ความเทพของพี่มาร์ค กับการปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างรวดเร็วเพื่อชดเชยสิ่งที่ผิดพลาดจาก Metaverse

หากเรามองผ่านหน้าสื่อ Mark Zuckerberg มักไม่ค่อยได้รับเครดิตในเรื่องการบริหารธุรกิจของเขาซักเท่าไหร่ เพราะดูเหมือนว่าสื่อจะมองเขาไปในสิ่งอื่น ๆ รอบตัวเขามากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหลในศิลปะการต่อสู้ล่าสุดของเขา การทะเลาะกับ Elon Musk เรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถม Facebook ในช่วงหลัง ทั้งการฟ้องร้องจากรัฐในอเมริกาหลายแห่งที่กล่าวหาว่า Meta มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ใช้โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นติด Facebook และ Instagram อย่างงอมแงม

ถ้าไม่นับเรื่องราวที่ครีเอเตอร์หลาย ๆ คนอาจจะสาปส่งแพลตฟอร์มของ Mark Zuckerberg ทั้งการลด Reach การปรับเปลี่ยนอัลกอริธึมอยู่แทบจะตลอดเวลา หรือ การผลักดันให้ผู้คนเสียเงินในการโฆษณาเพิ่มมากขึ้น

ย้อนกลับไปในช่วงปีที่แล้ว Zuckerberg เองก็โดนถล่มอย่างหนักจากเหล่านักลงทุน โดยกล่าวหาว่าเขาทำลายธุรกิจหลักไปพร้อม ๆ กับใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยไปกับความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของเขาสำหรับโลก Metaversee

ซึ่งหากมองในแง่มุมของธุรกิจล้วน ๆ ความสามารถของ Zuckerberg จากผลงานที่ผ่านมานั้นแทบไม่ได้ต่างจาก Satya Nadella ทำกับ Microsoft หรือ Tim Cook สามารถทำได้กับ Apple เลยด้วยซ้ำ

แม้จะดูภาพลักษณ์เป็นเด็กเนิร์ด แต่การบริหารธุรกิจของ Mark นั้นเรียกได้ว่าระดับเทพอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนของช่วงปลายปีที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจทางธุรกิจครั้งสำคัญ ซึ่งเมื่อเขาเองมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงโดยรวมของบริษัทสูงถึง 58% เขาจึงสามารถแก้ไขปัญหาทางธุรกิจโดยแทบไม่ต้องฟังเสียงของผู้ถือหุ้นเลย

Zuckerberg ได้ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์บริษัททางด้านเทคโนโลยี ภายในสองสัปดาห์ของไตรมาสที่สาม เขาได้ลดค่าใช้จ่ายของ Meta และปลดพนักงานออกจำนวนมาก

และเพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีอย่าง ChatGPT ของ OpenAI ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงเทคโนโลยี เขาได้ปฏิวัติองค์กรใหม่โดยมุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการกระตุ้นธุรกิจหลักของบริษัท

Nick Clegg ที่เป็นที่ปรึกษาที่มีความใกล้ชิดกับ Zuckerberg ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า เจ้านายของเขาไม่ชอบให้คนรอบตัวมาตะโกนด่าเขา เช่นเดียวกับเหล่าวิศวกร เขาชอบที่จะแยกแยะปัญหาที่เกิดขึ้นกับส่วนประกอบต่าง ๆ และตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางที่จะใช้ในการปฏิบัติจริง

จะเห็นได้ว่าปัญหาที่ผ่านมา Meta ได้ผลาญเงินไปมากมายกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse สิ่งนี้ Zuckerberg เข้าใจอย่างดีเพราะมันเป็นแผนระยะยาวของเขา แต่มันส่งผลต่อแผนการระยะสั้นของบริษัท เขาจึงต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งสำคัญ

การปรับแผนการลงทุนระยะยาวโดยเน้นที่เกี่ยวข้องกับ AI เป็นหลัก ไม่ใช่ Metaverse มันเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ถูกต้องมาก ๆ ของ Zuckerberg เมื่อ ChatGPT ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดในภายหลัง

ซึ่งผลจากการทำงานอย่างหนักของ Zuckerberg มันก็เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เมื่อรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมา ที่รายรับเพิ่มขึ้น 23% เป็น 34.15 พันล้านดอลลาร์ สร้างกำไร 11.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 4.4 พันล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

Meta ใช้เวลาหลายปีมาแล้วในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ซึ่งแทนที่จะสร้างแชทบอท Zuckerberg ได้มองหาวิธีการใช้ AI เเพื่อปรับปรุงการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานในแพลตฟอร์ม และทำให้ธุรกิจโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภายในเดือนกรกฎาคม Meta ได้จัดทำโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) อย่าง Llama 2 ให้นักพัฒนาใช้งานได้ฟรี และการทำให้ Llama เป็นโอเพ่นซอร์สช่วยเปลี่ยน Zuckerberg จากผู้ร้ายใน Silicon Valley ให้กลายเป็นฮีโร่ทันที

Leigh Marie Braswell จาก Kleiner Perkins ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกล่าวว่า บริษัทสตาร์ทอัพต่างชื่นชนการเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Meta เป็นอย่างมาก ซึ่งช่วยให้หลาย ๆ คนพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI ได้ ซึ่งเผลอ ๆ เทคโนโลยีอย่าง Generative AI เองอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ Meta ได้มากกว่า Microsoft หรือ Google เสียอีก

อย่างแรกในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานในแพลตฟอร์ม โดยขณะนี้ Meta กำลังสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยอวาตาร์แชทบอทซึ่งหวังว่าจะเพิ่มระยะเวลาที่ผู้คนใช้ฟีดของตน และช่วยให้ธุรกิจโต้ตอบกับลูกค้าบนแอปส่งข้อความได้

สิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นในระยะสั้นคือศักยภาพของ AI ในเรื่องการโฆษณา เนื่องจาก Apple จำกัดความสามารถของ Meta ในการติดตามข้อมูลผู้ใช้ในแอปบน iPhone นั่นเป็นการเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของ Meta แบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมด แทนที่จะติดตามหลอกหลอนพฤติกรรมของผู้ใช้งานเหมือนเดิม จะมีการใช้ AI ในการจำลองพฤติกรรมของผู้ใช้แทน

ปีที่แล้ว Meta ได้เปิดตัวเทคโนโลยีโฆษณาที่เรียกว่า Advantage+ ซึ่งใช้ AI เพื่อสร้างแคมเปญโฆษณาโดยอัตโนมัติ ซึ่ง Brent Thill แห่ง Jefferies ธนาคารเพื่อการลงทุนกล่าวว่าผู้ลงโฆษณารู้สึกประทับใจ ตัวอย่าง J.Crew Factory ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าได้บอกกับ Meta ว่าฟีเจอร์ดังกล่าวช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการใช้จ่ายโฆษณาเกือบเจ็ดเท่า

Generative AI สามารถยกระดับระบบอัตโนมัติใน ecosystem ของ Meta ได้อีกมากมาย ในเดือนที่ผ่านมา Meta ได้เปิดตัวเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ลงโฆษณาแบบ doodle ด้วยพื้นหลังและถ้อยคำที่แตกต่างกัน

แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะยังเป็นก้าวเล็ก ๆ ของ Meta แต่ Andy Wu จาก Harvard Business School เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการตื่นทอง เขากล่าวว่าการสร้างแคมเปญโฆษณาที่ใช้ Generative AI จะทำให้ Meta สามารถได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้มากเท่ากับ Nividia ซึ่งเป็นผู้ผลิต GPU ชั้นนำ

แม้ว่านักลงทุนบางคนยังคงสงสัยในเรื่อง Metaverse และอยากให้ Zuckerberg ลดค่าใช้จ่ายกับเรื่องของ Metaverse และระมัดระวังในเรื่องการลงทุนกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ที่ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่ถนัดของ Meta เช่น VR Head Set ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างอัตรากำไรที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทางด้านดิจิทัล

แต่ดูเหมือนว่า Zuckerberg เองยังไม่ยอมแพ้ในโลกของ Metaverse ซึ่งเขามองว่า AI จะเป็นผู้กอบกู้ Metaverse โดยช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยี hand-tracking และทำให้การสร้างโลกสามมิติมีราคาถูกลง

แว่นตาอัจฉริยะของ Meta ที่ผสานรวมเข้ากับแชทบอท Meta AI และสร้างโดย Ray-Ban นำเสนอสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันเป็นโลกใหม่ในจินตานาการของ Zuckerberg ที่จะเหล่าผู้ใช้งานสามารถบันทึกสิ่งที่พวกเขาเห็น สามารถสตรีมสดบนโซเชียลมีเดีย และมีแชทบอทคอยช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญกับ Meta ในแผนการระยะยาวของบริษัทนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2023/10/26/ai-has-rescued-mark-zuckerberg-from-a-metaverse-size-hole
https://www.nytimes.com/2023/10/25/technology/meta-facebook-quarterly-earnings.html

NFT กำลังพังทลาย เมื่อศิลปินผู้สร้างสรรค์งานคนแรกกำลังถูกเทอย่างไร้เยื่อใย

คุณไม่สามารถท่องไปในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้วโดยไม่ได้ยินเรื่องราว buzzword ที่เกี่ยวข้องกับ metaverse, web3 และ NFT ที่สื่อทุกสื่อทั้งออนไลน์หรือแม้กระทั่งสื่อแบบดั้งเดิมต่างโหมกระหน่ำกระแสของเทคโนโลยีเหล่านี้ และแน่นอนว่าใครหลายคนต้องตกหลุมพรางไปกับมัน

หนึ่งในฟีเจอร์หลักที่สำคัญมากๆ ของแวดวง NFT คือ เหล่าศิลปินที่สร้างสรรค์งานขึ้นมาเป็นคนแรก จะได้รับส่วนแบ่งจากการที่งานของพวกเขาถูกขายไปยังผู้ใช้งานคนอื่น ๆ อยู่เสมอ แต่ดูเหมือนในวันนี้พวกเขากำลังจะถูกเท

ในปี 2021 NFTs (non-fungible tokens) ได้กลายเป็นกระแสครั้งใหญ่ เนื่องจากคนดังและกลุ่มคลั่งไคล้ในสกุลเงินดิจิทัลใช้เงินหลายล้านเพื่อซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้เพื่อมาสะสม และหวังว่ามันจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่ดี แต่กลายเป็นว่า Bored Ape Yacht Club NFTs ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมูลค่าตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองปี

Bored Ape NFTs มีมูลค่าลดลงอย่างมาก โดยลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี มูลค่าของคอลเลกชั่นรูป JPGs ของลิงขี้เบื่อที่เคยเป็น icon ของวงการ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูขายในราคาหลายล้านดอลลาร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีมูลค่าดิ่งลงเหว

Bored Ape NFTs คอลเลคชันลิงขี้เบื่อ ที่มีมูลค่าลดลงอย่างมาก (CR:Wikipedia)
Bored Ape NFTs คอลเลคชันลิงขี้เบื่อ ที่มีมูลค่าลดลงอย่างมาก (CR:Wikipedia)

ApeCoin ซึ่งเป็นสกุลเงินของโลกเสมือนจริงของผู้สร้าง Bored Apes ของ Yuga Labs ก็มีมูลค่าลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยลดลงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาด 7.6 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนเมษายน 2022

คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า Bored Apes ได้เปลี่ยนจากสัญลักษณ์ที่คนดังต่างให้การรับรอง กลายเป็นเครื่องเตือนใจที่น่าหดหู่ว่าตลาด NFT นั้นอยู่ในสถานการณ์เช่นใดในปี 2023

ตอกย้ำกับข่าวล่าสุดที่แพลตฟอร์มระดับต้น ๆ ของวงการอย่าง OpenSea และ Blur มีแผนการที่จะลดอัตราค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้กับศิลปินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ Token ด้วยความหวังว่าต้นทุนที่ต่ำลงในการซื้อขายจะทำให้ตลาดกับมาคึกคักได้อีกครั้ง

เรียกได้ว่าระบบนิเวศ NFT ตอนนี้กำลังดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด โดยค่าธรรมเนียมการซื้อขายของแต่ละแพลตฟอร์มลดลงไปอย่างมาก

“การเปลี่ยนแปลงของ OpenSea นั้นโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง และทำให้วงการ NFT ทั้งหมดเสียหาย” Wildcake ผู้ก่อตั้งคอลเลกชั่น Posers NFT กล่าว

Wildcake กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการทำร้ายวงการโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่แล้วเหล่าศิลปินต้องการค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนธุรกิจหลักของพวกเขา

ในขณะที่คนอื่นๆ รวมถึงคนจาก OpenSea พยายามแก้ตัวว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเมื่อตลาดมีวิวัฒนาการไม่ได้ย่ำอยู่กับที่

Devid Finzer CEO ของ OpenSea วิจารณ์ในเรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องมอบให้กับศิลปินต้นฉบับว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และกล่าวว่าศิลปินรวมถึงเหล่าครีเอเตอร์ต้องหาวิธีอื่น ๆ ในการสร้างรายได้จากผลงานของตน

Devid Finzer CEO ของ OpenSea ที่ได้ออกมาวิจารณ์ในเรื่องค่าธรรมเนียม (CR:The Information)
Devid Finzer CEO ของ OpenSea ที่ได้ออกมาวิจารณ์ในเรื่องค่าธรรมเนียม (CR:The Information)

“บทบาทของเราในระบบนิเวศนี้คือการส่งเสริมนวัตกรรม” Finzer เขียนในบล็อกโพสต์โดยประกาศว่า OpenSea จะไม่สนับสนุนรูปแบบโมเดลธุรกิจเดิม ๆ ในระบบนิเวศของพวกเขาอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ลดลงในตลาดนี้ ซึ่งขึ้นสู่จุดพีคสุด ๆ ในปี 2022 สถานการณ์ในตอนนี้กลายเป็นว่าผู้คนหันไปหาเทคโนโลยียอดนิยมอื่น ๆ เช่น AI แม้บริษัทอย่าง OpenSea ต้องการให้ผู้คนกลับมาสนใจ NFT อีกครั้ง ในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง Web3 เพิ่งจะได้ตั้งไข่ หรือเคสที่เกิดขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta ที่ดูเหมือนจะถอยห่างจาก Metaverse ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นทำให้อนาคตของ NFT ดูเหมือนจะริบหรี่มากเลยทีเดียว


แล้วคุณอยากรู้มั๊ยว่า NFTs มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อ่านต่อได้ที่

Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum

Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum
Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum

–> อ่านตอนที่ 1 : Cypherpunks’ Freedom Dreams


References :
https://www.extremetech.com/internet/major-nft-marketplace-will-stop-enforcing-artist-fees
https://fortune.com/2023/08/05/nft-exchanges-knocked-for-slashing-artist-royalty-rates/
https://www.theverge.com/2023/8/17/23836440/nft-creator-royalty-fees-are-dead-opensea-optional
https://www.cnbc.com/2023/07/07/justin-biebers-bored-ape-nft-has-lost-95-percent-of-its-value-since-2022.html
https://futurism.com/the-byte/bored-apes-almost-worthless-now
https://twitter.com/Sothebysverse/status/1453042450788982794
https://www.cryptotimes.io/superbowl-of-nfts-nft-nyc-to-kick-off-next-month/
https://www.architecturaldigest.in/story/art-dubai-is-betting-on-the-future-of-art-fairs-with-nfts-and-crypto/

เมื่อโลกของ Metaverse กำลังล่มสลายโดยสิ้นเชิง

ยังคงจำกันได้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเหมือนว่าบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย ต่างมุ่งหน้าพาตัวเองเข้าสู่โลกของ Metaverse กันเป็นทิวแถว หลังจากที่ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook ที่ประกาศรีแบรนด์บริษัทใหม่เป็น Meta

เป็นบทความที่น่าสนใจจาก The Wall Street Journal สื่อยักษ์ใหญ่ที่ได้รายงานว่า ทั้ง Disney และ Microsoft สองบริษัทชื่อดังได้ทำการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อยุติการดำเนินงาน metaverse โดย Disney โละทิ้งแผนกที่เกี่ยวข้องกับ metaverse ทั้งหมดและ Microsoft ปิดหน่วยธุรกิจด้าน VR ที่พวกเขาได้ซื้อกิจการมาในปี 2017

“บริษัทและธุรกิจจำนวนมากเข้าใจดีว่าพวกเขาจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานหรือค่าใช้จ่ายโดยรวม ซึ่งหมวดหมู่ประเภทนี้ (metaverse) ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างง่ายที่จะโละทิ้ง” Scott Kessler นักวิเคราะห์ภาคเทคโนโลยีของบริษัทวิจัย Third Bridge Group กล่าว

“สิ่งที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง AI ดูเหมือนจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในขณะนี้”  แต่เมื่อพูดถึง metaverse “มันแทบไร้ประโยชน์” Kessler กล่าวเสริม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง AI ดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีของจริงในยุคนี้ ในขณะที่ metaverse ดูเหมือนสิ่งเพ้อฝันเสียมากกว่า

เป็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่ชัดเจนมาก ๆ เพราะเมื่อย้อนกลับไปในเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา Zuckerberg ยังมองว่า metaverse ยังคงอยู่ในวิสัยทัศน์ของเขา 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีพันธมิตรองค์กรที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่เข้ามาร่วมในงาน Meta’s Connect 2022

งาน Meta's Connect 2022 ที่ Meta และ Microsoft ร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน (CR:AI Business)
งาน Meta’s Connect 2022 ที่ Meta และ Microsoft ร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน (CR:AI Business)

Microsoft ก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรรายใหญ่ที่โดดเด่นเหล่านั้น Zuckerberg ใช้งานดังกล่าวเพื่อวาง metaverse เป็นอนาคตของการทำงาน และ Microsoft ซึ่งมีโซลูชั่นด้านธุรกิจจำนวนมากก็พยายามที่จะยัดเยียด metaverse เข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของ software ของพวกเขาเช่นเดียวกัน

ในส่วนของ Disney ได้ดำเนินโครงการ metaverse มาตั้งแต่ปี 2021 ในช่วงที่ Zuckerberg ได้แสดงรายละเอียดวิสัยทัศน์ AR ของเขา

ในตอนนั้น Satya Nadella CEO ของ Microsoft อยู่บนเวทีพร้อมกับ Zuckerberg พร้อมยกย่องโลก metaverse ของผู้ก่อตั้ง Facebook แต่เวลาผ่านไปเพียงแค่สามเดือน Microsoft ได้หันเหทิศทางของบริษัทไปอย่างสิ้นเชิง และได้ประกาศลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์ใน OpenAI

Microsoft ได้หันเหทิศทางของบริษัทไปอย่างสิ้นเชิง และได้ประกาศลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์ใน OpenAI  (CR:GeekWire)
Microsoft ได้หันเหทิศทางของบริษัทไปอย่างสิ้นเชิง และได้ประกาศลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์ใน OpenAI (CR:GeekWire)

Nadella กำลังเปลี่ยนทิศทางของบริษัทมุ่งเน้นไปที่ AI  ตามรายงานของ WSJ  เขาใช้คำว่า “AI” ถึง 28 ครั้ง ในขณะที่คำว่า “metaverse” ถูกพูดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัดในการประกาศวิสัยทัศน์ของบริษัทล่าสุด

การเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกันนี้พบได้ในข้อความอธิบายคำขอโทษล่าสุดของ Zuckerberg ต่อพนักงานที่เพิ่งถูกเลิกจ้าง ซึ่ง Zuckerberg เองได้กล่าวถึง AI สี่ครั้ง ในขณะเดียวกันแทบจะไม่กล่าวถึง metaverse อีกเลย

สอดรับกับยอดขายชุดหูฟัง Quest 2 ของ Meta ที่ลดลงอย่างมากในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับจำนวนผู้คนที่อยู่ใน Horizon Worlds ซึ่งดูเหมือนจะเป็นดินแดนป่าช้าไปแล้วในตอนนี้

ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กอย่าง Decentraland และ Sandbox ที่ผู้ใช้สามารถซื้อที่ดินเสมือนจริงและสร้างโลกของตัวเองได้ ยอดขายที่ดินก็ลดลง ราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรใน Decentraland ลดลงจากประมาณ 45 ดอลลาร์ในปีที่แล้วเหลือ 5 ดอลลาร์ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานก็ลดลงสูงถึง 25%

แน่นอนว่า Meta ได้ลงทุนใน Metaverse มากกว่าใคร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าอุตสาหกรรมนี้จะก้าวต่อไปในทิศทางใด แต่การเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้รวดเร็วมากขนาดนั้น 

สำหรับ Microsoft  ทุกคนรู้ว่าพวกเขาไม่เคยพลาดในการแข่งขันในทุก ๆ พรมแดนของโลกเทคโนโลยี ซึ่งเราคงไม่แปลกใจที่จะได้เห็น Microsoft ออกมาลุยกับ AI แบบเต็มที่เพื่อสร้างพรมแดนใหม่ทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมนั่นเองครับผม 

References :
https://www.wsj.com/articles/the-metaverse-is-quickly-turning-into-the-meh-taverse-1a8dc3d0
https://www.theverge.com/2023/3/28/23659691/disney-metaverse-job-cuts-eliminated
https://futurism.com/metaverse-completely-falling-apart

Long live apps เมื่อยุคทองของการสร้างแอปได้จบสิ้นลงแล้ว

คุณดาวน์โหลดแอปใหม่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? เป็นคำถามที่หลายคนน่าจะเจอประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันที่ว่า ตอนนี้เราแทบจะไม่ดาวน์โหลดแอปใหม่ ๆ กันแล้ว การแจ้งเกิดของแอปใหม่ ๆ ที่มีให้รกเครื่องนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ

ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีทั้งคลาวด์ และ การเขียนโค้ดที่ง่ายขึ้นมากอย่าง no-code นั้นทำให้กำแพงในการสร้างแอปที่เมื่อก่อนต้องลงทุนสูง และใช้ทักษะที่ค่อนข้างสูง กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน

นั่นทำให้เกิดฟองสบู่ของแอปอย่างที่เราได้เห็นในทุกวันนี้ แม้ใน App Store หรือ Play Store จะมีแอปมากมายให้เราเลือกสรรค์ แต่มีเพียงแอปแค่หยิบมือเท่านั้นที่ถูกดาวน์โหลดไปใช้งานจริง ส่วนใหญ่จะเป็นขยะเสียมากกว่า

ในเวลาไม่ถึงทศวรรษ เราเปลี่ยนจากพฤติกรรมการอยากมีแอปสำหรับทุก ๆ สิ่ง แต่ตอนนี้เรียกได้ว่าแม้จะมีแอปเกิดขึ้นมากมาย แต่มีเพียงไม่กี่แอปที่ทำในสิ่งที่เราต้องการได้

นั่นทำให้ไม่แปลกใจที่ตอนนี้แนวคิดของ Super App ที่ถูกคิดค้นโดยประเทศจีนนั้นจะกลายเป็นที่นิยม หลาย ๆ แพลตฟอร์มอยากก้าวขึ้นเป็น Super App ในภูมิภาคของตนเอง

Wechat จากจีนเองที่ถือเป็นต้นแบบสำคัญ ช่วยผู้ใช้ไม่เพียงแค่การแชทเท่านั้น แต่ยังซื้อของ จ่ายบิล และเข้าถึงบริการของรัฐได้มากมาย ด้วยความสะดวกสบาย

เราได้เห็นบริการอย่าง Grab , Line หรือแม้กระทั่งน้องใหม่ในประเทศไทยอย่าง Robinhood ที่ต้องการที่จะเข้าไปยังเป้าหมายเดียวกันนี้

ในโลกตะวันตกแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องนี้มากนัก แต่ไอเดียที่ถูกเปิดขึ้นโดย Elon Musk ที่ได้ทำการเข้าซื้อ Twitter เพื่อก้าวข้ามความเป็นแพลตฟอร์มโซเชียล เพื่อให้เป็น Super App แห่งแรกของโลกตะวันตก และดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีศักยภาพสูงเช่นเดียวกันที่จะไปถึงจุดนั้น

อีกแนวคิดที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นกับ Web3 ที่เชื่อว่าระบบนิเวศของแอปแบบกระจายศูนย์ และโลกนี้จะให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมากขึ้น และพยายามทำลายอิทธิพลที่มากล้นของบริษัท Big Tech ที่ครอบงำตลาดแอปอยู่ในปัจจุบัน

Web 1.0 คืออินเทอร์เน็ตของศตวรรษ 1990 ไม่ว่าจะเป็น Search Engine หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่จะอยู่เฉพาะในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเดสก์ท็อป ส่วน Web 2.0 คืออินเทอร์เน็ตที่เรารู้จักในปัจจุบัน โดยมีเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น การสตรีมวีดีโอและเพลง ซึ่งมันเติบโตบนอุปกรณ์พกพา

Web 3.0 ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกในปี 2006 จาก The New York Times ที่เขียนเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในยุคที่ 3 ซึ่งจะเป็นยุคที่เว็บของข้อมูลสามารถประมวลผลได้ด้วยเทคโนโลยี AI , Machine Learning , Data Mining ตัวอย่างเช่น อัลกอริธึมจะช่วยตัดสินใจและแนะนำว่าใครควรซื้ออะไรใน Amazon นั่นคือภาพรวมของ Web 3.0

นอกจากฟีเจอร์เหล่านี้แล้วก็มีแนวคิดที่ว่าควรจะรวมเอาเครือข่ายแบบ Peer-to-peer ที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์และไม่มีตัวกลางในการจัดการของการไหลของข้อมูล ซึ่ง Ethereum จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับวิสัยทัศน์ของ Web 3.0

Web 3 จึงได้กลายเป็นแนวคิดคร่าวๆ ว่าเว็บควรรวมแอปพลิเคชั่น smart contract และโทเค็นต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งรวมถึง metaverse ที่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังกลายเป็นกระแสในขณะนี้

Web 3 และ metaverse มีความหมายเหมือนกันในเชิงโครงสร้าง ซึ่งแกนหลักของทั้งสองเทคโนโลยีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างอินเทอร์เฟซและระบบที่ใช้สินทรัพย์ blockchain  ซึ่งรวมถึงสิ่งต่างๆ เช่น การมีเนื้อหาในเกมแบบ NFT ที่ใช้งานได้ในเกมต่างๆ หรือโทเค็นที่ปลดล็อกบริการต่าง ๆ

และนี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ Facebook รีแบรนด์ตัวเองเป็น Meta และกำลังสร้างโลกของ Metaverse เช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าหลายบริษัทโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่เช่น Meta ที่ต้องอาศัยใน ecosystem ของคนอื่นอย่าง iOS ของ Apple หรือ Android ของ Google นั้นก็ต้องการที่จะปลดแอกตัวเองออกจากพันธนาการเหล่านี้

ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีอย่าง Web3 อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่จะเข้ามาลดทอนอำนาจของบริษัท Big Tech อย่าง Apple หรือ Google ในเร็ววันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้นั่นเองครับผม

Image References : https://thenextweb.com/news/apps-are-dead-long-live-apps