Death of Wikipedia? เมื่อองค์ความรู้ของมนุษย์กำลังจะถูกกลืนกินด้วยเทคโนโลยี AI

“ในอนาคตแบบจำลองทางด้านคอมพิวเตอร์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง ChatGPT จะเข้ามาแทนที่เว็บไซต์ที่ผมรักและเหล่าบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์” Barkeep49 หนึ่งในบรรณาธิการคนสำคัญของ Wikipedia กล่าว

Wikipedia คลังความรู้ที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 22 ปี ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในทุกวันนี้ในหลาย ๆ ส่วนของเว็บไซต์แห่งนี้ยังเป็นเทคโนโลยีเดียวกับยุคยูโทเปียในยุคแรก ๆ ของการก่อกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต

เป้าหมายของ Wikipedia ที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Jimmy Wales อธิบายไว้ในปี 2004 คือการสร้างเว็บไซต์ที่ทุกคนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงความรู้ทั้งหมดของมนุษย์ได้แบบฟรี ๆ

ปัจจุบัน Wikipedia มีเวอร์ชันใน 334 ภาษา และมีบทความทั้งหมดมากกว่า 61 ล้านบทความ ติดอันดับหนึ่งใน 10 เว็บไซต์ที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลกอย่างสม่ำเสมอ

Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia (CR:LADbible)
Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia (CR:LADbible)

Wikipedia ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบเดียวกับ Google , Youtube หรือ Facebook เพราะพวกเขาแทบไม่มีโฆษณา ยกเว้นแต่การบริจาคเพียงเท่านั้น เหล่าบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ที่คอยช่วยเหลือในการแก้ไขบทความต่าง ๆ ในเว็บไซต์นั้นแทบไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด

ต้องบอกว่าความสำเร็จของเว็บไซต์แห่งนี้นั้นเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะพวกเขาปฏิเสธระบบทุนนิยม ซึ่งชาว Wikipedia บางคนตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามของพวกเขาได้ผลในทางปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ในทางทฤษฎี

Wikipedia ไม่ใช่สารานุกรมอีกต่อไป เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Wikipedia ได้กลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงโลกดิจิทัลทั้งหมดเข้าด้วยกัน คำตอบที่เราได้รับจากการค้นหาใน Google และ Bing หรือจาก Siri และ Alexa ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลของ Wikipedia ที่ถูกดูดเข้าไปยังคลังข้อมูลของบริการเหล่านี้

เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยี Chatbot ใหม่ก็ได้กลืนกินคลังข้อมูลของ Wikipedia เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องบอกว่าข้อมูลใน Wikipedia ที่ฝังลึกอยู่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้นั้น คือองค์ความรู้ที่ได้รับการรวบรวมจากการทำงานอย่างอุตสาหะเป็นเวลาหลายสิบปีโดยบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์

Wikipedia อาจจะเป็นแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวที่มีความสำคัญที่สุดในการฝึกอบรมโมเดล AI

“หากไม่มี Wikipedia เทคโนโลยีอย่าง Generative AI ก็คงไม่มีทางแจ้งเกิดขึ้นมาได้” Nicholas Vincent ผู้ที่ศึกษาว่า Wikipedia ช่วยสนับสนุนการค้นหาโดย Google และเทคโนโลยี Chatbot อื่นได้อย่างไร กล่าว

ในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง Chatgpt ได้รับความนิยมและมีความซับซ้อนขึ้น Vincent และเพื่อนร่วมงานของเขาบางคนสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเทคโนโลยี AI ที่ได้ดูดข้อมูลจาก Wikipedia ทำลายล้างพวกเขา และทำให้ผู้คนต่างทอดทิ้ง Wikipedia ไว้เบื้องหลัง

ซึ่งในอนาคต การล่มสลายของ Wikipedia คงไม่ไกลเกินเอื้อม เนื่องด้วยความฉลาดเป็นกรดของ AI แม้พวกมันจะไม่ดีเท่า Wikipedia แต่พวกมันได้เปรียบกว่ามาก เพราะสามารถสรุปแหล่งข้อมูลและบทความข่าวได้ทันที และดูเหมือนมนุษย์จะชอบรูปแบบการโต้ตอบแบบนี้มากกว่าเสียด้วย

เหล่ากองบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ของ Wikipedia เต็มไปด้วยความวิตกกังวล พวกเขาค่อนข้างมั่นใจว่าในไม่ช้าเครื่องมือ AI ใหม่เหล่านี้จะช่วยขยายบทความของ Wikipedia และการเข้าถึงไปยังทั่วทุกมุมโลกได้อย่างง่ายดายผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Microsoft , Google หรือ Facebook

มันกลายเป็นว่า Wikipedia ที่มีอุดมการณ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ฟรีให้กับผู้คนทั่วโลก และไม่ได้ดำเนินธุรกิจใด ๆ กำลังถูกกลืนกินโดยเหล่าบริษัทหน้าเงินที่มีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน เช่น การเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกของ OpenAI

ซึ่งเมื่อเทียบกับ Google (Search Engine) ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้และให้มีการคลิกไปยังต้นทางที่เป็นเว็บไซต์ของ Wikipedia กลับกันเหล่าเทคโนโลยี AI ใหม่นั้นเป็นการนำข้อมูลมาเขย่า และไม่มีการอ้างอิงว่าข้อมูลนั้นมาจากที่ไหน และข้อมูลบางอย่างก็ค่อนข้างมั่วเอามาก ๆ

Google Search ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ (CR:The Mather Group)
Google Search ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ (CR:The Mather Group)

เทคโนโลยีที่เรียกว่า Large Language Models หรือ LLM ซึ่งเป็นโมเดลที่ขับเคลื่อน AI Chatbot อย่าง ChatGPT และ Bard ของ Google พวกมันเริ่มรับข้อมูลจำนวนมากขึ้น

พวกมันเรียนรู้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไม่ใช่เพียงแค่ Wikipedia แต่ยังรวมถึงฐานข้อมูลสิทธิบัตรของ Google, เอกสารของรัฐบาล,Reddit’s Q&A, หนังสือจากห้องสมุดออนไลนน์ และบทความข่าวมากมายบนเว็บ

แต่เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำการประเมินเครื่องมือ 4 ตัวที่ขับเคลื่อนโดย AI ได้แก่ Bing Chat , NeevaAI , perplexity.ai และ Youchat กลับพบว่ามีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประโยคที่สร้างโดยเครื่องมือเหล่านี้เท่านั้นที่มีการอ้างอิงข้อเท็จจริง

“เราเชื่อว่าผลลัพธ์เหล่านี้ไม่มีความแม่นยำสำหรับระบบที่อาจทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหลักสำหรับผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูล” ทีมนักวิจัยสรุป “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ”

แต่แน่นอนว่าความได้เปรียบของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ที่มีเหนือ Wikipedia นั่นก็คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และมีความแม่นยำสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งข้อมูล input มากขึ้นเท่าไหร่ ระบบก็จะยิ่งมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ท้ายที่สุด มีการศึกษาที่สรุปว่าข้อมูลที่ได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่แท้จริงอย่าง Wikipedia จะมีคุณค่ามากขึ้นสำหรับเทคโนโลยี LLM

มันเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากสำหรับ AI เนื่องจากระบบที่ไม่สอดคล้องกับมนุษย์อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงได้ หาก AI ทำลายระบบความรู้ฟรีที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ของมนุษย์เรา

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่พวกเราต่างเชื่อถือบรรณาธิการของ Wikipedia ที่เป็นมนุษย์ เพราะพวกเขามีแรงจูงใจหรือความกังวลในฐานะมนุษย์ และแรงจูงใจของพวกเขาคือการจัดหาองค์ความรู้ที่น่าเชื่อถือให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.nytimes.com/2023/07/18/magazine/wikipedia-ai-chatgpt.html
https://www.nytimes.com/2022/12/05/technology/chatgpt-ai-twitter.html
https://www.nytimes.com/2013/06/30/magazine/jimmy-wales-is-not-an-internet-billionaire.html