Billion Dollar Loser ตอนที่ 7 : Last Breath

ในปี 2015 ด้วยอัตราค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจกลับมาครึกครื้นอีกครั้งหลังจากถดถอยครั้งใหญ่จากวิกฤติ Hamburger Crisis ในปี 2008 นั่นทำให้ Adam ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มโดยด่วน

ในปลายปี 2015 Adam จึงมองไปที่ประเทศจีน โดยมีการว่าจ้าง Goldman Sachs เพื่อหานักลงทุนที่น่าสนใจในการระดมทุนเพื่อขยายบริษัทในเอเชีย และ ที่อื่น ๆ

ในตอนนั้น Uber เพิ่งระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อขยายไปยังประเทศจีน แต่ต้องบอกว่า WeWork นั้นระดมทุนได้ยากกว่าเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับธุรกิจแพล็ตฟอร์ม เหมือน Uber หรือ Airbnb

เหล่าสมาชิกทีมการเงินของ WeWork วิเคราะห์แล้วว่า กองทุนของจีนไม่สนใจที่จะมาช่วยลดการขาดทุนที่เพิ่มขึ้นของ WeWork โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตลาดจีนเริ่มมีคู่แข่งในท้องถิ่นที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว

แต่มีหนึ่งกองทุนที่หันมาสนใจธุรกิจของ WeWork นั่นคือ Hony Capital ซึ่งเป็นกองทุนที่ก่อตั้งโดย John Zhao นักธุรกิจชาวจีนซึ่งตกลงที่จะลงทุน 600 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือเป็นรอบการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท

John Zhao จาก Hony Capital เข้ามาลงทุนเพื่อเจาะตลาดจีน (CR:avcj.com)
John Zhao จาก Hony Capital เข้ามาลงทุนเพื่อเจาะตลาดจีน (CR:avcj.com)

“ธรรมชาติของตลาดเอกชนคือ หากนักลงทุนที่ชาญฉลาด 9 คนมองผ่าน ก็ต้องใช้นักลงทุนที่ค่อนข้างโง่เพียงคนเดียว และทันใดนั้นบริษัทเราก็มีมูลค่าเพิ่งขึ้นเป็น 16,000 ล้านดอลลาร์” สมาชิกทีมการเงินของ WeWork กล่าว

แม้ในการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลง สมาชิกหลายคนของคณะกรรมการบริหารของ WeWork จะคัดค้าน พวกเขาคิดว่าการเข้าสู่ตลาดจีน เป็นสิ่งที่โง่เขลา Uber กำลังผลาญเงินทุนจำนวนมากในการขยายไปยังประเทศจีน

แต่ Adam และผู้บริหารของ WeWork คนอื่น ๆ ชอบข้อตกลงดังกล่าวนี้ Miguel รู้สึกตื่นเต้นกับความท้าทายในการขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน

มันเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ Adam พึ่งพากลุ่มเพื่อนและครอบครัวในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ WeWork พี่เขยของเขาเป็น COO ของบริษัท ลูกพี่ลูกน้องของเขาเป็นหัวหน้าฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนกองทัพเรือของเขาเป็น CFO คนแรกของบริษัท Rebekah เองก็เข้ามามีส่วนร่วมในบริษัทมากยิ่งขึ้นในภายหลังเช่นเดียวกัน

แต่ WeWork นั้นเติบโตเกินกว่าความเชี่ยวชาญของพนักงานบางคน ซึ่งคุณสมบัติหลักของกลุ่มคนใกล้ชิด Adam เหล่านี้ คือ ความจงรักภักดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

คณะกรรมการกดดันให้ Adam จ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัท และทำให้กลายเป็นบริษัทมืออาชีพมากขึ้น

Artie Minson เป็นอีกหนึ่งคนที่เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการคนใหม่ของ WeWork ต้องบอกว่า Minson นั้นโดดเด่นที่สุดในบรรดาผู้บริหารใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับ WeWork

Mison ได้นำพาคนเก่งอีกหลายคนเข้ามาที่ WeWork เขาได้นำ Francis Lobo อดีตผู้บริหารของ AOL มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ Jon Gieselman ผู้บริหารของ DirecTV เข้าร่วมเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ WeWork

ผู้บริหารโปรไฟล์ดีเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกล่อลวง โดยความคิดที่ว่า WeWork กำลังก้าวไปสู่การนำเสนอขายหุ้น IPO เนื่องจาก Minson เองช่วยมาทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และทำให้การคาดการณ์ในสิ่งต่างๆ นั้นสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

Artie Minson ผู้บริหารมากฝีมือที่เข้ามาช่วยทำให้ WeWork เป็นมืออาชีพมากขึ้น (CR:CNBC.com)
Artie Minson ผู้บริหารมากฝีมือที่เข้ามาช่วยทำให้ WeWork เป็นมืออาชีพมากขึ้น (CR:CNBC.com)

ทั้ง Minson และผู้บริหารคนอื่น ๆ ที่เข้ามาใหม่ พยายามที่จะควบคุมการดำเนินงานของบริษัทมากขึ้น แน่นอนว่าการขยายตัวของธุรกิจเป็นแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปข้างหน้านั่นเอง

WeWork ได้สร้างเครื่องจักรการทำงาน ที่สามารถขยายพื้นที่สำนักงานให้เช่าได้อย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน

แน่นอนว่าทีมขายก็ต้องตามให้ทัน พวกเขาทำงานนอกพื้นที่ที่ยังสร้างไม่เสร็จเพื่อพยายามขายอาคารเปล่า โดยบางครั้งต้องขโมย Wi-Fi จากร้านอาหารใกล้เคียงในขณะที่มีการจัดสถานที่ใหม่เพื่อทำการขาย

ในเดือนพฤษภาคมปี 2016 Adam กล่าวกับพนักงานของเขาในการประชุมประจำปีของบริษัท เขาพยายามตั้งข้อสังเกตในแง่ดี โดยอ้างว่า WeWork นั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

บริษัทกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่สำคัญ แต่เวลามันไม่สามารถย้อนกลับไปได้ Adam เริ่มกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของบริษัท แม้ WeWork จะได้รับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลก็ตาม แต่ในเรื่องอัตราการขยายตัวของบริษัท เขายังไม่พอใจกับมันนัก

และในที่สุดข้อมูลที่ควรจะเป็นข้อมูลลับภายในบริษัท มันก็ได้หลุดไปถึงสำนักข่าวชื่อดังอย่าง Bloomberg

ซึ่ง Bloomberg ได้เผยแพร่รายละเอียดจากรายงานทางการเงินภายในของ WeWork เอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า WeWork กำลังปรับลดการประมาณรายได้สำหรับปีนี้ และ ลดการคาดการณ์กำไรลงถึง 87%

ซึ่งการรั่วไหลของข้อมูลภายในนี่เองที่ทำให้เหล่าพนักงาน WeWork ต่างหวาดระแวง ไม่กี่เดือนต่อมา Joanna Strange ถูกกันให้ออกจากอาคารที่ทำงานทันทีและถูกล็อกไม่ให้เข้าบัญชีภายในของ WeWork

มีการสืบสวนพบว่า Strange อยู่เบื้องหลังการรั่วไหลของข้อมูลในครั้งนี้ ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น Adam ได้เรียกพนักงานหลายคนที่เคยทำงานกับ Strange มาที่สำนักงานของเขาเพื่อกดดันถามพวกเขาว่ามันเกิดอะไรขึ้น

พนักงานคนหนึ่งที่อยู่กับ WeWork มาหลายปี ถาม Adam ว่าต้องการอะไรจากพวกเธอ จากนั้น Adam เดินไปที่กระดานไวท์บอร์ด หยิบปากกามาร์กเกอร์ออกมาแล้ววาดวงกลมขนาดใหญ่ จากนั้นเขาเขียนคำว่า “WE” ไว้ตรงกลาง

“คุณอยู่ข้างเรา หรือ คุณกำลังต่อต้านเรา” Adam กล่าวกับพนักงานกลุ่มดังกล่าว

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2016 Bill Gurley หนึ่งในหุ้นส่วนของ Benchmark Capital ได้เขียน Blog ในเว็บไซต์ Above The Crowd โดยแสดงความกังวลของเขาเกี่ยวกับ “กระบวนการระดมทุนของ unicorn ที่ง่ายดายอย่างน่าทึ่ง”

ในปีเดียวกันนั้น จำนวน unicorn เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 229 ราย ผู้ก่อตั้งใหม่ ๆ สามารถระดมทุนได้อย่างง่ายดาย ด้วยแรงกดดันจากการประเมินมูลค่าที่สูง ได้ส่งผลต่ออัตรา Burn Rate ของบริษัท Startup จำนวนมาก และทำให้พวกเขาต้องการเงินสดเพิ่มมากขึ้นไปในตัว

Gurley กลัวว่า Startup บางรายจะเริ่มล้มหายตายจากเนื่องจากปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเงินระดมทุน เขาอ้างถึงการตรวจสอบ Theranos ล่าสุดจาก Wall Street Journal ซึ่งเปิดเผยการฉ้อโกงอย่างกว้างขวางภายในบริษัท

แม้จะมีคำเตือนโดยนัยจากหนึ่งในนักลงทุนของ WeWork อย่าง Gurley แต่ Adam และ Miguel ดูจะไม่แยแสกับสิ่งที่เกิดขึ้น Adam เชื่อว่าสิ่งเดียวที่ WeWork ต้องการคือ ศรัทธาจากชุมชนนักลงทุนเพียงเท่านั้น

แต่ดูเหมือน Adam ต้องเจอปัญหาใหญ่อีกครั้ง ด้วยเงินของ Hony WeWork กำลังมุ่งหน้าไปยังประเทศจีน ซึ่งมี unicorn อยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงคู่แข่งท้องถิ่นที่พร้อมจะถล่มบริษัทจากอเมริกา เหมือนหลาย ๆ บริการที่โดน Startup ท้องถิ่นจากประเทศจีนถล่มจนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับมาก่อนหน้านี้หลายรายแล้ว

ในเดือนสิงหาคม Uber ขายธุรกิจในจีนให้กับคู่แข่งในพื้นที่ หลังจากสูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการทำการตลาดในประเทศจีน

WeWork กำลังผลาญเงินที่นั่นเช่นเดียวกัน กระแสการระดมทุนจากการร่วมทุนที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปี 2016 นั่นเองทำให้เหล่านักลงทุนเริ่มมีการประเมินมูลค่ากิจการที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันสำหรับ บริษัท Startup ที่ไม่คิดจะทำ IPO หรือ ทำกำไรในเร็ววันนี้

สำหรับ WeWork นั้น ดูเหมือนจะไม่มีตัวเลือกใด ๆ เหลืออยู่ นอกจากการทำ IPO เพื่อนำเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะชน ตอนนั้นเหล่าสมาชิกทีมการเงินคิดว่า คงไม่มีใครในโลกที่พร้อมจะระดมทุนเพิ่มเติมให้ WeWork อีกต่อไปแล้ว มันคงถึงทางตันแล้วจริง ๆ

แต่เหตุการณ์เหลือเชื่อก็เกิดขึ้น WeWork ที่ใกล้จะถึงทางตัน แต่อยู่ดี ๆ ก็มีอัศวินม้าขาวมาช่วยชุบชีวิตไว้ได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด แล้วใครคืออัศวินคนนั้น ที่กล้ามาชุบชีวิต WeWork ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังวิกฤติแบบสุด ๆ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : The Rising Son

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ