ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 16 : End of the Begining

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเราที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าเหล่า Inventor หรือนักคิดนักประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ นั้น มักจะถูกมองหาว่าคิดเรื่องที่เพ้อฝันมาก่อนแทบจะทั้งสิ้น ไม่จะเป็น โธมัส เอดิสัน , นิโคลา เทสลา หรือ แม้กระทั่งตัว อีลอน มัสก์ เองก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขายึดไว้เหมือนกันคือ การอดทนต่อคำวิจารณ์เหล่านี้ แล้วแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาทำได้ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลกเราให้ดีขึ้นแทบจะทั้งสิ้น

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้คิดแค่เพียงเรื่องของเงินทองเท่านั้น มันเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนพวกเขาให้ก้าวนอกกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เคยมามีให้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างนึง ที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนโลกเราได้

สำหรับคำถามที่ว่า มัสก์กำลังนำพาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไปสู่จุดสูงสุดครั้งใหม่ เหมือนที่เกตส์ กับ จ๊อบส์ เคยทำได้หรือไม่นั้น ตอนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แม้ ไอเดียต่าง ๆ ของมัสก์ จะเป็น ไอเดียที่เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นแทบจะทั้งสิ้น

แต่ก็มีบางฝ่าย ที่มองเห็นว่า ทั้ง Tesla , SpaceX หรือ SolarCity นั้น เป็นเพียงการมอบความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แก่อุตสาหกรรม ว่าจะสามารถใช้นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ได้ ส่วนอีกฝ่ายก็มองว่า มัสก์ นั้นคือตัวจริงเสียงจริง เขากำลังจะกลายเป็นดาวดวงใหม่ที่กำลังเปล่งประกายสว่างสไวที่สุดของสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีที่กำลังมาถึง

หากจะทำความเข้าใจว่างานของมัสก์ ที่เขากำลังสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น  ท้ายที่สุดแล้วจะทรงพลังมากแค่ไหนสำหรับเศรษฐกิจอเมริกัน ก็ต้องลองนึกถึงเครื่องจักรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ซึ่งนั่นก็คือ สมาร์ทโฟน ในยุคก่อน iPhone นั้น สำหรัฐเป็นพวกที่ล้าหลังในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหลายล้วนอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชียเพียงเท่านั้น

แต่เมื่อการมาถึงของ iPhone ที่ สตีฟ จ๊อบส์ ได้เปิดตัวขึ้นในปี 2007 มันก็ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปตลอดกาล อุปกรณ์ของ จ๊อบส์ ชิ้นนี้เลียนแบบฟังก์ชันการทำงานหลายอย่างของคอมพิวเตอร์ และเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ เข้ามาด้วย application รวมถึง เซ็นเซอร์ต่าง ๆ

การเปิดตัว iPhone ของสตีฟ จ๊อบส์ในปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมมือถือในอเมริกา
การเปิดตัว iPhone ของสตีฟ จ๊อบส์ในปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมมือถือในอเมริกา

ซึ่งตามมาด้วยการที่ google บุกด้วยตลาดทางด้านซอฟต์แวร์แอนดรอยด์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี สหรัฐก็กลับมาผงาดขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอุปกรณ์พกพา และสร้างการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานที่มีอยู่ทั่วโลกในเวลาเดียวกัน

มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก ๆ ของซิลิกอน วัลเลย์ ที่ทำให้อเมริกา กลับมาเชิดหน้าชูตาในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกครั้ง ซึ่งมันนำไปสู่ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ผลักดัน apple ให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้สำเร็จ ซึ่งสามารถส่งขายอุปกรณ์อันชาญฉลาดไปยังทั่วโลก กว่าหลายพันล้านชิ้น

และตอนนี้ งานของอีลอน มัสก์ กำลังอยู่ในจุดที่สูงสุดของกระแสใหม่ ที่เป็นการรวมกันระหว่างซอฟต์แวร์อัจฉริยะ กับ ฮาร์ดแวร์ การที่ทั้ง Tesla และ SpaceX นั้นใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ซอฟต์แวร์เข้ามาจัดการภายใน นั่นถือว่าเป็นการผนวกศาสตร์ทางด้านอุตสาหกรรมของโลกยุคเก่า เข้ากับ เทคโนโลยีของผู้บริโภคในราคาถูก ของโลกยุคใหม่ มันเป็นการหล่อหลอมรวม แล้วสร้างมันให้กลายเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศอเมริกาเลยก็ว่าได้

ในตอนนี้ เท่าที่ ซิลิกอนวัลเลย์ พยายามหาผู้สืบทอดบทบาทของจ๊อบส์เพื่อที่จะเป็นแรงชี้นำอันทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมา ดูเหมือว่า มัสก์ เป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด แน่นอนว่าเขาเป็นชายสายเทคโนโลยีมาตั้งแต่แรกในการสร้าง Zip2

มัสก์ ผู้ที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะสืบทอด สตีฟ จ๊อบส์
มัสก์ ผู้ที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะสืบทอด สตีฟ จ๊อบส์

มัสก์ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชน และเหล่าบุคคลผู้เป็นตำนาน ต่างยกให้เขาเป็นคนที่น่าเลื่อมใสที่สุด ยิ่งเมื่อ Tesla กำลังกระโจนเข้าสู่กระแสหลักมากขึ้นเท่าไหร่ ชื่อเสียงของมัสก์ก็ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น

การที่รถยนต์ Tesla อย่าง Model 3 นั้นสามารถทำยอดขายได้ถล่มทลาย มันจึงเป็นเป็นการโชว์ผลงานให้ประจักษ์ว่ามัสก์คือบุคคลหายากที่สามารถคิดใหม่ทำใหม่ในอุตสาหกรรม เขามีทักษะที่อ่านผู้บริโภคออก แบบเดียวกับที่จ๊อบส์ทำได้ การบริหารก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม และไอเดียของเขา ก็เริ่มหลั่งไหลพรั่งพรูออกมาเรื่อย ๆที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกเราให้ดีขึ้น

ทศวรรษต่อไปของบริษัทในเครือของมัสก์ น่าจะมีอะไรที่พิเศษ และสร้างความตื่นเต้นให้ชาวโลกได้พอสมควร ตัวมัสก์เองก็ได้เปิดทางให้ตัวเองกลายเป็นหนึ่งในนักนวัติกรรมและนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

มัสก์ พิสูจน์ ให้เห็นถึงความสำเร็จของเขา ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
มัสก์ พิสูจน์ ให้เห็นถึงความสำเร็จของเขา ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

คาดการณ์กันว่า ภายในปี 2025 นั้น เป็นไปได้ว่า Tesla จะผลิตรถยนต์ให้กลายเป็นกระแสหลักของตลาดได้สำเร็จ และเป็นกำลังหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเฟื่องฟู รวมถึงการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของ SolarCity จึงมีโอกาสที่บริษัทจะผงาดขึ้นเป็นบริษัทสาธารณูปโภคขนาดยักษ์ และเป็นผู้นำในตลาดพลังงานแสงอาทิตย์

แล้ว SpaceX ล่ะ มันเป็นความตื่นเต้นของมนุษยชาติมากที่สุดเลยก็ว่าได้ SpaceX น่าจะจัดเที่ยวบินขนส่งมนุษย์และสัมภาระขึ้นสู่อวกาศได้ทุกสัปดาห์ และการเดินทางไปยังดาวอังคารคงไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอีกต่อไปในอนาคต

ซึ่งถ้าทุกสิ่งเกิดขึ้นตามนี้ มัสก์ ซึ่งตอนนั้นจะอยู่ในวัยห้าสิบกลางๆ ก็จะกลายเป็นชายผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และอยู่ในหมู่คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดทันที เขาจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทมหาชนสามแห่ง

ซึ่งจริงอยู่ที่ว่า อนาคต นั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บริษัททั้งสามก็กำลังผจญกับปัญหาแตกต่างกันไป แต่มัสก์ ก็ได้เดิมพันครั้งยิ่งใหญ่กับการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์และความสามารถของพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ รวมถึงเทคโนโลยีการบินและอวกาศ มันเป็นความเสี่ยงที่มัสก์นั้นพร้อมที่จะรับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายของเขามันยิ่งใหญ่ เกินกว่าที่ใครจะคาดถึงนั่งเอง

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ Elon Musk จาก Blog Series ชุดนี้

ก่อนหน้านี้ผมได้เขียน Blog Series มามากมาย ที่เกี่ยวกับเหล่านักธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ แต่เมื่อได้เรียนรู้จากทุกคนนั้นจะพบว่า มัสก์ เป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง

มัสก์มองปัญหาใหญ่ ๆ ของโลกเราเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานทดแทน หรือ การเดินทางในอวกาศ ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างฝันของเขาให้สำเร็จขึ้นมาได้

ทั้ง SpaceX , Tesla หรือ SolarCity นั้น เป็นบริษัทที่ล้วนอยู่ในอุตสาหกรรมที่มี Impact ต่อโลกเราอย่างมหาศาล ทุกสิ่งที่เขาทำนั้นมีหลายคนเคยปรามาสว่าเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน และไม่มีทางเป็นไปได้ แต่มัสก์ ก็ได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าแม้จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ หรือ ยากเย็นเพียงใด เขาก็สามารถทำมันให้เห็นผลเป็นประจักษ์ได้สำเร็จ

เขาจับอุตสาหกรรมอย่างยานอวกาศ และ รถยนต์ ที่อเมริกาเหมือนจะถอดใจไปแล้ว และพลิกโฉมจนมันกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ได้สำเร็จ ซึ่งหัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้คือทักษะของมัสก์ในฐานะผู้สร้างซอฟต์แวร์และความสามารถในการประยุกต์มันเข้ากับเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ตอนนี้ มัสก์ ยังไม่มีสินค้ายอดฮิตในหมู่ผู้บริโภคเหมือนอย่าง iPhone หรือเข้าถึงคนมากกว่าพันล้านคนเหมือนอย่าง facebook ทำได้ แต่สิ่งที่เขาทำล้วนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่น้อยคนนักจะกล้าเข้ามาเสี่ยงทำเหมือนที่เขากำลังทำอยู่

อีลอน มัสก์ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการในซิลิกอน วัลเลย์ ที่ทำให้เห็นถึงอุตสาหกรรมใหม่ของเทคโนโลยี ทั้งของประเทศอเมริกาเอง รวมถึง ของโลกเราในอนาคต เขาไม่ใช่พวกที่แค่มัวไล่ตามหุ้นไอพีโอ เหมือนคนอื่นๆ  เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไมใช่เรื่องยากเลยสำหรับเขา เมื่อพิจารณาถึงความอัจฉริยะของเขา แต่เขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

การหลอมรวมกันอย่างกลมกลืนของซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุล้ำสมัย และประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ มันคือพรสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ของมัสก์ ที่ยากจะหาใครเทียบได้ในยุคปัจจุบัน 

เขาคือนักประดิษฐ์ นักธุรกิจ และนักอุตสาหกรรมที่มีไอเดียยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสินค้าที่ยิ่งใหญ่ได้ เขาเป็นนักคิดที่แหวกแนว  นักอุตสาหกรรมที่ก้าวล้ำที่สุดของอเมริกา หรืออาจจะเป็นก้าวล้ำที่สุดของโลกเราแล้วก็ว่าได้ในตอนนี้

มัสก์ เป็นนักประดิษฐ์ ที่เทียบเคียงได้กับผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โทมัส เอดิสัน
มัสก์ เป็นนักประดิษฐ์ ที่เทียบเคียงได้กับผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โทมัส เอดิสัน

และโดยส่วนตัวผมก็มั่นใจว่า เขาจะกลายเป็นบุคคลสำคัญที่สุด ที่โลกของเราต้องจารึกไว้ ในฐานะนักนวัตกรรม ไม่ต่างจากที่เราเคยเทิดทูน โทมัส เอดิสัน , นิโคลา เทสลา หรือ เฮนรี่ ฟอร์ด และที่สำคัญ มัสก์ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าผู้คน หันมาสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ และช่วยกันแก้ปัญหาของโลกเราใน Scale ที่ใหญ่ขึ้นเหมือนสิ่งที่มัสก์กำลังทำ ซึ่งเขาทำสิ่งที่ต้องการ และเขาจะไม่รามือกับมัน เพราะนั่นแหละคือโลกของชายที่ชื่อ อีลอน มัสก์  
และคงจะไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าเขาคือ The Real Iron Man ผู้ซึ่งเป็น โทนี่ สตาร์กในโลกแห่งความจริงนั่นเอง

–> อ่านตอนพิเศษ : Difficult and Painful

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 15 : Idea Overload

จากการที่มัสก์นั้นประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า เขาเป็นนักปฏิบัติชั้นเยี่ยม ไม่ใช่คุยแค่เรื่องที่เพ้อฝันจับต้องไม่ได้เท่านั้น เขาจะลงมือทำและแสดงให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของเขานั้นสามารถที่จะทำให้มันเป็นจริงได้ ทั้งที่หลาย ๆ คนอาจจะส่ายหน้าหนีเมื่อได้ยินไอเดียของเขาในครั้งแรกก็ตามที

ทั้ง Tesla และ SpaceX นั้น ถูกออกแบบขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่จุดประกายให้กลุ่มคนเปี่ยมพรสวรรค์จำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และหันมาทำสิ่งที่สร้างแรงบรรดาลใจ 

ตัวอย่างโครงการด้านอวกาศของ SpaceX นั้น มันเป็นความคิดแบบย้อนเวลาสู่อนาคต แม้มัสก์จะรู้ว่า โครงการอวกาศนั้นล้มเลิกไปนานแล้วก็ตาม เหล่าผู้คนต่างละทิ้งความยิ่งใหญ่ในอดีตของโครงการด้านอวกาศของสหรัฐ ในช่วงทศวรรษ 1970 แต่มัสก์นั้นสามารถพา SpaceX พิสูจน์ว่า มีวิธีที่จะนำพาอนาคตเหล่านี้กลับมาได้ มันเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีคุณค่าอย่างมหาศาล

ในเดือนสิงหาคมปี 2013 มัสก์ได้เปิดเผยแนวคิดใหม่ของสิ่ง ๆ นึงที่ถูกเรียกว่า Hyperloop โดยมัสก์นั้น ได้คิดถึงการปฏิวัติวงการขนส่ง มันจะเป็นวิธีการขนส่งแบบใหม่ ที่มนุษยชาติไม่เคยพบเจอมาก่อน

แนวคิดปฏิวัติระบบขนส่งใหม่อีกครั้งของมัสก์ Hyperloop
แนวคิดปฏิวัติระบบขนส่งใหม่อีกครั้งของมัสก์ Hyperloop

ใช้ความคิดง่าย ๆ ที่เปี่ยมไปด้วย Impact ที่มหาศาล การสร้างท่ออากาศเหมือนที่ใช้ส่งจดหมายภายในสำนักงาน  แต่มันเป็นท่อส่งขนาดยักษ์ ไว้สำหรับขนส่งคน และสินค้า มัสก์ ตั้งเป้าหมายที่จะเชื่อมเมือง ลอสแอนเจลิส กับ ซานฟรานซิสโก ด้วย Hyperloop ด้วยการสร้างท่อยกระดับ

โดยจะขนส่งคนหรือสินค้า โดยใช้ห้องโดยสารที่ถูกเรียกว่า Pod  มัสก์ได้กำหนดองค์ประกอบแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน การให้ท่อทำงานภายใต้ความดันต่ำ และทำให้ตัว Pod นั้นลอยขึ้นอยู่บนชั้นอากาศ  โดยตัว Pod นั้นจะถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และตัวมอเตอร์ที่มีการติดตั้งตลอดทั้งท่อ

Pod หรือห้องโดยสารรูปแบบใหม่ภายใน Hyperloop
Pod หรือห้องโดยสารรูปแบบใหม่ภายใน Hyperloop

กลไกเหล่านี้จะทำให้ตัว Pod สามารถทำความเร็วได้ถึง 800 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยการเดินทางจากลอสแอนเจอลิส ไปยัง ซานฟรานซิสโก ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 30 นาทีเพียงเท่านั้น และตัว Pod ก็ใช้แบตเตอรี่แบบเดียวกับที่ Tesla ใช้  ส่วนแหล่งพลังงานอื่น ๆ ก็ใช้สิ่งที่ มัสก์มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วใน SolarCity การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะทำให้สามารถประหยัดค่าการขนส่งได้เป็นอย่างมาก ซึ่งประมาณการณ์ไว้ว่า ผู้โดยสารแต่ละคนจะจ่ายเพียง 20 เหรียญในการเดินทางด้วย Hyperloop จาก ลอสแอนเจลลิส ไปยังเมือง ซานฟรานซิสโก

โดยขนาดของ Pod นั้นมีสองขนาด โดยตัวขนาดเล็กนั้น จะบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 28 คนต่อเที่ยว ส่วน Pod ขนาดใหญ่นั้น จะสามารถบรรจุผู้โดยสารมากกว่า รวมถึงสามารถที่จะบรรจุรถ ขนาดประมาณ Model X ของ Teslaได้ถึงสามคัน 

ซึ่งต้องบอกว่าแนวคิดในเรื่อง Hyperloop ของมัสก์ นั้นมีมานานแล้ว มันเกิดมาจากความเกลียดชังที่เขามีต่อระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทางรัฐนั้นได้วางแผนไว้ก่อนหน้าแล้วในรัฐแคลิฟอเนีย ซึ่ง การใช้รถไฟความเร็วสูงนั้นจะใช้เวลาราวๆ  สองชั่วโมงครึ่ง ในการเดินทางจาก ลอสแอนเจอลิส ไปยัง ซานฟรานซิสโก ซึ่ง ในทุกวันนี้การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นใช้เวลาราวๆ  หนึ่งชั่วโมง ส่วนการขับรถนั้นใช้เวลาราว ๆ 5 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การใช้ Hyperloop ที่ใช้การเดินทางแค่ 30 นาทีนั้น เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ทางเลือกใหม่ในการเดินทางข้ามเมืองระยะไกล
ทางเลือกใหม่ในการเดินทางข้ามเมืองระยะไกล

แต่การเสนอไอเดียดังกล่าวของมัสก์นั้น ดูเหมือนเขา แค่ต้องการให้เหล่านักการเมืองในสภาทบทวนเรื่องรถไฟความเร็วสูงใหม่เพียงเท่านั้น ซึ่งมัสก์ต้องการแสดงให้เห็นว่า แนวคิดใหม่ ๆ จะสามารถผลักดันรัฐให้เดินหน้าได้จริง ๆ ดีกว่ามายึดติดกับเทคโนโลยีแบบเก่าๆ  และเหตุผลหลักอีกอย่างก็คือ ตอนนั้นงานที่ SpaceX และ Tesla นั้นยุ่งเกินกว่าที่มัสก์จะทำอะไรอีกอย่างได้

แต่แล้ว มันก็มีบางอย่างที่ผลักดันมัสก์ ให้เข้ามาจริงจังกับ Hyperloop เมื่อเขาได้ปล่อยเรื่องเกี่ยวกับ Hyperloop ลงในนิตยสาร Bloomberg BusinessWeek ซึ่งหลังจากเรื่องดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปนั้น มันได้ถึงกับทำให้ server ของเว๊บล่มไปเลยทีเดียว

มีเหล่าผู้คนแห่กันเข้ามาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Hyperloop เหล่าแฟนคลับของมัสก์ ที่มีอยู่ทั่วโลกต่างเริ่มสนใจแนวคิดเกี่ยวกับ Hyperloop และมัสก์ เองก็ไม่อยากให้เหล่าแฟน ๆ ของเขาผิดหวัง  เขาจึงได้บอกนักข่าวว่าจะพิจารณาสร้างต้นแบบของ Hyperloop เป็นอย่างน้อยเพื่อพิสูจน์แนวคิดว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอย่างที่หลาย ๆ คนคิด

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านเรื่องราวจาก นิตยสาร Bloomberg BusinessWeek ต่างเชื่อมั่นว่ามัสก์จะทำมันได้สำเร็จ มันเป็นความเชื่อมั่นแบบแปลกประหลาดของผู้คน และมันส่งผลถึงมัสก์ มันบีบให้เขาต้องสร้างต้นแบบขึ้นมาให้สำเร็จ นี่คงเป็นเหตุผลที่มัสก์กลายเป็นผู้ที่ใกล้เคียงที่สุด ที่คนทั้งโลกคิดว่าเขาเป็น โทนี่ สตาร์ก ตัวจริง

ซึ่งไม่นานหลังจากที่มัสก์ได้ปล่อยแผนการเรื่อง Hyperloop เซอร์วิน พิเชวาร์ นักลงทุน แลเพื่อนสนิทของมัสก์ นำรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ติดตัวไปประชุมกับ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ทำเนียบขาว

และมันทำให้โอบามา หลงรักแนวคิดดังกล่าว และให้ทีมงานศึกษาข้อมูลดังกล่าว และในที่สุดก็จัดได้ให้มีการคุยส่วนตัวระหว่าง อีลอน มัสก์ กับ โอบาบาใน เดือนเมษายนปี 2014 และ เซอร์วิน พิเชวาร์ และเพื่อน ๆ รวมถึงมัสก์เอง ก็ได้กันร่วมก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Hyperloop Technologies ขึ้นมาจริง ๆ โดยหวังที่จะสร้าง เส้นทางสายแรกระหว่าง เมืองลอสแอนเจลลิส กับ ลาสเวกัส

ถกไอเดียเรื่อง Hyperloop กับ Obama หวังจะสร้างต้นแบบระหว่าง ลอสแอนเจลลิสและ ลาสเวกัส
ถกไอเดียเรื่อง Hyperloop กับ Obama หวังจะสร้างต้นแบบระหว่าง ลอสแอนเจลลิสและ ลาสเวกัส

จะเห็นได้ว่า มัสก์ นั้นเป็นคนที่ความมุ่งมั่นที่แรงกล้าเป็นอย่างมาก ไอเดียหลาย ๆ อย่างของเขาในหัวนั้นเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้นแทบจะทั้งสิ้น แม้หลายคนจะทำงานกับเขาด้วยยากมาก หลายคนอาจจะมองว่าเขาเป็นคนเพ้อฝัน แต่มัสก์นั้นก็พยายามช่วยให้ทุกคนที่ร่วมงานกับเขานั้นเข้าใจว่าเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของเขาคืออะไร ซึ่งเขาขับเคลื่อนสิ่งนี้ด้วยเลือดเนื้อหยาดเหงื่อ และหยดน้ำตาของเขามานับแต่แรกเริ่ม เขาเป็นคนที่เสี่ยงมากกว่าใคร และสุดท้ายแล้วมัสก์ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับสิทธิ์เป็นคนที่ยืนอยู่เบื้องหน้าสำหรับทุกสิ่งที่เขาได้สร้างขึ้นมา สำหรับตอนนี้จะเป็นบทสุดท้ายของเรื่องราวของชายที่ถูกขนานนามว่าเป็น โทนี่ สตาร์ก ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วนะครับ เรื่องราวในตอนสุดท้ายจะเป็นอย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามน้า

–> อ่านตอนที่ 16 : End of the Begining (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 14 : A Burning Man

พี่น้องตระกูลไรฟ์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของมัสก์นั้นคือเหล่าเด็กหนุ่มกลุ่มเดียวกันที่โตมาในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งพวกเขามีสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน คือ เป้าหมายในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้คิดมาตั้งแต่เยาว์วัย แม้ในช่วงทศวรรษ 1990 นั้นพวกเขาจะเป็นเพียงแค่เด็กที่ไร้เดียงสา ที่เดินไปตามถนนเพื่อถามร้านต่าง ๆ ในเมืองว่าต้องการให้ช่วยจัดการเรื่องระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่

เช่นเดียวกับมัสก์ พี่น้องตระกูลไรฟ์ ได้ใช้ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ มาสร้างระบบงานมาตรฐานหลายอย่างให้สามารถทำงานได้แบบอัติโนมัติ ภายใต้บริษัท Everdream นำโดย ลินดอน ไรฟ์ ผู้เป็นพี่ใหญ่ ร่วมกับ ปีเตอร์ และ รัสส์ ไรฟ์ ได้กลายมาเป็นเศรษฐีดอทคอม คนหนึ่งใน ซิลิกอน วัลเลย์ เหมือน ๆ กับที่มัสก์สามารถทำได้สำเร็จ ในยุคแรกเริ่มกับ Zip2 

ลินดอน ไรฟ์ กับพี่น้อง สร้าง Everdream จนประสบความสำเร็จ
ลินดอน ไรฟ์ กับพี่น้อง สร้าง Everdream จนประสบความสำเร็จ

โดยในปี 2004 ลินดอน กับ น้องชาย ปีเตอร์ และ รัสส์ ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ  พวกเขาได้เช่ารถบ้านหนึ่งคัน และเดินทางร่วมกันมัสก์ ไปยังทะเลทราย แบล็กร็อก และชมความบ้าคลั่งของงานเทศกาลศิลปะ เบิร์นนิ่งแมน ที่ ๆ มัสก์ มักจะไปเป็นประจำอยู่แล้วในทุก ๆ ปี

มันเป็นทริป ที่ใช้ในการผ่อนคลาย สำหรับพวกเขาหลังจากที่เคยออกผจญภัยอยู่สม่ำเสมอในวัยเด็กที่ประเทศ แอฟริกา มันเป็นทริปย้อนรำลึกความหลังของพวกเขา และเป็นการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ของอดีตเพื่อนในวัยเยาว์

เทศกาล เบิร์นนิ่งแมน กลางทะเลทราย
เทศกาล เบิร์นนิ่งแมน กลางทะเลทราย

และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ มันเป็นการระดมสมองเรื่องธุรกิจ ที่ พี่น้องตระกูล ไรฟ์ ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิต ซึ่งระหว่างทริปนี้ นี่เอง ที่มัสก์ได้แนะนำลินดอน ให้ลองไปดูตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ มันเป็น ไอเดียที่เจ๋งมากสำหรับ ลินดอน ที่ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิตอยู่แล้ว

จากการจุดประกายของมัสก์ ในครั้งนี้ มันทำให้ หลังจากกลับจากงานเบิร์นนิ่งแมน ทำให้พวกเขาต่างไฟลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง พี่น้องไรฟ์ ตัดสินใจอย่างทันทีทันใดว่าจะกระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และได้ทำการศึกษามันอย่างจริงจัง ผ่านข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหนังสือ รวมถึงข้อมูลออนไลน์ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในตอนนั้น มีผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ไม่กี่ราย ที่ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้คิดอยู่อย่างเดียวคือ การรอให้ราคาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานพลังงานทดแทนตัวนี้เพิ่มมากขึ้น มันเป็นการแข่งขันกันเรื่องราคาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

มันไร้ซึ่ง ไอเดียใหม่ ๆ สิ้นดี  การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ นั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เต็มไปด้วยกระบวนการมากมาย  ทั้งที่มันเป็นพลังงานแห่งอนาคตชัด ๆ 

นี่เองเป็นสาเหตุสำคัญให้พี่น้องไรฟ์ ได้ตัดสินใจตั้งบริษัท SolarCity ขึ้นในปี 2006  แนวคิดหลักแรกที่ทำการตั้ง SolarCity ขึ้นมานั้น พวกเขาจะไม่ผลิตแผงโซล่าร์เซลล์เอง แต่จะจัดการ Ecosystem ทั้งหมดในการติดตั้งแผงพลังงานนี้แทน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นงานที่พวกเขาถนัดอยู่แล้ว

ตั้ง SolarCity ขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีในการช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตั้ง SolarCity ขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีในการช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงเริ่มต้นนั้น มัสก์ ได้ลงทุนในตอนเริ่มต้นเป็นเงินกว่า 10 ล้านเหรียญเพื่อเริ่มต้นบริษัทในการจ้าง นักการตลาด นักวิจัย และเหล่านักพัฒนาให้มาคิดโมเดลใหม่ ๆ รวมถึงหาลู่ทางในการทำธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าให้แตกต่างไปจากที่มีอยู่เดิม

พวกเขาได้ใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี มาสร้างซอฟท์แวร์ สำหรับวิเคราะห์บิลค่าพลังงานปัจจุบันของลูกค้า และตำแหน่งบ้านรวมถึงปริมาณแสงแดดที่ได้รับเพื่อให้ลูกค้าได้ตัดสินใจว่า การลงทุนติดแผงโซล่าร์เซลล์นั้น จะคุ้มหรือไม่

พวกเขาได้คิด โมเดล ธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยให้ลูกค้าเช่าแผงโซล่าร์เซลล์ เป็นรายเดือนแทน โดยแทบจะไม่ต้องมีการลงทุนล่วงหน้าเลย จากการคำนวณผ่าน ซอฟต์แวร์ที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้น และที่สำคัญยังสามารถอัพเกรดเป็นแผงรุ่นใหม่ ๆ ได้ทันที ไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งระบบ

ซึ่งมัสก์ ก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้าง SolarCity นี้ขึ้นมา อีกทั้งกลายมาเป็นประธานบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด

และเพียงแค่ หกปีให้หลัง SolarCity ได้กลายมาเป็นผู้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นการปฏิวัติวงการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ทำให้เป็นเรื่องง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนในอดีตอีกต่อไป 

ไม่ใช่แค่ลูกค้าทั่วไปเท่านั้น พวกเขายังขยายตลาดไปยังลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Intel , Walgreens , Wal-Mart ได้มีการเซ็นสัญญาติดตั้งกับ SolarCity แทบจะทั้งสิ้น ทำให้ในปี 2012 SolarCity ได้กลายเป็นบริษัทมหาชน และ มูลค่าหุ้นก็พุ่งสูงติดเพดาน ในปี 2014 SolarCity กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านเหรียญ

กลายมาเป็นผู้ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์รายใหญ่ในที่สุด
กลายมาเป็นผู้ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์รายใหญ่ในที่สุด

แม้ซิลิกอน วัลเลย์ จะได้ทุ่มเงินไปมากมายกับเทคโนโลยีสีเขียว แต่ส่วนใหญ่นั้นก็จะล้มไม่เป็นท่าเสียเป็นส่วนมาก นักลงทุนชื่อดังหลายราย สูญเสียเงินมากมาาย กับ Trend ที่เรียกว่าเทคโนโลยีสีเขียว ไม่ว่าจะเป็น ฟิซเกอร์ หรือ เบทเทอร์เพลซ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีที่ดีต่อโลกจริง แต่เป็นไปได้ยากในทางธุรกิจ

มีเพียงชายที่ชื่อ อีลอน มัสก์ เท่านั้น ที่เป็นผู้รอดเหลือจากธุรกิจเหล่านี้มาได้ ซึ่งเขาเป็นคนที่ค้นพบวิธีในการ บาลานซ์ กันระหว่างโลกธุรกิจ กับ เรื่องของแนวคิดของเทคโนโลยีสีเขียว มัสก์ มีบริษัทเทคโนโลยีสะอาดที่ประสบความสำเร็จด้วยดี ถึงสองแห่ง

ซึ่ง SolarCity ก็เหมือน ๆ กับการลงทุนอย่างอื่นของมัสก์ มันได้แสดงให้เห็นศักยภาพทางด้านธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่แรก นักลงทุนต่างบ่ายหน้าหนี เหมือนทุก ๆ ครั้ง แต่มัสก์ เชื่อโดยสนิทใจว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีความสมเหตุสมผล เพราะแสงอาทิตย์ นั้นได้ถูกกำหนดมาแล้วว่าจะกลายเป็นพลังงานที่ดีกว่าของมนุษยชาติในอนาคต

ซึ่งเหล่าผู้สังเกตการณ์ SolarCity อย่างใกล้ชิด นั้นได้มองเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า บริษัทได้กลายมาเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเลยก็ไม่อาจจะกล่าวเกินไปนัก เพราะ SolarCity ได้สร้างเครือข่ายระบบพลังงานแสงอาทิตย์ให้อยู่ภายใต้การควบคุมทั้งหมด

โดยบริหารจัดการด้วยซอฟต์แวร์อัจฉริยะ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ซึ่งในปี 2015 มีการประเมินว่า SolarCity นั้นจะติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ได้เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 2 กิกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 2.8 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ SolarCity นั้นกลายเป็นหนึ่งใน ซัพพลายเออร์พลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องธุรกิจเพียงเท่านั้น องค์กรการกุศล Musk Foundation ที่อีลอน มัสก์ได้ก่อตั้งขึ้นมานั้น ได้ช่วยเหลือในเรื่องการสร้างแหล่งพลังงาน ให้กับผู้ประสบภัยจากทั้ง พายุ เฮอริเคน แคทาริน่า ในปี 2005 รวมถึงในเหตุการณ์วิกฤติ Deepwater Horizon Oil การรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ ในปี 2010 อีกด้วย

และยิ่งไปกว่านั้น SolarCity เป็นส่วนประกอบสำคัญของทฤษฏีสนามรวมของ อีลอน มัสก์ ธุรกิจแต่ละอย่างของเขานั้นเกี่ยวโยงกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว Tesla สร้างชุดแบตเตอรี่ให้ SolarCity นำไปขายให้กับผู้บริโภคปลายทางได้ 

ส่วน SolarCity นั้นเป็นตัวส่งพลังงานแสงอาทิตย์ให้สถานีซุเปอร์ชาร์จของ Tesla ซึ่งช่วยให้ Tesla นั้นให้บริการชาร์จใหม่ฟรีให้กับเหล่าลูกค้าของ Tesla ซึ่งกลายเป็นข้อได้เปรียบอย่างสำคัญของ Tesla ที่เหมือนมีปั๊มน้ำมันของตัวเองแต่ใช้พลังงานจากแสดงอาทิตย์แทน

SolarCity ให้พลังงานแสดงอาทิตย์แก่ SuperCharger ของ Tesla
SolarCity ให้พลังงานแสดงอาทิตย์แก่ SuperCharger ของ Tesla

รวมถึงการช่วยเหลือกันของ ทั้ง SpaceX และ Tesla เช่นเดียวกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ ในด้านการผลิต หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มต้นมาจากศูนย์ และสุดท้ายมันก็ได้ทำให้เครือข่ายธุรกิจของมัสก์แข็งแกร่งเกินกว่าที่ใครจะล้มได้ง่าย ๆ ในที่สุดนั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 15 : Idea Overload

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 10 : The Show Musk Go On

ความสำเร็จของ Henry Ford ในการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมาใหม่นั้น ส่งผลกระทบชัดเจนต่อชาวอเมริกัน ด้วยภาพที่เขาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่  และ Ford ยังต้องเร่งการผลิตให้ท้นต่อความต้องการของผู้บริโภค เขาได้สร้างสิ่งที่กำลังจะมาเป็นนวัตกรรมที่มีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการผลิตรถยนต์ของ Ford นั่นก็คือ การผลิตรถในจำนวนมากได้สำเร็จ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตได้จำนวนมาก  ๆ  ผ่านวิธีการโดยใช้สายพานการผลิตของเขานั้น มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ และมันช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวอเมริกันไป เพื่อนคนสนิทของเขาอย่าง William  Harley และ Arthur Davidson ได้นำเครื่องยนต์ไปติดกับจักรยาน และได้กลายเป็นรถมอเตอร์ไซต์ขายออกไปทั่วประเทศ 

Milton Hershey ได้นำเอาแนวคิดสายพานการผลิตของ Henry Ford ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของเขาอย่างช็อคโกแลต ส่วนพ่อค้าชาว ชิคาโก William Wrigley ก็ใช้แนวคิดเดียวกันในการผลิตหมากฝรั่งออกขายไปได้ทั่วประเทศ 

แนวคิดสายพานการผลิตของ Henry Ford เปลี่ยนอุตสาหกรรมของสหรัฐไปตลอดกาล
แนวคิดสายพานการผลิตของ Henry Ford เปลี่ยนอุตสาหกรรมของสหรัฐไปตลอดกาล

มันทำให้เกิดนักธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างสิ่งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดใหม่ ที่มีต้นแบบมาจาก Henry Ford พวกเขาได้คิดค้นการผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นมา และจ่ายค่าแรงที่เหมาะสมให้กับคนงาน ภายใต้สภาพการทำงานที่ปลอดภัย ขึ้นมาใหม่

และโจทย์นี้ มันก็เป็นโจทย์เดียวกับที่นักธุรกิจรุ่นใหม่แห่งยุคนี้อย่าง อีลอน มัสก์ ต้องเจอ แม้ Henry Ford นั้นได้สร้างรากฐานในเรื่องสายพานการผลิตไปยังอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จกันนับไม่ถ้วนแล้ว แต่มันก็ไม่ง่ายเสียทีเดียวสำหรับการจะมาสร้างรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของ อีลอน มัสก์ เมื่อต้องการผลิตในปริมาณมาก ๆ 

และปัญหานี้ก็เกิดกับ ซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในนั้นที่ Tesla ต้องส่งทีมวิศวกรหนุ่มแน่น ยอดอัจฉริยะ ทั้งหลายไปจัดการในการตั้งโรงงานแบตเตอรรี่ ซึ่งเป็นแผนแรกของ Tesla ที่ต้องการให้ไทยเป็นซัพพลายเออร์หลักแห่งหนึ่งสำหรับผลิตชิ้นส่วนป้อนให้รถยนต์ Tesla ซึ่งบริษัทที่มีความทะเยอทะยาน และ มีความมุ่งมั่นสูงสุด สำหรับงานนี้ก็คือ บริษัท ไทยซัมมิท ของ คุณ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั่นเอง

ไทยซัมมิท ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตให้กับ Tesla
ไทยซัมมิท ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตให้กับ Tesla

แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงนั้น งานด้านแบตเตอรี่ ถือว่าในไทยนั้นยังเป็นงานที่ใหม่มาก ๆ เพราะส่วนใหญ่แม้ไทยจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องการป้อนอะไหล่ต่าง ๆ ให้กับรถยนต์ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือ ยุโรป ก็ตาม แต่มันไม่ใช่เรื่องแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ของประเทศไทย

ทีมงานวิศวกรของ Tesla นั้นต้องมาจัดการเรื่องโรงงานที่จะใช้ รวมถึงการจัดการเรื่องความร้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึง Tesla นั้นมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนสำคัญ และไวต่อสิ่งเร้าเป็นอย่างมาก

มีการลงทุนติดผนังเบาให้กับโรงงานในไทย รวมถึงการเคลือบพื้น และสร้างห้องเก็บของพร้อมเครื่องควบคุมอุณหภูมิ และเหล่าวิศวกรของ Tesla ก็ได้ทำการ Training ให้กับคนงานชาวไทยถึงวิธีที่จะจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มันทำให้การพัฒนานั้นล่าช้าลงไปอีก หลังจากเจอปัญหาต่างๆ  มากมายในประเทศไทย

และ Tesla ยังต้องเจออีกหลายปัญหาในการผลิตจำนวนมาก เนื่องจาก แผงตัวรถนั้นถูกผลิตที่ฝรั่งเศษ มอเตอร์มาจากไต้หวัน เซลล์แบตเตอรี่มาจากจีน ไปประกอบแบตเตอรี่ที่ไทย  ส่งไปให้โลตัสที่อังกฤษสร้างตัวถังรถ แล้วค่อยส่งมาที่ลอสแอนเจลิส

มันเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และแผนต่าง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นระบบระเบียบมากนักทำให้ทุกอย่างล่าช้ายิ่งไปอีก แถมต้นทุนยังสูงมาก เมื่อมัสก์รู้ ก็ได้ว่าจ้างนักวิเคราะห์มาช่วยดูเรื่องต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งพบว่า โรดส์เตอร์แต่ละคันจะใช้ต้นทุน มากกว่า 200,000 เหรียญ และ Tesla วางแผนที่จะขายมันเพียงแค่ 85,000 เหรียญเท่านั้น ซึ่งต่อให้เดินเครื่องผลิตได้ทีละมาก ๆ ก็สามารถลดได้เต็มที่เหลือแค่ 170,000 เท่านั้น มันเห็นความบรรลัยทางด้านการเงิน ในขณะที่รถยังไม่ได้เข้าสายการผลิตเลยด้วยซ้ำ

โรดส์เตอร์ รถรุ่นแรกของ Tesla ที่กำลังจะมีต้นทุนสูงถึง 200,000 เหรียญ
โรดส์เตอร์ รถรุ่นแรกของ Tesla ที่กำลังจะมีต้นทุนสูงถึง 200,000 เหรียญ

แม้ เอเบอร์ฮาร์ด กับ มัสก์ นั้นจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันมาหลายปีในเรื่องการออกแบบบางอย่างของรถ แต่โดยส่วนใหญ่นั้นทั้งคู่เข้าขากันได้อย่างดี พวกเขามีวิสัยทัศน์เหมือนกันหลาย ๆ อย่างในเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และ ความสำคัญของพลังงานทดแทนที่จะมีต่อโลกเรา

แต่ การที่มัสก์ได้รับรู้ราคาต้นทุนที่แท้จริง มันทำให้มัสก์มอง เอเบอร์ฮาร์ดเปลี่ยนไปทันที มันคือการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพดี ๆ นี่เอง ที่ไม่ละเอียดพอในการดูแลเรื่องใหญ่อย่างต้นทุนของรถรุ่นแรกอย่างโรดส์เตอร์ให้มันเละเทะได้เพียงนี้ มันก็ถึงเวลาที่ เอเบอร์ฮาร์ด ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Tesla คนแรก ๆ ต้องเดินออกจากบริษัทที่เขาตั้งมากับมือไป

แม้มัสก์ จะเปลี่ยนตัว CEO ชั่วคราวไปหลายคน สถานการณ์มันก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ตอนนั้น มัสก์ ก็วุ่นอยู่กับ SpaceX อีกบริษัทหนึ่งของเขาอยู่ มัสก์พยายามให้สัญญาว่ารถจะสามารถออกวางจำหน่ายได้ในปี 2008 แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้มันยังไกลจากเป้าหมายที่เขาวางไว้เป็นอย่างมาก

ไม่นานนัก พนักงาน Tesla ก็ได้เห็นมัสก์คนเดียวกับที่ SpaceX เสียที เขาต้องลงมาจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาอย่างเช่นตัวถังรถที่ผิดพลาด มัสก์ก็จัดการกับมาตรง ๆ เขาบินไปอังกฤษด้วยตัวเองเพื่อรับเครื่องมือที่ใช้ผลิตแผ่นตัวถังรถชิ้นใหม่และส่งมันเข้าโรงงานในฝรั่งเศษด้วยตัวเอง

ส่วนเรื่องต้นทุนมัสก์จัดการขั้นเด็ดขาด ต้องทำต้นทุนให้ได้ทุกชิ้นส่วน ต้องมีการกำหนดและวิเคราะห์ต้นทุนทุกเดือน มัสก์ ไม่เคยพลาดในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หัวเขาเหมือนมีเครื่องคิดเลขติดอยู่ในหัว แม้มัสก์ จะดูเหมือนแข็งกร้าว และอารมณ์ร้อน เกินไป แต่ทุกอย่างเขาทำก็เพื่อ Tesla เขาไม่ได้เป็นพวกโลกสวยอย่างที่คนอื่นเคยทำมา

มัสก์ต้องลงมาจัดการปัญหาของ Tesla ด้วยตัวเอง
มัสก์ต้องลงมาจัดการปัญหาของ Tesla ด้วยตัวเอง

ส่วนเรื่องการตลาดนั้น มัสก์จะค้นหาข่าวเกี่ยวกับ Tesla ใน Google แทบจะทุกวัน เมื่อใดที่เขาเจอเรื่องไม่ดีกับ Tesla เขาจะสั่งการให้แผนกประชาสัมพันธ์ไปแก้ไขโดยด่วน นี่มันเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ต้องไม่มีเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ใด  ๆ กับ Tesla ของเขาอีกต่อไป

มัสก์ใส่ใจรายละเอียดทุกอย่าง พนักงานไม่ต้องกังวัลเรื่องวิธีการหรือว่ามันมีข้อบกพร่องหรือเปล่า แค่ตั้งใจทำงานให้เสร็จเท่านั้น มัสก์จะรับฟังปัญหา เขาต้องการคำถามที่เข้าท่าเท่านั้น และเดินหน้าอย่างรวดเร็ว แบบถึงลูกถึงคน ให้งานเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

มันทำให้พนักงานหลายคนทนไม่ไหวต้องลาออกไป แม้จะอัจฉริยะขนาดไหน ก็โดนมัสก์เล่นงานมาแทบจะทั้งสิ้น แต่หลายคนจากรุ่นบุกเบิก ก็รอดกันมาได้ การมีชื่อแบรนด์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีผู้นำอย่าง อีลอน มัสก์ ก็สามารถที่จะจ้างพนักงานแถวหน้าเข้ามาได้เรื่อย ๆ รวมถึงคนจากบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ ที่ต้องการที่จะมาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ร่วมกับ อีลอน มัสก์ ก็ได้เข้ามาร่วมงานมากขึ้นเรื่อย ๆ 

เหมือนทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ใครจะไปคาดคิดว่า อยู่ดี ๆ วิกฤตครั้งใหม่กำลังมาเยือน ขณะก้าวเข้าสู่ปี 2008 บริษัทกำลังจะหมดเงิน โรดส์เตอร์ ใช้เงินทุนในการพัฒนาไปกว่า 140 ล้านเหรียญ หากสถานการณ์ปรกติ มันไม่ยากเลยที่จะระดมทุนเพิ่มเติม แต่ทว่า ปี 2008 อย่างที่ทุกท่านทราบกัน มันคือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนึงของอเมริกา

วิกฤติทางการเงินในปี 2008 ทำให้ Tesla ที่กำลังจะเปิดตัวได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ
วิกฤติทางการเงินในปี 2008 ทำให้ Tesla ที่กำลังจะเปิดตัวได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในสหรัฐฯกำลังถูกฟ้องล้มละลาย ท่ามกลางวิกฤติการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ยุควิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งท่ามกลางเรื่องเลวร้ายทั้งหมดนี้ มัสก์ ต้องโน้มน้าวเหล่านักลงทุนของ Tesla ให้ยอมลงทุนเพิ่มมากกว่า 10 ล้านเหรียญ แต่ปัญหาคือ ตอนนั้นมีแต่ข่าวเสีย ๆ หาย  ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกา ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แทบจะไม่มีใครซื้อรถกันแล้ว มัสก์กำลังอยู่ในเส้นทางที่เสี่ยงที่สุดในชีวิตของเขา ทั้งหมดที่เขาทำมาจะล้มครืนลงไปหรือไม่? เขาจะพา Tesla ฝ่าวิกฤติที่รุนแรงที่สุดครั้งนี้ไปได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Tesla’s Macintosh

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 1 : Sand Hill Road

อีลอน มัสก์ ถูกเปรียบเทียบดั่ง สตีฟ จ๊อบส์ แห่ง apple แต่เขาเป็นคนที่สนใจปัญหาใหญ่ ๆ ของโลกเรา หากจะให้อธิบายสิ่งที่เขากำลังทำนั้นต้องใช้คำสั้้น ๆ ว่า เขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เขากำลังสร้างขึ้นมา ซึ่งชายคนนี้ เป็นชายที่โลกเรากำลังต้องการอย่างยิ่ง

โลกเรานั้นได้ถูกขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทั่วโลก เพราะน้ำมันนั้นเป็นสิ่งที่จะหมดไปภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นมนุษย์เรานั้นต้องการเทคโนโลยีที่ต้องไม่ขึ้นอยู่กับน้ำมันอีกต่อไป เพราะมันเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด

ซึ่งหนึ่งในคนที่แคร์ปัญหาใหญ่ ๆ ของโลกเรา คน ๆ นั้นไม่ใช่ใคร เขาก็คือ อีลอน มัสก์ นั่นเอง เขาเป็นคนที่คิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ Tesla Motor คือแนวคิดที่รถยนต์ในอนาคต จะต้องไม่พึ่งพาน้ำมันอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องน้ำมันเขายังคิดถึงเรื่อง การย้ายอพยพถิ่นฐานไปยังดาวอังคาร หากในอนาคตเกิดอะไรที่ไม่แน่นอนขึ้นกับโลกของเรา น้ำอาจจะท่วมโลก หรือ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย

แนวคิดอพยพไปดาวอังคารของ Elon Musk
แนวคิดอพยพไปดาวอังคารของ Elon Musk

หรือเกิดภัยพิบัติ ครั้งรายแรงทำให้เราไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกได้อีกต่อไป อีลอน มัสก์ เป็นคนคิดการณ์ไกลขนาดนั้น มันไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ หากดูจาก สภาพภูมิอากาศของโลกเราในปัจจุบัน มันมีความเสี่ยง มันอาจจะถึงจุดจบของมนุษย์โลกก็ได้หากไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน

ทุก ๆ บริษัทที่ อีลอน มัสก์ สร้างขึ้นมา ทั้ง Tesla Motor , SpaceX หรือ SolarCity มันเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ เหล่านี้แทบจะทั้งสิ้น เขาสนใจแต่ปัญหาใหญ่  ๆ ของโลกเราแทบจะทั้งหมด

ในวัย 28 ปี มัสก์ ต้องการที่จะซื้อรถคันใหม่ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาในขณะนั้น ที่เพิ่งขายบริษัท Zip2 ธุรกิจแรกของเขา ได้เงินกว่า 22 ล้านเหรียญ ในโรงรถของมัสก์ มีรถ Jaguar Series 1 E-type ปี 1967 ซึ่งเป็นรถที่ขึ้นชื่อว่ามีดีไซต์สวยที่สุดคันหนึ่งของโลกอยู่แล้ว

แต่ตอนนี้เขาต้องการรถที่เร็วที่สุด เพื่อมาเติมเต็มโรงรถของเขา McLaren F1 เป็นรถที่ตอบโจทย์เรื่องความเร็วที่เขาต้องการได้ ตอนนั้น บริษัท McLaren F1 จากอังกฤษ ได้ผลิตรถรุ่นที่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้ โดยสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 231 mph (372 km/h) ซึ่งมันได้สร้างสถิติเป็นรถยนต์ที่เร็วที่สุดในโลกได้ในปี 1998 ซึ่งสามารถทำความเร็ว 0-100 km/h ได้ในเวลาเพียง 3.2 วินาทีเพียงเท่านั้น

มันเป็นรถในฝันของ มัสก์ เลยก็ว่าได้ มี celebrity ระดับโลกต้องการรถคนนี้หลายคน และรถรุ่นนี้ผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 106 คันเท่านั้น โดย มัสก์ สามารถซื้อได้ทันก่อนที่ แฟชั่น ดีไซต์เนอร์ชื่อดังอย่าง Ralph Lauren จะซื้อทันเพียง 1 ชม.เท่านั้น

มันเป็นรถราคากว่า 1 ล้านเหรียญ ซึ่งราคาในตอนนี้นั้นพุ่งไปสูงถึงกว่า 4 ล้านเหรียญไปแล้ว ทุกคนจะมีหมายเลขกำกับ โดยคันที่ มัสก์ ได้มาคือหมายเลข 67

ตอนนั้น มัสก์ ก็เริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่งใน silicon valley แล้ว มัสก์ ดีใจเป็นอย่างมาก ถึงกับกระโดดโลดเต้นหลังจาก รถบรรทุกมาส่งที่บ้านของเขา มันเป็นความฝันหนึ่งของมัสก์ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไป 3 ปีก่อนหน้า เขายังต้องนอนอยู่ชั้นล่างของออฟฟิส ตัวเองเลยด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้เขาสามารถซื้อรถยนต์ มูลค่ากว่าล้านเหรียญได้สำเร็จ

McLaren รถในฝันของ อีลอน มัสก์
McLaren รถในฝันของ อีลอน มัสก์

มัสก์ ซึ่งตอนนั้นกำลังพัฒนา X.com ที่กำลังจะรวมกับ Paypal ของ ปีเตอร์ ธีล โดย Sand Hill Road เป็นถนนที่ มัสก์นั้น ชอบมาขับรถ McLaren คันโปรดของเขา  มัสก์ มีความสุขอย่างมากกับรถคันนี้

ถนน Sand Hill Road นั้นเปรียบเสมือน WallStreet ในนิวยอร์ก ที่นี่เต็มไปด้วยบริษัทด้านการลงทุนมากมาย และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังมหาลัยชื่อดังอย่าง Stanford University รวมถึง Silicon Valley ได้อีกด้วย

มูลค่าอสังหาริมทรัพย์บริเวณ Sand Hill Road นั้นสูงลิบลิ่ว ซึ่งในยุคนั้นอาจจะพูดได้ว่าเป็นถนนที่แพงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ แต่ก็อย่างที่รู้ ๆ กันว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาของมัสก์ ในตอนนั้น Silicon Valley กำลังบูม ทุกคนเข้ามาเพื่อแสวงหาเงินจากเหล่านักลงทุน เพื่อสร้าง startup ของตัวเอง

วันหนึ่ง เขาได้ชวน ปีเตอร์ ธีล ให้มาลองนั่ง McLaren ของเขา แต่วันนั้นได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น มัสก์ ไม่สามารถบังคับเจ้า McLaren ได้เหมือนเคย ด้วยความเร็ว มัสก์ไม่สามรถที่จะ control รถได้ จนไปชนเข้ากับขอบทาง และ แรงกระแทกทำให้รถหลุดออกไปนอกถนน พลิกคว่ำสภาพแน่นิ่งอยู่ข้างทาง

หลังจากฝุ่นได้จางหายไป ปีเตอร์ ธีล ได้ยินเสียง มัสก์ หัวเราะกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งคู่ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่หนักแต่อย่างใด เนื่องจากรถเป็นรถที่มีคุณภาพสูง แม้รถจะสภาพเละน่าดู หลังจากมีหน่วยฉุกเฉินมาช่วย ทั้งคู่ ก็ต้องโบกรถเพื่อกลับไปประชุมนัดสำคัญให้ทัน

สภาพรถที่ยับเยินหลังอุบัติเหตุ
สภาพรถที่ยับเยินหลังอุบัติเหตุ

และเจ้า McLaren นี่เอง มันทำให้มัสก์ ได้มองเห็นบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม McLaren นั้นสูบน้ำมันเป็นว่าเล่น เป็นรถที่ใช้น้ำมันเปลืองอย่างมาก ในปี 2007 นั้น เขาจำใจต้องขายเจ้า McLaren สุดรักคันนี้ของเขา

มันถึงเวลาที่เขาต้องการที่จะปรับภาพลักษณ์ ด้านสิ่งแวดล้อมของเขาเสียที แม้ McLaren นั้นจะเป็นรถที่ดีมาก แต่มันไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่เขากำลังสนใจอยู่ และมันเป็นที่มาของการลงทุนครั้งใหญ่กับธุรกิจใหม่ในอนาคตของเขา

หลังจากขาย paypal ให้กับ ebay ได้สำเร็จในปี 2002 ซึ่งสามารถทำเงินได้มากกว่า 1,500 ล้านเหรียญ เขาได้ทุ่มเงิน 100 ล้านเหรียญให้กับ SpaceX   70 ล้านเหรียญให้กับ Tesla Motor และ 10 ล้านเหรียญให้กับ SolarCity ทุก ๆ บริษัทที่เขาลงทุนใหม่นั้น จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่โดยเริ่มต้นจากศูนย์ เขาจะเป็นอัจฉริยะผู้หมกมุ่นกับการเสาะแสวงหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน แล้วแนวคิดต่าง ๆ ของ มัสก์ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร Blog Series ชุดนี้ จะพาไปทำความรู้จัก กับตัวตนของ อีลอน มัสก์ ให้มากขึ้นครับ โปรดอย่าพลาดติดตามในตอนต่อ ๆ ไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 2 : Lost Cities

Credit แหล่งข้อมูลบทความ