Super App มันเวิร์กจริงหรือ? เหตุใดแพลตฟอร์มในเอเชียจึงต้องยึดติดกับมัน

มันเป็นคำถามที่น่าสนใจนะครับว่าการที่แพลตฟอร์มจากเอเชียต้องการเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในการสร้าง Super App มันเวิร์กจริงหรือ? เพราะสถานการณ์ในตอนนี้มันได้กลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับโมเดลธุรกิจที่แท้จริงที่ทุกแพลตฟอร์มนอกประเทศจีนกำลังประสบพบเจอกับปัญหาใหญ่ในตอนนี้

ผลการดำเนินงานของเหล่าเครือข่าย Super App ในเอเชีย เรียกได้ว่าน่าผิดหวัง มูลค่าตลาดรวมของแพลตฟอร์มที่คิดจะทำตัวเป็น Super App ไม่ว่าจะเป็น Sea และ Grab ของสิงคโปร์ Coupang และ Kakao ของเกาหลีใต้ Rakuten ของญี่ปุ่น และบริษัทแม่ของ Paytm ในอินเดียมูลค่าลดลงประมาณ 60% ตั้งแต่สิ้นปี 2021

บริษัทเหล่านี้แม้จะไม่มีความเหมือนกันซะทีเดียวเพราะแต่ละรายสร้างรายได้จากการผสมผสานระหว่าง เกมมือถือ โซเชียลมีเดีย ecommerce บริการเรียกรถ หรือ บริการด้านการชำระเงิน

แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ ความเพ้อฝันและทะเยอทะยานเกินจริงที่จะรวมบริการที่หลากหลายซึ่งดูเหมือนจะเสริมกันและกันให้อยู่ภายในแอปเดียว

ทุกบริษัทเหล่านี้ หวังว่าจะเลียนแบบบริษัทในจีน เช่น WeChat ของ Tencent และ Alipay ของ Alibaba ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรูปแบบ Super App นี้

WeChat ของ Tencent และ Alipay ของ Alibaba เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะในจีนเท่านั้น (CR:Pandaily)
WeChat ของ Tencent และ Alipay ของ Alibaba เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะในจีนเท่านั้น (CR:Pandaily)

แต่นั่นคือตัวอย่างความสำเร็จเพียงแห่งเดียวและเกิดขึ้นในประเทศจีนเพียงเท่านั้น บริษัทอื่น ๆ ในเอเชียที่คิดพยายามเลียนแบบไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่พวกเขาหวังไว้

ตอนนี้แพลตฟอร์มทางด้านเทคโนโลยีหลายแห่งได้รับแรงกดดันอย่างมหาศาลจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เงินทุนซึ่งครึ่งหนึ่งเสกมันได้ราวกับมีเวทมนต์ ตอนนี้มันได้เหือดแห้งจางหายไปแทบจะหมดสิ้น ทำให้แผนการเติบโตที่มีความทะเยอทะยานสูงของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักไป

James Lloyd จากธนาคาร Citigroup ตั้งข้อสังเกตว่า Super App ของจีนนั้นมีความแตกต่าง พวกเขาเริ่มต้นจากธุรกิจหลักที่ทำกำไรและมีส่วนร่วม (ecommerce สำหรับ Alipay และ โซเชียลมีเดียของ WeChat) ซึ่งแตกต่างจากบริการอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมานอกประเทศจีน มีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีความสมดุลทั้งขนาดและรายได้อย่างแท้จริง

Kakao เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งแตกต่างจาก Super App ระดับสุดยอดของเอเชียส่วนใหญ่ เพราะมันสร้างผลกำไรได้อย่างน่าเชื่อถือ แต่ราคาหุ้นได้ลดลงไป 8% ในปีนี้ เนื่องจากไม่มีช่องว่างสำหรับการเติบโตภายในประเทศอีกต่อไป

Kakao มีกลุ่มธุรกิจเรียกรถที่มีส่วนแบ่งการตลาดในเกาหลีใต้ถึง 90% ซึ่งมันใกล้เต็มเพดานแล้ว ทำให้บริษัทต้องการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ในต่างประเทศจากเดิมที่มีเพียงสัดส่วนแค่ 10% ให้กลายเป็น 30% ภายในปี 2025 แต่การขยายไปทั่วโลกนั้นก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนมหาศาลเช่นเดียวกัน

สำหรับบริษัทอื่นๆ ที่เหลือเรื่องของเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดแรงกดดันให้รีบทำกำไร ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีการปลดพนักงานกันเป็นว่าเล่น เหล่านักลงทุนกำลังสั่งให้แพลตฟอร์มทุกแห่งดำเนินธุรกิจจริงจังเสียที เลิกเอาเงินไปเททิ้งเพื่อการเติบโตเหมือนเดิมอีกต่อไป

GoTo ซึ่งเป็น Super App ของอินโดนีเซีย สร้างขึ้นจากการควบรวมกิจการของ Gojek ซึ่งเป็นบริษัทเรียกรถ และ Tokopedia บริษัทด้าน ecommerce คาดว่าจะแต่งตั้งอดีตนายธนาคาร Patrick Walujo เป็น CEO ซึ่งแน่นอนว่า คนจากแบงก์ไม่เหมือนคนจากสายเทค พวกเขามาเพื่อทำบริษัทให้มุ่งสู่การเป็นธุรกิจอย่างแท้จริงในการเริ่มสร้างกำไร

ฟากฝั่ง Paytm ซึ่งเป็น Super App ของอินเดียที่อิงกับการชำระเงินแบบดิจิทัล แม้ราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นถึง 60% ในปีนี้ แต่ก็ยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงราคาพีคสุด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021

Paytm ยังไม่สามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นอาจะสะท้อนถึงสิ่งที่บริษัทอื่น ๆ ไม่มี เพราตลาดในประเทศของพวกเขาเป็นเพียงตลาดแห่งเดียวที่มีขนาดใหญ่และยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับการเติบโต แต่ก็ไม่มีใครกล้าการันตีว่ามันจะเพียงพอสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของ Paytm หรือไม่

ในขณะที่ Grab จากสิงคโปร์ ก็กำลังถูกบีบจากนักลงทุนเช่นเดียวกัน เพิ่งมีการปลดพนักงานล็อตใหญ่กว่า 1,000 คนไปในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปลดพนักงานรอบใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของ Covid-19

เป้าหมายของ Grab นั้นก็คือ จะเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้จริงจังเสียทีภายในไตรมาสที่สี่ของปี 2023 โดยทาง CEO ของ Grab อย่าง Anthony Tan ก็ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานล็อตใหญ่ว่าไม่ใช่ทางลัดสู่การทำกำไร แต่จะช่วยให้ Grab สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการพุ่งขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI

Anthony Tan ก็ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานล็อตใหญ่ว่าไม่ใช่ทางลัดสู่การทำกำไร (CR:Tatler Asia)
Anthony Tan ก็ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานล็อตใหญ่ว่าไม่ใช่ทางลัดสู่การทำกำไร (CR:Tatler Asia)

บทสรุป

แนวคิดของบริษัทที่ใช้แพลตฟอร์มเดียวเพื่อนำเสนอบริการที่หลากหลายแก่ผู้บริโภคนั้นมันน่าดึงดูดใจสำหรับเหล่านักลงทุน เมื่อได้เห็นความสำเร็จของ Super App จากประเทศจีนมาแล้ว

แต่หลังจากการถกเถียงกันมานานกว่าทศวรรษเกี่ยวกับการเข้ามาครอบงำของ Super App มันก็เป็นระยะเวลาที่มากพอที่จะพิสูจน์ว่าโมเดลเหล่านี้นอกประเทศจีนมันยังไม่เวิร์ก เพราะบริษัทหลายแห่งยังต้องดิ้นรนเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการ scale บริษัทและความสามารถในการทำกำไร

และด้วยต้นทุนทางด้านการเงินที่สูงขึ้นและไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วสำหรับบริษัทเหล่านี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2023/06/29/why-asias-super-app-companies-are-stuck-in-a-rut
https://www.cnbc.com/2023/06/21/grab-cuts-1000-jobs-its-biggest-round-of-layoffs-since-the-pandemic.html
https://www.aljazeera.com/economy/2023/6/21/singapores-grab-fires-1000-in-biggest-layoffs-since-pandemic
https://www.economist.com/business/2022/12/08/the-rise-of-the-super-app
https://www.cnbc.com/video/2021/07/16/what-is-a-super-app-and-why-havent-they-gone-global.html


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube