Sharing Economy อย่าง Uber และ Lyft สามารถทำเงินเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรจริง ๆ ได้หรือไม่?

Sharing Economy คำพูดที่ดูสวยหรูที่เราได้ยินกันมากว่า 15 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าการจะสร้างธุรกิจด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้นั้นมันยากที่จะเป็นจริง Uber ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2008 เป็นบทพิสูจน์หนึ่งในนั้น

ลองจินตานาการถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพ แล้วพวกคุณคือนักลงทุนคนหนึ่ง และได้ให้โอกาส ให้ทุนเจ้าของกิจการไปเผาผลาญเงินเป็นว่าเล่นเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว แต่ธุรกิจกลับยังไม่ไปถึงไหน คุณจะคิดอย่างไรกับธุรกิจแบบนี้

ต้องบอกว่ามันกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเหล่านักลงทุนใน Uber ที่เป็นบริษัทเรียกรถโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับตั้งแต่ได้ทำ IPO ในปี 2019 ในช่วงหกเดือนแรกในฐานะบริษัทมหาชน ราคาหุ้นของ Uber ดิ่งลงเหวมูลค่าลดลงไปถึงหนึ่งในสี่

ตั้งแต่จุดต่ำสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สัญญาณทางวินัยทางการเงินที่มากขึ้นได้ผลักดันราคาหุ้นของ Uber กลับสู่จุดที่ซื้อขายครั้งแรกในปี 2019

ด้วยต้นทุนที่ลดลง ค่าโดยสารที่สูงขึ้น ในเดือนนี้บริษัทรายงานผลกำไรจากการดำเนินงาน 326 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สองของปี

และมีข่าวที่น่ายินดีของ Uber เมื่อในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา Lyft ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจในประเทศ รายงานผลกระกอบการขาดทุนอีก 159 ล้านเหรียญ มูลค่าตลาดของ Lyft ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลงลงสูงถึง 85% จากจุดที่บริษัทเริ่มทำ IPO ในปี 2019

แต่อย่างไรก็ตาม Uber ก็ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน แม้จะเพิ่มผลกำไร แต่บริษัทยังขาดทุนสุทธิ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เปิดเผยผลประกอบการครั้งแรกในปี 2014

เงินของนักลงทุนที่ถูกเน้นไปที่การเผาผลาญเพื่อการเติบโต การเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสล่าสุด เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินทุนนั้น มันเป็นเพียงแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่าเงินของเหล่านักลงทุนที่สูญเสียไป ที่หวังผลตอบแทนแบบบ้าคลั่งเหมือนธุรกิจสตาร์ทอัพรายอื่น ๆ เช่น Faceboook , Google ฯลฯ มันดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานั้น การเติบโตของรายได้ของ Uber มากกว่า 60% มาจากธุรกิจอื่นนอกเหนือจากบริการเรียกรถ และที่สำคัญที่สุดของเป็นธุรกิจการจัดส่งอาหารซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่อัตรากำไรของ Uber ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาในธุรกิจจัดส่งอาหารนั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับธุรกิจเรียกรถ

ธุรกิจการจัดส่งอาหารซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 (CR:Lawyer Weekly)
ธุรกิจการจัดส่งอาหารซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 (CR:Lawyer Weekly)

สิ่งทีน่ากังวลเพิ่มเติมก็คือ Uber มุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจนอกอเมริกา ซึ่งตอนนี้แทบจะไม่เติบโตอีกต่อไปแล้ว อัตรากำไรที่สูงที่สุดนั้นอยู่ในอเมริกา โดยครองส่วนแบ่งการตลาดของบริการเรียกรถได้เกือบสามในสี่ ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ นั้น ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมาก ๆ จากคู่แข่งในท้องถิ่น เช่น Bolt และ Freenow ในยุโรป , Gojek และ Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Ola ในอินเดีย

ผู้ชนะ Sharing Economy ตัวจริงคือ Airbnb

ลองมาเปรียบเทียบธุรกิจแบบ Sharing Economy อย่าง Airbnb นั้น ก็เกิดมาพร้อม ๆ กับยุค การบูมขึ้นของ sharing economy ที่นำโดย Uber เป็นเจ้าแรก แต่ดูเหมือนผู้ที่มาก่อนอย่าง Uber จะตกอยู่สถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้

และที่สำคัญ เราจะเห็นได้ว่า แทบจะทั่วโลกนั้น ดันไปเลียนแบบ และ copy โมเดลมาจาก Uber กระจายไปทั่วโลก เพราะมัน copy ได้ง่ายมากและไม่มีอะไรที่ซับซ้อน Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาไม่นานก็สามารถเอาชนะ Uber ที่เป็นต้นแบบของพวกเขาได้

และเมื่อเกิดบริการใหม่ ๆ ที่ต่อยอด อย่างบริการขนส่งอาหาร หรือ ขนส่งสินค้าของชำ ก็เกิดบริการแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นเดียว ทุกบริการต่างอัดเงินเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง สอดรับกับผลประกอบการที่ขาดทุนกันแทบจะทุกเจ้า ตั้งแต่ทางฝั่งตะวันตก ยุโรป มาจนถึงเอเชีย รวม ๆ กัน อาจจะขาดทุนไปกว่าแสนล้านเหรียญในธุรกิจดังกล่าวนี้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น กลับกัน เจ้าพ่อห้องพักแบบ sharing อย่าง Airbnb แทบจะมีคู่แข่งน้อยมาก ๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร Airbnb ก็ปรับราคาสูงขึ้น หรือมีบริการต่าง ๆ ยิบย่อยที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้อีกมากมาย

ตัวเลขทุกอย่างของ Airbnb เป็นบวกแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รายรับที่เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อนหน้า จำนวนคืนที่พักก็เพิ่มขึ้น 25% มูลค่าของการจองเพิ่มขึ้น 31% เรียกได้ว่า ตัวเลขเป็นสีเขียวในแทบทุกจุด

Airbnb คือผู้ชนะตัวจริงใน Sharing Economy (CR:borneobulletin)
Airbnb คือผู้ชนะตัวจริงใน Sharing Economy (CR:borneobulletin)

กลับกัน มาดูธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือบริการเรียกรถ ผลประกอบการที่ออกมาเรียกได้ว่าบัดซบเอามาก ๆ มองไปจุดไหนก็เป็นสีแดง แถมคู่แข่งก็มากมายมหาศาลในไทยประเทศเดียว ก็มี 4-5 บริการมาแข่งกันอย่างดุเดือด ขาดทุนกันทุกเจ้า

ซึ่งบางครั้ง ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับว่าเหล่านักลงทุนเขาเห็นอะไรในธุรกิจพวกนี้ การเดิมพันของเหล่านักลงทุนกับธุรกิจอย่าง Uber ที่พวกเขามองว่าธุรกิจเรียกรถจะเป็นธุรกิจแบบ winner-takes-all  นั่นแสดงให้เห็นถึงการเผาผลาญเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

แต่มาถึงวันนี้มันเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ความคาดหวังของนักลงทุนที่จะเห็น Uber กลายเป็นเหมือน Facebook หรือ Google ในธุรกิจเรียกรถนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลเกินฝันไปแล้วนั่นเองครับผม

References :

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Can Uber and Lyft ever make real money? – The Economist
https://www.usnews.com/news/business/articles/2022-11-01/airbnb-posts-1-2-billion-profit-in-3q-as-revenue-jumps-29
https://www.foxbusiness.com/markets/airbnb-posts-1-2-billion-profit-3q-revenue-jumps-29-percent
https://www.dailymail.co.uk/news/article-11379203/Airbnb-reports-record-revenue-2-88B-warns-risks-inflation.html
https://www.youtube.com/watch?v=9TrzpSvn_d4