ประวัติ Ethereum ตอนที่ 2 : Crypto Anarchy

Vitalik Buterin มักจะนั่งที่เดิม ๆ ในคลาสเรียนของศาสตราจารย์ Alfred Menezes ที่ University of Waterloo ในแคนาดาอยู่เสมอ และต้องบอกว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นทางเลือกที่ง่ายสำหรับเขา โดยเขาเริ่มเข้าเรียนในช่วงเดือนธันวาคมปี 2012 สิ่งที่อาจารย์ประทับใจในตัว Vitalik คือเรื่องราวที่เขาเล่าเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Bitcoin

ศาสตราจารย์ Menezes ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเข้ารหัสเชิงประยุกต์หลายเล่ม รู้สึกประทับใจกับความชัดเจน รู้จริงที่ Vitalik พูดเกี่ยวกับ Bitcoin

นอกจากการเรียนในระดับชั้นมหาวิทยาลัยแล้ว Vitalik ยังเป็นผู้ช่วยให้กับ Ian Goldberg นักเข้ารหัสที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนโปรโตคอล Off-the-Record ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายในการเข้ารหัสของแอปที่ใช้ในการส่งข้อความ

ต้องบอกว่า Vitalik เองแม้จะอายุน้อย แต่ตารางงานของเขานัันแน่นเอี๊ยดมาก จึงแทบไม่เหลือเวลาในการหาเพื่อนในชีวิตจริง ห่างไกลจากงานสังคม สังสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่นักศึกษามหาวิทยาลัยคนอื่นๆ เขาทำกัน

Vitalik จะใช้คอมพิวเตอร์ทำงานชั่วโมงแล้ว ชั่วโมงเล่า ที่มหาวิทยาลัยและที่บ้าน ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์ เขามักจะเปลี่ยนบรรยากาศที่ทำงานอยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องนั่งที่เดิม ๆ เป็นเวลาหลายวันติด ๆ กัน

เขาเป็นคนที่สนุกกับงาน แต่ก็ต้องการความสัมพันธ์แบบคนทั่ว ๆ ไป Vitalik ผู้มีดวงตาสีฟ้า พาตัวเองหลบอยู่ในโลกคอมพิวเตอร์ของเขา บางครั้งเขาก็พึมพำหรือหัวเราะกับตัวเองราวกับว่าเขาถูกขังอยู่ในความคิดของตัวเขาเอง บางครั้งเพื่อน ๆ อาจจะมองว่าเค้าเพี้ยน แต่เขาก็ได้ชุมชน Bitcoin ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในโตรอนโต คอยเยียวยาจิตใจเขา

ไม่ไกลจาก Vitalik ใน Waterloo Anthony Di Iorio ชาวโตรอนโตที่หมกมุ่นอยู่กับ Bitcoin เช่นเดียวกัน พยายามค้าหาชุมชนชาว crypto ในชีวิตจริง ซึ่งเขาต้องการพบปะพูดคุยตามประสาคนคอเดียวกันในพื้นที่ Waterloo เขาจึงได้สร้างกลุ่ม Meetup.com ขึ้นมา

การรวมตัวครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2012 ที่ Pauper’s Pub มีคนมาร่วมงานประมาณสิบกว่าคน ในหมู่คนที่มร่วมงาน มีเด็กวัย 18 ที่เพิ่งจบมัธยมปลายอย่าง Vitalik เข้าร่วมงานด้วย แต่เขาเอาแต่นั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่งหลังงอและแขนยื่นไปข้างหน้า โดยแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร เมื่อมีคนเข้ามาพูดด้วยดูเหมือน Vitalik จะตกใจเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ

ภายในปี 2012 Anthony พยายามศึกษาว่า “เงินคืออะไร’ จากวีดีโอบน Youtube รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เขาไปได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Bitcoin ครั้งแรกในรายการวิทยุ Free Talk Live และซื้อ Bitcoin หนึ่งเหรียญทันที ราคาในตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ สองสามวันต่อมาเขาซื้อเพิ่มอีก 800 เหรียญในราคาเท่าเดิม

ซึ่งหลังจากกระโจนเข้ามาสนใจกับ Bitcoin แบบเต็มตัว Anthony ก็ได้กลายเป็นชาว Bitcoiner สายฮาร์ดคอร์ ซึ่งได้มาเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะสังสรรค์ครั้งแรกของชุมชนชาว Bitcoin ในโตรอนโตที่ Pauper’s Pub

ในขณะที่ห่างออกไปหลายพันไมล์ Mihai Alisie ชายอีกหนึ่งคน ที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในภูมิภาคทรานซิลเวเนียของประเทศโรมาเนีย ซึ่งเขาเป็นคนสนใจในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Bucharest University of Economic Studies

เขาเป็นคนที่หลงใหลในการเล่นโป๊กเกอร์ และใช้โป๊กเกอร์ในการหารายได้เสริมให้กับตัวเอง แต่เขารู้ว่ามันเสี่ยง จึงหาข้อมูลทางออนไลน์เพื่อหาวิธีในการหาเงินด้วยวิธีอื่น

จนวันหนึ่งเขาได้ไปรู้จัก Bitcoin ผ่านเว็บโป๊กเกอร์ออนไลน์ เขาได้เริ่มหาข้อมูลทั้งหมดของ Bitcoin ใน Google Mihai เข้าใจดีว่านวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมของเทคโนโลยี blockchain สามารถตัดพ่อค้าคนกลาง และส่งเงินข้ามทวีปได้อย่างง่ายดาย มันเป็นแนวคิดที่ทรงพลังสำหรับผู้ที่เคยเห็นการทุจริตในประเทศของเขาเองมาตลอดชีวิต

โป๊กเกอร์ดูไร้ความหมายมากเมื่อเปรียบเทียบกัน เขาจึงตัดสินใจเลิกเล่น และมุ่งความสนใจไปที่ Bitcoin และแทนที่จะสร้างแพลตฟอร์มบางอย่างสำหรับชุมชมโป๊กเกอร์ เขาวาดฝันที่จะทำมันกับ Bitcoin แทน

ยิ่ง Mihai ค้นหาลึกเข้าไป เขาได้เข้าไปเจอกับชื่อของ Vitalik Buterin ที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งใน Bitcoin Weekly , Reddit รวมถึงในฟอรัม BitcoinTalk

Mihai Alisie ที่แปลกใจกับชื่อของ Vitalik ที่ปรากฏไปทั่วเกี่ยวกับข้อมูลของ Bitcoin (CR:Twitter)
Mihai Alisie ที่แปลกใจกับชื่อของ Vitalik ที่ปรากฏไปทั่วเกี่ยวกับข้อมูลของ Bitcoin (CR:Twitter)

Vitalik เป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแนวคิดที่มีความซับซ้อนของเทคโนโลยีของ Bitcoin ให้กลายเป็นคอลัมน์ที่อ่านง่ายสำหรับคนทั่วไป Mihai จึงตัดสินใจส่งอีเมลถึง Vitalik เพื่อถามว่าเขาสนใจที่จะสร้างนิตยสารเกี่ยวกับ Bitcoin โดยตรงหรือไม่

ซึ่งหนึ่งปีก่อนหน้านั้น Vitalik ได้เข้ามาท่องเว็บ BitcoinTalk และเสนอตัวในการเขียนบทความเพื่อแลกกับ Bitcoin และในไม่ช้าเขาได้กลายมาเป็นนักเขียนประจำของ Bitcoin Weekly

ในเดือนพฤษภาคมปี 2011 เขาเขียนเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคา Bitcoin ครั้งล่าสุด : “หลายคนสงสัยว่าทำไมราคาของ Bitcoin ถึงพุ่งสูงขึ้นกว่า 1,000% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จะเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนหรือเป็นเพียงแค่ฟองสบู่ของนักเก็งกำไรที่จะพังลงไปเมื่อใดก็ได้”

Vitalik กำลังสนุกกับตัวเอง และเขียนบทความในหัวข้อที่เขาสนใจเพิ่มมากขึ้น ได้รับค่าตอบแทน และกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือในกลุ่มผู้ศรัทธาในสกุลเงินดิจิทัล เมื่อได้รับข้อเสนอจาก Mihai เข้ามาในอีเมลของเขา เขาจึงตอบรับแทบจะทันที

Vitalik และ Mihai ไม่เคยเจอกันมาก่อน พวกเขาไม่เคยแม้แต่วีดีโอคอลหากัน มีการพูดคุยกันผ่าน Skype ว่านิตยสารจะมีหน้าตาอย่างไร พวกเขามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ พวกเขาจะเรียกสื่อของพวกเขาที่ทำร่วมกันว่า “Bitcoin Magazine”

โดยจะมีบทความเกี่ยวกับชุมชน Bitcoin ธุรกิจ และการตลาด และจะเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือให้กับนักข่าวในสื่อกระแสหลัก พวกเขาได้เชิญชวนผู้ที่ชื่นชอบ Bitcoin 2-3 คน ที่มีความคิดเหมือนกันผ่านฟอรัม BitcoinTalk เข้ามาร่วมในสื่อใหม่แห่งนี้

พวกเขาตัดสินใจว่าสถานที่เหมาะสมและถูกที่สุดที่จะเริ่มต้นธุรกิจจริง ๆ จัง ๆ ได้คือในสหราชอาณาจักร Mihai จะจัดการกับความยุ่งยากในการบริหารในขณะที่ทีมงานที่เหลือต้องเขียนบทความและออกนิตยสารฉบับแรกให้สำเร็จ

ปัญหาใหญ่คือเรื่องทุน เนื่องจาก Mihai เองก็ได้ใช้ทุนที่ได้จากการเล่นโป๊กเกอร์ไปหมดแล้ว Mihai จึงได้ขอให้แม่นำเอาของมีค่าทั้งเครื่องประดับ สร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนั้นเป็นชิ้นที่มีค่าที่สุดของเธอเพื่อให้เขานำไปจำนำ และเป็นทุนให้ Mihai ใช้เป็นตั๋วเครื่องบินและค่าที่พักในสหราชอาณาจักร

แผนแรกของ Mihai คือสร้างนิตยสารในรูปแบบ PDF โดยผู้อ่านสามารถบริจาคได้ผ่าน Bitcoin เพื่อสนับสนุน และเมื่อนิตยสารได้รับการติดตามจากผู้คนจำนวนมากพอ ก็จะมีโฆษณาติดต่อเข้ามา และท้ายที่สุดพวกเขาจะสามารถตีพิมพ์นิตยสารเป็นรูปเล่มได้

แต่หนึ่งในสมาชิกของทีมที่มีนามแฝงว่า Matthem N.Wright มองว่ามาฝันกันให้ใหญ่ไปเลย และเริ่มผลักดันให้ตีพิมพ์ตั้งแต่ฉบับแรก เขาได้พิมพ์สือสารกับทีมด้วยโปรแกรม Skype โดยที่เขาพยายามรวบรวมทีมที่อยู่เบื้องหลังการตีพิมพ์นิตยสารฉบับจริง แม้ว่าเขาจะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานเพียงเล็กน้อย

แต่เมื่อ Mihai ซึ่งเดินทางกลับไปที่โรมาเนีย หลังจากจดทะเบียนบริษัทในชื่อ Bittalk Media Ltd. ในสหราชอาณาจักรสำเร็จ ก็ต้องพบกับความประหลาดใจเมื่อเดินทางถึงบ้าน เมื่อข้อความหลายร้อยข้อความในกลุ่ม Skype ปรากฏขึ้น ขณะที่เขาเลื่อนลงมาเพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

เขาคลิกลิงก์ ที่เป็นข้อความใน Skype และขึ้นเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ว่า “ครั้งแรก นิตยสาร Bitcoin ฉบับตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว” โดยแถลงการณ์ระบุว่านิตยสารดังกล่าวจะเป็น นิตยสารเคลือบเงาขนาด 64 หน้ามาตรฐานอุตสาหกรรม โดยมีฉบับพิมพ์เริ่มต้นที่ 5,000 ฉบับ

Mihai ยังคงอ่านข่าวประชาสัมพันธ์ต่อไปด้วยความตกใจ:

“สมาชิกในสหรัฐอเมริกาจะได้รับนิตยสาร Bitcoin ฉบับแรกภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2012” ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากการแถลงข่าว “เวลาจัดส่งอาจแตกต่างกันไปสำหรับสมาชิกต่างประเทศ … และแน่นอนว่า Bitcoin เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับการชำระเงิน”

และเมื่อถึงต้อนปี 2013 มีงานประชุมใหญ่ที่เรียกว่า Bitcoin 2013 เกิดขึ้นที่ซานโฮเซ่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นงานเปิดตัวโลกของสกุลเงินดิจิทัล การประชุมในปีก่อนหน้ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 2-300 คน แต่ในปี 2013 มีคนนับพันเข้ามาร่วมงานเต็มห้องโถงการจัดงาน

ผู้มีชื่อเสียงในวงการ Bitcoin ล้วนเข้ามาร่วมงานใหญ่นี้ ฝาแฝด Winklevoss ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน บริษัทร่วมทุนเช่น Draper Associates และ Benchmark Capital ที่เป็นเจ้าพ่อแห่ง Silicon Valley ก็เข้ามาร่วมงาน ทุกคนต่างมีความสุขที่ราคาของ Bitcoin ก้าวข้ามหลักไมล์แรกที่ราคา 100 ดอลลาร์ ได้สำเร็จ

รวมถึงผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ ในวงการก็มากันครบครัน ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน BitInstant อย่าง Charlie Shrem เป็นหนึ่งในวิทยากร รวมถึง Roger Ver หรือที่รู้จักกันในชื่อ Bitcoin Jesus สำหรับความกระตือรือร้นของเขาในการเผยแพร่ข่าวสารของ Bitcoin รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ รวมทั้ง Tony Gallippi ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ BitPay และ Gavin Andresen ผู้พัฒนา Bitcoin ระดับแถวหน้า ที่เดินเตร่ไปทั่วห้อง

Vitalik เองก็เป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการด้วยการเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังนิตยสาร Bitcoin ซึ่งผู้อ่านที่ได้อ่านบทความของเขาก็แวะมาทักทายเขาอย่างเนื่องในงานนี้ เป็นครั้งแรกที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เริ่มโด่งดัง แต่ยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้เขารู้สึกเหมือนได้กับมารวมกลุ่มกับคนสายพันธุ์เดียวกันเขาอีกครั้ง

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงปิดภาคเรียนของ Vitalik พอดี Mihai จึงบอกเขาให้มาที่ยุโรปเพื่อทำงานในนิตยสาร Bitcoin ด้วยกัน รวมถึงโครงการใหม่ที่ชื่อ Egora

สถานการณ์ในตอนนั้น Bitcoin ยังใช้งานจริง ๆ ได้ไม่ดีเท่าที่ควรในการใช้เป็นเพื่อเป็นเงินสดในรูปแบบดิจิทัล แต่แน่นอนว่ามันได้กลายเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้ใน Dark Web ซึ่งขายสินค้าผิดกฏหมาย และภายในปี 2013 สกุลเงินนี้ก็ได้เข้าครอบงำเว็บไซต์ Silk Road ที่ขายยาเสพติดเป็นหลัก

แต่เป้าหมายของผู้สนับสนุน Bitcoin ที่แท้จริงก็คือ การค้าออนไลน์กระแสหลักเพื่อนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ ดังนั้นศักยภาพของ Bitcoin จึงสามารถเป็นระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบ P2P ที่ได้รับการยกย่องใน white paper ของ Satoshi Nakamoto

Mihai ได้เริ่มสร้าง Egora ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่มีจุดมุ่งหมายให้เป็น eBay แบบกระจายอำนาจ ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายจะไม่ต้องพึ่งพาตัวแพลตฟอร์มเอง เงินจะถูกส่งไปยังบัญชีที่เก็บไว้ในบัญชีแยกประเภทแบบกระจายอำนาจแทน เงินจะถูกปล่อยออกมาเมื่อผู้ซื้อและผู้ขายปลดล็อกบัญชีเท่านั้น

หลังจากได้ทำงานร่วมกันในนิตยสาร Bitcoin ผ่าน Skype ได้สองปี ในที่สุด Vitalik และ Mihai ก็ได้พบกันที่บาร์เซโลนา Amir Taaki นักพัฒนา Bitcoin คนสำคัญ โน้มน้าวให้พวกเขาทั้งคู่มาร่วมที่ Calafou ชุมชนอนาธิปไตยใกล้บาร์เซโลนา พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมทันที เพราะราคาถูกและหวังว่าจะได้พบเจอกับบุคคลที่น่าสนใจที่มีค่านิยมที่สอดคล้องกันที่ต้องการปลดแอกจากการควบคุมของรัฐบาล

 Amir Taaki นักพัฒนา Bitcoin คนสำคัญ โน้มน้าวให้พวกเขาทั้งคู่มาร่วมที่ Calafou (CR:Quartz)
Amir Taaki นักพัฒนา Bitcoin คนสำคัญ โน้มน้าวให้พวกเขาทั้งคู่มาร่วมที่ Calafou (CR:Quartz)

Calafou เริ่มต้น โดย Enric Duran นักต่อต้านทุนนิยมชาวสเปน Duran มีชื่อเสียงโด่งดังจากการที่เขาได้ยืมเงินจากธนาคารหนึ่งเพื่อจ่ายกู้กับอีกธนาคารหนึ่ง และทำไปเรื่อย ๆ จนสามารถยืมเงินจากธนาคารได้ถึง 492,000 ยูโรจากธนาคาร 39 แห่ง

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปี 2008 เมื่อโลกเต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจและสเปนได้รับผลกระทบอย่างหนัก Duran ได้ตีพิมพ์แผ่นพับประนามการกระทำของธนาคาร โดยเขาได้รับเงินครึ่งล้านยูโร โดยแทบไม่มีการค้ำประกัน และบางครั้งก็ใช้เอกสารปลอม ซึ่ง Duran ได้เผยให้เห็นความเน่าเฟะของระบบธนาคารว่ามันส่งเสริมการเป็นหนี้ได้ง่ายขนาดไหน โดยแทบไม่สนใจความเสี่ยงและสามัญสำนึกเลยด้วยซ้ำ

Vitalik และ Mihai ได้เข้ามาทำงานที่ “hacklab” ของ Calafou โดยประกอบไปด้วยโต๊ะสองสามโต๊ะรวมกันในมุ่มหนึ่งของห้อง คอมพิวเตอร์และมอนิเตอร์ รวมถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดย hacklab อยู่ในอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโรงงานที่ถูกทำลายทิ้งไปนานแล้ว ห้องต่าง ๆ กลายเป็นคอนกรีตแบบเปลือย โดยแทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ เลย

สำหรับ Vitalik สิ่งที่แย่ที่สุดเกี่ยวกับ Calafou คือ ห้องน้ำ มันอยู่นอกอาคารที่มีรูอยู่บนพื้น มีทั้งแมลงเต็มไปหมด และแทบไม่มีกระดาษชำระ บางครั้งทำให้เขาต้องยอมแพ้และเดินออกไปในป่า เขานอนบนฟูกที่บางจนสัมผัสได้ถึงพื้นที่อยู่ข้างล่างจริง ๆ

แต่เขาก็ชอบที่นี่ มันคือกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันเขา พูดคุยกันรู้เรื่อง ไม่ต้องคอยหลบหน้าหลบตาคนเหมือนอยู่ที่ Waterloo ที่บ้านเกิดของเขา ซึ่งตัว Vitalik เองก็ชอบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เมื่อเขาหยุดพักการทำงานในโปรเจ็ค Egora หรือ การพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของ Cryptocurrencies เขาจะออกไปเดินเล่นไกล ๆ ด้วยร่างกายที่บอบบางของเขา เขาจะหายไประหว่างต้นไม้ ใบไม้ก็ร่วงหล่นลงที่รองเท้าผ้าใบของเขา ในขณะที่เขาปลีกวิเวกออกไปครุ่นคิดว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต

หลังจากเขาอาศัยอยู่ใน Calafour ได้ประมาณ 2 เดือน Vitalik ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ เขาได้ส่งอีเมลถึงมหาวิทยาลัยเพื่อบอกว่าเขาต้องการดรอปเรียนเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อทำงานในโครงการสกุลเงินดิจิทัลแบบเต็มตัว และหลังจากนี้เป็นต้นไปชีวิตของเขาจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในการดรอปเรียนเพื่อทำตามความฝันของเขาในเส้นทาง crypto ในครั้งนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 3 : The Swiss Knife

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube