Death of Wikipedia? เมื่อองค์ความรู้ของมนุษย์กำลังจะถูกกลืนกินด้วยเทคโนโลยี AI

“ในอนาคตแบบจำลองทางด้านคอมพิวเตอร์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง ChatGPT จะเข้ามาแทนที่เว็บไซต์ที่ผมรักและเหล่าบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์” Barkeep49 หนึ่งในบรรณาธิการคนสำคัญของ Wikipedia กล่าว

Wikipedia คลังความรู้ที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 22 ปี ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในทุกวันนี้ในหลาย ๆ ส่วนของเว็บไซต์แห่งนี้ยังเป็นเทคโนโลยีเดียวกับยุคยูโทเปียในยุคแรก ๆ ของการก่อกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต

เป้าหมายของ Wikipedia ที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Jimmy Wales อธิบายไว้ในปี 2004 คือการสร้างเว็บไซต์ที่ทุกคนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงความรู้ทั้งหมดของมนุษย์ได้แบบฟรี ๆ

ปัจจุบัน Wikipedia มีเวอร์ชันใน 334 ภาษา และมีบทความทั้งหมดมากกว่า 61 ล้านบทความ ติดอันดับหนึ่งใน 10 เว็บไซต์ที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลกอย่างสม่ำเสมอ

Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia (CR:LADbible)
Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia (CR:LADbible)

Wikipedia ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบเดียวกับ Google , Youtube หรือ Facebook เพราะพวกเขาแทบไม่มีโฆษณา ยกเว้นแต่การบริจาคเพียงเท่านั้น เหล่าบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ที่คอยช่วยเหลือในการแก้ไขบทความต่าง ๆ ในเว็บไซต์นั้นแทบไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด

ต้องบอกว่าความสำเร็จของเว็บไซต์แห่งนี้นั้นเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะพวกเขาปฏิเสธระบบทุนนิยม ซึ่งชาว Wikipedia บางคนตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามของพวกเขาได้ผลในทางปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ในทางทฤษฎี

Wikipedia ไม่ใช่สารานุกรมอีกต่อไป เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Wikipedia ได้กลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงโลกดิจิทัลทั้งหมดเข้าด้วยกัน คำตอบที่เราได้รับจากการค้นหาใน Google และ Bing หรือจาก Siri และ Alexa ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลของ Wikipedia ที่ถูกดูดเข้าไปยังคลังข้อมูลของบริการเหล่านี้

เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยี Chatbot ใหม่ก็ได้กลืนกินคลังข้อมูลของ Wikipedia เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องบอกว่าข้อมูลใน Wikipedia ที่ฝังลึกอยู่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้นั้น คือองค์ความรู้ที่ได้รับการรวบรวมจากการทำงานอย่างอุตสาหะเป็นเวลาหลายสิบปีโดยบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์

Wikipedia อาจจะเป็นแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวที่มีความสำคัญที่สุดในการฝึกอบรมโมเดล AI

“หากไม่มี Wikipedia เทคโนโลยีอย่าง Generative AI ก็คงไม่มีทางแจ้งเกิดขึ้นมาได้” Nicholas Vincent ผู้ที่ศึกษาว่า Wikipedia ช่วยสนับสนุนการค้นหาโดย Google และเทคโนโลยี Chatbot อื่นได้อย่างไร กล่าว

ในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง Chatgpt ได้รับความนิยมและมีความซับซ้อนขึ้น Vincent และเพื่อนร่วมงานของเขาบางคนสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเทคโนโลยี AI ที่ได้ดูดข้อมูลจาก Wikipedia ทำลายล้างพวกเขา และทำให้ผู้คนต่างทอดทิ้ง Wikipedia ไว้เบื้องหลัง

ซึ่งในอนาคต การล่มสลายของ Wikipedia คงไม่ไกลเกินเอื้อม เนื่องด้วยความฉลาดเป็นกรดของ AI แม้พวกมันจะไม่ดีเท่า Wikipedia แต่พวกมันได้เปรียบกว่ามาก เพราะสามารถสรุปแหล่งข้อมูลและบทความข่าวได้ทันที และดูเหมือนมนุษย์จะชอบรูปแบบการโต้ตอบแบบนี้มากกว่าเสียด้วย

เหล่ากองบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ของ Wikipedia เต็มไปด้วยความวิตกกังวล พวกเขาค่อนข้างมั่นใจว่าในไม่ช้าเครื่องมือ AI ใหม่เหล่านี้จะช่วยขยายบทความของ Wikipedia และการเข้าถึงไปยังทั่วทุกมุมโลกได้อย่างง่ายดายผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Microsoft , Google หรือ Facebook

มันกลายเป็นว่า Wikipedia ที่มีอุดมการณ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ฟรีให้กับผู้คนทั่วโลก และไม่ได้ดำเนินธุรกิจใด ๆ กำลังถูกกลืนกินโดยเหล่าบริษัทหน้าเงินที่มีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน เช่น การเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกของ OpenAI

ซึ่งเมื่อเทียบกับ Google (Search Engine) ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้และให้มีการคลิกไปยังต้นทางที่เป็นเว็บไซต์ของ Wikipedia กลับกันเหล่าเทคโนโลยี AI ใหม่นั้นเป็นการนำข้อมูลมาเขย่า และไม่มีการอ้างอิงว่าข้อมูลนั้นมาจากที่ไหน และข้อมูลบางอย่างก็ค่อนข้างมั่วเอามาก ๆ

Google Search ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ (CR:The Mather Group)
Google Search ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ (CR:The Mather Group)

เทคโนโลยีที่เรียกว่า Large Language Models หรือ LLM ซึ่งเป็นโมเดลที่ขับเคลื่อน AI Chatbot อย่าง ChatGPT และ Bard ของ Google พวกมันเริ่มรับข้อมูลจำนวนมากขึ้น

พวกมันเรียนรู้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไม่ใช่เพียงแค่ Wikipedia แต่ยังรวมถึงฐานข้อมูลสิทธิบัตรของ Google, เอกสารของรัฐบาล,Reddit’s Q&A, หนังสือจากห้องสมุดออนไลนน์ และบทความข่าวมากมายบนเว็บ

แต่เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำการประเมินเครื่องมือ 4 ตัวที่ขับเคลื่อนโดย AI ได้แก่ Bing Chat , NeevaAI , perplexity.ai และ Youchat กลับพบว่ามีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประโยคที่สร้างโดยเครื่องมือเหล่านี้เท่านั้นที่มีการอ้างอิงข้อเท็จจริง

“เราเชื่อว่าผลลัพธ์เหล่านี้ไม่มีความแม่นยำสำหรับระบบที่อาจทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหลักสำหรับผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูล” ทีมนักวิจัยสรุป “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ”

แต่แน่นอนว่าความได้เปรียบของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ที่มีเหนือ Wikipedia นั่นก็คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และมีความแม่นยำสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งข้อมูล input มากขึ้นเท่าไหร่ ระบบก็จะยิ่งมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ท้ายที่สุด มีการศึกษาที่สรุปว่าข้อมูลที่ได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่แท้จริงอย่าง Wikipedia จะมีคุณค่ามากขึ้นสำหรับเทคโนโลยี LLM

มันเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากสำหรับ AI เนื่องจากระบบที่ไม่สอดคล้องกับมนุษย์อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงได้ หาก AI ทำลายระบบความรู้ฟรีที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ของมนุษย์เรา

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่พวกเราต่างเชื่อถือบรรณาธิการของ Wikipedia ที่เป็นมนุษย์ เพราะพวกเขามีแรงจูงใจหรือความกังวลในฐานะมนุษย์ และแรงจูงใจของพวกเขาคือการจัดหาองค์ความรู้ที่น่าเชื่อถือให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.nytimes.com/2023/07/18/magazine/wikipedia-ai-chatgpt.html
https://www.nytimes.com/2022/12/05/technology/chatgpt-ai-twitter.html
https://www.nytimes.com/2013/06/30/magazine/jimmy-wales-is-not-an-internet-billionaire.html


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube