ซีรีส์วายของไทย จะกลายเป็นคลื่น K-pop ต่อไปของเอเชียได้หรือไม่?

เป็นบทความที่น่าสนใจจากสื่อใหญ่ทั้ง the economist และ Nikkei Asia ที่ออกมาวิเคราะห์เรื่องราวของซีรีส์วายของไทย ซึ่งจะกลายเป็น soft power แบบที่ K-pop ทำสำเร็จมาแล้วกับประเทศเกาหลีใต้ได้หรือไม่

ต้องบอกว่าละครไทยที่เกี่ยวกับชายรักชาย หรือที่เรียกกันนว่า “Boys’ Love (BL)” หรือในไทยที่ถูกเรียกกันว่า “ซีรีส์วาย” กำลังพุ่งทะยานครองใจคนทั่วเอเชีย

แม้ว่าละครเรื่องแรกที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2014 แต่ ในทุกวันนี้มีซีรีส์ประเภทนี้กว่าร้อยเรื่อง ได้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วทั้งเอเชีย กลายเป็นพลัง Soft Power ใหม่ที่น่าสนใจมาก ๆ ของประเทศไทย

โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น มีการปล่อยซีรีส์เหล่านี้ทาง Youtube และได้เข้าสู่ตลาดหลักอย่างในประเทศญี่ปุ่น

แฮ็ชแท็ก #thainuma หรือ #thaiswamp” ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเครือข่ายโซเชียลมีเดียของประเทศญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยประเทศไทยเองได้ส่งเสริมเนื้อหา ซีรีส์วายเหล่านี้ แม้กระทั่งในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ โดยในนช่วงเดือนมิถุนายนปี 2021 อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงถึง 360 ล้านบาท (10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

Boys’ Love หรือ ซีรีส์วายนั้น มีรากเหง้ามาจาก วรรณกรรมชายรักชายประเภทยาโออิมีต้นกำเนิดในญี่ปุ่นช่วงปี 1970 ตัว Y ใน “Y Series” มาจากคำภาษาญี่ปุ่น yaoi ที่เป็นคำพ้องเสียงของ yama nashi,ochi nashi,imi nashi และเริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในญีปุ่นช่วงปี 1990 โดยมักจะถูกใจเหล่าแฟน ๆ ที่เป็นผู้หญิงเป็นหลัก เช่น เดียวกับเวอร์ชั่นทีวีของไทย

Rujirat Ishikawa นักวิชากรชาวไทยที่ Aoyama Gakuin University ในโตเกียว กล่าวว่า ผู้หญิงบางคนรู้สึกเป็นอิสระที่จะดูเรื่องรักใคร่โดยไม่มีตัวเอกหญิงที่ทำให้พวกเธอรู้สึกอิจฉา

ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ เหล่าโปรดิวเซอร์ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้ของไทย มองเห็นความสำเร็จของ K-Pop จากเกาหลีใต้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ พวกเขาได้คัดลอกองค์ประกอบของรูปแบบธุรกิจ K-Pop รวมถึงการสร้างฐานแฟนคลับ เช่น กิจกรรมพบปะแฟนคลับเพื่อเพิ่มรายได้

ความสำเร็จของ ซีรีส์วาย เริ่มดึงดูดผู้ชมที่เป็นกย์มากขึ้น จากการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่าแฟนรายการทีวีมากกว่า 20% ในประเทศไทยเป็นเกย์

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีชื่อเสียงในฐานะเมืองใหญ่ของเหล่า LBGTQ+ ก็ตาม ความสำเร็จของซีรีส์วายนั้น ทำให้สังคมยอมรับเรื่องราวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ในกรุงเทพฯ เองมีดาราคู่รักจากซีรีส์วาย ขึ้นแสดงในป้ายโฆษณาบิลบอร์ดขนาดยักษ์ใจกลางเมืองเต็มไปหมด

และใจกลางกรุงโตเกียว บนอาคารป๊อปอัพชั้น 2 ของตึก Tower Records ในชิบูย่า ก็เกิด “2GETHER CAFE” ที่กลายเป็นศูนย์กลางความคลั่งไคล้ในเอเชียใหม่ เหล่าสาว ๆ ที่ตาลุกวาวไปกับภาพ ไบรท์ วชิรวิชญ์ และ วิน เมธาวินน พระเอกจาก “2gether The Series” ซีรีส์วายชื่อดังจากไทย

2GETHER CAFE ในชิบูย่า ใจกลางกรุงโตเกียว (CR:pyonpyoco.com)
2GETHER CAFE ในชิบูย่า ใจกลางกรุงโตเกียว (CR:pyonpyoco.com)

“ฉันไม่รู้ว่าประเทศไทยมีผู้ชายที่หล่อเหลาแบบนี้” Kobayashi Maki กล่าว เธอเป็นแฟนตัวยงของซีรีส์วาย และเธอกำลังเรียนภาษาไทยเพราะซีรีส์เรื่องนี้

“2gether” ซีรีส์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสองหนุ่มมหาลัยที่ตกหลุมรักกัน นักแสดงชายสองคนได้แสดงให้เห็นถึงสายตาที่เกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน และมีเพลงป๊อบจากไทยที่ถูกเล่นเป็น background

หลังจาก Rakuten TV บริการสตรีมมิ่งของ Rakuten Group เริ่มฉาย “2gether” ในญี่ปุ่น รายการดังกล่าวก็ครองอันดับ 1 ในการจัดอันดับภาพยนตร์และซีรีส์ประจำปี

ในปี 2020 ซีรีส์วายของไทย ติดอันดับที่หนึ่ง สอง และสี่ โดยมีหกรายการในสิบอันดับแรกที่เป็นเนื้อหาแนวชายรักชาย รวมถึงซีรีส์ที่ถูกผลิตจากจีนและเกาหลีใต้

ซีรีส์วายของไทย ที่ติดอันดับท็อปของรายการทีวีในญี่ปุ่น (CR:Twitter)
ซีรีส์วายของไทย ที่ติดอันดับท็อปของรายการทีวีในญี่ปุ่น (CR:Twitter)

ความเฟื่องฟูของซีรีส์วายจากไทย ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ละครทีวี 10 อันดับแรกในปี 2021 ในญี่ปุ่น มีจำนวนมากถึง 5 เรื่องที่เป็นซีรีส์วายจากไทย และยังครองตำแหน่งสูงสุดสองอันดับแรก

Rakuten TV ทำให้แน่ใจว่า ซีรีส์วายจากไทย จะได้รับการสตรีมอย่างรวดเร็วพร้อมคำบรรยายภาษาญี่ปุ่น บางครั้งเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงหลังจากออกอากาศในประเทศไทย

“เนื้อหาของซีรีส์วายจากไทยยอดนิยมกลายเป็นไวรัลทันทีบนโซเชียลมีเดีย โดยแทบไม่ต้องคำนึงถึงพรมแดนของประเทศ” Kim Kyoungeun ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อละครในเอเชียของ Rakuten Group กล่าว

“มันสำคัญมากสำหรับเราในการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ชมละครพร้อมคำบรรยายทันทีหลังจากออกอากาศในประเทศไทย” Kim กล่าวเสริม

ต้องบอกว่าตอนนี้ซีรีส์วายของไทย มีศักยภาพไม่ต่างจาก K-pop ของเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันได้ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้ทางสังคมของเหล่าแฟน ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกไม่ใช่แค่เพียงในแถบเอเชียเพียงเท่านั้น

นั่นทำให้เกิดการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะจากไทยที่เกี่ยวข้องเช่นกัน และความนิยมนี้กำลังขยายออกนนอกเอเชียไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา และได้ทำหน้าที่เป็นทูตของแบรนด์ระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากศิลปิน K-pop ไปแล้วนั่นเองครับผม

References :
https://asia.nikkei.com/Business/Media-Entertainment/Thailand-s-boys-love-dramas-stealing-hearts-around-the-world
https://www.economist.com/asia/2023/03/09/are-thailands-gay-tv-dramas-the-next-k-pop
https://filmdaily.co/obsessions/2gether-the-series-guide/