AI nationalism เมื่อโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของชาตินิยม AI

ต้องบอกว่าคำว่า “ชาตินิยม” เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศหลายๆ ประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเคสตัวอย่างมากมายที่ความเป็นชาตินิยมของคนในชาติผลักดันให้ประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น จีน เกาหลีใต้ หรือ เวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา

แล้วถามว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้นหากชาติใด ไม่มีเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทมาก ๆ อย่าง AI โดยเฉพาะ Large Language Model (LLM) ที่กำลังกลายเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ มันเป็นคำถามที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อาบูดาบีได้เปิดตัวบริษัท AI71 ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้าน AI แห่งใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และสร้างผลิตภัณฑ์อย่าง “Falcon” ซึ่งเป็นเทคโนโลยี LLM คล้ายๆ กับ ChatGPT

ในฝรั่งเศส Mistral บริษัทที่สร้างโมเดล LLM ของฝรั่งเศสที่เพิ่งก่อตั้งบริษัทมาได้ 7 เดือนได้ประกาศระดมทุนรอบล่าสุดมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลักดันให้บริษัทมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ที่แม้กระทั่งประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศสก็ยังได้ออกมากล่าวถึง ChatGPT และเทคโนโลยี LLM อื่น ๆ ที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นหลักคงไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรม ภาษา และจริยธรรมของประเทศเราได้

Krutrim สตาร์ทอัพรายใหม่ของอินเดีย ได้เปิดตัวเทคโนโลยี LLM ตัวแรกของอินเดีย และ Sarvam บริษัทที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 5 เดือน สามารถระดมทุนได้ 41 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโมเดลภาษาอินเดียที่คล้ายคลึงกัน

และหากติดตามข่าวแวดวงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่อง AI เราจะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้เหมือนกัน และแน่นอนว่าพวกเขาคงไม่อยากตกเป็นเมืองขึ้นของ Silicon Valley อีกครั้งเป็นแน่แท้

ต้องบอกว่า AI ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เข้มข้นระหว่างอเมริกาและจีน ในปีที่ผ่านมาเพียงแค่สองประเทศนี้ก็ลงทุนในเทคโนโลยี AI ไปกว่า 40,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแน่นอนว่าประเทศอื่น ๆ ก็คงไม่อยากถูกทิ้งไว้เพียงเบื้องหลัง

ในปีที่ผ่านมารัฐบาลที่มีความทะเยอทะยานด้าน AI อีก 6 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยี AI โดยอัดเม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในอเมริกาโดยเฉพาะแถบ Silicon Valley พวกเขาได้กลิ่นของผลประโยชน์อันมหาศาลของเทคโนโลยีนี้ก่อนใคร แทบไม่ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกาเลยด้วยซ้ำ

รัฐบาลใช้เงินไปกับนโยบายด้านอื่นๆ โดยทุ่มเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิปภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาโดยเฉพาะ TSMC จากไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน หากจีนตัดสินใจที่จะบุกเกาะแห่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของพวกเขา

อีกวิธีหนึ่งที่โหดเหี้ยมมาก ๆ ของอเมริกาก็คือ การออกกฎหมายควบคุมการส่งออก โดยห้ามการขายเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยรวมถึงชิปและอุปกรณ์การผลิตชิปให้กับศัตรูคู่อาฆาตอย่างจีนและรัสเซีย นอกจากนี้ยังสั่งห้ามชาวอเมริกาแบ่งปัน knowledge ความเชี่ยวชาญด้าน AI กับประเทศเหล่านี้ด้วย

ฝั่งจีนก็อย่าคิดว่าโดนแค่นี้พวกเขาจะยอมง่าย ๆ เพราะพวกเขาผลิตได้สากเบือยันเรือรบอยู่แล้ว แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าทางฝั่งอเมริกา แต่รัฐบาลจีนได้ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลโดยใช้เงินเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ในดินแดนของพวกเขาเองโดยไม่พึ่งอเมริกาอีกต่อไป

และเพียงแค่ข่าวที่ Huawei บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำจากจีนสามารถผลิตชิปในระดับ 7 นาโนเมตรได้ในปีที่แล้ว กลายเป็นข่าวใหญ่ช็อกโลก ซึ่งอเมริกาคงจินตนาการไม่ออกว่าทำไมจีนถึงพัฒนามันได้เร็วเพียงนี้ และหากมีการพัฒนาในอัตราเร่งแบบนี้และทางรัฐบาลเห็นเป็นวาระแห่งชาติ เราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยีชิปของจีนแซงหน้าอเมริกาในเร็ววันนี้ก็เป็นได้

หน่วยงานกลางและท้องถิ่นของจีนได้อัดเม็ดเงินลงทุนไปยังบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน AI ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “guidance funds” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งกระจายการลงทุนไปเกือบ 2,000 บริษัททั่วประเทศในเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่ถือว่ามีความสำคัญเชิงกลยุทธ์

พรรคคอมมิวนิสต์กำลังมองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก และเริ่มหันมาโฟกัสช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก นโยบายการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่กลายเป็นประเด็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีข้อมูลขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เท่านั้น

ความน่าสนใจก็คือ การเข้ามาแทรกแซงโดยรัฐแบบเดียวกับที่จีนทำนั้น กำลังถูกเลียนแบบในส่วนอื่น ๆ ของโลกเช่นเดียวกัน เช่น ในอ่าวเปอร์เซีย และด้วยการที่เป็นระบอบที่ไม่ต่างจากเผด็จการ ทำให้ซาอุดิอาระเบีย หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้ดีกว่าประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่

เพราะการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย อาจต้องคำนึงถึงความกังวลของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ในด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องการที่ AI จะเข้ามาแย่งงาน ซึ่งหากประเทศไทยเราเองหันมาสนใจเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง ป่านนี้เราคงได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ถกเถียงกันในสภาบ้างแล้ว

ซึ่งด้วยเงินทุนมหาศาลโดยเฉพาะจากน้ำมัน นั่นทำให้รัฐจากอ่าวเปอร์เซียมีเงินเหลือเฟือ ซื้อแม้กระทั่งทรัพยากรบุคคลจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ จากทั่วโลก

โครงการ AI ที่ King Abdullah University of Science and Technology ในซาอุดิอาระเบีย และ Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence (MBZUAI) ในอาบูดาบี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้าน AI แห่งแรกของโลก ได้ช่วงชิงอาจารย์ระดับแนวหน้าจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น University of California,Berkeley และ Carnegie Mellon

แนวทางของประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียเรียกได้ว่ากำลังเห็นผลลัพธ์ออกมาอย่างชัดเจน ความสามารถของโมเดล Falcon ซึ่งสร้างครั้งแรกโดยทีมวิศวกรประมาณ 20 คน สามารถแข่งขันได้กับโมเดล  Llama 2 ซึ่งเป็นโมเดล Open Soruce ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและคิดค้นโดย Meta

AI71 วางแผนที่จะปรับปรุงโมเดล Open Source โดยใช้ชุดข้อมูลระดับชาติจากสาขาต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือน้ำมัน ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา น้ำมันขับเคลื่อนประเทศพวกเขาเหล่านี้ แต่ในยุคหน้าข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศของพวกเขาในยุคถัดไป

รัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีผสมผสานแนวทางของทั้งอเมริกาและจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งสหภาพยุโรป ตัวอย่างเช่น เยอรมนีผลักดันเม็ดเงินลงทุน 33,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโรงงานชิปแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นโดย Intel บริษัทผลิตชิปสัญชาตอเมริกัน

สหราชอาณาจักรเตรียมลงทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปีให้กับ AI และ Super Computer และกำลังพิจารณาที่จะอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่เป็นบริการสุขภาพแห่งชาติ

รัฐบาลอินเดียกำลังส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยสนับสนุนให้เหล่าผู้ให้บริการ Clound Computing รายใหญ่สร้างศูนย์ข้อมูลในอินเดียเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการอบรมโมเดลด้าน AI ซึ่งอินเดียมีข้อมูลมหาศาลจากบริการสาธารณะดิจิทัลต่าง ๆ ที่เรียกว่า “India Stack” ซึ่งพวกเขาหวังว่าในท้ายที่สุดจะรวมโมเดล AI ของอินเดียเข้ากับบริการดิจิทัลเหล่านี้ในท้ายที่สุด

แน่นอนว่าแนวทางแต่ละแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน การควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเหมือนจีนนั้นคงทำได้ยากในประเทศอื่น ๆ ในโลกเสรีประชาธิปไตยประชาชนต้องมีส่วนร่วมและกฎหมายต่างๆ ก็ต้องมีการถกเถียงกันเพื่อควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องการควบคุมสิ่งที่สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เฉกเช่น AI

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลด้านสุขภาพ รัฐบาลจำนวนมากก็ไม่ต้องการพึ่งพา AI ที่มาจากชาติอื่น เพราะมันเป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน

การมอบข้อมูลที่ละเอียดอ่อนแก่บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะจากต่างชาติ ในเรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลสุขภาพของพลเมืองในประเทศ อาจจุดชนวนกระแสต่อต้านในพื้นที่สาธารณะ แม้แต่ประเทศที่ปกครองโดยระบบเผด็จการก็ตามที

ดูเหมือนว่าทุกประเทศที่มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ กำลังปกป้องข้อมูลชาติตัวเองกันอย่างเต็มที่ แม้จะต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อแข่งขันกับขาใหญ่จาก Silicon Valley ก็ตาม แต่มันเป็นเหมือนความจำเป็นที่พวกเขาต้องทำ

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วประเทศไทยเราล่ะกำลังอยู่ส่วนไหนของการแข่งขันด้าน AI Race ในครั้งนี้?


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube