สุขภาพจิตแย่จริงหรือ? ผลกระทบที่แท้จริงกับเวลาในการเสพติดหน้าจอมือถือของเด็ก

ต้องเรียกได้ว่ามีรายงานวิจัยออกมาเรื่อย ๆ สำหรับผลกระทบของเวลาที่ใช้กับสมาร์ทโฟนที่มีผลกระทบต่อเด็ก ๆ

กลุ่มที่มีชื่อว่า Smartphone-Free Childhood ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 60,000 คน ที่มาร่วมถกเถียงกันในเรื่องการหาวิธีการให้ลูก ๆ ของพวกเขาไม่ให้เข้าใกล้มือถือสมาร์ทโฟนที่พวกเขามองว่ามีพิษร้ายแรงต่อเด็ก

กลุ่มนี้ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีความกังวลกับผลกระทบของสมาร์ทโฟนกันเด็ก

เมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐฟลอริดาได้ออกกฎหมายห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีใช้โซเชียลมีเดีย ฟากฝั่งรัฐบาลอังกฤษก็กำลังพิจารณาห้ามไม่ให้ขายโทรศัพท์มือถือให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี

ต้องบอกว่าข้อกังวลเหล่านี้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในหนังสือเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า “The Anxious Generation” ของ Jonathan Haidt ซึ่งกล่าวว่าสมาร์ทโฟนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงได้ผ่านสมาร์ทโฟนนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงวัยเด็กไปในทิศทางที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ในการถกเถียงกันในหัวข้อดังกล่าวมีสองเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนมาก ๆ ก็คือ สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนสำคัญของวัยเด็กไปแล้ว

ตามการวิจัยในประเทศอังกฤษเมื่ออายุได้ 12 ปี เด็กเกือบทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือ และเมื่อพวกเขาได้รับโทรศัพท์ไปแล้ว โซเชียลมีเดียจะเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่บนหน้าจอ

จากการสำรวจของ Gallup วัยรุ่นชาวอเมริกันใช้เวลากับแอปโซเชียลมีเดียประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน Youtube , TikTok และ Instagram เป็นที่นิยมมากที่สุด ส่วน Facebook ที่เป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่อันดับรั้งท้ายสำหรับกลุ่มวัยรุ่น

ส่วนที่สองก็คือ ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่าในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว จะมีการเสื่อมถอยของสุขภาพจิตในหมู่เยาวชน

สัดส่วนของวัยรุ่นอเมริกันที่รายงานว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 150%

โดยใน 17 ประเทศที่มีฐานะร่ำรวยหรือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของอัตราการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง

ต้องบอกว่าปรากกฎการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกันแทบจะทั้งสิ้น สุขภาพจิตของเด็กเริ่มตกต่ำลงพร้อม ๆ กับการเติบโตของสมาร์ทโฟนและแอปเครือข่ายโซเชียลมีเดียในช่วงทศวรรษ 2010

ในปี 2017 Roberto Mosquery จาก Unversidad de las Americas และเพื่อนร่วมงาน ให้กลุ่มทดลองที่เป็นผู้ใช้ facebook ในอเมริกาหยุดใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ผู้ที่งดใช้ facebook รายงานพวกเขามีอารการซึมเศร้าน้อยลง และมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แถมยังบริโภคข่าวสารน้อยลง

ในปี 2018 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและนิวยอร์กได้ทำการทดลองในลักษณะเดียวกันอีกครั้งโดยให้กลุ่มตัวอย่างในอเมริกาหยุดใช้ facebook เป็นเวลาหนึ่งเดือน

นั่นทำให้คนกลุ่มดังกล่าวรู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้น ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์น้อยลง ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนมากขึ้น และมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบสุดโต่งที่น้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม การทดลองแบบสุ่มดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่แล้วทำกับผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักที่น่ากังวล และส่วนใหญ่เน้นศึกษาไปที่ facebook เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว

และที่สำคัญความสัมพันธ์ของมนุษย์เราก็เครือข่ายโซเชียลมีเดียก็มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะจำแนกมันง่าย ๆ เหมือนในอดีต

การทดลองของ Mosquery ที่พบว่า แม้คนจะบอกว่าเขามีความสุขมากขึ้นเมื่อไม่ได้ใช้ facebook แต่ยังไง facebook ก็ยังมีประโยชน์อีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกัน

หลังจากงดใช้งาน facebook เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ กลุ่มทดลองดังกล่าวกลับพบว่าพวกเขาประเมินคุณค่าของ facebook สูงขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

การถามว่าโซเชียลมีเดีย ดีหรือไม่ดี ต่อสุขภาพจิตนั้นผิดตั้งแต่ต้นแล้ว Peter Etechells จากมหาวิทยาลัย Bath Spa ผู้แต่งหนังสือ “Unlocked” ซึ่งมีมุมมองที่เป็นกลางมากกว่าเกี่ยวกับเวลาในการใช้กับหน้าจอมือถือ กล่าวว่า คำถามที่น่าสนใจคือ “ทำไมบางคนจึงประสบความสำเร็จมากขึ้นจากการเสพสิ่งเหล่านี้?”

แล้วทำไมถึงต้องมีการห้ามเพียงแค่โซเชียลมีเดีย ทั้งที่มันมีอีกหลายสิ่งเช่นเกมอย่าง “Fornite” ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ได้เช่นเดียวกัน

Dr. Gentzkow ผู้ที่สนับสนุนให้เพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์ม เตือนว่าไม่ควรที่จะจำกัดทั้งหมดในมาตรฐานเดียวกัน เพราะแอปโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่มีฟังก์ชันที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในทางที่เป็นมุมบวกหรือมุมลบก็ได้

แม้ผู้เชี่ยวชาญจะพยายามเสนอแนะให้ควบคุมเครือข่ายโซเชียลมีเดีย แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบันต้องบอกว่า ผู้ใช้ทั่วไปส่วนใหญ่กำลังทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง

การโพสต์เกี่ยวกับตนเองต่อสาธารณะกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปีที่แล้วมีเพียง 28% ของชาวอเมริกันที่บอกว่าชอบโชว์ชีวิตตนเองบนโลกออนไลน์ ลดลงจาก 40% ในปี 2020 ตามการสำรวจของบริษัทวิจัย

การสื่อสารในเครือข่ายโซเชียลมีเดียเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงจากการเปิด publc แบบสาธารณะไปสู่การสนทนาแบบส่วนตัวมากยิ่งขึ้น บนเครือข่ายอย่าง Instagram ขณะนี้มีการแชร์ภาพผ่าน inbox message ส่วนตัวมากกว่าการโพสต์บนฟีดหลัก

ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนกำลังกลัวปัญหาของเครือข่ายโซเชียลมีเดียเหล่านี้ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะก้าวข้ามสิ่งที่พวกเขากังวลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บทสรุป

แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของการใช้สมาร์ทโฟนและเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิตของเด็ก แต่หลักฐานเชิงประจักษ์นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก ๆ

การศึกษาส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ใหญ่และแพลตฟอร์มเฉพาะอย่าง facebook มากกว่าแอปอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมมากกว่าในหมู่กลุ่มวัยรุ่น

ความสัมพันธ์ของมนุษย์เรากับสื่อสังคมออนไลน์ก็เริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ บางคนดูจะได้ประโยชน์จากมันในขณะที่บางคนก็ประสบกับปัญหา การแบนหรือบังคับห้ามใช้งานนั้นดูเหมือนมันจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาในระยะยาว

เพราะตอนนี้มันเริ่มมีสัญญาณโดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เองที่กำลังปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโซเชียลมีเดียเหล่านี้ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/science-and-technology/2024/04/17/what-is-screen-times-doing-to-children
https://www.theguardian.com/technology/2024/feb/17/thousands-join-uk-parents-calling-for-smartphone-free-childhood
https://smartphonefreechildhood.co.uk/