ซีรีส์วายของไทย จะกลายเป็นคลื่น K-pop ต่อไปของเอเชียได้หรือไม่?

เป็นบทความที่น่าสนใจจากสื่อใหญ่ทั้ง the economist และ Nikkei Asia ที่ออกมาวิเคราะห์เรื่องราวของซีรีส์วายของไทย ซึ่งจะกลายเป็น soft power แบบที่ K-pop ทำสำเร็จมาแล้วกับประเทศเกาหลีใต้ได้หรือไม่

ต้องบอกว่าละครไทยที่เกี่ยวกับชายรักชาย หรือที่เรียกกันนว่า “Boys’ Love (BL)” หรือในไทยที่ถูกเรียกกันว่า “ซีรีส์วาย” กำลังพุ่งทะยานครองใจคนทั่วเอเชีย

แม้ว่าละครเรื่องแรกที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2014 แต่ ในทุกวันนี้มีซีรีส์ประเภทนี้กว่าร้อยเรื่อง ได้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วทั้งเอเชีย กลายเป็นพลัง Soft Power ใหม่ที่น่าสนใจมาก ๆ ของประเทศไทย

โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น มีการปล่อยซีรีส์เหล่านี้ทาง Youtube และได้เข้าสู่ตลาดหลักอย่างในประเทศญี่ปุ่น

แฮ็ชแท็ก #thainuma หรือ #thaiswamp” ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเครือข่ายโซเชียลมีเดียของประเทศญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยประเทศไทยเองได้ส่งเสริมเนื้อหา ซีรีส์วายเหล่านี้ แม้กระทั่งในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ โดยในนช่วงเดือนมิถุนายนปี 2021 อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงถึง 360 ล้านบาท (10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

Boys’ Love หรือ ซีรีส์วายนั้น มีรากเหง้ามาจาก วรรณกรรมชายรักชายประเภทยาโออิมีต้นกำเนิดในญี่ปุ่นช่วงปี 1970 ตัว Y ใน “Y Series” มาจากคำภาษาญี่ปุ่น yaoi ที่เป็นคำพ้องเสียงของ yama nashi,ochi nashi,imi nashi และเริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในญีปุ่นช่วงปี 1990 โดยมักจะถูกใจเหล่าแฟน ๆ ที่เป็นผู้หญิงเป็นหลัก เช่น เดียวกับเวอร์ชั่นทีวีของไทย

Rujirat Ishikawa นักวิชากรชาวไทยที่ Aoyama Gakuin University ในโตเกียว กล่าวว่า ผู้หญิงบางคนรู้สึกเป็นอิสระที่จะดูเรื่องรักใคร่โดยไม่มีตัวเอกหญิงที่ทำให้พวกเธอรู้สึกอิจฉา

ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ เหล่าโปรดิวเซอร์ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้ของไทย มองเห็นความสำเร็จของ K-Pop จากเกาหลีใต้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ พวกเขาได้คัดลอกองค์ประกอบของรูปแบบธุรกิจ K-Pop รวมถึงการสร้างฐานแฟนคลับ เช่น กิจกรรมพบปะแฟนคลับเพื่อเพิ่มรายได้

ความสำเร็จของ ซีรีส์วาย เริ่มดึงดูดผู้ชมที่เป็นกย์มากขึ้น จากการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่าแฟนรายการทีวีมากกว่า 20% ในประเทศไทยเป็นเกย์

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีชื่อเสียงในฐานะเมืองใหญ่ของเหล่า LBGTQ+ ก็ตาม ความสำเร็จของซีรีส์วายนั้น ทำให้สังคมยอมรับเรื่องราวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ในกรุงเทพฯ เองมีดาราคู่รักจากซีรีส์วาย ขึ้นแสดงในป้ายโฆษณาบิลบอร์ดขนาดยักษ์ใจกลางเมืองเต็มไปหมด

และใจกลางกรุงโตเกียว บนอาคารป๊อปอัพชั้น 2 ของตึก Tower Records ในชิบูย่า ก็เกิด “2GETHER CAFE” ที่กลายเป็นศูนย์กลางความคลั่งไคล้ในเอเชียใหม่ เหล่าสาว ๆ ที่ตาลุกวาวไปกับภาพ ไบรท์ วชิรวิชญ์ และ วิน เมธาวินน พระเอกจาก “2gether The Series” ซีรีส์วายชื่อดังจากไทย

2GETHER CAFE ในชิบูย่า ใจกลางกรุงโตเกียว (CR:pyonpyoco.com)
2GETHER CAFE ในชิบูย่า ใจกลางกรุงโตเกียว (CR:pyonpyoco.com)

“ฉันไม่รู้ว่าประเทศไทยมีผู้ชายที่หล่อเหลาแบบนี้” Kobayashi Maki กล่าว เธอเป็นแฟนตัวยงของซีรีส์วาย และเธอกำลังเรียนภาษาไทยเพราะซีรีส์เรื่องนี้

“2gether” ซีรีส์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสองหนุ่มมหาลัยที่ตกหลุมรักกัน นักแสดงชายสองคนได้แสดงให้เห็นถึงสายตาที่เกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน และมีเพลงป๊อบจากไทยที่ถูกเล่นเป็น background

หลังจาก Rakuten TV บริการสตรีมมิ่งของ Rakuten Group เริ่มฉาย “2gether” ในญี่ปุ่น รายการดังกล่าวก็ครองอันดับ 1 ในการจัดอันดับภาพยนตร์และซีรีส์ประจำปี

ในปี 2020 ซีรีส์วายของไทย ติดอันดับที่หนึ่ง สอง และสี่ โดยมีหกรายการในสิบอันดับแรกที่เป็นเนื้อหาแนวชายรักชาย รวมถึงซีรีส์ที่ถูกผลิตจากจีนและเกาหลีใต้

ซีรีส์วายของไทย ที่ติดอันดับท็อปของรายการทีวีในญี่ปุ่น (CR:Twitter)
ซีรีส์วายของไทย ที่ติดอันดับท็อปของรายการทีวีในญี่ปุ่น (CR:Twitter)

ความเฟื่องฟูของซีรีส์วายจากไทย ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ละครทีวี 10 อันดับแรกในปี 2021 ในญี่ปุ่น มีจำนวนมากถึง 5 เรื่องที่เป็นซีรีส์วายจากไทย และยังครองตำแหน่งสูงสุดสองอันดับแรก

Rakuten TV ทำให้แน่ใจว่า ซีรีส์วายจากไทย จะได้รับการสตรีมอย่างรวดเร็วพร้อมคำบรรยายภาษาญี่ปุ่น บางครั้งเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงหลังจากออกอากาศในประเทศไทย

“เนื้อหาของซีรีส์วายจากไทยยอดนิยมกลายเป็นไวรัลทันทีบนโซเชียลมีเดีย โดยแทบไม่ต้องคำนึงถึงพรมแดนของประเทศ” Kim Kyoungeun ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อละครในเอเชียของ Rakuten Group กล่าว

“มันสำคัญมากสำหรับเราในการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ชมละครพร้อมคำบรรยายทันทีหลังจากออกอากาศในประเทศไทย” Kim กล่าวเสริม

ต้องบอกว่าตอนนี้ซีรีส์วายของไทย มีศักยภาพไม่ต่างจาก K-pop ของเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันได้ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้ทางสังคมของเหล่าแฟน ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกไม่ใช่แค่เพียงในแถบเอเชียเพียงเท่านั้น

นั่นทำให้เกิดการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะจากไทยที่เกี่ยวข้องเช่นกัน และความนิยมนี้กำลังขยายออกนนอกเอเชียไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา และได้ทำหน้าที่เป็นทูตของแบรนด์ระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากศิลปิน K-pop ไปแล้วนั่นเองครับผม

References :
https://asia.nikkei.com/Business/Media-Entertainment/Thailand-s-boys-love-dramas-stealing-hearts-around-the-world
https://www.economist.com/asia/2023/03/09/are-thailands-gay-tv-dramas-the-next-k-pop
https://filmdaily.co/obsessions/2gether-the-series-guide/

War For Talent กับบทเรียนของการปลดพนักงานด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ทั่วโลก

ในยุคอดีตบรรดาเด็กจบใหม่ยอดอัจฉริยะต่างคิดว่าพวกเขามีทางเลือกอาชีพมากมายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นงานสุด hot ในวาณิชธนกิจชื่อดังหรือสำนักงานกฎหมายระดับแนวหน้า 

แต่หลังจากนั้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ก็เข้ามากลืนกินดึงเอาเหล่าพนักงาน talent สูงๆ ไปแทบจะหมด 

เพราะมันได้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นนั่นก็คือเหล่าพนักงานยอดอัจฉริยะในแวดวงเทคโนโลยี สามารถที่จะสนุกสนานและร่ำรวยในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของโลกแห่งการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีลำดับชั้นน้อยลง

วัฒนธรรมรูปแบบใหม่ซึ่งทุกคนสวมกางเกงยีนส์และเสื้อยืด และสิ่งที่สำคัญที่สุด เงินเดือนที่โครตสูงแถมยังมีตัวเลือกหุ้นมากมาย และหากโชคดี นายจ้างก็จะดูแลส่วนที่น่าเบื่อของชีวิตด้วย เช่น ช่วยดูแลเรื่องการซักผ้าหรืออาหารการกินให้

ในปีนี้บริษัทเทคโนโลยีติดอันดับ 5 ใน 10 อันดับแรก สถานที่ที่น่าทำงานมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาตามรีวิวของพนักงานในเว็บไซต์ Glassdoor

แต่มันก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่กันเลิกจ้างพนักงานแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน 

Meta ได้เลิกจ้างพนักงาน 11,000 คนหรือ 13 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด Elon Musk เจ้าของใหม่ของ Twitter ได้ลดจำนวนพนักงานลงครึ่งหนึ่ง Amazon มีแผนปลดพนักงานประมาณ 10,000 ตำแหน่ง ขณะที่ Stripe ซึ่งเป็นบริษัทชำระเงินเอกชน ได้ลดพนักงานลง 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่โหดร้ายสำหรับพนักงานส่วนใหญ่  

บริษัทเทคโนโลยีเดิมพันกับความต่อเนื่องของสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดเพี้ยนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลง 

ผู้บริโภคไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้านอีกต่อไป มีเพียงแค่ธุรกิจอย่างอีคอมเมิร์ซเท่านั้นที่คนยังพร้อมที่จะใช้จ่ายเงิน อัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ที่จุดต่ำสุดอีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ 

Meta ยังคงมีพนักงานมากกว่าปีที่แล้ว แต่การปลดพนักงานจำนวนมากมีบทเรียนสองสามข้ออย่างแรกคือ ไม่ว่าทุกคนจะใส่ยีนส์หรือไม่ก็ตาม บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งก็มีระบอบที่มีความเป็นเผด็จการสูง 

เป็นเรื่องที่น่าทึ่งที่ได้เห็นผู้บริหารระดับสูงรู้สึกรับผิดชอบต่อการปลดพนักงาน แต่มันก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าพวกเขามีพลังมากแค่ไหนตัวอย่างเช่น ที่ Meta นักลงทุนรู้สึกผิดหวัง มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจมอยู่ในโลกของ “metaverse” 

แต่ด้วยโครงสร้างการถือหุ้นของ Meta ช่วยให้เขาซึ่งถือหุ้นร้อยละ 13 สามารถควบคุมคะแนนเสียงได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง มันแทบจะเป็นระบอบเผด็จการในโลกทุนนิยมดี ๆ นี่เอง

Zuckerberg เขียนไว้ในบันทึกที่ถูกส่งให้กับเหล่าพนักงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ผมผิดเอง ผมจะรับผิดชอบเอง”

และต้องบอกว่าความเร็วของการเลิกจ้างโดยบริษัทระดับโลกเหล่านี้ยังขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายการจ้างงานในสหราชอาณาจักรและยุโรป

“ในหลายประเทศทั่วยุโรป คุณต้องเตือนหน่วยงานภาครัฐ สภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้เป็นสหภาพ คุณต้องมีแผนที่จะลดผลกระทบทางสังคมจากการตัดสินใจทางด้านธุรกิจของคุณ” Valerio De Stefano ศาสตราจารย์แห่งโรงเรียนกฎหมาย Osgoode Hall ในโตรอนโต กล่าว  

แนวคิดของกฎหมายเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ทำการปลดพนักงาน แต่เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดขึ้นอย่างยุติธรรมและมีการตักเตือนอย่างเหมาะสม 

“ตอนนี้มันเกิดขึ้นโดยไม่มีการควบคุมหรือการปรึกษาหารือ มีเพียงใครบางคนที่พูดว่า: ‘ขอโทษ มันเป็นความผิดของผม ผมจะปลดคุณออก’”

สำหรับพนักงานประสบการณ์ดังกล่าวเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบเผด็จการที่ Meta ได้แสดงให้เห็นพลังบางอย่างแล้ว ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้แม้แต่คนที่ยังคงทำงานอยู่ก็พบว่าสวัสดิการบางอย่างของพวกเขาก็ได้เปลี่ยนไป 

ที่ Twitter Musk ได้ประกาศให้ทุกคน ทำงานอย่างน้อย 40 ชั่วโมงในสำนักงาน และสร้างความผิดหวังให้กับคนที่วางแผนจะทำงานจากระยะไกล เพราะ Musk ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิสเหมือนเดิม

สหภาพแรงงานหวังว่าการปลดพนักงานครั้งใหญ่นี้จะช่วยให้พวกเขาโต้แย้งว่าสหภาพแรงงานไม่ได้เป็นเพียงการพยายามปรับปรุงสภาพการทำงานที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการมีปากมีเสียงที่แท้จริงอีกด้วย 

Mike Clancy เลขาธิการทั่วไปของ UK union Prospect กล่าวว่าสหภาพมีสมาชิกบางส่วนที่ Twitter และหวังว่าจะมีการรับสมัครเพิ่มเติมในภาคส่วนของบริษัทด้านเทคโนโลยี 

อีกบทเรียนหนึ่งจากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยีครั้งนี้ก็คืออย่าหลงไปกับคำพูดที่ว่า “สงครามแย่งชิงผู้มีความสามารถ” ซึ่งแพร่หลายในภาคเทคโนโลยีจนกระทั่งเกิดการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในครั้งนี้ 

ซึ่งก็ต้องบอกว่าคนเก่งนั้นมีอยู่ทุกวงการ สิ่งสำคัญในการจ่ายเงินคืออุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรมนั้น ๆ

คนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ๆ ในสหรัฐฯ ก็ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในปีนี้เช่นเดียวกันแต่ไม่มีใครเรียกสิ่งนั้นว่า “สงครามแย่งชิงความสามารถ”; พวกเขากลับเรียกมันว่า “การขาดแคลนแรงงาน”

ซึ่งในตอนนี้แม้บริษัทด้านเทคโนโลยีอาจเสนอสิทธิพิเศษที่น่าทึ่ง แต่ก็ต้องบอกว่าผู้คนไม่ต้องการงานในฝันมากเท่ากับที่พวกเขาต้องการงานที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเหมาะสมมากกว่านั้นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/b6fdff1c-94a1-41d6-ae52-5dcbffa5dcea
https://themarketherald.com.au/tech-lay-offs-teach-us-a-lesson-about-the-war-for-talent-2022-11-16/

House of Mouse กับเรื่องราวการรีมาสเตอร์สู่โลกดิจิทัลของ Disney

ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่ตอนนี้เนื้อหากลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกธุรกิจบันเทิง โดยเฉพาะบริการสตรีมมิ่งที่กำลังกลายเป็นไอคอนใหม่แห่งวงการธุรกิจสื่อด้านบันเทิงที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

ในการตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Amazon Prime Video หรือ Netflix ต้องบอกว่าดุเดือดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

Disney ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญ เพื่อวางตำแหน่งของตัวเองให้สามารถที่จะจัดจำหน่ายเนื้อหาของพวกเขาโดยตรงไปยังผู้บริโภคที่ได้กลายเป็นหัวใจของธุรกิจสื่อในตอนนี้

Disney ได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อเตรียมเนื้อหาที่มีคุณค่าและการต่อสู้ในด้านเทคโนโลยี ที่พร้อมจะรุกคืบ เพื่อทวงคืนความเป็นผู้นำด้านเนื้อหาของตัวเองในธุรกิจบันเทิงคืนมา

การเดิมพันครั้งใหญ่กับ BAMTech

ต้องบอกว่า Disney ได้มีการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ของบริษัทเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 ในการลงทุนเบื้องต้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในบริษัท BAMTech ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีมมิ่ง

กาารเข้าซื้อหุ้น 33% ของ BAMTech มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบ OTT (over-the-top) โดยได้แบรนด์อย่าง ESPN รวมถึงเทคโนโลยีแบ็คเอนด์ที่มีความแข็งแกร่งมาก ๆ ของ BAMTech มาเสริมทัพ

ลงทุนใน BAMTech เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี

หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมปี 2017 Disney ก็เดินเกมอย่างรวดเร็ว เพื่อลงทุนเพิ่มใน BAMTech โดยลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเข้าถือหุ้นแบบเบ็ดเสร็จในบริษัท

และได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น Disney Streming Services ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ Disney ในการจัดจำหน่ายเนื้อหาของพวกเขาไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง

ในขณะเดียวกัน Disney ได้ยืนยันแผนการที่จะดึงภาพยนตร์และรายการทีวีส่วนใหญ่ออกจาก Netflix ซึ่งเคยทำรายได้ให้กับ Disney กว่า 150 ล้านดอลลาร์ต่อปี และเปิดตัว Disney+ บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงรูปแบบใหม่ในปลายปี 2019

ปรับโครงสร้างและโฟกัสใหม่

การตัดสินใจครั้งสำคัญอีกอย่างนึงของ Disney ก็คือ การเจรจาเข้าซื้อกิจการของ 21st Century Fox ซึ่งได้รวมเอาเครือข่ายกีฬาระดับภูมิภาคอย่าง (RSN) ของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า ประเมินที่ 52.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อตกลงในครั้งนี้ ทำให้ Disney มีคลังเนื้อหาที่ครอบคลุมในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็น The Simpsons, X-Men , Aliens , Planet of the Apes , Home Alone , 24 และ Family Guy

ในเดือนเมษายนปี 2018 หลังจากความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด ESPN+ ก็ได้เริ่มเปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกา ด้วยเนื้อหาจาก National Hockey League (NHL) , Major League Baseball (MLB) , PGA Tour , เทนนิสแกรนสแลม และ กีฬาในระดับชั้นมหาวิทยาลัย

ภายในเดือน กุมภาพันธ์ปี 2019 จำนวนสมาชิกก็ทะลุ 2 ล้านคนได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากรายการมวยชื่อดังอย่าง Ultimate Fighting Championship’s (UFC) ที่ช่วยให้มีผู้ลงทะเบียนใหม่กว่า 568,000 ราย

เกือบ 18 เดือนหลังจากการเจรจาระหว่าง Disney กับ Fox ของ Rupert Murdoch ในที่สุดก็สามารถปิดดีล ได้ที่ราคา 71.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้รวมเอา ภาพยนตร์และสตูดิโอโทรทัศน์ของ Fox , National Geographic และ FX รวมถึงกิจการในต่างประเทศของ Fox อย่าง Star India ยักษ์ใหญ่ด้านบันเทิงจากอินเดียที่มีบริการอย่าง OTT Hotstar อยู่ในมือมาเสริมความแข็งแกร่งได้อีกด้วย

การปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ให้จัดจำหน่ายเนื้อหาสู่ผู้บริโภคโดยตรง
การปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ให้จัดจำหน่ายเนื้อหาสู่ผู้บริโภคโดยตรง

ในเดือนพฤษภาคมปี 2019 Disney มีแผนที่จะควบรวมกิจการของ Hulu อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากตกลงซื้อหุ้นหนึ่งในสามจาก Comcast ซึ่ง Hulu นั้นเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 28 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา และมีความทะเยอทะยานที่จะขยายไปสู่ต่างประเทศ

เตรียมฆ่าคู่แข่งและขึ้นสู่เบอร์หนึ่งตัวจริง

ต้องบอกว่าเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่สำหรับ Disney ในการสู้ศึกกับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคครั้งใหม่ ดูเหมือนว่าเส้นทางของพวกเขานั้นจะสดใสเอามาก ๆ

มันเป็นการ รวมบริการต่าง ๆ ที่ปรับปรุงใหม่ไว้ในแพ็คเกจกับธุรกิจแห่งอนาคตอย่างบริการสตรีมมิ่ง ทั้งกีฬา และความบันเทิงแบบชุดใหญ่บน Disney+ ซึ่งจะมีการให้บริการควบคู่ไปกับ ESPN+ และ Hulu ในราคาที่เข้าถึงได้

ด้วยทีมงานเบื้องหลังแบรนด์ยักษ์ใหญ่ 4 แบรนด์ของ Disney อย่าง Disney , Marvel , Lucasfilm และ Pixar รวมถึง Fox , Fox Searchlight และ National Geographic มันคือทีมงานระดับคุณภาพที่มีเหนือ Netflix ที่เติบโตมาจากธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีมากกว่าการมีรากฐาน DNA ของการเป็นบริษัทบันเทิงอย่างที่ Disney เป็น

การแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น กลายเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ Disney ข้อดีคงเป็นเรื่องบริการสตรีมมิ่งอย่าง Disney+ ที่เติบโตเร็วเกินคาด

Disney+ สามารถสร้างฐานสมาชิก 50 ล้านคนในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเพียงเท่านั้น ทั้งที่เป้าหมายเดิมของ Disney ตัวเลข 50 ล้านคนของจำนวนสมาชิก พวกเขาวางไว้ว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2024 เรียกได้ว่า COVID-19 นั้นช่วยลดระยะเวลาการเข้าสู่ตลาดแมส ของ Disney ได้ถึง 4 ปีเลยทีเดียว

ด้วยจุดแข็งที่สำคัญที่สุดของ Disney ด้วยจำนวนเนื้อหาในคลังของพวกเขาที่มีมหาศาล ทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวลกับการที่จะต้องสร้างเนื้อหาใหม่ตลอดเวลาเหมือนที่ Netflix กำลังประสบอยู่ในตอนนี้

และอย่างที่เราทราบตอนนี้ สวนสนุกของ Disney ทุกแห่งปิดให้บริการเนื่องจาก COVID-19 ซึ่งในรายงานทางการเงินฉบับล่าสุด บริษัทยังรายงานถึงการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้การขายสินค้าที่เป็นรายได้หลักของบริษัทต้องหยุดชะงักไป

การระบาดครั้งใหญ่ทำให้ แหล่งทำเงินใหญ่ที่สุดของ Disney ต้องหยุดชะงัก นั่นเป็นเหตุผลที่ Disney ยังไม่สามารถที่จะต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างกำไรทั้งหมดจากฐานแฟน ๆ ของ Disney+ ได้ ผ่านสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจสวนสนุก

แต่ในที่สุดโรคระบาดก็จะผ่านพ้นไป สวนสนุกของ Disney จะกลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยเด็กๆ หลายล้านคน ของเล่นของ Disney จะขายดีอย่างถล่มทลายอีกครั้งจากแฟน ๆ ที่ติดตามเนื้อหาผ่าน Disney+ และเครื่องจักรทำเงินของ Disney จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งและแน่นอนว่ามันจะมีพลังมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมหาศาลอย่างแน่นอนครับผม

References : https://en.wikipedia.org/wiki/Disney%2B
https://www.forbes.com/sites/danrunkevicius/2020/07/08/disney-master-plan-with-disney-plus-that-no-one-is-talking-about
https://variety.com/2019/biz/features/disney-plus-streaming-plans-bob-iger-1203120734/
https://www.sportspromedia.com/from-the-magazine/disney-plus-espn-bamtech-fox-takeover-hulu-ott-streaming
https://www.fastcompany.com/90607786/how-disney-plus-is-winning-by-ripping-up-the-streaming-playbook
https://adage.com/article/cmo-strategy/netflix-already-feeling-impact-disney/2164726

Ring Fit Adventure กับนวัตกรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่งของ Nintendo

ถ้าถามว่าบริษัทเกมที่มีการสร้างนวัตกรรมในการเล่นเกมในรอบหลายปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า Nintendo นั้นเป็นบริษัทแนวหน้าในวงการเกม ที่พยายามสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ให้กับวงการเกมได้ เซอร์ไพรซ์อยู่สม่ำเสมอ

เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้คู่แข่งในอุตสาหกรรมเกมจะพยายามใช้เทคโนโลยีมานำ พยายามทำอะไรล้ำ ๆ กราฟฟิก ระดับสูง สเปคของเครื่องที่สูงขึ้นเรือย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Xbox หรือ Sony Playstation

แต่สิ่งเหล่านี้บางครั้งมันก็ไม่ได้ทำให้การเล่นเกมสนุกขึ้นแต่อย่างใด เราจะเห็นได้จากบางเกมที่ทุ่มทุนสร้างมหาศาล ด้วยกราฟฟิก อลังการงานสร้าง ใช้ทีมงานมากมายหลายร้อยชีวิต แต่เกมของพวกเขาไม่สามารถครองใจนักเล่นเกมได้ เพราะเกม ก็ คือการเล่นเพื่อความสนุกบันเทิง แต่การอัดสิ่งต่าง ๆ เข้าไปมากเกินบางครั้งมันก็ทำให้อรรถรสในการเล่มเกมนั้นตกไป

แต่มีบริษัทเดียวในวงการเกมที่มองว่าเกมคือสิ่งบันเทิง คือความสนุกสนาน และสรรค์สร้างนวัตกรรมให้เล่นเกมสนุกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาตลอด ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทนั้นคือ Nintendo

พวกเขาเข้าใจจริง ๆ ว่านักเล่นเกมต้องการอะไร อะไรที่ทำให้นักเล่นเกมสนุกกับมัน รวมถึงการเปิดให้คนกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาจอยกับเกม มาสนุกสนาน มาคลายเครียด ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ Nintendo ได้สรรค์สร้างขึ้นมา

ซึ่งก่อนหน้านี้ เราก็เคยได้เห็นปรากฏการณ์อย่าง เครื่อง WII ที่มียอดขายถล่มทลายทั่วโลก โดยที่ Xbox และ Playstation ได้แต่มองตาปริบ ๆ มาแล้ว

และ หลังจากการออกเครื่องเกมส์ใหม่อย่าง Nintendo Switch ก็ได้ทยอยออกเกมที่ ทำให้ผู้เล่นได้สนุกกับเกมได้เหมือนในอดีต เราจะเห็นได้ว่า กราฟฟิกของ Switch นั้นแทบจะย้อนเวลากลับไปในเครื่องคอนโซลยุคก่อนหน้าด้วยซ้ำ

แต่ความสนุกของเกม รวมถึง ไอเดียในการนำเครื่องเกมมาประยุกต์ใช้กับสิ่งต่าง ๆ มากมาย ด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่ Nintendo นั้นคิดมาอย่างดีแล้ว ว่าจะสามารถนำเครื่อง Switch มาต่อยอดให้เล่นสนุกขึ้นได้อย่างไร ตัวอย่าง Nintendo Labo ที่เราเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ก็แสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของ Nintendo ในการออกแบบสิ่งที่เรียกว่าเกม

และล่าสุด Ring Fit Adventure มันได้ทลายกรอบเดิม ๆ ของการเล่นเกม เพราะมันคือการผสมผสานการออกกำลังกายไปกับการเล่นเกม ได้อย่างลงตัวมาก ๆ การ Design Ring Fit มาก็เพื่อเจาะตลาดคนรักสุขภาพที่ต้องการออกกำลังกายและอาจจะไม่มีเวลามากนัก

การสร้างเป็นเกมจึงถือเป็นจุดดึงดูดที่น่าสนใจให้ตลาดกลุ่มนี้ หันมาจับเครื่อง Switch ของ Nintendo และ enjoy ไปกับความสนุกรวมถึงการได้ดูแลสุขภาพผ่านเจ้าอุปกรณ์ตัวใหม่ที่ Nintendo คิดค้นขึ้นมานี้

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับบริษัทอย่าง Nintendo ที่ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า พวกเขาสนใจแค่ความสนุก และไอเดียใหม่ ๆ ของการเล่นเกมเท่านั้น พวกเขาไม่ได้สนใจสิ่งที่ Xbox หรือ Playstation กำลังเดินไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ เลย เพราะพวกเขาแค่ต้องการให้ผู้เล่นเกมของ Nintendo นั้นได้สนุกกับการเล่นเกมก็เพียงพอแล้วนั่นเอง

References : http://images.nintendolife.com/202562d9d044c/switch-ringfitadventure-lifestylephoto-01-copy.900x.jpg

Fox กับการใช้ Machine Learning ในทำนายหนัง Hits

สตูดิโอภาพยนตร์ 20th Century Fox ได้พัฒนาอัลกอริทึม Machine Learning ที่ใช้ในการทำนายว่าผู้คนจะชอบหนังใหม่ที่กำลังจะออกฉายหรือไม่ และมันจะ Hits แค่ไหน?

ระบบดังกล่าวที่มีการอธิบายในเอกสารที่ถูกเผยแพร่บนเซิร์ฟเวอร์  โดยจะมีการวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่ตัวอย่างภาพยนตร์ และใช้อัลกอริทึมในการทำนาย ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่มีตัวอย่างที่คล้ายกันตามอัลกอริทึมที่น่าจะดึงดูดผู้ชมที่คล้ายกันได้

ตัวอย่างเช่น วิธีในการตีความภาพยนตร์ X-Men“ Logan” หลังจากดูตัวอย่างแล้ว จะได้รูปแบบสี่อันดับแรกที่อัลกอริทึมเลือกขึ้นมาคือ “ต้นไม้” “ขนบนใบหน้า” “ รถยนต์” และ“ มนุษย์” ซึ่งนำอัลกอริธึม ได้ทำการแนะนำภาพยนตร์ที่คล้ายกันซึ่งก็คือ “ The Revenant” อาจเป็นเพราะเรื่องของเคราและฉากที่เป็นป่าทั้งหมด

แต่ The Verge เน้นว่าอัลกอริธึมพลาดโอกาสที่จะจับคู่“ Logan” กับ“ Ant-Man” และ“ Deadpool” โดยสิ้นเชิงซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกมาก ๆ 

ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ได้เข้ามามีบทบาทใน ฮอลลีวูดอย่างรวดเร็ว  ตั้งแต่ AI ที่ใช้ในการแนะนำสคริปต์ หรือ AI ที่ใช้ในการสร้าง Special Effect แต่มันก็ไม่มีความชัดเจนที่ระบบใหม่ของ Fox จะช่วยได้จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดในปัจจุบันของ AI

ซึ่งในอนาคต เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ทีมการตลาดกำหนดเป้าหมายกลุ่มประชากรเฉพาะด้วยโฆษณาได้ เมื่อมีการสร้างตัวอย่างหนังขึ้นมานั่นเอง และมีโอกาสที่จะทำให้หนังนั้นเข้าถึงผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

References : 
https://www.theverge.com