Super App มันเวิร์กจริงหรือ? เหตุใดแพลตฟอร์มในเอเชียจึงต้องยึดติดกับมัน

มันเป็นคำถามที่น่าสนใจนะครับว่าการที่แพลตฟอร์มจากเอเชียต้องการเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในการสร้าง Super App มันเวิร์กจริงหรือ? เพราะสถานการณ์ในตอนนี้มันได้กลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับโมเดลธุรกิจที่แท้จริงที่ทุกแพลตฟอร์มนอกประเทศจีนกำลังประสบพบเจอกับปัญหาใหญ่ในตอนนี้

ผลการดำเนินงานของเหล่าเครือข่าย Super App ในเอเชีย เรียกได้ว่าน่าผิดหวัง มูลค่าตลาดรวมของแพลตฟอร์มที่คิดจะทำตัวเป็น Super App ไม่ว่าจะเป็น Sea และ Grab ของสิงคโปร์ Coupang และ Kakao ของเกาหลีใต้ Rakuten ของญี่ปุ่น และบริษัทแม่ของ Paytm ในอินเดียมูลค่าลดลงประมาณ 60% ตั้งแต่สิ้นปี 2021

บริษัทเหล่านี้แม้จะไม่มีความเหมือนกันซะทีเดียวเพราะแต่ละรายสร้างรายได้จากการผสมผสานระหว่าง เกมมือถือ โซเชียลมีเดีย ecommerce บริการเรียกรถ หรือ บริการด้านการชำระเงิน

แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ ความเพ้อฝันและทะเยอทะยานเกินจริงที่จะรวมบริการที่หลากหลายซึ่งดูเหมือนจะเสริมกันและกันให้อยู่ภายในแอปเดียว

ทุกบริษัทเหล่านี้ หวังว่าจะเลียนแบบบริษัทในจีน เช่น WeChat ของ Tencent และ Alipay ของ Alibaba ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรูปแบบ Super App นี้

WeChat ของ Tencent และ Alipay ของ Alibaba เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะในจีนเท่านั้น (CR:Pandaily)
WeChat ของ Tencent และ Alipay ของ Alibaba เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะในจีนเท่านั้น (CR:Pandaily)

แต่นั่นคือตัวอย่างความสำเร็จเพียงแห่งเดียวและเกิดขึ้นในประเทศจีนเพียงเท่านั้น บริษัทอื่น ๆ ในเอเชียที่คิดพยายามเลียนแบบไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่พวกเขาหวังไว้

ตอนนี้แพลตฟอร์มทางด้านเทคโนโลยีหลายแห่งได้รับแรงกดดันอย่างมหาศาลจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เงินทุนซึ่งครึ่งหนึ่งเสกมันได้ราวกับมีเวทมนต์ ตอนนี้มันได้เหือดแห้งจางหายไปแทบจะหมดสิ้น ทำให้แผนการเติบโตที่มีความทะเยอทะยานสูงของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักไป

James Lloyd จากธนาคาร Citigroup ตั้งข้อสังเกตว่า Super App ของจีนนั้นมีความแตกต่าง พวกเขาเริ่มต้นจากธุรกิจหลักที่ทำกำไรและมีส่วนร่วม (ecommerce สำหรับ Alipay และ โซเชียลมีเดียของ WeChat) ซึ่งแตกต่างจากบริการอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมานอกประเทศจีน มีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีความสมดุลทั้งขนาดและรายได้อย่างแท้จริง

Kakao เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งแตกต่างจาก Super App ระดับสุดยอดของเอเชียส่วนใหญ่ เพราะมันสร้างผลกำไรได้อย่างน่าเชื่อถือ แต่ราคาหุ้นได้ลดลงไป 8% ในปีนี้ เนื่องจากไม่มีช่องว่างสำหรับการเติบโตภายในประเทศอีกต่อไป

Kakao มีกลุ่มธุรกิจเรียกรถที่มีส่วนแบ่งการตลาดในเกาหลีใต้ถึง 90% ซึ่งมันใกล้เต็มเพดานแล้ว ทำให้บริษัทต้องการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ในต่างประเทศจากเดิมที่มีเพียงสัดส่วนแค่ 10% ให้กลายเป็น 30% ภายในปี 2025 แต่การขยายไปทั่วโลกนั้นก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนมหาศาลเช่นเดียวกัน

สำหรับบริษัทอื่นๆ ที่เหลือเรื่องของเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดแรงกดดันให้รีบทำกำไร ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีการปลดพนักงานกันเป็นว่าเล่น เหล่านักลงทุนกำลังสั่งให้แพลตฟอร์มทุกแห่งดำเนินธุรกิจจริงจังเสียที เลิกเอาเงินไปเททิ้งเพื่อการเติบโตเหมือนเดิมอีกต่อไป

GoTo ซึ่งเป็น Super App ของอินโดนีเซีย สร้างขึ้นจากการควบรวมกิจการของ Gojek ซึ่งเป็นบริษัทเรียกรถ และ Tokopedia บริษัทด้าน ecommerce คาดว่าจะแต่งตั้งอดีตนายธนาคาร Patrick Walujo เป็น CEO ซึ่งแน่นอนว่า คนจากแบงก์ไม่เหมือนคนจากสายเทค พวกเขามาเพื่อทำบริษัทให้มุ่งสู่การเป็นธุรกิจอย่างแท้จริงในการเริ่มสร้างกำไร

ฟากฝั่ง Paytm ซึ่งเป็น Super App ของอินเดียที่อิงกับการชำระเงินแบบดิจิทัล แม้ราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นถึง 60% ในปีนี้ แต่ก็ยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงราคาพีคสุด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021

Paytm ยังไม่สามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นอาจะสะท้อนถึงสิ่งที่บริษัทอื่น ๆ ไม่มี เพราตลาดในประเทศของพวกเขาเป็นเพียงตลาดแห่งเดียวที่มีขนาดใหญ่และยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับการเติบโต แต่ก็ไม่มีใครกล้าการันตีว่ามันจะเพียงพอสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของ Paytm หรือไม่

ในขณะที่ Grab จากสิงคโปร์ ก็กำลังถูกบีบจากนักลงทุนเช่นเดียวกัน เพิ่งมีการปลดพนักงานล็อตใหญ่กว่า 1,000 คนไปในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปลดพนักงานรอบใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของ Covid-19

เป้าหมายของ Grab นั้นก็คือ จะเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้จริงจังเสียทีภายในไตรมาสที่สี่ของปี 2023 โดยทาง CEO ของ Grab อย่าง Anthony Tan ก็ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานล็อตใหญ่ว่าไม่ใช่ทางลัดสู่การทำกำไร แต่จะช่วยให้ Grab สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการพุ่งขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI

Anthony Tan ก็ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานล็อตใหญ่ว่าไม่ใช่ทางลัดสู่การทำกำไร (CR:Tatler Asia)
Anthony Tan ก็ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานล็อตใหญ่ว่าไม่ใช่ทางลัดสู่การทำกำไร (CR:Tatler Asia)

บทสรุป

แนวคิดของบริษัทที่ใช้แพลตฟอร์มเดียวเพื่อนำเสนอบริการที่หลากหลายแก่ผู้บริโภคนั้นมันน่าดึงดูดใจสำหรับเหล่านักลงทุน เมื่อได้เห็นความสำเร็จของ Super App จากประเทศจีนมาแล้ว

แต่หลังจากการถกเถียงกันมานานกว่าทศวรรษเกี่ยวกับการเข้ามาครอบงำของ Super App มันก็เป็นระยะเวลาที่มากพอที่จะพิสูจน์ว่าโมเดลเหล่านี้นอกประเทศจีนมันยังไม่เวิร์ก เพราะบริษัทหลายแห่งยังต้องดิ้นรนเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการ scale บริษัทและความสามารถในการทำกำไร

และด้วยต้นทุนทางด้านการเงินที่สูงขึ้นและไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วสำหรับบริษัทเหล่านี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2023/06/29/why-asias-super-app-companies-are-stuck-in-a-rut
https://www.cnbc.com/2023/06/21/grab-cuts-1000-jobs-its-biggest-round-of-layoffs-since-the-pandemic.html
https://www.aljazeera.com/economy/2023/6/21/singapores-grab-fires-1000-in-biggest-layoffs-since-pandemic
https://www.economist.com/business/2022/12/08/the-rise-of-the-super-app
https://www.cnbc.com/video/2021/07/16/what-is-a-super-app-and-why-havent-they-gone-global.html