Geek Story EP169 : Tech Cold War เมื่อบริษัทชิปเกาหลีใต้เตรียมแปรพักตร์จากจีนสู่อ้อมกอดสหรัฐฯ

แม้สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตมันจะจบไปนานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้กำลังเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ในแวดวงเทคโนโลยี

เมื่อ Xi Jinping เยี่ยมชมโรงงาน LG Display ในเมืองทางตอนใต้ของกว่างโจวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาต้องการส่ง message ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “จีนยังคงต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ”

แต่มันก็มีการตีความที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง การเยี่ยมชมโรงงานของ LG นั้นเป็นการส่งคำเตือนไปยังบริษัทจากเกาหลีใต้ว่าควรที่จะคิดทบทวนให้ดีก่อนที่จะเข้าไปอยู่แนวร่วม “กลุ่มแบนจีน” ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/v8evbcsc

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/24eudxvw

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://tinyurl.com/hb8wsw2v

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/msndfhnj

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/0mqnQCZJJXA

NFT กำลังพังทลาย เมื่อศิลปินผู้สร้างสรรค์งานคนแรกกำลังถูกเทอย่างไร้เยื่อใย

คุณไม่สามารถท่องไปในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้วโดยไม่ได้ยินเรื่องราว buzzword ที่เกี่ยวข้องกับ metaverse, web3 และ NFT ที่สื่อทุกสื่อทั้งออนไลน์หรือแม้กระทั่งสื่อแบบดั้งเดิมต่างโหมกระหน่ำกระแสของเทคโนโลยีเหล่านี้ และแน่นอนว่าใครหลายคนต้องตกหลุมพรางไปกับมัน

หนึ่งในฟีเจอร์หลักที่สำคัญมากๆ ของแวดวง NFT คือ เหล่าศิลปินที่สร้างสรรค์งานขึ้นมาเป็นคนแรก จะได้รับส่วนแบ่งจากการที่งานของพวกเขาถูกขายไปยังผู้ใช้งานคนอื่น ๆ อยู่เสมอ แต่ดูเหมือนในวันนี้พวกเขากำลังจะถูกเท

ในปี 2021 NFTs (non-fungible tokens) ได้กลายเป็นกระแสครั้งใหญ่ เนื่องจากคนดังและกลุ่มคลั่งไคล้ในสกุลเงินดิจิทัลใช้เงินหลายล้านเพื่อซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้เพื่อมาสะสม และหวังว่ามันจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่ดี แต่กลายเป็นว่า Bored Ape Yacht Club NFTs ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมูลค่าตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองปี

Bored Ape NFTs มีมูลค่าลดลงอย่างมาก โดยลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี มูลค่าของคอลเลกชั่นรูป JPGs ของลิงขี้เบื่อที่เคยเป็น icon ของวงการ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูขายในราคาหลายล้านดอลลาร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีมูลค่าดิ่งลงเหว

Bored Ape NFTs คอลเลคชันลิงขี้เบื่อ ที่มีมูลค่าลดลงอย่างมาก (CR:Wikipedia)
Bored Ape NFTs คอลเลคชันลิงขี้เบื่อ ที่มีมูลค่าลดลงอย่างมาก (CR:Wikipedia)

ApeCoin ซึ่งเป็นสกุลเงินของโลกเสมือนจริงของผู้สร้าง Bored Apes ของ Yuga Labs ก็มีมูลค่าลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยลดลงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาด 7.6 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนเมษายน 2022

คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า Bored Apes ได้เปลี่ยนจากสัญลักษณ์ที่คนดังต่างให้การรับรอง กลายเป็นเครื่องเตือนใจที่น่าหดหู่ว่าตลาด NFT นั้นอยู่ในสถานการณ์เช่นใดในปี 2023

ตอกย้ำกับข่าวล่าสุดที่แพลตฟอร์มระดับต้น ๆ ของวงการอย่าง OpenSea และ Blur มีแผนการที่จะลดอัตราค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้กับศิลปินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ Token ด้วยความหวังว่าต้นทุนที่ต่ำลงในการซื้อขายจะทำให้ตลาดกับมาคึกคักได้อีกครั้ง

เรียกได้ว่าระบบนิเวศ NFT ตอนนี้กำลังดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด โดยค่าธรรมเนียมการซื้อขายของแต่ละแพลตฟอร์มลดลงไปอย่างมาก

“การเปลี่ยนแปลงของ OpenSea นั้นโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง และทำให้วงการ NFT ทั้งหมดเสียหาย” Wildcake ผู้ก่อตั้งคอลเลกชั่น Posers NFT กล่าว

Wildcake กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการทำร้ายวงการโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่แล้วเหล่าศิลปินต้องการค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนธุรกิจหลักของพวกเขา

ในขณะที่คนอื่นๆ รวมถึงคนจาก OpenSea พยายามแก้ตัวว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเมื่อตลาดมีวิวัฒนาการไม่ได้ย่ำอยู่กับที่

Devid Finzer CEO ของ OpenSea วิจารณ์ในเรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องมอบให้กับศิลปินต้นฉบับว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และกล่าวว่าศิลปินรวมถึงเหล่าครีเอเตอร์ต้องหาวิธีอื่น ๆ ในการสร้างรายได้จากผลงานของตน

Devid Finzer CEO ของ OpenSea ที่ได้ออกมาวิจารณ์ในเรื่องค่าธรรมเนียม (CR:The Information)
Devid Finzer CEO ของ OpenSea ที่ได้ออกมาวิจารณ์ในเรื่องค่าธรรมเนียม (CR:The Information)

“บทบาทของเราในระบบนิเวศนี้คือการส่งเสริมนวัตกรรม” Finzer เขียนในบล็อกโพสต์โดยประกาศว่า OpenSea จะไม่สนับสนุนรูปแบบโมเดลธุรกิจเดิม ๆ ในระบบนิเวศของพวกเขาอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ลดลงในตลาดนี้ ซึ่งขึ้นสู่จุดพีคสุด ๆ ในปี 2022 สถานการณ์ในตอนนี้กลายเป็นว่าผู้คนหันไปหาเทคโนโลยียอดนิยมอื่น ๆ เช่น AI แม้บริษัทอย่าง OpenSea ต้องการให้ผู้คนกลับมาสนใจ NFT อีกครั้ง ในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง Web3 เพิ่งจะได้ตั้งไข่ หรือเคสที่เกิดขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta ที่ดูเหมือนจะถอยห่างจาก Metaverse ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นทำให้อนาคตของ NFT ดูเหมือนจะริบหรี่มากเลยทีเดียว


แล้วคุณอยากรู้มั๊ยว่า NFTs มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อ่านต่อได้ที่

Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum

Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum
Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum

–> อ่านตอนที่ 1 : Cypherpunks’ Freedom Dreams


References :
https://www.extremetech.com/internet/major-nft-marketplace-will-stop-enforcing-artist-fees
https://fortune.com/2023/08/05/nft-exchanges-knocked-for-slashing-artist-royalty-rates/
https://www.theverge.com/2023/8/17/23836440/nft-creator-royalty-fees-are-dead-opensea-optional
https://www.cnbc.com/2023/07/07/justin-biebers-bored-ape-nft-has-lost-95-percent-of-its-value-since-2022.html
https://futurism.com/the-byte/bored-apes-almost-worthless-now
https://twitter.com/Sothebysverse/status/1453042450788982794
https://www.cryptotimes.io/superbowl-of-nfts-nft-nyc-to-kick-off-next-month/
https://www.architecturaldigest.in/story/art-dubai-is-betting-on-the-future-of-art-fairs-with-nfts-and-crypto/

Geek Monday EP190 : MySpace กับจุดสูงสุดสู่การล่มสลายของอดีตโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ระหว่างปี 2005 ถึง 2008 MySpace เป็นเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อป เทคโนโลยี และดนตรีเป็นอย่างมาก เมื่อถึงจุดสูงสุด Myspace มีฐานผู้ใช้รายเดือนมากกว่า Yahoo! หรือ Google 

การขึ้นสู่จุดสูงสุดและการล่มสลายของ Myspace เป็นหนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของธุรกิจทางด้านอินเทอร์เน็ต

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/tt9zrv5v

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/yc5d4ww8

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://tinyurl.com/2vfnhxnn

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/2hnf888w

🎧 ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/TqscMQK6h3s

References Image : https://marketrealist.com/p/what-is-tom-from-myspace-net-worth-today/

เกิดอะไรขึ้นกับ Kiva เมื่อแนวคิด Peer-to-Peer Lending เพื่อช่วยเหลือคนชายขอบกำลังแปรเปลี่ยนไป

Kiva ใช้แพลตฟอร์ม Crowd Lending แบบ peer-to-peer ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วโลกสามารถเข้าถึงเงินทุนที่พวกเขาต้องการเพื่อช่วยเหลือตนเองจากความยากจนได้

Kiva นั้นเกิดจากแนวคิดของ Premal Shah หนึ่งในสมาชิกของ Paypal Mafia โดยจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว เกิดจากการถูกมอบหมายให้ไปสร้างต้นแบบของแนวคิดด้าน micro-lending แบบบุคคลต่อบุคคล ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ Shah นั้นสนใจมาตั้งแต่เรียนใน stanford

ซึ่งหลังจากทีได้ไปคลุกคลีทำงานในอินเดียถึง 2 ปี ทำให้เขาอยากเอาแนวคิดดังกล่าวมาช่วยเหลือคนที่เข้าถึงแหล่งทางการเงินยากๆ  ในประเทศอเมริกาบ้าง 

และเมื่อเขากลับมายัง Silicon Valley อีกครั้งในปี 2005 ก็ได้ไปเจอกับ Matt Flannery และ Jessica Jackley ที่กำลังก่อตั้งบริการด้าน micro-lending พอดี ซึ่งตรงกับความต้องการของ Shah ที่ต้องการมาสร้างบริการแบบนี้ที่อเมริกา

Kiva ใช้เว็บไซต์เพื่อแสดงคุณสมบัติผู้ประกอบการทั่วโลกพร้อมด้วยรูปภาพของผู้ประกอบการจำนวนเงินกู้ที่ขอและคำอธิบายว่าจะใช้เงินกู้อย่างไร โดยสามารถเข้าสู่เว๊บไซต์ Kiva เรียกดูโปรไฟล์ผู้ประกอบการแต่ละรายได้

ด้วยความสามารถในการกรองข้อมูลของ อุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค และคุณลักษณะอื่น ๆ และยังสามารถเลือกผู้ประกอบการที่พวกเขาต้องการให้ยืม ผู้ให้กู้สามารถมีส่วนร่วมโดยใช้เงินเพียงแค่ 25 ดอลลาร์ ในการเข้าร่วม

Matt Flannery และ Jessica Jackley ผู้ริเริ่ม Micro-lending (CR:Beliefnet)
Matt Flannery และ Jessica Jackley ผู้ริเริ่ม Micro-lending (CR:Beliefnet)

Kiva ดำเนินงานใน 83 ประเทศผ่านพันธมิตรกว่า 300 ราย เช่น สถาบันการเงินรายย่อย Microfinance Institutions(MFIs) ซึ่ง Kiva ได้สร้างพันธมิตรด้วย MFIs เหล่านี้ จะทำการกลั่นกรองผู้กู้เพื่อรับความเสี่ยงและความตั้งใจและเงินทุนที่ได้รับจากผู้ให้กู้

โดยเงินทุนของ Kiva จะถูกส่งไปยังผู้ประกอบการผ่านทาง MFI ในท้ายที่สุด โดยทั่วไปหุ้นส่วนของ Kiva จะปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิมและเรียกเก็บดอกเบี้ยให้กับลูกค้าของพวกเขาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของพวกเขา (แม้ว่า Kiva เองจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ จากจำนวนเงินกู้ในช่วงแรก) 

ซึ่งแตกต่างจากเว็บไซต์ระดมทุนอื่น ๆ เช่น Kickstarter หรือ GoFundMe โดยแง่มุมที่แตกต่างของ Kiva คือมันเป็นแพลตฟอร์มการให้ยืม ไม่ใช่แพลตฟอร์มการลงทุนทางการเงิน

ดังนั้นผู้ให้กู้สามารถคาดหวังว่าไม่เพียงช่วยคนที่ต้องการเงินทุนเท่านั้น แต่ยังสามารถรับเงินปันผลคืนได้ โดยได้รับการพิสูจน์มาแล้ว เนื่องจาก Kiva มีอัตราการชำระหนี้สูงถึง 98.5% จากสินเชื่อทั้งหมด

ในปี 2023 Kiva ระบุว่ามีผู้คน 2.4 ล้านคนจากมากกว่า 190 ประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเข้าถึงผู้กู้มากกว่า 5 ล้านคนใน 95 ประเทศ การศึกษาในปี 2022 ของลูกค้า micro-finance 18,000 ราย โดย 88% กล่าวว่า คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นตั้งแต่เข้าถึงสินเชื่อหรือบริการทางการเงินอื่น ๆ และหนึ่งในสี่กล่าวว่าสินเชื่อเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เพิ่มความสามารถในการลงทุนและขยายธุรกิจขนาดเล็กของพวกเขา

เมื่อ Kiva แปรเปลี่ยนไป

เหล่าผู้ใช้ Kiva เริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อค่าตอบแทนแก่พนักงานระดับสูงของ Kiva เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2020 CEO ได้รับเงินไปทั้งสิ้นมากกว่า 800,000 ดอลลาร์ เมื่อรวมกันแล้ว ผู้บริหาร 10 อันดับแรกของ Kiva ทำรายได้เกือบ 3.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 และในปี 2021 รายได้เกือบครึ่งหนึ่งของ Kiva ถูกใช้ไปกับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน

มันกลายเป็นว่าองค์กรซึ่งพึ่งพาเงินช่วยเหลือและการบริจาคเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้อยู่รอดได้ ตอนนี้ดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่วิธีการทำเงินมากกว่าอุดมการณ์อันแรงกล้าเมื่อย้อนกลับไปในยุคก่อตั้ง

Kiva เผชิญกับคำวิจารณ์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความโปร่งใส มันมีปัญหาชัดเจนว่าข้อมูลผู้กู้แต่ละรายที่แสดงบนเว็บไซต์ บางส่วนที่แสดงผลนั้นมันไม่มีอยู่จริง มันถูกเสกสรรค์ปันแต่งขึ้นมา

และที่สำคัญตัวละครที่เข้ามาร่วมในภายหลังอย่าง Google โปรแกรมใหม่ที่เรียกว่า Kiva Capital ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนใหม่ที่ Google ได้เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องการผลตอบแทนทางด้านการเงิน

ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น

การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนั้นมาจากค่าธรรมเนียมโดยตรง ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลดีต่ออุดมการณ์หลักของ Kiva ที่ต้องการกระจายเงินให้กับเหล่าคนชายขอบที่ยากจน

แน่นอนว่า Kiva เองนั้นก็เปรียบเสมือนตัวกลาง และมีแหล่งทุนจากหลายแหล่งที่เพิ่มขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งนั่นทำให้ต้นทุนของเงินทุนนั้นเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดดอกเบี้ย

ทางโฆษกของ Kiva ได้กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.53% และอาจจะมีค่าธรรมเนียมบางรายการที่สูงถึง 8% ที่มีการเรียกเก็บจากกลุ่มที่เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

Kiva เองมีค่าใช้จ่ายในการ Operation ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็เป็นปัจจัยสำคัญ Neville Crawley ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ในปี 2017 และออกจากตำแหน่งในปี 2021 โดย Crawley ทำเงินได้ประมาณ 800,000 ดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เขาได้เข้ามาบริหารงาน Kiva ซึ่งเขาได้ทำงานต่อในปี 2021 อีกราวๆ หกเดือนและได้รับค่าจ้างไปกว่า 750,000 ดอลลาร์

Neville Crawley ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ในปี 2017 และออกจากตำแหน่งในปี 2021 (CR:Medium)
Neville Crawley ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ในปี 2017 และออกจากตำแหน่งในปี 2021 (CR:Medium)

เมื่อเปรียบเทียบกับ CEO ของ BRAC USA ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของ Kiva และเป็นหนึ่งในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีรายรับแค่เพียง 300,000 ดอลลาร์ในช่วงปี 2020 ซึ่งไม่เพียงแค่น้อยกว่า CEO ของ Kiva ได้รับเท่านั้น แต่ยังต่ำกว่าตำแหน่งที่ปรึกษาทั่วไปของ Kiva อีกด้วย

และเมื่อเทียบกับบรรดาองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่น ๆ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงของอเมริกา รายได้ของ CEO ของ Kiva ก็ยังอยู่ในระดับสูง

ตัวอย่างเช่น ประธานของ Sierra Club ซึ่งตั้งอยู่ในโอ๊คแลนด์ ทำเงินได้ 500,000 ดอลลาร์ในปี 2021 ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการบริหารของ Doctors Without Borders USA ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์กซิตี้ มีรายได้อยู่ที่ 237,000 ดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ผู้บริหารระดับสูงของ Kiva ทำรายได้ประมาณ 800,000 ดอลลาร์

มันเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ Kiva นั้นได้ส่งเสริมความรู้สึกที่มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้กู้และผู้ที่เข้ามายืมผ่านแพลตฟอร์ม คนอเมริกันสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ห่างออกไปหลายพันไมล์ได้

มันเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่การแปรเปลี่ยนไปของ Kiva มันเปรียบเสมือนการดูหมิ่นเหล่าผู้ให้กู้รายย่อยที่เป็นกลุ่มที่ช่วยผลักดันองค์กรนี้ให้อยู่ในแนวหน้าและได้รับการสรรเสริญมากมายจากอุดมการณ์อันแรงกล้าของผู้ก่อตั้งในยุคเริ่มต้น

ตอนนี้ Kiva ได้กลายพันธุ์ไปเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จักอีกต่อไป มันได้แปรเปลี่ยนเป็นสถานบันการเงินที่ไม่ต่างจาก แหล่งปล่อยสินเชื่อเงินด่วน ที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป

Janice Smith หนึ่งในผู้ร่วมอุดมการณ์ของ Kiva มาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม ได้ทำการเปิดตัวกลุ่ม Together for Women ซึ่งมีสมาชิก 2,500 และทำการประท้วงแพลตฟอร์มด้วยการหยุดให้ยืมผ่าน Kiva รวมถึงผู้ให้กู้คนอื่น ๆ อีกหลายสิบคน

แม้ว่าผู้แปรพักตร์เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของคนกว่า 2 ล้านคนที่ใช้เว็บไซต์นี้ แต่พวกเขาก็เป็นกลุ่มผู้ให้กู้ที่ทุ่มเทที่สุด และเกือบทั้งหมดมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มมาเกือบทศวรรษ บางคนให้ยืมไปหลายหมื่นดอลลาร์

สำหรับพวกเขาแล้ว ตอนนี้อุดมการณ์ของ Kiva ที่แต่เดิมนั้นต้องการเปลี่ยนชีวิตของคนชายขอบมันได้เปลี่ยนไปแล้ว และตอนนี้พวกเขารู้สึกเจ็บปวดมาก ๆ ที่สิ่งเหล่านี้มันได้เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มที่พวกเขาคอยฟูมฟักมาอย่างยาวนานอย่าง Kiva นั่นเองครับผม

References :
https://www.technologyreview.com/2023/08/14/1077351/microfinance-money-making
http://www.kiva.org/about/stats
http://www.kiva.org/zip
http://www.cnbc.com/2015/08/06/alternative-small-business-loans.html
http://www.nation.co.ke/lifestyle/smartcompany/How-online-lender-is-transforming-lives-through-small-loans/-/1226/2818906/-/pde99w/-/index.html
http://www.theatlantic.com/business/archive/2015/08/crowdfunding-success-kickstarter-kiva-succeed/400232/
https://openmicroc.com/how-a-kiva-loan-could-get-your-business-off-the-ground/
https://www.sfchronicle.com/visionsf/article/Premal-Shah-co-founder-of-Kiva-enables-the-poor-12496299.php

จีนจะเป็นผู้ชนะของสงคราม EV? เมื่อการแข่งขันเพื่อเอาชนะระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติคือสิ่งที่พวกเขาถนัด

ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ของจีนเกือบสิบแห่งได้ประกาศแผนการที่มีความทะเยอทะยานในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ NOA (Navigation on Autopilo) ของตนไปยังหลายเมืองทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับฟีเจอร์ Full Self-Driving (FSD) ที่ Tesla กำลังทดสอบเวอร์ชั่นเบต้าในอเมริกาเหนือ ระบบ NOA เป็นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่เวอร์ชันที่มีความสามารถมากขึ้น ซึ่งสามารถที่จะหยุด บังคับทิศทาง และเปลี่ยนเลนได้แบบอัตโนมัติในเมืองที่มีการจราจรที่ซับซ้อน

ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการขับขี่แบบไร้คนขับอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากระบบดังกล่าวยังต้องจับพวกมาลัยและมนุษย์ต้องพร้อมที่จะเข้าควบคุมอยู่ตลอดเวลา

ขณะนี้เหล่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าได้นำเสนอ NOA เป็นการอัปเกรดซอฟต์แวร์ระดับพรีเมี่ยมให้กับเจ้าของรถที่ยินดีจ่ายเพื่อประสบการณ์ใช้งานระดับสุดยอด

เมื่อปีที่แล้ว ระบบ NOA ของจีนยังคงจำกัดอยู่แค่บนทางหลวงและไม่สามารถทำงานได้ในเขตเมือง แม้ว่าคนจีนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นแล้วก็ตาม

นั่นเองด้วยองค์ความรู้ที่สุดยอดโดยเฉพาะในเรื่อง AI ของทางฝั่งจีน บริษัทผลิตรถยนต์ของจีนได้เร่งผลิตระบบนำทางเฉพาะของเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

บริษัทชั้นนำอย่าง Xpeng , Li Auto และ Huawei ได้ประกาศแผนเชิงรุกที่จะเปิดตัวบริการ NOA เหล่านี้ไปยังเมืองต่าง ๆ อีกหลายสิบหรือหลายร้อยเมืองในอนาคอันใกล้ ถึงขนาดที่ว่าผู้ผลิตรถยนต์บางรายยอมปล่อยให้ใช้ NOA แบบฟรี ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

อย่าคิดว่ามันจะเทพขนาดนั้น!!!

อุตสาหกรรมการขับขี่รถยนต์แบบอัตโนมัติแบ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีออกเป็นหกระดับ ตั้งแต่ระดับ 0 ซึ่งมนุษย์ควบคุมการขับขี่ทั้งหมด ไปจนถึงระดับ 5 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลยแม้แต่น้อย

ปัจจุบันมีการใช้งานจริง ๆ เพียงแค่สองระดับเท่านั้น หนึ่งคือเทคโนโลยีที่นำโดยบริษัทต่าง ๆ เช่น Cruise , Waymo และ Baidu ยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีระดับ 4 แก่ผู้โดยสาร แต่มักจะถูกจำกัดในบางขอบเขตทางภูมิศาสตร์

อีกระดับหนึ่งคือระบบ NOA เช่น FSD ของ Tesla หรือ XNGP ของ Xpeng ซึ่งเป็นเพียงแค่ระดับ 2 ที่คนขับยังคงต้องตรวจสอบหลายๆ อย่าง แต่เทคโนโลยีนี้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและขณะนี้มีอยู่ในรถยนต์อัตโนมัติที่มีจำหน่ายทั่วโลก และมีการถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น

  • Li Auto ทำสิ่งที่คล้ายกับ Tesla และเรียกมันว่า NOA
  • NIO เรียกว่า NOP (Navigate on Pilot) และ NAD (NIO Assisted and Intelligent Driving)
  • XPeng เรียกมันว่า NGP (Navigation Guided Pilot) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลายมาเป็น XNGP
  • Huawei เรียกว่า NCA (Navigation Cruise Assist)
  • Haomo.AI สตาร์ทอัพด้าน AI เรียกมันว่า NOH (Navigation on HPilot)
  • Baidu เรียกมันว่า Apollo City Driving Max
ฟีเจอร์ Full Self-Driving (FSD) ที่ Tesla กำลังทดสอบเวอร์ชั่นเบต้าในอเมริกาเหนือ (CR:Techcrunch)
ฟีเจอร์ Full Self-Driving (FSD) ที่ Tesla กำลังทดสอบเวอร์ชั่นเบต้าในอเมริกาเหนือ (CR:Techcrunch)

จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทต่างทำให้มันมีความสับสน นอกจากจะจำได้ยากแล้ว ชื่อที่แตกต่างกันยังหมายถึงมันไม่ได้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันอีกด้วย

ไม่มีอะไรบอกได้ว่าพวกมันจะทำงานในสิ่งเดียวกันด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อคล้าย ๆ กัน ซึ่งบางบริษัทอาจครอบคลุมเฉพาะถนนสายหลักในเมือง ในขณะที่บางบริษัทอาจครอบคลุมถนนสายเล็ก ๆ ซึ่งบางบริษัทใช้เทคโนโลยี LiDAR เพื่อช่วยปรับปรุงความแม่นยำ ในขณะที่บางบริษัทใช้เฉพาะกล้องเท่านั้น และแทบไม่มีมาตรฐานว่าเทคโนโลยีจะต้องมีความปลอดภัยเพียงใดก่อนที่จะขายให้กับผู้บริโภค

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว บริษัทจีนสองแห่งแข่งขันกันเพื่อเป็นบริษัทแรกที่เปิดตัวระบบ NOA ในเมืองจีน โดย Xpeng บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นภาพลักษณ์ของแบรนด์เกี่ยวกับการใช้ AI มาอย่างยาวนาน สามารถเอาชนะการแข่งขันด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในเมืองกวางโจว แต่อีกสัปดาห์ถัดมา Huawei ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีได้เปิดตัวในเซินเจิ้น

นั่นเองที่มันได้เกิดความคืบหน้าแบบก้าวกระโดด โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Haomo.AI สตาร์ทอัพรถยนต์ไร้คนขับสัญชาติจีนอายุ 4 ปี ประกาศว่าจะให้บริการ NOA ในเมือง 100 เมืองของจีนภายในสิ้นปี 2024

จากนั้นในช่วงกลางเดือนเมษายน Huawei ได้กำหนดเป้าหมายเป็น 45 เมืองภายในสิ้นปี 2023 สามวันหลังจากนั้น Li Auto ซึ่งเป็นบริษัท EV ของจีนอีกแห่งประกาศว่าจะขยายไปยัง 100 เมืองภายในสิ้นปี 2023 ส่วน Xpeng , NIO และบริษัทอื่นๆ ตามาหลังจากนั้นไม่นานด้วยการประกาศที่คล้ายกันซึ่งมีแผนที่จะขยายไปถึง 200 เมือง

เพื่อให้บริษัท EV ในประเทศจีนสามารถแข่งขันในตลาดได้ พวกเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีนำทางระดับ 2 ภายในบริษัทและขายบริการ NOA ในเมืองเพื่อเป็นการอัปเกรดแบรนด์รถยนต์ของตนเอง โดยให้เหล่าลูกค้าชำระเงินเพิ่มเติมเป็นรายเดือนหรือรายปี

ในขณะเดียวกันบริษัทด้าน AI ก็ได้เข้ามาร่วมวงแข่งขันในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยมุ่งไปที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 หรือ 5 และที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อฝึกอบรมโมเดล AI

ความซับซ้อนบนท้องถนน

มันหลีกหนีความจริงไม่ได้เช่นกันว่าบริการนำทางแบบอัตโนมัติในเมืองเหล่านี้ มันยังไม่พร้อมให้บริการแก่สาธารณชนทั่วไป

ในปี 2023 รถยนต์ประมาณ 360,000 คันที่ผลิตในจีนจะติดตั้งความสามารถด้าน NOA ซึ่งโมเดลที่มีการอัพเกรดเหล่านี้มักจะมีราคาแพงกว่ารถยนต์ EV ทั่วไป เนื่องจากต้องมีการอัพเกรดฮาร์ดแวร์เช่น LiDAR หรือเซ็นเซอร์อื่นๆ

ลูกค้ายังต้องอาศัยอยู่ในเมืองระดับ first-tier ซึ่งมีเพียงไม่กี่เมืองที่มีฟังก์ชันเหล่านี้พร้อมให้บริการ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น หรือกวางโจว ด้วยเหตุนี้ระบบ NOA ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เฉพาะในประเทศจีนในขณะนี้

แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การนำทางก็มักจะถูกกีดขวางด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างซ่อมแซมถนน คนเดินถนน หรือ รถสองล้อ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศจีน เมืองของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ ปี

แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การนำทางก็มักจะถูกกีดขวางด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย (CR:Youtube)
แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การนำทางก็มักจะถูกกีดขวางด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย (CR:Youtube)

Lei Xing อดีตหัวหน้าบรรณาธิการของ China Auto Review ได้มีโอกาสทดลองขับรถ Xpeng รุ่นใหม่ล่าสุดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในกรุงปักกิ่งเพื่อทดสอบระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

Xpeng เป็นบริษัทจีนแห่งแรกที่นำระบบนนำทางอัตโนมัติมาสู่เมืองหลวงของจีน แต่จนถึงขณะนี้ระบบเหล่านี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะถนนวงแหวนและทางด่วนที่สำคัญของปักกิ่งเพียงเท่านั้น

คืนหนึ่งในขณะที่การจราจรปลอดโปร่ง Xing ได้ขับรถจากสถานีรถไฟในเขตชานเมืองไปยังทางหลวงวงแหวนชั้นในสุดของปักกิ่ง และเทคโนโลยีของ Xpeng ได้เข้ามาควบคุมการขับขี่ทั้งหมด แต่ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเขาแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในช่วงที่มีการจราจรคับคั่ง

Xing เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วมันได้กลายเป็นคำคุยโวโอ้อวดที่เกินจริงจากบริษัทผลิตรถยนต์ซะมากกว่า

บทสรุป

ในหนังสือ AI Super-Powers ของ Kai-Fu Lee นั้นมีบทสรุปเรื่องราวของเทคโนโลยี AI กับการขับเคลื่อนรถยนต์แบบอัตโนมัติไว้ได้อย่างน่าสนใจ

รถยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นกำลังอยู่ในเส้นทางการพัฒนาที่จะปลอดภัยกว่ารถยนต์ที่ขับขี่โดยมนุษย์ในท้ายที่สุด ซึ่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างกว้างขวางมากเท่าไหร่ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้มากขึ้นเท่านั้น

มันเป็นเรื่องท้าทายมาก ๆ กับเทคโนโลยีนี้เพราะต้องทดสอบกันบนท้องถนนจริง ๆ สภาพจริง ๆ ผู้ร่วมท้องถนนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ ซึ่งมันเหมือนกับการทดสอบซอฟต์แวร์บนโปรดักชั่นของจริง เพื่อให้ AI มันฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความเสี่ยง แต่ใครได้ทดสอบก่อนก็เรียนรู้ก่อน และพัฒนาไปก่อน ซึ่งสุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นธุรกิจแบบ Winner Take All ได้ในท้ายที่สุด

มันกลายเป็นว่าอุตสาหกรรมใหม่อย่างรถยนต์ EV นั้น มันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกทางวิศวกรรมเครื่องกลเหมือนในอดีต ที่เหล่าผู้ผลิตจากญี่ปุ่นหรือเยอรมันมีความถนัดมากกว่า และครองตลาดมาได้อย่างยาวนาน

แต่ในศึก EV นั้น ซอฟต์แวร์โดยเฉพาะเรื่องของ AI จะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการเอาชนะในธุรกิจนี้ถ้ามองในระยะยาว และดูเหมือนว่าพี่จีนเองจะไม่รอใครแล้ว พวกเขาเร่งพัฒนาและทดสอบก่อนใคร และเทคโนโลยีที่เป็น layer บน ๆ เฉกเช่น AI นั้นดูเหมือนว่าจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพวกเขาจะไม่เป็นสองรองใครในโลกนี้แต่อย่างใดนั่นเองครับผม

References :
https://www.technologyreview.com/2023/08/15/1077895/china-city-race-autonomous-driving/
https://newatlas.com/automotive/xpeng-p7-self-driving/
หนังสือ Ai Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order โดย Kai-Fu Lee