ประวัติ Ethereum ตอนที่ 1 : Cypherpunks ‘ Freedom Dreams

ในปี 2008 เป็นเวลา 5 ปีก่อนที่แนวคิดของ Ethereum จะเริ่มปรากฏ Bitcoin ได้ถูกสร้างขึ้น แต่มันก็เริ่มต้นด้วยความทุลักทะเล แนวคิดเช่นเดียวกับ Bitcoin มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เหล่านักเข้ารหัสพยายามที่จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลแบบ peer-to-peer (P2P) มาตั้งแต่ช่วงทศวรรรษที่ 1980

David Chaum เห็นว่าการมาถึงของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถคุกคามความเป็นส่วนตัวได้ และได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการป้องกันสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเขาได้คิดค้นระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถูกเรียกว่า eCash ในปี 1983

แต่ก็ต้องบอกว่า eCash นั้นไม่ใช่ได้รับการออกแบบมาให้มีการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์นัก ต้องอาศัยธนาคารกลางในการลงนามสกุลเงินดิจิทัล และมีความเสี่ยงต่อการถูกเซ็นเซอร์ แต่นวัตกรรมของ Chaum เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการสร้างมันขึ้นมาจริง ๆ ของระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล

หลังจากนั้น Hacker ที่มีชื่อว่า Jude Milhon หรือที่รู้จักกันดีในนามแฝง St.Jude ได้รวมเอาคำว่า “cypher” (วิธีในการเข้ารหัสข้อมูล) และ “cyberphunk” (ประเภทย่อยของนิยายวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงโลกที่ไฮเทคและสังคมที่แตกสลาย เพื่อสร้างกลุ่มที่มีชื่อว่า “Cypherpunks”

กลุ่ม Cypherpunks มองว่าการเข้ารหัสจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในวงกว้าง และปลอดจากการควบคุมของรัฐ เงินดิจิทัลแบบ P2P จะเป็นหัวใจสำคัญของการปลดแอกจากธนาคารและรัฐบาลกลางของแต่ละประเทศ

ซึ่งไม่นานสมาชิกของกลุ่ม Cypherpunks ก็เพิ่มขึ้นหลายร้อยคน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มก่อตั้งขึ้นด้วยกลุ่มคนแถบซานฟรานซิสโก

ซึ่งในขณะที่ Cypherpunks กำลังก้าวไปข้างหน้า การเคลื่อนไหวของโลกโอเพ่นซอร์ส ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเทคโนโลยี blockchain ก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน

ในปี 1983 Richard M.Stallman เจ้าหน้าที่โปรแกรมเมอร์ของมหาวิทยาลัย MIT ได้สร้างระบบปฏิบัติการชื่อ GNU ซึ่งจะให้บริการฟรีและทุกคนสามารถเข้าถึงได้

หลังจากนั้น Stallman ได้ก่อตั้ง Free Software Foundation และ GNU (General Public License) ซึ่งระบุว่าทุกคนสามารถใช้ คัดลอก แจกจ่าย และแก้ไขซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นภายใต้สิทธิ์ใช้งานรูปแบบดังกล่าวได้ฟรี ซึ่ง Linux ที่เป็นระบบปฏิบัติการที่ทำงานบนใบอนุญาต GNU ก็ได้เริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990

Richard M.Stallman ผู้ริเริ่มแนวคิด GNU (CR:The Boston Globe)
Richard M.Stallman ผู้ริเริ่มแนวคิด GNU (CR:The Boston Globe)

ในปี 1999 ได้เกิดบริการอย่าง Napster ที่ได้เปิดตัวเว็บไซต์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถแชร์ไฟล์เพลงดิจิทัลระหว่างกันได้ ทำให้เพลง MP3 หลายแสนเพลงพร้อมให้ทุกคนในโลกใช้ได้กันได้แบบฟรี ๆ ทันที

จากนั้นในปี 2001 BitTorrent ได้เปิดตัวขึ้นโดยทำกับไฟล์ภาพยนตร์และไฟล์ที่ขนาดใหญ่กว่าที่ Napster ทำกับเพลง ซึ่งพวกเขาได้สร้างแอปพลิเคชั่นแบบ P2P เข้ามาสู่กระแสหลักได้สำเร็จ

แต่ปัญหาคือในช่วงปี 1980-1990 นั้น มีปัญหาสำคัญที่กลุ่ม Cypherpunks พยายามแก้ไขปัญหาแต่ยังไม่สำเร็จของการสร้างสกุลเงินดิจิทัลแบบ P2P นั่นก็คือปัญหา “double spending”

ซึ่งปัญหา double spending คือ การที่เงินในรูปแบบดิจิทัลนั้น เราสามารถที่จะใช้ token เดียวกันในการจ่ายเงินได้มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งเนื่องจาก digital token นั้นอยู่ในรูปแบบของ file digital ซึ่งสามารถที่จะทำซ้ำหรือปลอมแปลงขึ้นมาได้ง่าย เช่นเดียวกับรูปแบบของเงินปลอม ซึ่งปัญหาของ double-Spending หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจนำมาซึ่งอัตราเงินเฟ้อได้ในระยะยาว และอาจจะทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งานในที่สุด

ในปี 1998 นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Wei Dai ได้คิดค้น B-money และ Nick Szabo ได้คิดค้น Bit Gold พวกเขาทั้งสองเสนอแผนการที่อนุญาตให้เครือข่ายผู้ใช้ทำธุรกรรมด้วยเงินดิจิทัลโดยไม่ต้องใช้คนกลาง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาใช้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้แก้ปัญหาในเรื่อง double-spend ได้อย่างเมีประสิทธิภาพมากนัก

กลุ่ม Cypherpunks ได้ปรับปรุงพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดการพัฒนาครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคมปี 2008 เมื่อมีบุคคลนิรนามชื่อ Satoshi Nakamoto” ได้ส่งอีเมลมาถึงกลุ่ม โดยมีหัวข้อคือ

“ผมกำลังทำงานกับระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ที่ทำงานแบบ P2P โดยไม่มีบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือ”

ซึ่งอีเมลฉบับดังกล่าวได้แนบไฟล์ PDF จำนวน 9 หน้า ที่ระบุว่ามันทำงานอย่างไร ซึ่งเขาได้เสนอให้แก้ปัญหา “double spend” โดยใช้ “เครือข่าย P2P ซึ่งจะมีการประทับเวลาในการทำธุรกรรมโดยเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่การพิสูจน์การทำงานของแฮช”

โดยในบทความเรื่อง “Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System” Nakamoto ได้เสนอเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยที่คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะเก็บสำเนาประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดของเครือข่าย ซึ่งเป็นบัญชีแยกประเภท (Ledger) ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ

โดยที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดบัญชีแยกประเภทลงในคอมพิวเตอร์และเข้าร่วมเครือข่ายได้ฟรี ประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดจะเปิดให้ทุกคนเห็น แต่ผู้ใช้ที่อยู่เบื้องหลังธุรกรรมนั้นจะมีนามแฝง ซึ่งจะมีการระบุด้วย Public Key เท่านั้นซึ่งเป็นตัวอักษรและตัวเลขที่เดาได้ยาก และมีเพียงผุ้ใช้ที่ควบคุม Private Key ที่จำเป็นในการเข้าถึงเงินที่เชื่อมโยงกับที่อยู่ใน Bitcoin ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมแบบพิเศษ และจะเป็นครั้งแรกที่ผู้คนสามารถเป็นธนาคารของตนเองได้อย่างแท้จริง

และเมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น จะมีการส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายเพื่อให้พวกเขาอัปเดตบัญชีแยกประเภท ธุรกรรมจะถูกรวมกลุ่มเข้าด้วยกันเพื่อสร้างบล็อกของข้อมูล และเมื่อบล็อกเต็ม คอมพิวเตอร์จะแข่งขันกันเพื่อไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อตรวจสอบธุรกรรม ปิดผนึกบล็อก และบันทึกลงในบัญชีแยกประเภท

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นงานทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้พลังในการประมวลผลสูงมาก คอมพิวเตอร์ที่แก้ปัญหาได้จะได้รับเหรียญและค่าธรรมเนียมเป็นรางวัล กระบวนการนี้เรียกว่าการ “ขุด” ใช้เวลาประมาณสิบนาทีต่อบล็อกใน blockchain ของ Bitcoin

“การเพิ่มจำนวนเหรียญใหม่อย่างต่อเนื่องนั้นคล้ายคลึงกับนักขุดทองที่ใช้ทรัพยากรเพื่อเพิ่มทองคำในการนำมาหมุนเวียน แต่ในกรณีของ Bitcoin จะใช้ CPU และกระแสไฟฟ้าที่มีการจ่ายเข้าไปในระบบ” Nakamoto กล่าว

และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของโอเพ่นซอร์ส Bitcoin เป็นโปรโตคอลแบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าร่วม แก้ไข หรือแม้แต่คัดลอกเพื่อสร้างเวอร์ชั่นของตัวเองได้

บล็อกแรกของ Bitcoin blockchain ถูกขุดขึ้นในปี 2009 หลังจากนั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาก็จะมีการยืนยันบล็อกใหม่ในทุก ๆ สิบนาที และจะมีการออกจำนวน Bitcoins ที่น้อยลง รวมถึงความยากในการขุดเพิ่มขึ้น ซึ่งในระบบทั้งหมดจะมีจำนวน 21 ล้านเหรียญ

Hal Finney ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยการพิสูจน์การทำงานและอยู่ในรายชื่อ mailing list ของ Cypherpunks ได้รับธุรกรรม Bitcoin ครั้งแรกจาก Satoshi Nakamoto ส่วน โปรแกรมเมอร์ Laszlo Hanyecz ได้ทำการซื้อครั้งแรกด้วยสกุลเงินดิจิทัลเมื่อเขาซื้อพิซซ่า 2 ถาดด้วยเงิน 10,000 bitcoins ในปี 2010

Laszlo Hanyecz ซื้อพิซซ่าในตำนานด้วยมูลค่า 10,000 bitcoin (CR:LADbible)
Laszlo Hanyecz ซื้อพิซซ่าในตำนานด้วยมูลค่า 10,000 bitcoin (CR:LADbible)

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Bitcoin เกิดในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติการเงินโลก ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในระบบการเงินเริ่มแย่งลงหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด ปัญหาจากการขายอนุพันธ์ที่มีความซับซ้อนจากลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ แต่แทบไม่มีใครรับผิดชอบเมื่อทุกอย่างมันพังทลายลงมา

ต้องบอกว่าการก่อกำเนิดขึ้นของ Bitcoin นั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนสามารถถ่ายโอนเงินดิจิทัลข้ามทวีปโดยไม่ผ่านคนกลางในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที และปราศจากการเซ็นเซอร์

ไม่มีธนาคารกลางที่ออกเหรียญและกำหนดนโยบายการเงิน ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร ไม่มีผู้ที่ต้องมาประมวลผลที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนมากระหว่างการแลกเปลี่ยน ไม่มีการควบคุมสกุลเงิน มีเพียงสิ่งจำเป็นอย่างเดียวก็คือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ราคาของเหรียญถูกกำหนดโดยตลาดเสรี

ในขณะที่ธนาคารแบบดั้งเดิมอาจใช้เวลานานถึงหนึ่งสัปดาห์และเรียกเก็บเงินมากถึง 50 ดอลลาร์ สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ พวกเขาสามารถปฏิเสธการให้บริการแก่ธุรกิจที่พวกเขาไม่เห็นด้วย และรัฐบาลสามารถลดค่าสกุลเงินท้องถิ่นด้วยการพิมพ์เงินใหม่ออกมาได้เรื่อย ๆ

หลังจากการถือกำเนิดขึ้นของ Bitcoin ในช่วงปี 2011-2013 นักพัฒนาทั่วโลกได้เริ่มสร้างแอปพลิเคชั่นบน Bitcoin รวมถึงสำรวจการใช้งานอื่น ๆ เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์แบบกระจายอำนาจ สิทธิ์ในทรัพย์สิน ฯลฯ

ความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นกับโครงการต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผลักดันให้ Bitcoin มูลค่าสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์ และไปถึง 1,000 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในปี 2013 แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำมาใช้งานจริง ๆ จัง ๆ มากนัก และในไม่ช้าก็ทำให้ราคาของ Bitcoin ร่วงลงมาที่ 500 ดอลลาร์อีกครั้ง

แต่ชุมชน Bitcoin ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มที่มีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีหรือเศรษฐศาสตร์ พวกเขารวมตัวกันในฟอรัมออนไลน์ BitcoinTalk และ Reddit ซึ่งไม่สำคัญเลยที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักกันหรือไม่รู้จักชื่อจริงของกันและกันเลยด้วยซ้ำ แต่พวกเขามีเป้าหมายร่วมเดียวกัน

สำหรับพวกเขาเหล่านี้ Bitcoin เป็นมากกว่าเงินดิจิทัล มันแสดงถึงระบบความเชื่อ และฟอรัมเหล่านี้มักจะเป็นที่เดียวที่พวกเขารู้สึกอุ่นใจ และเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในเดือนมีนาคมปี 2011 ชุมชนได้สมาชิกใหม่ที่ชื่อ Vitalik Buterin อายุ 17 ปี และโพสต์แรกของเขาในฟอรัม BitcoinTalk กล่าวว่า :

“ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สะดวกในการจ่ายเงินน้อยกว่า 5 ดอลลาร์ ด้วยเครื่องมือทั่วไป เช่น บัตรเครดิต หรือ Paypal และมีวิธีที่ Bitcoin จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้”

ต้องบอกว่าเป็นโพสต์ที่ไม่มีความซับซ้อน แต่มันเป็นการแก้ไขปัญหาครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เขาจะเป็นชายที่สร้างผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของชุมชม Bitcoin นับตั้งแต่ที่ Satoshi Nakamoto ชายนิรนามที่เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ในปี 2008

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับชายที่ชื่อ Vitalik Buterin เข้ากำลังคิดสร้างอะไร แล้วมันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 2 : Crypto Anarchy

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Blog Series : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum

ต้องบอกว่าการก่อกำเนิดขึ้นของ Bitcoin นั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนสามารถถ่ายโอนเงินดิจิทัลข้ามทวีปโดยไม่ผ่านคนกลางในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที และปราศจากการเซ็นเซอร์

ไม่มีธนาคารกลางที่ออกเหรียญและกำหนดนโยบายการเงิน ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร ไม่มีผู้ที่ต้องมาประมวลผลที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนมากระหว่างการแลกเปลี่ยน ไม่มีการควบคุมสกุลเงิน มีเพียงสิ่งจำเป็นอย่างเดียวก็คือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ราคาของเหรียญถูกกำหนดโดยตลาดเสรี

มันได้เปลี่ยนวิธีที่บริษัทการเงินและกระแสหลักคิดเกี่ยวกับงานมากมายที่พวกเขาทำเบื้องหลัง สำหรับ Blog Series ชุดนี้จะนำเสนอเรื่องราวของชายที่ชื่อ Vitalik Buterin คนที่นำ Ethereum มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และวิธีที่พวกเขาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลก

หนังสืออ้างอิง
หนังสืออ้างอิง

โดยผมเรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือสามเล่ม คือ The Infinite Machine : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum โดย Camila Russo , Out of the Ether : The Amazing Story of Ethereum and the $55 Million Heist that almost Destroyed It All โดย Matthew Leising และ  This Machine Kills Secrets โดย Andy Greenberg รวมถึงแหล่งข้อมูลจากเว๊บไซต์ออนไลน์ต่าง ๆ ที่จะมาประกอบใน Blog Series ชุดนี้กันครับผมโปรดอย่าพลาดติดตามกันนะครับผม

–> อ่านตอนที่ 1 : Cypherpunks’ Freedom Dreams

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

หนังสือ The Infinite Machine : How an Army of Crypto-Hackers Is Building the Next Internet with Ethereum โดย Camila Russo

หนังสือ The Amazing Story of Ethereum and the $55 Million Heist that almost Destroyed It All โดย Matthew Leising

หนังสือ This Machine Kills Secrets โดย Andy Greenberg