Billion Dollar Loser ตอนที่ 4 : WeWork – Revolution at Work

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโปรเจค Green Desk มันก็ถึงเวลาที่ทั้ง Adam และ Miguel ต้องมาลุยเต็มตัวกับโปรเจคนี้ เพราะพวกเขากำลังมองเห็นอนาคตบางอย่างกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่

สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำก็คือการตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ ให้หลีกหนีพ้นร่มเงาของเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่พวกเขาไม่ได้ต้องการให้ธุรกิจของเขาเป็นแบบนั้นตั้งแต่แรก

หลังจากหลายเดือนของการระดมความคิดกับทีมงานที่ไร้ผล Andrew Finkelstein ชายผู้ที่เป็นคนแนะนำให้ Adam รู้จักกับ Rebekah แฟนสาวของเขาได้โยนความคิดออกไปอย่างนึง นั่นก็คือ “WeWork” โดย Finkelstein กล่าวว่า “มันคือ WeLive มันคือ WeSleep มันคือ WeEat”

มันเป็นชื่อที่สนใจจน Adam และ Miguel ต่างคล้อยตาม พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะถอยจากโปรเจค Green Desk และมาร่วมกันเริ่มต้นใหม่กับ WeWork แบบเต็มตัว

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองหาอาคารในแมนฮัตตันที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงตกต่ำจากวิกฤติทางด้านการเงินตั้งแต่ปี 2008

โลกแห่งเทคโนโลยีกำลังเร่งเข้ามาแทนที่ Wall Street ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญใหม่ของความทะเยอทะยานทางธุรกิจของชาวอเมริกัน Coworking Space กำลังปรากฏขึ้นทั่วในเมืองใหญ่ เช่น ในนิวยอร์ก หรือ ซานฟรานซิสโก

Coworking Space กำลังปรากฏขึ้นทั่วในเมืองใหญ่ทั่วอเมริกา (CR:medium.com)
Coworking Space กำลังปรากฏขึ้นทั่วในเมืองใหญ่ทั่วอเมริกา (CR:medium.com)

เหล่าฟรีแลนซ์ที่ใช้แล็ปท็อปได้เช่าโต๊ะทำงานในพื้นทีที่ใช้ร่วมกันด้วยความสวยงามแบบ DIY ความหวังของ Adam และ Miguel คือการผสมผสานระหว่างการเปิดกว้างและโลกที่คลุมเครือของสำนักงานแบบดั้งเดิม

ในช่วงฤดูใบร่วงปี 2009 เพื่อนคนหนึ่งแนะนำ Adam ให้ดูอาคารที่ 154 Grand Street ย่านโซโห มันเป็นย่านที่มีตึกระฟ้าระดับคลาส A+ ไปจนถึงตึกซอมซ่อ โดยอาคารดังกล่าวที่ Adam ได้ไปดูนั้นกำลังมีการปรับปรุงระบบทางเดินรวมถึง Facility ครั้งใหญ่ ซึ่งอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายนับล้าน

แม้แต่เจ้าของอาคารทรุดโทรมดังกล่าว ก็ยังไม่อยากจะทำอะไรกับมัน Miguel และ Adam ได้เดินหน้าเจรจากับเจ้าของ และการเจรจาก็เริ่มตึงเครียดเพราะทั้งคู่ต้องการให้เก็บค่าเช่าในระดับต่ำ ๆ ในขณะที่ต้องการเงินค่าก่อสร้างจำนวนมหาศาลเพื่อปรับปรุงพื้นที่ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการขยายตัวในอนาคต

แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน การเจรจาก็สัมฤทธิ์ผล การก่อสร้างเริ่มขึ้นทันที โดยมีแผนที่จะเปิดทีละชั้น ทั้ง Miguel และ Adam บอกผู้เช่าว่า พวกเขาตั้งใจจะสร้างห้องออกกำลังกายที่ชั้นใต้ดินของอาคาร และกำลังคุยกับทางเทศบาลเมืองนิวยอร์กเกี่ยวกับการสร้างสวนสาธารณะในที่ว่างฝั่งตรงข้ามถนน

Miguel ต้องการทำให้ WeWork รู้สึกเป็นเหมือนสำนักงานให้น้อยที่สุด แต่ให้มันเป็นเหมือนโรงแรมบูติกเสียมากกว่า ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วเมืองนิวยอร์ก

WeWork เปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 โดยมีผู้เช่าเจ็ดสิบคน ซึ่งได้แก่ นักดนตรีผู้เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีและเหล่าสถาปนิก แม้ WeWork จะไม่ใช่สำนักงานที่ถูกที่สุดในนิวยอร์ก แต่ผู้คนต่างเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับการออกแบบที่ดูดีมีสไตล์ และเงื่อนไขการเช่าที่มีความยืดหยุ่น และความรู้สึกของความเป็น community มากกว่าสำนักงานแห่งอื่น ๆ

WeWork ต้องการเป็นมากกว่าสำนักงาน หัวใจสำคัญที่ Adam และ Miguel วางตำแหน่งของ WeWork คือ การเสนอทางเลือกให้กับความฝันแบบ American Dream ซึ่งมันไม่ใช่รูปแบบองค์กรสมัยโบราณที่ต้องไต่เต้าตำแหน่งเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กรอีกต่อไป

เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการหลาย ๆ คน Adam นั้นชื่นชอบ Steve Jobs และมองเป็นไอดอลของเขา ความทะเยอทะยานที่สุดที่เขาได้แนวคิดจาก Jobs คือ การขับเคลื่อนองค์กรโดยไร้ซึ่งความปราณี แบบที่ Steve Jobs ทำกับ Apple

เหล่าพนักงานกลุ่มแรก ๆ ของ WeWork หลายคนรู้สึกงงงวยกับอารมณ์ที่แปรปรวนของ Adam WeWork เองก็ไม่ได้เสนอเงินเดือนจำนวนมาก และไม่ได้ให้ตัวเลือกในการจัดสรรหุ้นให้กับพนักงาน มีแต่คำพูดลอย ๆ ของ Adam ที่บอกว่า WeWork จะช่วยสร้างวิธีการทำงานที่ดีขึ้น และเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้น

แม้ในช่วงแรก Adam จินตนาการถึงบริษัท ที่มีสำนักงานกว่าร้อยแห่ง และ บอกกับเพื่อน ๆ เขาว่า เขากำลังสร้างธุรกิจแสนล้านดอลลาร์อยู่ แต่ไม่มีใครในโลกแห่งอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์ก ที่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับสไตล์การแต่งตัวของ Adam ด้วยเสื้อยืดและกางเกงยีนส์ของเขา

ในการประชุมด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ Park Avenue ทาง Adam ได้ถามผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งว่า บริษัทใดที่ให้เช่าพื้นที่สำนักงานมากที่สุดในนิวยอร์ก คำตอบคือ JPMorgan ซึ่งมีพื้นที่สามล้านตารางฟุต WeWork นั้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงเล็กน้อยในตอนนั้น แต่ Adam ก็มีความฝันว่าเขาจะแซงหน้า JPMorgan ได้ในสักวันหนึ่ง

WeWork ใน นิวยอร์กเป็นเพียงจุดเริ่มต้น บริษัทต้องการขยาย และทำการเปิด WeWork ไปทั่วทุกมุมโลก Adam และ Miguel ได้ร่างแผนที่บนแผ่นกระดาษที่แสดงว่าพวกเขาต้องการไปไหนต่อ : ซานฟรานซินโก ลอสแองเจลิส โตรอนโต โดยมีเส้นเวกเตอร์มุ่งหน้าไปยังมอนทรีออล บอสตัน ชิคาโก อิสราเอล และ ลอนดอน

พนักงาน WeWork ในยุคแรก ๆ นั้น เข้าร่วมกับบริษัท ในบทบาทหน้าที่ ที่ไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย ซึ่งอาจจะต้องทำงานที่ใช้แรงงานมากกว่าตำแหน่งที่อยู่บนนามบัตรของพวกเขาเสียอีก

ตัวอย่างเช่น WeWork ได้ทำการปรับปรุงชั้นแรกที่ Empire State เสร็จในเวลาเพียงยี่สิบเก้าวัน เหล่าพนักงานต้องคอยมาช่วยเหลือในการขนถ่ายเสบียง หรือ ช่วยเหลือในการขนสิ่งของต่าง ๆ Adam มักปฏิเสธที่จะเลื่อนเวลาเปิดสำนักงานใหม่ เขามักบังคับให้พนักงานทุกคนทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ตราบใดที่ Wi-Fi ยังใช้งานได้อยู่

พนักงานโดยส่วนใหญ่นั้นจะอยู่กับ WeWork ไม่ถึงหนึ่งปี โดยส่วนใหญ่แล้วช่วงแรก ๆ พนักงานจะสนุกสนานกับการสร้างสิ่งใหม่ ๆ office ใหม่ ๆ หลายคนร่วมงานกันจนกลายเป็นเพื่อนสนิท และ WeWork ก็กำลังขยายอย่างรวดเร็ว

แต่ดูเหมือนว่าการมุ่งเน้นไปที่การสร้างชุมชนและการสร้างวิธีการทำงานที่ดีขึ้นนั้น จะดูสวนทางกับสภาพพนักงานของ WeWork รวมถึงประสิทธิภาพในการเติบโต และการประเมินมูลค่าของบริษัทในระยะยาว

Adam และ Miguel มักจะจับมือทำงานร่วมกันในทุกส่วนของการดำเนินงานของ WeWork โดย Adam นั้นให้อำนาจเต็มที่กับ Miguel ในการจัดการรูปแบบของพื้นที่ใหม่แต่ละแห่ง

Adam จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการก้าวเข้าสู่บทบาทซีอีโอ โดยรวบรวมวิสัยทัศน์ของบริษัท แสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ เขาเริ่มมีชื่อเสียงไปทั่วนิวยอร์ก ต้องบอกว่า Adam เป็นคนช่างฝันและเป็นคนคอยจัดการสิ่งต่าง ๆ ส่วน Miguel นั้นทำให้ WeWork แตกต่าง

เริ่มมีการสร้างลำดับชั้นของพนักงานขึ้นใน WeWork ซึ่ง Adam ได้รวมรวมพนักงานกลุ่มหนึ่งและมอบหน้าที่ให้กลายเป็นทูตของ Brand “WeWork” และต้องแต่งตัวตามสไตล์ของเขา

Adam นั้นสวมเสื้อยืดและกางเกงยีนส์เกือบทุกวัน แต่เสื้อของเขามาจากร้าน James Perse และมีราคา 200 เหรียญ “มันเป็นเสื้อยืดที่มีความแตกต่าง” Adam กล่าวกับทีมของเขา

เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ที่ Adam นั้นใส่มาทำงานแทบทุกวัน (CR:The News Republic)
เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ที่ Adam นั้นใส่มาทำงานแทบทุกวัน (CR:The News Republic)

ในปี 2011 WeWork ได้กำหนดให้พนักงานต้องลงนามในข้อตกลงที่ไม่ให้พวกเขาเปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 18 เดือน หลังจากออกจากบริษัท ซึ่งในตอนนั้นต้องบอกว่ากระแสการสร้างสำนักงานที่คล้าย ๆ กันกับ WeWork กำลังเติบโตขึ้นทั่วประเทศ

Adam ได้เน้นว่าจ้างพนักงานใหม่จำนวนมาก ที่เพิ่งจบการศึกษามาได้ไม่นาน และเป็นคนหัวอ่อน ซึ่งคนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้ามาด้วยความฝันที่เต็มเปี่ยม และมีความสุขที่ได้ทำงานทุกประเภทท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตอนนั้น

แม้บริษัทจะมีวิสัยทัศน์ที่จะนำชีวิตที่ดีมาสู่การทำงาน แต่เหล่าพนักงานซีเนียร์ของ WeWork หลายคน ก็มีภาระในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภรรยาหรือลูก การให้สวัสดิการอย่าง การไปเที่ยวหรือดื่มเบียร์ฟรีในที่ทำงาน ไม่ได้เป็นประโยชน์กับพวกเขามากนัก

ที่ WeWork มักให้ทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ ติด ๆ กันในทุก ๆ สัปดาห์ มันดีสำหรับพนักงานวัยหนุ่มสาว แต่เหล่าซีเนียร์ก็ไม่ค่อยชอบใจในสิ่งนี้ และสวัสดิการต่าง ๆ ของบริษัท บางครั้งก็ไม่ได้รับความสนใจจาก Adam เลย

WeWork นั้นแทบจะไม่ให้สวัสดิการด้านประกันสุขภาพกับพนักงานเลยในช่วงเริ่มต้นบริษัท และไม่มีนโยบายลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ตัว Adam เองก็แทบจะไม่ได้หยุดงานเลยเมื่อ Rebekah คลอดลูกคนแรกในปี 2011

Adam นั้นมองว่าตนเองเปรียบเสมือนศาสดา ของศาสนจักร WeWork ที่ทุกคนต้องทำตาม ทุกคนต้องจงรกภักดีต่อเขา แม้ Adam จะทะเลาะกับพนักงานหลาย ๆ คน เมื่อบริษัทเริ่มเติบโตขึ้น แต่เขามองไปที่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า นั้นคือ WeWork ที่กำลังขยายอิทธิพล และเริ่มเผยแพร่ความเชื่อในแนวคิดรูปแบบสำนักงานใหม่ไปทั่วโลกนั่นเอง

ต้องบอกว่า มาถึงตอนนี้ WeWork กลายเป็นเสือติดปีก ที่กำลังแผ่ขยายกิจการ สร้างสังคมการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เป็นการ disrupt ธุรกิจสำนักงานล้าสมัยแบบเดิม ๆ ไปอย่างหมดสิ้น แต่ดูเหมือนปัญหาภายในนั้นก็กำลังรอปะทุอยู่ในไม่ช้า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Adam และ WeWork โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Digital Transformation

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube