The PodFather กับวลี “อีก 10 ปีจากนี้ไป Apple จะกลายเป็นบริษัทเพลง ไม่ใช่บริษัทคอมพิวเตอร์”

ถ้าโลกนี้ไม่มีคนที่ชื่อ โทนี่ ฟาเดลล์ มันก็ไม่อาจจะทำให้ สตีฟ จ็อบส์ สามารถพลิกฟื้น Apple กลับมาได้สำเร็จ โปรแกรมเมอร์หนุ่มมาดกร่าง หน้าตาและการแต่งตัวออกไปทางแนวไซเบอร์พังค์ เป็นคนมีเสน่ห์ที่รอยยิ้ม และมีหัวคิดแบบเจ้าของกิจการ และที่สำคัญมีความเชี่ยวชาญทางด้านฮาร์ดแวร์โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการฟังเพลง

และเป็น จอห์น รูบินสไตน์ ผู้บริหารที่ดูแลด้านฮาร์ดแวร์ของ Apple ในยุคนั้นที่เป็นคนไปค้นพบโทนี่ ฟาเดลล์ เข้า

ฟาเดลล์ เคยตั้งบริษัทถึง 3 แห่งสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยมิชิแกน พอเรียนจบก็ได้เข้าไปทำงานที่ General Magic ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา แล้วย้ายข้ามห้วยไปยัง Philips บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก

ฟาเดลล์ มีไอเดียอย่างแรงกล้าที่จะทำเครื่องเล่นเพลงที่ดีกว่าเครื่องที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เขาเคยไปนำเสนอไอเดียที่ RealNetwork , Sony และ Philips แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

และในวันหนึ่งที่ฟาเดลล์ ในขณะที่เขากำลังเล่นสกีอยู่กับลุงที่เมืองเวลรัฐโคโลราโด ระหว่างที่นั่งลิฟต์ขึ้นเขา เพื่อไปเล่นสกีเหมือนอย่างที่เคยทำมาเป็นประจำเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น

ปลายสายคือ รูบินสไตน์ ที่เป็นผู้อำนวยด้านด้านฮาร์ดแวร์ ของ Apple ซึ่งได้แจ้งเขาว่ากำลังหาคนที่จะมาช่วยทำ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก” ซึ่งคนระดับฟาเดลล์นั้นมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว เขาทำอุปกรณ์พวกนี้เก่งในระดับที่หาตัวจับยาก รูบินสไตน์ จึงได้เชิญ ฟาเดลล์ เข้าไปพบที่ office ของ Apple ในคูเปอร์ติโน่

ฟาเดลล์ เข้าใจว่า Apple นั้นจะจ้างไปทำเครื่อง PDA แต่เมื่อได้พบกับ รูบินสไตน์ การสนทนาก็เปลี่ยนเป็นเรื่องเกี่ยวกับ iTunes ที่ Apple เพิ่งได้ทำเสร็จก่อนหน้านั้นไม่นาน

ปัญหาในตอนนั้นคือทาง Apple พยายามที่จะใช้เครื่องเล่น mp3 ที่มีในตลาดเพื่อใช้งานกับ iTunes ซึ่งพบว่า ไม่มีอุปกรณ์ไหนที่สามารถตอบโจทย์ของ Apple ได้เลย ตอนนั้นมีแต่อุปกรณ์เล่น mp3 ห่วย ๆ อยู่เต็มตลาดไปหมด Apple อยากที่จะสร้างเวอร์ชั่นของตัวเองขึ้นมา

ฟาเดลล์ ที่ถูกชักชวนมาสร้างเครื่องเล่น MP3 ให้กับ Apple (CR: Apple Wiki)
ฟาเดลล์ ที่ถูกชักชวนมาสร้างเครื่องเล่น MP3 ให้กับ Apple (CR: Apple Wiki)

และมันทำให้ ฟาเดลล์ รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เพราะเขาเป็นคนที่รักในเสียงดนตรี และเคยพยายามนำไอเดียที่เขาคิดไปเสนอที่ RealNetworks เหมือนกัน ตอนที่ RealNetworks กำลังนำเสนอเครื่องเล่น mp3 ให้กับบริษัท Palm แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ ฟาเดลล์ เป็นคนที่รักอิสระเขาไม่อยากที่จะเป็นพนักงานเต็มตัวของ Apple เขาแค่อยากร่วมงานในฐานะที่ปรึกษาเพียงเท่านั้น

รูบินสไตน์ ได้พยายามบีบบังคับให้ ฟาเดลล์ ทิ้งไพ่ในมือด้วยการมัดมือชก และยืนกรานว่าหาก ฟาเดลล์ ต้องการที่จะเป็นหัวหน้าทีมก็ต้องเข้ามาเป็นพนักงานเต็มตัวของ Apple เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

และมีการเรียกทีมงานทั้งหมดที่จะทำโปรเจกต์นี้กว่า 20 คนเข้ามารวมตัวแล้วยื่นคำขาดกับ ฟาเดลล์ ว่าต้องให้ตัดสินใจโอกาสที่ทาง Apple มอบให้เดี๋ยวนั้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ แม้ตัว ฟาเดลล์ จะไม่ค่อยเต็มใจนักแต่ก็ได้เสนอตอบรับมาร่วมทีมในท้ายที่สุด

และสุดท้าย Apple ก็ได้ว่าจ้าง ฟาเดลล์ ในปี 2001 และได้สร้างทีมพัฒนาขนาด 30 คนให้ที่มีทั้ง Designer , Programmers รวมถึง Hardware Engineers เพื่อทำโครงการนี้ 

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากฟาเดลล์ เข้ามาร่วมทีมทุกคนต่างยุ่งจนแทบจะไม่มีเวลาทะเลาะกัน จ็อบส์อยากให้ iPod (ชื่อที่เรียกแทนเจ้าอุปกรณ์ตัวใหม่นี้) ออกวางตลาดให้ทันช่วงคริสต์มาส์ ซึ่งมันแปลว่าต้องทำเสร็จพร้อมเปิดตัวในเดือนตุลาคมซึ่งมันมีระยะเวลาเพียงแค่ 8 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่บีบคั้นมาก ๆ สำหรับทุก ๆ คนภายในทีม

ตอนนั้นทีมงานต่างมองหาดูว่ามีบริษัทไหนออกแบบเครื่องเล่น MP3 ที่พอจะใช้เป็นพื้นฐานการทำงานของ Apple ได้บ้าง และได้ตัดสินใจเลือกบริษัทเล็ก ๆ ที่ชื่อ PortalPlayer ให้มาทำเป็นเครื่องต้นแบบ Mp3 Player ของ Apple

PortalPlayer นั้นมีเครื่องต้นแบบอยู่ตัวหนึ่งที่มีขนาดเท่าซองบุหรี่ ซึ่งว่ากันว่ามันมีหน้าตาที่ดูน่าเกลียดมาก ๆ ดูเหมือนวิทยุราคาถูก ที่มีปุ่มเยอะ ๆ ซึ่งมันเป็นที่เข้าใจได้ เพราะว่าบริษัท PortalPlayer เป็นบริษัทฮาร์ดแวร์ ผลิตภัณฑ์ทุกตัวจึงถูกออกแบบโดย Hardware Engineer

แต่ ฟาเดลล์ เห็นตรงกันข้ามเมื่อเขาได้เห็นเจ้าเครื่องตัวนี้ เขารู้สึกทึ่งมากและคิดว่านี่แหละจะเป็นตัวต้นแบบของ iPod ที่ apple จะสร้างขึ้นมา

โดยขณะนั้น PortalPlayer นั้นมีลูกค้าอยู่ถึง 12 ราย และหนึ่งในนั้นคือ IBM ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งร่วมวงการกับ Apple โดย IBM กำลังแอบซุ่มทำเครื่องเล่น MP3 ที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็กของ IBM อยู่

ฟาเดลล์ ได้บีบให้ PortalPlayer ทิ้งลูกค้า 12 รายที่เหลือไป และให้มาร่วมงานกับ Apple เพียงบริษัทเดียว ด้วยข้อเสนอ ที่ PortalPlayer มิอาจปฏิเสธได้ลง และเพิ่มทีมงานจนกลายเป็นทีมขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนคนถึง 200 คนที่อยู่ในอเมริกา และเหล่า Engineer อีก 80 คนในอินเดียเพื่อเร่งทำให้มันเสร็จก่อนคริสมาสต์

ตอนนี้เรียกได้ว่า iPod หรือ อุปกรณ์เครื่องเล่น MP3 ตัวใหม่ของ apple ได้ทีมงานที่เพียบพร้อมแล้ว โดย PortalPlayer นั้นจะดูแลเรื่อง Hardware , จ๊อบส์ และ ไอฟฟ์ นั้นจะมาดูแลเรื่อง “User Experience” โดยมี ฟาเดลล์ เป็นหัวเรือหลักในการคุมโปรเจ็คนี้

แต่ทุกอย่างมันก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด มันมีข้อบกพร่องมากมายกับเจ้าเครื่อง PortalPlayer ไม่ว่าจะเป็น User Interface ที่ดูซับซ้อน หรือข้อจำกัดในการทำ Playlist ที่ได้ไม่เกิน 10 เพลงเท่านั้น

ฟาเดลล์พบจ็อบส์ ครั้งแรกที่งานเลี้ยงวันเกิดที่บ้านของ แอนดี้ เฮิร์ตซเฟลด์ เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น และเคยได้ยินกิตติศัพท์ของจ็อบส์มามาก ซึ่งหลายเรื่องนั้นฟังแล้วน่าขนลุก แต่เพราะเขายังไม่รู้จักจ็อบส์ดีพอเขาจึงรู้สึกหวั่นใจพอสมควรเมื่อต้องมาประจันหน้ากับจ็อบส์ จริง ๆ ในการประชุมงานเรื่อง iPod

เดือนเมษายน 2001 มีการประชุมนัดสำคัญ วันนั้นจ็อบส์ต้องตัดสินใจเลือกองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับเครื่อง iPod ซึ่ง ฟาเดลล์ เป็นคนนำเสนอโดยมี รูบินสไตน์ ,ฟิล ชิลเลอร์ , เจฟฟ์ ร็อบบิน และ สแตน อึง ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดของ Apple เข้าร่วมฟังด้วย

การประชุมเริ่มด้วยการนำเสนอเรื่องของศักยภาพของตลาด และเนื้อหาทางการตลาดอื่น ๆ ที่เหล่านักการตลาดมักจะทำกัน แต่จ็อบส์เป็นคนที่มีความอดทนต่ำ สไลด์ชุดไหนที่มีความยาวเกินหนึ่งนาทีเขาจะไม่สนใจทันที และเมื่อถึงฟาเดลล์ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องคู่แข่งในตลาดที่ขณะนั้นมีทั้ง Sony  , Creative หรือ Rio  ที่อยู่ในตลาดเครื่องเล่น MP3 เหมือนกัน

แต่จ็อบส์นั้นโบกมืออย่างไม่แยแส จ็อบส์แทบไม่เคยสนใจคู่แข่งเลยด้วยซ้ำ ตอนนี้โปรเจค iPod ยังเป็นความลับอยู่ เหล่าคู่แข่งยังไม่รู้ว่า Apple กำลังทำอะไร

จ็อบส์ ชอบให้เอาสิ่งที่จับต้องได้มาโชว์ เพื่อเขาจะได้สัมผัส ลูบคลำ สำรวจ ฟาเดลล์ จึงได้นำโมเดล 3 แบบเข้ามาในห้องประชุมด้วย รูบินสไตน์ ได้สอนเทคนิคให้จ็อบส์ดูเรียงตามลำดับเพื่อให้ชิ้นที่เขาชอบที่สุดเป็นชิ้นที่เด่นที่สุดทีมงานจึงซ่อนโมเดลที่ชอบไว้ใต้โต๊ะประชุม

จากนั้น ฟาเดลล์ เริ่มเอาโมเดลออกมาโชว์ซึ่งโมเดลเหล่านี้ทำจากโฟมแบบเดียวกับที่ใช้ทำกล่องอาหาร ยัดไส้ตะกั่วเพื่อให้ได้น้ำหนักที่เหมาะสม ตัวอย่างแรกมีช่องใส่เมมโมรี่การ์ดสำหรับบันทึกเพลงแบบถอดได้ จ็อบส์ตัดตัวอย่างนี้ออกทันทีมันดูซับซ้อนไป

ตัวอย่างที่สองนั้นใช้เมมโมรี่แบบ dynamic RAM ซึ่งราคาถูกกว่า แต่เพลงทั้งหมดจะถูก delete ทิ้งทันที หากแบตเตอรี่หมดซึ่งแน่นอนว่าจ๊อบส์ไม่ปลื้มอย่างแน่นอน

จากนั้นแบบที่สามคือ ฟาเดลล์ ได้ทำการจับชิ้นส่วนต่อกันเหมือนเลโก้ เพื่อให้ดูว่าเครื่องเล่นบรรจุฮาร์ดไดร์ฟขนาด 1.8 นิ้วจะมีหน้าตาอย่างไรซึ่งโมเดลนี้ จ็อบส์ดูสนใจมาก ๆ  ซึ่งสุดท้าย จ็อบส์ ก็เลือกแบบดังกล่าว ซึ่งทำให้ ฟาเดลล์ ถึงกับทึ่งมาก เพราะปรกติการประชุมแบบนี้ที่บริษัทอื่น จะต้องตัดสินใจแล้ว ตัดสินใจอีก แต่กับ Apple จ็อบส์ ถือเป็นสิทธิ์ เด็ดขาดสามารถฟันธงได้ทันทีทำให้ทุกอย่างสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างโมเดลต้นแบบของ iPod (CR:Wired)
ตัวอย่างโมเดลต้นแบบของ iPod (CR:Wired)

ต่อจากนั้นเป็นคิวของ ฟิล ชิลเลอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท มันเป็นไอเดียที่สำคัญที่สุดของ iPod ที่ทำให้แตกต่างจากเครื่องเล่น MP3 อื่น ๆ ในตลาด ชิลเลอร์ ได้นำเสนอล้อกลม ๆ สำหรับใช้เลือกเพลง ( trackwheel ) แค่ใช้นิ้วโป้งหมุนวงล้อ ผู้ใช้จะสามารถเลือกเพลงใน Playlist ได้ ยิ่งหมุนนานก็ยิ่งไล่เพลงได้เร็วขึ้นถึงจะมีเพลงเป็นร้อยเป็นพันเพลงก็สามารถไล่ดูได้ง่ายซึ่งไอเดียนี้ จ็อบส์ร้องอุทาน “นั่นแหละใช่เลย!!!” แล้วสั่งให้ฟาเดลล์กับทีมวิศวกรลงมือทำทันที

โดยหลังจากเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการ จ็อบส์ ก็เข้ามาคลุกคลีด้วยทุกวัน จ็อบส์ให้ concept หลักของ iPod คือ “ทำให้ง่ายเข้าไว้!” ทุกฟังก์ชันต้องทำได้ภายใน 3 click ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบางครั้งทีมงานต้องพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนของ User Interface แบบไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลยทีเดียว

แต่จ็อบส์ก็พยายามหาจุดอ่อน ไปเรื่อย ๆ และให้ทีมงานไปคิดหาวิธีแก้มา ซึ่งบางครั้งทีมงานก็คิดไม่ออกว่าจะไปถึงสิ่งที่จ็อบส์ต้องการได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่บ้ามาก ๆ ในหลายเรื่องที่ทีมงานต้องมานั่งแก้ไขเพื่อให้จ็อบส์นั้นพอใจ จนตอนนั้นมันทำให้ปัญหาเล็ก ๆ ต่าง ๆ แทบมลายหายไปเลยทีเดียว เพราะจ็อบส์จะเห็นรายละเอียดในทุก ๆ จุด และสั่งให้แก้ไขมันทันที

แนวคิดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จ็อบส์ได้กำหนดไว้ คือ ควรให้ซอฟท์แวร์ iTunes ในคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือจัดการกับฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้มากที่สุดแทนที่จะทำในเครื่อง iPod

และมีคำสั่งอย่างนึงจากจ็อบส์ที่ทำให้ทีมงานต่างอึ้งกันไปเลยทีเดียวกับความเรียบง่ายตามความต้องการของจ็อบส์  โดยจ็อบส์ไม่ต้องการให้ iPod มีปุ่ม เปิด-ปิด และเราจะสังเกตได้ว่าอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน คือไม่มีปุ่มสวิตช์ เปิด-ปิด โดยจะเข้าสู่โหมดพักทันทีเมื่อไม่ได้ใช้งานและจะตื่นเมื่อแตะแป้นใด  ๆ ก็ได้

แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เริ่มเข้าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นชิปที่เก็บเพลงได้เป็นพันเพลง ส่วนของ User Interface และวงล้อที่ช่วยนำทางไปหาเพลงต่าง ๆ การเชื่อมต่อผ่าน FireWire ที่ช่วยให้ดาวน์โหลดเพลงทั้ง 1,000 เพลง ได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที และแบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานได้ถึง 1,000 เพลงเช่นกัน

ตอนนี้จ็อบส์ เริ่มรู้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้มันเจ๋งแค่ไหน ด้วยคอนเซ็ปต์ของเครื่องที่เรียบง่ายและงดงามมันคือ “หนึ่งพันเพลงในกระเป๋าคุณ” 

จ็อบส์ได้เผยโฉมเครื่อง iPod ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2001 ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจนเป็นแบบฉบับของตัวเอง ในบัตรเชิญที่ส่งไปยังสื่อนั้นมีข้อความยั่วยวนว่า “คำใบ้: คราวนี้ไม่ใช่ Mac” 

และเมื่อถึงเวลาเผยโฉมผลิตภัณฑ์หลังจากบรรยายสมรรถนะทางเทคนิคแล้วจ็อบส์ไม่ได้เดินไปเปิดผ้าคลุมกำมะหยี่บนโต๊ะอย่างที่เคยทำในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ Apple แต่เขาแค่พูดขึ้นว่า “ผมบังเอิญมีเจ้านี่อยู่ในกระเป๋า”

เขาล้วงเอาอุปกรณ์สีขาววาววับออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์ “เจ้าเครื่องเล็ก ๆ น่าทึ่งนี่จุเพลงได้ 1,000 เพลง และใส่กระเป๋าผมได้พอดี” เขาใส่มันกลับเข้าไปในกระเป๋าแล้วเดินลงจากเวทีท่ามกลางเสียงปรบมือเกรียวกราวจากเหล่าสาวก

นาทีภาพประวัติศาสตร์ที่จ็อบส์ล้วงเอาอุปกรณ์สีขาววาววับออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์ (CR:Catalign Innovation)
นาทีภาพประวัติศาสตร์ที่จ็อบส์ล้วงเอาอุปกรณ์สีขาววาววับออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์ (CR:Catalign Innovation)

ซึ่งในตอนแรกนั้นบรรดาสาวกแฟนพันธุ์แท้ทางเทคโนโลยีไม่ค่อยเชื่อราคาคุยของจ็อบส์สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะการตั้งราคาไว้สูงถึง 399 เหรียญ ทำให้ชาวบล็อกเกอร์ต่างพากันไปเขียนล้อเลียนชื่อ iPod ย่อมาจาก “idiots price our devices” หรือแปลเป็นไทยว่า “คนปัญญาอ่อนเป็นคนตั้งราคาเครื่องให้เรา”

โดยที่วันวางจำหน่ายจริง ๆ ของ iPod ที่ออกสู่ตลาดคือ วันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นหลังเหตุการณ์ 9-11 เพียงหนึ่งเดือน ช่างเป็นลางที่ไม่ดีเลยสำหรับ iPod และไม่เพียงแต่เป็นการออกสู่ตลาดหลังเหตุการณ์เศร้าโศกครั้งยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกาเท่านั้นแต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเทคโนโลยีร่วงตกต่ำแบบสุด ๆ อีกต่างหาก

ไม่เพียงแค่ราคาที่แพงสุดกู่ มันยังต้องใช้คู่กับเครื่อง Macintosh เท่านั้นด้วยซึ่งขณะนั้น Windows แทบจะครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

โจนี่ ไอฟฟ์ ได้กล่าวหลังจากเปิดตัว iPod ไว้ว่า  “Apple นำปรัชญาด้านการออกแบบมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เรายังไม่มี และ iPod ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการมาก ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลง Apple เข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง” ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือพนักงานของ Apple นั้นบ้าดนตรีอยู่เป็นจำนวนมากพนักงานส่วนใหญ่ต่างคลั่งไคล้ในเสียงดนตรี

แม้ว่าสุดท้ายแล้วบทสรุป คือ การสร้างเครื่องเล่น mp3 ตัวใหม่ขึ้นมา แต่เป้าหมายสำคัญของ Apple ไม่ใช่การหาเงิน เป้าหมายอยู่ที่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่โครตเจ๋งออกสู่ตลาด เพื่อให้สามารถทำเงินมหาศาลจากมันได้มากกว่า

นอกเหนือจากนั้น iPod ยังกลายเป็นแก่นสำคัญของทุกอย่างที่ Apple ถูกชะตากำหนดมาแล้ว ทั้งบทกวีที่เชื่อมโยงกับวิศวกรรม ศิลปะ และ ความคิดสร้างสรรค์ มาบรรจบกับเทคโนโลยี การออกแบบที่กล้าแต่เรียบง่ายการใช้งานที่ง่ายมาก ๆ ซึ่งมันเป็นผลจากการทำงานอย่างหนักและทำอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นจนจบ

ตั้งแต่ FireWire ถึงตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์ และการจัดการคอนเทนต์ เมื่อลูกค้าหยิบเครื่อง iPod ออกจากกล่อง มันสวยจนดูคล้ายเรืองแสงได้เทียบกันแล้วดูเหมือนเครื่องเล่นเพลงยี่ห้ออื่น ๆ ถูกออกแบบและผลิตในดินแดนที่ล้าหลังเลยทีเดียว

ต้องยอมรับว่าตอนนั้น iPod โครตที่จะสมบูรณ์แบบเลย มันแทบจะสุดยอดนวัตกรรมใหม่ที่คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับเจ้า iPod เครื่องนี้ และเพียงไม่นานผู้บริโภคก็ทำให้มันกลายเป็นสินค้าขายดี 

และมันส่งผลชัดเจนในเรื่องตัวเลขยอดขายในไตรมาสแรก หลังจากวางตลาดนั้นสูงถึง 250,000 เครื่อง และอีกสิบแปดเดือนต่อมายอดขายก็ทะยานเพิ่มขึ้นมากกว่า 800,000 เครื่อง ส่งผลให้ iPod เป็นเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกทันที

iPod มันกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ยิ่งพวกที่คลั่งเรื่องดีไซน์และเหล่าสาวกของ Apple ต่างหลงรัก iPod กันทั้งนั้น และ มันเริ่มแพร่ขยายลัทธิของ iPod กระจายไปทั่วโลก

มันทำให้ iPod เป็นไอคอนแห่งการฉีกกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมาทั้งในเรื่องวิศวกรรมรวมถึงศิลปะด้านการดีไซน์ และเพียงไม่นานก็กระโดดเข้าไปกินเรียบส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% ของเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาทั่วโลก

มีคนเปรียบเทียบ iPod ว่าเป็น walkman แห่งศตวรรษที่ 21 เป็น walkman แห่งยุคดิจิทัลเป็น walkman ที่ Sony นั้นลืมนึกถึงและเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

ในตลาดเครื่องเล่น MP3 แบบพกพานั้น หลังจากการมาของ iPod ทำให้คู่แข่งต่างๆ เริ่มล้มลุกคลุกคลาน ไม่สามารถที่จะมาต่อกรกับ iPod ของ Apple ได้เลย

โดย Apple ยังคงเดินหน้าสร้างนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้งมีการออก iPod รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ iPod Shuffle , iPod Nano , iPod Video ไปจนถึง iPod Touch  และธุรกิจเพลงกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ Apple มากขึ้นในท้ายที่สุด

ในเดือนมกราคม 2007 ยอดขาย iPod ทำรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้รวมบริษัทและยังทำให้แบรนด์ Apple เปล่งรัศมีและมีอนาคตที่สดใสมากยิ่งขึ้น

แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ iTunes Store ซึ่งขายเพลงได้ถึง 1 ล้านเพลงหลังเปิดตัวได้เพียง 6 วัน ในช่วงเดือนเมษายน 2003 และมียอดขายในปีแรกสูงถึง 70 ล้านเพลง เดือนกุมภาพันธ์ 2006 iTunes Store ขายเพลงที่ 1,000 ล้านส่วนเพลงที่ 10,000 ล้านนั้นขายออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010

และสุดท้ายมันก็เป็นไปอย่างที่ ฟาเดลล์ เคยทำนายไว้ว่า “โครงการนี้ (iPod) จะปั้น Apple ขึ้นใหม่ และอีก 10 ปีจากนี้ไป Apple จะกลายเป็นบริษัทเพลงไม่ใช่บริษัทคอมพิวเตอร์”

References :

หนังสือ สตีฟ จ๊อบส์ : Steve Jobs
ผู้เขียน : Walter Isaacson (วอลเตอร์ ไอแซคสัน)
ผู้แปล : ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ

หนังสือ IPOD…แบรนด์ นวัตกรรมและจักรกลบันเทิง
ผู้เขียน : Dylan Jones
ผู้แปล : กรกฎ พงศ์พีระ

https://en.wikipedia.org/wiki/IPod
https://www.cnet.com/pictures/the-complete-history-of-apples-ipod/
https://www.lifewire.com/history-ipod-classic-original-2000732
https://www.nytimes.com/topic/subject/ipod
https://www.businessinsider.com/apple-ipod-oral-history-tony-fadell-2020-1