ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 16 : Search Wars

แจ๊ค หม่า เริ่มต้นธุรกิจออนไลน์แรก คือ ไชน่าเพจเจส ซึ่งเป็นธุรกิจ เว๊บไดเรคทอรี่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก YAHOO เมื่อครั้งได้เห็น internet ครั้งแรกที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นความฝันสูงสุดของแจ๊ค ก็คือ การสร้าง ไชน่าเพจเจส ให้กลายเป็น YAHOO ของประเทศจีน แต่แล้วก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่เขาหวัง

ทั้งแจ๊ค หม่า , มาซาโยชิ ซัน และ เจอร์รี่ หยางผู้ก่อตั้ง YAHOO นั้นต้องเรียกได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเป็นอย่างมาก มาซาโยชิ ก็ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมากกับ YAHOO รวมถึงการสร้าง YAHOO Japan ให้กลายเป็นบริการที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เจอร์รี่ หยาง กับ แจ๊ค หม่านั้นก็เป็นไปด้วยดีตั้งแต่ที่แจ๊ค อาศัยเป็นไกด์ให้กับ เจอร์รี่ ในการเยือนจีนครั้งแรก ๆ ซึ่งก็ต้องเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามคน

ความสัมพันธ์กับ เจอร์รี่ หยาง แน่นแฟ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งเยือนจีนครั้งแรก
ความสัมพันธ์กับ เจอร์รี่ หยาง แน่นแฟ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งเยือนจีนครั้งแรก

หลังจากจบศึก อีคอมเมิร์ซ ระหว่าง taobao กับ ebay นั้น โลก internet ก็กำลังมีบริการใหม่ที่กำลังแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นก็คือ search engine ถ้าย้อนไปในขณะนั้นก็ต้องบอกว่า google ก็ถือเป็นอับหนึ่งในเรื่อง search engine แต่ YAHOO ก็มี search engine ที่ไม่เลวเลยทีเดียวในขณะนั้น ถ้าเทียบขุมกำลังกันในตอนนั้น google ยังทิ้งห่าง YAHOO ไม่มากนัก ส่วนในจีนนั้นมี Baidu ที่กำลังครองตลาดอยู่ เพราะเน้นการค้นหาภาษาจีนเป็นหลัก

สำหรับ internet ในประเทศจีนนั้น โมเดลจากการทำรายได้จากการ search และการโฆษณานั้น ดูจะล้าหลังกว่าประเทศตะวันตกอยู่มาก สิ่งที่ทำรายได้สูงสุดของวงการ internet ของโลกตะวันตกนั้นก็คือ โฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า หรือ โฆษณาแบรนด์ก็ตาม เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลมาก

เพราะฉะนั้น แจ๊ค จึงต้องเริ่มคิดถึงยุทธศาสตร์ต่อไปของอาลีบาบา โดยมีแนวความคิดที่จะขอซื้อ YAHOO ประเทศจีน มันเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ด้าน internet ล้วน ๆ เพราะถ้าเทียบกับ google หรือ Baidu ที่เป็นจีนแท้ ๆ ก็ตาม แต่ดูเหมือน YAHOO ประเทศจีนนั้นดูจะมีวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงค่านิยมต่าง ๆ ใกล้เคียงกับ อาลีบาบามากกว่าใครเพื่อน

ยักษ์ใหญ่อย่าง google กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีนในขณะนั้น
ยักษ์ใหญ่อย่าง google กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีนในขณะนั้น

และเช่นเดียวกันฝั่ง YAHOO นั้น เจอร์รี่ หยาง ก็คิดถึงการร่วมมือกันระหว่าง YAHOO ประเทศจีน กับ อาลีบาบาด้วยเหมือนกัน เพราะความเป็นมิตรภาพที่สำคัญระหว่าง เจอร์รี่กับแจ๊ค ด้วยแล้วนั้น ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะง่าย

แต่ปัญหาใหญ่คือ ตอนนั้น เจอร์รี่ ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ YAHOO แล้วโดยหน้าที่ในขณะนั้นเขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารบริษัทอีกแล้ว ตอนนั้น เทอร์รี่ ซีเมล ดำรงตำแหน่ง CEO ของ YAHOO อยู่ ซึ่งทั้ง ซีเมล และ กรรมการนั้น ก็ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับทิศทางของ YAHOO ประเทศจีน เพราะศึก Search Engine กำลังคืบคลานเข้ามาแล้วจาก Google ที่กำลังจะบุกตลาดจีน

แต่ตัวเร่งการตัดสินใจจริง ๆ น่าจะมาจาก ebay เจ้าเก่า ซึ่งอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เนื่องจากความพ่ายแพ้ต่อ taobao ในตลาด C2C ดังนั้นจึงได้ยื่นข้อเสนอที่จะร่วมมือกับอาลีบาบาเลยด้วยซ้ำ โดยราคาที่ ebay เสนอนั้นมีมูลค่าสูงกว่าที่ YAHOO เสนอเสียด้วย

ซึ่งข่าวลือเรื่อง ebay นี่เอง ที่ทำให้ YAHOO เกิดแรงกดดันขึ้น และเรื่องเวลาก็บีบคั้นให้พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการตัดสินใจ ซึ่งหลังจากการหารือสั้น ๆ ในหมู่คณะกรรมการของ YAHOO แล้วนั้น พวกเขาก็เห็นชอบกับการตกลงตามเงื่อนไขใหม่อย่างรวดเร็ว

โดยสรุปก็คือ อาลีบาบานั้นได้ซื้อกิจการของ YAHOO สาขาประเทศจีนรวมทั้งทรัพย์สิน ซึ่งได้แก่ ลูกค้าของ YAHOO , Search Engine ของ YAHOO , เว๊บไซต์น้องใหม่อย่าง IM3721 ตลอดจนทรัพย์สินทุกอย่างของ YAHOO บนเว๊บไซต์การประมูล

และในขณะเดียวกันบริษัท YAHOO สาขาใหญ่ที่อเมริกา ได้ตกลงทุ่มทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้อาลีบาบา และจะเป็นผู้ลงทุนทางด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ อาลีบาบา โดย YAHOO จะได้รับหุ้น 40% จากอาลีบาบา โดยในบอร์ด อาลีบาบา จะมีสองที่นั่ง , YAHOO มีหนึ่งที่นั่ง และ ซอฟต์แบงค์อีกหนึ่งที่นั่ง ซึ่งนี่เป็นการควบรวมกิจการที่ซับซ้อน และ เป็นการรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ internet ของประเทศจีน

สุดท้ายก็ควบรวมกันได้สำเร็จ
สุดท้ายก็ควบรวมกันได้สำเร็จ

แม้ช่วงแรกของการควบรวมกิจการนั้นจะทำให้พนักงาน YAHOO สาขาประเทศจีนนั้นตื่นตระหนกอยู่บ้าง แต่แจ๊ค ก็ใช้เวลาไม่นานในการซื้อใจพนักงาน YAHOO เหล่านี้ เพื่อรั้งตัวพวกเขาไว้ไม่ให้ย้ายไปอยู่กับคู่แข่งอื่น ๆ 

เรื่อง search engine นั้นเป็นยุทธศาสตร์หลักของแจ๊ค ที่เป็นที่มาของการควบรวมกับ YAHOO สาขาประเทศจีน เพราะทาง อาลีบาบา นั้นแทบจะไม่มี know-how ทางด้าน search engine เลย

ถึงตอนนี้ google ได้บุกทะลวงมาถึงประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว และสามารถยึดครองตลาดไปได้อย่างรวดเร็วถึง 45% ส่วน Baidu เจ้าถิ่นนั้นครองไว้ที่ 47% แต่ YAHOO ที่เป็นผู้คิดค้น search engine ที่เก่าแก่ที่สุดกลับเหลือส่วนแบ่งการตลาดเพียง 8% เท่านั้น

Baidu ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น
Baidu ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น

แจ๊คได้เริ่มเข้ามาผ่าตัดองค์กร YAHOO มากมาย มีการตัดกิจการทิ้งมากมาย รวมถึงกิจการที่เคยเป็นหัวใจหลักของ YAHOO ในอดีตก็ไม่เว้น

เดิมทีนั้นรายได้จำนวนมากของ YAHOO มาจากการโฆษณาของเหล่าเว๊บโป๊ และผลิตภัณฑ์ที่ผิตกฏหมาย มันเป็นเครื่องปั๊มเงินให้ YAHOO กว่าปีละ 8 ล้านหยวน แต่แจ๊คก็ฟังทุกอย่างทิ้งหมด เปลี่ยนระบบการติดตั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ของ YAHOO ที่เดิมนั้นเป็นแบบบังคับให้ install เป็นแบบให้ลูกค้าสมัครใจเลือกเอง 

รวมถึง ได้เข้ามาเร่งเครื่องปรับปรุง YAHOO ใหม่ โดยแปลงโฉมเว๊บใหม่ที่ทำแต่เรื่อง Search Engine โดยเฉพาะ และมันก็กลายเป็นหน้าเว๊บง่าย ๆ คล้าย  ๆ กับ google และ Baidu ไปในที่สุด

ปรับ yahoo ใหม่เพื่อต่อกร google , Baidu
ปรับ yahoo ใหม่เพื่อต่อกร google , Baidu

จากนั้นแจ๊ค ก็ได้ทุ่มทุนมหาศาลให้กับการโฆษณาการ Search ของ YAHOO ทั้งโฆษณาทาง TV มีการว่าจ้างผู้กำกับชื่อดังมาทำภาพยนต์โฆษณาให้กับ YAHOO แต่หลังจากแจ๊คได้ ผลาญเงินไปมหาศาล เขาก็ได้พบความจริงที่น่าหดหู่ว่า ค่าโฆษณามหาศาลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้เลยด้วยซ้ำ เหล่านัก Search ไม่ได้เปลี่ยนจาก Baidu หรือ Google มาใช้ YAHOO แต่อย่างใด

ดูเหมือนว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของแจ๊คนั้น จะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการไปควบรวมกิจการกับ YAHOO ประเทศจีน มันทำให้สถานการณ์ของแจ๊คนั้นแย่ลงไปไม่น้อย เนื่องจากเทคโนโลยีการ search ของ YAHOO นั้นดูจะสู้ผู้นำตลาดอย่าง Google หรือ Baidu ไม่ได้ด้วยซ้ำ จากยุทธศาสตร์ที่จะควบรวมเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่ต่ออาลีบาบา นั้น ดูเหมือนตอนนี้ มันจะเริ่มสร้างปัญหาให้กับแจ๊ค และ อาลีบาบาบ้างแล้ว แจ๊ค จะทำอย่างไรต่อไป กับสถานการณ์ของบริษัทที่เกิดขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 17 : Singles’Day 11.11

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ