ประวัติ Ethereum ตอนที่ 5 : The Miami House

Gavin Wood ไม่เคยเห็นความหรูหราในแบบที่ Anthony Di Iorio ได้จัดเตรียมที่พักไว้สำหรับทีม Ethereum ในไมอามี : บ้านแปดห้องนอน ใหญ่ระดับคฤหาสน์ มีห้องน้ำทุกห้อง ระเบียง สวนริมสระที่ผู้คนกระโดดไปว่ายน้ำกับโลมาตัวเป็น ๆ มีท่าเทียบเรือและเรือแคนู มีบาร์ โต๊ะพูล และห้องนั่งเล่นสองห้อง

Gavin ผู้มีผมหงอกก่อนวัย แทบจะไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ เขาพักอยู่ในห้องว่างของอพาร์ตเมนต์ของเพื่อนในลอนดอน และทำงานให้กับบริษัท startup โดยสร้างโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการอ่านและทำให้เอกสารทางกฏหมายง่ายขึ้น

Gavin เริ่มเขียนโค้ดบนคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าที่แม่ซื้อจากเพื่อนบ้านเมื่อเขาอายุได้ 7 ขวบ โดยเขาอาศัยอยู่ทางเหนือของแลงคาสเตอร์ ความหลงใหลในคอมพิวเตอร์ของเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากได้เข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ตในช่วงวัยรุ่น จากนั้นเขาก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยยอร์กเพื่อศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์

หลังจากเรียนจบ เขาก็ไม่สนุกกับงานที่ทำในสำนักงานปรกติในเวลา 9 ถึง 5 โมงเย็น เขาจึงทำงานสัญญาจ้างกับ Microsoft และเป็นครูคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนคาทอลิกในประเทศอิตาลี

ปลายปี 2008 Gavin และแฟนสาวแบกเป้ลุยเที่ยวในอเมริกากลาง Gavin จำได้ว่าได้ยินเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติการณ์ทางการเงินทางทีวีในบาร์แห่งหนึ่งในประเทศนิการากัว

สำหรับ Gavin มันคือการยืนยันกับสิ่งที่เขาคิดมาโดยตลอด : โลกถูกปกครองโดยชนชั้นสูงที่จะแสวงหาผลกำไรสูงสุดของตนเองโดยแลกกับค่าใช้จ่ายของผู้อื่น การแก้ปัญหาคือต้องกระจายอำนาจ วิทยาการคอมพิวเตอร์ยิ่งทำให้เขาเข้าใจชัดว่าในระบบที่มีศูนย์กลางมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ศักยภาพในการสร้างจุดวิกฤติของความล้มเหลวก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น สำหรับเขา ระบบธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบปิดเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ระบบเหล่านี้จะเน่าเฟะมาก ๆ

ในช่วงต้นปี 2013 เขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัทเพื่อช่วยอ่านและเขียนเอกสารทางกฏหมาย เขาสร้างอัลกอริธึมที่อ่านสัญญาและทำการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เขาภูมิใจกับโค้ดที่เขาเขียน แต่เงินทุนบริษัทเริ่มร่อยหรออย่างรวดเร็ว และนั่นทำให้เขาเริ่มพิจารณาแผน B

เขาได้ไปเห็นวีดีโอจากสำนักข่าวการ์เดียน มันแสดงให้เห็นชีวิตกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้ Bitcoin เป็นทางเลือกแทนระบบการชำระเงินแบบดั้งเดิม

แม้ว่า Gavin จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบบรวมศูนย์และธนาคารขนาดใหญ่ แต่เขาก็เกลียดการเผชิญหน้า ซึ่งหมายความว่าเขาไม่เคยสนใจที่จะเคลื่อนไหวใด ๆ ในเรื่องดังกล่าว

เขาเคยอ่านเกี่ยวกับ Bitcoin มาก่อน แต่ในวีดีโอนั้นเขาเข้าใจว่า Cryptocurrencies กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งแทนที่จะต่อสู้กับมันโดยตรง เทคโนโลยีนี้มีโอกาสที่จะปรับสมดุลอำนาจให้กับคนทั่วไปได้อย่างแท้จริง

ชายในวีดีโอที่ Gavin ได้ดู ก็คือ Amir Taaki ซึ่งเพิ่งสร้างไลบรารีโอเพนซอร์ส และเครื่องมือสำหรับสร้างแอปพลิเคชันบน Bitcoin ซึ่ง Amir คือคนที่นำ Mihai และ Vitalik มาที่ชุมชนแฮ็กเกอร์ Calafou ใกล้บาร์เซโลนานั่นเอง

Gavin ได้ติดต่อผ่านอีเมล จนมาพบ Amir ที่สำนักงานใหญ่ของ Bitcoin Magazine ณ อาคารสำนักงานร้างใจกลางกรุงลอนดอน ซึ่งที่นั่นเขาได้พบกับ Mihai ที่เป็นบรรณาธิการบริหาร Bitcoin Magazine ด้วย

Gavin ตัดสินใจว่าเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้ หลังจากการเยือนของเขา Gavin ก็ได้เริ่มคิดหาวิธีสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสกุลเงินดิจิทัลและเล่นกับแนวคิดในการออกแบบการแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ เนื่องจากเขาเชื่อว่าการซื้อขายเงินแบบกระจายอำนาจไม่ควรขึ้นอยู่กับบุคคลที่สาม

และเขาก็มีความประทับใจกับ Ethereum ที่เป็นแนวความคิดที่น่าสนใจแม้จะเพียงครึ่งเดียว เพราะเขามองว่ามันยังออกแบบระบบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เขาได้ตัดสินใจส่งอีเมลหา Vitalik เพื่อให้ปรับการเขียนโปรแกรมของ Ethereum เป็นภาษา C++

“ผมทำบน C++ ได้ ดูตัวอย่างได้ที่ (github/gavofyork)” Gavin ส่งหา Vitalik ซึ่งได้รับคำตอบกลับมาว่าเขาใช้ Python แต่ยังไม่คืบหน้ามากนัก และกำลังมองหาโปรแกรมเมอร์ที่สามารถช่วยได้

หลังจากนั้น Gavin ก็ลุยทันที เขาเขียนโค้ดตลอดช่วงสิ้นเดือนธันวาคม ทำการเปลี่ยนซอร์สโค้ดของ Ethereum ใหม่ เขาแทบจะไม่ออกจากห้องเล็ก ๆ ของเขาเป็นเวลาหลายวัน โดยสั่งพิซซ่าครั้งละสองถาด เพียงเพื่อเขาจะได้ไม่เสียเวลาออกไปกิน กิจวัตรของเขาวนเวียนอยู่แค่ รับพิซซ่าที่ประตูแล้วเขียนโค้ดจนดึก พักผ่อน และเริ่มต้นใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น

นั่นทำให้ Vitalik เชิญ Gavin เข้าร่วมกับทีมที่เหลือในไมอามี ซึ่งเป็นสัปดาห์ก่อนการประชุม Bitcoin อเมริกาเหนือในช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2014 ซึ่งต้องบอกว่า Gavin เองก็แทบจะไม่เคยติดต่อกับชุมชน crypto คนอื่น ๆ เลย เขาแทบไม่ได้เป็นเจ้าของ Bitcoin ซักเหรียญเลยด้วยซ้ำในตอนนั้น

Gavin Wood หนึ่งในทีมงานคนสำคัญที่เข้ามาปรับปรุง Ethereum (CR:Fast Company)
Gavin Wood หนึ่งในทีมงานคนสำคัญที่เข้ามาปรับปรุง Ethereum (CR:Fast Company)

เมื่อถึงไมอามี่ เวลามันช่างผ่านไปรวดเร็วมาก ๆ ด้วยกระแสที่เกิดขึ้นทำให้มีคนสนใจเข้ามาพบกับ Vitalik เต็มไปหมด สภาพบ้านที่เช่าไว้ที่มีเตียงแปดห้อง หลายคนนอนบนโซฟาแม้กระทั่งบนพื้น กล่องพิซซ่าวางซ้อนกันอยู่บนโต๊ะครัว และเบียร์ก็เกลื่อนไปหมด

ในขณะที่ทีมทั้งหมดพูดถึงความเป็นไปได้ที่รูปร่างหน้าตาของ Bitcoin 2.0 จะเป็นอย่างไร เหล่าบล็อกเกอร์และ Youtuber ต่างแห่กันมาเพื่อสัมภาษณ์ Vitalik , Charles และ Anthony แต่พวกเขาก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ

เมื่อเวลาผ่านไป Gavin ได้เขียนโค้ดของ Ethereum เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งจะมีการทดสอบว่าระบบสามารถถ่ายโอนเงินสกุลดิจิทัลระหว่างโหนดได้หรือไม่ ซึ่งเขาได้วางแล็ปท็อปของเขาไว้ข้าง ๆ ส่วนอีกเครื่องอยู่บนโต๊ะครัว

ทุกคนในกลุ่มมารวมตัวกันข้างหลัง Gavin และมองดูเขาพิมพ์คำสั่ง และเมื่อเขากด Enter เขาไม่ได้แค่พยายามสื่อสารกับคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองโดยตรง แต่เขากำลังทำธุรกรรมผ่านเครือข่าย Ethereum ทั้งหมด

หากเหรียญดิจิทัลทดสอบที่เขาสร้างขึ้นจริงถูกโอน หมายความว่ามันคือรากฐานสำหรับสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานได้จริงนั่นเอง

ซึ่งหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วินาที ทุกสิ่งดูหยุดนิ่ง ไม่มีใครพูดอะไรซักคำ และ Gavin เองแทบจะหายใจไม่ออก ไฟสัญญาณติดขึ้น เหรียญดิจิทัลถูกโอนได้สำเร็จ Gavin ตื่นเต้นมาก ๆ ปะมือกับ Charles ในขณะที่ Vitalik ปรบมือนิ่ง ๆ และพูดว่า “เย้!”

แม้จะไม่ได้ดีใจจนออกนอกหน้า แต่ Vitalik ก็รู้สึกตื่นเต้น blockchain ที่เขาใฝ่ฝันนั้นกำลังจะเกิดขึ้นจริง ๆ และเมื่อเขามองดูคนที่เติมเต็มบ้านหลังใหญ่นั้น เขาแทบไม่อยากเชื่อเลยว่าคนส่วนใหญ่ที่นั่นจะทำมันได้สำเร็จ

ซึ่งหลังจากได้รับ Ethereum testnet และใช้งานได้ Gavin คิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เขาควรได้รับตำแหน่งวงในของทีมงาน Ethereum เสียที

“ฉันควรเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และ CTO” Gavin กล่าวกับทีม

Anthony มองว่าผู้ร่วมก่อตั้งต้องทำให้นักลงทุนไว้วางใจ มีความรับผิดชอบสูงที่ไม่ควรมองข้าม และ Gavin เป็นคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ และโผล่มาที่บ้านที่ไมอามีเท่านั้น เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยกันตั้งแต่แรก และในขณะที่เขาเขียนโค้ดเก่ง แต่ Anthony มองว่าสามารถจ้างโปรแกรมเมอร์คนอื่น ๆ ทำก็ได้

แผนถัดมาคือ Vitalik ต้องขึ้นพูดในวันที่ 26 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุม ตั้งแต่เวลา 9:30 ถุึง 9:50 ที่ศูนย์การประชุมไมอามีบีช เขาไม่ได้พูดในห้องโถงหลักของงานแต่อย่างใด มีการนำเสนอง่าย ๆ ว่า “Vitalik Buterin หัวหน้านักเขียนที่ Bitcoin Magazine”

เมื่อเซสชั่นที่ Vitalik ต้องพูดมาถึง เขาได้เริ่มต้นด้วยมุมมองต่อ Bitcoin ซึ่งเป็นบทสรุปทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลที่กระจายอำนาจเป็นรายแรกของโลก

Vitalik ใส่เสื้อยืดสีดำที่มีคำว่า “ethereum.org” ที่เขียนด้วยสีขาวพาดหน้าอกของเขาห้อยหลวม ๆ มือของเขากระตุกอย่างรวดเร็วเมื่อเขาพูด เขาตะกุกตะกักในบางครั้ง และพูดด้วยน้ำเสียงประหม่าเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้น ทุกคนก็ตั้งใจฟังอย่างกระตือรือร้น

สระน้ำสีฟ้าสะท้อนแสงบนม่านสีดำด้านหลังเขา และสปอตไลท์เพียงดวงเดียวก็ส่องสว่างมาที่เขา แต่เนื้อหาที่เขากำลังพูดทำให้คนสนใจมากยิ่งขึ้น เมื่อเขาพูดถึงข้อจำกัดของ Bitcoin

“Ethereum แทนที่จะมีฟีเจอร์มากมาย แต่เราพยายามทำให้เรียบง่าย เราไม่มีคุณสมบัติมากมาย เรามีแค่ภาษาในการเขียนโปรแกรม” เขากล่าว “จากเลโก้ชิ้นเดียวของสกุลเงินดิจิทัล คุณสามารถสร้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามที่คุณต้องการ”

Vitalik ขึ้นเวทีเปิดตัว Ethereum ที่ไมอามี (CR:Flickr)
Vitalik ขึ้นเวทีเปิดตัว Ethereum ที่ไมอามี (CR:Flickr)

ห้องประชุมทั้งห้องยืนปรบมือเชียร์ เมื่อ Vitalik พูดจบ ทุกคนต่างมารุมล้อมรอบ ๆ Vitalik ซึ่งทันทีที่เขาลงจากเวทีและออกไปนอกห้องประชุม เขายืนพิงกำแพง มีกลุ่มคนหลายสิบคนรายล้อมเขาไว้ โดยผลัดกันถามคำถามและยกโทรศัพท์ขึ้นเพื่อถ่ายรูปและวีดีโอในขณะที่ Vitalik อธิบายเกี่ยวกับ Ethereum ต่อไป

Dan Larimer หุ้นส่วนธุรกิจเก่าของ Charles ที่ Bitshares อยู่ท่ามกลางฝูงชนด้วย และตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของ Ethereum ในการ scale ให้รองรับผู้ใช้งานหลายล้านคน และธุรกรรมหลายพันล้านรายการโดยที่เครือข่ายไม่ล่มได้หรือไม่

หลังจากกลับจากงานประชุม เมื่อถึงบ้านพัก ทีมงานบุกเข้าไปในบ้าน และเตรียมแก้วมาฉลองทันที ในที่สุดพวกเขาทำความฝันของพวกเขาให้เป็นจริงได้สำเร็จ การขาย Ether เพื่อแลกกับ Bitcoin ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกจะได้รับอนุญาตให้ส่งเงินไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ควบคุมโดยทีม Ethereum

Amir Chetrit ได้ยินจากเพื่อนของเขาในอิสราเอลว่า มีเงินทุนหลายล้านเข้ามาเพื่อต้องการลงทุน ซึ่งมากกว่าเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้ 5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ สำหรับทีม แต่ก็ทำให้พวกเขาประหม่าเช่นกัน ด้วยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ Vitalik ในการประชุม พวกเขาเริ่มกังวลกันว่ามันจะเป็นการดึงดูดความสนใจมากเกินไปที่ตอนนี้ดูเหมือนการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลยด้วยซ้ำ

ต้องบอกว่าภายในสัปดาห์นั้นที่ไมอามี่ เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ทีม Ethereum ยุคแรก ๆ มารวมตัวกันในที่เดียวกัน ดังนั้นจึงยังไม่สำคัญว่าทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกันหรือไม่ แต่ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันที่จะเห็น Ethereum ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้พวกเขามองข้ามความแตกต่างและปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ้างในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว

หลังจากนั้นพวกเขาตัดสินใจสลายตัว ต่างคนต่างเดินทางกลับบ้านกัน Gavin เป็นคนที่นิ่งมาก เขานั่งอยู่ใกล้ประตูขึ้นเครื่องที่สนามบิน จ้องมองไปไกล ๆ สุดสายตา ผลจากความตื่นเต้นและนอนไม่หลับเขาสัมผัสได้ถึงอะดรีนาลีนที่พุ่งพล่าน เมื่อภาพจำ บทสนทนา และความรู้สึกของช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มันวนเวียนอยู่ในหัวเขาอย่างต่อเนื่อง

และทันทีที่เครื่องบินลงจอดที่สนามบินฮีทโธรว์ในลอนดอน เขาได้โทรหาผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Startup ที่เขาทำงานอยู่ว่าเขาจะไม่ทำงานนี้อีกต่อไปแล้ว เขาต้องการอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับ Ethereum

สองสามวันต่อมา เขาบอกกับอดีตเพื่อนร่วมงานในบริษัท startup ว่า “ฉันยังไม่รู้แน่ชัดว่านี่คืออะไร แต่ฉันรู้ว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ฉันจะประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ได้”

–> อ่านตอนที่ 6 : The Spaceship

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Geek Story EP131 : Wesley Ng กับการสร้าง Casetify เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องประดับทางเทคโนโลยี

ย้อนกลับไปในปี 2010 ตอนนั้นต้องบอกว่า Blackberry นั้นเป็นมือถือยอดฮิต แต่หนึ่งปีต่อมา Ng เริ่มใช้ iPhone และได้เข้าไปเล่น Instagram เขาได้พยายามมองหาเคสโทรศัพท์ iPhone เครื่องใหม่ของเขา แต่ไม่พบสิ่งที่เขาชอบ

Steve Jobs ได้พูดใน Keynote ของเขาในปี 2010 เรื่องการสร้างแอปบน iPhone นั่นเองได้จุดประกายให้ Ng เริ่มสร้างแอปง่าย ๆ ที่ให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนรูปภาพจากฟีดใน Instagram เป็นเคสโทรศัพท์ได้

ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจสร้างแพล็ตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งต่อมามีชื่อว่า Casetagram ซึ่งทำให้ใคร ๆ ก็สามารถออกแบบเคสโทรศัพท์ได้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยการเพิ่มรูปภาพใน Instagram ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น Casetify ในภายหลัง

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3IFF4Ji

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/3ymnzcg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3yc6VvT

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/30h3Myg

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/7PQRldr0LfQ