Billion Dollar Loser ตอนที่ 5 : Digital Transformation

Brad Neuberg วิศวกรซอฟต์แวร์ในซานฟรานซินโก เป็นบุคคลแรก ๆ ที่บัญญัติศัพท์คำว่า “Co-Working” ขึ้นมา โดยในปี 2005 เขาพยายามหาสิ่งที่เป็นสมดุลระหว่างชีวิตในออฟฟิสที่น่าเบื่อ และ ความสันโดษของอาชีพอิสระ

ในยุคนั้น Starbucks ยังไม่ได้เปิดให้บริการ Wi-Fi ฟรีแต่อย่างใด นั่นทำให้ Neuberg ต้องการบางสิ่งบางอย่าง รูปแบบคล้าย ๆ กับร้านกาแฟ ซึ่งผู้คนได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในขณะที่ทำธุรกิจไปด้วย

ซึ่งในปี 2005 Neuberg ได้เริ่มเชิญนักแปลอิสระคนอื่น ๆ มาทำงานนอกสถานที่ ที่เขาขอเช่ามาในราคา 300 ดอลลาร์ต่อเดือน

เหล่าผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาหลังจากที่เขาแจกใบปลิวในร้านกาแฟ หนึ่งในนั้นคือ Chris Messina นักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้ซึ่งเป็นคนคิดค้นฟังก์ชั่น hashtag ของ Twitter

ในปี 2006 Messina , Neuberg และ Tara Hung ซึ่งทำงานด้านการตลาดได้เปิดพื้นที่ถาวรที่เรียกว่า Teh Hat Factory โดยได้ดำเนินการจากอพาร์ทเมนต์ไต้หลังคาโดยมีผ้าปูเตียงแขวนจากเพดานเป็นตัวกั้นห้อง

หลังจากนั้น Coworking Space เริ่มเปิดให้บริการทั่วประเทศไม่กี่เดือนก่อนที่ Green Desk จะเปิดให้บริการในปี 2008 ที่ Adam อ้างว่า เขาไม่เคยเห็นรูปแบบของ Coworking Space มาก่อน

ต้องบอกว่า เงินทุนส่วนหนึ่งของ WeWork มาจาก Rebekah ภรรยาของ Adam ผู้ซึ่งลงทุนส่วนหนึ่งในช่วง Seed Round มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับสามีของเธอ ซึ่ง ตัวของ Rebekah นั้นเป็นคนที่มีฐานะอยู่แล้ว แถมยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ Gwyneth Paltrow ดาราชื่อดังจากฮอลลีวูด

Rebekah นั้นไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากนักกับ WeWork ในช่วงแรก ๆ แต่เธอเป็นคนที่มีอิทธิพลเหนือตัว Adam เป็นอย่างมาก บางครั้งพนักงานของ WeWork ต้องอาศัย Rebekah ช่วยโน้มน้าว Adam ในเรื่องงานของบริษัท

ในปี 2011 Adam ได้บุกไปยังยุโรป ผู้ช่วยของ Adam ได้ติดต่อกับ Jean-Yves Huwart ผู้จัดประชุมงาน Coworking Europe ประจำปีชาวเบลเยียม เพื่อแจ้งให้เขาทราบว่า WeWork คือผู้ให้บริการ Coworking Space ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

แต่ Huwart เองแทบจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ WeWork มาก่อนเลย ต้องบอกว่า Coworking เป็นอุตสาหกรรมที่แยกออกจากกัน ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อยเกือบทั้งหมด ดังนั้น Huwart จึงไม่เชื่อว่า บริษัทใด ๆ จะเป็นเจ้าตลาด Coworking ได้แบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอเมริกา

แต่ไม่กี่เดือนต่อมา Huwart ก็ได้มาพบกับ Adam ในนิวยอร์ก ที่สถานที่ใหม่ล่าสุดของ WeWork บริเวณ Varick Street

บริเวณที่ตั้งของ Varick มีพื้นที่เปิดโล่งหลายแห่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ WeCross เป็นพื้นที่ผสมผสานระหว่างสถาปนิกกับนักออกแบบ WeWork Labs เป็นพื้นที่สำหรับการเริ่มต้น Startup ด้านเทคโนโลยี

สถานที่แห่งนี้มีโต๊ะทำงาน 700 ตัว และเป็นสำนักงานแบบเปิดโล่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ Huwart เคยเห็นมา ซึ่งเมื่อพวกเขาได้พบกัน Adam บอกกับ Huwart ว่า เขากำลังวางแผนเดินทางไปอิสราเอล ซึ่งเขาหวังว่าจะไปเริ่มต้นเปิดพื้นที่ให้เช่าแห่งแรกที่นั่น

Huwart ถึงกับเอ่ยปากชวน Adam ให้แวะมาที่เบลเยียมบ้านเกิดของเขา แล้วมาลองดูลู่ทางในการทำธุรกิจร่วมกัน ก่อนที่ Adam จะเดินทางไปอิสราเอล

โดยทั้ง Adam และ Huwart มีแผนการที่ต้องมุ่งหน้าไปยังเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เพื่อเข้าร่วม GCUC ซึ่งเป็นการประชุม Global Coworking Unconference ซึ่ง GCUC นั้นเป็นการรวมตัวกันของผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้จากทั่วโลก

Global Coworking Unconference การรวมตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใหม่นี้ (CR:cloudvo.com)
Global Coworking Unconference การรวมตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใหม่นี้ (CR:cloudvo.com)

Adam ได้รับเชิญมาเป็นแขกในงานปาร์ตี้ที่ W Hotel ในธีม “A Celebration of Amarican Start-ups”

ซึ่งต้องบอกว่า Adam ได้เริ่มกลายเป็นคนดังในวงการของ GCUC โดยไม่นานมานี้ WeWork ได้ขยายไปยังชายฝั่งตะวันตก โดยเริ่มจากแถบ ซานฟรานซิสโก เขาเริ่มได้มีโอกาสพูดในที่สาธารณะหลายครั้งในฐานะตัวแทนของ WeWork

Adam ได้กลายเป็นหนึ่งในคนที่มีสเน่ห์ที่สุดบนเวที และได้รับคำชมจากเหล่าคณะกรรมการ เขาบอกว่าตอนแรกเขาไม่แน่ใจว่าจะมาที่ GCUC ดีหรือไม่ เพราะล้วนแล้วมีแต่คู่แข่ง แต่เขากลับมองมันเป็นโอกาสในการหาหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ

“เรากำลังวางแผนที่จะขยายไปทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้ แทนที่จะเปิดสถานที่ทั้งหมด เราอยากเป็นพาร์ทเนอร์กับพวกคุณบางคน … มาร่วมกันสร้างชุมชนที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” เขากล่าว พร้อมเสียงปรบมือ โห่ร้อง จากกลุ่มผู้คนในงานประชุม

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2012 แม้ธุรกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ดูเหมือน Adam เองยังไม่พอใจกับอัตราการเติบโตดังกล่าว เขารู้สึกอิจฉาบริษัทเทคโนโลยีที่ได้เงินทุนมหาศาล และเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ของเขาเป็นอย่างมาก

นั่นเองที่ในปีนั้น Adam ได้บอกกับเหล่าฝูงชน ที่เข้ามาร่วมฉลองวาระครบรองสองปีที่ก่อตั้งบริษัทว่า บริษัทของเขาจะไม่ใช่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป แต่จะเป็นบริษัทที่เชื่อมต่อกับบริษัทชั้นนำที่เกิดจากซิลิกอน วัลเลย์แทน

“เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เราจะป็น ‘เครือข่ายสังคมออนไลน์’ แห่งแรกของโลก” เขากล่าว

แต่ต้องบอกว่าดูเหมือนว่าธุรกิจของ WeWork จะไม่ได้มีส่วนร่วมจริง ๆ กับบริษัททางด้านเทคโนโลยีมากนัก ซึ่งอาณาจักรของบริษัทเทคโนโลยีในปี 2010 ได้แก่ Facebook , Twitter , Uber , Airbnb ถูกสร้างขึ้นบนแพล็ตฟอร์ม และ ใช้พลังของ Network Effect ที่ทำให้ผู้ใช้แต่ละรายมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

ช่วงปี 2010 มีสิ่งจูงใจมากมายสำหรับ Adam ในการนำเสนอ WeWork ในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในขณะที่เขาแทบจะไม่มีปัญหาในการหาเพื่อนร่ำรวยในนิวยอร์กที่สามารถลงเงินไม่กี่ล้านดอลลาร์ในบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ของเขา แต่เขามองว่ามันเป็นเงินน้อยนิดมาก ๆ เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี

เขาสามารถโน้มน้าวนักลงทุนว่า บริษัทของเขามีมูลค่าถึง 5 เท่าของรายได้ที่ WeWork ทำได้ในขณะนั้น แต่ในขณะที่เหล่าผู้ก่อตั้งบริษัททางด้านเทคโนโลยีสามารถการันตีการเติบโตแบบทวีคูณจากเครือข่ายที่พวกเขากำลังสร้าง ซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 10 หรือ 20 เท่าได้เลยด้วยซ้ำ

แต่ก็ต้องบอกว่าโดยพื้นฐานส่วนตัวแล้วนั้น Adam แทบจะไม่รู้วิธีการเขียนโค้ด ในความเป็นจริงเขาแทบไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ Adam ปล่อยให้ Rebekah และผู้ช่วยจัดการกับอีเมล์ส่วนใหญ่ของเขา

ต้องบอกว่า WeWork ยังมีหนทางที่ยาวไกลในการก้าวไปสู่การเป็นบริษัทด้าน เทคโนโลยี ที่ WeWork แทบไม่มีใครเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แม้กระทั่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ยังขาด ๆ หาย เลยเสียด้วยซ้ำในตอนนั้น

WeWork ได้ลองพยายามสร้างบริการที่มีชื่อว่า WeConnect ที่จะเป็น คาเฟ่ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด และ กาแฟระดับไฮเอนด์ ไม่เพียงช่วยให้พิมพ์เอกสารและจองห้องประชุมได้ง่ายขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่แท้จริงอีกด้วย

WeWork ได้พยายามทำให้เหล่าผู้เช่าที่เป็นนักธุรกิจมีการเชื่อมต่อกัน ไม่ใช่แค่เพียงทางกายภาพผ่านสถานที่เท่านั้น ตัวอย่างเช่น WeConnect มีขึ้นเพื่อให้นักบัญชีสามารถเชื่อมต่อกับนักออกแบบกราฟฟิกที่สถานที่ตั้งใหม่ของ WeWork ใน West Hollywood หรือกับสมาชิก WeWork คนอื่น ๆ จากจำนวนทั้งหมด 3,000 คนได้

แต่ด้วยความอ่อนด้อยด้านเทคโนโลยี แม้ตัว Miguel เองจะมีทักษะการเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐานจาก Startup ตัวแรกของเขาอย่าง Englist Baby! ก็ตามที

แต่ในการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของบริการอย่าง WeConnect พวกเขาก็ต้องพบกับความสยดสยองของโลกเทคโนโลยี เมื่อต้องใช้เวลาหลายนาทีในการโหลดหน้าโปรไฟล์เพียงหน้าเดียวเท่านั้น

ภายในปี 2013 แทบไม่มีสมาชิก WeWork ใช้เครือข่าย WeConnect อย่างจริงจัง แม้ WeWork จะมีข้อดีที่สามารถเดินไปตามห้องโถงและพบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ แต่ประโยชน์ของการรู้จักสมาชิก WeWork ทุกคนนั้นยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ และไม่มีการเชื่อมต่อกับแบบดิจิตอลเลยด้วยซ้ำ

Adam เริ่มถูกกดดันจากนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนใน WeWork อย่าง Benchmark ที่ต้องการให้ WeWork เติบโตมากขึ้นกว่านี้ บริษัทได้รับเงินลงทุน 16.5 ล้านดอลลาร์ในการระดมทุนในรอบ Series A ทำให้บริษัทมีมูลค่าพุ่งไปถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหล่าพนักงานจำนวนมากของ WeWork ต่างเฉลิมฉลองกับก้าวแรกของความสำเร็จของ WeWork ในครั้งนี้ แต่ต้องบอกว่าเงินทุนที่เข้ามาใหม่ มาพร้อมกับความคาดหวังที่มากขึ้น WeWork ได้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งมี Bruce Dunlevie ผู้ร่วมก่อตั้ง Benchmark เข้ามาเสริมทัพ

Bruce Dunlevie จาก Benchmark Capital เข้ามาลงทุน Series A ให้กับ WeWork (CR:investor.com)
Bruce Dunlevie จาก Benchmark Capital เข้ามาลงทุน Series A ให้กับ WeWork (CR:investor.com)

แต่ Adam ก็ยังมั่นใจว่าบริษัทของเขา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สิ่งแรกที่ Adam และ Miguel มองเห็นคือ การสร้างซอฟต์แวร์ภายในเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำเสนอ WeWork ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี และเพื่อค้นหาวิธีการทำงานหรือวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ

พวกเขาฝันไกลไปถึงขนาดที่ว่า เครือข่ายสมาชิกจะอนุญาตให้พวกเขาขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้กับสมาชิกได้ ตั้งแต่แผนการดูแลสุขภาพไปจนถึงการสมัครสมาชิกซอฟต์แวร์ลดราคา ซึ่งเมื่อมีสมาชิกในเครือข่ายจำนวนมาก WeWork สามารถทำกำไรจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานในเครือข่ายมากพอนั่นเอง

มาถึงตอนนี้ WeWork กำลังจะ Transform ตัวเองจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ สู่บริษัทเทคโนโลยีแบบเต็มตัวแล้ว ด้วยเงินทุนที่เข้ามาอัดฉีด ดูเหมือน Adam ยังมั่นใจในวิสัยทัศน์ใหม่ของเขา แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ WeWork พวกเขาจะสามารถผลักดันตัวเองให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างที่ Adam ฝันไว้ได้หรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Greater Fools

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube