BYD , TikTok , Huawei , Xiaomi , Shein และ Temu กับเส้นทาง 100 ปีมาราธอนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ถ้าย้อนไป 20 ที่แล้ว และกล่าวว่าจะมีบริษัทจีนเหล่านี้ขึ้นมาครองโลกธุรกิจในอุตสาหกรรมของตนเอง ผมว่าทุกคนคงขำก๊าก

ต้องบอกว่าเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่สหรัฐฯ มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือจีนในการสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และการทหาร และก้าวขึ้นมาบนเวทีโลก

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มในการเปิดความสัมพันธ์กับจีน สหรัฐฯ เชื่อว่าการผงาดขึ้นมาของจีน ก็จะไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่อเมริกาเคยชักใยได้ สุดท้ายก็จะมาร่วมมือกับพวกเขาในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอเมริกา

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความฝันที่แท้จริงของจีนแล้ว พวกเขามีเป้าหมายเพื่อมาแทนที่อเมริกา และทำเฉกเช่นเดียวกับที่อเมริกาเคยเข้ามาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแทนที่จักรวรรดิอังกฤษ

มีข้อมูลจากหนังสือหลายๆ เล่มที่ตีแผ่เรื่องราวแผนอันลึกลับซับซ้อนของจีน ที่ต้องการเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

และพวกเขาจะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2049 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้ง และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

กลยุทธ์ของจีนคือรูปแบบของ Unrestricted Warfare จีนยินดีต้อนรับการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก แต่จะไม่ยอมปล่อยให้นักลงทุนนำผลกำไรออกนอกประเทศ บริษัทของจีนสยายปีกไปทั่วทุกมุมโลก แต่ในประเทศพวกเขาจำกัดบริษัทต่างชาติที่เติบโตในจีนทุกรูปแบบ

แน่นอนว่าประเทศหนึ่งไม่ต้องการกองทัพขนาดใหญ่โตอีกต่อไปเพื่อพิชิตเป้าหมายในการเป็นมหาอำนาจ

เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นประเทศมหาอำนาจต่างไล่ล่าเพื่อควบคุมประชากร ทรัพยากร หรือแม้กระทั่งเข้าควมคุมรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ

แน่นอนว่าการใช้กำลังทหารนั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแสดงความก้าวร้าว แต่อีกวิธีหนึ่งในการบรรลุอำนาจในมุมมองของจีนนั่นก็คืออำนาจทางเศรษฐกิจ

มันคือการสร้างความเป็นต่อในขอบเขตการสู้รบอื่น ๆ ทั้งหมดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสามารถใช้เพื่อสร้างอิทธิพลและโน้มน้าวผู้นำทางการเมืองในต่างประเทศ ปิดปาก ซื้อหรือขโมยเทคโนโลยี

มันยังสามารถใช้ในการผลิตสินค้าราคาถูกและขับไล่คู่แข่งออกจากธุรกิจหรือทำให้เศรษฐกิจของคู่แข่งอ่อนแอลง

สามารถใช้เพื่อสร้างกองทัพนักวิชาการที่รวบรวมข่าวกรองทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนำไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ได้

การพุ่งทะยานของธุรกิจจีน

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ที่แล้ว หากเราพูดถึงแบรนด์อย่าง BYD , TikTok , Huawei , Xiaomi , Shein และ Temu คิดว่าหลายๆ คนคงส่ายหัวไม่รู้จัก อาจจะมีเพียงแค่ Huawei ที่พอจะมีชื่อเสียงในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมอยู่บ้าง

แต่หากพูดถึงที่เหลือพวกเขาเป็นแบรนด์ที่เพิ่งเกิดมาแทบจะทั้งสิ้น BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 เริ่มผลิตรถยนต์คันแรกในปี 2005 , TikTok ที่เริ่มจาก Douyin ก่อนจะแพร่กระจายไปตัวทั่วโลกผ่านแบรนด์ TikTok ที่เปิดตัวในปี 2016

Shein ก่อตั้งขึ้นในเมืองหนานจิงเมื่อเดือนตุลาคมปี 2008 โดยผู้ประกอบการที่เก่งด้านการทำตลาดผ่าน SEO อย่าง Chris Xu , ส่วน Temu แม้จะมีบริษัทแม่อย่าง PDD Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน แต่แบรนด์ใหม่อย่าง Temu เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2022 นี่เอง

หรือแบรนด์ Xiaomi ที่ตอนนี้ก้าวขึ้นมาท้าชนยักษ์ใหญ่จากทั้งเกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่นในสินค้ากลุ่ม consumer electronics ก็ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2010

จะเห็นได้ว่าแบรนด์เหล่านี้กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมตนเองโดยใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ด้วยอัตราเร่งในการเติบโตแบบโครตไฮสปีด

นี่ยังไม่นับแบรนด์อื่นๆ อีกมากมายที่กำลังเจริญรอยตามรุ่นพี่ๆ และงอกขึ้นมาในแทบจะทุกอุตสาหกรรม รถไฟความเร็วสูง ชิป เครื่องบินพี่จีนก็พัฒนาของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยซึ่งนั่นก็คือ Comac และพร้อมขึ้นมาท้าชนผู้นำอย่าง Boeing หรือ Airbus ในเร็ววันนี้ หรือแม้กระทั่งการท่องอวกาศที่พวกเขาได้ปักหมุดไปไกลแล้ว

ส่วน Huawei เองความจริงพวกเขาประกาศกร้าวอย่างชัดเจนมาก ๆ และดูเหมือนเส้นทางจะสดใสซะด้วยว่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลกภายในปี 2020

แต่ด้วยปัญหาเรื่องสงครามการค้า การแบนเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้พวกเขาต้องถอยทัพกลับไปเริ่มต้นสร้างตัวใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านชิปที่พวกเขาหรือแม้กระทั่งรัฐบาลจีนเองมองว่าคงยืมจมูกคนอื่นหายใจไม่ได้อีกต่อไป

และเมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว Huawei ได้ประกาศวางขายสมาร์ทโฟน Huawei Mate 60 ซึ่งใช้ขุมพลังชิปประมวลผล 7 นาโนเมตรได้สำเร็จ ซึ่งทำให้คู่แข่งทั่วโลกต่างสะพรึงกลัวและเต็มไปด้วยคำถามที่ว่า จีนทำมันได้อย่างไรในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้

จะเห็นได้ว่ารูปแบบของธุรกิจต่าง ๆ ของจีนนั้นคล้ายคลึงกันอย่างมาก เริ่มต้นก็หลอกล่อบริษัทจากต่างประเทศให้มาลงทุนผลิตในประเทศ และดึงดูดเอา knowhow ก่อนที่จะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองอย่างรวดเร็ว

และฐานผู้บริโภคในประเทศของพวกเขาที่ใหญ่โตมหาศาลทำให้พวกเขาสามารถที่จะทดลองสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตลอดเวลา และที่สำคัญประชาชนในชาติก็พร้อมใจกันอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศตัวเองเสียด้วย

ทุกแบรนด์เหล่านี้ ล้วนสร้างนวัตกรรมแบบไม่หยุดยั้ง และพัฒนาด้วยความเร็วแบบไฮสปีด กอรปกับความสัมพันธ์ที่มีความลึกลับซับซ้อนกับทางรัฐบาลจีน ที่เหมือนจะอยู่เบื้องหลังบริษัทเหล่านี้แทบจะทุกแห่ง สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของบริษัทเหล่านี้ได้ ดูได้จากเคสตัวอย่างของการกวาดล้างบริษัทเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

มันเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกวางหมากไว้แทบจะทั้งหมดสอดประสานกันระหว่างองค์กรธุรกิจและภาครัฐของจีนที่คอยกำหนดแผนการที่สอดรับไว้ ตัวอย่างเช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีอยู่ทั่วโลกในขณะนี้

ซึ่งสุดท้ายมันก็จะเป็นไปตามแผนการ The Hundred-Year Marathon ของประเทศจีน ซึ่งดูจากสถานการณ์ในตอนนี้มันมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่พวกเขาก็จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกโดยแทบจะไม่ต้องใช้กระสุนซักนัดเหมือนที่อเมริกาเคยล้มจักรวรรดิอังกฤษได้สำเร็จมาแล้วนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ The Hundred-Year Marathon: China’s Secret Strategy to Replace America as the Global Superpower โดย Michael Pillsbury
หนังสือ Stealth War: How China Took Over While America’s Elite Slept โดย Robert Spalding
https://en.wikipedia.org/wiki/BYD_Auto
https://en.wikipedia.org/wiki/TikTok
https://en.wikipedia.org/wiki/Shein
https://en.wikipedia.org/wiki/Temu_(marketplace)
https://en.wikipedia.org/wiki/Xiaomi


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube