ต้องเรียกได้ว่าเป็นข่าวสะเทือนใจ ที่เด็กนักเรียนชั้น ม.2 ถูกร้านค้าออนไลน์โกงซื้อมือถือจนเครียด เส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต สร้างความเสียใจให้กับพ่อแม่และครอบครัว ซึ่งน่าสนใจตรงที่ แม่ค้ามหาภัยคนนี้ ทำเป็นกระบวนการมาอย่างยาวนานมาก ๆ
สำหรับส่วนตัวผมเองนั้น ก็เป็นคนหนึ่งที่มีการซื้อขายผ่านออนไลน์เป็นประจำ โดยเฉพาะสินค้าพวก gadget ใหม่ ๆ ที่ผมมักจะลองซื้อมาใช้งานอยู่บ่อย ๆ และมีประสบการณ์ในการโดนหลอกจากพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้มาพอสมควร
และด้วยประสบการณ์โดนหลอกมาเยอะ ผมจึงได้หาวิธีการที่จะไม่ทำให้โดนหลอกจากพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้อีกต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะสังเกตได้ว่า เป็นพ่อค้าแม่ค้าหน้าเดิม ๆ เปลี่ยน profile เป็นชื่อใหม่ ๆ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมีวิธีการที่จะทำให้คุณไม่ถูกหลอกอีกต่อไปดังต่อไปนี้ครับ
1. เช็คจาก Blacklistseller
เป็นหนึ่งเว็บที่ถือว่ามั่นใจได้กว่า 90% เลยทีเดียวสำหรับเว็บไซต์อย่าง https://www.blacklistseller.com/ โดยคุณสามารถเข้าไปเช็คผ่านเลขบัญชี , true wallet , promptpay , ชื่อ และ นามสกุลของผู้ขายได้ก่อนโอนเงิน
สามารถเลือกค้นหาได้เพียงเงื่อนไขใด เงื่อนไขหนึ่งก็ได้ ซึ่งหากพบมีอยู่ในฐานข้อมูลคนโกง ก็แน่นอนว่าคุณเจอโจรแล้วนั่นเอง
ซึ่งต้องบอกว่าที่เว็บนี้ได้รวมรวมข้อมูลแบบอัพเดทรายวัน คุณสามารถมาร่วมแจ้งข้อมูลคนโกงได้ที่เว็บไซต์แห่งนี้ ผมคิดว่าเป็นแหล่งข้อมูลคนโกงที่เยอะที่สุดเท่าที่ผมหาข้อมูลมาแล้วนะครับ แนะนำเลย
หรืออีกเว็บไซต์ที่สามารถค้นหาได้ก็คือที่ www.เช็คคนโกง.com ฐานข้อมูลก็จะคล้าย ๆ กันครับ
2. กลุ่มแจ้งข่าวคนโกง
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลเช่นเดียวกัน กับการติดตามกลุ่มที่แจ้งรายงานคนโกงของ Facebook วิธีการง่าย ๆ คือค้นหาคำว่า คนโกง รายชื่อคนโกง ในช่องการค้นหาของ facebook แล้วเข้าไปติดตามในกลุ่มต่าง ๆ
สำหรับข้อเสียในกลุ่มเหล่านี้ ข้อมูลยังไม่จัดระเบียบดีนัก ทำให้หารายชื่อยากกว่าในเว็บไซต์ blacklistseller ที่จัดข้อมูลได้เป็นระเบียบมากกว่า แต่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีมาก ๆ ในการเช็คคนโกงครับผม
3. การซื้อขายผ่านแอดมินกลาง
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน ที่หลาย ๆ กลุ่ม ที่มีการซื้อขายของเฉพาะของแต่ละกลุ่ม จะมีแอดมินกลางคอยมาจัดการเรื่องซื้อขาย เพื่อเป็นคนกลางให้ความสะดวกระหว่างคนซื้อ และ คนขาย มีความสบายใจทั้งสองฝ่าย
สำหรับข้อเสียของวิธีการนี้ ก็คือ การมีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการแอดมินกลาง แต่ ก็มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เงินจะถูกพักไว้ที่แอดมินก่อน คนซื้อสามารถตรวจสอบสินค้าก่อนให้แอดมินโอนเงินให้กับคนขายนั่นเอง
4. ทำการเช็คข้อมูลเบื้องต้นของผู้ขาย
ในส่วนนี้ก็แล้วแต่แพล็ตฟอร์มที่ใช้ ซึ่งในหลาย ๆ แพล็ตฟอร์มก็จะมีในส่วนของการยืนยันตัวตนของผู้ขาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการยืนยันผ่านบัตรประชาชน
ตัวอย่างแพล็ตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Kaidee ที่จะมีส่วนของการยืนยันบัญชี ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่าหากผู้ขาย มีการยืนยันบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หรือในกรณีการโพสต์ขายในกลุ่ม ก็จะมีการตั้งกติกาในที่ต้องมีการถ่ายรูป เขียนชื่อ profile / เบอร์โทร หรือช่องทางติดต่อให้ชัดเจน คู่กับสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้นำสินค้าจากที่อื่นมาหลอกขายได้
หรือการนำชื่อ เบอร์โทร เลขบัญชีธนาคารไปค้นหาผ่าน Google ก็เป็นการ double check อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีประวัติในโลกออนไลน์ ที่เป็น digital footprint กันอยู่แล้วสำหรับคนโกง
จากรูปตัวอย่าง ผมได้เอาข้อมูลจาก Database คนโกงใน blacklistseller ไปค้นหาใน Google เรียกได้ว่าประวัติยาวเป็นหางว่าวเลยทีเดียว
5. เช็ค Social Media Profile
หากมีการซื้อขายผ่านเครือข่าย Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram ซึ่งถือเป็นช่องทางยอดฮิตเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน
สิ่งแรก ที่ควรจะทราบก็คือ ตอนนี้ได้มีบริการต่าง ๆ มากมาย ที่คอยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Social Media Account ทั้งการทำ Fake Review , การเข้ามา comment ที่เหมือนจะสร้างเครดิตให้กับผู้ขายที่ดีเว่อร์จนเกินไป
ผมไม่อยากให้เชื่อข้อมูลเหล่านี้มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่ พวกคนโกงก็จะจ้างทำเพื่อสร้างเครดิตให้กับตัวเอง ส่วนคอมเม้นต์เสีย ๆ หาย ก็จะลบออกจากระบบไป
ประสบการณ์ส่วนตัวก็เคยเจอ Profile สุดหรู รีวิวสุดเทพ มีหน้าม้ามาคอยสนับสนุน แต่สุดท้ายก็โกง ซึ่งมีถมไป แต่สิ่งที่ผมอยากให้พิจารณาอย่างยิ่งก็คือ สิ่งที่ไม่สามารถลบได้บนแพล็ตฟอร์มเหล่านี้
ส่วนของรีวิวเพจ เป็นส่วนที่แม้จะสามารถจ้างเพื่อมาโพสต์อวย หรือ สร้าง Fake Review ได้ แต่ หากมี รีวิว ในแง่ลบ เจ้าของเพจ แม้กระทั่งสิทธิ์ admin ขั้นสูงสุดก็ไม่สามารถลบได้ เพราะฉะนั้น สามารถอ่านส่วนของรีวิว โดยรวมทั้งหมดได้ครับ
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมเคยโดนมา ทุกอย่างดูดีหมด เช็คมาแล้วทุก สเต็ป แต่ก็ไม่รอด พอมาไล่เช็คหลังจากโดนโกงไปแล้ว พบว่า ใน profile ของคนขาย มีสิ่งที่แปลกคือ แทบจะไม่มี comment แต่ ทุก ๆ โพสต์ มีการกดปุ่มโกรธเยอะมาก
ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนของ comment นั้นเป็นสิ่งที่ลบได้ แต่ ส่วนของ emotion ต่าง ๆ เหล่านี้ admin ไม่สามารถลบมันออกไปได้นั่นเองครับผม เจอปุ่มโกรธเยอะ ๆ เมื่อไหร่ แน่นอนครับ ว่าเหล่าเหยื่อที่โดนหลอกมากดโกรธนั่นเอง ส่วน comment เชิงลบ ก็โดนเจ้าของเพจลบไปหมดแล้วครับผม
6. Whoscall เช็คเบอร์มิจฉาชีพ
สำหรับเครื่องมือสุดท้าย ที่น่าสนใจก็คือแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Whoscall ซึ่งสามารถเช็คได้ทันที ผ่านฐานข้อมูลของระบบ เมื่อมีเบอร์แปลก ๆ โทรมา หรือ สามารถนำเบอร์ผู้ขายที่เราไม่แน่ใจลองเช็คผ่านตัวแอปก็ได้ครับ
ตัว Whoscall ตอนนี้มีให้โหลดทั้งใน Google Play (Android) และ App Store ของฝั่ง Apple สามารถใช้เพื่อป้องกันการโทรจากพวกประกัน หรือมิจฉาชีพในแขนงอื่น ๆ ที่มักโทรมาก่อกวน ได้ ซึ่งตัวนี้ถือว่าฐานข้อมูลค่อนข้างอัพเดทมาก ๆ ชัวร์ค่อนข้าง 100% เลยทีเดียว แนะนำให้ลงติดมือถือไว้เลยครับ
บทสรุป
ก็ต้องบอกว่าตอนนี้ กลโกง มีมาหลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะในการซื้อขายของผ่านออนไลน์ จากที่เป็นข่าวแม้ค้าที่ถูกจับเรื่องหลอกขายมือถือ ให้เด็กนักเรียนจนเสียชีวิตนั้น หลอกมาอย่างยาวนาน ได้เงินไปเป็นจำนวนมหาศาล โดยการเปลี่ยนสลับ account ไปเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าตอนนี้มีการซื้อขายบัญชีธนาคารกันอย่างแพร่หลายทำให้ สามารถหลอกได้ต่อเนื่องยาวนานอย่างที่เป็นข่าว
สำหรับข้อมูลข้างต้นก็เป็นเทคนิคของตัวผมเอง ที่หลังจากใช้เทคนิคเหล่านี้ ก็ไม่ได้เจอการโดนโกงอีกต่อไป แล้วเพื่อน ๆ มีวิธีไหนที่น่าสนใจอีกบ้างครับ ในการหลีกเลี่ยงไม่ให้เราโดนหลอกจากพ่อค้าคนโกงเหล่านี้ สามารถแชร์เทคนิค แนะนำกันได้เลยนะครับผม
Credit Image : https://mgronline.com/