Billion Dollar Loser ตอนที่ 6 : Greater Fools

ต้องบอกว่าการสร้างบริษัททางด้านซอฟต์แวร์ อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ Benchmark ต้องทุ่มเงินจำนวนมากให้ WeWork ใช้ในการลงทุนเซิร์ฟเวอร์ จ้างพนักงานด้านไอที รวมถึงเม็ดเงินสำหรับการเปิดสำนักงานให้เช่าแห่งใหม่

WeWork ไม่ใช่บริษัท ซอฟต์แวร์ ค่าใช้จ่ายในการเช่า การปรับปรุงสถานที่ และการดำเนินงานประจำวันนั้นสูงมาก และต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ทันกับการเติบโต

Adam มีแนวโน้มที่จะเปิดสำนักงานใหม่ ๆ ในปี 2014 มากกว่าที่เคยทำใน 4 ปีแรก เช่นเดียวกับความหวังที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนรายใหญ่ที่มีต่อธุรกิจ WeWork

ซึ่งเมื่อพา WeWork มาไกลถึงเพียงนี้แล้ว Adam เองก็ไม่ยอมถอยง่าย ๆ การที่บริษัทจะขยายออกไปอีก Adam ก็จำเป็นต้องออกไปหาเงินเพิ่ม ทีมงานของ WeWork ได้เริ่มรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับบริษัท เพื่อเสนอให้กับนักลงทุนในวงกว้างมากขึ้น

เริ่มมีข้อเสนอมาจากนักลงทุนใหม่ Goldman Sachs ยินดีที่จะลงทุน 220 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่ Benchmark ลงทุนในครั้งแรกถึงสองเท่า แต่ Adam คิดว่าตัวเลขนี้มันต่ำเกินไป ในตอนนั้น Airbnb กำลังทำข้อตกลงที่มีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

ความเชื่อของ Adam นั้นเป็นผล ไม่นานหลังจากปฏิเสธข้อตกลงจาก Goldman Sachs WeWork ได้ระดมทุน 40 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนนำโดย DAG Ventures รวมถึงเงินทุนเพิ่มเติมจาก Benchmark ทำให้ WeWork กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 440 ล้านดอลลาร์

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากการลงทุนรอบล่าสุด JPMorgan Asset Management และนักลงทุนรายอื่น ๆ ได้ลงทุนเพิ่ม 150 ล้านดอลลาร์ ทำให้มูลค่าบริษัทเพิ่มสูงเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ และนั่นเองที่ทำให้ WeWork กลายเป็นบริษัท Unicorn น้องใหม่ของอเมริกาได้สำเร็จ

มูลค่า WeWork เพิ่มขึ้นจากการระดมทุนสู่ Unicorn ได้สำเร็จ (CR:IPWatchdog.com)
มูลค่า WeWork เพิ่มขึ้นจากการระดมทุนสู่ Unicorn ได้สำเร็จ (CR:IPWatchdog.com)

ในปี 2014 Benchmark ได้นำตัว Luca Gualco ซึ่งเคยช่วยขยายธุรกิจให้ Uber ในระดับสากล ให้มาเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ WeWork เพื่อช่วยเหลือ Adam ในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ

เรียกได้ว่า WeWork กำลังอยู่ในเส้นทางที่สดใส ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก ซึ่งหลังจากนั้นมีการลงทุนในรอบ Series D ที่ทำให้ WeWork กลายเป็นหนึ่งใน Unicorn ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกแซงหน้า Spotify และตามหลัง Theranos เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Adam และ Miguel ได้เก็บหุ้นของพวกเขาไว้ในนามนิติบุคคลที่เรียกว่า We Holdings ซึ่ง Adam เป็นคนคอยควบคุมอยู่ และได้ขายหุ้นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ออกไป ซึ่งต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก ๆ ที่ Adam ได้ปล่อยหุ้นออกไปจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ในขณะที่บริษัทกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

แต่ต้องบอกว่า เขายังมีคะแนนโหวต 65% ของคณะกรรมการบริษัทอยู่ ที่เขายังสามารถควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากรูปแบบของหุ้น supervoting

หุ้น “supervoting” ดังกล่าว ได้รับความนิยมใน Silicon Valley ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมบริษัท Mark Zuckerberg ได้เจรจาข้อตกลงในลักษณะเดียวกัน เช่นเดียวกับ Travis Kalanick แห่ง Uber

ถึงสิ้นปี 2014 WeWork มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ ในทางตรงกันข้ามบริษัทอย่าง Regus อดีตฟันเฟืองสำคัญในธุรกิจ Startup ที่เฟื่องฟูในยุค 90 และเกือบต้องล้มละลายเมื่อเกิดฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่กลายเป็น IWG – International Workplace Group

ต้องบอกว่า IWG นั้นเป็นธุรกิจที่คล้าย ๆ กับ WeWork แต่มันดูไม่ Sexy เหมือน WeWork มันกลายเป็นธุรกิจที่น่าเบื่อ แม้ว่า IWG จะมีสำนักงานให้เช่ามากกว่าสองพันแห่งที่สร้างรายได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเรียกได้ว่านำห่างสิ่งที่ WeWork มีอยู่มาก ที่ตอนนั้น WeWork สร้างรายได้เพียงแค่ 150 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่มูลค่าบริษัทกลับสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์

แม้ WeWork จะทำสิ่งที่แตกต่างจาก IWG อย่างชัดเจน มีการสร้างสีสัน และเป็นมิตรกับเหล่าผู้เช่า พร้อมทะยานไปกับเหล่า Startup ที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลก แต่ IWG ส่วนใหญ่เป็น office สำนักงานใช้จริง และ ดูล้าสมัย แต่พวกเขาก็ทำเงินได้จริงเฉกเช่นเดียวกัน

นั่นทำให้ Adam ต้องการความช่วยเหลือเมื่อ WeWork ต้องเริ่มเข้าหานักลงทุนรายใหญ่ Adam ได้ว่าจ้าง Michael Gross ซึ่งเข้ามาแทนที่ Ariel Tiger อดีตเพื่อนในกองทัพเรือของเขาในตำแหน่ง CFO ของ WeWork

Michael Gross มือดีที่ Adam ได้มาช่วยในการระดมทุนครั้งใหญ่ (CR:crainsnewyork.com)
Michael Gross มือดีที่ Adam ได้มาช่วยในการระดมทุนครั้งใหญ่ (CR:crainsnewyork.com)

ความพยายามในการระดมทุนของ Adam และ Gross เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของบริษัท ในขณะที่ Miguel นั้น เป็นคนดูแลในเรื่องสำนักงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท ให้เป็นที่สนใจของนักลงทุน

Miguel นั้นเชื่อมั่นในบริษัท และคุณภาพของสิ่งที่พวกเขากำลังก่อสร้าง แต่เขาไม่ได้มีความสามารถแบบ Adam ที่มีความทะเยอะทะยานอันยิ่งใหญ่

แต่ต้องบอกว่า อสังหาริมทรัพย์ นั้นมันแตกต่างจากธุรกิจแพล็ตฟอร์มในโลกของเทคโนโลยี มันไม่มีพลังของ Network Effect ที่ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ กลืนกินอุตสาหกรรมทั้งหมดแบบที่บริษัทเทคโนโลยีทำได้ แม้แต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็มีสัดส่วนการตลาดแค่ 1% เพียงเท่านั้น

เมื่อ Adam เข้าหานักลงทุนด้านเทคโนโลยี เขาเน้นย้ำถึงเงินที่สามารถทำได้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2015 Adam ได้นำเสนอแนวทางใหม่ : WeWork จะเป็นบริษัทชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ sharing economy ซึ่ง WeWork ต้องการ Economy of scale เพื่อบีบให้มีผู้เช่าจ่ายเงินเงินมากขึ้นได้

แต่ปัญหามันได้เริ่มเกิดขึ้น ในปี 2015 เพียงไม่กี่เดือนหลังจาก WeWork ได้รับการลงทุนใน Series D ทีมการเงินเริ่มเข้าหานักลงทุนเกี่ยวกับการเพิ่มทุนอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่า WeWork ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าของจำนวนเงินต่อตารางฟุตเลยทีเดียว

ในบรรดาบริษัทที่พิจารณาการลงทุน หนึ่งในนั้นคือ Softbank ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทของญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทร่วมทุนขนาดเล็กในอเมริกา นักลงทุนรายหนึ่งในนิวยอร์กแนะนำ WeWork ให้กับ Softbank ที่อาจต้องการวางเดิมพันก้อนใหญ่

แต่เรื่องราวของ WeWork มันแทบไม่ถึงหูของ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งของ Softbank เลยในตอนนั้น เพราะ Softbank มองไม่เห็นว่า WeWork เกี่ยวข้องกับบริษัททางด้านเทคโนโลยีอย่างไร การตอบสนองจาก Softbank เป็นไปในทางลบเป็นอย่างมาก

ในเดือนมิถุนายมปี 2015 Glade Brook , Fidelity และนักลงทุนอีกหลายคน ได้ร่วมลงทุน 434 ล้านดอลลาร์ใน Series E ของ WeWork ด้วยการประเมินมูลค่าที่สูงกว่า IWG ที่มีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนมากกว่า 3 เท่า

การประเมินมูลค่ารอบใหม่ทำให้นักลงทุนกลุ่มแรก ๆ ร่ำรวยกันไปตาม ๆ กัน แต่ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวัลภายใน

“นี่เป็นตัวเลขที่โง่มาก” สมาชิกคนหนึ่งในทีมการเงินของ WeWork กล่าวในการประชุมกับ Adam และผู้บริหารอื่น ๆ เกี่ยวกับข้อตกลงในรอบการลงทุน Series E

นักลงทุนต่างร้สึกทึ่งกับการเติบโตของรายได้บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ ปี โดยพวกเขาเลือกมองข้ามความเป็นจริงที่ว่า ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

แม้มูลค่าบริษัทจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่สวัสดิการของพนักงาน WeWork เองดูเหมือนจะไม่พัฒนาขึ้นมาเลย เหล่าคนงานทำเงินได้ 11 เหรียญต่อชั่วโมง โดยไม่มีสวัสดิการใด ๆ ในขณะที่ภารโรงในนิวยอร์กส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงมากกว่า 20 เหรียญพร้อมกับสวัสดิการที่ดีกว่ามาก

และนั่นเองที่ทำให้ WeWork ต้องมาเจออีกหนึ่งปัญหาใหญ่นั่นก็คือ สหภาพแรงงาน ที่ได้กลายเป็นตัวแทนของคนงานในไซต์ก่อสร้างและการจัดการอาคารต่าง ๆ ของบริษัท ที่กำลังก่อตัวขึ้น และ Adam เองก็ไม่ชอบมันเป็นอย่างมาก

แต่ WeWork หลีกหนีสหภาพแรงงานเหล่านี้ โดยว่าจ้าง UA Builders ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโลกแห่งการก่อสร้างในนิวยอร์กที่หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานที่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงานแทน ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาเริ่มหมักหมมขึ้นเรื่อย ๆ

ในช่วงฤดูร้อนปี 2015 WeWork ได้ว่าจ้างพนักงานใหม่มากกว่า 30 คนทุกสัปดาห์ ซึ่งคิดเป็น 10 เท่าของจำนวนคนที่เข้ามาใหม่ และพนักงานก็ลาออกอย่างต่อเนื่อง แม้ Adam จะพยายามขายฝันของเขาหลอกล่อให้คนเข้ามาทำงานใหม่ได้เรื่อย ๆ ก็ตามที

และตัว Adam เอง ก็มักไปทะเลาะกับพนักงานอยู่เป็นประจำ เขาไล่คนทำความสะอาดคนหนึ่งที่ชี้หน้าด่า Adam ว่า เขาเป็นมหาเศรษฐีบนกระดาษ

เหล่าพนักงานภายในเริ่มสุมหัวกัน วิจารณ์นโยบายต่าง ๆ ของ WeWork ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ รายได้ หรือแม้กระทั่งการแบ่งแยกทางเพศ ที่ผู้ชายมักได้รับโอกาสมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

ดูเหมือนว่า เมื่อถึงปี 2015 แม้จะระดมทุนได้จำนวนมหาศาล แต่ปัญหาภายในกำลังรุมเร้า WeWork และ Adam มากขึ้นเรื่อย ๆ และ การจะเติบโตต่อไปได้นั้น ก็ต้องการเงินลงทุนเพิ่ม

ต้องบอกว่า WeWork ไม่สามารถเติบโตได้เหมือนธุรกิจแพล็ตฟอร์ม และดูเหมือนมันใกล้จะถึงทางตันเต็มที่แล้ว หากไม่สามารถหาเงินทุนมาต่อยอดออกไปเรื่อย ๆ ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Adam และ WeWork โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Last Breath

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube