ประวัติ Ethereum ตอนที่ 6 : The Spaceship

Startup ควรมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน? เป็นคำถามที่น่าสนใจ หากมีแค่คนเดียวอาจจะโดนบีบจากนักลงทุนเมื่อไหร่ก็ได้ หรือสองคนก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติในหลาย ๆ ธุรกิจ สามคนถือว่าเป็นตัวเลขกำลังดี มากกว่าสามคนขึ้นไป ดูเหมือนจะมีแต่เรื่องวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแล้วจาก Twitter

แถมการมีผู้ร่วมก่อตั้งเยอะ ก็ต้องแบ่งปันหุ้นอีกมากมาย แต่ก็ต้องบอกว่านั่นเป็นกฎของ Startup แบบเก่า ๆ ใน Silicon Valley และมันคงใช้ไม่ได้กับโลกใหม่ที่ Ethereum กำลังจะถือกำเนิดขึ้น

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการประชุมที่ไมอามี จากกลุ่มดั้งเดิมของ Ethereum 5 คนได้แก่ Vitalik , Mihai , Anthony, Charles และ Amir ได้เพิ่มสมาชิกเข้ามาอีก 3 คน ประกอบไปด้วย Gavin Wood , Jeffrey Wilcke และ Joseph Lubin

Gavin เองด้วยบทบาทที่สำคัญที่กลายเป็นนักพัฒนาหลักไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรารถนาที่จะเป็น CTO ในขณะที่ Charles ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น CEO ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการรวมกลุ่มผ่าน Skype รวมถึงรายชื่อผู้ให้ข้อมูลและที่ปรึกษาอีกจำนวนมากที่ยังปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ Ethereum มีผู้คนอีกมากมายต้องการมีส่วนร่วม และ Vitalik ก็ยินดีที่จะพาทุกคนเข้ามา

Vitalik ไม่ได้คิดถึงการต้องที่จะต้องสร้างความประทับใจให้กับเหล่า VCs (Venture Capital) และเขาก็ไม่ได้คิดถึงส่วนของผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกัน

เขามองถึงโลกใหม่ในการขายโทเค็น Ethereum ไม่จำเป็นต้องไปทำตามธรรมเนียมของ Silicon Valley ที่ต้องไปง้อเหล่า VC ทั้งหลาย เพราะ Ethereum ไม่ต้องการเงินจาก VC พวกเขาสามารถเข้าถึงนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกได้ และเขามองว่า Ethereum ควรเป็นอิสระและเปิดให้ทุกคนใช้ ไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

ลำดับความสำคัญแรกของทีมคือการตัดสินใจว่าจะจัดตั้งบริษัท หรือ จัดตั้งเป็นมูลนิธิเหมือนที่ Mastercoin ทำ ประเด็นหลักที่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังคือ Ethereum จะกลายเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไรหรือมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร

Charles , Anthony และ Amir กดดันให้จัดตั้งเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไร ในขณะที่ Vitalik , Jeff และ Mihai สนับสนุนการจัดตั้งเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร

แต่ดูว่าต้องมีการเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน เพราะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมในการตั้งบริษัท ซึ่งทีมชุดแรกได้จัดตั้งบริษัทในโตรอนโตแล้วโดยใช้ Bitcoin Decentral ของ Anthony เป็นสำนักงานใหญ่

แต่พวกเขาก็กำลังมองหาสถานที่เพื่อจัดตั้งสำนักงานถาวรที่ไหนซักแห่งที่มีกฏระเบียบอนุญาติให้จัดการเรื่องราวทุกอย่างได้แบบไม่มีปัญหา และทำให้รายได้ของพวกเขาไม่ถูกเก็บภาษีมากจนเกินไป โดยพวกเขามองไว้สามแห่ง คือ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และ สวิตเซอร์แลนด์

Mihai อาสาไปสวิตเซอร์แลนด์ และได้ติดต่อกับ Johann Gevers ชาวแอฟริกาใต้ที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นเพื่อก่อตั้งบริษัทชำระเงิน Monetas ที่ใช้เทคโนโลยี blockchain ซึ่ง Johann ได้เกลี้ยกล่อม Mihai ให้มาตั้งบริษัทที่สวิตเซอร์แลนด์ และกล่าวว่าพวกเขามาถูกที่แล้ว เพราะสวิตเซอร์แลนด์มีอัตราภาษีที่ต่ำและกฏระเบียบที่ยอมรับได้ แถมยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของยุโรป

Johann ได้แนะนำให้ Mihai รู้จักกับ Herbert Sterchi ซึ่งเป็นพลเมืองชาวสวิส ซึ่งกฏหมายท้องถิ่นกำหนดให้ต้องมีคนสวิสดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัท ซึ่ง Herbert มี connection ที่สำคัญผ่านระบบราชการของทางสวิส ซึ่ง Johann และ Herbert แนะนำให้เลือกเมือง Zug ซึ่งเป็นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีอัตรภาษีนิติบุคคลต่ำที่สุด

Charles CEO คนใหม่ของ Ethereum ตาม Mihai มาที่สวิส หลังจากนั้นสมาชิกในทีมคนอื่น ๆ เริ่มหลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก

Taylor Gerrin พยายามสร้างแอปพลิเคชั่นบน Bitcoin ใน ชิคาโก แต่เขาเลิกทำ เลิกกับแฟนสาว แล้วซื้อตั๋วเที่ยวเดียวไปสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งคล้าย ๆ กับ Mathias Groennebaek ที่มาจากเดนมาร์ก Stephan Tual ที่มาจากลอนดอน

Lorenzo Patuzzo ผู้เช่าห้องให้กับ Mihai และ Vitalik ในบาร์เซโลนา ก็ตัดสินใจกระโดนขึ้นรถไฟมายังสวิสด้วยเช่นกัน ส่วนสมาชิกในทีมช่วงต้น ๆ ที่เหลืออีกสิบคน พวกเขาเป็นนักออกแบบเว็บไซต์และโปรแกรมเมอร์ที่เดิมพันทุกอย่างของชีวิต ในสิ่งที่ยังคงเป็นแค่ความคิดใน White Paper ที่เขียนโดย Vitalik เด็กอายุ 19 ปี

ยังไม่มีตำแหน่งานที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการและความสามารถของแต่ละคน และที่สำคัญไม่มีเงินเดือนให้ พวกเขาทั้งหมดทำงานฟรี แต่มีโอกาสที่จะได้รับสกุลเงินดิจิทัลบางส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ในขณะที่ Anthony และ Lubin เป็นคนออกค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าและค่าธรรมเนียมทางกฏหมาย ทีมงานที่เหลือก็บริจาคเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยทำงานแทบไม่มีเงินเดือน ต้องใช้เงินออมส่วนตัว และใช้บัตรเครดิตเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน ต้องบอกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่บ้ามาก ๆ สำหรับพวกเขา

 Joseph Lubin  อีกหนึ่งคนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับ Ethereum ที่สวิตเซอร์แลนด์ (CR:FactorDaily)
Joseph Lubin อีกหนึ่งคนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับ Ethereum ที่สวิตเซอร์แลนด์ (CR:FactorDaily)

Lorenzo ได้ออกแบบโลโก้ Ethereum ก่อนที่กลุ่มคนทั้งหมดจะมาถึงสวิตเซอร์แลนด์ Anthony ได้ออกแบบเว็บไซต์ Ethereum ใหม่นำโลโก้ใหม่ที่ดูเหมือนเพชรมาวาง โดย Lorenzo มองว่าแม้มันเป็นจุดเริ่มต้น แต่เขาต้องการให้โลโก้แสดงถึงสิ่งที่ทำให้เข้าใจ Ethereum ได้ดียิ่งขึ้น

Mihai และ Charles ทำงานด้านกฏหมายและธุรการ ในการทำให้บริษัทถูกต้องตามระเบียบของทางการสวิส พวกเขาต้องเปิดบัญชีธนาคาร มีเรื่องยุ่งยากมากมายที่ต้องทำสำหรับบริษัท cryptocurrency เนื่องจากมักถูกมองว่ามีความเสี่ยงเกินไป หลาย ๆ ธนาคารไม่ต้องรับพวกเขา แต่สุดท้าย PostFinance ซึ่งเป็นธนาคารเล็ก ของสวิสเซอร์แลนด์ที่ไม่มีสาขาหรือคนรู้จักในสหรัฐฯ ก็ต้อนรับพวกเขา

ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญก็คือ การค้นหาว่าองค์กรของพวกเขาจะอยู่ตรงไหนอย่างถูกกฏหมายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Herbert ได้แนะนำให้ Charles และ Mihai รู้จักกับ Luka Muller และ Samuel Bussmann หุ้นส่วนที่สำนักงานกฏหมาย MME ซึ่งก็ไม่เคยทำงานกับบริษัทด้าน cryptocurrency มาก่อน

Luka ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฏระเบียบและคดีต่อต้านการฟอกเงิน ในขณะที่ Samuel จะดูแลในเรื่องภาษี ในการพบกันครั้งแรก Charles และ Mihai ได้แนะนำให้พวกเขารู้จักกับ Bitcoin ก่อน ตามด้วย Ethereum ซึ่งทนายทั้งสองไม่เข้าใจในตอนแรก ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาต้องมาดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างละเอียด

การหาที่อยู่ให้กับทีมก็ไม่ง่ายนัก เมื่อ เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ชาวสวิตเซอร์แลนด์ไม่ชอบความคิดที่จะให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของตนกับกลุ่มคนต่างชาติมากหน้าหลายตาที่ว่างงาน และจะใช้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสร้างบริษัทสกุลเงินดิจิทัล

สุดท้ายเป็น Herbert ที่เข้ามาช่วยเจรจา โดยสัญญาจะให้ค่าเช่าล่วงหน้าทั้งปี หรือประมาณ 82,500 ฟรังก์สวิส ซึ่งเป็นเงินที่ Joe Jubin ให้ยืมเพื่อเป็นค่าที่อยู่อาศัยสำหรับทีมงาน Ethereum ที่กำลังหลั่งไหลกันเข้ามา

บ้านที่พวกเขาเช่าอยู่ในย่านชานเมืองของ Zug เพียงไม่กี่ก้าวจากป้ายสุดท้ายบนเส้นทางรถประจำทางของเมือง ไม่ห่างจากทะเลสาปและอยู่ใกล้กับเนินเขา มีทุ่งข้าวโพดอยู่บ้าง และมีลำธารไหลผ่านถนนที่อยู่ด้านหน้าที่พัก

โดยเป็นกลุ่มอาคารหลังเล็ก ๆ ที่มีบ้านเหมือนกันสามหลัง บ้านนี้เป็นบ้านที่ดูแปลกตาและดูล้ำยุคมาก ๆ ตั้งตระหง่านเป็นรูปทรงเรขาคณิต จนพวกเขาเรียกมันว่า “The Spaceship”

บ้านที่ดูแปลกตาและดูล้ำยุคที่ถูกเรียกว่า
บ้านที่ดูแปลกตาและดูล้ำยุคที่ถูกเรียกว่า “The Spaceship” (CR:Medium.com)

มันเป็นอาคารโล่ง ๆ มีกลิ่นของสารเคมีจาง ๆ ที่เป็นกลิ่นบ้านใหม่ของสีและคอนกรีต และมีลวดเปลือยที่ห้อยลงมาจากผนังเนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้เข้ามาอยู่ในอาคารหลังนี้

โดยในอาคารมีห้องใต้ดิน ชั้นแรกมีเพียงห้องน้ำ บันได และ ลิฟต์ ทั้งอาคารมีสามห้องนอน และห้องนั่งเล่นบนชั้นสอง ชั้นบนสุดมีครัวแบบเปิดและพื้นที่ที่ใช้สำหรับห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่ทำงาน ที่ด้านท้ายของห้องมีหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดออกสู่ระเบียง

ในช่วงสองสามวันแรก เหล่าทีมงานมุ่งเน้นไปที่การทำให้พื้นที่น่าอยู่ขึ้น พวกเขาได้แผ่นไม้ราคาถูก ๆ แผ่นยาว ๆ มาวางบนขารูปตัว A เพื่อทำเป็นโต๊ะทำงานขนาดใหญ่และติดไฟฮาโลเจนหลากสีสันบนผนัง

กลุ่มโปรแกรมเมอร์และนักออกแบบกลุ่มนี้จากทั่วทุกมุมโลกเพิ่งได้มาพบกัน แต่พวกเขากำลังทำงานร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกัน และนอนติดกัน พวกเขาแทบจะไม่รู้จักใครในเมืองเลย ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาทำหลังเลิกงานพวกเขาก็ทำร่วมกัน แต่มันแทบจะไม่มีเวลาที่แน่นอน Ethereum คือชีวิตของพวกเขา มันคือครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน

ทุกคนมีตารางงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นบ้านจึงมีชีวิตชีวาตลอดทั้งวันทั้งคืน งานหลักคือการสร้างเว็บไซต์สำหรับการขายให้กับสาธารณชน ซึ่งเป็นงานใหญ่มาก ๆ เพราะต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่าง Bitcoin และ Ethereum รวมถึงการสร้างกระเป๋าเงิน Ethereum สำหรับผู้สนับสนุนที่จะได้รับสกุลเงิน Ether ในภายหลัง

ในเมือง Zug ก็แทบจะไม่มีสิ่งบันเทิงใด ๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือ วันหยุดยาว พวกเขาจะออกมาเดินเล่นชื่นชมธรรมชาติ พูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าของโครงการ บางครั้งก็ดื่มและสูบกัญชากันจนดึก หรือบางครั้งก็พากันไปปิ้งบาร์บีคิวบนดาดฟ้า

Johann Gevers ผู้ก่อตั้ง Monetas ที่เสนอให้ Zug เป็นฐานบัญชาการ และ Niklas Nikolajsen ผู้ก่อตั้ง Bitcoin Suisse ที่มาช่วยแปลงเงินกู้ Bitcoin เป็นฟรังก์สวิส ซึ่งต้องบอกว่า ทั้ง Monetas และ Bitcoin Suisse เป็นธุรกิจ crypto เพียงแห่งเดียวในสวิตเซอร์แลนด์ในขณะนั้น ดังนั้นบนดาดฟ้าที่ปิ้งบาร์บีคิวกันจึงเป็นแหล่งรวมเศรษฐี blockchain ของสวิสทั้งหมดไว้ในที่เดียว

เวลาของ Charles และ Mihai ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับทนายความ หน่วยงานด้านภาษี และหน่วยงานกำกับดูแลจาก Swiss Financial Market Supervisory Authority หรือ Finma ซึ่งพวกเขาเรียกให้มีการประชุมหลายครั้งต่อสัปดาห์

สำหรับ Charles แล้วเขาต้องการให้มีวิธีอื่นในการหาเงินทุน และต้องเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่านักลงทุนจาก Silicon Valley เขาต้องการสร้าง Ethereum ให้เป็นนิติบุคคลที่แสวงหาผลกำไรด้วยสิ่งที่เรียกว่า “Smart Money” นั่นคือนักลงทุนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์หรือ Connection ก็สามารถมาลงทุนได้ ในมุมของเขา จะมีมูลนิธิ Ethereum แยกต่างหากที่สามารถทำการขายให้กับสาธารณชน เพื่อแจกจ่ายโทเค็นของ Ether ได้ แต่ช่องทางการระดมทุนหลักจะเป็นรอบ ๆ จาก VC แบบดั้งเดิม

Charles แทบจะไม่ปิดบังความทะเยอทะยานของเขาในการที่จะกลายเป็นเหมือน Google ในสาย Crypto ซึ่งเขามองว่า Ethereum จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และจะกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอนาคตใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี blockchain เขามั่นใจว่า Ethereum จะกลายเป็นบริษัทแรกที่มีมูลค่าหลายล้านล้านเหรียญ

แต่ความคิดของ Charles นั้นต้องบอกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่คนในทีมส่วนใหญ่ต้องการ ผู้คนในทีมส่วนใหญ่ต้องการโลกใหม่ที่กระจายอำนาจ ซึ่งไม่ต้องการคนกลางอย่างพวกนักลงทุนใน Silicon Valley หรือ นายธนาคารใน Wall Street ซึ่งคนในทีมได้พยายามส่งสัญญาณแสดงความกังวลในตัว Charles ไปยัง Vitalik

ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ Charles นั้นสูญเสียความไว้วางใจของทีม ทุกคนต่างเริ่มรู้สึกหงุดหงิดที่มีการต่อสู้ภายในเพื่อแย่งชิงอำนาจทำให้เวลาและพลังงานของพวกเขาต้องสูญเสียไปในเรื่องไร้สาระเหล่านี้

ในขณะเดียวกันรูปแบบของบริษัทที่จัดตั้ง ก็พร้อมจะที่ถึงขั้นสุดท้ายของข้อตกลง จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อจัดการการขายโทเค็นซึ่งก็จะถือว่าคล้ายๆ กับการขายซอฟต์แวร์ เงินที่ได้มาจะถูกถ่ายโอนไปยังมูลนิธิในภายหลัง ซึ่งจะสร้างขึ้นเพื่อรองรับแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส

ความแตกต่างระหว่างที่สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ก็คือ ในสวิตเซอร์แลนด์ มูลนิธิจะไม่มีผู้รับผลประโยชน์ที่จะโอนเงินไปให้ได้ ซึ่งสามารถบริจาคได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของมูลนิธิเท่านั้น หน่วยงานของรัฐบาลกลางจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งในโครงสร้างดังกล่าวโทเค็นไม่ถือเป็นหลักทรัพย์และมูลนิธิไม่ต้องจ่ายภาษีสำหรับสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับมา

ทีมงานด้านกฏหมายจาก MME ก็เร่งให้การจัดตั้งบริษัทเสร็จได้เร็วที่สุด Luka ได้อ่านเอกสารทางกฏหมายและเอกสารเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลและการเข้ารหัสจำนวนมาก ซึ่ง Luka ได้อ่านทุกคำในนั้นและมักจะกลับมาพร้อมคำถามแบบละเอียด ซึ่ง Vitalik ได้เดินทางไปร่วมประชุมด้วยในบางครั้ง

Vitalik กับฉากหลังของเมือง Zug ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (CR:about.me)
Vitalik กับฉากหลังของเมือง Zug ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (CR:about.me)

ต้องบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาสามเดือนที่โหดร้ายของความซับซ้อน การถกเถียงกันในเรื่องกฏหมายว่า Ethereum คืออะไร และการระดมทุนโดยใช้เหรียญดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ควรได้รับการปฏิบัติอย่างไร ทั้งจากมุมมองด้านกฏหมายและมุมมองในด้านภาษี

และดูเหมือนว่าเส้นทางของพวกเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันแต่ต้องเลี้ยงตัวเองด้วยเงินออมส่วนตัวเพื่อเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ และในวันหนึ่งพวกเขาได้เรียนรู้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขานั้นลำบากยากเย็นเพียงใด

วันหนึ่งเจ้าของอาคารที่พวกเขาเช่า มาบอกพวกเขาว่ามีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ต้องออกจากบ้านไป เพราะมีธุระที่จะต้องใช้อาคารดังกล่าวแบบเร่งด่วน ชาว Ethereum หลายสิบคนหรือมากกว่านั้นเก็บรวบรวมสิ่งของของพวกเขาและถูกทิ้งให้เดินไปตามถนนที่แห้งแล้งของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงกลางฤดูหนาว

พวกเขาได้หันหน้าไปหา Herbert เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่ง Herbert ได้พาทีมงาน Ethereum ไปพักชั่วคราวที่เมืองลูเซิร์นซึ่งอยู่ห่างออกไป 9 ไมล์ และดูเหมือนพวกเขาจะโล่งใจที่จะได้ที่ซุกหัวนอนแล้ว

แต่เมื่อ Herbert เปิดประตูไปยังอพาร์ตเมนต์แบบหนึ่งห้องนอนเล็ก ๆ ที่แทบจะต้องเบียดเสียดกันทั้งหมด บางคนยืน บางคนนั่งบนโซฟา และมีสมาชิกที่เหลืออีก 10 คนหรือมากกว่านั้น ต้องนอนติด ๆ กันบนพื้น

Charles ที่เป็น CEO ของบริษัท นอนอยู่ในตู้เสื้อผ้า สำหรับ Charles สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ Herbert จะเปิดประตูตู้เสื้อผ้าตอนตี 5 แล้วทักทายเขาด้วยเสียงอันไพเราะ “อรุณสวัสดิ์ Charles”

และมันกลายเป็นเรื่องตลกที่เหล่าทีมบริหารต้องขึ้นรถไฟเพื่อเข้าไปในเมือง Zug เพื่อพบปะกับทนายความและหน่วยงานกำกับดูแล พ่อค้าคนกลาง และข้าราชการ ที่ท้ายที่สุด Ethereum ต้องการที่จะ disrupt หน่วยงานคนกลางเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป

–> อ่านตอนที่ 7 : A Game of Coins

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ