4 Kings China (AI) สี่จตุรเทพดาวรุ่งจากจีนสู่การสานฝันเบอร์หนึ่ง AI โลกภายในปี 2030

เรามักจะเห็นข่าวเรื่อง AI ส่วนใหญ่จากทางฝั่งโลกตะวันตกเพียงเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีระดับบนเฉกเช่น AI นั้น พี่จีนเขาก็มีความแข็งแกร่งไม่แพ้กัน

สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน สตาร์ทอัพด้าน Generative AI ชั้นนำของจีนได้รับการประเมินมูลค่าสูงระดับ 1.2 – 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พวกเขามีสรรพกำลังด้านนี้ไม่แพ้ทางฝั่ง Silicon Valley แต่อย่างใด ซึ่งเราคงไม่แปลกใจว่าหัวหน้าทีม AI ระดับแนวหน้าของบริษัท Big Tech จาก Silicon Valley นั้นก็มาจากกลุ่มคนหน้าตี๋เหล่านี้จำนวนมากที่พร้อมจะกลับประเทศเพื่อไปสานฝันวิสัยทัศน์เพื่อครองความยิ่งใหญ่ในเทคโนโลยี AI ภายในปี 2030

มียูนิคอร์นรายใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ Zhipu AI , Moonshot AI , MiniMax และ 01.ai ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนักลงทุนในประเทศจีน และกำลังแข่งขันกันคว้าตัวบุคลากรที่มีพรสวรรค์ระดับเทพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ใหม่ให้ทัดเทียมโลกตะวันตก

คู่แข่งจากสหรัฐฯ มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการระดมทุนโดยรวมสูงกว่าฝั่งจีน แต่เนื่องจาก ChatGPT และบริการแชทบอทยอดนิยมอื่น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้ในจีน ทำให้ในประเทศจีนเองมีบริษัทเทคโนโลยีกว่า 262 แห่งพยายามนำเสนอทางเลือกในประเทศ

ซึ่งโดยรวมแล้วสตาร์ทอัพด้าน Generative AI ของจีนมีการระดมทุนรวมราว ๆ 14.3 พันล้านหยวน (2 พันล้านดอลลาร์) ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้

ทางการปักกิ่งเองก็ได้อนุมัติการใช้งานในรูปแบบสาธารณะสำหรับโมเดลภาษาขนาดใหญ่และแอปพลิเคชันด้าน AI ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 รายการ พร้อมสร้างกฎระเบียบที่สนับสนุนการเติบโตในภาคส่วนนี้ผ่านการลดหย่อนภาษีและเงินอุดหนุน

Zhipu กลายเป็นสตาร์ทอัพด้าน AI ที่ใหญ่ที่สุดในจีนในแง่ของจำนวนพนักงาน บริษัทที่ได้ทำการแยกออกมาจากมหาวิทยาลัยซิงหัวชั้นนำของปักกิ่ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคคลากรด้าน AI ที่สำคัญที่สุด มีพนักงานมากกว่า 800 คน และมีมูลค่ากิจการ 18 พันล้านหยวน (2.5 พันล้านดอลลาร์) จากการะดมทุนรอบล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

Moonshot ที่ก่อตั้งโดย หยางจี้หลิน อดีตนักศึกษาผู้ก่อตั้ง Zhipu ได้รับการประเมินมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในรอบการระดมทุนครั้งล่าสุดที่ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ หยาง เคยฝึกงานที่ Google Brain AI และ Meta AI และก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Recurrent AI เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การโทรของพนักงานขาย

หยางจี้หลิน ผู้ก่อตั้ง Moonshot ai (CR:panda daily)
หยางจี้หลิน ผู้ก่อตั้ง Moonshot ai (CR:panda daily)

Moonshot , Zhipu และ 01.ai ได้พัฒนาแชทบอทสำหรับพนักงานออฟฟิศและนักศึกษา มีความสามารถคล้าย ๆ ChatGPT แต่เชี่ยวชาญในเรื่องภาษาจีนมากกว่า

แชทบอท Kimi ของ Moonshot ได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของ Ernie Bot ผลิตภัณฑ์แชทบอทของยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาอย่าง Baidu

Kimi มีผู้ใช้งาน 12.6 ล้านครั้งในเดือนมีนาคม เทียบกับ 14.9 ล้านครั้งของคู่แข่งรายเก่าแก่อย่าง Ernie Bot แต่ต้องบอกว่า Kimi มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่ามาก

“Kimi สร้างผลงานที่ดีผ่านเทคนิคที่เรียกว่า RAG” แหล่งข่าวในวงการกล่าว โดยหมายถึงเทคนิค retrieval-argumented generation ที่ช่วยให้โมเดลสามารถนำข้อมูลจากแหล่งภายนอกมาประมวลผลเพื่อตอบคำถามของผู้ใช้ด้วยข้อมูลที่อัพเดทกว่า

แต่ Kimi เองก็กลายเป็นเหยื่อของความนิยม เมื่อต้องเผชิญกับปริมาณความต้องการใช้งานที่สูงเกินกว่าจะรองรับได้ เนื่องจากเหล่าผู้ใช้งานชาวจีนต่างแห่กันมาใช้งานแชทบอทที่ใช้งานง่ายเหล่านี้ในจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาล

ผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างชื่นชมความสามารถของ Kimi ในด้านเครื่องมือที่ใช้ในการสรุปเนื้อหาและการให้คำตอบเจาะจงในบริบทที่ถูกต้องและชัดเจนกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ

การทะลักเข้ามาใช้งานของผู้ใช้ชาวจีน ทำให้ Kimi Bot ต้องหยุดให้บริการเป็นเวลา 2 วันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อกันเลยทีเดียว

เนื่องจากต้องเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะชิปที่กำลังขาดแคลน หลาย ๆ สตาร์ทอัพจากจีนจึงเลือกที่จะเปิดตัวแชทบอทในรูปแบบอวาตาร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการตอบคำถามสูงเท่ากับแชทบอทอื่น ๆ โดยแชทบอทประเภทนี้ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลจำนวนน้อยกว่า จึงใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์น้อยกว่า

“การลอกเลียนแบบ ChatGPT ทำได้ยาก การสร้างแชทบอทอวาตาร์ทำได้ง่ายกว่าเพียงใช้โมเดลโอเพนซอร์ส และทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่น้อยกว่ามาก” นักวิจัยด้าน AI คนหนึ่งในจีนกล่าว

ทั้ง Zhipu และ MiniMax ต่างมีแชทบอทอวาตาร์ โดยมุ่งเป้าไปที่ตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกผ่านตัวละครแนวอนิเมะ โดย MiniMax ซึ่งตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้มีมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์จากการระดมทุน 600 ล้านดอลลาร์รอบล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

01.ai ซึ่งก่อตั้งโดย ไค-ฟู ลี บุคคลที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI ในจีนเป็นอย่างมาก (ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง AI Super-Powers) ได้เปิดตัวชุดโมเดลโอเพนซอร์สชื่อ Yi โดยมีการปรับให้เหมาะสมกับจีนโดยสร้างบนสถาปัตยกรรม Llama ของ Meta ที่เปิดให้ปรับแต่งได้ฟรี

Hugging Face ซึ่งเป็นบริษัทที่ติดตามโมเดลโอเพนซอร์ส ได้จัดอันดับหลายรุ่นของ Yi ให้อยู่ในระดับสูงในความสามารถด้านการตอบคำถามทั่วไป คณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม และการอ่าน 01.ai ยังเปิดตัวแชทบอทในการสร้างภาพที่ชื่อ Wanzhi อีกด้วย

ไค-ฟู ลี บุคคลที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI ในจีนเป็นอย่างมาก (CR:KAUST)
ไค-ฟู ลี บุคคลที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI ในจีนเป็นอย่างมาก (CR:KAUST)

โดย 01.ai เพิ่งมีการประเมินมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ จากการระดมทุนรอบล่าสุด และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลของ ไค-ฟู ลี เอง อย่าง Sinovation Ventures รวมถึงอีกหลายกองทุน เช่น Shunwei Capital , Xiaomi และ Alibaba Cloud

เนื่องจากยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจนในจีน ทำให้ลูกค้ายังตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกโมเดลใดให้เหมาะสมกับตนเอง

เจฟฟรีย์ ดิง ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของจีนและรองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันกล่าวว่า “มันยากมากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างแอปพลิเคชันที่คล้ายคลึงกัน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไหนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับสถานการณ์เฉพาะของคุณ”

สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งสี่บริษัทมีผู้สนับสนุนร่วมกันนั่นก็คือ Alibaba ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้สนับสนุนหลักของสตาร์ทอัพด้าน AI ซึ่งเป็นการดำเนินกลยุทธ์ที่คล้ายกับ Microsoft ที่เดิมพันครั้งใหญ่กับเทคโนโลยีนี้เช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากเรื่องเงินทุนก็คงเป็นเรื่องทรัพยากรบุคคลรวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการประมวลผลเทคโนโลยี AI ขั้นสูงเหล่านี้ที่เริ่มมีอยู่อย่างจำกัดจากการแบนของสหรัฐฯ

ตอนนี้บริษัทจากจีนส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการกำลังที่ใช้ในการประมวลผลน้อยลง เนื่องจากต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัดจากสหรัฐฯ

ทรัพยากรทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จำกัดนี่เองที่ทำให้สตาร์ทอัพด้าน AI หลาย ๆ รายของจีนเลือกที่จะพึ่งพาโมเดลโอเพนซอร์สอย่าง Llama ของ Meta ในการสร้างโมเดลและแอปพลิเคชันของตนเองแทนที่จะต้องใช้ทรัพยากรด้านการประมวลผลขั้นสูงในการสร้างโมเดลขึ้นมาเองโดยเริ่มต้นจากศูนย์

ปัจจัยที่จีนได้เปรียบบริษัทจาก Silicon Valley ก็คือเรื่องของค่าจ้างพนักงานที่ต่ำกว่าซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับพวกเขา บัณฑิตจบใหม่ปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยในจีนมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 – 240,000 ดอลลาร์ต่อปีซึ่งต่ำกว่าใน Silicon Valley ประมาณ 4 เท่า

“เรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก” พนักงานคนหนึ่งจากสตาร์อัพด้าน AI ในจีนกล่าว โดยชี้ว่าทีมงานด้านผลิตภัณฑ์และการขายที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยให้บริษัทสามารถหาโมเดลทำเงินของตน และแสวงหาลูกค้ารายใหม่ได้

แต่ดังที่นักลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงคนหนึ่งในจีนได้กล่าวไว้ว่า “บริษัทจีนอาจไม่เก่งด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน แต่พวกเขาถนัดเป็นอย่างมากในการจับกระแสของอุตสาหกรรม เลียนแบบสิ่งที่ดีอยู่แล้ว และนำเอาจุดเด่นในเรื่องบุคลลากรด้านวิศวกรรมทำย้อนรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ”

บทสรุป

ความน่าสนใจก็คือจีนทำงานกันเป็นทีมทั้งนักลงทุนผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่พวกเขามองว่าสามารถเขย่าโลกได้อย่างแท้จริง

เรียกได้ว่าตอนนี้จีนกำลังเพิ่มการลงทุนด้าน AI ในระดับครั้งประวัติศาสตร์ เงินสำหรับสตาร์ทอัพด้าน AI หลั่งไหลเข้ามาจากผู้ร่วมทุน ผู้นำด้านเทคโนโลยีและรัฐบาลจีนอย่างสมัครสมานสามัคคี

ทรัพยากรด้านบุคคลากรในสาขานี้พวกเขาก็ไม่เป็นสองรองใคร AI ได้กลายเป็นสาขายอดนิยมอันดับต้น ๆ ของเหล่านักเรียนนักศึกษาชาวจีน บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ยุคก่อนหน้าตัวอย่างเช่น Alibaba ก็เร่งผลักดันปรับเปลี่ยนโฉมบริษัทใหม่ เพื่อรับมือกับคลื่น AI

และที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นรัฐบาลจีนเองที่ออกแผนที่มีความทะเยอทะยานเพื่อสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยี AI เรียกร้องให้มีการระดมทุนสนับสนุนนโยบายเพื่อพัฒนา AI มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับความก้าวหน้าภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จีนจะกลายเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมระดับโลกด้าน AI ได้ในท้ายที่สุด

References :
https://www.ft.com/content/4e6676c8-eaf9-4d4a-a3dc-71a09b220bf8
หนังสือ Ai Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order โดย Kai-Fu Lee
https://www.linkedin.com/pulse/china-leading-world-artificial-intelligence-by2030-sheldon-chin/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube