ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 13 : Taobao

มันเป็นช่วงเวลาขาขึ้นจริง ๆ สำหรับอาลีบาบา หลังจากเจอขุมทรัพย์ใหม่คือเหล่าพ่อค้าส่งทั้งหลายที่กำลังแห่แหนกันเข้ามาใช้บริการของอาลีบาบา เพียงไม่นานหนักหลังจากเปลี่ยนกลยุทธ์หลักมา focus ที่เหล่าพ่อค้าคนกลาง อาลีบาบาก็สามารถที่จะกินรวบตลาด B2B ได้แบบเบ็ดเสร็จ 

แต่ปัญหาก็คือ แล้วตลาด C2C ล่ะ ( customer to customer) ในตอนนั้น EachNet เป็นผู้นำในตลาด C2C ของประเทศจีน บริษัทซึ่งก่อตั้งในปี 1999 สามารถกินรวบตลาด C2C ได้กว่า 90% ซึ่งช่วงแรก EachNet นั้นให้บริการทุกอย่างฟรี แต่โมเดลรายได้จากการโฆษณาเพียงเท่านั้น โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ แบบที่ อาลีบาบาทำ

ebay take over EachNet เพื่อเริ่งเข้าสู่ตลาด C2C จีน
ebay take over EachNet เพื่อเริ่งเข้าสู่ตลาด C2C จีน

และมันทำให้ไปแตะจมูกยักษ์ใหญ่ทางด้าน C2C จากอเมริกาอย่าง ebay ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ebay นั้นขยายอาณาจักรไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้ โมเดล การ takeover กิจการเป็นหลักเพื่อใช้ในการบุกตลาดได้อย่างรวดเร็ว และ เป็นผู้นำในตลาดในทุก ๆ ประเทศที่บุกไปไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน หรือ อังกฤษ ebay ขยายอาณาจักรเป็นว่าเล่น จนไปถึงประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น

และญี่ปุ่นนี่เองที่เป็นประเทศแรกที่ ebay พ่ายแพ้ ให้กับ YAHOO ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นทำบริการหลากหลายใน online ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะ เว๊บไดเร็คทอรี่เพียงเท่านั้น และ พาร์ตเนอร์คนสำคัญของ YAHOO ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาก็คือ มาซาโยชิ ซัน แห่งซอฟต์แบงค์นั่นเอง

ebay พ่ายแพ้ครั้งแรกในญี่ปุ่นให้กับ Yahoo Japan
ebay พ่ายแพ้ครั้งแรกในญี่ปุ่นให้กับ Yahoo Japan

และการพ่ายแพ้ของ ebay ที่ญี่ปุ่นนี่เอง ที่ทำให้ มาซาโยชิ ซัน ได้เรียกแจ๊คมาคุยที่โตเกียว เพื่ออัพเดทสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมันคือการแจ้งให้แจ๊ค เตรียมรับมือกับ ebay ที่กำลังจะไปบุกประเทศจีนในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมาซาโยชิ เองก็คิดว่า ในเมื่อเขาเอาชนะ ebay ที่ญี่ปุ่นได้ ก็ย่อมที่จะสามารถชนะในจีนได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะเขาพบว่าการดำเนินธุรกิจและการตลาดของ ebay ในเอเชียนั้น มีปัญหาคือเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้

และแล้ววันหนึ่งในเดือนมีนาคม ปี 2003 มันเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งเหมือนทุก  ๆ วัน ภายในออฟฟิสใหม่ของอาลีบาบา แต่มันมีบางอย่างผิดปรกติ มีพนักงานกว่า 10 คนถูกเรียกตัวไปยังห้องทำงานของแจ๊คที่ชั้นแปดของอาคารหัวซิง ซึ่งต้อนนั้นผู้บริหารระดับสูงรวมถึงแจ๊คต่างนั่งกันอยู่ครบ

แจ๊คให้พนักงานเข้ามาทีละคน เพื่อรับทราบภารกิจลับบางอย่าง และเซ็นสัญญาไม่ให้แพร่งพรายเรื่องนี้ออกสู่ภายนอก แม้กระทั่งครอบครัวของตัวเองก็ห้าม หลังจากเซ็นกันครบทุกคน แจ๊คก็ต้องเปิดเผยภารกิจอันเร้นลับนี้ ซึ่งมันก็คือ อาลีบาบาจะบุกตลาด C2C แล้วสู้กันซึ่ง ๆ หน้ากับ ebay โดยให้พนักงานเหล่านี้ไปทำเว๊บไซต์เลียนแบบ ebay ขึ้นมาเว๊บหนึ่ง และเส้นตายคือ 1 เดือนเท่านั้น เว๊บต้องพร้อมออนไลน์ในเดือนพฤษภาคม เล่นเอาหนุ่มสาวทั้งสิบคนตกใจจนอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว

ซึ่งหลังจากนั้นทีมงานลับทั้ง 10 คนก็หายไปจากบริษัททันที เพราะแจ๊ค ใช้ออฟฟิสเก่าคือบ้านริมทะเลสาบหังโจวของเขาเป็นฐานบัญชาการของเว๊บไซต์ C2C ตัวใหม่ที่จะทำมาแข่งกับ ebay 

ใน 10 คนนั้น สามคนเป็นวิศวกรด้านเทคนิคมือดี ที่ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว ส่วนอีกเจ็ดคนนั้นรับผิดชอบส่วนของเว๊บไซต์ และ บริการลูกค้า และโปรเจคลับที่ทั้ง 10 คนต้องร่วมกันพัฒนา นี้ถูกตั้งชื่อว่า taobao นั่นเอง

ผู้ดูแลหลักของโครงการ taobao คือ ซุนถงอวี่ ซึ่งแจ๊ค ส่งให้มาดูแลโปรเจคนี้โดยเฉพาะ และเป็นคนที่ช่วยกำหนดทิศทางของเว๊บ เนื่องจากเหล่าทีมงานทั้ง 10 คนนั้นเคยทำมาแต่เว๊บ B2B อย่างอาลีบาบา ไม่เคยเข้าใจธุรกิจของ C2C สุดท้ายจึงตัดสินใจร่วมกันว่ารูปแบบของ ebay นั้นดีที่สุด พวกเขารู้สึกว่าการประมูลคือรูปแบบหนึ่งเดียวของ C2C

ในที่สุดหลังจากทำงานกันอย่างหนักแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน วันที่ 10 พฤษภาคม 2003 เว๊บ taobao ก็ออนไลน์ได้สำเร็จ แจ๊คกับซุนถงอวี่ และผู้บริหารระดับสูงก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองด้วยซ้ำว่ามันจะออนไลน์ได้สำเร็จในเพียงแค่เดือนเดียว

และแน่นอนในตอนนั้นพนักงานส่วนใหญ่ใน อาลีบาบา แทบจะไม่มีใครล่วงรู้ถึงการแอบพัฒนา taobao อย่างลับ ๆ แจ๊คปล่อยให้มันเป็นปริศนาในโลกออนไลน์ ในช่วงแรกของการเปิดตัว taobao ซึ่งแม้กระทั่งพนักงานอาลีบาบาเอง ก็คิดว่า taobao จะมาเป็นคู่แข่งกับ alibaba ด้วยซ้ำไป

และในที่สุดหลังจากปล่อยให้เป็นปริศนากว่า 2 เดือน ตอนนั้นเริ่มมีสมาชิกเข้ามาใช้งาน taobao จำนวนหนึ่งแล้ว แจ๊คก็ทำการเฉลยให้เหล่าพนักงานอาลีบาบาได้รับรู้ว่า taobao นั้นเป็นผลงานภารกิจลับของทีมที่หายไปนั่นเอง และ ทารกน้อยตัวใหม่อย่าง taobao ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยอาลีบาบาประกาศจะทุ่มเงิน 100 ล้านหยวน บุกตลาด C2C ต่อหน้าสื่อที่เข้ามาทำข่าวการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งนี้

taobao เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมลุยศึก C2C
taobao เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมลุยศึก C2C

แจ๊คแอบทำโปรเจค taobao โดยไม่บอกแม้กระทั่ง มาซาโยชิ ซัน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอาลีบาบาในขณะนั้น ทำให้ มาซาโยชิ นั้นร้อนใจจนต้องไปลงทุนกว่า 40 ล้านเหรียญในเว๊บ snda.com ซึ่งเป็นเว๊บ C2C ที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนั้น โดยเป็นการลงทุนสูงที่สุดของมาซาโยชิในประเทศจีน เพราะเขาไม่รู้ว่าแจ๊คกำลังแอบสร้าง taobao อยู่

หลังจากรู้ข่าวเรื่อง taobao จึงทำให้มาซาโยชิ อยากลงทุนเพิ่มในอาลีบาบาเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปยัง taobao ในการสู้ศึก C2C กับ ebay ที่ขณะนั้นกำลังเข้าสู่ตลาดจีนผ่านการ take over EachNet เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในที่สุด ซอฟต์แบงค์ของ มาซาโยชิ ได้จับมือกับ ฟิเดลิตี้ อินเวสต์เมนต์ , บริษัทการลงทุนหัวอิ๋ง และ GGV (Granite Global Ventures) ลงทุนในอาลีบาบาอีกครั้งด้วยวงเงินถึง 82 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อาลีบาบานั้นได้ทำการเพิ่มทุนให้กับ taobao ถึง 390 ล้านหยวน ทำให้ taobao มีกำลังเงินมากพอในการผลาญเงินเพื่อที่จะสู้ศึก C2C กับ ebay และ มาซาโยชิ ยังย้ำอีกว่า หากเงินทุนไม่พอนั้นเขาก็พร้อมที่จะเพิ่มทุนได้ทุกเวลา

มาซาโยชิ เชื่อในตัวแจ๊ค และ taobao พร้อมอันเงินให้แบบไม่อั้นเพื่อสู้ศึก C2C กับ ebay
มาซาโยชิ เชื่อในตัวแจ๊ค และ taobao พร้อมอันเงินให้แบบไม่อั้นเพื่อสู้ศึก C2C กับ ebay

ตอนนี้ทารกน้อยคนใหม่อย่าง taobao ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมแรงสนับสนุนด้านเงินทุนแบบไม่มีอั้นจากป๋าใจใหญ่อย่าง มาซาโยชิ ซัน ทำให้ตอนนี้ ebay ซึ่งในขณะนั้นเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการ C2C ซึ่งแทบจะไม่เคยแพ้ใครที่ไหนนอกจากในญี่ปุ่น ได้เจอกับศัตรูที่สมน้ำสมเนื้อแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะสู้รบกันอย่างไร จะใช้อาวุธแบบไหนในการรบในศึกสงครามครั้งใหม่แห่ง C2C ในดินแดงมังกรครั้งนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 14 : World War Web

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 12 : Business Reforms

สำหรับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดอทคอมแล้วนั้น ช่วงปี 2000 นั้นถือว่าเป็นปีที่สาหัส สำหรับทุก ๆ คน ทุกบริษัทกับเผชิญกับอันตรายกับการล้มพังพินาศได้ หากทำอะไรที่ผิดพลาดไปในช่วงนี้ มันคือหายนะกับบริษัทดี ๆ นี่เอง เพราะตอนนี้ไม่เหลือทุนให้ผลาญเล่นเหมือนในอดีตอีกต่อไป นักลงทุนทั้งหมดกำกระเป๋าตัวเองไว้แน่นไม่ยอมให้ทุนกับบริษัท internet อีกต่อไป

อาลีบาบา แม้จะทำการปลดพนักงานขนานใหญ่ไปแล้ว  แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เดิมทีนั้นกำลังมีแผนเพิ่มทุนอีกรอบ แต่ตอนนี้ไม่มีนักลงทุนผู้ใดกล้าเสี่ยงกับธุรกิจ internet ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ลงทุนเพิ่มเพียงเท่านั้น เหล่านักลงทุนนั้นเตรียมจะถอนทุนออกไปด้วยซ้ำเพื่อเปลี่ยนมันเป็นเงินสด คือครองไว้ ดูจะปลอดภัยกว่าในสถานการณ์ขนาดนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า อาลีบาบา ก็เหมือนบริษัทอื่น ๆ ใน internet เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนเงินมาตั้งแต่แรก อาลีบาบาคงไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ในช่วงฟองสบู่ ดอทคอม แตกเป็นเสี่ยง ๆ เช่นนี้

ตลาด internet กำลังอยู่ในช่วงขาลงหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก
ตลาด internet กำลังอยู่ในช่วงขาลงหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก

แจ๊คต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อาลีบาบา อยู่รอดต่อไปได้ นอกจากการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ รวมถึงปิดศูนย์ R&D ที่ ซิลิกอน วัลเลย์ มันต้องมากกว่านั้น ทำเพียงแค่นี้ ยังไม่สามารถทำให้อาลีบาบารอดได้

Business Reforms

แจ๊คจึงต้องคิดแผนเพื่อให้อาลีบาบารอด โดยกำหนด ยุทธศาสตร์ ไว้ สามอย่างคือ หนึ่ง การปรับปรุงการทำงาน สองการเพิ่มการฝึกอบรมให้กับพนักงาน และสุดท้าย คือ การเพิ่มการหารายได้

การปรับปรุงการทำงาน

การปรับปรุงการทำงาน คือ การปลูกฝังค่านิยมให้กับพนักงาน ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้น ในทีมงานของอาลีบาบามีปัญหาที่สาหัสมาก คือ ความกระตือรือร้นของพนักงานไม่เหมือนแต่ก่อน รวมถึงขวัญกำลังใจของพนักงานไม่เหมือนเดิมแล้ว

อาลีบาบาในตอนนี้ ต้องการขุมกำลังที่บ้าคลั่ง ซึ่งความบ้าคลั่งนี้ต้องบ้าแบบเข้ากระดูกถึงสายเลือด และต้องลงไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่มีแต่คำพูดที่โก้หรูของค่านิยมที่ติดตามฝาผนังของบริษัทส่วนใหญ่

การปลุกฝังค่านิยมให้กับพนักงานใหม่ในรอบนี้ ได้นำเอาประสบการณ์ของกวานเหมิงเซิง ที่เคยใช้ที่ GE โดยจัดทำค่านิยมเป็นการ์ดใส่ไว้ในกระเป๋าของพนักงาน และเป็นการทำให้ค่านิยมหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจ และสายเลือดของพนักงาน และที่สำคัญยังใช้ค่านิยมเหล่านี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือวัด KPI ของพนักงานด้วย

การเพิ่มการฝึกอบรม

การฝึกอบรมนั้นเริ่มเตรียมการเมื่อต้นปี 2001 และเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

การฝึกอบรมนั้นเริ่มจากระดับหน้างาน จากนั้นขยับไปสู่ระดับกลางและระดับสูง โดยมีผู้อบรบนั้นเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของบริษัท รวมถึงการจ้างวิทยากรจากภายนอกที่มีชื่อเสียงเข้ามาอบรมให้กับพนักงานอาลีบาบา

เพิ่มการอบรมให้กับพนักงานโดยใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย
เพิ่มการอบรมให้กับพนักงานโดยใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย

และส่วนสำคัญที่สุดของการอบรมครั้งนี้คือ พนักงานขาย เพราะพวกเขาเป็นแนวหน้าในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท แรกเริ่มเดิมทีนั้นพนักงานขายในยุคแรก ๆ ของอาลีบาบานั้น เป็นทีมที่ตั้งขึ้นมาชั่วคราวจากเหล่าบรรดาผู้บุกเบิกยุคแรก ๆ มีไม่กี่คนที่จบด้านการขายมาโดยตรง แต่กลุ่มคนแรก ๆ เหล่านี้จะเข้าใจผลิตภัณฑ์อาลีบาบาอย่างลึกซึ้งที่สุด ขาดเพียงอย่างเดียวคือความรู้ในการขาย ซึ่งการเพิ่มการฝึกอบรมในจุดนี้ ก็จะทำให้ทีมขายของอาลีบาบาแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

การฝึกอบรมเหล่านี้จะทให้พนักงานที่โตมาทางด้านเทคนิค หรือ การขายรู้จักการบริหารงานแบบสมัยใหม่ รู้จักการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยเหลือในการทำงาน  และที่สำคัญมันยังสอดแทรกให้พนักงานเห็นพ้องกับค่านิยมของอาลีบาบาด้วย

การเพิ่มการหารายได้

มกราคม ปี 2001 หลังจากได้ขุนทัพอย่าง กวานหมิงเซิงมาคุมตำแหน่ง COO ของบริษัทแล้วนั้น นอกจากการลงมือปลดพนักงานเพื่อหยุดรายจ่ายแล้ว เขายังเสนอการเพิ่มรายได้ และได้รับความเห็นชอบจากแจ๊คตลอดจนบรรดาผู้บริหารระดับสูงทันที

การหยุดรายจ่ายนั้นทำไม่ยาก เพียงแค่ปลดพนักงานออก ลดพนักงาน แค่ไม่กี่เดือนก็สามารถบรรลุภารกิจนี้ได้ แต่การเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับวิธีการหากำไรของอาลีบาบา และเริ่มมีการกำหนดโมเดลการทำกำไร และปรับตัวผลิตภัณฑ์หลัก และเริ่มสร้างทีมขายที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกอบรม และเริ่มเข้าสู่สงครามใหม่ในการเผชิญหน้ากับเว๊บพ่อค้าขายส่งจีน อย่าง 1688.com ซึ่งนี่เป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์ใหม่อาลีบาบาอย่างรวดเร็ว

1688 เดิมเป็นคู่แข่งสุดท้ายก็ถูก take over มาอยู่ใน อาลีบาบา กรุ๊ป
1688 เดิมเป็นคู่แข่งสุดท้ายก็ถูก take over มาอยู่ใน อาลีบาบา กรุ๊ป

ปรับ Model สู่พ่อค้าขายส่ง

ในเดือนธันวาคมปี 2001 เป็นเดือนแรกที่อาลีบาบาสามารถทำกำไรได้สำเร็จ แม้ตลอดทั้งปี 2001 จะขาดทุนก็ตาม แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สำหรับอนาคตของอาลีบาบา ที่ได้เริ่มเจอทิศทางที่จะทำกำไรได้แล้ว

ปี 2002 นั้นแจ๊คตั้งเป้าหมายให้เป็นปีที่ อาลีบาบา ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือการไม่ขาดทุนนั่นเอง ซึ่งตั้งเป้าหมายให้อาลีบาบา กำไรแค่ 1 หยวน แจ๊คได้เริ่มค้นพบแหล่งสร้างได้แห่งใหม่ เขาทำนายไว้ว่า ประเทศจีนในอนาคต จะเป็นโรงงานของโลก

การทำนายของแจ๊ค ไม่ได้มโนคิดขึ้นมาแบบมั่ว ๆ แต่มันมีเหตุผลมาจาก ในวันที่ 11 ธันวาคม 2001 ประเทศจีนได้กลายเป็นสมาชิกของ WTO ได้อย่างเป็นทางการ

จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่คือ จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ
จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่คือ จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ

และมันเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของพ่อค้าขายส่ง จำนวนมากในเว๊บไซต์ อาลีบาบา ซึ่งเป็นที่ต้องการของเหล่านักธุรกิจ SME ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของวงจรธุรกิจนี้ และมันทำให้กลายเป็นโมเดลใหม่ของการบริการทางธุรกิจ มันกำลังจะกลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่มหาศาล ที่แจ๊คสร้างมาสำหรับให้บริการคนทั่วโลก

ในตอนนั้นทั่วทั้งโลกยังไม่มีบริษัทใด ที่ให้บริการแบบนี้ และที่สำคัญ อาลีบาบายังอยู่ในที่ตั้งของจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโรงงานโลกคือประเทศจีน 

เขาได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจากบรรดาผู้ค้าส่งรายละประมาณ 40,000 – 60,000 หยวนตามประเภทของสมาชิก ซึ่งแลกกับการได้ประกาศข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตลอดจนลงรูปภาพสินค้า และอาลีบาบา จะช่วยเหลือในการนำไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศให้ด้วย และยังมีบริการจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย

และมีโมเดลการโฆษณา ในผลการค้นหา หากต้องการอยู่ลำดับบน ๆ เพื่อให้ได้ลูกค้ามากขึ้นก็ต้องเสียเงินมากขึ้น คล้าย ๆ รูปแบบการ Bid โฆษณาของ search engine ชื่อดังอย่าง Google 

เพิ่มช่องทางการหาเงินในทุกส่วนของ เว๊บไซต์
เพิ่มช่องทางการหาเงินในทุกส่วนของ เว๊บไซต์

รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในหน้าเว๊บไซต์ นั้นก็เป็นแหล่งขุมทรัพย์ของอาลีบาบา ทั้งสิ้น เพราะหากเหล่าพ่อค้าขายส่งต้องการให้ร้านของตัวเองแสดงในที่เด่น ๆ ของเว๊บไซต์ ก็ต้องทำการเสียเงินให้อาลีบาบา ซึ่งยิ่งตำแหน่งที่สะดุดตามากเท่าไหร่ ก็ต้องเสียเงินมากขึ้นเท่านั้น กลายเป็นสงครามการแย่งชิง พื้นที่ ของเหล่าพ่อค้าขายส่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาพร้อมที่จะทุ่มเพื่อให้หน้าร้านเขาสะดุดตาที่สุด เพราะมันคุ้มค่ากับการขายส่งเมื่อได้รับ order จากลูกค้าใหญ่ ๆ ซึ่งมักจะสั่งในปริมาณมาก ๆ  

หลังจากปรับโมเดลสู่พ่อค้าส่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น แจ๊คและทีมก็ได้ปรับบริการเรื่องหลังการขาย โดยจะทำการเก็บสถิติต่าง ๆ และมีการจัดหลักสูตรอบรมให้เหล่าธุรกิจค้าส่งเพื่อใช้เครื่องมือของอาลีบาบาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึัน

แม้ปัญหาจากฟองสบู่ดอทคอมยังไม่เห็นวี่แวว ว่ามันจะสิ้นสุดที่ตรงไหน ตลาดหุ้นแนสแด็กก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในขณะนั้น แต่ตอนนี้ อาลีบาบา พร้อมแล้วสำหรับตลาดใหม่ที่เขากำลังเข้าไปกอบโกย รวมถึง ทีมงานที่ตอนนี้พร้อมที่จะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับแจ๊ค แล้ว ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มากมายเพียงใด ตอนนี้ อาลีบาบา เหมือนได้เกิดใหม่แล้ว และพร้อมทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในสภาพซากศพของธุรกิจ internet อื่น ๆ ที่ล้มหายตายจากไปในยุคฟองสบู่ มันจะเหลือเพียงแค่ อาลีบาบา ที่พร้อมจะเข้าสู่ยุคใหม่ของบริษัทเต็มตัวได้เสียที

–> อ่านตอนที่ 13 : Taobao

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 11 : Good Boss , Bad Boss

ปัญหาใหญ่ของการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอาลีบาบาในปี 2000 ก็คือ ปัญหาเรื่องรายจ่ายในต่างปรเทศที่สูงลิบลิ่ว ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ใน ฮ่องกง อเมริกา ยุโรป เกาหลีนั้นมีมากมายมหาศาล และส่วนใหญ่หน่วยงานที่อยู่ตามต่างประเทศเหล่านี้นั้น มีแต่รายจ่าย แทบจะไม่มีรายได้เข้าเลย

ปลายปี 2000 ที่ฟองสบู่ internet แตกนั้น อาลีบาบามีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 7 ล้านเหรียญ ซึ่งหากยังเดินหน้าขยายกิจการต่อเนื่องในระดับความเร็วเท่าเดิม เงินทุนก้อนนี้จะเหลืออยู่ให้ใช้ได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น

ซึ่งการขยายตลาดต่างประเทศของอาลีบาบานั้นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2000 และได้หยุดลงเมื่อเดือนมกราคมปี 2001 ในช่วงนั้นแต่ละเดือนอาลีบาบาผลาญเงินไปกว่าล้านเหรียญ ในเวลานั้นแจ๊คเริ่มสังเกตเห็นภัยที่กำลังจะมาเยือน 

แจ๊คเริ่มรู้ตัวเองว่าตัดสินใจผิดพลาดในหลาย ๆ อย่าง เรื่องศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ก็เป็นอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องของการหาคนด้านเทคโนโลยี ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดเต็มซิลิกอน วัลเลย์ แต่คนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการค้าที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องการนั้นหาได้ยากมาก ต้องไปตามหาตัวจากเมืองอื่น ๆ เช่น นิวยอร์ก ที่มีคนพวกนี้ที่แจ๊คต้องการมากกว่า ทำให้สูญเสียทั้งเวลา และเงินทุนไปเป็นจำนวนมากในการขยายไปยังอเมริกา กว่าจะคิดได้ก็เกือบสายไปเสียแล้ว

อาลีบาบาใช้เงินเยอะมากกับศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์
อาลีบาบาใช้เงินเยอะมากกับศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกอย่างคือ การที่มีคนจากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำงานซึ่งไม่เหมือนตอนแรก ๆ ที่เหล่า 18 อรหันต์ของแจ๊ค เป็นผู้ที่แจ๊คไว้ใจ และพร้อมที่จะลุยกับแจ๊คเสมอ แต่เหล่าพนักงานต่างชาติ มักถูกชักจูงมาด้วยเรื่องเงินเป็นหลัก  ความแตกต่างทางวัฒนธรรม นั้น ทำให้เวลามีการประชุมที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มักจะเห็นพ้องต้องกันเป็นทิศทางเดียวได้ยากนัก ต่างจากช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งบริษัท

ก่อนที่จะล้มละลายตายจากไปจากธุรกิจ internet อีกรายในยุคฟองสบู่ดอทคอมเยี่ยงนี้ แจ๊ค ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญโดยการปรับยุทธศาสตร์หลักลับมาโฟกัสที่ประเทศจีนและลดขนาดองค์กรลง แต่ปัญหาคือ จะปฏิบัติจริงได้อย่างไร

ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 เป็นที่มีของปัญหาใหญ่
ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 เป็นที่มีของปัญหาใหญ่

แต่บางทีทุกอย่างอาจะเป็นชะตาฟ้าลิตมาให้แจีค ได้เจอกับ กวานหมิงเซิง ซึ่งเป็นมือดีที่แจ๊คได้มาช่วยในการคลายวิกฤตในขณะนั้น

กวานหมิงเซิง สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และจบปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์จาก Loughborough Universityof Technology และ London Business School ทำงานด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศอยู่ 25 ปี เริ่มจากที่ GE ของอเมริกา 15 ปีและทำให้แผนกอุปกรณ์การแพทย์ของ GE เติบโตไปจนถึง 70 ล้านเหรียญ จากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท BTR plc และ Invensys ซึ่งเป็นบริษัทหนึงใน 500 สุดยอดบริษัทของโลก

กวานหมิงเซิงเป็นคนทำงานเฉียบขาด ตัดสินฉับไว เขารับตำแหน่งสำคัญคือ COO (Chief Operating Officer) เขาเป็นคนที่มาช่วยแจ๊คในเรื่องการลดพนักงานลง โดยเฉพาะที่ซิลิกอน วัลเลย์ ที่มีจอห์น วู คุมบังเหียนอยู่

ได้ COO คนใหม่อย่าง กวานหมิงเซิง มาช่วยทำเรื่องยาก ๆ อย่างการ ปลดพนักงานจำนวนมาก
ได้ COO คนใหม่อย่าง กวานหมิงเซิง มาช่วยทำเรื่องยาก ๆ อย่างการ ปลดพนักงานจำนวนมาก

สถานการณ์ในขณะนั้น เหล่าวิศวกรที่ซิลิกอน วัลเลย์ เริ่มรู้ตัวล่วงหน้ากันบ้างแล้ว และได้ทยอยลาออกไปบ้างแล้ว ตอนนั้นเหลือวิศวกรอยู่ 30  คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เงินเดือนระดับหกหลักแทบจะทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาระมหาศาลของอาลีบาบาในขณะนั้น

แม้แจ๊ค นั้นอยากให้คงเหลือวิศวกรไว้บ้าง เพื่อให้เหลือไว้สร้างความได้เปรียบทางเทคโนโลยี และเพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันกับ microsoft , YAHOO และ ebayได้ แต่กวานหมิงเซิง ประกาศ layoff พนักงานทั้งหมดเพื่อลดภาระรายจ่ายในส่วนนี้ให้หมดไปจากบัญชีของอาลีบาบา ทำให้จอห์น วู ยังรู้สึกอื้ง ตอนนี้ศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ถูกยุบอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

ถัดจากซิลิกอน วัลเลย์ อีกหนึ่งสำนักงานที่มีรายจ่ายสูงมากคือ ฮ่องกง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง และพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานหัวกะทิ ที่จบ MBA จากสถาบันที่มีชื่อเสียงแทบจะทั้งสิ้น ทำให้รายจ่ายที่ฮ่องกง ไม่ได้น้อยไปกว่าที่อเมริกาเลย

พนักงานกว่า 30 คนของสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง ก็ถูก กวาน กับ โจเซฟปลดไปกว่า 20 คน สุดท้ายเหลือไว้เพียงแค่ 7-8 คนเพียงเท่านั้น

สำนักงานที่ฮ่องกงก็เป็นอีกแห่งที่ต้องลดคนไปจำนวนมาก
สำนักงานที่ฮ่องกงก็เป็นอีกแห่งที่ต้องลดคนไปจำนวนมาก

แม้ กวานหมิงเซิง , โจเซฟ ไช่ รวมถึง แจ๊ค นั้นจะสวมบทโหด ปลดพนักงานขนานใหญ่ แม้จะดูเป็นการกระทำที่แข็งกร้าว ที่คนภายนอกเห็น แต่ภายในจิตใจของพวกเขาทั้งสามนั้น เสียใจกับเรื่องเหล่านี้มาก โจเซฟ ถึงกับจิตตก หลังจากภารกิจนี้เสร็จ เขาจึงขอไปพักร้อนที่เซี่ยงไฮ้ตามลำพังเพื่อปรับสภาพจิตใจ

ส่วนแจ๊ค ยิ่งรู้สึกละอายและโทษตัวเอง เขารู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวและหดหู่เป็นที่สุด ซึงในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อของอาลีบาบาเช่นนี้นั้น เขาก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นใด เขามักคิดเสมอว่าสาเหตุที่ต้องปลดพนักงานขนานใหญ่ เป็นความบกพร่องของการบริหารงานของเขาเองแทบจะทั้งสิ้น 

มันเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่มาก ๆ ของทั้งแจ๊ค และ อาลีบาบา การปลดพนักงานออกไปเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่แจ๊คไม่อยากทำ แต่มันจำเป็นต้องทำ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้น ฟองสบู่ ดอทคอม ทำให้บริษัท internet ทั้งหลายทั่วโลก ต่างล้มหายตายจากไปเป็นโดมิโน ทั้งในอเมริการวมถึงจีนเองก็ตาม มันเป็นบาดแผล ที่ลึกลงไปในใจของแจ๊ค ของการตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากเขาเองที่บริหารงานผิดพลาด สถานการณ์ของอาลีบาบาจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมแตก จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแห่งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 12 : Business Reforms

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ