23andMe จากสตาร์ทอัพสุดร้อนแรงมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ดิ่งลงเหวจนเหลือเกือบ 0

ย้อนกลับไปเมื่อห้าปีที่แล้ว ต้องบอกว่า 23andMe ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพร้อนแรงที่สุดในโลก ผู้คนนับล้านถุยน้ำลายใส่หลอดทดลองเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของเขา

คนดังต่างๆ เข้ามาร่วมชื่นชมกับผลงาน 23andMe แม้กระทั่ง Oprah Winfrey ก็ได้แนะนำอุปกรณ์ของบริษัทแห่งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอชื่นชอบ

23andMe ทำ IPO ขายหุ้นสู่สาธาณะในปี 2021 และมูลค่าบริษัทของพวกเขาก็พุ่งทะยานสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ และในเวลาเพียงไม่นาน Forbes ได้ถึงกับเชิดชูให้ Anne Wojcicki ผู้บริหารระดับสูงของ 23andMe ให้เป็น “newest self-mand billionaire”

แต่ตัดภาพมา ณ ปัจจุบัน เงินหลายพันล้านดอลลาร์ได้มลายหายสาปสูญไป การประเมินมูลค่าของ 23andMe ตกลงมาจากจุดสูงสุดถึง 98% และ Nasdaq ขู่ว่าจะเพิกถอนหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ออกจากตลาด

Wojcicki ต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานไปกว่า 25% ผ่านการเลิกจ้างสามรอบและขายบริษัทในเครือออกไป ต้องบอกว่าบริษัทของเธอแทบจะไม่เคยทำกำไรได้เลย และกำลังเผาเงินอย่างบ้าคลั่งจนจะหมดลมหายใจภายในปี 2025

ต้องบอกว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจการตรวจ DNA ของ 23andMe คือความท้าทายสองประการ นั่นก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ทำการทดสอบเพียงแค่ครั้งเดียว และมีลูกค้าเพียงไม่กี่รายที่ทดสอบไปแล้วได้รับผลตรวจสุขภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้จริง

เดิมพันอันสูงสุดของ Wojcicki คือการพัฒนายาโดยใช้คลังตัวอย่าง DNA มากกว่า 10 ล้านตัวอย่างที่ 23andMe เก็บไว้ แต่การจะนำยาใหม่ออกสู่ตลาดได้จริงนั้นต้องใช้เงินทุนในการวิจัยมหาศาลและใช้เวลาอีกนานหลายปี

จุดเริ่มต้นจากความรัก

Wojcicki ลูกสาวของอดีตประธานภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเรียกได้ว่าเติบโตมาท่ามกลางกลิ่นอายของซิลิกอนวัลเลย์

เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยล โดยเธอได้มองเห็นความล้มเหลวของบริษัทในด้านการดูแลสุขภาพ และเธอก็มองว่าเหล่านักลงทุนหน้าเลือดมักจะบีบเงินจากนวัตกรรมซะเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้เธอตัดสินใจว่าเธอต้องการช่วยผู้บริโภคในการควบคุมและดูแลสุขภาพของตนได้มากขึ้น

และตัวละครคนสำคัญที่สุดที่ทำให้ 23andMe ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้สำเร็จนั่นก็คือ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ได้ออกเดทกับ Wojcicki

ในปี 1998 Brin และ Larry Page เช่าโรงรถของ Susan Wojcicki ซึ่งเป็นพี่สาวของ Anne Wojcicki เพื่อเป็นสำนักงานแห่งแรกของ Google ก่อนที่ในภายหลัง Susan จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในธุรกิจโฆษณาของ Google และ Youtube

แนวคิดสำหรับธุรกิจตรวจ DNA ที่เน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรงมาจาก Linda Avey ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง 23andMe

Avey เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ และ Sergey Brin แสดงความสนใจในงานของ Avey ดังนั้นในปี 2005 Wojcicki ที่เป็นแฟนสาวของ Brin ก็ได้เข้ามาร่วมประชุมเกี่ยวกับแนวคิดธุรกิจใหม่นี้ ซึ่งหลังจากฟังแนวคิดว่ามันน่าสนใจ เธอก็ต้องการที่จะลุยด้วยทันที

ก็เป็น Brin นี่เองที่เป็นคนให้เงินทุนก้อนแรกแก่บริษัท รวมถึงการช่วยเหลือในการว่าจ้างพนักงานในช่วงแรก ๆ และไม่ใช่เพียงแค่ใช้เงินส่วนตัวเท่านั้น เพราะเขาได้นำ Google เข้ามาร่วมลงทุน โดยประกาศเข้าลงทุนเพียงแค่สองสัปดาห์หลังจากที่ Brin และ Wojcicki แต่งงานกันในปี 2007

Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ให้ทุนก้อนแรกกับบริษัท (CR:Phys.org)
Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ให้ทุนก้อนแรกกับบริษัท (CR:Phys.org)

เรียกได้ว่า Wojcicki ชีวิตเปลี่ยนไปในข้ามคืน เธอเคยเป็นอดีตนักวิเคราะห์ทางการเงินที่แทบไม่มีคนรู้จักที่กลายมาเป็นดาราดังในซิลิกอน วัลเลย์ เธอช่วยสร้างแบรนด์ของ 23andMe โดยจัด “spit parties” โดยแขกจะมอบตัวอย่าง DNA มีการรวบรวมน้ำลายของคนดังที่ World Economic Forum ในเมืองดาวอสในปี 2008 และอีกครั้งที่ New York Fashion Week ในปีเดียวกันนั้น

แม้มันจะเป็นที่จับตามองของสื่อ เพราะเธอเล่นใหญ่มาก แต่ก็แทบไม่ได้ช่วยเหลือธุรกิจของเธอมากนัก เพราะชุดทดสอบ DNA ของ 23andMe มีราคาสูงถึง 399 ดอลลาร์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นราคาที่แพงเกินกว่าจะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคได้

ภายในสำนักงานของ 23andMe นั้นก็ต้องการสร้างวัฒนธรรมเลียนแบบซิลิกอน วัลเลย์ ถึงขั้นที่ว่า Avey เองถึงกับกล่าวว่า Wojcicki ชอบทำตัวให้โดดเด่นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับ Brin ได้ ซึ่ง Wojcicki เคยกล่าวไว้ขนาดที่ว่า 23andMe จะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่กว่า Google

สู่ความเจิดจรัส

ในปี 2012 การระดมทุนรอบใหม่จากมหาเศรษฐีชาวอิสราเอลที่เกิดในรัสเซียอย่าง Yuri Milner ซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อนบ้านของ Wojcicki และ Brin ใน ลอส อัลโตส ฮิลล์ ซึ่งเงินทุนที่ได้ทำให้ 23andMe สามารถลดราคาชุดทดสอบ DNA ให้เหลือราคาเพียงแค่ 99 ดอลลาร์ได้สำเร็จ

สำหรับแคมเปญโฆษณาระดับประเทศครั้งแรกของบริษัทในไม่กี่เดือนถัดมานั้นได้รับความสนใจจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ซึ่งได้สั่งระงับการขายชุดทดสอบ DNA ของ 23andMe โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงที่อุปกรณ์เหล่านี้จะรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ

นั่นเองที่ Wojcicki ต้องใช้เวลาถึงสองปีและเงินอีกหลายล้านดอลลาร์เพื่อให้อุปกรณ์ของเธอผ่านการ approve จาก FDA สหรัฐฯ

มันเป็นช่วเวลาเดียวกันกับที่มรสุมชีวิตกำลังถาโถมเข้าสู่ตัวเธอเองเช่นเดียวกัน เพราะเธอเพิ่งแยกทางกับ Brin ซึ่งไปแอบกิ๊กกับพนักงานรุ่นน้องที่ Google

แต่เธอก็ผ่านมันมาได้ สุดท้ายชุดตรวจ DNA ของ 23andMe ก็ได้ผ่านการทดสอบจาก FDA และเมื่ออุปกรณ์ปล่อยออกไปให้เหล่าผู้บริโภคได้ใช้งานกันจริง ๆ มันก็กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วทั้งโลกอินเทอร์เน็ต

เพราะเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้คนที่ค้นพบพ่อแม่หรือพี่น้องที่ไม่คาดคิด มันได้กลายเป็นเรื่องดราม่าเป็นอย่างมาก การเดินทางของ 23andMe ต้องใช้เวลา 9 ปีกว่าจะมีลูกค้าหนึ่งล้านคน และสามปีถัดมาเพิ่มมาเป็นแปดล้านคน

รอบ ๆ สำนักงานใหญ่ของ 23andMe เต็มไปด้วยเหล่าเซเลป ดาราชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Bono และ the edge แห่ง U2 , นางแบบชื่อดังอย่าง Karlie Kloss และคนดัง ๆ คนอื่น ๆ ต่างก็ให้ความสนใจกับ 23andMe โดย Wojcicki ได้ไปงานเดินพรมแดง Met Gala กับแฟนหนุ่มคนใหม่ของเธออย่าง Alex Rodriguez นักเบสบอลชื่อดัง

ในปี 2019 Wojcicki ย้าย 23andMe ไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในซิลิกอน วัลเลย์ ซึ่งมีพื้นที่มากพอในการขยายพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และทำสิ่งที่ไม่น้อยหน้าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่โดยเฉพาะ Google เลย ไม่ว่าจะเป็น คลาสเรียนโยคะ ห้องออกกำลังกาย โรงอาหารสุดหรู ด้วยเชฟระดับมิชลินสตาร์

ในปี 2021 บริษัทได้ทำ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ซึ่งในยุคนั้นรูปแบบของ SPAC กำลังได้รับความนิยม บริษัทหลายร้อยแห่งกล้าที่จะขายหุ้นที่มีราคาสูงให้กับเหล่านักลงทุน

23andMe ที่ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ในปี 2021 (CR:CNBC)
23andMe ที่ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ในปี 2021 (CR:CNBC)

Wojcicki ได้รับเงิน 33 ล้านดอลลาร์ในปีนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นหุ้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับซีอีโอบริษัทมหาชนขนาดใหญ่รายอื่น ๆ โดยหุ้นของ Wojcicki นั้นก็คล้าย ๆ กับผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังส่วนใหญ่ที่มีสิทธิพิเศษในการลงคะแนนเสียง ทำให้เธอสามารถควบคุมบริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จ

จากดาวรุ่งสู่ดาวร่วง

ด้วยตัวอย่างฐานข้อมูล DNA จำนวนมากที่เก็บไว้ 23andMe จึงได้เร่งการพัฒนายา โดยมีการดีลกับยักษ์ใหญ่ด้านวงการเภสัชกรรมอย่าง GSK (GlaxoSmithKline)

แต่ก็ต้องบอกว่า 23andMe เหมือนหว่านแห ตรวจสอบการรักษาโรคหลายสิบโรคจากผล DNA เหล่านั้น แน่นอนว่ามุมหนึ่งผลตอบแทนอาจะได้สูง แต่การพัฒนายาตัวใดตัวหนึ่งนั้นต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ และใช้เวลาเป็นสิบปีถึงจะผ่านการทดสอบทางคลินิก

แม้จะมียาบางตัวเริ่มมีการทดลองในมนุษย์จริงแล้ว โดยภายในปี 2022 มีผู้ป่วยทดลองกว่า 150 คนในซานฟรานซิสโก โดย Wojcicki คิดว่าจะสามารถระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุนความพยายามในการพัฒนายาของเธอได้

แต่ก็อย่างที่ทราบกันยุคเงินทุนราคาถูกที่ให้เหล่าสตาร์ทอัพมาเผาผลาญมันจบสิ้นลงไปแล้ว จากปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องสงคราม ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ที่สำคัญหุ้นของบริษัทยาก็ไม่เป็นที่โปรดปรานสำหรับเหล่านักลงทุนเช่นกัน เมื่อไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มได้ Wojcicki จึงได้ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานไปกว่าครึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว

และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของ 23andMe เชื่อว่าข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองนั้นอยู่ภายใต้กฎหมาย Hipaa ซึ่งเป็นกฎหมายความเป็นส่วนด้านสุขภาพของชาวอเมริกัน

แน่นอนว่าลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกยินดีที่ข้อมูล DNA ของตนเองจะถูกนำมาใช้เพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง แต่ก็มีอีกหลายคนที่รู้สึกว่าถูกหลอก เพราะพวกเขาจ่ายเงินให้ 23andMe ราว ๆ 299 ดอลลาร์สำหรับชุดทดสอบ DNA แต่ 23andMe ใช้ข้อมูลสุขภาพฟรีของพวกเขาในการหารายได้เข้าบริษัท

และในปีที่แล้วมีโปรไฟล์ลูกค้าเกือบ 7 ล้านรายถูกแฮ็กไปจากระบบ โดยแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ รวมถึงรายงานของผู้ให้บริการ ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลมากถึง 5.5 ล้านคน ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันอย่างหนัก

Wojcicki ต้องแก้เกมโดยการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ โดยพยายามเปลี่ยนไปใช้รูปแบบของการสมัครรับข้อมูลหรือ Subscription เลียนแบบเหล่าบริษัทสื่อชื่อดัง โดยเธอได้เปิดตัว 23andMe+ โดยนำเสนอรายงานสุขภาพส่วนบุคคล คำแนะนำด้านไลฟ์สไตล์ ในราคาเริ่มต้น 299 ดอลลาร์ พร้อมค่าต่ออายุรายปี 69 ดอลลาร์

แต่เมื่อบริษัทได้เปิดเผยจำนวนสมาชิกเมื่อปีที่แล้ว มีสมาชิกเพียง 640,000 รายที่ยอมเสียเงินสมัคร ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่คาดการณ์ไว้ในขณะนั้น

แนวคิดเบื้องหลังระบบ Subscription ของ 23andMe+ ก็คือ มันอาจจะมีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงล็อคอยู่ใน DNA ของลูกค้าซึ่งควรรู้ไว้จะดีกว่า แต่มันเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ๆ ที่ลูกค้าเหล่านี้จะมีรหัสทางพันธุกรรมที่เสียงต่อโรคเช่น มะเร็งเต้านม

23andMe+ ที่เป็นบริการแบบ Subscription (CR:Amazon)
23andMe+ ที่เป็นบริการแบบ Subscription (CR:Amazon)

แน่นอนว่าชุดทดสอบของ 23andMe นั้นเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ และได้รับการ approve จาก FDA ซึ่งอาจนำไปสู่การติดตามผลของแพทย์ที่สามารถช่วยชีวิตได้แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงเช่นมะเร็ง

แต่ก็ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีโรคเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ 23andMe+ ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าแต่อย่างใด

Bruno Bowden นักลงทุนด้านเทคโนโลยีในซิลิกอน วัลเลย์ ที่เคยออกมาอวย 23andMe ไว้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ถึงกับผิดหวัง และมองว่ารูปแบบโมเดลธุรกิจแบบนี้มันไม่น่าจะมีประโยชน์มากนัก

ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา 23andMe ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สมัครสมาชิกที่ advance ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งจะรวมถึงการทดสอบทางพันธุกรรมระดับคลินิกที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เช่นเดียวกับการตรวจเลือดและนัดหมายกับแพทย์ของ 23andMe โดยมีค่าใช้จ่าย 1,188 ดอลลาร์ต่อปี

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ถูกเรียกว่า TotalHealth มันเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ของ Wojcicki ที่จะให้บริการการรักษาพยาบาลโดยใช้พื้นฐานทางพันธุกรรม และ 23andMe ได้จ่ายเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท Lemonaid Health บริษัทด้านการดูแลสุขภาพทางไกล

แต่ Lemonaid นั้นไม่ได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และคนรู้จักน้อย ส่วนใหญ่จะให้คำปรึกษาและจ่ายยาทางไกล ด้วยอาการพวกหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ ผมร่วงเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ผลก็คือมีตัวเลขผู้ใช้บริการของ 23andMe น้อยมาก ๆ ที่มาปรึกษาแพทย์ของ Lemonaid จริง ๆ

Roelof Botha คณะกรรมการของ 23andMe และ หุ้นส่วนของ Sequoia Capital ได้ถึงกับออกมากล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่ยุคของเงินทุนราคาถูกอีกต่อไป และ 23andMe ต้องโฟกัสโปรเจกต์ที่จะทำเงินจริง ๆ ไม่ใช่หว่านแหไปทั่วแบบนี้

Sequoia ซึ่งลงทุน 145 ล้านดอลลาร์ใน 23andMe ยังคงถือหุ้นทั้งหมดอยู่ในตอนนี้ แต่ในวันนี้มูลค่าที่พวกเขาลงทุนลดเหลือเพียงแค่ 18 ล้านดอลลาร์เพียงเท่านั้น แถมบริษัทอาจจะถูกเพิกถอนออกจากตลาด Nasdaq ในไม่ช้าหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินที่กำลังวิกฤติอยู่ในขณะนี้ได้

References :
https://www.wsj.com/health/healthcare/23andme-anne-wojcicki-healthcare-stock-913468f4
https://en.wikipedia.org/wiki/23andMe
https://www.wired.com/story/23andme-genomic-testing-financial-results-earnings-anne-wojcicki/
https://www.theguardian.com/technology/2024/feb/17/23andme-dna-data-security-finance