Google Translate vs. ChatGPT เครื่องมือใดคือนักแปลภาษาที่ดีที่สุด?

เราอยู่ในยุคที่ Google Translate สามารถที่จะแปลงประโยคใดๆ เป็นภาษาต่างๆ ได้มากกว่า 100 ภาษา และสามารถทำมันได้อย่างรวดเร็ว แต่หลายๆ คนที่ใช้งานเป็นประจำจะรู้ว่า Google Translate ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกมาก

ในทางทฤษฎี โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เช่น ChatGPT น่าจะนำไปสู่ยุคต่อไปของการแปลภาษา เนื่องจากพวกมันใช้ข้อมูลการฝึกอบรมจำนวนมาก บวกกับการที่ได้รับ feedback แบบเรียลไทม์จากผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลก และเรียนรู้วิธีพูดภาษาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วยประโยคที่ใกล้เคียงกับมนุษย์

“ขณะนี้เรายังไม่มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่สนับสนุนการอ้างว่า LLM ทำงานได้ดีกว่าสำหรับการแปล” Nazneen Rajani หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Hugging Face ผู้สร้าง Hugging Chat ที่ใช้เทคโนโลยี AI กล่าว

ดังนั้นทางทีมงาน PCMag จึงตัดสินใจทดสอบ ChatGPT และทำการพิสูจน์ว่าจะมีอะไรสามารถมาแทนที่ Google Translate ในฐานะบริการแปลภาษาสำหรับการเดินทาง การทำงาน ความรักทางไกล และภาษาอื่นๆ ที่ต้องการได้หรือไม่ และทำการเปรียบเทียบกับ Chatbot อย่าง Microsoft Bing และ Google Bard 

วิธีการทดสอบการแปลภาษา

ทาง PCMag ได้ขอให้ผู้ที่สามารถพูดได้สองภาษาในเจ็ดภาษาทำการทดสอบแบบ blind test พวกเขาทั้งหมดเติบโตขึ้นมาโดยพูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ และตอนนี้อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือทำงานให้กับบริษัทอเมริกัน

เมื่อพิจารณาจาก Paragraph ที่เป็นภาษาอังกฤษ พวกเขาจะทำการจัดอันดับว่าแบบไหนแปลได้เนียนกว่ากัน โดยที่จะไม่รู้ว่ามาจากเครื่องมือใดระหว่าง Google Translate, ChatGPT และ Microsoft Bing  โดยจะมีการเปิดเผยภายหลังว่าผลการแปลที่ได้ถูกจัดอันดับนั้นมาจากเครื่องมือใด

  • ภาษาที่ทดสอบ:โปแลนด์ ฝรั่งเศส เกาหลี สเปน อาหรับ ตากาล็อก อัมฮาริก
  • บริการแปลภาษา: Google Translate, Google Bard, ChatGPT, Microsoft Bing

การสร้าง Paragraph สำหรับการแปล

เมื่อเลือกภาษาและโมเดล AI ทีมงาน PCMag จึงสร้าง paragraph เป็นภาษาอังกฤษ โดยจะประกอบด้วยภาษาพูดที่มีความซับซ้อน 2 คำ ได้แก่ “Blow off steam” ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยความรู้สึก  ความโกรธ หรือความกดดันที่มีอยู่ และ “Cheers!” ที่หมายถึง “ขอบคุณ!” นอกจากนี้ยังมีหน่วยวัดสองหน่วยที่จะต้องมีการแปลงในสถานการณ์จริง: USD ($) และไมล์

  • Paragraph 1 – “Hello! Do you speak English? I need some help with directions. I am trying to find a vegetarian restaurant because my sister does not eat meat. What do you recommend? We also want to stay within a few miles of here, and don’t want to spend more than $50. If they have cocktails, that would be a bonus. We’ve had a long day of traveling and need to blow off some steam! You’re welcome to join us. Cheers!”

ย่อหน้าที่สองจะปรับให้มีความตรงไปตรงมามากขึ้น โดยไม่มีวลีหรือหน่วยวัด แต่มีคำสแลงมากกว่า เช่น “hooligans” และ “pop champagne” 

  • Paragraph 2 – “How do I buy tickets to the boat party? Do we need to pay in advance, or can we buy them at the dock when we arrive? I need to be on the upper deck because sometimes I get seasick when I’m too close to the water. Also, I want to be as far away as possible from the young hooligans who want to pop champagne constantly during the voyage. That’s dangerous and not my kind of fun!”

ผลลัพธ์ที่ได้ : AI Chatbots เอาชนะ Google Translate

จาก 12 ตัวอย่างที่ส่งให้ผู้เข้าร่วมทดสอบ พวกเขาชอบ Chatbot AI เช่น ChatGPT, Google Bard หรือ Microsoft Bing มากกว่า Google Translate โดยที่ ChatGPT จะติดอันดับแทบจะทั้งหมด

ตารางการจัดอันดับสำหรับแต่ละบริการ 

“ในความคิดของฉัน ChatGPT ใกล้เคียงกับการสนทนาปกติมากที่สุด” Ana Romero ผู้จัดอันดับของการแปลภาษาสเปนกล่าว

Google Bard ทำงานไม่ค่อยดีนัก แถมยังแจ้งว่า “I cannot translate languages” แต่แนะนำให้ใช้ Google Translate ซึ่งน่าจะเป็นความพยายามของ Google ที่จะไม่ให้มีการแข่งขันระหว่างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง 

Chatbot ทั้งหมดต่ำกว่าความคาดหวัง สำหรับการแปลงในส่วนของสกุลเงินและการวัดระยะทางใน Paragraph แรก 

บทสรุป

ข้อผิดพลาดสำหรับ Google Translate คือการตีความตามตัวอักษร “มันเป็นการแปลแบบ ‘คำต่อคำ’ มากที่สุดในบรรดาเครื่องมือทั้งหมด Emile Saad ผู้จัดอันดับสำหรับการแปลภาษาอาหรับ กล่าว “สิ่งนี้ทำให้พลาดบริบทบางอย่าง ตัวอย่างเช่น ‘pop’ [in champagne] ถูกแปลว่า ‘กำลังจุดดอกไม้ไฟ'”

ในภาษาฝรั่งเศส Google Translate เก็บคำว่า “hooligans” เป็นภาษาอังกฤษไว้โดยที่ไม่มีการแปล ในขณะที่ Chatbot จะรู้จักใช้คำสแลงที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมมากกว่า

ปรากฎว่า Chatbot ได้รับการออกแบบให้มีความโดดเด่นในเรื่องของบริบทการแปล ด้วยการที่โมเดลเหล่านี้มีแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาล และผู้ใช้จำนวนมากมีการโต้ตอบในภาษานั้น ทำให้พวกมันผ่านการเรียนรู้มามากว่า และสามารถระบุวลีที่เป็นพวกคำสแลงได้ดีขึ้น

“เคล็ดลับความสุดยอดของ Chatbot เช่น ChatGPT คือ RLHF (reinforcement learning with human feedback) ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยความคิดเห็นจากมนุษย์” Rajani จาก Hugging Face กล่าว 

“พวกมันสามารถรวบรวมรูปแบบการตอบสนองในบริบทต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ความจริงใจ ความปลอดภัย การช่วยเหลือ ฯลฯ นั่นทำให้มันสามารถช่วยในการเลือกคำแปลที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา”

โฆษกของ Google บอก PCMag ว่า Bard และ Google Translate มี “เทคโนโลยีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พวกมันนอาจสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน” Bard เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานที่หลากหลาย ในขณะที่ Google Translate ได้รับการปรับให้เหมาะกับงานแปลโดยเฉพาะ

เทคโนโลยีอย่าง ChatGPT เป็นผู้นำในการแข่งแข่งที่ดุเดือดในเทคโนโลยีด้าน AI ในขณะนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกมันสามารถแปลข้อความได้ดีกว่า Google Translate เนื่องจาก Google Translate อาจใช้เทคโนโลยีที่เก่ากว่า และมักจะมีการปรับให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมากที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.pcmag.com/news/google-translate-vs-chatgpt-which-is-the-best-language-translator
https://www.windowseat.ph/best-translation-apps-for-your-next-international-travel-2023/

กฎหมายควบคุม AI กับความท้าทายใหม่ของรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วน

มันได้กลายเป็นปัญหาใหม่ และปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลทั่วโลก เมื่อเทคโนโลยีอย่าง Generative AI กำลังแพร่กระจายไปยังคนหมู่มากได้ใช้งาน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ยังไม่ได้รับการประเมินอย่างถี่ถ้วน ว่าจะกระทบกับวิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมโลกอย่างไรบ้าง

Sam Altman CEO ของ OpenAI เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญติพิจารณาควบคุม AI ในระหว่าง การให้ปากคำกับวุฒิสภา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา คำแนะนำดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

สำหรับ โซลูชั่นที่ Altman เสนอนั้น คือการสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้าน AI และกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ต้องได้รับใบอนุญาติ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า แม้กระทั่ง OpenAI ซึ่งเป็นคนสร้างเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ยังแสดงความกังวลกับผลกระทบที่จะตามมา

มีผู้เชี่ยวชาญมากมายได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวที่มีความสำคัญพอ ๆ กัน ทั้งความโปร่งใสในการฝึกอบรมข้อมูล และ การกำหนดกรอบที่ชัดเจนสำหรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ยังไม่มีการพูดถึงก็คือ เมื่อคำนึงถึงเศรษฐศาสตร์ของการสร้างโมเดล AI ขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมอาจได้เห็นการเกิดขึ้นของการผูกขาดทางเทคโนโลยีประเภทใหม่นี้ได้เช่นเดียวกัน

หน่วยงานที่ควบคุม AI

ฝ่ายนิติบัญญัติและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก (ยังไม่เห็นในไทย) ได้เริ่มกล่าวถึงประเด็นบางประเด็นในคำให้การของ Altman แล้ว

พระราชบัญญัติ AI ของสหภาพยุโรป ได้อิงตามแบบจำลองความเสี่ยงที่กำหนดให้แอปพลิเคชั่น AI มีความเสี่ยงสามประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ ความเสี่ยงสูง และ ความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงที่น้อยที่สุด

การจัดหมวดหมู่ดังกล่าวนี้ทำให้ตระหนักถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่กำลังใช้เทคโนโลยี AI เช่น Social Credit ที่ถูกใช้โดยรัฐบาลบางประเทศ และเครื่องมืออัตโนมัติต่าง ๆ สำหรับการคัดกรองการจ้างงาน ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIST) ก็ได้จัดทำกรอบการจัดการความเสี่ยงด้าน AI ที่สร้างขึ้นด้วยข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม รวมถึงหอการค้าสหรัฐ , สมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ตลอดจนสมาคมธุรกิจและวิชาชีพอื่น ๆ บริษัททางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ

หน่วยงานของรัฐบาลกลาง เช่น คณะกรรมการการจ้างงานที่เท่าเทียม และ คณะกรรมาธิกาการค้าแห่งสหพันธรัฐ ได้ออกแนวทางเกี่ยวกับความเสี่ยงบางประการที่มีอยู่ใน AI แม้กระทั่ง คณะกรรมการความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภค และหน่วยงานอื่น ๆ ก็กำลังมีบทบาทเช่นเดียวกัน

ซึ่งแทนที่จะสร้างหน่วยงานใหม่ที่จะมาจัดการเรื่องราวเหล่านี้ รัฐสภาพได้นำกรอบจัดการความเสี่ยงของ NIST ไปใช้ทั้งในภาครัฐและเอกชน และออกกฎหมายต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่ออัลกอริธึม เช่นเดียวกับกฎหมายอย่าง กฎหมาย Sarbanes-Oxley และข้อบังคับอื่น ๆ รวมถึง สภาคองเกรสยังสามารถใช้ กฎหมายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ซึ่งการควบคุม AI นั้น ควรเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ อุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย และหน่วยงานระหว่างประเทศ

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเปรียบเทียบแนวทางดังกล่าวนี้กับ องค์กรระหว่างประเทศ เช่น European Organization for Nuclear Research หรือที่รู้จักกันในชื่อ CERN หรือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภาคประชาสังคม อุตสาหกรรม และผู้กำหนดนโยบาย เช่น Internet Corporation for Assigned Names and Numbers และ World Telecommunication Standardization Assembly ตัวอย่างเหล่านี้เป็นแบบจำลองสำหรับอุตสาหกรรมและผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบัน

ผู้ออกใบอนุญาต ไม่ควรเป็นองค์กรธุรกิจ

แม้ว่า Altman จาก OpenAI จะแนะนำว่าบริษัทต่าง ๆ สามารถได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เทคโนโลยี AI สู่สาธารณะ แต่เขาก็ชี้แจงว่าเขาหมายถึง เทคโนโลยี AI ทั่วไป

เทคโนโลยี AI ที่ควรได้รับการออกใบอนุญาติ คือ AI ในอนาคตที่มีศักยภาพซึ่งจะมีสติปัญญาเหนือกว่ามนุษย์ซึ่งอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ มันคล้ายกับบริษัทที่ได้รับสัมปทาน หรือ ใบอนุญาตในเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น พลังงานนิวเคลียร์

ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ได้กล่าวว่า ปัญหาเรื่องความลำเอียงและความเป็นธรรมของ AI ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติในการลดความเสี่ยงที่ครอบคลุมมากขึ้น

การเสริมสร้างกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองผู้บริโภค จะช่วยให้ระบบ AI ซับซ้อนน้อยลง สิ่งที่สำคัญก็คือต้องมีความตระหนักว่าความรับผิดชอบและความโปร่งใสของข้อมูลที่มากขึ้นอาจะกำหนดข้อจำกัดใหม่ๆ ให้กับองค์กรเช่นเดียวกัน

ต้องมีกรอบการทำงานเพื่อรับรู้ถึงอันตรายของการทำงานของ AI ในสาขาต่าง ๆ เช่น การจ้างงาน การประกันภัย และการดูแลสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการยุติธรรมมีความยุติธรรมเพียงพอและปกป้องในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการถกเถียง ระหว่าง นักพัฒนา AI และผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง เช่นเดียวกัน

AI ผูกขาด?

ประเด็นนี้ค่อนข้างมีความสำคัญมาก ๆ สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าข้อมูลการฝึกอบรมทั้งหมดสำหรับเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ChatGPT มันยังไปรุกล้ำข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของมนุษย์คนอื่น ๆ เช่น ผู้ร่วมเขียน wikipedia บล็อกเกอร์ และผู้แต่งหนังสือ แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเครื่องมือเหล่านี้ จะตกอยู่กับบริษัทเทคโนโลยี ที่มาหากินที่ปลายทางเพียงเท่านั้น

ในอนาคต มันจะยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ในการพิสูจน์อำนาจการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ยิ่งพัฒนาขึ้น ก็จะมีความได้เปรียบจากการเรียนรู้ข้อมูลที่มากขึ้น

ทั้งที่ฐานข้อมูลหลักนั้น มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของคนจำนวนมาก แต่พวกเขากลับมาหากิน ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ ผ่านการเรียนรู้ของ AI ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นค่อนข้างมาก

กฎระเบียบที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ และรัฐบาลทั่วโลกต้องเริ่มให้ความสำคัญ แม้กระทั่งรัฐบาลไทย ที่เราเป็นเพียงผู้ใช้งานฝั่งปลายน้ำ เพียงเท่านั้น

เพราะหากไม่ทำอะไรเลย มันจะส่งผลอย่างมาก ต่อโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศนั้น ๆ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ได้รับการตรวจสอบผลกระทบอย่างดีเพียงพอ ทั้งในแง่บวก หรือ แง่ลบ

เพราะนโยบายต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งวาดฝันไว้ ก็อาจจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะโครงสร้างทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ที่มันกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงนั่นเองครับผม

References :
https://www.fastcompany.com/90902547/pov-heres-how-congress-can-regulate-ai
https://www.washingtonpost.com/opinions/2023/05/26/ai-regulation-congress-risk/
https://hbr.org/2023/05/who-is-going-to-regulate-ai
https://www.nytimes.com/2023/05/16/technology/openai-altman-artificial-intelligence-regulation.html

เมื่อ Yuval Noah Harari กล่าวว่า AI กำลังแฮ็กระบบปฏิบัติการของอารยธรรมมนุษย์

เป็นอีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจจาก The Economist ที่รอบนี้ เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI จาก Yuval Noah Harari นักเขียนชื่อดังจากหนังสือยอดนิยมอย่าง Sapiens: A Brief History of Humankind

Yuval มองว่า AI ได้ทำการหลอกหลอนมนุษยชาติตั้งแต่เริ่มยุคของคอมพิวเตอร์ ความกลัวในยุคเก่า ๆ นั้นอาจจะมองมันเป็นหุ่นยนต์เหมือนในภาพยนต์ hollywood ชื่อดัง ที่จะมาเข่นฆ่ามนุษย์เรา

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเครื่องมือ AI ใหม่ ๆ กำลังคุกคามความอยู่รอดของอารยธรรมมนุษย์ในสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึง

AI ยุคใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีอย่าง Generative AI มีความสามารถที่โดดเด่นในการสร้างภาษา ไม่ว่าจะเป็น คำพูด เสียง หรือภาพ มันจึงเปรียบเสมือนการที่ AI กำลังเจาะระบบปฏิบัติการของอารยธรรมมนุษย์เรา

ต้องบอกว่า ภาษา นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัฒนธรรมเกือบทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากสิ่งอื่น ๆ เช่น สิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้อยู่ใน DNA ของมนุษย์เรา แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นโดยการบอกเล่าเรื่องราวและเขียนกฎหมายเพื่อสร้างมันขึ้นมา

หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของพระเจ้าเองนั้น มันก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยอ้างอิงจากพระคัมภีร์ในศาสนาต่าง ๆ

เงินก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเช่นกัน เพราะธนบัตรที่เราใช้กันอยู่นั้นเป็นเพียงแค่กระดาษ และปัจจุบันอาจจะเป็นเพียงแค่ข้อมูลดิจิทัลในคอมพิวเตอร์เพียงเท่านั้น สิ่งที่ทำให้เงินมีค่า คือ เรื่องราวที่ถูกปั้นแต่งขึ้นจากเหล่า นายธนาคาร รัฐมนตรีคลัง และกูรูด้านคริปโตที่บอกเราเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้

เมื่อ AI กำลังจะมีสติปัญญาสูงกว่ามนุษย์ในการเล่าเรื่อง

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีอย่าง Generative AI นั้น มันทำให้เกิดคำถามสำคัญที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสติปัญญาที่ไม่ใช่มนุษย์ (AI) จะมีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปในการเล่าเรื่อง แต่งทำนอง วาดภาพ เขียนกฎหมาย และ พระคัมภีร์

เมื่อเรานึกถึงเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น ChatGPT เราจะนึกถึงตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ใช้ AI ในการเขียนเรียงความ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับระบบโรงเรียนเมื่อเด็กทำเช่นนั้น?

ลองนึกถึงการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาครั้งต่อไปในปี 2024 และลองจินตนาการถึงผลกระทบของเครื่องมือ AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาทางการเมือง ข่าวปลอม และคัมภีร์สำหรับลัทธิใหม่จำนวนมากได้อย่างง่ายดาย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลัทธิอย่าง QAnon ได้สร้างความปวดหัวให้เกิดขึ้นกับเรื่องราวทางการเมืองในการสร้างข้อความบนออนไลน์ ด้วยข้อมูลที่ผิดเพี้ยนต่างๆ มากมาย โดยเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ปราศจากมูลความจริง โดยมีความเชื่อหลัก ๆ ว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังทำสงครามกับพวกใคร่เด็กที่บูชาซาตาน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชนชั้นนำที่แฝงอยู่ในรัฐบาล ธุรกิจ และสื่อต่าง ๆ

ผู้ที่เชื่อใน QAnon คาดว่า การต่อสู้นี้จะนำไปสู่การจับตัวคนผิดมาลงทัณฑ์ โดยหนึ่งในบุคคลมีชื่อเสียงที่สาวก QAnon กล่าวหาว่าเป็นวายร้ายในขบวนการค้ากามเด็กก็คือ ฮิลลารี คลินตัน อดีตคู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของทรัมป์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016

ลัทธิอย่าง QAnon ได้สร้างความปวดหัวให้เกิดขึ้นกับเรื่องราวทางการเมืองอเมริกา (CR:FT.com)
ลัทธิอย่าง QAnon ได้สร้างความปวดหัวให้เกิดขึ้นกับเรื่องราวทางการเมืองอเมริกา (CR:FT.com)

ซึ่งเคสที่เกิดขึ้นนกับ QAnon มันยังเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะอย่างน้อยมันก็ยังถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ และมีบอทช่วยในการเผยแพร่พวกมันเพียงเท่านั้น

แต่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นลัทธิแรกในประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องราวที่น่าเชื่อถือ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องจริง แต่มันถูกสร้างโดย AI แทบจะทั้งสิ้น เปรียบเสมือนกับศาสนาที่ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้อ้างอิงสิ่งที่เว่อร์เกินจริงในพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ซึ่งอีกไม่นานเรื่องราวเหล่านี้กำลังจะเกิดง่ายดายยิ่งขึ้นผ่าน AI

ในไม่ช้า มนุษย์เราอาจพบว่าตัวเองกำลังถกเถียงบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำแท้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การรุกรานยูเครน หรือแม้กระทั่งเรื่องของการฝักใฝ่ในเรื่องการเมือง กับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วคือ AI

ในขณะที่เราถกเถียง แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องยากที่เราจะไปถกเถียงกับ AI ที่มีความคิดที่ลึกซึ้งและเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีกว่าเรามาก ๆ แต่ในขณะเดียวกัน AI สามารถหลอกล่อโดยปรับแต่งเรื่องราวได้อย่างแม่นยำจนพวกมันจะมีอิทธิพลต่อความคิดของเราในท้ายที่สุด

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านภาษาระดับเทพของ AI นั้น ทำให้พวกมันสามารถสร้างความใกล้ชิดกับผู้คน และใช้พลังของความใกล้ชิดเพื่อเปลี่ยนความคิดและโลกทัศน์ของเรา

ในการต่อสู้ทางการเมือง ความใกล้ชิดเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุดและ AI มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้คนนับล้าน

เราทุกคนต่างทราบดีว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นสมรภูมิในการควบคุมความสนใจของมนุษย์ และด้วย AI ยุคใหม่ มันจะเปลี่ยนจากความสนใจไปสู่ความใกล้ชิด

จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมมนุษย์และจิตวิทยาของมนุษย์ เมื่อ AI ต้องต่อสู้กันเพื่อแกล้งสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับเรา ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อโน้มน้าวให้เราลงคะแนนให้นักการเมืองคนใดคนหนึ่งหรือซื้อผลิตภัณฑ์บางอย่างได้

เครื่องมือ AI ใหม่จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดเห็นและโลกทัศน์ของเรา ผู้คนอาจใช้ที่ปรึกษา AI เป็นเหมือนเทพยากรณ์ที่มีความรอบรู้ในที่เดียว

วงการข่าวและโฆษณาก็ต้องเตรียมรับแรงกระแทกเช่นเดียวกัน ทำไมต้องอ่านหนังสือพิมพ์เมื่อเทพยากรณ์ส่วนตัวของเราสามารถบอกข่าวล่าสุดได้ และโฆษณาจะมีไว้เพื่ออะไรเมื่อเทพยากรณ์สามารถทำนายได้ว่าเราควรที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ใด

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษย์

จะเกิดอะไรขึ้นกับประวัติศาสตร์เมื่อ AI เข้าครอบงำวัฒนธรรมและเริ่มสร้างเรื่องราว ท่วงทำนอง กฎหมาย และศาสนา?

เครื่องมือที่มนุษย์ใช้ก่อนหน้านี้ เช่น แท่นพิมพ์ หรือ วิทยุที่ช่วยเผยแพร่แนวคิดทางวัฒนธรรมของมนุษย์ แต่แทบไม่เคยสร้างแนวคิดทางวัฒนธรรมใหม่ของตนเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับ AI แล้วนั้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะพวกมันสามารถสร้างความคิดใหม่ ๆ วัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ในช่วงแรก AI อาจจะเลียนแบบต้นแบบของมนุษย์ที่ได้รับการฝึกฝนในวัยเด็ก ในขณะที่ผ่านไปแต่ละปี วัฒนธรรม AI จะก้าวไปสู่จุดที่มนุษย์ไม่เคยไปถึงมาก่อน

ความกลัว AI ได้หลอกหลอนมนุษยชาติในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่เป็นเวลาหลายพันปีที่มนุษย์ถูกหลอกหลอนด้วยความกลัวที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก เรามักจะชื่นชมในพลังของเรื่องราวและรูปภาพในการบงการจิตใจของเราและสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่สมัยโบราณมนุษย์จึงหวาดกลัวการติดอยู่ในโลกแห่งมายา

ในศตวรรษที่ 17 เรอเน เดส์การตส์กลัวว่าบางทีปีศาจร้ายอาจกำลังขังเขาไว้ในโลกแห่งภาพลวงตา สร้างทุกสิ่งที่เขาเห็นและได้ยิน

ในยุคกรีกโบราณ เพลโตเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่องถ้ำอันเลื่องชื่อ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งถูกล่ามโซ่ไว้ในถ้ำตลอดชีวิต โดยหันหน้าเข้าหากำแพงที่ว่างเปล่า และทำให้พวกเขาเห็นเงาต่าง ๆ ที่ฉายภาพออกมา ซึ่งเหล่านักโทษเข้าใจผิดว่าภาพลวงตาที่พวกเขาเห็นนั้นเป็นความจริง

เพลโตได้เล่าเรื่องคนกลุ่มหนึ่งถูกล่ามโซ่ไว้ในถ้ำตลอดชีวิต โดยหันหน้าเข้าหากำแพงที่ว่างเปล่าจนหลอน (CR:StudioBinder)
เพลโตได้เล่าเรื่องคนกลุ่มหนึ่งถูกล่ามโซ่ไว้ในถ้ำตลอดชีวิต โดยหันหน้าเข้าหากำแพงที่ว่างเปล่าจนหลอน (CR:StudioBinder)

ในยุคอินเดียโบราณ นักปราชญ์ชาวพุทธและฮินดูชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนติดอยู่ในโลกมายา โลกแห่งมายา สิ่งที่เรามักคิดว่าเป็นจริงมักจะเป็นเพียงเรื่องสมมติในความคิดของเราเอง ผู้คนอาจเข้าร่วมสงคราม ฆ่าผู้อื่นและเต็มใจที่จะถูกฆ่าตายเพราะความเชื่อของพวกเขาในภาพลวงตาเหล่านี้

การปฏิวัติ AI กำลังนำพามนุษย์เราเผชิญหน้ากับปีศาจของเดส์การตส์ ถ้ำของเพลโต และโลกแห่งมายา หากเราไม่ระวัง เราอาจติดอยู่หลังม่านแห่งภาพลวงตา ซึ่งเราไม่สามารถที่แยกออกได้ หรือแม้แต่ตระหนักว่ามันมีอยู่จริง

แต่แน่นอนว่า AI สามารถช่วยเราได้มากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ การค้นหาวิธีรักษามะเร็งใหม่ ๆ ไปจนถึงการค้นพบวิธีแก้ไขวิกฤติทางนิเวศวิทยา

เรายังสามารถควบคุม เครื่องมือ AI ใหม่ได้ แต่เราต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะ AI สามารถที่จะสร้าง AI ใหม่ที่ทรงพลังขึ้นแบบทวีคูณ ขั้นตอนสำคัญอันดับแรกคือต้องตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดก่อนที่เครื่องมือ AI อันทรงพลังเหล่านี้ จะเผยแพร่ออกไปสู่คนหมู่มาก

มันไม่ต่างจากบริษัทยาที่ไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์ยาชนิดใหม่ได้ก่อนที่จะทำการทดสอบผลข้างเคียงทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นบริษัทเทคโนโลยีจึงไม่ควรออก เครื่องมือ AI ใหม่ ก่อนที่มันจะถูกตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ

การใช้งาน AI ที่ไม่ได้รับการควบคุมจะสร้างความสับสนวุ่นวายในสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจเผด็จการและทำลายระบอบประชาธิปไตย

เพราะประชาธิปไตยคือการสนทนา และการสนทนาต้องอาศัยภาษา เมื่อ AI เข้าแฮ็กภาษาของมนุษย์เราได้ พวกมันอาจจะทำลายความสามารถของเราในการสนทนาที่มีความหมาย ซึ่งจะเป็นการทำลายประชาธิปไตยในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

Refernces :

เรียบเรียงจากบทความ Yuval Noah Harari argues that AI has hacked the operating system of human civilisation ของ The Economist
https://www.ynharari.com/yuval-noah-harari-argues-that-ai-has-hacked-the-operating-system-of-human-civilisation/
https://www.bbc.com/thai/international-54528077
https://www.timesofisrael.com/yuval-noah-harari-warns-ai-can-create-religious-texts-may-inspire-new-cults/

เมื่ออัลกอริธึม ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาเรื่องความผิดทางกฎหมายของมนุษย์

วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราหลาย ๆ อย่างนั้น ถูกดำเนินการด้วยรูปแบบของอัลกอริธึมมานานแล้ว ซึ่งมันคงไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดถ้าหากในอนาคต การใช้คอมพิวเตอร์อัลกอริธึมจะถูกนำมาปรับใช้กับชีวิตมนุษย์จริง ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ต้องบอกว่ามนุษย์เรานั้นต่างคุ้นเคยกับอัลกอริธึมที่วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันเรากลายเป็นเรื่องปรกติ ทั้งเครือข่ายโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือ การเล่นเกม ล้วนผูกติดอยู่กับอัลกอริธึมแทบจะทั้งสิ้น

แน่นอนว่าด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เราก็สามารถใช้อัลกอริธึมและเทคโนโลยีอย่าง machine learning เพื่อทำการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยมีข้อมูลที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

ยกตัวอย่าง กรณีของ Sean Hogg หนุ่มอายุ 17 ชาวสกอตแลนด์ ที่ได้ไปข่มขืนเด็กอายุ 13 ปี ได้ถูกตัดสินให้ทำงานบริการชุมชน 270 ชั่วโมง

ความน่าสนใจคือ แนวทางการพิจารณาคดี ใช้รูปแบบของ “อัลกอริธึม” มีการเรียกใช้ชุดข้อมูล ลักษณะของอาชญากรรม สถานการณ์ของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติต่าง ๆ ของผู้กระทำความผิดและเหยื่อ

จากนั้นนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ยัดลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างชุดตัวเลือกสำหรับผู้พิพากษาที่จะเป็นประธานในการพิจารณาคดี

อัลกอริธึมที่สร้างคำตัดสินของ Hogg แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่มันได้กลายเป็นกรณีศึกษาครั้งใหญ่เกี่ยวกับความท้าทายในการใช้อัลกอริธึมกับนโยบายสาธารณะของประเทศ เช่น เรื่องการตัดสินความผิดทางกฎหมาย

อัลกอริธึมมันไร้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึก เน้นที่ logic ทางกฎหมายล้วน ๆ ไม่มีดราม่า อย่างที่เราได้เห็นเป็นประจำในการพิจารณคดีของประเทศสหรัฐอเมริกาในระบบคณะลูกขุน ซึ่งมักจะเบี่ยงเบนประเด็นด้านกฎหมาย โดยใช้เรื่องราวความดราม่า เห็นอกเห็นใจ เข้ามาเจาะไปยังอารมณ์ของเหล่าคณะลูกขุนเพื่อพลิกคำตัดสินได้

เราอยู่ภายใต้โลกของการถูกตัดสินใจโดยอัลกอริธึมมานานแล้ว ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการเสพสื่อ ไปจนถึงประเด็นใหญ่อย่างการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ที่สร้าง impact มาก ๆ

มนุษย์เป็นเพียงแค่ส่วนนึงของกระบวนการ ทุกอย่างมันถูกกลั่นกรองและตัดสินใจผ่านข้อมูล Data ต่าง ๆ ที่มีความสลับซับซ้อน และเลือกทางออกที่ดีที่สุดให้กับมนุษย์มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

องค์กรหลาย ๆ องค์กรที่ทำให้หน้าที่ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ จากข้อมูล มนุษย์จะแทบไร้ซึ่งประโยชน์ในอนาคต เพราะพวกเขาแทบจะไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไปแล้ว เพียงแค่ feed ข้อมูลให้อัลกอริธึมเป็นคนตัดสินใจ และประกาศผลนั้นออกมาให้โลกรู้เพียงเท่านั้นนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/dc1d68f4-1b2c-4a78-8cf8-172525121ef6
https://ssir.org/articles/entry/when_good_algorithms_go_sexist_why_and_how_to_advance_ai_gender_equity