนแสดงความสงสัยว่า “น่าสนใจที่จะรู้ว่ามีกี่คนที่ถูกเลือกโดยอัลกอริทึมนี้ที่อายุเกิน 40 และ/หรือมีปัญหาสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายสูง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเริ่มเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีการกำกับดูแลจากมนุษย์ในกระบวนการตัดสินใจเรื่องการปลดงาน

พวกเขาระบุว่าแม้อัลกอริทึมจะเจ๋งในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก แต่ไม่ควรเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องการปลดงาน การขาดความเป็นมนุษย์มันดูไม่ make sense สำหรับเรื่องใหญ่ ๆ อย่างเช่นการปลดพนักงาน

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา CEO Satya Nadella เปิดเผยว่า AI ตอนนี้เขียนโค้ดได้ถึง 30% ในโครงการบางโครงการ ตัวเลขที่ฟังแล้วเจ๋งแต่ก็น่ากลัวในเวลาเดียวกัน รองประธานคนหนึ่งยังเรียกร้องให้ทีมต่างๆ เพิ่มโค้ดที่สร้างโดย AI จาก 20-30% เป็น 50%

บริษัทได้ลงทุนประมาณ 80 พันล้านดอลลาร์ในการสร้างศูนย์ข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายในด้านเงินเดือนพนักงาน

แต่เรื่องที่ conflict กันก็คือ Microsoft ปลดพนักงานในขณะที่ยังคงรับสมัครและจ้างพนักงานใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อขายผลิตภัณฑ์ AI ใหม่ๆ

ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ Microsoft เท่านั้น แต่ยังลามไปทั่ววงการเทคโนโลยี

ตามข้อมูลจาก Layoffs .fyi มีพนักงานเทคโนโลยีมากกว่า 53,000 คนถูกปลดงานจาก 126 บริษัทในปี 2025 เมื่อเทียบกับ 153,000 คนจาก 551 บริษัทในปี 2024

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ที่บริษัทต่างๆ พยายามปรับตัวเข้ากับยุคของ AI

เหตุการณ์นี้ได้เผยให้เห็นความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล ที่ความภักดีและการทุ่มเทไม่ใช่การประกันความมั่นคงในอาชีพการงานอีกต่อไป

การที่อัลกอริทึมสามารถตัดสินใจได้ว่าใครควรอยู่หรือไปโดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์ ความสามารถ หรือความทุ่มเทของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดคำถามกับความเชื่อเดิม ๆ

มันทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ในการบริหารงาน เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่การตัดสินใจของมนุษย์

นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการทบทวนนโยบายการใช้ AI ในการตัดสินใจด้านทรัพยากรบุคคล

Gabriela de Queiroz ได้ส่งข้อความให้กำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยกล่าวว่า “สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน คุณไม่ได้อยู่คนเดียว มีพวกเราอีกอย่างน้อย 6,000 คน”

ภรรยาของพนักงานที่ถูกปลดงานได้ปิดท้ายโพสต์ของเธอด้วยข้อความที่เจ็บปวดรวดร้าว “ฉันไม่ต้องการความสงสาร ฉันแค่ต้องการให้ใครสักคนรู้ว่าโลกนี้ทำอะไรกับคนที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่มัน”

เรื่องราวนี้ทำให้เราได้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน ที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างไม่ใช่สิ่งที่มั่นคงอีกต่อไป

ที่สำคัญคือการที่เทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยมนุษย์กลับกลายเป็นเครื่องมือที่อาจทำลายความเป็นมนุษย์ของเราเอง

นี่คือบทเรียนที่เราทุกคนควรจดจำ ในยุคที่ AI และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เราต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังตัวเลขและอัลกอริทึมทั้งหลาย มีมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึก มีครอบครัว และมีความฝันอยู่

การสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพของเทคโนโลยีกับความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่เราต้องฝ่าฝันต่อสู้ในอนาคต ไม่ให้เทคโนโลยีมาขีดชะตาชีวิตของเราแบบไร้เหตุผล

References : [cnbc, apnews, geekwire, theregister, axios]

การผูกขาดของ Google กำลังสิ้นสุดลง อนาคตการค้นหาข้อมูล AI จะเข้ามาแทนที่ ได้จริงหรือ

ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมว่าสักวันหนึ่ง Google อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของคนเราในการค้นหาข้อมูล ซึ่งเมื่อก่อนถ้าเราต้องการหาข้อมูลอะไร สิ่งแรกที่เราทำคือ “Google หาให้หน่อย” ใช่ไหม

Google กลายเป็นกริยาไปเสียแล้ว มันไม่ใช่แค่ชื่อบริษัท แต่เป็นวิธีการดำเนินชีวิตของเรา แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีได้เกิดขึ้นแล้ว

Google เริ่มสูญเสียการควบคุมตลาดค้นหา ส่วนแบ่งตลาดของพวกเขาลดลงจาก 90% มาเป็น 89.34% ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ใช่ไหม แค่ 0.66% เท่านั้นเอง

แต่สำหรับ Google แล้ว นี่เป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ การลดลงแค่ 1% หมายถึงผู้ใช้หลายสิบล้านคนที่เลือกใช้บริการอื่นแทน และที่สำคัญกว่านั้น นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 เมื่อ Apple ประกาศว่าพวกเขากำลังพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องเครื่องมือค้นหาที่ขับเคลื่อนด้วย AI

ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ Google เป็นตัวเลือกมาตรฐานบน iPhone และอุปกรณ์อื่นๆ ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา หุ้น Google ดิ่งลงเหวลงไป 7.5% ในวันเดียว ทำให้บริษัทสูญเสียมูลค่าตลาดไปถึง 150 พันล้านดอลลาร์ เอาเป็นว่าเงินมากกว่า GDP ของประเทศไทยในหนึ่งเดือน

แต่เกิดอะไรขึ้นกันแน่ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้หลายล้านคนเริ่มหันไปจาก Google หลังจากที่เราใช้มันมากว่า 25 ปี

เรื่องราวเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2015 เมื่อ Google ในที่สุดก็เข้าถึงส่วนแบ่งตลาด 90% และรักษาตัวเลขนี้มาอย่างยาวนานตลอด 10 ปี Bing, Yahoo และเครื่องมือค้นหาอื่นๆ ต้องมาแย่งกันส่วนที่เหลือไม่ถึง 10%

ในยุคนั้น ทุกคนใช้แต่ Google โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเครื่องมือค้นหาตัวอื่นอยู่ เมื่อเราต้องการหาข้อมูลอะไร สิ่งแรกที่นึกถึงคือ “Google ดู” ไม่ใช่ “ค้นหาดู”

แต่เมื่อบริษัทใดมีการผูกขาดในระดับนี้ สิ่งต่างๆ มักจะไปในทิศทางที่ไม่คาดคิด เมื่อไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่มีแรงผลักดันให้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น

มีแต่การหาวิธีทำเงินให้มากขึ้น Google Search ค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว นักวิจัยพบว่าผลลัพธ์ของ Google เต็มไปด้วยเนื้อหาคุณภาพต่ำ

ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหลอก Algorithm มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของ Google และการเล่นกับ Algorithm กลายเป็นจุดสนใจหลัก

นั่นเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นสูตรอาหารที่เป็นบล็อกโพสต์ยาว 3,000 คำเพื่อตอบคำถาม “วิธีต้มไข่” มันไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแค่เก่งในการหลอก Google เท่านั้น คุณต้องเลื่อนผ่านเรื่องราวชีวิตของคนเขียน ประวัติของไข่ในโลก และโฆษณา 15 ตัว ก่อนจะได้เห็นขั้นตอนการต้มไข่จริงๆ

สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้นเมื่อ Google เริ่มถูกแรงกดดันจาก Wall Street Google เป็นบริษัทมหาชน แม้ว่าพวกเขาจะควบคุมตลาดได้ แต่นักลงทุนไม่ต้องการความมั่นคง

พวกเขาถวิลหาการเติบโต นักลงทุนต้องการกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อไป ไม่ใช่กำไรที่คงที่ มีความขัดแย้งภายในที่รุนแรงระหว่างทีมผลิตภัณฑ์และทีมโฆษณา

ฝ่ายหนึ่งต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น แต่อีกฝ่ายต้องการเงินมากขึ้น และแน่นอนว่าเราทุกคนรู้ว่าใครเป็นฝ่ายชนะ Ben Gomes อดีตหัวหน้าแผนก Search ของ Google เขียนในอีเมลภายในว่า “ผมคิดว่าเรากำลังหิวเงินมากเกินไป ผมคิดว่าการที่เราปรารถนาการเติบโตของการค้นหาและผู้ใช้มากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าเราโฟกัสไปที่การหาเงินจากโฆษณามากเกินไป”

ในขณะเดียวกัน Google ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการรักษาอำนาจผูกขาด พวกเขาจ่ายเงินให้กับเบราว์เซอร์ต่างๆ เพื่อให้ Google เป็นตัวเลือกมาตรฐาน

ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาจ่ายถึง 20 พันล้านดอลลาร์เพื่อเป็นเครื่องมือค้นหามาตรฐานบน iPhone กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ไม่พอใจเรื่องนี้ พวกเขาฟ้องร้อง Google ในศาล

ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ กล่าวว่า Google ตั้งใจเข้าร่วมในการกระทำต่อต้านการแข่งขันหลายอย่างเพื่อได้มาและรักษาอำนาจผูกขาด

แต่ในขณะที่ Google มุ่งเน้นการรักษาการผูกขาดแทนที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น สิ่งใหม่มันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เมื่อปลายปี 2024 ChatGPT ได้ทำการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่จะปฏิวัติวงการ การเปิดตัวฟีเจอร์การค้นหา หากคุณเปิด ChatGPT ใต้ช่องข้อความจะมี “ปุ่มค้นหา”

การพิมพ์จากตรงนั้นจะแสดงผลลัพธ์การค้นหา พร้อมข้อมูลและบทความที่คุณสามารถเข้าไปอ่านได้ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในการสำรวจผู้บริโภคสหรัฐฯ 5,000 คน พบว่า 39% ใช้ AI สำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ 43% สำหรับแนะนำอาหารท้องถิ่น 47% สำหรับแนะนำผลิตภัณฑ์ และ 55% สำหรับการทำวิจัย

ตัวเลขเหล่านี้กำลังพุ่งทะยานอย่างน่าตกใจ ในเดือนกุมภาพันธ์ การรับชมจากแหล่ง AI เพิ่มขึ้น 1,200% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2024

แล้วทำไมถึงเป็น AI ทำไม AI ถึงดีกว่าการค้นหาใน Google เริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ชัด AI กำจัดผลลัพธ์ที่น่ารำคาญและยุ่งเหยิงของ Google

คุณไม่ต้องเลื่อนผ่านโฆษณา 4-5 ตัวข้างบนเพื่อหาสิ่งที่ต้องการ มันอาจไม่เร็วเท่า Google แต่ช่วยประหยัดเวลาโดยให้เฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจ่ายเงินให้คุณเห็น

แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ความแตกต่างใหญ่ระหว่างเครื่องมือค้นหาและแพลตฟอร์ม AI อย่าง ChatGPT และ Perplexity คือเรื่องของบริบท

Google ถูกออกแบบมาสำหรับการค้นหาแบบคำหลัก เพราะมันถูกสร้างมาเพื่อความเร็วและการ scale สำหรับการค้นหาหลายพันล้านครั้ง

จากผลลัพธ์หลายพันล้านรายการ ในการหาเนื้อหา คุณต้องจับคู่คำหลักและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องจากการค้นหา

ในทางกลับกัน AI เป็นโมเดลภาษา ดังนั้นมันจึงเข้าใจบริบทได้ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถถามว่า “จอภาพตัวที่สองของฉันกระพริบสุ่มๆ มันเพิ่งเริ่มเป็นหลังจากที่ฉันเปลี่ยนเป็นสาย DisplayPort ฉันอัปเดตไดรเวอร์ GPU และตรวจสอบการตั้งค่า refresh rate แล้ว” จากนั้น AI จะจำได้ว่าคุณลองอะไรไปแล้วบ้าง กรองผลลัพธ์ที่ไม่มีประโยชน์ออกไป

และสามารถถามคำถามติดตาม รวมถึงระบุปัญหาที่ทราบกันดีในส่วนต่างๆ ของปัญหาของคุณโดยเฉพาะ ซึ่งกับ Google มันไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้

และอาจแค่แสดงผลลัพธ์เพิ่มเติมอย่าง “แก้หน้าจอกระพริบ” หมายความว่าคุณต้องดูผลลัพธ์เดิมๆ มากขึ้นก่อนจะเจอสิ่งใหม่และมีประโยชน์อย่างแท้จริง

สถิติแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ผู้ใช้ที่มาจาก AI search ใช้เวลาบนเว็บไซต์มากขึ้น 8% ดูหน้าเว็บมากขึ้น 12% และมี bounce rate (สัดส่วนของผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่ออกจากเว็บไซต์หลังจากดูหน้าเดียวเท่านั้น หรือในเวลาที่สั้นมาก) ต่ำกว่า 23% เมื่อเทียบกับผู้ที่มาจากการค้นหาแบบดั้งเดิม นี่เป็นเพราะแหล่งข้อมูลที่คุณได้จาก AI เกี่ยวข้องมากกว่า

ดังนั้นคุณจึงหาสิ่งที่ต้องการได้เร็วกว่าและอยู่นานกว่า แทนที่จะเปิดผลลัพธ์การค้นหาใน Google แล้วออกไป ลองอันอื่น แล้วออกอีก

Google เริ่มตื่นตระหนกจริงๆ Scott Jenson พนักงานมากประสบการณ์ 16 ปีและอดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ที่ Google อธิบายว่า

“โครงการ AI ที่ผมทำงานด้วยมีแรงจูงใจที่แย่และถูกขับเคลื่อนด้วยความตื่นตระหนกแบบไร้สมองที่ว่าตราบใดที่มี ‘AI’ อยู่ในนั้น มันก็จะยอดเยี่ยม”

“มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ มันเป็นความตื่นตระหนกที่ว่าพวกเขากำลังตกขบวน” Google ตอบสนองด้วยการเร่งพัฒนา AI

แต่การพยายามนี้ไม่ค่อยราบรื่น มีความล้มเหลวกับ Bard ซึ่งให้ข้อมูลผิด จากนั้นก็มีการปล่อย Gemini ออกมาแต่ก็ล้มเหลวตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรก

เมื่อพวกเขารีบรวม Gemini เข้ากับการค้นหา ซึ่งจะให้คำตอบทันทีที่ด้านบนของการค้นหา ผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ผิดเพี้ยน

Gemini แนะนำให้เติมกาวลงในพิซซ่า หรือแนะนำให้ผู้ใช้ควรกินหินเล็กๆ วันละก้อน เพราะ “หินเป็นแหล่งแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญ”

หลังจากนั้น Google ถอน Gemini ออกชั่วคราว และ มูลค่าหุ้นของ Alphabet ลดฮวบลงไป 70 พันล้านดอลลาร์ในวันเดียว Google เริ่มเพิ่มการใช้จ่าย AI มากขึ้น

ในการประชุมผลประกอบการไตรมาส 1 ของ Alphabet พวกเขาประกาศเพิ่มการใช้จ่าย AI 43% เป็น 17 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ไปที่เซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูล

พวกเขายังลงทุนรวม 75 พันล้านดอลลาร์ตลอดปี 2025 แต่ยังมีปัญหาใหญ่ที่ Google ต้องเผชิญ ไม่ชัดเจนว่า Google และ AI จะทำงานร่วมกันได้จริงๆ หรือไม่

สาเหตุสำคัญก็คือรายได้ส่วนใหญ่ของ Google มาจากโฆษณา ในปี 2023 โฆษณาคิดเป็นกว่า 76% ของรายได้ Google ซึ่งมากกว่า 230 พันล้านดอลลาร์

ส่วนใหญ่มาจากการค้นหา แต่หาก Google ผลักดัน Gemini หมายความว่าผู้คนจะไม่คลิกโฆษณา และตอนนี้ผู้ลงโฆษณาเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นใน Google ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Raptive ซึ่งช่วยขายโฆษณาดิจิทัลให้กับเว็บไซต์ของครีเอเตอร์อิสระ 5,000 คน ประเมินว่า AI Overviews อาจทำให้การเข้าชมลดลงถึง 25% และทำให้อุตสาหกรรมสูญเสียรายได้จากโฆษณา 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ที่น่าขันคือ Google เป็นผู้เริ่มต้นการแข่งขัน AI ตั้งแต่แรก วันที่ 12 มิถุนายน 2017 นักวิจัย Google เผยแพร่บทความที่เปลี่ยนโลก

“Attention Is All You Need” บทความนี้ถูกอ้างอิงมากกว่า 173,000 ครั้ง และอยู่ในอันดับสิบของบทความที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในศตวรรษที่ 21

นี่คือรากฐานสำคัญของ Generative AI เช่น ChatGPT แต่ ChatGPT ไม่ได้เปิดตัวจนกระทั่งปลายปี 2022 ในขณะที่ Google มีเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยอยู่ในมือแล้วในตอนนั้น

และพวกเขามีมันก่อนใครๆ แต่ Google ไม่สนใจ เพราะเมื่อ Sundar Pichai ได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ในปี 2015 เขาโฟกัสในการลดขนาดลงการลงทุนใหญ่ๆ ของพวกเขาในเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Google Glass, Project Loon, Google Fiber, Google Wave

เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ไห้ผลตอบแทน Google จึงกลับไปมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการค้นหาเป็นหลัก

Aidan Gomez ผู้ร่วมเขียนบทความที่เปลี่ยนโลกนั้นรู้ว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่ไปไหนที่ Google “ในบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Google คุณไม่สามารถสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ได้อย่างอิสระจริงๆ โดยพื้นฐานแล้ว โครงสร้างองค์กรไม่สนับสนุนมัน ดังนั้นคุณต้องไปสร้างมันเอง” ดังนั้นเขาจึงลาออก แต่ไม่ใช่แค่เขาคนเดียว

จากผู้ร่วมเขียนทั้งแปดคน เจ็ดคนออกจาก Google หกคนก่อตั้งสตาร์ทอัพ และหนึ่งคนเข้าร่วม OpenAI ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจาก Sundar Pichai เข้ามาและกล่าวว่า Google “จะเปลี่ยนจากโลกที่มือถือเป็นหลักไปสู่โลกที่ AI เป็นหลัก” ดูเหมือนว่าพวกเขาทำแบบนี้เมื่อถูกบังคับเท่านั้น

การโฟกัสของ Google ในการรักษาการผูกขาดกลับกลายเป็นสิ่งที่กัดกร่อนการผูกขาดนั้นเอง ตอนนี้พวกเขาเริ่มสูญเสียการผูกขาด

สถานการณ์ในวันนี้อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหญ่ คำถามคือ Google จะปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตนเองได้โดยไม่ทำร้ายรายได้ของตนเองหรือไม่

Google อยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันซึ่งหลายบริษัทเคยเผชิญมาก่อน และโดยทั่วไปแล้ว มันไม่จบลงด้วยดี

สิ่งที่เราเห็นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 การที่เทคโนโลยี AI เข้ามาท้าทายอำนาจของ Google

ไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขันทางธุรกิจธรรมดา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของวิธีที่เราเข้าถึงข้อมูล เราอาจกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

จากยุคของการค้นหาไปสู่ยุคของการสนทนากับข้อมูล จากการพิมพ์คำหลักไปสู่การถามคำถามที่ซับซ้อน จากการได้รับลิงก์หลายร้อยอันไปสู่การได้รับคำตอบที่ตรงจุด

Google ยังคงเป็นผู้นำในตลาดค้นหาอยู่ แต่นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี พวกเขาต้องเผชิญกับการแข่งขันจริงจัง และการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มาจากเครื่องมือค้นหาตัวใหม่ แต่มาจากแนวคิดใหม่ทั้งหมดในการเข้าถึงข้อมูล

อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ วิธีที่เราค้นหาและเข้าถึงข้อมูลกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจขีดชะตาการใช้อินเทอร์เน็ตของเราในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

ตอนนี้ Perplexity AI กำลังพุ่งแรงขึ้นมาอย่างน่าตกใจ มีผู้ใช้งานมากกว่า 15 ล้านคนต่อเดือนและเติบโต 50% ในช่วงสามเดือน

บริษัทมีมูลค่าถึง 9 พันล้านดอลลาร์แล้ว และได้รับเงินลงทุน 915 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนดังอย่าง NVIDIA, Jeff Bezos และ SoftBank

สิ่งที่น่าสนใจคือ Perplexity ไม่ได้แค่ทำการค้นหาธรรมดา แต่ยังสามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนได้อย่างเข้าท่า พร้อมอ้างอิงแหล่งที่มาที่ชัดเจน ผู้ใช้ใช้เวลาเฉลี่ย 6 นาที 26 วินาทีต่อครั้ง ซึ่งยาวกว่าการใช้ Google มาก แสดงว่าผู้คนพอใจกับคำตอบที่ได้รับ

ChatGPT ก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาได้เปิดตัว Search feature ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านข้อความต่อวัน และมีผู้ใช้งาน 400 ล้านคนต่อสัปดาห์

แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ Apple ที่ Eddy Cue บอกว่าการค้นหาใน Safari ลดลงครั้งแรกในรอบ 22 ปี เพราะผู้คนเริ่มใช้ AI แทน “นั่นไม่เคยเกิดขึ้นมาใน 22 ปี” Cue กล่าวในศาล “ผู้คนกำลังใช้ AI”

Apple กำลังพิจารณาเพิ่ม AI search engines อย่าง OpenAI, Perplexity และ Anthropic เข้าไปใน Safari แม้ว่าจะยังไม่เป็น default ก็ตาม

การที่ Apple พูดแบบนี้หมายความว่าอะไร หมายความว่าผู้ใช้ iPhone หลายร้อยล้านคนอาจจะได้ลองใช้ AI search โดยตรง

และเมื่อพวกเขาลองแล้วและชอบ พวกเขาอาจจะไม่กลับไปใช้ Google อีกเลย สำหรับ Google นี่เป็นฝันร้ายที่สุด

เพราะพวกเขาจ่ายเงิน 20 พันล้านดอลลาร์ต่อปีให้ Apple เพื่อให้ Google เป็น default search engine บน iPhone ถ้า Apple เปลี่ยนใจ Google ก็จบเห่

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ Google กำลังติดกับดักของตัวเอง พวกเขาต้องใช้ AI เพื่อแข่งขัน แต่ AI กลับทำลายโมเดลธุรกิจหลักของพวกเขา

เมื่อ AI ตอบคำถามได้เลย ผู้คนจะไม่คลิกโฆษณา และโฆษณาคือเครื่องจักรทำเงินของ Google ถึง 76% ของรายได้

นี่เป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า “Innovator’s Dilemma” เทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่ากลับทำลายธุรกิจเดิม และ Google ไม่รู้จะทำยังไง

บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งเคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อน Kodak กับกล้องดิจิทัล Nokia กับ smartphone Blockbuster กับ Netflix

พวกเขาทุกคนมีเทคโนโลยีใหม่ในมือ แต่กลัวว่าจะทำลายธุรกิจเดิม จนในที่สุดคู่แข่งมาทำแทน และสุดท้ายพวกเขาก็ถูกทำลายจนสิ้นซาก

Google จะเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ นั่นคือคำถามที่ทุกคนในวงการเทคกำลังถาม

ข้อดีของ AI search ก็มีเยอะ คุณไม่ต้องเสียเวลากับโฆษณาและ SEO spam คุณได้คำตอบที่ตรงจุดและมีการอ้างอิงแหล่งที่มาที่ชัดเจน

สามารถถามคำถามติดต่อกันได้ และ AI จะจำบริบทของคำถามก่อนหน้า ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง

แต่ AI search ก็มีจุดอ่อน บางครั้งให้ข้อมูลผิดหรือล้าสมัย อาจจะมี bias จากข้อมูลที่ใช้ในการเทรน และยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบ real-time ได้ดีเท่า Google

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ AI tools เหล่านี้กำลังเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว ทุกๆ เดือนมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมา

ขณะที่ Google ค่อนข้างหยุดนิ่งในด้านนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้ใช้

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z เริ่มใช้ TikTok และ Instagram ในการค้นหาข้อมูลมากขึ้น พวกเขาชินกับการได้รับข้อมูลในรูปแบบที่สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย

นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงว่าการค้นหาแบบเก่าอาจจะไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้ว สำหรับนักการตลาดและเจ้าของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนี้หมายถึงการปรับกลยุทธ์ใหม่

การพึ่งพา Google SEO อย่างเดียวอาจจะไม่พอแล้ว ต้องเริ่มคิดถึงการทำ content ที่เหมาะกับ AI search และ platform อื่นๆ ด้วย

การที่ AI สามารถสรุปข้อมูลจากหลายแหล่งและตอบคำถามได้เลย อาจจะทำให้การเข้าชมเว็บไซต์ลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ เช่น การเป็น authoritative source ที่ AI ชอบอ้างอิง หรือการสร้าง content ที่ตอบคำถามเฉพาะเจาะจงและมีคุณภาพสูง

สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ และยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบแบบไหน Google อาจจะปรับตัวได้และยังคงเป็นผู้นำ หรือเราอาจจะเห็นการกระจายอำนาจในตลาดค้นหา ที่มีหลาย platform แข่งขันกัน ซึ่งอาจจะดีสำหรับผู้ใช้ในระยะยาว

ที่สำคัญคือเราต้องเรียนรู้และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือใหม่ๆ หรือการปรับวิธีคิดเรื่องการหาข้อมูล

อนาคตของการค้นหาข้อมูลอาจจะไม่ใช่การพิมพ์คำหลักในกล่องค้นหา แต่เป็นการสนทนากับ AI ที่เข้าใจบริบทและให้คำตอบที่เป็นประโยชน์

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในข้ามคืน แต่เมื่อมันเกิดขึ้น และมันจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราใช้อินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล

References: [searchengineland, contentgrip, visualcapitalist, pymnts, sparktoro, tuta, reuters, bloomberg, cnbc, firstpagesage, businessofapps, demandsage, wikipedia]