จีนจะเป็นผู้ชนะของสงคราม EV? เมื่อการแข่งขันเพื่อเอาชนะระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติคือสิ่งที่พวกเขาถนัด

ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ของจีนเกือบสิบแห่งได้ประกาศแผนการที่มีความทะเยอทะยานในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ NOA (Navigation on Autopilo) ของตนไปยังหลายเมืองทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับฟีเจอร์ Full Self-Driving (FSD) ที่ Tesla กำลังทดสอบเวอร์ชั่นเบต้าในอเมริกาเหนือ ระบบ NOA เป็นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่เวอร์ชันที่มีความสามารถมากขึ้น ซึ่งสามารถที่จะหยุด บังคับทิศทาง และเปลี่ยนเลนได้แบบอัตโนมัติในเมืองที่มีการจราจรที่ซับซ้อน

ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการขับขี่แบบไร้คนขับอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากระบบดังกล่าวยังต้องจับพวกมาลัยและมนุษย์ต้องพร้อมที่จะเข้าควบคุมอยู่ตลอดเวลา

ขณะนี้เหล่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าได้นำเสนอ NOA เป็นการอัปเกรดซอฟต์แวร์ระดับพรีเมี่ยมให้กับเจ้าของรถที่ยินดีจ่ายเพื่อประสบการณ์ใช้งานระดับสุดยอด

เมื่อปีที่แล้ว ระบบ NOA ของจีนยังคงจำกัดอยู่แค่บนทางหลวงและไม่สามารถทำงานได้ในเขตเมือง แม้ว่าคนจีนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นแล้วก็ตาม

นั่นเองด้วยองค์ความรู้ที่สุดยอดโดยเฉพาะในเรื่อง AI ของทางฝั่งจีน บริษัทผลิตรถยนต์ของจีนได้เร่งผลิตระบบนำทางเฉพาะของเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

บริษัทชั้นนำอย่าง Xpeng , Li Auto และ Huawei ได้ประกาศแผนเชิงรุกที่จะเปิดตัวบริการ NOA เหล่านี้ไปยังเมืองต่าง ๆ อีกหลายสิบหรือหลายร้อยเมืองในอนาคอันใกล้ ถึงขนาดที่ว่าผู้ผลิตรถยนต์บางรายยอมปล่อยให้ใช้ NOA แบบฟรี ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

อย่าคิดว่ามันจะเทพขนาดนั้น!!!

อุตสาหกรรมการขับขี่รถยนต์แบบอัตโนมัติแบ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีออกเป็นหกระดับ ตั้งแต่ระดับ 0 ซึ่งมนุษย์ควบคุมการขับขี่ทั้งหมด ไปจนถึงระดับ 5 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลยแม้แต่น้อย

ปัจจุบันมีการใช้งานจริง ๆ เพียงแค่สองระดับเท่านั้น หนึ่งคือเทคโนโลยีที่นำโดยบริษัทต่าง ๆ เช่น Cruise , Waymo และ Baidu ยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีระดับ 4 แก่ผู้โดยสาร แต่มักจะถูกจำกัดในบางขอบเขตทางภูมิศาสตร์

อีกระดับหนึ่งคือระบบ NOA เช่น FSD ของ Tesla หรือ XNGP ของ Xpeng ซึ่งเป็นเพียงแค่ระดับ 2 ที่คนขับยังคงต้องตรวจสอบหลายๆ อย่าง แต่เทคโนโลยีนี้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและขณะนี้มีอยู่ในรถยนต์อัตโนมัติที่มีจำหน่ายทั่วโลก และมีการถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น

  • Li Auto ทำสิ่งที่คล้ายกับ Tesla และเรียกมันว่า NOA
  • NIO เรียกว่า NOP (Navigate on Pilot) และ NAD (NIO Assisted and Intelligent Driving)
  • XPeng เรียกมันว่า NGP (Navigation Guided Pilot) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลายมาเป็น XNGP
  • Huawei เรียกว่า NCA (Navigation Cruise Assist)
  • Haomo.AI สตาร์ทอัพด้าน AI เรียกมันว่า NOH (Navigation on HPilot)
  • Baidu เรียกมันว่า Apollo City Driving Max
ฟีเจอร์ Full Self-Driving (FSD) ที่ Tesla กำลังทดสอบเวอร์ชั่นเบต้าในอเมริกาเหนือ (CR:Techcrunch)
ฟีเจอร์ Full Self-Driving (FSD) ที่ Tesla กำลังทดสอบเวอร์ชั่นเบต้าในอเมริกาเหนือ (CR:Techcrunch)

จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทต่างทำให้มันมีความสับสน นอกจากจะจำได้ยากแล้ว ชื่อที่แตกต่างกันยังหมายถึงมันไม่ได้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันอีกด้วย

ไม่มีอะไรบอกได้ว่าพวกมันจะทำงานในสิ่งเดียวกันด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อคล้าย ๆ กัน ซึ่งบางบริษัทอาจครอบคลุมเฉพาะถนนสายหลักในเมือง ในขณะที่บางบริษัทอาจครอบคลุมถนนสายเล็ก ๆ ซึ่งบางบริษัทใช้เทคโนโลยี LiDAR เพื่อช่วยปรับปรุงความแม่นยำ ในขณะที่บางบริษัทใช้เฉพาะกล้องเท่านั้น และแทบไม่มีมาตรฐานว่าเทคโนโลยีจะต้องมีความปลอดภัยเพียงใดก่อนที่จะขายให้กับผู้บริโภค

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว บริษัทจีนสองแห่งแข่งขันกันเพื่อเป็นบริษัทแรกที่เปิดตัวระบบ NOA ในเมืองจีน โดย Xpeng บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นภาพลักษณ์ของแบรนด์เกี่ยวกับการใช้ AI มาอย่างยาวนาน สามารถเอาชนะการแข่งขันด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในเมืองกวางโจว แต่อีกสัปดาห์ถัดมา Huawei ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีได้เปิดตัวในเซินเจิ้น

นั่นเองที่มันได้เกิดความคืบหน้าแบบก้าวกระโดด โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Haomo.AI สตาร์ทอัพรถยนต์ไร้คนขับสัญชาติจีนอายุ 4 ปี ประกาศว่าจะให้บริการ NOA ในเมือง 100 เมืองของจีนภายในสิ้นปี 2024

จากนั้นในช่วงกลางเดือนเมษายน Huawei ได้กำหนดเป้าหมายเป็น 45 เมืองภายในสิ้นปี 2023 สามวันหลังจากนั้น Li Auto ซึ่งเป็นบริษัท EV ของจีนอีกแห่งประกาศว่าจะขยายไปยัง 100 เมืองภายในสิ้นปี 2023 ส่วน Xpeng , NIO และบริษัทอื่นๆ ตามาหลังจากนั้นไม่นานด้วยการประกาศที่คล้ายกันซึ่งมีแผนที่จะขยายไปถึง 200 เมือง

เพื่อให้บริษัท EV ในประเทศจีนสามารถแข่งขันในตลาดได้ พวกเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีนำทางระดับ 2 ภายในบริษัทและขายบริการ NOA ในเมืองเพื่อเป็นการอัปเกรดแบรนด์รถยนต์ของตนเอง โดยให้เหล่าลูกค้าชำระเงินเพิ่มเติมเป็นรายเดือนหรือรายปี

ในขณะเดียวกันบริษัทด้าน AI ก็ได้เข้ามาร่วมวงแข่งขันในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยมุ่งไปที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 หรือ 5 และที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อฝึกอบรมโมเดล AI

ความซับซ้อนบนท้องถนน

มันหลีกหนีความจริงไม่ได้เช่นกันว่าบริการนำทางแบบอัตโนมัติในเมืองเหล่านี้ มันยังไม่พร้อมให้บริการแก่สาธารณชนทั่วไป

ในปี 2023 รถยนต์ประมาณ 360,000 คันที่ผลิตในจีนจะติดตั้งความสามารถด้าน NOA ซึ่งโมเดลที่มีการอัพเกรดเหล่านี้มักจะมีราคาแพงกว่ารถยนต์ EV ทั่วไป เนื่องจากต้องมีการอัพเกรดฮาร์ดแวร์เช่น LiDAR หรือเซ็นเซอร์อื่นๆ

ลูกค้ายังต้องอาศัยอยู่ในเมืองระดับ first-tier ซึ่งมีเพียงไม่กี่เมืองที่มีฟังก์ชันเหล่านี้พร้อมให้บริการ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น หรือกวางโจว ด้วยเหตุนี้ระบบ NOA ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เฉพาะในประเทศจีนในขณะนี้

แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การนำทางก็มักจะถูกกีดขวางด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างซ่อมแซมถนน คนเดินถนน หรือ รถสองล้อ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศจีน เมืองของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ ปี

แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การนำทางก็มักจะถูกกีดขวางด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย (CR:Youtube)
แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การนำทางก็มักจะถูกกีดขวางด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย (CR:Youtube)

Lei Xing อดีตหัวหน้าบรรณาธิการของ China Auto Review ได้มีโอกาสทดลองขับรถ Xpeng รุ่นใหม่ล่าสุดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในกรุงปักกิ่งเพื่อทดสอบระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

Xpeng เป็นบริษัทจีนแห่งแรกที่นำระบบนนำทางอัตโนมัติมาสู่เมืองหลวงของจีน แต่จนถึงขณะนี้ระบบเหล่านี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะถนนวงแหวนและทางด่วนที่สำคัญของปักกิ่งเพียงเท่านั้น

คืนหนึ่งในขณะที่การจราจรปลอดโปร่ง Xing ได้ขับรถจากสถานีรถไฟในเขตชานเมืองไปยังทางหลวงวงแหวนชั้นในสุดของปักกิ่ง และเทคโนโลยีของ Xpeng ได้เข้ามาควบคุมการขับขี่ทั้งหมด แต่ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเขาแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในช่วงที่มีการจราจรคับคั่ง

Xing เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วมันได้กลายเป็นคำคุยโวโอ้อวดที่เกินจริงจากบริษัทผลิตรถยนต์ซะมากกว่า

บทสรุป

ในหนังสือ AI Super-Powers ของ Kai-Fu Lee นั้นมีบทสรุปเรื่องราวของเทคโนโลยี AI กับการขับเคลื่อนรถยนต์แบบอัตโนมัติไว้ได้อย่างน่าสนใจ

รถยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นกำลังอยู่ในเส้นทางการพัฒนาที่จะปลอดภัยกว่ารถยนต์ที่ขับขี่โดยมนุษย์ในท้ายที่สุด ซึ่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างกว้างขวางมากเท่าไหร่ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้มากขึ้นเท่านั้น

มันเป็นเรื่องท้าทายมาก ๆ กับเทคโนโลยีนี้เพราะต้องทดสอบกันบนท้องถนนจริง ๆ สภาพจริง ๆ ผู้ร่วมท้องถนนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ ซึ่งมันเหมือนกับการทดสอบซอฟต์แวร์บนโปรดักชั่นของจริง เพื่อให้ AI มันฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความเสี่ยง แต่ใครได้ทดสอบก่อนก็เรียนรู้ก่อน และพัฒนาไปก่อน ซึ่งสุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นธุรกิจแบบ Winner Take All ได้ในท้ายที่สุด

มันกลายเป็นว่าอุตสาหกรรมใหม่อย่างรถยนต์ EV นั้น มันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกทางวิศวกรรมเครื่องกลเหมือนในอดีต ที่เหล่าผู้ผลิตจากญี่ปุ่นหรือเยอรมันมีความถนัดมากกว่า และครองตลาดมาได้อย่างยาวนาน

แต่ในศึก EV นั้น ซอฟต์แวร์โดยเฉพาะเรื่องของ AI จะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการเอาชนะในธุรกิจนี้ถ้ามองในระยะยาว และดูเหมือนว่าพี่จีนเองจะไม่รอใครแล้ว พวกเขาเร่งพัฒนาและทดสอบก่อนใคร และเทคโนโลยีที่เป็น layer บน ๆ เฉกเช่น AI นั้นดูเหมือนว่าจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพวกเขาจะไม่เป็นสองรองใครในโลกนี้แต่อย่างใดนั่นเองครับผม

References :
https://www.technologyreview.com/2023/08/15/1077895/china-city-race-autonomous-driving/
https://newatlas.com/automotive/xpeng-p7-self-driving/
หนังสือ Ai Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order โดย Kai-Fu Lee

Techsauce Global Summit 2023 ปิดฉากความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ทุบสถิติผู้เข้าร่วมกว่า 16,000 คน ตอกย้ำการเป็นกุญแจสำคัญสู่ Digital Gateway แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Techsauce Global Summit 2023 งานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 สิงหาคมที่ผ่านมา ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและระดับนานาชาติที่มาร่วมเนรมิตศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ (QSNCC) ให้กลายเป็น Tech Conference ที่เป็นจุดหมายของคนในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยีทั่วโลก

ทุบสถิติผู้เยี่ยมชมงานกว่า 16,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก โดยมีสัดส่วนของชาวต่างชาติกว่า 40% หนึ่งในความพิเศษคือโลเคชั่นจัดงานบนพื้นที่การจัดงานกว่า 10,000 ตารางเมตร ยกระดับประสบการณ์ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสกับไฮไลท์ของงาน ทั้งการสนทนาโดย Speaker ชั้นนำกว่า 300 คน รวมถึงโซน Business Matching ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากองค์กรชั้นนำ สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี บุคคลากรด้านเทคโนโลยี และบุคคลทั่วไป มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวความคิดทางธุรกิจ

โดยใน 2 วันของการจัดงานสามารถปิดดีลธุรกิจไปได้ถึง 1,000 ดีล ตอกย้ำความสำเร็จของงาน Techsauce Global Summit และ Techsauce ในฐานะผู้นำทัพขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Gateway อย่างแท้จริง 

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด
คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า “ตัวเลขผู้ร่วมงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของวงการเทคโนโลยีที่จะเข้ามาขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกของเรา

โดย Techsauce Global Summit ถือเป็นเวทีสำคัญที่ให้บริษัทในไทยและต่างประเทศได้โชว์ของและสร้างดีลธุรกิจ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเติบโตของเครือข่ายการส่งออกนวัตกรรมไทยและอาเซียนเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งในปีนี้ ผู้ร่วมงานของเรายังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง Techsauce และพันธมิตรองค์กรชั้นนำในประเทศไทย และการเปิดตัวกองทุน VentureBridge ซึ่งถือเป็นสองโครงการนำร่องเพื่อขับเคลื่อน Technology Ecosystem ของไทยให้เติบโต ตามแผนงานระยะแรกของ Techsauce” 

ภาพบรรยากาศงาน Techsauce Global Summit 2023
ภาพบรรยากาศงาน Techsauce Global Summit 2023

และเพื่อขานรับวิสัยทัศน์ด้านการผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและนวัตกรรม Techsauce เปิดงานด้วยการจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “เส้นทางสู่ Digital Gateway: บุกเบิก เปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาส” นำโดย คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด และ Thailand Accelerator, คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), คุณณฤทธิ์ เทิดธีระสุข เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer เอสซีจี – บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ยิ่งไปกว่านั้น Techsauce Global Summit ยังสามารถผนึกกำลัง Speaker ระดับโลก รวมถึงบุคลากรในวงการให้มาร่วมพูดคุยในหัวข้อที่กำลังเป็น Mega Trends ทั้งในด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในปีนี้ได้ขนทัพ Speakers ผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก ที่มาร่วมแชร์แนวคิดและองค์ความรู้ที่อัดแน่นกว่า 130 หัวข้อ บนเวที Main Stage และ Vertical Stage รวมทั้งหมด 10 เวที ภายในงานงานเดียว โดยหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจบนเวที Main Stage ในปีนี้ มีหลายท่านที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลและผู้มีบทบาทในแวดวงทางเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก เช่น 

  • เอล็กซ์ บอร์นยาคอฟ (Alex Bornyakov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการแปลงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาด้านไอที ประเทศยูเครน และหัวหน้าโครงการ Diia City มาร่วมถอดรหัสการดำเนินของโครงการเพื่อผลักดันยูเครนให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำของภูมิภาคยุโรป โดยมุ่งเน้นที่โซลูชันด้านความปลอดภัย การพัฒนาในภาคส่วนไอที และจุดเด่นของกลุ่มสตาร์ทอัพภายในยูเครน
  • ซาราห์ เบิร์ด (Sarah Bird) หัวหน้าฝ่าย AI และผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Azure AI และ OpenAI บริษัท Microsoft มาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการใช้ Responsible AI ภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบอุตสาหกรรม และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอื่นๆ โดยร่วมเจาะลึกการสร้างและใช้งานแอปพลิเคชัน Generative AI ต่างๆ เช่น GitHub, Copilot และ Bing Chat 
  • อนา บาร์ยาซิช (Ana Barjasic) ผู้ก่อตั้งและสมาชิกคณะกรรมการบริหาร Connectology แห่งสภานวัตกรรมแห่งยุโรป และ นาตาลี แบล็ก (Natalie Black) กรรมาธิการการค้าแห่งสหราชอาณาจักรประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (HMTC) อีกสองผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้มาวิเคราะห์ถึงปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน ร่วมเปิดเผยโอกาสสำหรับผู้ประกอบการต้องการขยายธุรกิจนวัตกรรมออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้มุมมองในฐานะ “ลูกค้าชาวต่างชาติ” ในการพิจารณาผลิตภัณฑ์และการบริการ พร้อมจับเข่าคุยกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ได้แก่ นอร์เบิร์ต บาค (Norbert Bak) ผู้อำนวยการ สำนักงานกรุงเทพฯ ประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและการค้าโปแลนด์ (PAIH) และเจมส์ ควาน (James Kwan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Jumpstart แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและนักลงทุน
ภาพบรรยากาศงาน Techsauce Global Summit 2023
ภาพบรรยากาศงาน Techsauce Global Summit 2023

ทางด้าน Speakers ของประเทศไทยที่ขึ้นพูดบน Main Stage ประกอบไปด้วยทีมผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ อาทิ คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer เอสซีจี – บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมนำเสนอประเด็น “Don’t Mind The Technology, Mind The Opportunities – การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม”

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล (disruptive digital innovation) ได้มาพูดคุยในหัวข้อ “AI ในฐานะหัวใจสำคัญของการพัฒนา SCBX และ Tech Leap ของประเทศไทย”

คุณอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการ บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้เชี่ยวชาญอย่างเอียน ดักลาส (Ian Douglas) ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรม ประจำภูมิภาคอาเซียน ของ Salesforce มาร่วมวิเคราะห์การตลาดแบบ Personalization โฆษณาเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Hyper Targeting) และพลังของ Generative AI ในระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM)

คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป มาร่วมให้คำจำกัดความในประเด็น “ยุคสมัยที่ถูกครอบงำโดย AI” และคุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์โซลูชั่นส์ จำกัด กับหัวข้อ “Tech Vision 2023: สะพานเชื่อมมนุษยชาติเพื่อก้าวผ่านวิกฤตการณ์โลก” เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียด และบทสรุปเนื้อหาสำคัญจากเซสชั่นต่างๆ ที่อัดแน่นตลอด 2 วันเต็มได้ที่ https://techsauce.co/ 

ไฮเออร์ ประเทศไทย จัดกิจกรรม “Haier Inspire Future Dreams Badminton Camp 2023 แคมป์แบดมินตันเพื่อต่อยอดศักยภาพเยาวชนไทย”

ไฮเออร์ (ประเทศไทย) ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกและแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 14 ปีซ้อน ได้จัดกิจกรรมแบดมินตัน “Haier Inspire Future Dreams Badminton Camp 2023” เพื่อให้เยาวชนไทยที่มีใจรักในกีฬาแบดมินตันได้เติมเต็มทักษะและความฝัน กิจกรรมนี้สำหรับนักกีฬาเยาวชนที่ชนะการแข่งขันกีฬาแบดมินตันระดับโรงเรียนประจำปีการศึกษา 2566 (Haier Nationwide Youth Badminton Championships 2023)

โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมศักยภาพให้นักกีฬาเยาวชนของประเทศไทยให้มีโอกาสในพัฒนาศักยภาพตนเองและเติบโตไปสู่อนาคตการเป็นนักกีฬาทีมชาติในอนาคต

ซึ่งกีฬาแบดมินตันเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพให้กับเยาวชนไทย ในด้านทักษะการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพได้ โดยกิจกรรมแคมป์ ดังกล่าวนี้จัดโดย บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์(ประเทศไทย) จำกัด และความร่วมมือจากกรมพลศึกษา

โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการออกกำลังกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการต่อยอดฝีมือและศักยภาพในการเล่นกีฬาแบดมินตัน พร้อมมีตัวแทนนักกีฬาแบดมินตันจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมด้วย

มร.จางเจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการเข้ามาสนับสนุนในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกันกับ ไฮเออร์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านการใช้งานผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่นเครื่องปรับอากาศ UV-Cool Series ที่มาพร้อมเทคโนโลยี UVC Sterilization มีประสิทธภาพในการยับยั้งเชื้อโรคกลุ่ม Covid-19 ได้สูงสุดถึง 99.99% และเครื่องซักผ้ารุ่น Self-Cleaning Series ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Self-Cleaning ในการล้างถังซักทุกครั้ง และขจัดสิ่งสกปรกได้ถึง 99.9% อีกด้วย

ในระหว่างการจัดกิจกรรมแคมป์ นี้นักกีฬาแบดมินตันเยาวชน แทนจากประเทศมาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับแบรนด์แอมบาสเดอร์ทั้ง 2 คนของ ไฮเออร์ ประเทศไทย อย่าง คุณบอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ นักแสดงมากความสามารถที่ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ซึ่งมามอบความบันเทิง ความสนุกสนานภายในงาน และนอกจากนี้ยังมี คุณปอป้อ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักกีฬาแบดมินตันดีกรีแชมป์ โลกประเภทคู่ผสม มาเทรนนิ่งมอบความรู้ พร้อมเทคนิคในการเล่นกีฬาแบดมินตัน

เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาทักษะในการแบ่งปันประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับกีฬาแบดมินตันให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ของกีฬาแบดมินตัน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดต่อในอนาคตได้

ในท้ายที่สุดกิจกรรม “Haier Inspire Future Dreams Badminton Camp 2023” ถือเป็นแคมป์ ที่ต่อยอดมาจากความใส่ใจด้านสุขภาพ และแคมป์ นี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไฮเออร์ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ผ่านการแข่งขันแบดมินตัน เติมเต็มความฝันให้กับเยาวชนและสร้างแรงบันดาลในการพัฒนาฝีมือสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติในอนาคตต่อไป