Billion Dollar Loser ตอนที่ 6 : Greater Fools

ต้องบอกว่าการสร้างบริษัททางด้านซอฟต์แวร์ อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ Benchmark ต้องทุ่มเงินจำนวนมากให้ WeWork ใช้ในการลงทุนเซิร์ฟเวอร์ จ้างพนักงานด้านไอที รวมถึงเม็ดเงินสำหรับการเปิดสำนักงานให้เช่าแห่งใหม่

WeWork ไม่ใช่บริษัท ซอฟต์แวร์ ค่าใช้จ่ายในการเช่า การปรับปรุงสถานที่ และการดำเนินงานประจำวันนั้นสูงมาก และต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ทันกับการเติบโต

Adam มีแนวโน้มที่จะเปิดสำนักงานใหม่ ๆ ในปี 2014 มากกว่าที่เคยทำใน 4 ปีแรก เช่นเดียวกับความหวังที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนรายใหญ่ที่มีต่อธุรกิจ WeWork

ซึ่งเมื่อพา WeWork มาไกลถึงเพียงนี้แล้ว Adam เองก็ไม่ยอมถอยง่าย ๆ การที่บริษัทจะขยายออกไปอีก Adam ก็จำเป็นต้องออกไปหาเงินเพิ่ม ทีมงานของ WeWork ได้เริ่มรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับบริษัท เพื่อเสนอให้กับนักลงทุนในวงกว้างมากขึ้น

เริ่มมีข้อเสนอมาจากนักลงทุนใหม่ Goldman Sachs ยินดีที่จะลงทุน 220 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่ Benchmark ลงทุนในครั้งแรกถึงสองเท่า แต่ Adam คิดว่าตัวเลขนี้มันต่ำเกินไป ในตอนนั้น Airbnb กำลังทำข้อตกลงที่มีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

ความเชื่อของ Adam นั้นเป็นผล ไม่นานหลังจากปฏิเสธข้อตกลงจาก Goldman Sachs WeWork ได้ระดมทุน 40 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนนำโดย DAG Ventures รวมถึงเงินทุนเพิ่มเติมจาก Benchmark ทำให้ WeWork กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 440 ล้านดอลลาร์

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากการลงทุนรอบล่าสุด JPMorgan Asset Management และนักลงทุนรายอื่น ๆ ได้ลงทุนเพิ่ม 150 ล้านดอลลาร์ ทำให้มูลค่าบริษัทเพิ่มสูงเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ และนั่นเองที่ทำให้ WeWork กลายเป็นบริษัท Unicorn น้องใหม่ของอเมริกาได้สำเร็จ

มูลค่า WeWork เพิ่มขึ้นจากการระดมทุนสู่ Unicorn ได้สำเร็จ (CR:IPWatchdog.com)
มูลค่า WeWork เพิ่มขึ้นจากการระดมทุนสู่ Unicorn ได้สำเร็จ (CR:IPWatchdog.com)

ในปี 2014 Benchmark ได้นำตัว Luca Gualco ซึ่งเคยช่วยขยายธุรกิจให้ Uber ในระดับสากล ให้มาเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ WeWork เพื่อช่วยเหลือ Adam ในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ

เรียกได้ว่า WeWork กำลังอยู่ในเส้นทางที่สดใส ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก ซึ่งหลังจากนั้นมีการลงทุนในรอบ Series D ที่ทำให้ WeWork กลายเป็นหนึ่งใน Unicorn ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกแซงหน้า Spotify และตามหลัง Theranos เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Adam และ Miguel ได้เก็บหุ้นของพวกเขาไว้ในนามนิติบุคคลที่เรียกว่า We Holdings ซึ่ง Adam เป็นคนคอยควบคุมอยู่ และได้ขายหุ้นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ออกไป ซึ่งต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก ๆ ที่ Adam ได้ปล่อยหุ้นออกไปจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ในขณะที่บริษัทกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

แต่ต้องบอกว่า เขายังมีคะแนนโหวต 65% ของคณะกรรมการบริษัทอยู่ ที่เขายังสามารถควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากรูปแบบของหุ้น supervoting

หุ้น “supervoting” ดังกล่าว ได้รับความนิยมใน Silicon Valley ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมบริษัท Mark Zuckerberg ได้เจรจาข้อตกลงในลักษณะเดียวกัน เช่นเดียวกับ Travis Kalanick แห่ง Uber

ถึงสิ้นปี 2014 WeWork มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ ในทางตรงกันข้ามบริษัทอย่าง Regus อดีตฟันเฟืองสำคัญในธุรกิจ Startup ที่เฟื่องฟูในยุค 90 และเกือบต้องล้มละลายเมื่อเกิดฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่กลายเป็น IWG – International Workplace Group

ต้องบอกว่า IWG นั้นเป็นธุรกิจที่คล้าย ๆ กับ WeWork แต่มันดูไม่ Sexy เหมือน WeWork มันกลายเป็นธุรกิจที่น่าเบื่อ แม้ว่า IWG จะมีสำนักงานให้เช่ามากกว่าสองพันแห่งที่สร้างรายได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเรียกได้ว่านำห่างสิ่งที่ WeWork มีอยู่มาก ที่ตอนนั้น WeWork สร้างรายได้เพียงแค่ 150 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่มูลค่าบริษัทกลับสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์

แม้ WeWork จะทำสิ่งที่แตกต่างจาก IWG อย่างชัดเจน มีการสร้างสีสัน และเป็นมิตรกับเหล่าผู้เช่า พร้อมทะยานไปกับเหล่า Startup ที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลก แต่ IWG ส่วนใหญ่เป็น office สำนักงานใช้จริง และ ดูล้าสมัย แต่พวกเขาก็ทำเงินได้จริงเฉกเช่นเดียวกัน

นั่นทำให้ Adam ต้องการความช่วยเหลือเมื่อ WeWork ต้องเริ่มเข้าหานักลงทุนรายใหญ่ Adam ได้ว่าจ้าง Michael Gross ซึ่งเข้ามาแทนที่ Ariel Tiger อดีตเพื่อนในกองทัพเรือของเขาในตำแหน่ง CFO ของ WeWork

Michael Gross มือดีที่ Adam ได้มาช่วยในการระดมทุนครั้งใหญ่ (CR:crainsnewyork.com)
Michael Gross มือดีที่ Adam ได้มาช่วยในการระดมทุนครั้งใหญ่ (CR:crainsnewyork.com)

ความพยายามในการระดมทุนของ Adam และ Gross เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของบริษัท ในขณะที่ Miguel นั้น เป็นคนดูแลในเรื่องสำนักงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท ให้เป็นที่สนใจของนักลงทุน

Miguel นั้นเชื่อมั่นในบริษัท และคุณภาพของสิ่งที่พวกเขากำลังก่อสร้าง แต่เขาไม่ได้มีความสามารถแบบ Adam ที่มีความทะเยอะทะยานอันยิ่งใหญ่

แต่ต้องบอกว่า อสังหาริมทรัพย์ นั้นมันแตกต่างจากธุรกิจแพล็ตฟอร์มในโลกของเทคโนโลยี มันไม่มีพลังของ Network Effect ที่ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ กลืนกินอุตสาหกรรมทั้งหมดแบบที่บริษัทเทคโนโลยีทำได้ แม้แต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็มีสัดส่วนการตลาดแค่ 1% เพียงเท่านั้น

เมื่อ Adam เข้าหานักลงทุนด้านเทคโนโลยี เขาเน้นย้ำถึงเงินที่สามารถทำได้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2015 Adam ได้นำเสนอแนวทางใหม่ : WeWork จะเป็นบริษัทชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ sharing economy ซึ่ง WeWork ต้องการ Economy of scale เพื่อบีบให้มีผู้เช่าจ่ายเงินเงินมากขึ้นได้

แต่ปัญหามันได้เริ่มเกิดขึ้น ในปี 2015 เพียงไม่กี่เดือนหลังจาก WeWork ได้รับการลงทุนใน Series D ทีมการเงินเริ่มเข้าหานักลงทุนเกี่ยวกับการเพิ่มทุนอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่า WeWork ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าของจำนวนเงินต่อตารางฟุตเลยทีเดียว

ในบรรดาบริษัทที่พิจารณาการลงทุน หนึ่งในนั้นคือ Softbank ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทของญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทร่วมทุนขนาดเล็กในอเมริกา นักลงทุนรายหนึ่งในนิวยอร์กแนะนำ WeWork ให้กับ Softbank ที่อาจต้องการวางเดิมพันก้อนใหญ่

แต่เรื่องราวของ WeWork มันแทบไม่ถึงหูของ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งของ Softbank เลยในตอนนั้น เพราะ Softbank มองไม่เห็นว่า WeWork เกี่ยวข้องกับบริษัททางด้านเทคโนโลยีอย่างไร การตอบสนองจาก Softbank เป็นไปในทางลบเป็นอย่างมาก

ในเดือนมิถุนายมปี 2015 Glade Brook , Fidelity และนักลงทุนอีกหลายคน ได้ร่วมลงทุน 434 ล้านดอลลาร์ใน Series E ของ WeWork ด้วยการประเมินมูลค่าที่สูงกว่า IWG ที่มีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนมากกว่า 3 เท่า

การประเมินมูลค่ารอบใหม่ทำให้นักลงทุนกลุ่มแรก ๆ ร่ำรวยกันไปตาม ๆ กัน แต่ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวัลภายใน

“นี่เป็นตัวเลขที่โง่มาก” สมาชิกคนหนึ่งในทีมการเงินของ WeWork กล่าวในการประชุมกับ Adam และผู้บริหารอื่น ๆ เกี่ยวกับข้อตกลงในรอบการลงทุน Series E

นักลงทุนต่างร้สึกทึ่งกับการเติบโตของรายได้บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ ปี โดยพวกเขาเลือกมองข้ามความเป็นจริงที่ว่า ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

แม้มูลค่าบริษัทจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่สวัสดิการของพนักงาน WeWork เองดูเหมือนจะไม่พัฒนาขึ้นมาเลย เหล่าคนงานทำเงินได้ 11 เหรียญต่อชั่วโมง โดยไม่มีสวัสดิการใด ๆ ในขณะที่ภารโรงในนิวยอร์กส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงมากกว่า 20 เหรียญพร้อมกับสวัสดิการที่ดีกว่ามาก

และนั่นเองที่ทำให้ WeWork ต้องมาเจออีกหนึ่งปัญหาใหญ่นั่นก็คือ สหภาพแรงงาน ที่ได้กลายเป็นตัวแทนของคนงานในไซต์ก่อสร้างและการจัดการอาคารต่าง ๆ ของบริษัท ที่กำลังก่อตัวขึ้น และ Adam เองก็ไม่ชอบมันเป็นอย่างมาก

แต่ WeWork หลีกหนีสหภาพแรงงานเหล่านี้ โดยว่าจ้าง UA Builders ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโลกแห่งการก่อสร้างในนิวยอร์กที่หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานที่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงานแทน ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาเริ่มหมักหมมขึ้นเรื่อย ๆ

ในช่วงฤดูร้อนปี 2015 WeWork ได้ว่าจ้างพนักงานใหม่มากกว่า 30 คนทุกสัปดาห์ ซึ่งคิดเป็น 10 เท่าของจำนวนคนที่เข้ามาใหม่ และพนักงานก็ลาออกอย่างต่อเนื่อง แม้ Adam จะพยายามขายฝันของเขาหลอกล่อให้คนเข้ามาทำงานใหม่ได้เรื่อย ๆ ก็ตามที

และตัว Adam เอง ก็มักไปทะเลาะกับพนักงานอยู่เป็นประจำ เขาไล่คนทำความสะอาดคนหนึ่งที่ชี้หน้าด่า Adam ว่า เขาเป็นมหาเศรษฐีบนกระดาษ

เหล่าพนักงานภายในเริ่มสุมหัวกัน วิจารณ์นโยบายต่าง ๆ ของ WeWork ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ รายได้ หรือแม้กระทั่งการแบ่งแยกทางเพศ ที่ผู้ชายมักได้รับโอกาสมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

ดูเหมือนว่า เมื่อถึงปี 2015 แม้จะระดมทุนได้จำนวนมหาศาล แต่ปัญหาภายในกำลังรุมเร้า WeWork และ Adam มากขึ้นเรื่อย ๆ และ การจะเติบโตต่อไปได้นั้น ก็ต้องการเงินลงทุนเพิ่ม

ต้องบอกว่า WeWork ไม่สามารถเติบโตได้เหมือนธุรกิจแพล็ตฟอร์ม และดูเหมือนมันใกล้จะถึงทางตันเต็มที่แล้ว หากไม่สามารถหาเงินทุนมาต่อยอดออกไปเรื่อย ๆ ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Adam และ WeWork โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Last Breath

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Billion Dollar Loser ตอนที่ 5 : Digital Transformation

Brad Neuberg วิศวกรซอฟต์แวร์ในซานฟรานซินโก เป็นบุคคลแรก ๆ ที่บัญญัติศัพท์คำว่า “Co-Working” ขึ้นมา โดยในปี 2005 เขาพยายามหาสิ่งที่เป็นสมดุลระหว่างชีวิตในออฟฟิสที่น่าเบื่อ และ ความสันโดษของอาชีพอิสระ

ในยุคนั้น Starbucks ยังไม่ได้เปิดให้บริการ Wi-Fi ฟรีแต่อย่างใด นั่นทำให้ Neuberg ต้องการบางสิ่งบางอย่าง รูปแบบคล้าย ๆ กับร้านกาแฟ ซึ่งผู้คนได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในขณะที่ทำธุรกิจไปด้วย

ซึ่งในปี 2005 Neuberg ได้เริ่มเชิญนักแปลอิสระคนอื่น ๆ มาทำงานนอกสถานที่ ที่เขาขอเช่ามาในราคา 300 ดอลลาร์ต่อเดือน

เหล่าผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาหลังจากที่เขาแจกใบปลิวในร้านกาแฟ หนึ่งในนั้นคือ Chris Messina นักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้ซึ่งเป็นคนคิดค้นฟังก์ชั่น hashtag ของ Twitter

ในปี 2006 Messina , Neuberg และ Tara Hung ซึ่งทำงานด้านการตลาดได้เปิดพื้นที่ถาวรที่เรียกว่า Teh Hat Factory โดยได้ดำเนินการจากอพาร์ทเมนต์ไต้หลังคาโดยมีผ้าปูเตียงแขวนจากเพดานเป็นตัวกั้นห้อง

หลังจากนั้น Coworking Space เริ่มเปิดให้บริการทั่วประเทศไม่กี่เดือนก่อนที่ Green Desk จะเปิดให้บริการในปี 2008 ที่ Adam อ้างว่า เขาไม่เคยเห็นรูปแบบของ Coworking Space มาก่อน

ต้องบอกว่า เงินทุนส่วนหนึ่งของ WeWork มาจาก Rebekah ภรรยาของ Adam ผู้ซึ่งลงทุนส่วนหนึ่งในช่วง Seed Round มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับสามีของเธอ ซึ่ง ตัวของ Rebekah นั้นเป็นคนที่มีฐานะอยู่แล้ว แถมยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ Gwyneth Paltrow ดาราชื่อดังจากฮอลลีวูด

Rebekah นั้นไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากนักกับ WeWork ในช่วงแรก ๆ แต่เธอเป็นคนที่มีอิทธิพลเหนือตัว Adam เป็นอย่างมาก บางครั้งพนักงานของ WeWork ต้องอาศัย Rebekah ช่วยโน้มน้าว Adam ในเรื่องงานของบริษัท

ในปี 2011 Adam ได้บุกไปยังยุโรป ผู้ช่วยของ Adam ได้ติดต่อกับ Jean-Yves Huwart ผู้จัดประชุมงาน Coworking Europe ประจำปีชาวเบลเยียม เพื่อแจ้งให้เขาทราบว่า WeWork คือผู้ให้บริการ Coworking Space ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

แต่ Huwart เองแทบจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ WeWork มาก่อนเลย ต้องบอกว่า Coworking เป็นอุตสาหกรรมที่แยกออกจากกัน ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อยเกือบทั้งหมด ดังนั้น Huwart จึงไม่เชื่อว่า บริษัทใด ๆ จะเป็นเจ้าตลาด Coworking ได้แบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอเมริกา

แต่ไม่กี่เดือนต่อมา Huwart ก็ได้มาพบกับ Adam ในนิวยอร์ก ที่สถานที่ใหม่ล่าสุดของ WeWork บริเวณ Varick Street

บริเวณที่ตั้งของ Varick มีพื้นที่เปิดโล่งหลายแห่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ WeCross เป็นพื้นที่ผสมผสานระหว่างสถาปนิกกับนักออกแบบ WeWork Labs เป็นพื้นที่สำหรับการเริ่มต้น Startup ด้านเทคโนโลยี

สถานที่แห่งนี้มีโต๊ะทำงาน 700 ตัว และเป็นสำนักงานแบบเปิดโล่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ Huwart เคยเห็นมา ซึ่งเมื่อพวกเขาได้พบกัน Adam บอกกับ Huwart ว่า เขากำลังวางแผนเดินทางไปอิสราเอล ซึ่งเขาหวังว่าจะไปเริ่มต้นเปิดพื้นที่ให้เช่าแห่งแรกที่นั่น

Huwart ถึงกับเอ่ยปากชวน Adam ให้แวะมาที่เบลเยียมบ้านเกิดของเขา แล้วมาลองดูลู่ทางในการทำธุรกิจร่วมกัน ก่อนที่ Adam จะเดินทางไปอิสราเอล

โดยทั้ง Adam และ Huwart มีแผนการที่ต้องมุ่งหน้าไปยังเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เพื่อเข้าร่วม GCUC ซึ่งเป็นการประชุม Global Coworking Unconference ซึ่ง GCUC นั้นเป็นการรวมตัวกันของผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้จากทั่วโลก

Global Coworking Unconference การรวมตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใหม่นี้ (CR:cloudvo.com)
Global Coworking Unconference การรวมตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใหม่นี้ (CR:cloudvo.com)

Adam ได้รับเชิญมาเป็นแขกในงานปาร์ตี้ที่ W Hotel ในธีม “A Celebration of Amarican Start-ups”

ซึ่งต้องบอกว่า Adam ได้เริ่มกลายเป็นคนดังในวงการของ GCUC โดยไม่นานมานี้ WeWork ได้ขยายไปยังชายฝั่งตะวันตก โดยเริ่มจากแถบ ซานฟรานซิสโก เขาเริ่มได้มีโอกาสพูดในที่สาธารณะหลายครั้งในฐานะตัวแทนของ WeWork

Adam ได้กลายเป็นหนึ่งในคนที่มีสเน่ห์ที่สุดบนเวที และได้รับคำชมจากเหล่าคณะกรรมการ เขาบอกว่าตอนแรกเขาไม่แน่ใจว่าจะมาที่ GCUC ดีหรือไม่ เพราะล้วนแล้วมีแต่คู่แข่ง แต่เขากลับมองมันเป็นโอกาสในการหาหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ

“เรากำลังวางแผนที่จะขยายไปทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้ แทนที่จะเปิดสถานที่ทั้งหมด เราอยากเป็นพาร์ทเนอร์กับพวกคุณบางคน … มาร่วมกันสร้างชุมชนที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” เขากล่าว พร้อมเสียงปรบมือ โห่ร้อง จากกลุ่มผู้คนในงานประชุม

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2012 แม้ธุรกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ดูเหมือน Adam เองยังไม่พอใจกับอัตราการเติบโตดังกล่าว เขารู้สึกอิจฉาบริษัทเทคโนโลยีที่ได้เงินทุนมหาศาล และเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ของเขาเป็นอย่างมาก

นั่นเองที่ในปีนั้น Adam ได้บอกกับเหล่าฝูงชน ที่เข้ามาร่วมฉลองวาระครบรองสองปีที่ก่อตั้งบริษัทว่า บริษัทของเขาจะไม่ใช่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป แต่จะเป็นบริษัทที่เชื่อมต่อกับบริษัทชั้นนำที่เกิดจากซิลิกอน วัลเลย์แทน

“เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เราจะป็น ‘เครือข่ายสังคมออนไลน์’ แห่งแรกของโลก” เขากล่าว

แต่ต้องบอกว่าดูเหมือนว่าธุรกิจของ WeWork จะไม่ได้มีส่วนร่วมจริง ๆ กับบริษัททางด้านเทคโนโลยีมากนัก ซึ่งอาณาจักรของบริษัทเทคโนโลยีในปี 2010 ได้แก่ Facebook , Twitter , Uber , Airbnb ถูกสร้างขึ้นบนแพล็ตฟอร์ม และ ใช้พลังของ Network Effect ที่ทำให้ผู้ใช้แต่ละรายมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

ช่วงปี 2010 มีสิ่งจูงใจมากมายสำหรับ Adam ในการนำเสนอ WeWork ในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในขณะที่เขาแทบจะไม่มีปัญหาในการหาเพื่อนร่ำรวยในนิวยอร์กที่สามารถลงเงินไม่กี่ล้านดอลลาร์ในบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ของเขา แต่เขามองว่ามันเป็นเงินน้อยนิดมาก ๆ เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี

เขาสามารถโน้มน้าวนักลงทุนว่า บริษัทของเขามีมูลค่าถึง 5 เท่าของรายได้ที่ WeWork ทำได้ในขณะนั้น แต่ในขณะที่เหล่าผู้ก่อตั้งบริษัททางด้านเทคโนโลยีสามารถการันตีการเติบโตแบบทวีคูณจากเครือข่ายที่พวกเขากำลังสร้าง ซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 10 หรือ 20 เท่าได้เลยด้วยซ้ำ

แต่ก็ต้องบอกว่าโดยพื้นฐานส่วนตัวแล้วนั้น Adam แทบจะไม่รู้วิธีการเขียนโค้ด ในความเป็นจริงเขาแทบไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ Adam ปล่อยให้ Rebekah และผู้ช่วยจัดการกับอีเมล์ส่วนใหญ่ของเขา

ต้องบอกว่า WeWork ยังมีหนทางที่ยาวไกลในการก้าวไปสู่การเป็นบริษัทด้าน เทคโนโลยี ที่ WeWork แทบไม่มีใครเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แม้กระทั่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ยังขาด ๆ หาย เลยเสียด้วยซ้ำในตอนนั้น

WeWork ได้ลองพยายามสร้างบริการที่มีชื่อว่า WeConnect ที่จะเป็น คาเฟ่ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด และ กาแฟระดับไฮเอนด์ ไม่เพียงช่วยให้พิมพ์เอกสารและจองห้องประชุมได้ง่ายขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่แท้จริงอีกด้วย

WeWork ได้พยายามทำให้เหล่าผู้เช่าที่เป็นนักธุรกิจมีการเชื่อมต่อกัน ไม่ใช่แค่เพียงทางกายภาพผ่านสถานที่เท่านั้น ตัวอย่างเช่น WeConnect มีขึ้นเพื่อให้นักบัญชีสามารถเชื่อมต่อกับนักออกแบบกราฟฟิกที่สถานที่ตั้งใหม่ของ WeWork ใน West Hollywood หรือกับสมาชิก WeWork คนอื่น ๆ จากจำนวนทั้งหมด 3,000 คนได้

แต่ด้วยความอ่อนด้อยด้านเทคโนโลยี แม้ตัว Miguel เองจะมีทักษะการเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐานจาก Startup ตัวแรกของเขาอย่าง Englist Baby! ก็ตามที

แต่ในการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของบริการอย่าง WeConnect พวกเขาก็ต้องพบกับความสยดสยองของโลกเทคโนโลยี เมื่อต้องใช้เวลาหลายนาทีในการโหลดหน้าโปรไฟล์เพียงหน้าเดียวเท่านั้น

ภายในปี 2013 แทบไม่มีสมาชิก WeWork ใช้เครือข่าย WeConnect อย่างจริงจัง แม้ WeWork จะมีข้อดีที่สามารถเดินไปตามห้องโถงและพบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ แต่ประโยชน์ของการรู้จักสมาชิก WeWork ทุกคนนั้นยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ และไม่มีการเชื่อมต่อกับแบบดิจิตอลเลยด้วยซ้ำ

Adam เริ่มถูกกดดันจากนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนใน WeWork อย่าง Benchmark ที่ต้องการให้ WeWork เติบโตมากขึ้นกว่านี้ บริษัทได้รับเงินลงทุน 16.5 ล้านดอลลาร์ในการระดมทุนในรอบ Series A ทำให้บริษัทมีมูลค่าพุ่งไปถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหล่าพนักงานจำนวนมากของ WeWork ต่างเฉลิมฉลองกับก้าวแรกของความสำเร็จของ WeWork ในครั้งนี้ แต่ต้องบอกว่าเงินทุนที่เข้ามาใหม่ มาพร้อมกับความคาดหวังที่มากขึ้น WeWork ได้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งมี Bruce Dunlevie ผู้ร่วมก่อตั้ง Benchmark เข้ามาเสริมทัพ

Bruce Dunlevie จาก Benchmark Capital เข้ามาลงทุน Series A ให้กับ WeWork (CR:investor.com)
Bruce Dunlevie จาก Benchmark Capital เข้ามาลงทุน Series A ให้กับ WeWork (CR:investor.com)

แต่ Adam ก็ยังมั่นใจว่าบริษัทของเขา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สิ่งแรกที่ Adam และ Miguel มองเห็นคือ การสร้างซอฟต์แวร์ภายในเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำเสนอ WeWork ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี และเพื่อค้นหาวิธีการทำงานหรือวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ

พวกเขาฝันไกลไปถึงขนาดที่ว่า เครือข่ายสมาชิกจะอนุญาตให้พวกเขาขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้กับสมาชิกได้ ตั้งแต่แผนการดูแลสุขภาพไปจนถึงการสมัครสมาชิกซอฟต์แวร์ลดราคา ซึ่งเมื่อมีสมาชิกในเครือข่ายจำนวนมาก WeWork สามารถทำกำไรจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานในเครือข่ายมากพอนั่นเอง

มาถึงตอนนี้ WeWork กำลังจะ Transform ตัวเองจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ สู่บริษัทเทคโนโลยีแบบเต็มตัวแล้ว ด้วยเงินทุนที่เข้ามาอัดฉีด ดูเหมือน Adam ยังมั่นใจในวิสัยทัศน์ใหม่ของเขา แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ WeWork พวกเขาจะสามารถผลักดันตัวเองให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างที่ Adam ฝันไว้ได้หรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Greater Fools

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Billion Dollar Loser ตอนที่ 4 : WeWork – Revolution at Work

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโปรเจค Green Desk มันก็ถึงเวลาที่ทั้ง Adam และ Miguel ต้องมาลุยเต็มตัวกับโปรเจคนี้ เพราะพวกเขากำลังมองเห็นอนาคตบางอย่างกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่

สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำก็คือการตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ ให้หลีกหนีพ้นร่มเงาของเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่พวกเขาไม่ได้ต้องการให้ธุรกิจของเขาเป็นแบบนั้นตั้งแต่แรก

หลังจากหลายเดือนของการระดมความคิดกับทีมงานที่ไร้ผล Andrew Finkelstein ชายผู้ที่เป็นคนแนะนำให้ Adam รู้จักกับ Rebekah แฟนสาวของเขาได้โยนความคิดออกไปอย่างนึง นั่นก็คือ “WeWork” โดย Finkelstein กล่าวว่า “มันคือ WeLive มันคือ WeSleep มันคือ WeEat”

มันเป็นชื่อที่สนใจจน Adam และ Miguel ต่างคล้อยตาม พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะถอยจากโปรเจค Green Desk และมาร่วมกันเริ่มต้นใหม่กับ WeWork แบบเต็มตัว

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองหาอาคารในแมนฮัตตันที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงตกต่ำจากวิกฤติทางด้านการเงินตั้งแต่ปี 2008

โลกแห่งเทคโนโลยีกำลังเร่งเข้ามาแทนที่ Wall Street ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญใหม่ของความทะเยอทะยานทางธุรกิจของชาวอเมริกัน Coworking Space กำลังปรากฏขึ้นทั่วในเมืองใหญ่ เช่น ในนิวยอร์ก หรือ ซานฟรานซิสโก

Coworking Space กำลังปรากฏขึ้นทั่วในเมืองใหญ่ทั่วอเมริกา (CR:medium.com)
Coworking Space กำลังปรากฏขึ้นทั่วในเมืองใหญ่ทั่วอเมริกา (CR:medium.com)

เหล่าฟรีแลนซ์ที่ใช้แล็ปท็อปได้เช่าโต๊ะทำงานในพื้นทีที่ใช้ร่วมกันด้วยความสวยงามแบบ DIY ความหวังของ Adam และ Miguel คือการผสมผสานระหว่างการเปิดกว้างและโลกที่คลุมเครือของสำนักงานแบบดั้งเดิม

ในช่วงฤดูใบร่วงปี 2009 เพื่อนคนหนึ่งแนะนำ Adam ให้ดูอาคารที่ 154 Grand Street ย่านโซโห มันเป็นย่านที่มีตึกระฟ้าระดับคลาส A+ ไปจนถึงตึกซอมซ่อ โดยอาคารดังกล่าวที่ Adam ได้ไปดูนั้นกำลังมีการปรับปรุงระบบทางเดินรวมถึง Facility ครั้งใหญ่ ซึ่งอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายนับล้าน

แม้แต่เจ้าของอาคารทรุดโทรมดังกล่าว ก็ยังไม่อยากจะทำอะไรกับมัน Miguel และ Adam ได้เดินหน้าเจรจากับเจ้าของ และการเจรจาก็เริ่มตึงเครียดเพราะทั้งคู่ต้องการให้เก็บค่าเช่าในระดับต่ำ ๆ ในขณะที่ต้องการเงินค่าก่อสร้างจำนวนมหาศาลเพื่อปรับปรุงพื้นที่ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการขยายตัวในอนาคต

แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน การเจรจาก็สัมฤทธิ์ผล การก่อสร้างเริ่มขึ้นทันที โดยมีแผนที่จะเปิดทีละชั้น ทั้ง Miguel และ Adam บอกผู้เช่าว่า พวกเขาตั้งใจจะสร้างห้องออกกำลังกายที่ชั้นใต้ดินของอาคาร และกำลังคุยกับทางเทศบาลเมืองนิวยอร์กเกี่ยวกับการสร้างสวนสาธารณะในที่ว่างฝั่งตรงข้ามถนน

Miguel ต้องการทำให้ WeWork รู้สึกเป็นเหมือนสำนักงานให้น้อยที่สุด แต่ให้มันเป็นเหมือนโรงแรมบูติกเสียมากกว่า ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วเมืองนิวยอร์ก

WeWork เปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 โดยมีผู้เช่าเจ็ดสิบคน ซึ่งได้แก่ นักดนตรีผู้เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีและเหล่าสถาปนิก แม้ WeWork จะไม่ใช่สำนักงานที่ถูกที่สุดในนิวยอร์ก แต่ผู้คนต่างเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับการออกแบบที่ดูดีมีสไตล์ และเงื่อนไขการเช่าที่มีความยืดหยุ่น และความรู้สึกของความเป็น community มากกว่าสำนักงานแห่งอื่น ๆ

WeWork ต้องการเป็นมากกว่าสำนักงาน หัวใจสำคัญที่ Adam และ Miguel วางตำแหน่งของ WeWork คือ การเสนอทางเลือกให้กับความฝันแบบ American Dream ซึ่งมันไม่ใช่รูปแบบองค์กรสมัยโบราณที่ต้องไต่เต้าตำแหน่งเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กรอีกต่อไป

เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการหลาย ๆ คน Adam นั้นชื่นชอบ Steve Jobs และมองเป็นไอดอลของเขา ความทะเยอทะยานที่สุดที่เขาได้แนวคิดจาก Jobs คือ การขับเคลื่อนองค์กรโดยไร้ซึ่งความปราณี แบบที่ Steve Jobs ทำกับ Apple

เหล่าพนักงานกลุ่มแรก ๆ ของ WeWork หลายคนรู้สึกงงงวยกับอารมณ์ที่แปรปรวนของ Adam WeWork เองก็ไม่ได้เสนอเงินเดือนจำนวนมาก และไม่ได้ให้ตัวเลือกในการจัดสรรหุ้นให้กับพนักงาน มีแต่คำพูดลอย ๆ ของ Adam ที่บอกว่า WeWork จะช่วยสร้างวิธีการทำงานที่ดีขึ้น และเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้น

แม้ในช่วงแรก Adam จินตนาการถึงบริษัท ที่มีสำนักงานกว่าร้อยแห่ง และ บอกกับเพื่อน ๆ เขาว่า เขากำลังสร้างธุรกิจแสนล้านดอลลาร์อยู่ แต่ไม่มีใครในโลกแห่งอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์ก ที่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับสไตล์การแต่งตัวของ Adam ด้วยเสื้อยืดและกางเกงยีนส์ของเขา

ในการประชุมด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ Park Avenue ทาง Adam ได้ถามผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งว่า บริษัทใดที่ให้เช่าพื้นที่สำนักงานมากที่สุดในนิวยอร์ก คำตอบคือ JPMorgan ซึ่งมีพื้นที่สามล้านตารางฟุต WeWork นั้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงเล็กน้อยในตอนนั้น แต่ Adam ก็มีความฝันว่าเขาจะแซงหน้า JPMorgan ได้ในสักวันหนึ่ง

WeWork ใน นิวยอร์กเป็นเพียงจุดเริ่มต้น บริษัทต้องการขยาย และทำการเปิด WeWork ไปทั่วทุกมุมโลก Adam และ Miguel ได้ร่างแผนที่บนแผ่นกระดาษที่แสดงว่าพวกเขาต้องการไปไหนต่อ : ซานฟรานซินโก ลอสแองเจลิส โตรอนโต โดยมีเส้นเวกเตอร์มุ่งหน้าไปยังมอนทรีออล บอสตัน ชิคาโก อิสราเอล และ ลอนดอน

พนักงาน WeWork ในยุคแรก ๆ นั้น เข้าร่วมกับบริษัท ในบทบาทหน้าที่ ที่ไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย ซึ่งอาจจะต้องทำงานที่ใช้แรงงานมากกว่าตำแหน่งที่อยู่บนนามบัตรของพวกเขาเสียอีก

ตัวอย่างเช่น WeWork ได้ทำการปรับปรุงชั้นแรกที่ Empire State เสร็จในเวลาเพียงยี่สิบเก้าวัน เหล่าพนักงานต้องคอยมาช่วยเหลือในการขนถ่ายเสบียง หรือ ช่วยเหลือในการขนสิ่งของต่าง ๆ Adam มักปฏิเสธที่จะเลื่อนเวลาเปิดสำนักงานใหม่ เขามักบังคับให้พนักงานทุกคนทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ตราบใดที่ Wi-Fi ยังใช้งานได้อยู่

พนักงานโดยส่วนใหญ่นั้นจะอยู่กับ WeWork ไม่ถึงหนึ่งปี โดยส่วนใหญ่แล้วช่วงแรก ๆ พนักงานจะสนุกสนานกับการสร้างสิ่งใหม่ ๆ office ใหม่ ๆ หลายคนร่วมงานกันจนกลายเป็นเพื่อนสนิท และ WeWork ก็กำลังขยายอย่างรวดเร็ว

แต่ดูเหมือนว่าการมุ่งเน้นไปที่การสร้างชุมชนและการสร้างวิธีการทำงานที่ดีขึ้นนั้น จะดูสวนทางกับสภาพพนักงานของ WeWork รวมถึงประสิทธิภาพในการเติบโต และการประเมินมูลค่าของบริษัทในระยะยาว

Adam และ Miguel มักจะจับมือทำงานร่วมกันในทุกส่วนของการดำเนินงานของ WeWork โดย Adam นั้นให้อำนาจเต็มที่กับ Miguel ในการจัดการรูปแบบของพื้นที่ใหม่แต่ละแห่ง

Adam จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการก้าวเข้าสู่บทบาทซีอีโอ โดยรวบรวมวิสัยทัศน์ของบริษัท แสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ เขาเริ่มมีชื่อเสียงไปทั่วนิวยอร์ก ต้องบอกว่า Adam เป็นคนช่างฝันและเป็นคนคอยจัดการสิ่งต่าง ๆ ส่วน Miguel นั้นทำให้ WeWork แตกต่าง

เริ่มมีการสร้างลำดับชั้นของพนักงานขึ้นใน WeWork ซึ่ง Adam ได้รวมรวมพนักงานกลุ่มหนึ่งและมอบหน้าที่ให้กลายเป็นทูตของ Brand “WeWork” และต้องแต่งตัวตามสไตล์ของเขา

Adam นั้นสวมเสื้อยืดและกางเกงยีนส์เกือบทุกวัน แต่เสื้อของเขามาจากร้าน James Perse และมีราคา 200 เหรียญ “มันเป็นเสื้อยืดที่มีความแตกต่าง” Adam กล่าวกับทีมของเขา

เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ที่ Adam นั้นใส่มาทำงานแทบทุกวัน (CR:The News Republic)
เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ที่ Adam นั้นใส่มาทำงานแทบทุกวัน (CR:The News Republic)

ในปี 2011 WeWork ได้กำหนดให้พนักงานต้องลงนามในข้อตกลงที่ไม่ให้พวกเขาเปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 18 เดือน หลังจากออกจากบริษัท ซึ่งในตอนนั้นต้องบอกว่ากระแสการสร้างสำนักงานที่คล้าย ๆ กันกับ WeWork กำลังเติบโตขึ้นทั่วประเทศ

Adam ได้เน้นว่าจ้างพนักงานใหม่จำนวนมาก ที่เพิ่งจบการศึกษามาได้ไม่นาน และเป็นคนหัวอ่อน ซึ่งคนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้ามาด้วยความฝันที่เต็มเปี่ยม และมีความสุขที่ได้ทำงานทุกประเภทท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตอนนั้น

แม้บริษัทจะมีวิสัยทัศน์ที่จะนำชีวิตที่ดีมาสู่การทำงาน แต่เหล่าพนักงานซีเนียร์ของ WeWork หลายคน ก็มีภาระในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภรรยาหรือลูก การให้สวัสดิการอย่าง การไปเที่ยวหรือดื่มเบียร์ฟรีในที่ทำงาน ไม่ได้เป็นประโยชน์กับพวกเขามากนัก

ที่ WeWork มักให้ทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ ติด ๆ กันในทุก ๆ สัปดาห์ มันดีสำหรับพนักงานวัยหนุ่มสาว แต่เหล่าซีเนียร์ก็ไม่ค่อยชอบใจในสิ่งนี้ และสวัสดิการต่าง ๆ ของบริษัท บางครั้งก็ไม่ได้รับความสนใจจาก Adam เลย

WeWork นั้นแทบจะไม่ให้สวัสดิการด้านประกันสุขภาพกับพนักงานเลยในช่วงเริ่มต้นบริษัท และไม่มีนโยบายลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ตัว Adam เองก็แทบจะไม่ได้หยุดงานเลยเมื่อ Rebekah คลอดลูกคนแรกในปี 2011

Adam นั้นมองว่าตนเองเปรียบเสมือนศาสดา ของศาสนจักร WeWork ที่ทุกคนต้องทำตาม ทุกคนต้องจงรกภักดีต่อเขา แม้ Adam จะทะเลาะกับพนักงานหลาย ๆ คน เมื่อบริษัทเริ่มเติบโตขึ้น แต่เขามองไปที่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า นั้นคือ WeWork ที่กำลังขยายอิทธิพล และเริ่มเผยแพร่ความเชื่อในแนวคิดรูปแบบสำนักงานใหม่ไปทั่วโลกนั่นเอง

ต้องบอกว่า มาถึงตอนนี้ WeWork กลายเป็นเสือติดปีก ที่กำลังแผ่ขยายกิจการ สร้างสังคมการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เป็นการ disrupt ธุรกิจสำนักงานล้าสมัยแบบเดิม ๆ ไปอย่างหมดสิ้น แต่ดูเหมือนปัญหาภายในนั้นก็กำลังรอปะทุอยู่ในไม่ช้า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Adam และ WeWork โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Digital Transformation

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Geek Daily EP83 : Neeva กับนวัตกรรม Search Engine แบบสมัครสมาชิก ที่ไร้ซึ่งโฆษณา

Sridhar Ramaswamy เป็น CEO ของ Neeva ซึ่งเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ไม่มีโฆษณา Ramaswamy ใช้เวลา 17 ปี ที่ Google และในที่สุดเขาก็เริ่มไม่แยแสกับธุรกิจโฆษณาแบบเดิม ๆ อย่างที่ Google ทำ

ตอนนี้เขากำลังพยายามสร้างโซลูชันใหม่ด้วยเงินทุน 77.5 ล้านดอลลาร์ เขามีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านการโฆษณา การค้นหาที่แยกส่วนจากโฆษณา สภาพแวดล้อมการต่อต้านการผูกขาดในปัจจุบันทำให้ Google เผชิญกับการแข่งขันได้อย่างไร

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3gAORmF

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/2kxHtQ3

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2m0PTzR

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/pwQ2jGw69RI

Billion Dollar Loser ตอนที่ 3 : The Green Desk

Miguel McKelvey เป็นชายที่เกิดมา โดยที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเฉกเช่นเดียวกับ Adam Neumann เขาได้รับประสบการณ์ที่ครอบครัวแตกแยก แทบไม่ต่างจากที่ Adam พบเจอในวัยเด็กเลย

เรียกได้ว่า Miguel เป็นคนที่หัวขบถมาตั้งแต่เล็ก ด้วยการต่อสู้กับปัญหาภายในครอบครัวที่ถูกพ่อทิ้งไปตั้งแต่วัยเยาว์ ในช่วงฤดูร้อนของมัธยม เขาก็ได้เริ่มทำงานหาเงิน โดยใช้เวลากว่า 12 ชม.ทุก ๆ วัน ที่โรงงานแปรรูปในอลาสก้า โดยมักจะทำงานล่วงเวลาเพิ่มเติมอีก 6 ชั่วโมงเพื่อทำเงินให้ได้มากขึ้น

เขาได้เข้ามาเรียนระดับชั้นมหาวิทยาลัยที่โคโลราโด ซึ่งเป็นวิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์เอกชน เขามีเป้าหมายที่่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่เด็กไม่แพ้ Adam คือการคิดจะสร้างธุรกิจของตัวเอง

แต่เขาพบว่าตัวเองเกลียดการเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างมาก และ ชอบศิลปะมากกว่า อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมองเห็นบางอย่างในตัว Miguel นั่นคือ เรื่องของสถาปัตยกรรม ที่มันได้กลายเป็นสื่อกลางระหว่างความสนใจและความทะเยอทะยานด้านธุรกิจของเขา

Miguel สำเร็จการศึกษาในปี 1999 หลังจบการศึกษา เขากับเพื่อน ๆ ได้คิดไอเดียในการสร้างเว็บไซต์เพื่อช่วยให้ผู้คนเรียนภาษาอังกฤษแบบพูดได้ พวกเขาจึงได้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์อย่าง English, baby!  ขึ้นมา

Enlish Baby! กับการลองธุรกิจดอทคอมครั้งแรกของ Miguel (CR:daniauchi.wordpress.com)
Enlish Baby! กับการลองธุรกิจดอทคอมครั้งแรกของ Miguel (CR:daniauchi.wordpress.com)

ต้องบอกว่า English, baby! นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับสถาปัตยกรรมเลย แต่ Miguel จบการศึกษามาในช่วงจุดสูงสุดของธุรกิจดอทคอมที่เฟื่องฟูสุดขีดพอดี พวกเขามองเห็นคนโง่ ๆ บางคนสามารถร่ำรวยได้ด้วยธุรกิจดอทคอม Miguel จึงอยากลองเสี่ยง

แต่เหมือนฝันร้าย เพราะในปี 2000 เกิดฟองสบู่ดอทคอมเข้าอย่างจัง แต่ Miguel และเพื่อน ๆ ของเขาก็ยังมองว่า English, baby! นั้น มีเอกลักษณ์พอ และ ไม่สามารถที่จะ copy ได้ง่าย ๆ

ในวัย 30 ดูเหมือนว่าธุรกิจดอทคอมของเขาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะรุ่ง เขาจึงคิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ มันเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์หรือเปล่ากับ English, baby! เขาเริ่มคิดถึงงานด้านสถาปัตยกรรม

ในปี 2004 เขาจึงมุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก ทิ้ง English, baby! ไว้เพียงแค่อดีต เขาจึงได้เข้ามาสมัครงานบริษัทด้านสถาปนิกชื่อ JPDA ที่กำลังได้ลูกค้าใหม่อย่าง American Apparel และต้องการรับพนักงานด่วน แม้ Miguel จะห่างจากวงการสถาปัตย์มากว่าครึ่งทศวรรษแล้วก็ตามที

Miguel จึงพร้อมที่จะเริ่มต้นเส้นทางอาชีพใหม่อย่างสถาปนิก ด้วยรายได้ 10 เหรียญต่อชั่วโมง และเขาก็ได้รับงานใหญ่ทันทีหลังจากเข้าทำงานที่ JPDA คือ การเปิดสาขา American Apparel ไปทั่วประเทศ

แม้จะเพิ่งเริ่มงาน แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไปได้ดีในทางนี้ เขาใช้เวลาสี่ปีช่วยเปิดสาขาของ American Apparel มากกว่า 100 แห่ง เขาสนุกกับการทำงานและชอบ American Apparel เป็นอย่างมาก

แต่ก็ต้องบอกว่า หลังจากทำงานไปได้ 4 ปี มันก็ถึงจุดที่เขาต้องตัดสินใจใหม่กับชีวิตอีกครั้ง เขาเริ่มมองว่ารายได้มันไม่ค่อยสัมพันธ์กับรายจ่ายในเมืองนิวยอร์ก ทุกอย่างแพงมาก และอพาร์ทเมนต์ของเขาก็เล็กเหมือนรูหนู

วันหนึ่งเขาตัดสินใจเดินเล่นเตร็ดเตร่ในเมืองเป็นเวลาหลายชั่วโมง เขาคิดว่าความฝันในนิวยอร์กของเขามันคงไม่จบลงเพียงเท่านี้ เขามีความทะเยอทะยานมากกว่านี้ เขาตัดสินใจที่จะเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเองอีกครั้ง

ต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือฟ้าลิขิตที่ Miguel ได้มาพบเจอกับ Adam ทั้งสองได้รู้จักกันผ่านเพื่อนของพวกเขาอย่าง Haklay ที่เป็นสถาปนิกที่ทำงานที่บริษัท JPDA ด้วยกัน

Miguel ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าอะไรที่ดึงดูดเขาเข้ามหา Adam แต่เรื่องที่น่าสนใจคือทั้งคู่มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกันมาก

พวกเขาทั้งคู่เป็นลูกของแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งมาจากการเลี้ยงดูที่แปลกแยกจากวัยรุ่นคนอื่น ๆ แต่ต้องบอกว่าทั้งคู่ได้กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว

ชีวิตของ Adam เองนั้น ก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อทำธุรกิจของเขาให้ประสบความสำเร็จดังที่ใจหวัง แน่นอนว่าทั้งคู่มี passion บางอย่างที่เหมือนกัน ก็คือ พวกเขายังไม่รู้สึกสบายใจเกี่ยวกับเส้นทางเดินชีวิตในตอนนี้ พวกเขามีความทะเยอทะยานมากกว่านั้น

Adam นั้นได้เล่าถึงแนวคิดเก่า ๆ ของเขาที่มหาวิทยาลัยบารุค เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้คนมาอาศัยในพื้นที่เดียวกัน เพื่อธุรกิจหรือพักอาศัย Miguel เองก็ดูจะชอบไอเดียนี้ ทั้งคู่จึงใช้เวลา 2-3 เดือนในการหาอาคารที่อยู่อาศัยเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงมัน

ในที่สุดพวกเขาทั้งคู่ ก็ได้เห็นบ้านหลังหนึ่งที่ 68 Jay Street ตัว Adam เองนั้นรู้จากประสบการณ์ที่เขาเคยมีว่าการจัดการอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่ง

Adam จึงได้บอก Miguel เกี่ยวกับคนรู้จักของเขาที่ดำเนินธุรกิจแบ่งพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ออกเป็นหน่วยเล็ก ๆ เพื่อให้เช่าแต่ละส่วนกับบริษัทเล็ก ๆ ซึ่ง Miguel เองก็มีความคิดเกี่ยวกับการออกแบบสำนักงานมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

พวกเขาไม่รอช้าตัดสินใจลุยทันที พวกเขาได้เข้าไปคุยกับเจ้าของบ้านที่ชื่อ Joshua Guttman ว่า จะยอมให้พวกเขาทั้งคู่เปลี่ยนชั้นที่ว่างเปล่าที่กำลังปรับปรุงอยู่นั้น ให้กลายเป็นห้องเช่าสำหรับสำนักงานขนาดเล็กได้หรือไม่

ดูเหมือน Guttman จะไม่สนใจ แต่ตัดสินใจที่จะให้ลองกับอาคารอื่นในบริเวณใกล้เคียงแทน ซึ่งเป็นโรงงานกาแฟอายุกว่าศตวรรษที่ก่อด้วยอิฐเปลือย และมองเห็นทิวทัศน์ของ East River

โรงงานกาแฟอายุกว่าศตวรรษที่ก่อด้วยอิฐเปลือยของ Guttman (CR:Business Insider)
โรงงานกาแฟอายุกว่าศตวรรษที่ก่อด้วยอิฐเปลือยของ Guttman (CR:Business Insider)

Guttman ได้ถาม Adam ว่าจะทำอะไรกับพื้นที่ว่างเปล่าเหล่านี้ แต่แทนที่จะสร้างกำแพงขึ้นมา Adam ได้บอกว่าเขาจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นสำนักงานกึ่งส่วนตัวโดยมีพนักงานต้อนรับคนเดียวคอยจัดการให้ทุกอย่าง และจะแบ่งผลกำไรให้ Guttman จึงบอกให้เขาไปคิดแผนธุรกิจให้เป็นเรื่องเป็นราวมาเสนอเขาอีกครั้ง

ในคืนนั้น Miguel จึงได้เริ่มสร้างแผนธุรกิจ เขาตัดสินใจว่าพื้นที่ใหม่นี้จะเรียกว่า Green Desk เพื่อกำหนดเป้าหมายผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

พวกเขาทั้งคู่ไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด แต่พวกเขาคิดเพียงแค่ว่าการสร้างแบรนด์จะดึงดูดลูกค้าประเภทที่พวกเขาต้องการ และสร้างจุดเด่นให้กับพวกเขาได้

เช้าวันรุ่งขึ้น Miguel เข้ามาพร้อมกับแผนผังชั้นคร่าว ๆ และสเปรดชีดหน้าเดียว ซึ่งจัดทำโมเดลธุรกิจพื้นฐาน โดยหวังว่าหากพวกเขาทำทุกอย่างเสร็จในช่วงข้ามคืน Guttman จะคิดว่าพวกเขาวางแผนสิ่งเหล่านี้มาหลายเดือนแล้ว

ซึ่งแน่นอนเมื่อ Guttman ได้เห็นแผน ก็ตัดสินใจอนุมัติทันที เขาตกลงที่จะปรับปรุงพื้นที่ และลงขันกัน 5,000 ดอลลาร์ เพื่อเริ่มสร้างมัน

Adam ยังคงทำธุรกิจเสื้อผ้าเด็ก แต่ Miguel นั้นได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่าง Green Desk แบบเต็มเวลา ซึ่งได้ทำการออกแบบพื้นที่ร่วมกับ Haklay ซึ่งเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนคนที่สาม

พวกเขาได้ซื้อบล็อกขายเนื้อที่ IKEA เพื่อใช้เป็นโต๊ะทำงาน และวางผนังกระจกกั้นระหว่างแต่ละห้อง Miguel ได้ทำการโพสต์โฆษณาบน Craigslist และเริ่มโปรโมตแก่ผู้เช่าที่สนใจ โดยไม่มีอะไรมากไปกว่าการปิดเทปบนพื้นที่เพื่อทำเครื่องหมายว่า สำนักงานจะอยู่ที่ไหน

แต่ต้องบอกว่า ในขณะที่พวกเขากำลังเตรียมตัวกับธุรกิจใหม่ในฤดูใบไม้ผลิปี 2008 เวลานั้นดูเหมือนไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่าการที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ จาก Hamburger Crisis ต้องบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเอาเสียเลย

Guttman เองก็ได้เตือนว่า ผู้คนจะไม่เช่าสำนักงานใหม่ในตลาดขาลงแบบนี้ บริษัทใหญ่ ๆ ต่างรวมตัวกัน ธุรกิจขนาดเล็กต่างล่มสลาย และฟรีแลนซ์ก็ย้ายตัวเองไปทำงานจากที่บ้าน

แต่เรื่องราวสุดเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น หลังจากทำการเปิดตัว Green Desk อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม มันก็ได้รับความนิยมแบบทันทีทันใด

ทุกคนไม่อยากอยู่บ้านเพราะกลัวเป็นโรคซึมเศร้า Green Desk ได้ลูกค้าทั้งนักออกแบบแฟชั่น บริษัทเอกชน ผู้พัฒนา Font เว็บไซต์อย่าง Gothamist รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมายเข้ามาเช่าพื้นที่ใน Green Desk

แม้ Miguel เองจะประหยัดงบแบบสุด ๆ ด้วยการใช้เฟอร์นิเจอร์จาก IKEA ทั้งหมดในการตกแต่งสำนักงาน แต่พื้นที่ดังกล่าวนั้นกลายเป็นสิ่งใหม่ มันได้กลายเป็นชุมชนขนาดเล็กที่พร้อมไปด้วยชั่วโมงแห่งความสุข และการสนทนารอบ ๆ เครื่องชงกาแฟ ของเหล่าผู้เช่า

Green Desk เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มพื้นที่ ทีละชั้นในอาคารของ Guttman ต้องบอกว่าสิ่งที่ผู้คนสนใจมากที่สุดคือความยืดหยุ่นของสัญญาเช่าแบบเดือนต่อเดือน และความรู้สึกสนิทสนมกันที่หาไม่ได้จากสำนักงานให้เช่าแห่งอื่น ๆ ในนิวยอร์ก

Guttman ต้องการขยาย Green Desk ไปยังอาคารอื่น ๆ ในบรุกลินของเขา แต่ Adam และ Miguel นั้นเริ่มคิดแผนการที่ใหญ่ขึ้น เขาอยากเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนโลกด้วยคำว่าสีเขียว

เขามองว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง Green Desk ที่ดูเหมือนจะเป็นชื่อที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันเป็น Concept ตั้งชื่อเพื่อสร้างความแตกต่างเท่านั้น แต่เขามองเห็นอะไรบางอย่างมากกว่านั้น

เหล่าคนงาน พนักงานในบริษัทต่าง ๆ ต่างเริ่มมองการเชื่อมโยงกันทางกายภาพในโลกยุคดิจิตอล ในยุคที่ผู้คนเริ่มห่างเหินกัน เหล่าผู้คนพร้อมที่จะรับความเสี่ยงกับแนวคิดสำนักงานให้เช่าแบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม มันไม่ใช่แค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันกำลังจะสร้าง Impact ระดับชาติ หรือ อาจจะทั่วโลกได้เลยด้วยซ้ำ

ต้องบอกว่า ชายสองคนที่มีความทะเยอะทะยานสูง กำลังร่วมมือกัน เปลี่ยนธุรกิจสำนักงานให้เช่า แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุคนั้น ทำให้ Model Green Desk ของพวกเขาทั้งคู่ได้รับความนิยมแบบสุดขีด

ดูเหมือนนี่คือจุดเริ่มต้นในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ที่จะตามมาภายหลัง แล้วเรื่องราวของทั้งคู่จะเป็นอย่างไรต่อ ธุรกิจใหม่ของพวกเขาจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : WeWork – Revolution at Work

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ