Billion Dollar Loser ตอนที่ 10 : Game of Thrones

ในปี 2017 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM จำเป็นต้องหาสำนักงานในนิวยอร์กอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับพนักงาน 600 จากแผนกการตลาด ซึ่งหลังจากพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ แล้ว จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่ในอาคาร 11 ชั้น ที่ University Place ใน Greenwich Village ซึ่งอาคารแห่งนี้ดำเนินการโดย WeWork

WeWork ได้พยายามโน้มน้าวให้บริษัทใหญ่ ๆ ใช้ข้อเสนอแบบ Space as a service แต่มันก็พบกับจุดจบอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสัญญาณ Wi-Fi ที่ขาด ๆ หาย ๆ ลิฟต์ของอาคารก็มีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พนักงาน IBM ต้องใช้บันไดอยู่หลายเดือน

ในอาคารส่วนใหญ่ที่ WeWork เช่าช่วงมาต่อนั้น เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ เช่น การบำรุงรักษาลิฟต์ แต่เงื่อนไขของสัญญาเช่ากับ อาคารหลังนี้มีความผิดปรกติ และโยนให้ WeWork รับหน้าที่ในการซ่อมแซมแทน

มันเป็นผลจากการที่ Adam นั้นเป็นเจ้าของอาคารแห่งนี้เสียเอง เขาซื้อมันด้วยเงิน 70 ล้านเหรียญจาก Elie Tahari นักออกแบบแฟชั่นที่เขารู้จักจาก Kabbalah Center

โดยก่อนที่จะให้ WeWork เข้ามาเช่าพื้นที่นั้น Adam ไม่ได้เปิดเผยสัดส่วนการถือหุ้นของเขาในอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยทางจริยธรรม ซึ่งดูเหมือนเขากำลังหารายได้โดยเก็บค่าเช่าจากบริษัทของตัวเอง

University Place กับอาคารเจ้าปัญหาที่ Adam เป็นเจ้าของเสียเอง (CR:TheRealDeal.com)
University Place กับอาคารเจ้าปัญหาที่ Adam เป็นเจ้าของเสียเอง (CR:TheRealDeal.com)

ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ Adam และผู้บริหาร WeWork กลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จัก ได้กระทำการในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว โดยการหารายได้เข้ากระเป๋าจากการเก็บค่าเช่าจาก WeWork เสียเอง

Adam , Mark Lapidus และ Ariel Tiger เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของอาคารใน Varick Street ของ WeWork ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งที่ 4 ในนิวยอร์กของบริษัท

ในปี 2013 คณะกรรมการของ WeWork ได้คัดค้านความพยายามของ Adam ที่จะซื้อส่วนหนึ่งของอาคารในชิคาโกที่ WeWork วางแผนที่จะเช่า มันเป็นเรื่องขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัทอย่างชัดเจน

ซึ่งการคัดค้านดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ แต่เมื่อ Adam เข้ามาควบคุมคณะกรรมการได้แบบเบ็ดเสร็จ เขาก็สนองตัณหาส่วนตัวได้สำเร็จ โดยในฤดูใบไม้ผลิของปี 2018 WeWork ได้จ่ายค่าเช่าให้ Adam มากกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ

Adam นั้นยืนยันมานานแล้วว่า WeWork ไม่ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของอาคาร “เราไม่ซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน” เขากล่าวในปี 2015

แต่เมื่อถึงช่วงปลายปี 2017 WeWork ได้เปิดตัวบริษัทชื่อ WeWork Property Advisors ซึ่ง WeWork จ่ายเงินประมาณ 850 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพื้นที่ของ Lord & Taylor ในแถบมิดทาวน์

มันเป็นสิ่งที่ Adam จินตนาการไว้สำหรับอาคารของตัวเองที่พร้อมด้วย โรงยิม โรงเรียน และ คลินิคทันตกรรม สำหรับพนักงานของห้างสรรพสินค้า

แผนสำหรับ WeWork Property Advisors เรียกร้องให้ระดมเงินจากนักลงทุนเพื่อช่วย WeWork ซื้ออาคาร ทีมจัดตั้งกองทุนหวังว่าจะระดมทุนได้ 1 พันล้านดอลลาร์

แต่ Adam มีความคิดที่ดีกว่า : ทำไมไม่ระดมทุนให้ได้ แสนล้านดอลลาร์ไปเลยล่ะ ? ซึ่งมันจะเป็นกองทุนวิสัยทัศน์สำหรับสิ่งปลูกสร้างและเป็นกองเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกทันที

แน่นอนว่า หาก Adam ระดมทุนได้ แสนล้านดอลลาร์ มันก็จะตอบแทนให้กับเขาได้สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์นั่นเอง มันเป็นความคิดที่บัดซบมาก ๆ ที่ผู้ก่อตั้งบริษัท กลับมาคิดหากำไรจากบริษัทของตัวเองอย่างที่ Adam ทำ

เรื่องจัดการคนก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับ Adam เช่นกัน ในปี 2017 Adam ได้มือดีอย่าง Rich Gomel ที่เข้ามาร่วมงานกับ WeWork ในตำแหน่งประธานของบริษัท ซึ่ง Gomel เองมีประสบการณ์กว่าทศวรรษที่ Starwood Hotels และอีก 5 ปีในบริษัทการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของ JPMorgan

Gomel ถูกดึงตัวมา และได้รับการดูแลอย่างดีเพื่อเป็นซีอีโอคนต่อไปของ WeWork ซึ่ง Adam จะก้าวลงจากตำแหน่ง หลังจากนำบริษัทผ่านช่วงการสเกลแบบสายฟ้าแลบ และจะขึ้นไปเป็นประธานคณะกรรมการของบริษัท WeWork ซึ่งเขาสามารถผลักดันวิสัยทัศน์ของเขาต่อไปได้ในขณะที่ Gomel จะนำ WeWork เข้าสู่ยุคใหม่ในฐานะบริษัทมหาชน

Gomel นั้นได้รับตำแหน่งแทน Artie Minson ซึ่งได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งซีอีโอของ Adam ในช่วงก่อนหน้านี้

การก้าวเข้ามาของ Gomel มีสาเหตุเนื่องมาจาก Minson เองนั้นไม่เชื่อในในเรื่องการผลักดันให้ WeWork กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างที่ Adam ฝันใฝ่ รวมถึงการที่ไปแสดงความสงสัยเกี่ยวกับเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่ Adam ใช้จ่ายในการซื้อกิจการ นั่นเป็นเหตุให้เส้นทางอนาคตของ Minson ดับมอดลงไป

มีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้บริหาร ซึ่งมีการถูกสับเปลี่ยนเข้าออกจากผู้บริหารระดับสูงที่มีความใกล้ชิดกับ Adam อยู่ตลอดเวลา

“เขาทำให้พวกเราทุกคนทะเลาะกัน” ผู้บริหารคนหนึ่งกล่าว เขาเปรียบชีวิตตัวเองที่อยู่ใน WeWork ว่าเหมือนกำลังอยู่ในบทละครของ Series ชื่อดังอย่าง “Game of Thrones”

Adam มักจะใช้ตารางงานที่ล้นเกินไปของเขาเป็นเครื่องมือในการควบคุมบังคับให้ผู้บริหารประชุมกันทุกชั่วโมงทั้งคืน ที่บ้านคนใดคนหนึ่ง หรือต้องนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวข้ามประเทศร่วมประชุมแบบทันทีหาก Adam ต้องการ

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2017 Adam ก็ทำการสับเปลี่ยนทีมผู้บริหารอีกครั้ง โดยปรับให้ Minson จากซีโอโอของบริษัทให้กลายมาเป็นซีเอฟโอแทน และ ผลักดันคนใหม่อย่าง Jennifer Berrent ให้เข้ามาแทนที่ในตำแหน่งซีโอโอ

Berrent มีภาพลักษณ์ต่อหน้าสาธารณะชนในแง่มุมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และตำแหน่งของเธอในฐานะผู้บริหารหญิงระดับสูงของบริษัท เป็นที่มาของแรงบันดาลใจสำหรับพนักงาน WeWork หลายคน

แต่เธอกลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนที่ทำงานใกล้ชิดกับเธอในฐานะ ลูกสมุนของ Adam ซึ่งไม่เพียงแค่งานด้านกฏหมายเท่านั้น เธอยังได้รับโอกาสจาก Adam เข้ามาดูแลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทอีกด้วย

Jennifer Berrent ผู้บริหารหญิงคนใหม่ที่ถูกใจ Adam เป็นอย่างมาก (CR:law.com)
Jennifer Berrent ผู้บริหารหญิงคนใหม่ที่ถูกใจ Adam เป็นอย่างมาก (CR:law.com)

เธอมักจะสะท้อนเป้าหมายที่ Adam ตั้งไว้สำหรับบริษัท คือการปลดพนักงาน 20% ของ WeWork ในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เลียนแบบมาจาก Jack Welch ในเวอร์ชั่นแบบสายฟ้าแลบที่ว่าคนงาน 10% ที่มีผลงานต่ำที่สุดของบริษัทควรถูกคัดออกอย่างสม่ำเสมอ

Adam ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ Berrent ไม่เพียงแต่เรื่องความสามารถทางด้านกฏหมายเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความภักดีของเธอซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ Adam แสวงหามานานในเหล่าผู้บริหารของเขา

ส่วนบทบาทของ Miguel นั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงต้นของบริษัท Miguel เป็นคนกำหนดความสวยงามของ WeWork แต่เมื่อ Adam ต้องสเกลบริษัทเพื่อให้รองรับความต้องการของนักลงทุน บทบาทของ Miguel ก็จางหายไปตามกาลเวลา

เมื่อ WeWork กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานหลายพันคน Miguel ได้ปล่อยให้ใบอนุญาตทางสถาปัตยกรรมของเขาหมดอายุลง และบทบาทของเขาในกระบวนการออกแบบก็ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

การจัดการกับสถาปนิกกลุ่มใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำงานที่เติบโตขึ้นจนมีคนมากกว่า 100 คน ก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเขา ที่สำคัญ Miguel ยังคงเป็นนักออกแบบที่ขี้อายที่สุดที่สวมหูฟังและคอยสเก็ตช์แบบที่อยู่ตรงหน้าเขา

นอกจากนี้เขายังไม่เคยรู้สึกสบายใจเลยกับบทบาทในที่สาธารณะที่ Adam หวังให้ Miguel มีมากขึ้น เขาชอบยืนอยู่นอกเวทีในขณะที่ Adam กำลังร่ายมนต์ให้กับคนฟังกลุ่มใหญ่ในห้องประชุม Miguel แทบจะไม่กระตือรือร้นกับคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจใด ๆ ของ Adam เลย

แม้ Adam จะมอบอำนาจให้กับ Miguel หรือ Minson หรือใครก็ตาม แต่ดูเหมือน WeWork ยังคงเป็นบริษัทของ Adam เสมอ ทุกสิ่งที่ WeWork หมุนรอบตัวเขา และเสน่ห์ที่เขาปรับใช้กับการแสวงหานักลงทุนก็ส่งผลเช่นเดียวกันกับพนักงานของเขา

นั่นเองที่ทำให้เหล่าพนักงานเริ่มรู้จักวงจรชีวิตที่แท้จริงใน WeWork พนักงานใหม่จะเข้ามาด้วยความตื่นเต้นเป็นเวลา 6-9 เดือน

เมื่อทำงานไปจนถึง 18 เดือนพวกเขาจะพบกับความเหนื่อยล้าและท้อแท้ ซึ่งมันก็ถึงเวลาที่พวกเขาต้องถูกแทนที่ หรือต้องลาจากบริษัทไปเอง

ในช่วงท้ายของปี 2018 WeWork มีพนักงานมากกว่า 1 หมื่นคนอย่างรวดเร็ว ครึ่งหนึ่งของพวกเขาอยู่กับบริษัทน้อยกว่า 6 เดือน พนักงานหลายคนเริ่มมองว่า WeWork มีความเป็นบริษัทน้อยกว่าความเป็นลัทธิสนองตัณหาของ Adam ไปเสียแล้วจริง ๆ

ดูเหมือนเรื่องร้ายแรงอย่างปัญหาเรื่องจริยธรรมที่ Adam หาผลประโยชน์จากบริษัทเข้ากระเป๋าตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่คณะกรรมการหลายคนคงรับไม่ได้ แถมเรื่องการจัดการคน ก็ดูเหมือนว่า Adam จะไม่มีทักษะทางด้านนี้เลย เขาเป็นแค่คนที่มีสเน่ห์และคอยร่ายมนต์ให้กับเหล่านักลงทุนหลงใหลคล้อยตามความฝันของเขาได้เท่านั้น

สถานการณ์ในตอนนี้ดูเหมือนจะมาใกล้ถึงจุดสิ้นสุดเต็มทีแล้ว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Adam และ WeWork โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Code Name Fortitude

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ